สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พุทธประวัติ

พุทธประวัติ



 

  

ประวัติพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้า มีพระนามเดิมว่า "สิทธัตถะ" พระพุทธเจ้า เป็นพระราชโอรส ของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พระราชมารดาของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระนางสิริมหามายา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ราชสกุลโกลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ

ประสูติ

เจ้าชายสิทธัตถะประสูติเมื่อ80 ปีก่อนพุทธศักราชที่สวนลุมพินีวัน ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งอยู่ระหว่างพรมแดนกรุง
กบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ(ปัจจุบันคือ
ต.รุมมินเด ประเทศเนปาล) ได้มี
พราหมณ์ทั้ง 8 ได้ทำนายว่า เจ้าชาย
สิทธัตถะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษ
คือ ถ้าดำรงตนในฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ผู้อายุน้อยที่สุดในจำนวนนั้น ยืนยันหนักแน่นว่า พระราชกุมารสิทธัตถะจะเสด็จออกบวช และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน  ทันทีที่ประสูติ ทรงดำเนินด้วยพระบาท ๗ ก้าว มีดอกบัวผุดรองรับ ทรงเปล่งพระวาจาว่า "เราเป็นเลิศที่สุดในโลก ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของเรา"


ตรัสรู้ ( ๑๕ ค่ำ เดือน ๖)

ทรงประทับนั่ง ขัดสมาธิ ผินพระพักตรเบื้องบูรพาทิศ ตั้งจิตแน่แน่วว่าตราบใด ที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาน จักไม่ลุกขึ้นจากสมาธิบัลลังก์ พญาวัสสวดีมารเข้าทำการขัดขวางการตรัสรู้
ของพระมหาบุรุษ แต่พ่ายแพ้ไป
ด้วยอำนาจบารมี

- ครั้นพญามารพ่ายแพ้กลับไปแล้ว
พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้าฌาน เพื่อเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ จนเวลาผ่านไป
-  จนถึง ยามต้น ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุติญาณ คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
-  ยามสอง ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย 
- ยามสามทรงบรรลุ อาสวักขญาณ คือ รู้วิธีกำจัดกิเกส (มาร) ด้วย อริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงพบกับความสุขสว่างอย่างแท้จริง ซึ่งเรียกกันว่าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ณ อุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี ขณะมีพระชนม์ได้ 35 พรรษา


พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพาน

พระองค์ก็ได้เที่ยวสั่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายตลอดระยะเวลา 
๔๕ พรรษา เพื่อให้ศาสนิกชนได้
พบเห็นทางที่นำไปสู่ความสุขอย่าง
แท้จริง ได้ประทับจำพรรษา ณ.
เวฬุคามใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี
พระองค์เสวยสุกรมัททวะ
(เห็ดพื้นเมือง) ที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอด
กลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพาน

- เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่น
ให้บริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

 - จนกระทั่งถึงดับขันธุ์ปรินิพาน ระหว่างใต้ต้นรังคู่ ณ แขวงเมืองกุสินารา ในราตรีเพ็ญเดือน ๖

 

พุทธประวัติ


ตอนที่ ๑
ศากยวงศ์

เมื่อนับถอยหลังแต่บัดนี้ไปประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ก่อนพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก หรือก่อนพระพุทธศักราช ๕๐๐ ปีเศษ ในประเทศอินเดีย ......
มีเมือง ๆ หนึ่ง ตั้งอยู่ข้างทิศเหนือ ไม่ปรากฏชื่อ ใกล้แคว้นสักกะชนบท พระเจ้าอุกกากะราชเป็นกษัตริย์ปกครอง ..พระองค์มีพระโอรสพระธิดา ๙ พระองค์ คือ
๑. พระเชฏฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม
๒. พระอุกกามุข
๓. พระกรกัณฑุ
๔. พระหัตถินีก
๕. พระสินิปุระ
๖-๗-๘-๙ พระกนิฏฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม

พระโอรสและพระธิดาทั้ง ๙ พระองค์นี้ ประสูติแต่พระมเหสีเก่า ครั้นพระมเหสีเก่าทิวงคตแล้ว พระเจ้าอุกกากะราช ทรงมีพระมเหสีใหม่ ได้พระโอรสซึ่งประสูติแต่พระมเหสีนี้ ๑ พระองค์ มีพระราชประสงค์จะพระราชทานราชสมบัติแก่พระโอรสองค์น้อยนี้ ซึ่งพระมเหสีผู้โปรดปรานทูลขอให้ จึงรับสั่งให้พระโอรสและพระธิดาทั้ง ๙ ซึ่งมีพระอุกกามุขราชกุมารเป็นหัวหน้า ยกจาตุรงคเสนาพร้อมด้วยช่างทุกหมู่ ตลอดกสิกร สัตว์พาหนะและปศุสัตว์ทุกประเภท ยกไปสร้างพระนครใหม่ อยู่ที่ดงไม้สักกะ ใกล้ภูเขาหิมพาน อันเป็นชัยมงคลสถานที่อยู่ของกบิลดาบส   ครั้นได้สร้างพระนครแล้ว จึงขนานนามพระนครนี้ว่า กบิลพัสดุ์ โดยอาศัยชื่อของกบิลดาบส เจ้าของถิ่นเดิมเป็นนิมิต ภายหลังกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์นั้น เกรงจะเสื่อมเสียขัตติยวงศ์ หากจะไปอภิเษกสมรสด้วยกษัตริย์อื่น ด้วยพระโอรสที่เกิดมาจะไม่เป็นอุภโตสุชาติ คือ เกิดจากมารดาและบิดาดีไม่พร้อมทั้งสองฝ่าย ดีเฉพาะบิดาฝ่ายเดียว จึงได้อภิเษกสมรสด้วยเจ้าหญิงทั้ง ๔ ผู้เป็นกนิฏฐภคินี ยกขึ้นเป็นอัครมเหสีสืบราชสันตติวงศ์  ต่อมาพระเจ้าอุกกากะราช ทรงตรัสถามข่าวถึงพระโอรสและพระธิดาด้วยความเป็นห่วง อำมาตย์ได้กราบทูลพฤติการณ์ของพระโอรสทั้งหลายให้ทรงทราบ พระองค์ทรงได้ปราโมทย์ ตรัสสรรเสริญพระโอรสทั้งหลายว่า เป็นผู้สามารถดี ด้วยคำว่าสักกะ แปลว่า อาจ ด้วยพระวาจานี้ได้ถือเป็นมงคลนิมิตของกษัตริย์นครกบิลพัสดุ์ว่า ศากยะ ดังนั้นกษัตริย์วงศ์นี้ จึงมีนามว่า ศากยวงศ์ ดำรงขัตติยสกุลสืบมา

ฝ่ายพระเชฏฐภคินี เจ้าหญิงผู้พี่นั้น ได้อภิเษกสมสู่ด้วยพระเจ้ากรุงเทวทหะ ตั้งวงศ์กษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง เรียกว่า โกลิยวงศ์ ดำรงขัตติยสกุลสืบมา กษัตริย์ศากยสกุลในพระนครกบิลพัสดุ์ สืบเชื้อสายจำเนียรกาลลงมาโดยลำดับ ถึงพระเจ้าชยเสนะ ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระนามว่า สีหหนุ พระราชบุตรีพระองค์หนึ่ง พระนามว่า ยโสธรา
ครั้นพระเจ้าชยเสนะทิวงคตแล้ว สีหหนุกุมารผู้เป็นรัชทายาท ก็ทรงสืบศากยวงศ์ ได้ทรงขอพระนางกาญจนาพระกนิฏฐภคินีของพระเจ้าอัญชนะ กษัตริย์แห่งนครเทวทหะ มาเป็นพระมเหสี มีพระราชบุตรพระราชบุตรี แต่พระนางกาญจนาเทวี ๗ พระองค์ เป็นชาย ๕ พระองค์ คือ สุทโธทนะ ๑ สุกโกทนะ ๑ อมิโตทนะ ๑ โธโตทนะ ๑ ฆมิโตทนะ ๑ เป็นหญิง ๒ พระองค์ คือ ปมิตา ๑ อมิตา ๑

พระเจ้าอัญชนะกษัตริย์แห่งนครเทวทหะ ก็ได้ทูลขอพระนางยโสธรา พระกนิฏฐภคินี ของพระเจ้าสีหหนุไปเป็นมเหสี มีพระราชบุตรพระราชบุตรี ๔ พระองค์ เป็นชาย ๒ พระองค์ คือ สุปปพุทธะ ๑ ทัณฑปาณิ ๑ เป็นหญิง ๒ พระองค์ คือ มายา ๑ ปชาบดี ๑ พระองค์หลังนี้เรียกว่า โคตมี บ้าง

ต่อมาพระเจ้าสีหหนุได้ทูลขอ พระนางมายา พระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะแห่งเทวทหะนคร ให้เป็นพระชายาของ พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบุตรองค์ใหญ่ ทรงประกอบพระราชพิธีมงคลอภิเษกสมรสในงานครั้งนี้เป็นการใหญ่ ณ ปราสาทโกกนุท ที่อโศกอุทยาน พระนครเทวทหะ
ครั้นพระเจ้าสีหหนุทิวงคตแล้ว สุทโธทนะราชกุมาร ก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบศากยวงศ์ต่อมา



ตอนที่ ๒
พระบรมโพธิสัตว์เจ้า


ในกาลนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าบังเกิดเป็น สันตุสิตเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในรัตนวิมานสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก
ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมและเทวราชในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นฟ้า ชวนกันไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาพระบรมโพธิสัตว์เจ้า จุติลงไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมสั่งสอนประชากรให้รู้ธรรมและประพฤติธรรม สมดังที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก

พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ยังมิได้รับอาราธนาของทวยเทพทั้งหลายก่อน ทรงพิจารณาดู ปัญจมหาวิโลกนะ ๕ ประการ คือ ๑. กาล ๒. ประเทศ ๓. ตระกูล ๔. มารดา ๕. อายุ เห็นว่าอยู่ในสถานที่ควรจะเสด็จจุติลงได้ ด้วยจะสำเร็จดังมโนปณิธานที่ทรงตั้งไว้ จึงได้ทรงรับคำทูลเชิญของมวลเทพนิกร  เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ส่งเทพเจ้าทั้งหลายกลับคืนนิวาสถานของตน ๆ แล้ว เสด็จแวดล้อมไปด้วยเทพบริวาร ไปสู่นันทวันอุทยาน อันมีในดุสิตเทวโลก เสด็จประภาสรื่นรมณ์อยู่ในทิพย์อุทยานนั้น ครั้นได้เวลาอันสมควร ก็เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของ พระนางเจ้ามายาราชเทวี อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ ในวันเพ็ญ เดือน ๘ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
ในราตรีกาลวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญเดือน ๘ นั้น พระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงอธิฐานสมาทานอุโบสถศีล เสด็จบรรทมบนพระแท่นที่ ในเวลารุ่งสุริยรังษีปัจจุบันสมัย ทรงพระสุบินนิมิตว่า...
" ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ มายกพระองค์ไปพร้อมกับพระแท่นที่ผทม เอาไปวางไว้บนแผ่นมโนศิลา ภายใต้ต้นรังใหญ่ แล้วมีนางเทพธิดามาทูลเชิญให้เสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาษ ชำระล้างมลทินแห่งมนุษย์แล้ว ทรงผลัดด้วยผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยเครื่องหอมอันเป็นทิพย์ ทั้งประดับด้วยทิพย์บุบผาชาติ ใกล้ภูเขาเงินภูเขาทอง แล้วเชิญเสด็จให้เข้าผทมในวิมานทอง บ่ายพระเศียรไปยังปราจีนทิศ (ตะวันออก)
ขณะนั้นมีเศวตกุญชร ช้างเผือกเชือกหนึ่ง ชูงวงจับดอกปุณฑริกปทุมชาติ (บัวขาว) เพิ่งแย้มบาน กลิ่นหอมฟุ้งตระหลบ ลงจากภูเขาทองด้านอุตตรทิศ ร้องก้องโกญจนาทเดินเข้าไปในวิมาน ทำปทักษิณเวียนพระแท่นที่ผทมได้ ๓ รอบ แล้วปรากฏเสมือนเข้าไปสู่พระอุทรทางเบื้องขวาของพระราชเทวี"
ก็พอดีพระนางเจ้าเสด็จตื่นบรรทม ขณะนั้นก็พลันบังเกิดกัมปนาทแผ่นดินไหว มีรัศมีสว่างไปทั่วโลกธาตุ เป็นบุพพนิมิตโดยธรรมนิยม ในเวลาพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางเจ้ามายาราชเทวี
ครั้นเวลารุ่งเช้า พระนางเจ้ามายาราชเทวี จึงกราบทูลเรื่องพระสุบินนิมิตเมื่อราตรีแก่พระราชสามี พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช จึงรับสั่งให้เชิญพราหมณ์ปาโมกข์โหราจารย์เข้ามาเฝ้า แล้วทรงเล่าเรื่องพระสุบินของพระราชเทวีให้ทำนาย
พราหมณ์ทั้งหลายก็ทูลพยากรณ์ว่า พระสุบินของพระราชเทวี เป็นมงคลนิมิตปรากฏ พระองค์จะได้พระปิโยรส เป็นอัครบุรุษมนุษย์ชายชาติเชื้ออาชาไนย มีบุญญาธิการยิ่งใหญ่ในโลกสันนิวาส เป็นที่พึ่งของประชาชาติไม่มีผู้ใดเสมอ
พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงสดับก็ทรงโสมนัส โปรดประทานการบริหารพระครรภ์พระราชเทวีเป็นอย่างดี ให้สนมอยู่ประจำที่คอยอภิบาลอยู่ตลอดเวลา
เมื่อพระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงพระครรภ์อยู่ถ้วนทศมาส ๑๐ เดือนบริบูรณ์แล้ว มีพระทัยปรารถนาจะเสด็จไปเมืองเทวทหะนคร อันเป็นชาติภูมิของพระองค์ จึงกราบทูลลาพระเจ้าสุทโธทนะพระราชสามี
ครั้นได้รับพระราชทานอนุมัติแล้ว ก็เสด็จโดยราชยานสีวิกามาศ (วอทอง) แวดล้อมด้วยเสนามาตย์ราชบริพาร ตามเสด็จถวายอารักขาเป็นอย่างดี ในวันวิสาขะปุณณมี เพ็ญเดือน ๖ ออกจากพระนครในเวลาเช้า เสด็จไปตามมรรคาโดยสวัสดี ตราบเท่าบรรลุถึงลุมพินีสถาน อันตั้งอยู่ในระหว่างพระนครทั้งสอง คือ พระนครกบิลพัสดุ์และพระนครเทวทหะ เป็นรมณียสถาน บริบูรณ์ด้วยรุกขบุบผาผลาชาติ กำลังผลิตดอกออกผล หอมฟุ้งขจรจบในบริเวณนั้น
พระนางเจ้ามีพระทัยปรารถนาจะเสด็จประพาส จึงอำมาตย์ทั้งหลายก็เชิญเสด็จแวะจากมรรคา เสด็จเข้าสู่ลุมพินีวัน เสด็จลงจากราชยานสีวิกามาศ แวดล้อมด้วยพระพี่เลี้ยงและนารีราชบริวารเป็นอันมาก เสด็จดำเนินไปถึงร่มไม้สาละพฤกษ์ ทรงยกพระหัตถ์เหนี่ยวกิ่งสาละซึ่งอ่อนน้อมค้อมลงมา ขณะนั้นก็ประจวบลมกัมมัชวาตหวั่นไหวประชวรพระครรภ์ ใกล้ประสูติ เจ้าพนักงานทั้งหลายก็รีบจัดสถานที่ผูกม่านแวดวงเข้ากับภายใต้ร่มไม้สาละถวายเท่าที่พอจะทำได้ แล้วก็ชวนกันออกมาภายนอก
เทพยดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น พระนางเจ้ามายาเทวี ทรงนุ่งโกสัยพัสตร์ขจิตด้วยทอง ทรงห่มทุกุลพัสตร์คลุมพระองค์ลงไปถึงหลังพระบาท ประทับยืนผันพระปฤษฏางค์พิงเข้ากับลำต้นมงคลสาละพฤกษ์ พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ ทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ ในกาลนั้น เป็นมหามงคลหุติฤกษ์ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าประสูติจากมาตุคัพโภทร
ท้าวสุธาวาสมหาพรหมทั้ง ๔ พระองค์ ก็ทรงถือข่ายทองรองรับพระกายไว้ ในที่เฉพาะพระพักตร์พระราชเทวี แล้วกล่าวว่า พระแม่เจ้าจงทรงโสมนัสเถิด พระราชโอรสที่ประสูตินี้ มีมเหศักดาอานุภาพยิ่งนัก ขณะนั้นท่ออุทกธาราทั้งสองก็ไหลหลั่งลงมาจากอากาศ ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำร้อน ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำเย็น ตกลงมาโสรจสรงพระกายพระกุมารกับพระราชมารดา ลำดับนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ พระองค์ ก็ทรงรับพระราชกุมารไปจากพระหัตถ์ท้าวมหาพรหม โดยรองรับพระองค์ด้วยอชินจัมมาชาติ อันมีสุขสัมผัส ซึ่งสมมุติว่าเป็นมงคลในโลก
ต่อจากนั้น นางนมทั้งหลายจึงรองรับพระองค์ด้วยผ้าทุกุลพัสตร์จากพระหัตถ์ท้าวจตุโลกบาล และขณะนั้นพระราชกุมาร ก็เสด็จอุฏฐาการลงจากมือนางนมทั้งหลาย เสด็จเหยียบยืนยังพื้นภูมิภาค ด้วยพระบาททั้งสองเสมอเป็นอันดี ท้าวมหาพรหมก็ทรงเปรมปรีย์ ทรงทิพย์เศวตฉัตรกลางกั้น กันละอองมิให้มาถูกต้องพระยุคลบาท ท้าวสยามเทวราช ทรงซึ่งทิพย์วาลวิชนีอันวิจิตร เทพบุตรที่มีมหิทธิฤทธิ์องค์หนึ่ง ถือพระขรรค์อันขจิตด้วยแก้ว ๗ ประการ เทพบุตรองค์หนึ่งยืนประดิษฐานถือฉลองพระบาทชาตรูปมัยทั้งคู่ เทพบุตรองค์หนึ่งยืนเชิดชูทิพยมหามงกุฎ ล้วนเป็นเกียรติแก่พระกุมาร ซึ่งเพียบพร้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ ปรากฏแก่นัยน์ตาของมวลมนุษย์ แต่เทพยดาทั้งหลายที่ถือนั้นมิได้เห็นปรากฏ



ตอนที่ ๓
พระกุมารดำรัสอาภิสวาจา ... สหชาติที่บังเกิดร่วมกัน



ครั้นพระกุมารทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ เห็นเทพยดามนุษย์เป็นอันมาก มาสโมสรสันนิบาตในลานอันเดียวกัน และเทพยดาทั้งปวงนั้นทำสักการะบูชาด้วยบุบผาชาติต่าง ๆ ตั้งไว้บนเศียรเกล้า แล้วกล่าวว่า
ข้าแต่พระกุมาร พระองค์เป็นผู้ประเสริฐสุด จะหาบุคคลในโลกนี้เสมอด้วยพระองค์มิได้
ครั้นแล้วพระกุมารเจ้าก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุตตรทิศ เสด็จย่างพระบาทไปบนพื้นแผ่นทอง อันท้าวจตุโลกบาลถือรองรับไว้ได้ ๗ ก้าว แล้วทรงหยุดประทับยืนบนทิพยปทุมบุบผาชาติ อันมีกลีบได้ ๑๐๐ กลีบ ทรงเปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหม ดำรัสอาภิสวาจาด้วยพระคาถาว่า
อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐ เสฏฺโฐ หมสฺมิ อยนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ฯ
ความว่า ในโลกนี้ เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี
ขณะนั้น โลกธาตุก็บังเกิดมหัศจรรย์หวั่นไหว รัศมีพระอาทิตย์ก็อ่อนมิได้ร้อนเย็นสบาย มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในทิศทั้งหลาย ยังวัสโสทกให้ตกลงในที่นั้น ๆ โดยรอบ ทิศานุทิศทั้งหลายก็โอภาสสว่างยิ่งนัก ทั้งสรรพบุพพนิมิตปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ก็ปรากฏมี ดุจการเมื่อเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์นั้น
และในวันพระกุมารประสูตรนั้น มีมนุษย์และสัตว์ กับสิ่งซึ่งเป็นสหชาติมงคลบังเกิดร่วมกันวันทันสมัยถึง ๗ คือ
พระนางพิมพา ๑ พระอานนท์ ผู้เป็นราชโอรสพระเจ้าอมิโตทนะ พระเจ้าอา ๑ กัณฐกอัสวราช ม้าพระที่นั่ง ๑ ไม้มหาโพธิ์ ๑ กับขุมทอง ๔ ขุม คือ ขุมทองสังขนิธี ขุมทองเอลนิธี ขุมทองอุบลนิธี ขุมทองปุณฑริกนิธี
ครั้นกษัตริย์ศากยราชทั้งสองพระนครทรงทราบข่าวสารพระกุมารประสูติ ก็ทรงปีติโสมนัสเป็นที่ยิ่ง จึงเสด็จมาอันเชิญพระราชกุมารพร้อมด้วยพระชนนี แวดล้อมด้วยมหันตราชบริวาร กึกก้องด้วยดุริยะประโคมขาน แห่เสด็จคืนเข้าพระนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้จัดพี่เลี้ยง นางนม พร้อมด้วยเครื่องสูงแบบกษัตริย์ บำรุงพระราชกุมาร กับจัดแพทย์หลวงถวายการบริหารพระราชเทวี พระราชชนนีของพระกุมารเป็นอย่างดี




ตอนที่ ๔
อสิตะดาบสเข้าเฝ้าเยี่ยมและถวายพยากรณ์



ครั้งนั้นมีดาบสองค์หนึ่งมีนามว่า กาฬเทวิล แต่มหาชนเรียกว่า อสิตะ ได้สมาบัติ ๘ มีฤทธิ์มาก เป็นกุลุปกาจารย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ ได้ทราบข่าวจากเทพยดาว่า พระเจ้าสุทโธทนะได้พระราชโอรส จึงได้เดินทางเข้าไปยังกบิลพัสดุ์นคร เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะในพระราชนิเวศน์ ถวายพระพรถามข่าวถึงการประสูติของพระราชโอรส
พระเจ้าสุทโธทนะทรงปีติปราโมทย์ รับสั่งให้เชิญพระโอรสมาถวายเพื่อนมัสการท่านอสิตะดาบส แต่พระบาททั้งสองของพระโอรสกลับขึ้นไปปรากฏบนเศียรเกล้าของอสิตะดาบสเป็นอัศจรรย์
พระดาบสเห็นดังนั้น ก็สะดุ้งตกใจ ครั้นพิจารณาดูลักษณะของพระกุมาร ก็ทราบชัดด้วยปัญญาญาณ มีน้ำใจเบิกบาน หัวเราะออกมาได้ด้วยความปีติโสมนัส ประนมหัตถ์ถวายอภิวาทแทบพระยุคคลบาทของพระกุมาร และแล้วอสิตะดาบสกลับได้คิด เกิดโทมนัสจิตร้องไห้เสียใจในวาสนาอาภัพของตน
พระเจ้าสุทโธทนะได้ทอดพระเนตรเห็นอาการของท่านอาจารย์พิกล ก็แปลกพระทัย เดิมก็ทรงปีติเลื่อมใสในการอภิวาทของท่านอสิตะดาบสว่า อภินิหารของพระปิโยรสนั้นยิ่งใหญ่ประดุจท้าวมหาพรหม จึงทำให้ท่านอาจารย์มีจิตนิยมชมชื่นอัญชลี ครั้นเห็นท่านอสิตะดาบสคลายความยินดีโศกาอาดูร ก็ประหลาดพระทัยสงสัย รับสั่งถามถึงเหตุแห่งการร้องไห้ และการหัวเราะ เฉพาะหน้า
อสิตะดาบสก็ถวายพระพรพรรณนาถึงมูลเหตุว่า เพราะอาตมาพิจารณาเห็นเป็นมหัศจรรย์ พระกุมารนี้มีพระลักษณะพระโพธิสัตว์เจ้าบริบรูณ์ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าโดยแท้ และจะเปิดโลกนี้ให้กระจ่างสว่างไสวด้วยพระกระแสแห่งธรรมเทศนา เป็นคุณที่น่าโสมนัสยิ่งนัก แต่เมื่ออาตมานึกถึงอายุสังขารของอาตมาซึ่งชราเช่นนี้แล้ว คงจะอยู่ไปไม่ทันเวลาของพระกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระบรมครูสั่งสอน จึงได้วิปฏิสารโศกเศร้า เสียใจที่มีอายุไม่ทันได้สดับรับพระธรรมเทศนา อาตมาจึงได้ร้องไห้
ครั้นอสิตะดาบทถวายพระพรแล้ว ก็ทูลลากลับไปบ้านน้องสาว นำข่าวอันนี้ไปบอกนาลกะมานพ ผู้หลานชาย และกำชับให้พยายามออกบวชตามพระกุมารในกาลเมื่อหน้าโน้นเถิด




ตอนที่ ๕
โกณทัญญพราหมณ์ยกนิ้วมือเดียวพยากรณ์-ถวายพระนาม



ครั้นถึงวันเป็นคำรบ ๕ นับแต่พระกุมารประสูติมา พระเจ้าสุทโธทนะราชจึงโปรดให้ทำพระราชพิธีโสรจสรงองค์พระกุมารในสระโบกขรณี เพื่อถวายพระนามตามขัตติยราชประเพณี โปรดให้ตกแต่งพระราชนิเวศน์ ประพรมด้วยจตุรสุคนธชาติ และได้โปรยปรายซึ่งบุบผาชาติ มีข้าวตอกเป็นคำรพ ๕ ปูลาดอาสนะอันขจิตด้วยเงินทองและแก้ว ตกแต่งข้าวปายาสอันประณีต ให้ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และเสนามุขอำมาตย์ ทั้งปวงพร้อมกันในพระราชนิเวศน์ รับสั่งให้เชิญพระราชโอรสอันประดับด้วยราชประสาธนาภรณ์อันวิจิตร มาสู่มหามณฑลสันนิบาต แล้วเชิญพราหมณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพท ๑๐๘ คน ให้เลือกสรรเอาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทรงคุณวิทยาประเสริฐกว่าพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ให้นั่งเหนืออาสนะอันสูง แล้วให้เชิญพระราชโอรสไปยังที่ประชุมพราหมณ์ ๘ คนนั้น เพื่อพิจารณาพระลักษณะพยากรณ์
พราหมณ์ ๘ คนนั้น มีนามว่า รามพราหมณ์ ๑ ลักษณะพราหมณ์ ๑ ยัญญพราหมณ์ ๑ ธุชพราหมณ์ ๑ โภชพราหมณ์ ๑ สุทัตตพราหมณ์ ๑ สุยามพราหมณ์ ๑ โกณทัญญพราหมณ์ ๑ ใน ๗ คนข้างต้น เว้นโกณทัญญพราหมณ์เสีย พิจารณาเห็นพระลักษณะพระกุมารบริบูรณ์ จึงยกนิ้วมือขึ้น ๒ นิ้ว ทูลเป็นสัญลักษณ์ทำนายมีคติ ๒ ประการว่า
พระราชกุมารนี้ ผิว่าสถิตอยู่ในฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ผิว่าออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่โกณทัญญพราหมณ์ผู้เดียว ผู้มีอายุน้อย หนุ่มกว่าพราหมณ์ทั้ง ๗ คนนั้นได้พิจารณาเห็นแท้แน่แก่ใจว่า พระราชกุมารจะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม่นมั่น จึงได้ยกนิ้วมือเดียว เป็นสัญลักษณ์พยากรณ์เป็นคติเดียวว่า พระราชกุมารบริบูรณ์ด้วยพระมหาบุรุษพุทธลักษณ์โดยส่วนเดียว จะอยู่ครองฆราวาสวิสัยมิได้ จะเสด็จออกบรรพชา และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้....
และได้พร้อมกันถวายพระนามพระกุมาร ตามคุณพิเศษที่ปรากฏ เพราะพระกุมารมีพระรัศมีโอภาสงามแผ่สร้านออกจากพระสรีระกายเป็นปกติ จึงถวายพระนามว่า อังคีรส และเพราะพระกุมารต้องพระประสงค์สิ่งอันใด สิ่งอันนั้นจะต้องพลันได้ดังพระประสงค์ จึงได้ถวายพระนามว่า สิทธัตถะ แต่มหาชนนิยมเรียกตามพระโคตรว่า โคตมะ (โดยเฉพาะคนไทยเราแต่ก่อนนิยมเรียกว่า สิทธารถ อ่านว่า สิทธาด )
ในวันนั้น บรรดาขัตติยวงศ์ศากยราชทั้งหมด มีความปีติโสมนัสยิ่งนัก ต่างได้ทูลถวายราชบุตรองค์ละองค์ ๆ สิ้นด้วยกัน เป็นราชบริพารของพระราชกุมาร
ฝ่ายพราหมณ์ ๗ คนที่ถวายพยากรณ์พระกุมารว่า มีคติเป็น ๒ นั้น เมื่อกลับไปถึงเคหะสถานแล้ว ต่างเรียกบุตรของตนมาสั่งว่า พระราชโอรสของพระมหากษัตริย์มีบุญญาธิการยิ่งนัก แต่บิดาชราแล้ว จะได้อยู่ทันเห็นพระองค์หรือไม่ก็มิรู้ หากพระกุมารจะเสด็จออกบรรพชาแล้วไซร้ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมั่นคง เจ้าทั้งหลายจงออกบวชในพระพุทธศาสนาเถิด



ตอนที่ ๖
พระนางเจ้ามายาเสด็จทิวงคต-พระกุมารเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน




ส่วนพระนางมายาเทวี เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าล่วงไปได้ ๗ วัน ก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพธิดา สถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณีพระพุทธมารดา พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้มอบการบำรุงรักษาพระสิทธัตถะกุมาร ให้เป็นภาระแก่พระนางปชาบดี โคตมี พระเจ้าน้า ซึ่งก็เป็นพระมเหษีของพระองค์ด้วย แม้พระนางปชาบดี โคตมี ก็ทรงมีพระเมตตารักใคร่พระกุมารเป็นที่ยิ่ง เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงพระกุมารเป็นอย่างดี แม้ต่อมาพระนางเจ้าจะทรงมีพระโอรสถึง ๒ พระองค์ คือ นันทกุมาร และรูปนันทากุมารี ก็ทรงมอบภาระให้แก่พี่เลี้ยงนางนมบำรุงรักษา ส่วนพระนางเจ้าทรงเป็นธุระบำรุงพระสิทธัตถะกุมารด้วยพระองค์เอง
ต่อมาวันหนึ่ง เป็นวันพระราชพิธีวัปปมงคล งานแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปทรงแรกนาขวัญ ในงานพระราชพิธีนั้น ก็โปรดเกล้าให้เชิญพระกุมารไปในงานพระราชพิธีนั้นด้วย ครั้นเสด็จถึงภูมิสถานที่แรกนาขวัญ ก็โปรดให้จัดร่มไม้หว้า ซึ่งหนาแน่นด้วยกิ่งใบ อันอยู่ใกล้สถานที่นั้น เป็นที่ประทับของพระกุมาร โดยแวดวงด้วยม่านอันงามวิจิตร
ครั้นถึงเวลาพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงไถแรกนา บรรดาพระพี่เลี้ยงนางนมที่เฝ้าถวายบำรุงรักษาพระกุมาร พากันหลีกออกมาดูพิธีนั้นเสียหมด คงปล่อยให้พระกุมารประทับ ณ ภายใต้ร่มไม้หว้าพระองค์เดียว เมื่อพระกุมารเสด็จอยู่พระองค์เดียว ได้ความสงัดเป็นสุข ก็ทรงนั่งขัดสมาธิเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังปฐมฌานให้บังเกิด
ในเวลานั้นเป็นเวลาบ่าย เงาแห่งต้นไม้ทั้งหลาย ย่อมชายไปตามแสงตะวันทั้งสิ้น แต่เงาไม้หว้านั้นดำรงทรงรูปปรากฏเป็นปริมณฑลตรงอยู่ดุจเวลาตะวันเที่ยง เป็นมหัศจรรย์
เมื่อนางนมพี่เลี้ยงทั้งหลายกลับมาเห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็พลันพิศวง จึงรีบไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะราช ๆ ได้ทรงสดับก็เสด็จมาโดยเร็ว ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์เช่นนั้น ก็ยกพระหัตถ์ถวายอภิวันทนาการ ออกพระโอฐดำรัสว่า เมื่อวันเชิญมาให้ถวายนมัสการพระกาฬเทวิลดาบส ก็ทรงทำปาฏิหาริย์ขึ้นไปยืนบนชฏาพระดาบส อาตมะก็ประณตครั้งหนึ่งแล้ว และครั้งนี้อาตมะก็ถวายอัญชลีเป็นวาระที่สอง ตรัสแล้วให้เชิญพระกุมารเสด็จคืนเข้าพระนคร ด้วยความเบิกบานพระทัย
ครั้นจำเนียรกาลมา พระสิทธัตถกุมารเจริญพระชนมพรรษาได้ ๗ ขวบ พระราชบิดาจึงโปรดให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระ ปลูกปทุมบัวหลวงสระ ๑ ปลูกปุณฑริกบัวขาวสระ ๑ ปลูกอุบลบัวขาบสระ ๑ จัดให้มีเรือพายพร้อมสรรพ เพื่อให้พระกุมารและบริวารน้อย ๆ ทรงเล่นเป็นที่สำราญพระทัย กับทรงจัดเครื่องทรง คือจันทน์สำหรับทา ผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์ ผ้าทรงสะพัก พระภูษา ล้วนเป็นของมาแต่แคว้นกาสี ซึ่งนิยมว่าเป็นของประณีต ของดีในเวลานั้นทั้งสิ้น มีคนคอยกั้นเศวตฉัตร (คือพระกลดขาวซึ่งนับว่าเป็นของสูง) ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อจะมิให้เย็นร้อนธุลีละออง แดด น้ำค้าง มาถูกต้องพระกายได้
เมื่อพระสิทธัตถะกุมารมีพระชนม์เจริญ ควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว พระราชบิดาจึงทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร พระกุมารทรงเรียนได้ว่องไว จนสิ้นความรู้ของอาจารย์สิ้นเชิง ต่อมาได้ทรงแสดงศิลปธนู ซึ่งถือว่าเป็นวิชาสำคัญสำหรับกษัตริย์ ในท่ามกลางขัตติยวงศ์ศากยราช และเสนามุขอำมาตย์ แสดงความแกล้วกล้าสามารถเป็นเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมถึงให้ปรากฏเป็นอัศจรรย์
ครั้นพระกุมารมีพระชันษาได้ ๑๖ ปี ควรมีพระเทวีได้แล้ว พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ หลัง คือ วัมยปราสาท ๑ สุรัมยปราสาท ๑ สุภปราสาท ๑ เพื่อเป็นที่เสด็จประทับอยู่ของพระราชโอรสใน ๓ ฤดูกาล คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ตกแต่งปราสาท ๓หลังนั้นงดงามสมพระเกียรติ เป็นที่สบายในฤดูนั้น ๆ แล้วตรัสขอ พระนางยโสธรา แต่นิยมเรียกว่า พระนางพิมพา พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ ในเทวทหนคร อันประสูติแต่พระนางอมิตา พระกนิฏฐภคินีของพระองค์ มาอภิเษกเป็นพระชายา
พระสิทธัตถะกุมารเสด็จอยู่บนปราสาททั้ง ๓ หลังนั้น ตามฤดูทั้ง ๓ บำเรอด้วยดนตรีล้วน แต่สตรีประโคมขับ ไม่มีบุรุษเจือปน เสวยสุขสมบัติทั้งกลางวันกลางคืน จนพระชนม์ได้ ๒๙ ปี มีพระโอรสประสูติแต่นางยโสธราพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ราหุลกุมาร



ตอนที่ ๗
พระสิทธัตถะกุมารทอดพระเนตรเทวทูต



พระสิทธัตถะบริบูรณ์ด้วยความสุขตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนทรงพระเจริญวัยเห็นปานนี้ ก็เพราะเป็นพระราชโอรสสุขุมาลชาติ ยิ่งพระราชบิดาและพระญาติวงศ์ ได้ทรงฟังคำทำนายของอสิตดาบส และพราหมณ์ทั้ง ๘ นาย ว่ามีคติเป็นสอง คือจะต้องประสบอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าอยู่ครองสมบัติ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าออกบรรพชาจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก ก็จำเป็นอยู่เองที่พระองค์จะปรารถนาให้พระกุมารอยู่ครองสมบัติ มากกว่าที่จะยอมให้ออกบรรพชา จึงต้องคิดอุบายรักษาผูกพันพระกุมารไว้ให้เพลินเพลินในกามสุขอย่างนี้
วันหนึ่ง พระสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน โดยรถพระที่นั่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ซึ่งเทพยดานิรมิตให้ทอดพระเนตรในระยะทาง ทรงเบื่อหน่ายในกามสุข ตั้งต้นแต่ได้ทรงเห็นคนแก่ เป็นลำดับไป
ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นอย่างนั้น เพราะโทษที่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ เห็นผู้อื่นแก่ เจ็บ ตาย ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง ไม่คิดถึงตัวว่า จะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้าง เมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค และในชีวิต เหมือนหนึ่งเป็นคนจะไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย มีแต่ขวนขวายหาของอันมีสภาวะเช่นนั้น ไม่คิดอุบายเครื่องพ้นบ้างเลย ถึงพระองค์ก็มีอย่างนั้นเป็นธรรม แต่จะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างเขา ไม่สมควรแก่พระองค์เลย
เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบันเทาความเมา ๓ ประการ คือ เมาในวัย เมาในความไม่มีโรค และเมาในชีวิต กับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได้ จึงทรงดำริต่อไปว่า ธรรมดาสภาวะทั้งปวง ย่อมมีของที่เป็นข้าศึกแก่กัน เช่นมีร้อน ก็มีเย็นแก้ มีมืด ก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ ๓ อย่างนั้นได้บ้างกระมัง ก็แต่ว่า การที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์ ๓ อย่างนั้น เป็นการยากอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในฆราวาสวิสัย จะแสวงหาไม่ได้ เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบนัก และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง เหตุความรัก ความชัง ความหลง ดุจเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้ ทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ
ครั้นทรงแน่พระทัยว่า เป็นอุบายให้แสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นได้เช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส เสด็จกลับพระราชวังในเวลาเย็น ด้วยพระเกียรติยศอันสูง เสด็จขึ้นประทับที่มุขปราสาทชั้นบน



ตอนที่ ๘


พระสิทธัตถะกุมารทรงสดับคุณบทพระนิพพาน
ขณะนั้น นากีสาโคตมี ราชกัญญาแห่งศากยราช ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสิทธัตถะ ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ ได้ตรัสคาถาสรรเสริญพระคุณสมบัติของพระกุมารด้วยสุรเสียงอันไพเราะว่า
นิพ.พุตา นูน สา มาตา นิพ.พุโต นูน โส ปิตา
นิพ.พุตา นูน สา นารี ยส.สายํ อีทิโส ปติ.
ความว่า หญิงใด เป็นมารดาของพระกุมารนี้ หญิงนั้นดับทุกข์ได้ ชายใดเป็นบิดาของพระกุมารนี้ ชายนั้นดับทุกข์ได้ พระกุมารนี้เป็นสามีของนางใด นางนั้นก็ดับทุกข์ได้
พระสิทธัตถะทรงสดับคาถานั้น ทรงเลื่อมใส พอพระทัยในคำว่า นิพ.พุตา ความดับทุกข์ ซึ่งมีความหมายไกลออกไปถึงพระนิพพาน ธรรมเครื่องดับทุกข์ทั้งมวล ทรงดำริว่า พระน้องนางผู้นี้ ให้เราได้สดับคุณบทแห่งพระนิพพานครั้งนี้ ชอบยิ่งแล้วจึงทรงถอดสร้อยมุกข์ซึ่งมีค่ายิ่งจากพระศอ พระราชทานรางวัลแก่พระนางกีสาโคตมีด้วยทรงปิติยินดี ผดุงน้ำพระทัยให้พระองค์น้อมไปในการเสด็จออกบรรพชายิ่งขึ้น แต่ตรงข้ามจากความรู้สึกของพระนางกีสาโคตมี ซึ่งมีความรู้สึกในศัพท์ว่า นิพ.พุตา ต่ำ ๆ เพียงดับทุกข์ยาก ไม่ต้องเดือดร้อน สำหรับคนครองเรือน ยิ่งได้รับพระราชทานสร้อยมุกข์ ก็กลับเพิ่มความปฏิพัทธในพระกุมารยิ่งขึ้น คิดว่าพระกุมารคงจักพอพระทัยปฏิพัทธในพระนาง และแล้วก็คิดไกลออกไปตามวิสัยของคนมีความรัก



ตอนที่ ๙


พระสิทธัตถะกุมารเสด็จหนีออกบรรพชา
ครั้นพระสิทธัตถะทรงน้อมพระทัยเสด็จออกบรรพชาเช่นนั้น ก็ทรงเห็นมีทางเดียว คือ เสด็จหนีออกจากพระนคร ตัดความอาลัย ความเยื่อใย ในราชสมบัติ พระชายา และพระโอรส กับทั้งพระประยูรญาติ ตลอดราชบริพารทั้งสิ้น ด้วยหากจะทูลพระราชบิดา ก็คงจะถูกทัดทาน ยิ่งมวลพระประยูรญาติทราบเรื่อง ก็จะรุมกันห้ามปราม การเสด็จออกซึ่งหน้า ไม่เป็นผลสำเร็จได้ เมื่อทรงตั้งพระทัยเสด็จหนีเช่นนั้นแล้ว ในเวลาราตรีนั้น เสด็จบรรทมแต่หัวค่ำ ไม่ทรงใยดีในการขับประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีของพวกราชกัญญาทั้งหลาย ที่ประจงจัดถวายบำรุงบำเรอทุกประการ
เมื่อพระสิทธัตถะทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัดแห่งราตรีนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีเหล่านั้น นอนหลับอยู่เกลื่อนภายในปราสาท ซึ่งสร้างด้วยแสงประทีป บางนางอ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล บางนางผ้านุ่งหลุด บางนางกอดพิณ บางนางก่ายเปิงมาง บางนางบ่น ละเมอ นอนกลิ้งกลับไปมา ปรากฏแก่พระสิทธัตถะ ดุจซากศพ อันทิ้งอยู่ในป่าช้าผีดิบ ปราสาทอันงามวิจิตรแต่ไหนแต่ไรมา ได้กลายเป็นป่าช้า ปรากฎแก่พระสิทธัตถะในขณะนั้น เป็นการเพิ่มกำลังความดำริในการออกบรรพชาในเวลาย่ำค่ำเพิ่มขึ้นอีก ทรงเห็นบรรพชาเป็นทางที่ห่างอารมณ์อันล่อให้หลงและมัวเมา เป็นช่องที่จะบำเพ็ญปฏิบัติ เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น ทำชีวิตให้มีผลไม่เป็นหมัน ทรงตกลงพระทัยเช่นนี้ ก็เตรียมแต่งพระองค์ทรงพระขรรค์ รับสั่งเรียกนายฉันนะ อำมาตย์ ให้เตรียมผูกม้ากัณฐกะ เพื่อเสด็จออกในราตรีนั้น
ครั้นตรัสสั่งแล้วก็เสด็จไปยังปราสาทพระนางพิมพาเทวี เพื่อทอดพระเนตรราหุลกุมาร พระโอรสพระองค์เดียวของพระองค์ เผยพระทวารห้องบรรทมของพระนางพิมพาเทวี เห็นพระนางบรรทมหลับสนิท พระกรกอดโอรสอยู่ ทรงดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย ก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะทรงตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาในพระโอรส เสด็จออกจากห้องเสด็จลงจากปราสาท พบนายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่งไว้พร้อมดีแล้ว ก็เสด็จขึ้นประทับม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จหนึ่งคน เสด็จออกจากพระนครในราตรีกาล ซึ่งเทพยดาบรรดาลเปิดทวารพระนครไว้ให้เสด็จโดยสวัสดี
เมื่อเสด็จข้ามพระนครไปแล้ว ขณะนั้นพญามารวัสวดี ผู้มีจิตบาป เห็นพระสิทธัตถะสละราชสมบัติ เสด็จออกจากพระนคร เพื่อบรรพชา จะล่วงพ้นบ่วงของอาตมาซึ่งดักไว้ จึงรีบเหาะมาประดิษฐานลอยอยู่ในอากาศ ยกพระหัตถ์ขึ้นร้องห้ามว่า ดูกร พระสิทธัตถะ ท่านอย่ารีบร้อนออกบรรพชาเสียก่อนเลย ยังอีก ๗ วันเท่านั้น ทิพยรัตนจักรก็จะปรากฏแก่ท่าน แล้วท่านก็จะได้เป็นองค์บรมจักรพรรดิ์ เสวยสมบัติเป็นอิสราธิบดี มีทวีใหญ่ทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ขอท่านจงนิวัตนาการกลับคืนเข้าพระนครเถิด
พระสิทธัตถะจึงตรัสว่า ดูกรพญามาร แม้เราก็ทราบแล้วว่า ทิพยรัตนจักรจะเกิดขึ้นแก่เรา แต่เราก็มิได้มีความต้องการด้วยสมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น เพราะแม้สมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น ก็ตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ ไม่อาจนำผู้เสวยให้พ้นทุกข์ได้ ท่านจงหลีกไปเถิด เมื่อทรงขับพญามารให้ถอยไปแล้ว ก็ทรงขับม้ากัณฐกะราช ชาติมโนมัยไปจากที่นั้น บ่ายหน้าสู่มรรคา เพื่อข้ามให้พ้นเขตราชเสมาแห่งกบิลพัสดุ์บุรี เหล่าเทพยดาก็ปลาบปลื้มยินดี บูชาด้วยบุบผามาลัยมากกว่ามาก บ้างก็ติดตามห้อมล้อมถวายการรักษาพระมหาบุรุษเจ้าตลอดไป



ตอนที่ ๑๐


ทรงตัดพระโมลีถือเพศบรรพชิตที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที
พอจวนเวลาใกล้รุ่งปัจจุสมัย ก็บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที ทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตบุรีกบิลพัสดุ์แล้ว ก็เสด็จลงจากหลังอัศวราช ประทับนั่งเหนือหาดทรายอันขาวสะอาด รับสั่งแก่นายฉันนะว่า เราจักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิตในที่นี้ ท่านจงเอาเครื่องประดับของอาตมากับม้าสินธพกลับพระนครเถิด
ครั้นตรัสแล้ว ก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับสำหรับขัตติยราชทั้งหมดมอบให้แก่นายฉันนะ ตั้งพระทัยปรารถนาจะทรงบรรพชา จึงทรงดำริว่า เกศาของอาตมานี้ ไม่สมควรแก่สมณเพศ จึงทรงจับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ ตัดพระโมลีให้ขาดออกเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง แล้วทรงจับพระโมลีนั้นขว้างขึ้นไปบนอากาศ
ทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณโดยแท้แล้ว ขอจุฬาโมลีนี้ จงตั้งอยู่ในอากาศ อย่าได้ตกลงมา ทว่าจะมิได้บรรลุสิ่งซึ่งต้องประสงค์ ก็จงตกลงมายังพื้นพสุธา
ในทันใดนั้น จุฬาโมลีก็มิได้ตกลงมา คงลอยอยู่ในอากาศ จึงสมเด็จพระอัมรินทราธิราชก็เอาผอบแก้วมารองรับไว้ แล้วนำไปบรรจุยังจุฬามณีเจดีย์สถาน ในเทวโลก
ขณะนั้น .... ฆฏิการพรหม ก็น้อมนำไตรจีวรและบาตร มาจากพรหมโลกเข้าไปถวาย พระสิทธัตถะทรงรับผ้าไตรจีวรกาสาวพัสตร์และบาตรแล้ว ก็ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตอุดมเพศ แล้วทรงมอบผ้าทรงเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์เพศทั้งคู่ ให้แก่ฆฏิการพรหม ๆ ก็น้อมรับผ้าคู่นั้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ ในพรหมโลกสถาน



ตอนที่ ๑๑ พระมหาบุรุษ


เมื่อพระมหาบุรุษเจ้าทรงบรรพชาแล้ว จึงดำรัสสั่งนายฉันนะ อำมาตย์ว่า ท่านจงเป็นธุระนำอาภรณ์ของอาตมากลับเข้าไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ แจ้งข่าวแก่ขัตติยสกุลทั้งหลายอันยังมิได้รู้เหตุ แล้วกราบทูลพระปิตุเรศ และพระราชมาตุจฉาว่า พระโอรสของพระองค์หาอันตรายโรคาพยาธิสิ่งใดมิได้ บัดนี้บรรพชาแล้ว อย่าให้พระองค์ทรงทุกข์โทมนัสถึงพระราชบุตรเลย จงเสวยภิรมย์ราชสมบัติให้เป็นสุขทุกอิริยาบถเถิด เมื่ออาตมาได้บรรลุพระสัพพัญญุญาณแล้ว จะได้ไปเฝ้าพระราชบิดา พระมารดา กับทั้งพระประยูรญาติขัตติยวงศ์ทั้งมวล ท่านจงกลับไปกราบทูลข่าวสารด้วยประการฉะนี้
นายฉันนะ อำมาตย์ รับพระราชโองการแล้ว ก็ถวายบังคมลาแทบพระยุคลบาท มิอาจจะกลั้นโศกาอาดูรได้ มิอยากจะจากไปด้วยความเสน่หาอาลัยเป็นที่ยิ่ง รู้สึกว่าเป็นโทษหนักที่ทอดทิ้งให้พระมหาบุรุษเจ้าอยู่แต่พระองค์เดียว แต่ก็ไม่อาจขัดพระกระแสรับสั่งได้ จำต้องจากพระมหาบุรุษเจ้าไปด้วยความสลดใจสุดจะประมาณ นำเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้าทั้งหมด เดินทางพร้อมกับม้ากัณฐกะสินธวชาติ กลับพระนครกบิลพัสดุ์ พอเดินทางไปได้ชั่วสุดสายตาเท่านั้น ม้ากัณฐกะก็ขาดใจตาย ด้วยความอาลัยในพระมหาบุรุษเจ้าสุดกำลัง
เมื่อนายฉันนะกลับไปถึงพระนคร ชาวเมืองทั้งปวงก็โจษจันกันอึงมี่ ว่านายฉันนะอำมาตย์กลับแล้ว ต่างก็รีบไปถามข่าว มวลหมู่อำมาตย์ทราบความก็บอกเล่ากันต่อ ๆ ไป ตราบจนนายฉันนะอำมาตย์เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะราช ถวายเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้า แล้วกราบทูลความตามที่พระมหาบุรุษเจ้าสั่งมาทุกประการ
ครั้นพระราชบิดา พระมาตุจฉา พระนางพิมพา ตลอดจนขัตติยราช ได้สดับข่าวก็ค่อยคลายความโศกเศร้า และต่างก็ตั้งหน้าคอยสดับข่าวตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ของพระมหาบุรุษสืบไป ตามคำพยากรณ์ที่อสิตดาบส และพราหมณ์ทั้งหลายทูลถวายไว้แต่ต้นนั้น



ตอนที่ ๑๒ โกณฑัญญะพราหมณ์ชวนเพื่อนออกบวช


ฝ่ายโกณฑัญญะพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชาแล้วก็ดีใจ รีบไปหาบุตรของเพื่อนพราหมณ์ทั้ง ๗ คน ที่ร่วมคณะถวายคำทำนายพระลักษณะด้วยกัน กล่าวว่า บัดนี้พระสิทธัตถะกุมารเสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ ไม่มีข้อที่จะสงสัย ถ้าบิดาของท่านทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ก็จะออกบรรพชาด้วยกันในวันนี้ ผิว่าท่านทั้งหลายปรารถนาจะบวช ก็จงมาบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด แต่บุตรพราหมณ์ทั้ง ๗ นั้น หาได้พร้อมใจกันทั้งสิ้นไม่ ยินดีรับยอมบวชด้วยเพียง ๔ คน โกณฑัญญะพราหมณ์ก็พาพราหมณ์มานพทั้ง ๔ ออกบรรพชา เป็น ๕ คนด้วยกัน จึงได้นามว่า พระปัญจวัคคีย์ เพราะมีพวก ๕ คน ชวนกันออกสืบเสาะติดตามพระมหาบุรุษเจ้า
ส่วนพระมหาบุรุษหลังแต่ทรงบรรพชาแล้ว เสวยบรรพชาสุขอยู่ ณ ที่ป่าไม้มะม่วงตำบลหนึ่ง มีนามว่า อนุปิยอัมพวัน เว้นเสวยพระกระยาหารถึง ๗ วัน ครั้นวันที่ ๘ จึงเสด็จดำเนินจากอนุปิยอัมพวันเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวร สมควรแก่ภาวะของสมณะ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของทุกคนที่ได้เห็น เมื่อได้บิณฑภัตรพอแก่ยาปนมัตถ์ ก็เสด็จกลับจากพระนคร โดยเสด็จออกจากทางประตูที่แรกเสด็จเข้าไป ตรงไปยังมัณฑวะบรรพต มีหน้าผาเป็นที่ร่มเย็น ควรแก่สมณวิสัย ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ทรงปรารภจะเสวยอาหารในบาตร ทอดพระเนตรเห็นบิณฑาหารในบาตร ไม่สะอาด ไม่ประณีต หารสกลิ่นอันควรแก่การเสวยมิได้ เป็นอาหารเลว ที่พระองค์ไม่เคยทรงเสวยมาแต่ก่อน ก็บังเกิดปฏิกูล น่ารังเกียจเป็นที่ยิ่ง
ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสสอนพระองค์เองว่า " สิทธัตถะ ตัวท่านบังเกิดในขัตติยสุขุมาลชาติ เคยบริโภคแต่อาหารปรุงแต่งด้วยสุคันธชาติโภชนสาลี อันประกอบด้วยสูปพยัญชนะมีรสอันเลิศต่าง ๆ ไฉนท่านจึงไม่รู้สึกตนว่า เป็นบรรพชิตเห็นปานฉะนี้ และเที่ยวบิณฑบาต อย่างไรจะได้โภชนาหารอันสะอาดประณีตมาแต่ที่ใดเล่า และบัดนี้ ท่านสมควรจะคิดอย่างไรแก่อาหารที่ได้มานี้ ครั้นให้โอวาทแก่พระองค์ฉะนี้แล้ว ก็มนสิการในปฏิกูลสัญญา พิจารณาอาหารบิณฑบาตด้วยปัจจเวกขณ์ และปฏิกูลปัจจเวกขณ์ ด้วยพระปรีชาญาณสมบูรณ์ด้วยพระสติดำรงมั่น ทรงเสวยมิสกาหารบิณฑบาตอันนั้น ปราศจากความรังเกียจดุจอมฤตรส และทรงกำหนดในพระทัยว่า ตั้งแต่ทรงบรรพชามาได้ ๘ วัน เพิ่งได้เสวยภัตตาหารในวันนี้



ตอนที่ ๑๓ พระเจ้าพิมพิสารเข้าเฝ้าพระมหาบุรุษถวายราชสมบัติ


ครั้นพวกราชบุรุษได้เห็นพระมหาบุรุษในขณะเสด็จบิณฑบาต ก็นำความไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร ราชาธิบดีแห่งแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งให้สะกดรอยติดตาม เพื่อทราบความเท็จจริงของบรรพชิตพิเศษรูปนี้ ครั้นพวกราชบุรุษติดตามได้ความจริงแล้ว ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงมคธให้ทรงทราบ
พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงสดับ ก็มีพระทัยโสมทัสในพระคุณสมบัติ ทรงพระประสงค์จะได้พบ จึงเสด็จด้วยพระราชยานออกจากพระนครโดยด่วน ครั้นถึงบัณฑวะบรรพต ก็เสด็จลงจากราชยาน เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเฝ้าพระมหาบุรุษเจ้า เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระอิริยาบถเรียบร้อย อยู่ในสมณสังวร ก็ยิ่งหลากพระทัย ทรงเลื่อมใสในปฏิปทาของพระมหาบุรุษ ครั้นได้ทูลถามถึงตระกูล ประเทศ และพระชาติ เมื่อทรงทราบว่าเป็นขัตติยศากยราชเสด็จออกบรรพชา ก็ทรงดำริว่า ชะรอยพระมหาบุรุษจะทรงพิพาทกับพระประยูรญาติ ด้วยเรื่องพระราชสมบัติเป็นแม่นมั่น จึงได้เสด็จออกบรรพชา ซึ่งเป็นธรรมดาของนักพรต ที่ออกจากราชตระกูลบรรพชาแต่กาลก่อน จึงได้ทรงเชื้อเชิญพระมหาบุรุษด้วยราชสมบัติ ซึ่งพระองค์ยินดีจะแบ่งถวายให้เสวยสมพระเกียรติทุกประการ
พระมหาบุรุษจึงตรัสตอบขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งมีพระทัยกอรปด้วยพระเมตตา แบ่งสิริราชสมบัติพระราชทานให้ครอบครอง แต่พระองค์มิได้มีความประสงค์จำนงหมายเช่นนั้น ทรงสละราชสมบัติออกผนวช เพื่อมุ่งหมายพระสัพพัญญุตญาณโดยแท้
พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับ ก็ตรัสอนุโมทนา และทูลขอปฏิญญากะพระมหาบุรุษว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ขอได้ทรงพระกรุณาเสด็จมายังพระนครราชคฤห์ แสดงธรรมโปรด ครั้นพระมหาบุรุษทรงรับปฏิญญาแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับเข้าพระนคร



ตอนที่ ๑๔ พระมหาบุรุษเสด็จเข้าสำนักดาบส เริ่มทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา


ลำดับนั้น พระมหาบุรุษก็เสด็จจาริกจากที่นั้น ไปสู่สำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ซึ่งสร้างอาศรมอยู่ในพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ขอพำนักศึกษาวิชาและข้อปฏิบัติอยู่ ทรงศึกษาอยู่ไม่นาน ก็ได้สำเร็จสมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ สิ้นความรู้ของอาฬารดาบส ทรงเห็นว่าธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาอาฬารดาบส ไปสู่สำนักอุทกดาบส รามบุตร ขอพำนักศึกษาอยู่ด้วย ทรงศึกษาไดอรูปฌาน ๔ ครับสมาบัติ ๘ สิ้นความรู้ของอุทกดาบส ครั้นทรงไตร่ถามถึงธรรมวิเศษขึ้นไป อุทกดาบสก็ไม่สามารถจะบอกได้ และได้ยกย่องตั้งพระมหาบุรุษไว้ในที่เป็นอาจารย์เสมอด้วยตน แต่พระมหาบุรุษทรงเห็นว่า ธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาอาจารย์ออกแสวงหาธรรมวิเศษสืบไป ทั้งมุ่งพระทัยจะทำความเพียรโดยลำพังพระองค์เดียว ได้เสด็จจาริกไปยังมคธชนบท บรรลุถึงตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ราบรื่น แนวป่าเขียวสด เป็นที่เบิกบานใจ แม่น้ำไหล มีน้ำใสสะอาด มีท่าน่ารื่นรมณ์ โคจรคาม คือ หมู่บ้านที่อาศัยเที่ยวภิกษาจาร ก็ตั้งอยู่ไม่ไกล ทรงเห็นว่าประเทศนั้น ควรเป็นที่อาศัยของกุลบุตรผู้มีความต้องการด้วยความเพียรได้ จึงเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น
ส่วนบรรพชิตทั้ง ๕ อันมีนามว่า ปัญจวัคคีย์ คือ พระโกณทัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ พากันเที่ยวติดตามพระมหาบุรุษในที่ต่าง ๆ จนไปประสบพบพระมหาบุรุษยังตำบลอุรุเวลา เสนานิคม จึงพากันเข้าไปถวายอภิวาทแล้วอยู่ปฏิบัติบำรุง จัดทำธุระกิจถวายทุกประการ โดยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดตนบ้าง
พระมหาบุรุษทรงเริ่มทำทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นปฏิปทาที่นิยมว่าเป็นทางให้ตรัสรู้ได้ในสมัยนั้น โดยทรมานพระกายให้ลำบาก ซึ่งเป็นกิจยากที่บุคคลจะกระทำได้ ด้วยการทรมานเป็น ๓ วาระ ดังนี้
วาระแรก ทรงกดพระทนต์(ฟัน)ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ(เพดานปาก)ุด้วยพระชิวหา(ลิ้น)ไว้ให้แน่น จนพระเสโท(เหงื่อ)ไหลจากพระกัจฉะ(รักแร้) ในเวลานั้นได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง จับบุรุษมีกำลังน้อยไว้ที่ศรีษะ หรือที่คอ บีบให้แน่น ฉะนั้น แม้พระกายจะกระวนกระวายไม่สงบระงับอย่างนี้ ทุกขเวทนานั้นก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย พระองค์มีพระสติมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ท้อถอย ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนั้น ไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสสะ(ลมหายใจเข้าออก) เมื่อลมไม่ได้ทางเดินสะดวก โดยช่องพระนาสิก(จมูก)และช่องพระโอฐ(ปาก) ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณ(หู)ทั้งสอง ให้ปวดพระเศียร(หัว) ร้อนในพระกายเป็นกำลัง แม้จะได้เสวยทุกขเวทนากล้าถึงเพียงนี้ ทุกขเวทนานั้น ก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย มีพระสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนี้ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ ก็ทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
วาระที่ ๓ ทรงอดพระอาหาร ผ่อนเสวยแต่วันละน้อย ๆ บ้าง เสวยอาหารละเอียดบ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี(ผิว)เศร้าหมอง พระอัฏฐิ(กระดูก) ปรากฏทั่วพระกาย เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระโลมามีรากเน่าร่วงจากขุมพระโลมา พระกำลังน้อยถอยลง จะเสด็จไปข้างไหนก็ซวนเซล้ม วันหนึ่งทรงอ่อนพระกำลัง อิดโรยโหยหิวที่สุด จนไม่สามารถจะทรงพระกายไว้ได้ ก็ทรงวิสัญญีภาพ(สลบ)ล้มลงในที่นั้น



ตอนที่ ๑๕ ทรงอสัญญีภาพ


ขณะนั้น เทพยดาองค์หนึ่งสำคัญผิดคิดว่า พระมหาบุรุษดับขันธ์ทิวงคตแล้ว จึงรีบไปยังพระปราสาทพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ทูลว่า บัดนี้ พระสิทธัตถะกุมารพระราชโอรสของพระองค์ สิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งถามว่า พระโอรสของเราได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือยัง เป็นประการใด เทพยดาก็ตอบว่า ยังมิทันได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ท้าวเธอไม่ทรงเชื่อ จึงรับสั่งว่า จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ หากพระโอรสของเรายังมิได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะด่วนทำลายพระชนม์ชีพหามิได้เลย แล้วเทพดาองค์นั้นก็อันตรธานจากพระราชนิเวศน์ไป
ส่วนพระมหาบุรุษ เมื่อได้ซึ่งสัญญาฟื้นพระกายกุมพระสติให้ตั้งมั่น พิจารณาดูปฏิปทาในทุกกรกิริยาที่ทำอยู่ ทรงดำริว่า ถึงบุคคลทั้งหลายใด ๆ ในโลกนี้ จะทำทุกกรกิริยาอย่างอุกฤษฐ์นี้ บุคคลนั้น ๆ ก็ทำทุกกรกิริยาเสมออาตมาเท่านั้น จะทำให้ยิ่งกว่าอาตมาหามิได้ แม้อาตมาปฏิบัติอย่างอุกฤษฐ์อย่างนี้แล้ว ไฉนหนอจึงยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ ชรอยทางตรัสรู้จะมีเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างนี้เป็นแน่ เกิดพระสติหวลระลึกถึงความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางตรัสรู้ได้บ้าง



ตอนที่ ๑๖  ทรงระลึกถึงเสียงพิณ



ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธราชทรงทราบข้อปริวิตกของพระมหาบุรุษดังนั้น จึงทรงซึ่งพิณทิพย์สามสายมาดีดถวายพระมหาบุรุษ สายหนึ่งตึงนัก พอดีดไปหน่อยก็ขาด สายหนึ่งหย่อนนัก ดีดเข้าก็ไม่บันลือเสียง อีกสายหนึ่ง ไม่ตึงไม่หย่อนพอปานกลาง ดีดเข้าก็บันลือเสียงไพเราะเจริญใจ พระมหาบุรุษได้สดับเสียงพิณทรงหวลระลึกถึง พิณที่เคยทรงมาแต่ก่อน ก็ทรงตระหนักแน่ ถือเอาเป็นนิมิต ทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า ทุกกรกิริยามิใช่ทางตรัสรู้แน่ทางแห่งพระโพธิญาณที่ควรแก่การตรัสรู้ ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา บำเพ็ญเพียรทางจิต ปฏิบัติปานกลาง ไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก จึงใคร่จะทรงตั้งปณิธานทำความเพียรทางจิต ทรงเห็นว่าความเพียรทางจิตเช่นนั้น คนซูบผอมหากำลังมิได้เช่นอาตมานี้ ย่อมไม่สามารถจะทำได้ จำจะหยุดพักกินอาหารข้น คือ ข้าวสุก ขนมสด ให้มีกำลังดีก่อน ครั้นตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็กลับเสวยพระอาหารตามเดิม
อนึ่ง การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยา เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิตนั้น โดยทรงดำริเปรียบเทียบอุปมา ๓ ข้อ ซึ่งพระองค์ไม่เคยสดับ ไม่เคยดำริมาก่อนเลย ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่า
สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งมีกายไม่ได้หลีกออกจากกาม และมีความพอใจรักใคร่ในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน ที่เกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง บุคคลแช่ไว้ในน้ำ บุรุษมีความต้องการด้วยไฟ ถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้า ด้วยหวังจะให้เกิดไฟ บุรุษนั้นก็ไม่อาจให้ไฟเกิดขึ้นได้ ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นยังสดมียางอยู่ ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ
อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความรักใคร่พอใจในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง แม้ห่างไกลจากน้ำ บุคคลตั้งไว้บนบก บุรุษก็ไม่อาจสีให้เกิดไฟได้ ถ้าสีเข้า ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นแม้ตั้งอยู่บนบกแล้ว แต่ยังเป็นของสดชุ่มด้วยยาง
อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจากกามแล้ว และละความใคร่ในกาม ให้สงบระงับดีแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี แม้ไม่ได้เสวยเลยก็ดี ก็ควรจะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้งที่ไกลจากน้ำ บุคคลวางไว้บนบก บุรุษอาจสีให้เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นของแห้ง ทั้งตั้งอยู่บนบก
อุปมาทั้ง ๓ ข้อนี้ ได้เป็นกำลังสนับสนุนพระหฤทัยให้พระมหาบุรุษทรงมั่นหมายในการทำความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางให้พระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยแน่แท้
ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ภิกษุ ผู้มีความนิยมในทุกกรกิริยา พากันเฝ้าบำรุงพระมหาบุรุษอยู่ เมื่อเห็นพระมหาบุรุษทำความเพียรในทุกกรกิริยาอย่างตึงเครียด เกินกว่าสามัญชนจะทำได้เช่นนั้น ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใส มั่นใจว่าพระมหาบุรุษจะต้องได้ตรัสรู้โดยฉับพลัน และพระองค์จะได้ทรงเมตตาประทานธรรมเทศนาโปรดตนให้ตรัสรู้บ้าง แต่ครั้นเห็นพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยาที่ประพฤติแล้ว และเห็นร่วมกันว่า บัดนี้ พระองค์คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว จึงเบื่อหน่ายในการที่จะปฏิบัติบำรุงต่อไป ด้วยเห็นว่าพระองค์คงจะไม่อาจบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงพากันหลีกไปเสียจากที่นั้น ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี



ตอนที่ ๑๗
ทรงพระสุบิน ๕ ข้อ


พระมหาบุรุษเมื่อทรงเลิกละทุกกรกิริยาแล้ว ก็ทรงเริ่มเสวยพระอาหารข้น บำรุงร่างกายให้กลับมีกำลังขึ้นได้เป็นปกติอย่างเดิมแล้ว ก็ทรงเริ่มทำความเพียรทางจิตต่อไป จนถึงราตรีวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เวลาบรรทมหลับ ทรงพระสุบิน ๕ ประการ คือ
๑. ทรงพระสุบินว่า พระองค์ทรงผทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนเขาหิมพานต์เป็นพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งคู่ก็หยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้
๒. ทรงพระสุบินว่า หญ้าแพรกเส้นหนึ่งรอกจากพระนาภี สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า
๓. ทรงพระสุบินว่า หมู่หนอนทั้งหลาย สีขาวบ้าง ดำบ้าง เป็นอันมาก ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งคู่ ปกปิดลำพระชงฆ์หมด และไต่ขึ้นมาถึงพระชานุมณฑล
๔. ทรงพระสุบินว่า ฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่าง ๆ กัน คือ สีเหลือง เขียว แดง ดำ บินมาแต่ทิศทั้ง ๔ ลงมาจับแท่นพระบาท แล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น
๕. ทรงพระสุบินว่า เสด็จขึ้นไปเดินจงกลมบนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นมิได้ทรงเปื้อนพระยุคลบาท
ในพระสุบินทั้ง ๕ ข้อนั้น มีอธิบายว่า
ข้อ ๑. พระมหาบุรุษเจ้าจะได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓
ข้อ ๒. พระมหาบุรุษจะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยมรรค ผล นิพพาน แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล
ข้อ ๓. คฤหัสถ์ พราหมณ์ทั้งหลาย จะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์เป็นอันมาก
ข้อ ๔. ชาวโลกทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทย์ เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะรู้ทั่วถึงธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดผ่องใสไปสิ้น
ข้อ ๕. ถึงแม้พระองค์จะพร้อมมูลด้วยสักการะวรามิศ ที่ชาวโลกทุกทิศน้อมถวายด้วยความเลื่อมใส ก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย



ตอนที่ ๑๘
ทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา


ครั้นพระมหาบุรุษตื่นผทมแล้ว ก็ทรงดำริถึงข้อความในพระมหาสุบินทั้ง ๕ แล้วทำนายด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้ ครั้นได้ทรงทำสรีระกิจ สระสรงพระกายหมดจดแล้ว ก็เสด็จมาประทับนั่ง ณ ที่ควงไม้นิโครธพฤกษ์ ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขะปุรณมี ดิถีกลางเดือน ๖ ปีระกา
ประจวบด้วยวันวาน เป็นวันที่นางสุชาดา ธิดาของคฤหบดีผู้มั่งคั่งในตำบลนั้น นางได้ตั้งปณิธานบูชาเทพารักษ์ไว้ว่า ขอให้นางได้สามีที่มีตระกูลเสมอกัน และขอให้ได้บุตรคนแรกเป็นชาย ครั้นนางได้สามีและบุตรสมนึก นางจึงคิดจะหุงข้าวมธุปายาสอันประณีตด้วยเครื่องปรุงทุกประการ ไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่ได้ไปบนบานไว้ ดังนั้นในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ จึงสั่งให้บ่าวไพร่ตระเตรียมการทำข้าวปายาสเป็นการใหญ่ และกว่าจะสำเร็จเป็นข้าวปายาสได้ ก็ตกถึงเพลาเที่ยงคืน แล้วนางสุชาดาจึงสั่งนางปุณณทาสี หญิงคนใช้ที่สนิทให้ออกไปทำความสะอาด แผ้วกวาดที่โคนต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เพื่อจะได้จัดเป็นที่ตั้งเครื่องสังเวยเทพารักษ์
ดังนั้น นางปุณณทาสี จึงได้ตื่นแต่เช้า เดินทางไปยังต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เห็นพระมหาบุรุษทรงประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้นั้น ผันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางปาจินทิศ (ตะวันออก) มีรัศมีพระกายแผ่สร้านออกไปเป็นปริมณฑล งามยิ่งนัก นางก็นึกทึกทักตระหนักแน่ในจิตทันทีว่า วันนี้ เทพยดาเจ้าลงจากต้นไทรงาม นั่งคอยรับข้าวปายาสของสังเวยของเจ้าแม่ด้วยมือทีเดียว นางก็ดีใจรีบกลับมายังเรือน บอกนางสุชาดาละล่ำละลักว่า เทพารักษ์ที่เจ้าแม่มุ่งทำพลีกรรมสังเวยนั้น บัดนี้ ได้มานั่งรอเจ้าแม่อยู่ที่ควงไม้ไทรแล้ว ขอให้เจ้าแม่รีบไปเถอะ
นางสุชาดามีความปลาบปลื้มกล่าวว่า ขอให้เจ้าเป็นลูกคนโตของแม่เถิด แล้วจึงมอบเครื่องประดับแก่นางปุณณทาสี และให้หยิบถาดทองมา ๒ ถาด ถาดหนึ่งใส่ข้าวปายาสจนหมด มิได้เหลือเศษไว้เลย ข้าวปายาสเต็มถาดพอดี แล้วให้ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง แล้วห่อหุ้มด้วยผ้าทองอันบริสุทธิ์ ครั้นนางสุชาดาแต่งกายงามด้วยอาภรณ์เสร็จแล้ว ก็ยกถาดข้าวปายาสขึ้นทูลเหนือเศียรเกล้าของนาง ลงจากเรือนพร้อมด้วยหญิงคนใช้เป็นบริวารติดตามมาเป็นอันมาก ครั้นถึงต้นไทรเห็นพระมหาบุรุษงามด้วยรัศมีดังนั้น ก็มีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดาโดยแท้ เดินยอบกายเข้าไปเฝ้าแต่ไกลด้วยคารวะ ครั้นเข้าไปใกล้จึงน้อมถาดข้าวปายาสถวายด้วยความเคารพยิ่ง
ขณะนั้น บาตรดินอันเป็นทิพย์ ซึ่งฆฏิการพรหมถวายแต่วันแรกทรงบรรพชา เกิดอันตรธานหายไปจากที่นั้น พระมหาบุรุษก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกรับ แล้วทอดพระเนตรดูนางสุชาดา แสดงให้นางรู้ชัดว่า พระองค์ไม่มีบาตรจะถ่ายใส่ข้าวปายาสไว้ นางสุชาดาทราบชัดโดยพระอาการ ก็กราบทูลว่า หม่อมฉันขอถวายทั้งถาด พระองค์มีพระประสงค์ประการใด โปรดนำไปตามพระหฤทัยเถิด แล้วถวายอภิวาททูลอีกว่า ความปรารถนาของหม่อมฉันสำเร็จฉันใด ขอสิ่งซึ่งพระหฤทัยของพระองค์ประสงค์จงสำเร็จฉันนั้นเถิด แล้วนางก็ก้มลงกราบ ถวายบังคมลา กลับเรือนด้วยความสุขใจเป็นล้นพ้น





ตอนที่ ๑๙
ทรงลอยถาดเสี่ยงพระบารมี


ส่วนพระมหาบุรุษ เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงถือถาดข้าวปายาส เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับบ่ายพระพักตรสู่บุรพาทิศแล้ว ทรงปั้นข้าวปายาสเป็นปั้น ๆ ได้ ๔๙ ปั้น เสวยจนหมด แล้วทรงถือถาดลงสู่แม่น้ำ ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเสกสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป แล้วทรงลอยถาดทองนั้นลงในแม่น้ำเนรัญชรา ขณะนั้นอานุภาพพระบารมีของพระองค์ซึ่งทรงบำเพ็ญมาบริบูรณ์ดีแล้ว ได้แสดงให้เห็นอัศจรรย์ ถาดทองนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำเนรัญชราขึ้นไปประมาณ ๑ เส้น แล้วถาดทองนั้นก็จมลงตรงนาคภพพิมาน แห่งพญากาฬนาคราช
ครั้นพระมหาบุรุษได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นนิมิตอันดีเช่นนั้น ก็เพิ่มความแน่พระทัยว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า โดยหาความสงสัยมิได้ ก็ทรงโสมนัสเสด็จมายังสาลวัน ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับพักที่ภายใต้ร่มไม้สาลพฤกษ์ พอเวลาสายันห์ตะวันบ่าย ก็เสด็จออกจากหมู่ไม้สาละ ที่พักกลางวัน เสด็จดำเนินไปสู่ควงไม้อสัตถะโพธิพฤกษ์มณฑล พบโสตถิยะพราหมณ์ในระหว่างทาง โสถิยะพราหมณ์เลื่อมใส น้อมถวายหญ้าคา ๘ กำ
พระมหาบุรุษรับหญ้าคาแล้ว เสด็จไปร่มไม้อสัตถนั้น ณ ด้านปราจินทิศ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอจงเกิดเป็นรัตนบัลลังก์แก้วขึ้นรองรับพระสัพพัญญุตญาณในที่นี้ ทันใดนั้น บัลลังก์แก้วอันวิจิตรงามตะการ ก็บรรดาลผุดขึ้นสมดังพระทัยประสงค์ ควรจะอัศจรรย์ยิ่งนัก
พระมหาบุรุษเสด็จขึ้นประทับรัตนบัลลังก์แก้ว ขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ตรงไปยังปราจินทิศ หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นโพธิ์พฤกษ์ ก่อนที่จะเริ่มทำความเพียรโดยสมาธิจิต ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานในพระทัยว่า ถ้าอาตมายังมิได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด แม้พระโลหิตและพระมังสะจะเหือดแห้งไป จะเหลือแต่พระตจะ(หนัง) พระนหาลุ(เอ็น) และพระอัฏฐิ (กระดูก) ก็ตามที จะไม่เลิกละความเพียร โดยเสด็จลุกไปจากที่นี้
ครั้งนั้น เทพยดาทั้งหลายพากันชื่นชมโสมนัส มีหัตถ์ทรงซึ่งเครื่องสักการะบูชาบุบผามาลัยมีประการต่าง ๆ พากันมาสโมสรสันนิบาตห้อมล้อม โห่ร้องซ้องสาธุการบูชาพระมหาบุรุษ สุดที่จะประมาณ เต็มตลอดมงคลจักรวาฬนี้.



ตอนที่ ๒๐ ทรงชนะมาร


ขณะนั้น พญาวัสวดีมาราธิราช ได้สดับเสียงเทพเจ้าบันลือเสียงสาธุการ ก็ทราบชัดในพระทัยว่า พระมหาบุรุษจะตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ทำลายบ่วงมารที่เราวางขึงรึงรัดไว้ แล้วหลุดพ้นไปได้ ก็น้อยใจ คิดฤษยา เคียดแค้น ป่าวประกาศเรียกพลเสนามารมากกว่ามาก พร้อมด้วยสรรพาวุธและสรรพวาหนะที่ร้ายแรงเหลือที่จะประมาณเต็มไปในท้องฟ้า พญาวัสวดีขึ้นช้างพระที่นั่งคีรีเมขล์ นิรมิตมือพันมือ ถืออาวุธพร้อมสรรพ นำกองทัพอันแสนร้าย เหาะมาทางนภาลัยประเทศ เข้าล้อมเขตบัลลังก์ของพระมหาบุรุษเจ้าไว้อย่างแน่นหนา
ทันใดนั้นเอง บรรดาเทพเจ้าที่พากันมาห้อมล้อมถวายสักการะบูชาสาธุการพระมหาบุรุษอยู่ เมื่อได้เห็นพญามารยกพหลพลมารมาเป็นอันมาก ต่างมีความตกใจกลัวอกสั่นขวัญหาย พากันหนีไปยังขอบจักรวาฬ ทิ้งพระมหาบุรุษเจ้าให้ต่อสู้พญามารแต่พระองค์เดียว
เมื่อพระมหาบุรุษไม่ทรงแลเห็นผู้ใด ใครที่ไหนจะช่วยได้ ก็ทรงระลึกถึงบารมีธรรมทั้ง ๓๐ ประการ ซึ่งเป็นดุจทหารที่แก่นกล้า มีศัตราวุธครบครัน สามารถผจญกับหมู่มาร ขับไล่ให้ปราชัยหนีไปให้สิ้นเชิงได้ และพร้อมกันมารับอาสาอยู่พร้อมมูลเช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส ประทับนิ่งอยู่ โดยมิได้สะทกสะท้านแต่ประการใด
ฝ่ายพญามารวัสวดีเห็นพระมหาบุรุษประทับนั่งนิ่ง มิได้หวั่นไหวแต่ประการใดก็พิโรธร้องประกาศก้อง ให้เสนามารรุกเข้าทำอันตรายหลายประการจนหมดฤทธิ์ บรรดาสรรพาวุธศัตรายาพิษที่พุ่งซัดไป ก็กลับกลายเป็นบุบผามาลัยบูชาพระมหาบุรุษจนสิ้น ครั้งนั้นพญามารตรัสแก่พระมหาบุรุษด้วยสันดานพาลว่า " ดูกรสิทธัตถะ บัลลังก์แก้วนี้ เกิดเพื่อบุญเรา เป็นของสำหรับเรา ท่านเป็นคนไม่มีบุญ ไม่สมควรจะนั่ง จงลุกไปเสียโดยเร็ว "
พระมหาบุรุษหน่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ตรัสตอบว่า " ดูกรพญามาร บัลลังก์แก้วนี้ เกิดขึ้นด้วยบุญของอาตมา ที่ได้บำเพ็ญมาแต่อสังไขยยกัปป์ จะนับจะประมาณมิได้ ดังนั้น อาตมาผู้เดียวเท่านั้น สมควรจะนั่ง ผู้อื่นไม่สมควรเลย "
พญามารก็คัดค้านว่า ที่พระมหาบุรุษรับสั่งมานั้น ไม่เป็นความจริง ให้พระองค์หาพยานมายืนยันว่า พระองค์ได้บำเพ็ญกุศลมาจริง ให้ประจักษ์เป็นสักขีพยานในที่นี้
เมื่อพระมหาบุรุษไม่เห็นผู้อื่นใด ใครจะกล้ามาเป็นพยานยืนยันในที่นี้ได้ จึงตรัสเรียกนางวสุนธรา เจ้าแห่งธรณีว่า " ดูกร วสุนธรา นางจงมาเป็นพยานในการบำเพ็ญกุศลของอาตมาในกาลบัดนี้ด้วยเถิด "
ลำดับนั้น วสุนธรา เจ้าแม่ธรณี ก็ชำแรกแทรกพื้นปฐพีขึ้นมาปรากฏกาย ทำอัญชลีถวายอภิวาทพระมหาบุรุษเจ้าแล้ว ประกาศให้พญามารทราบว่า พระมหาบุรุษ เมื่อเป็นพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้บำเพ็ญบุญมามากมายตลอดกาล เหลือที่จะนับจะประมาณได้ แต่น้ำตรวจที่ข้าพเจ้าเอามวยผมรองรับไว้บนเศียรเกล้า ก็มีมากพอจะถือไว้เป็นหลักฐานวินิจฉัยได้ นางวสุนธรากล่าวแล้วก็ประจงหัตถ์อันงามปล่อยมวยผม บีบน้ำตรวจที่สะสมไว้ในอเนกชาติให้ไหลหลั่งออกมาเป็นทะเลหลวง กระแสน้ำบ่าออกท่วมทับเสนามารทั้งปวงให้จมลงวอดวาย กำลังน้ำได้ทุ่มซัดพัดช้างนาฬาคีรีเมขล์ให้ถอยร่นลงไปติดขอบจักรวาฬ
ครั้งนั้น พญามารตกตลึงเห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยมิได้เคยเห็นมาแต่กาลก่อน ก็ประนมหัตถ์ถวายนมัสการ ยอมปราชัยพ่ายแพ้บุญบารมีของพระมหาบุรุษ แล้วก็อันตรธานหนีไปจากที่นั้น
เมื่อพระมหาบุรุษทรงกำจัดมารและเสนามารให้ปราชัยด้วยพระบารมี ตั้งแต่เวลาสายัณห์มิทันที่พระอาทิตย์จะอัศดงคต ก็ทรงเบิกบานพระทัย ได้ปิติเป็นกำลังภายในสนับสนุน เพิ่มพูนแรงปฏิบัติสมาธิภาวนาให้ยิ่งขึ้น ดังนั้น พระมหาบุรุษจึงมิได้ทรงพักให้เสียเวลา ทรงเจริญสมาธิภาวนา ทำจิตให้แน่วแน่ ปราศจากอุปกิเลส จนจิตสุขุมเข้าโดยลำดับ ไม่ช้าก็ได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน ซึ่งเป็นส่วนรูปสมาบัติ เป็นลำดับ จนถึงอรูปสมาบัติ ๔ บริบูรณ์.



ตอนที่ ๒๑ ทรงตรัสรู้


ต่อจากนั้น ก็ทรงเจริญฌาน อันเป็นองค์ปัญญาชั้นสูงทั้ง ๓ ประการ ยังองค์พระโพธิญาณให้เกิดขึ้นเป็นลำดับ ตามระยะกาลแห่งยามสามอันเป็นส่วนราตรีนั้น คือ ในปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ สามารถระลึกชาติที่พระองค์ทรงบังเกิดมาแล้วทั้งสิ้นได้ ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ บางแห่งเรียกว่า ทิพพจักษุ สามารถหยั่งรู้การเกิดการตาย ตลอดจนการเวียนว่ายของสัตว์ทั้งหลายอื่นได้หมด ในปัจฉิมยาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงปรีชาสามารถทำอาสวะกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไปด้วยพระปัญญา พิจารณาในปัจจยาการแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลม ก็ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาปัจจุบันสมัย รุ่งอรุโณทัย ทรงเบิกบานพระหฤทัยอย่างสูงสุดในการตรัสรู้ อย่างที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อนตลอดกาล ถึงกับทรงอุทาน เย้ยตัณหา อันเป็นตัวการณ์ก่อให้เกิดสังสารวัฏฏทุกข์แก่พระองค์แต่อเนกชาติได้ว่า "อเนกชาติ สํสารํ เป็นอาทิ ความว่า นับแต่ตถาคตท่องเทียว สืบเสาะหาตัวนายช่างผู้กระทำเรือน คือ ตัวตัณหา ตลอดชาติสงสารจะนับประมาณมิได้ ก็มิได้พบพาน ดูกรตัณหา นายช่างเรือน บัดนี้ ตถาคตพบท่านแล้ว แต่นี้สืบไป ท่านจะทำเรือนให้ตถาคตอีกไม่ได้แล้ว กลอนเรือน เราก็รื้อออกเสียแล้ว ช่อฟ้า เราก็ทำลายเสียแล้ว จิตของเราปราศจากสังขาร เครื่องปรุงแต่งให้เกิดในภพอื่นเสียแล้ว ได้ถึงความดับสูญสิ้นไปแห่งตัณหา อันหาส่วนเหลือมิได้โดยแท้ "
ขณะนั้น อัศจรรย์ก็บังเกิดมี พื้นมหาปฐพีอันกว้างใหญ่ก็หวั่นไหว พฤกษาชาติทั้งหลายก็ผลิตดอกออกช่องามตระการตา เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าก็แซ่สร้องสาธุการ โปรยปรายบุบผามาลัยทำการสักการะบูชา เปล่งวาจาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ด้วยปีติยินดี เป็นอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีในกาลก่อน




ตอนที่ ๒๒  เสวยวิมุติสุข


เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงประทับเสวยวิมุติสุขบนรัตนบัลลังก์นั้นสิ้น ๗ วัน ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว จึงเสด็จลงจากรัตนบัลลังก์ ไปประทับอยู่ในทิศอิสานแห่งไม้มหาโพธิ์ จ้องพระเนตรดูไม้มหาโพธิ์ถึง ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า " อนิมิสเจดีย์ ์" ต่อนั้น ทรงนิมิตรัตนจงกรมเจดีย์ เสด็จจงกรมในทิศอุดรแห่งไม้มหาโพธิ์ และทรงจงกรมอยู่ที่นี้อีก ๗ วัน ต่อนั้นก็เสด็จไปประทับนั่งยังรัตนะฆระเจดีย์ เรือนแก้ว ในทิศปัจจิม หรือทิศพายัพ แห่งไม้มหาโพธิ์ ซึ่งเทพยดานิมิตถวาย ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกตลอด ๗ วัน ต่อนั้น จึงเสด็จไปประทับยังร่มไทร ซึ่งเป็นที่อาศัยพักร่มของคนเลี้ยงแพะ อันมีนามว่า อชปาลนิโครธ
ทรงขับนางมาร
ครั้งนั้น พญาวัสวดีมาร มีความน้อยใจ ที่ต้องปราชัยพ่ายแพ้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อับอายแก่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่ต้องยอมให้พระสิทธัตถะล่วงพ้นจากวิสัยของตนไปได้ มีใจโทมนัส จึงหนีออกจากเทวโลก ลงมานั่งในทางใหญ่แห่งหนึ่ง
ขณะนั้น นางมารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นาราคา นางอรดี มิได้เห็นพญาวัสวดีมาร ผู้เป็นบิดาอยู่ในเทวโลก ครั้นแลลงมาด้วยทิพพจักษุ ก็เห็นพระบิดาไปนั่งอยู่ที่ทางใหญ่ในมนุษย์โลก นางทั้ง ๓ จึงพากันมาหาพญาวัสวดีมาร แล้วทูลถามว่า พระบิดาทรงทุกข์ด้วยเหตุประการใด พญามารก็แจ้งความจริงใจแก่ธิดาทั้ง ๓ นั้น นางมารธิดาทั้ง ๓ จึงทูลว่า พระบิดาอย่าทรงทุกข์ร้อนไปเลย ข้าพเจ้าทั้ง ๓ จะรับอาสาไปทำพระสิทธัตถะให้อยู่ในอำนาจ แล้วจะนำมาถวายพระองค์ให้จงได้
พญามารจึงตรัสว่า " ลูกเอ๋ย แต่นี้ไป ไม่มีผู้ใดจะสามารถทำพระสิทธัตถะให้อยู่ในอำนาจเสียแล้ว "
นางมารธิดาก็แย้งว่า ข้าพเจ้าทั้ง ๓ คงจะพันธนาการพระสิทธัตถะด้วยบ่วง มีราคะเป็นต้น ให้อยู่ได้ เพราะข้าพเจ้าเป็นสตรี จะพยายามไปผูกพระสิทธัตถะมาให้จงได้ในกาลบัดนี้ พระองค์อย่าทรงวิตกไปเลย แล้วนางมารทั้ง ๓ ก็ทูลลาพระบิดามาสู่สำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประทับนั่งอยู่ที่ร่มไม้อชปาลนิโครธ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ หม่อมฉันจะบำเรอพระยุคลบาทของพระองค์ถวาย
ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิได้ทรงเอาพระทัยใส่ในถ้อยคำของนางมารธิดาทั้ง ๓ นั้น ทั้งมิได้ทรงลืมพระเนตรขึ้นทัศนาการดูทีท่าของธิดามารทั้ง ๓ ทรงดุษณียภาพนิ่งอยู่เป็นปกติ
นางมารก็ดำริว่า ธรรมดาบุรุษย่อมมีอัธยาสัยเสน่หาในสตรีที่มีสรีระรูปผิวพรรณสัณฐานต่าง ๆ กัน แล้วต่างก็นิมิตเป็นนางงามต่าง ๆ แสดงท่าทางโดยมุ่งหมายจะให้เป็นที่ต้องพระทัยปรารถนา เข้าทูลเล้าโลมดุจกาลก่อน ครั้นเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงตรัสประการใด ก็แสดงมายาหญิง โดยอาการพิลาศ ชำเลืองเนตร ฟ้อนรำ ขับร้องมีประการต่าง ๆ ทุกวิธีที่เห็นว่าจะคล้องน้ำพระทัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้น้ำพระทัยของพระองค์ผิดปกติ
ลำดับนั้น พระสัมพุทธเจ้าจึงออกพระโอฐขับมารธิดาว่า " มารธิดาเอย เจ้าจงออกไปเสียให้พ้นจากที่นี้ เจ้าจะได้ประโยชน์อะไร ในการที่มาพยายามเล้าโลมตถาคต ด้วยทุกสิ่งที่เจ้ามุ่งหมายนั้น ตถาคตได้ทำลายเสียแล้ว เจ้าควรจะไปประเล้าประโลมบุรุษผู้มีราคะบริบูรณ์ เมื่อตถาคตไม่มีร่องรอยอะไรเลย แล้วจะนำตถาคตไปด้วยร่องรอยอะไร ไม่เป็นผลที่มุ่งหมายอันใดแก่เจ้าดอก จงออกไปเสีย "
ในทันใดนั้นเอง ด้วยอานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรดาลให้ร่างกายอันงามของมารธิดาทั้ง ๓ นาง ซึ่งไม่เชื่อฟังพระโอวาท พยายามออดอ้อนอิดเอื้อนอยู่อีก ได้กลับกลายร่างเป็นหญิงชรา น่าสังเวช นางทั้ง ๓ เมื่อได้เห็นร่างกายของตนเปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้นก็ตกใจ พากันหนีออกจากที่นั้นโดยเร็ว และกล่าวกันว่า เป็นความจริงดังพระบิดาของเราได้เตือนแล้วแต่แรกว่า ไม่มีใครที่จะมาทำพระสิทธัตถะให้อยู่ในอำนาจได้แล้ว ก็อันตรธานไปจากที่นั้น
ต่อมามีพราหมณ์ผู้หนึ่ง มีนิสัยเป็นหุหุกชาติ ชอบตวาดข่มขี่ผู้อื่นด้วยวาจาว่า หึ หึ มายังที่นั้น ได้ทูลถามถึงพราหมณ์และธรรม อันทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ว่า " บุคคล ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่าไร และธรรมอะไร ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ "
พระองค์ตรัสตอบว่า " พราหมณ์ ผู้ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องขู่ผู้อื่นว่า หึ หึ เป็นคำหยาบ และไม่มีกิเลสอันย้อมจิตให้ติดแน่นดุจน้ำฝาด มีตนสำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวทแล้ว มีพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว ผู้นั้น ไม่มีกิเลสเครื่องฟูในโลก แม้น้อยหนึ่ง ควรกล่าวได้ว่าตนเป็นพราหมณ์ โดยธรรม "
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงสมณะว่า เป็นพราหมณ์ และธรรมอันทำบุคคลให้เป็นสมณะว่า เป็นธรรมอันทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ในพระพุทธศาสนา โดยโวหารพราหมณ์ ด้วยพระวาจานี้



ตอนที่ ๒๓ ร่มไม้มุจลินท์


ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิยังร่มไม้จิก อันมีนามว่า " มุจลินท์ ์" อันตั้งอยู่ในทิศบูรพาหรือทิศอาคเนย์ แห่งไม้มหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุขอยู่ ณ ที่นั้นอีก ๗ วัน ในกาลนั้นฝนตกพรำตลอด ๗ วัน พญานาคมีนามว่า " มุจลินท์นาคราช " มีอานุภาพมาก อยู่ที่สระโบกขรณี ใกล้ต้นมุจลินท์พฤกษ์นั้น มีความเลื่อมใสในพระศิริวิลาศ พร้อมด้วยพระรัศมีโอภาสอันงามล่วงล้ำเทพยดาทั้งหลาย จึงเข้าไปใกล้แล้วขดเข้าซึ่งขนดกาย แวดวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๗ รอบ และแผ่พังพานอันใหญ่ ป้องปกเบื้องบนพระเศียร มิให้ลมและฝนถูกต้องพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้งล่วง ๗ วัน ฝนหายขาดแล้ว พญานาคก็คลายขนดจำแลงกายเป็นมานพ เข้าไปถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานวาจาว่า " ความสงัดเป็นสุข สำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามความเป็นจริง ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากความกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะ คือความถือตัวออกให้หมดไปเป็นสุขอย่างยิ่ง "
ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว เสด็จออกจากร่มไม้มุจลินท์ ไปยังร่มไม้เกตุ อันมีนามว่า " ราชายตนะ " อันอยู่ในทิศทักษิณ แห่งต้นมหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุข ณ ที่นั้น สิ้น ๗ วัน เป็นอวสาน ในกาลนั้น ท้าวสักกะอมรินทราธิราช ทรงดำริว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้เสวยพระกระยาหารนับแต่กาลตรัสรู้มาได้ ๔๙ วันแล้ว จึงได้เสด็จลงมาจากเทวโลก น้อมผลสมออันเป็นทิพยโอสถเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผลสมอเสวย แล้วทรงสรีระกิจลงพระบังคม ทรงสำราญพระกายแล้ว เสด็จเข้าประทับยังร่มไม้ราชายตนะพฤกษ์นั้น



ตอนที่ ๒๔ เทววาจิกอุปาสก


ในกาลนั้น มีพานิชสองพี่น้อง ชื่อ ตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เป็นนายกองเกวียน นำกองเกวียนบรรทุกสินค้า โดยมรรคาอันไกล ปรารถนาจะไปค้าขายยังอุกกลาชนบท ในมัชฌิมประเทศ เดินทางมาใกล้พนาสณฑ์นั้น เทพยดาได้แนะนำให้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า สองพานิชก็ดีใจ พักกองเกวียนไว้แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า มีศรัทธาเลื่อมใส ได้น้อมข้าวสัตตูก้อน สัตตูผล เข้าทูลถวายด้วย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า บาตรของตถาคตได้หายไปแต่เช้าแห่งวันตรัสรู้ ต้องทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาด้วยพระหัตถ์ และครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ก็มิได้เสวยพระกระยาหารเลย ตลอดเวลา ๔๙ วัน บัดนี้ ควรที่ตถาคตจะรับอาหารของสองพานิช ที่น้อมเข้ามาถวายด้วยบาตร ขณะนั้นท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ ได้นำบาตรเสลมัย เป็นศิลาล้วน มีสีเขียวดังเม็ดถั่วเขียวทั้ง ๔ ลูก มาจากทิศทั้ง ๔ น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นพระองค์ทรงรับบาตรทั้ง ๔ ลูก จากท้าวมหาราชแล้ว ทรงดำริว่า บรรพชิตไม่ควรมีบาตรเกินกว่า ๑ ลูก และในทันใดนั้น ก็ทรงอธิษฐานประสานบาตรทั้ง ๔ ลูกนั้น เข้าเป็นบาตรลูกเดียว แล้วทรงเอาบาตรนั้นรับข้าวสัตตูก้อน สัตตูผง ของพานิชทั้งสอง ทรงทำภัตกิจ
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จการเสวยแล้ว ตปุสสะ ภัลลิกะ พานิชทั้งสองได้กราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสกด้วยความเลื่อมใส ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรมว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต ด้วยเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ ปฐมอุบาสกทั้งสองนี้จึงเป็นอุบาสกประเภท เทววาจิก คือ เปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรมทั้งสองเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ครั้นแล้วพานิชทั้งสองได้กราบทูลขอประทานปูชนียวัตถุ คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำหรับเป็นที่ระลึก อภิวาทบูชาในกาลต่อไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกพระหัตถ์ขึ้นปรามาสพระเศียร ในขณะนั้น พระเกศธาตุ ๘ เส้น ได้ติดนิ้วพระหัตถ์ลงมา พระบรมศาสดาจึงทรงประทานพระเกศาธาตุทั้ง ๘ เส้นนั้น แก่ตปุสสะ ภัลลิกะ ปฐมอุบาสก เพื่อเป็นที่ระลึกตามประสงค์ พานิชทั้งสองน้อมรับพระเกศธาตุด้วยความเบิกบานใจอย่างยิ่ง ได้นำบรรจุลงในผอบทองคำ แล้ววางลงบนสุวรรณภาชนะอันวิจิตร ถวายบังคมอัญเชิญผอบพระเกศธาตุไปด้วยเศียรเกล้าของตน นำขึ้นประดิษฐานบนเกวียน แล้วหลีกไปจากที่นั้น



ตอนที่ ๒๕ ร่มไม้อชปาลนิโครธ



ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จจากร่มไม้ราชยายตนะ ไปประทับยังร่มไม้อชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง ทรงพระดำริถึงพระองค์ว่า การดำรงพระองค์อยู่โดยความเป็นผู้ไม่มีที่เคารพ กราบไหว้ เป็นความลำบาก ก็แลพระองค์ควรจะเคารพกราบไหว้ผู้ใดดี เมื่อได้ทรงพิจารณาเลือกหาผู้ที่ทรงคุณสมบัติยิ่งกว่า ควรที่พระองค์จะทรงเคารพ ก็มิได้ทรงมองเห็นใครผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม ควรแก่การคารวะ
ทรงพระดำริว่า พระโลกุตตรธรรม ที่ตถาคตได้ตรัสรู้นี้แล เป็นปูชนียธรรมอันประเสริฐสุด ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วทุก ๆ พระองค์ ก็ทรงเคารพพระสัทธรรม ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเคารพพระธรรม ทรงเทิดทูนพระธรรมขึ้นเป็นที่เคารพบูชา
ต่อนั้น ก็ทรงได้พิจารณาถึงพระธรรม ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ทั้งหมดนั้น เป็นคุณชาติละเอียดสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่ง ยากที่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีปัญญาน้อย มีความเพียรน้อย แม้จะได้สดับแล้ว จะตรัสรู้ตามได้ ทำให้พระองค์ทรงท้อพระทัยในอันจะแสดงธรรมโปรดประชากร
ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบในพระพุทธปริวิตกเช่นนั้น จึงชวนเทพยดาเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ แล้วกราบทูลอาราธนาว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาดังทะเลหลวง ประชากรทั้งปวงที่มีสาวกบารมีได้สั่งสมไว้มีอยู่ สัตว์ผู้มีธุลีนัยน์ตาน้อย ยังมีอยู่ ถ้าพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดประทานพระธรรมเทศนา ประชาสัตว์ก็จะได้ดวงปัญญาหยั่งรู้ตาม จะได้ข้ามสังสารวัฏฏ์ สมดังมโนรถของพระองค์ที่ทรงมุ่งจะรื้อขนสัตว์ให้เข้าสู่พระนิพพาน "
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม ก็ทรงพระจินตนาการว่า เป็นธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่สืบ ๆ กันมา ในอันที่จะประกาศธรรมโปรดประชากร แท้จริง ในราตรีแห่งวันที่จะได้ตรัสรู้ ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ก็ทรงหยั่งเห็นสันดานของประชาสัตว์สิ้นแล้ว ว่ามีอุปนิสสัยต่าง ๆ กัน เป็น ๔ จำพวก คือ
๑. อุคฆติตัญญู ผู้สามารถจะตรัสรู้ตามพระธรรมเทศนาได้ฉับพลัน
๒. วิปจิตัญญู ผู้จะตรัสรู้ตามในกาลภายหลังที่สดับรับพระโอวาทแนะนำในกาลต่อไป
๓. เนยยะ ผู้มีสันดานเพียงเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติตามโอวาท ซึ่งสามารถจะรู้ได้ในกาลภายหลัง
๔. ปทปรมะ ผู้ยากที่จะสั่งสอน แม้จะได้สดับธรรม ก็จะได้ผลเพียงเป็นอุปนิสสัยปัจจัยในภาพต่อไป ดังดอกบัว ๔ เหล่านั้น จึงได้ทรงน้อมพระทัยไปในอันที่จะแสดงธรรมโปรดประชาสัตว์ ทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม ตั้งพระทัยจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาด้วยดี ให้เกิดแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แผ่ไพศาลก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานสืบไป




ตอนที่ ๒๖ เสด็จโปรดพระปัญจวัคคีย์

ต่อนั้น ก็ทรงพระดำริหาคนที่ควรจะได้รับเทศนาครั้งแรก ได้ทรงปรารภถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านในกาลก่อน ว่า ท่านทั้งสองนี้มีปัญญา ทั้งมีกิเลสเบาบาง สามารถจะรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน แต่ท่านทั้งสองได้สิ้นชีพเสียแล้วก่อนหน้า ๗ ราตรี มัจจุ คือความตาย เป็นมาร เป็นภัยต่อคุณอันใหญ่ของท่านทั้งสอง ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้ฟังธรรมแล้วคงจะได้ตรัสรู้โดยฉับพลันทีเดียว ภายหลังทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ว่า เป็นผู้มีอุปนิสสัยในอันจะตรัสรู้ธรรม ทั้งมีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้เป็นอุปฐากของพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ครั้นทรงกำหนดแน่ในพระทัยว่า จะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อน ดังนั้น ครั้นเวลาเช้าแห่งวันจาตุททสี ดิถีขึ้น ๑๔ ค่ำ แห่งอาสาฬหมาส คือ เดือน ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จดำเนินไปโดยทางที่จะไปยังเมืองพาราณสี อันเป็นทางระหว่างแห่งแม่น้ำคยา กับแดนมหาโพธิ์ต่อกัน ทรงพบอาชีวกผู้หนึ่ง มีนามว่า อุปกะ เดินสวนทางมา ฝ่ายอุปกะได้เห็นพระรัศมีฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาพงดงามผ่องใส อย่างที่ไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน ก็ประหลาดใจ คิดไปว่า คนผู้นี้ไฉนหนอจึงมีรัศมีโอภาสงามผุดผ่อง เป็นสง่าน่าเคารพยิ่งนัก จึงเข้าไปใกล้แล้วปราศรัยด้วยคารวะเป็นอันดีว่า ข้าแต่สมณะ อินทรีย์ของท่านผ่องใส บริสุทธิ์ปราศจากราคี ท่านบวชในสำนักไหน ใครเป็นครูของท่าน ท่านเล่าเรียนปฏิบัติธรรมในสำนักอาจารย์ผู้ใด กรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วย
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า " ดูกร อุปกะ ตถาคตเป็นสยัมภู ตรัสรู้เองด้วยปัญญายิ่ง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอน เป็นสัพพัญญู ตรัสรู้ธรรมทั้งมวล ไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรู้ ซึ่งตถาคตไม่รู้ อุปกะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ตถาคตแสดงว่าใครเป็นครูสั่งสอนเล่า "
อุปกะไม่เชื่อ ด้วยไม่มีญาณที่จะหยั่งเห็นตาม ทั้งไม่มีความรู้ที่จะซักถามถึงเหตุอื่นอีกได้ สั่นศีรษะแล้วก็หลีกไปจากที่นั้น ตามสันดานของอาชีวก ที่มีทิฏฐิ ที่มั่นแต่ในลัทธิของตนเท่านั้นว่าถูก อาจารย์ของตนรู้จริง คนอื่นเปล่า ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จโดยทางนั้นต่อไป พอเพลาสายัณห์ก็บรรลุถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ขณะนั้น ปัญจวัคคีย์ ฤาษีทั้ง ๕ ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงกล่าวนัดหมายกันว่า พระสมณะโคดม เลิกละความเพียรในการบำเพ็ญตบะ ในทุกรกิริยา บัดนี้ มีร่างกายผ่องใสงดงามยิ่งนัก คงจะไม่มีโอกาสได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมา ณ ที่นี้ ชรอยจะมีความรำคาญไม่สบายพระทัย อยู่ไม่ได้โดยลำพังพระองค์เดียว จึงเที่ยวสืบเสาะแสวงหาเรา ดังนั้น ในบรรดาพวกเรา ใครอย่าทำปัจจุคมต้อนรับ อย่าไหว้อย่ากราบ อย่ารับบาตรจีวร ปูลาดแต่อาสนะไว้ถวาย ด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์ขัตติยตระกูลมหาศาล หากพระองค์ปรารถนาจะนั่ง ก็จะได้นั่งตามประสงค์ ครั้นทำกติกาสัญญานัดหมายแล้ว ก็ทำนั่งเพิกเฉยแสดงอาการไม่เคารพ ไม่ยินดีในการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แต่ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ก็บรรดาลให้ปัญญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ลืมกติกาสัญญาที่ทำกันไว้หมด พากันลุกขึ้นยืนประนตน้อมอัญชลี รับบาตร จีวร บางรูปตักน้ำมาล้างพระยุคลบาท บางรูปก็ร้องทูลเชิญให้เสด็จประทับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับนั่งแล้ว ปัญจวัคคีย์ได้กล่าวปฏิสันถาร ถามถึงทุกข์สุขตามวิสัยของคนที่ต่างถิ่นมาไกลได้พบกัน หากแต่ใช้สำนวนต่ำ ๆ ว่า อาวุโส โคตมะ อันเป็นกิริยาไม่เคารพ ซึ่งไม่เป็นการสมควร
แต่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกว่า " ดูกร ปัญจวัคคีย์ บัดนี้ ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว มาครั้งนี้หวังจะแสดงธรรมแก่เธอทั้ง ๕ เธอจงตั้งใจสดับ และปฏิบัติตามคำของตถาคต ไม่ช้านานสักเท่าใด ก็จะได้ตรัสรู้ตาม "
ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ กลับคัดค้านว่า " อาวุโส โคตมะ แม้แต่กาลก่อน พระองค์ทรงบำเพ็ญตบะ ทำทุกรกิริยาด้วยความเพียรอย่างแรงกล้า ก็ยังไม่สำเร็จแก่พระสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วไฉนเลิกละความเพียรเวียนมาเป็นผู้มักมากแล้ว พระองค์จะตรัสรู้พระสัมโพธิญาณได้เล่า "
แม้พระบรมศาสดาจะตรัสเตือนซ้ำอีก ปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ กล่าวโต้แย้งถึง ๓ ครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเตือนด้วยพระกรุณา ให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ หวลระลึกถึงความหลังดูว่า " ดูก่อนปัญจวัคคีย์ วาจาที่ไม่ควรเชื่อคำใด ตถาคตเคยกล่าวอยู่บ้างหรือ แม้แต่คำว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณนี้ ตถาคตเคยกล่าวกะใคร ที่ไหน แต่กาลก่อน "
ด้วยอานุภาพของพระวาจาจริงของพระองค์ เป็นอัศจรรย์ ทำให้พระปัญจวัคคีย์ระลึกเห็นตาม พากันแน่ใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า คงจะได้ตรัสรู้จริงดังพระวาจา ก็พร้อมกันถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยคารวะ ขอประทานอภัยโทษที่แสดงอาการไม่เคารพต่อพระองค์ในเบื้องต้นทุกประการ




ตอนที่ ๒๗ ปฐมเทศนา

พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับพักในสำนักปัญจวัคคีย์ ๑ ราตรี ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันปัณณรสี ขึ้น ๑๕ ค่ำ อาสาฬหมาส พระองค์จึงได้ทรงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ประทานปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ รูปนั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่าง บรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี คือ กามสุขขัลลิกานุโยค ทำตัวให้พัวพันด้วยสุขในกาม เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุตั้งบ้านตั้งเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ของพระอริยะคือผู้บริสุทธิ์ไม่เป็นประโยชน์นี้อย่างหนึ่ง
อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากเป็นทุกข์ ไม่ทำให้เป็นพระอริยะ ไม่เป็นประโยชน์นี้อย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี มัชฌิมาปฏิปทา เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตาปรีชาญาณให้สว่าง เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือสิ้นตัณหาเครื่องรัดรึง"
มัชฌิมาปฏิปทา นั้นเป็นอย่างไร ?
มัชฌิมาปฏิปทา นั้นคือ ทางมีองค์ ๘ ทำผู้ดำเนินให้เป็นพระอริยะนั้นเอง
องค์ ๘ นั้น อะไรบ้าง ?
องค์ ๘ นั้น คือปัญญาความเห็นชอบ๑ ความดำริชอบ๑ วาจาชอบ๑ การงานชอบ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ๑ ความเพียรชอบ๑ ระลึกชอบ๑ ตั้งใจชอบ๑
มัชฌิมาปฏิปทานี้แล เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตาปรีชาญาณให้สว่าง เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์นี้อย่างหนึ่งเป็นสัจจะของพระอริยบุคคล คือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความแห้งใจ ความรำพัน ความเจ็บไข้ ความเสียใจ ความคับใจ เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์
ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยบุคคล คือ ตัณหา ความทะยานอยาก ทำให้มีภพมีชาติ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ
ตัณหา อะไรบ้าง ?
กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่๑
ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความมีความเป็น๑
วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น๑
ตัณหา ๓ ประการนี้แล เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยบุคคล คือ ความดับตัณหาทั้ง ๓ นั้นแหละหมดสิ้น เป็นอเสสวิราคะ ความสละความวาง ความปล่อย ความไม่พัวพันซึ่งตัณหานั้นแลเป็นความดับทุกข์
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางเข้าถึงความดับทุกข์นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยบุคคล ได้แก่ อริยมรรค ทางมีองค์ ๘ นี้แล ปัญญาความเห็นชอบ๑ ความดำริชอบ๑ วาจาชอบ๑ การงานชอบ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ๑ ความเพียรชอบ๑ ระลึกชอบ๑ ตั้งใจชอบ๑ เป็นทางถึงความดับทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราเคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า
ข้อนี้ ทุกข์ ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา และเราก็ได้กำหนดรู้แล้ว
ข้อนี้ ทุกขสมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด ควรละเสีย และเราได้ละเสียแล้ว
ข้อนี้ ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ควรทำให้แจ้งชัด และเราก็ได้ทำให้แจ้งชัดแล้ว
ข้อนี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางเข้าถึงความดับทุกข์ ควรทำให้เกิด และเราก็ได้ทำให้เกิดแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงในอริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดเพียงใดแล้ว เราก็ยังไม่อาจยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีความรู้อันใดเหนือเพียงนั้น
เมื่อใด ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเราหมดจดดีแล้ว เมื่อนั้นเราอาจยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีความรู้อันใดเหนือ ก็แลปัญญาได้เกิดขึ้นแก่เราชัดว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ ความเกิดครั้งนี้เป็นที่สุดแล้วบัดนี้ ไม่มีความเกิดอีก
เมื่อพระสัมพุทธเจ้า ตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ ธรรมจักษุ คือ ดวงตาอันเห็นธรรม ปราศจากธุลีมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านโกณฑัญญะว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด มีความดับเป็นธรรมดา" พระองค์ทรงทราบว่าท่านโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัยว่า "อัญญาสิ วตโภ โกณฑัญโญๆ" แปลว่า "โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอๆ" พระโกณฑัญญะจึงได้คำว่า อัญญา อันเป็นคำนำหน้าพระอุทาน เพิ่มชื่อข้างหน้าเป็น พระอัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่กาลนั้นมา
เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลง ให้พระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาปัตติมรรค เป็นพระโสดาบันแล้ว และให้บรรดาอเนกนิกรเทพยดาที่มาประชุมฟังธรรมเทศนาอยู่ ได้บรรลุคุณวิเศษโดยควรแก่วิสัย สุดที่จะคณนา
พระโกณฑัญญะจึงได้ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ ในพระธรรมวินัยของพระสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้เป็นภิกษุในธรรมวินัย ด้วยพระวาจาว่า "ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด" ด้วยพระวาจาเพียงเท่านั้นก็ได้สำเร็จเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยอย่างสมบูรณ์ ด้วยในเวลานั้นยังมิได้ทรงบัญญัติวิธีอุปสมบทเป็นอื่นไว้ ทั้งเพิ่งเป็นการประทานอุปสมบทครั้งแรกในพระศาสนา ฉะนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระสงฆ์องค์แรก เป็นพระอริยบุคคลองค์แรก และเป็นพระสาวกองค์แรกในพระศาสนานี้ เป็นอันว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ได้เกิดขึ้นบริบูรณ์ในกาลแต่บัดนั้น
พระบรมศาสดามีพระพุทธประสงค์จะทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์ให้สำเร็จพระอรหัต เพื่อเป็นกำลังในการประกาศพระศาสนาต่อไป จึงเสด็จจำพรรษา ณ ป่าอิสิปปตนมิคทายวัน ทรงสั่งสอนบรรพชิตทั้ง ๔ รูปที่เหลืออยู่นั้น ด้วยพระธรรมเทศนาต่างๆ ตามสมควรแก่อัธยาศัย เมื่อท่านวัปปะและท่านภัททิยะ ได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมอย่างพระอัญญาโกณฑัญญะแล้ว ทูลขออุปสมบท พระศาสดาก็ทรงประทานอุปสมบทแก่ท่านทั้ง ๒ นั้น เหมือนอย่างประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญะ ภายหลังท่านมหานามะและท่านอัสสชิได้ธรรมจักษุแล้วทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงประทานเหมือนอย่างประทานแก่สาวกทั้ง ๓
ครั้นพระภิกษุปัญจวัคคีย์ ตั้งอยู่ในที่พระสาวกแล้ว มีอินทรีย์ มีศรัทธา เป็นต้นแก่กล้า สมควรสดับธรรมจำเริญวิปัสสนา เพื่อวิมุตติเบื้องสูง ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำแห่งเดือนสาวนะ คือ เดือน ๙ ซึ่งเท่ากับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ไทย ด้วยสมัยนั้น นับแรมเป็นต้นเดือน นับขึ้นเป็นปลายเดือน พระศาสดาจึงได้แสดงพระธรรมสั่งสอนพระปัญจวัคคีย์ด้วย อนัตตลักขณสูตร เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนา แสดงอนัตตลักขณสูตรอยู่ จิตของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสเทศนานั้น พ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
ครั้งนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ คือ พระสัมพุทธเจ้า ๑ พระอริยสาวก ๕ คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ๑ พระวัปปะ ๑ พระภัททิยะ ๑ พระมหานามะ ๑ พระอัสสชิ ๑ รวมเป็น ๖ ด้วยประการฉะนี้




ตอนที่ ๒๘ ยสะกุลบุตรออกบวช


ในสมัยนั้นมีมานพผู้หนึ่งชื่อว่า ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคาร มีเรือน ๓ หลัง เป็นที่อยู่ประจำใน ๓ ฤดู อย่างผาสุก อิ่มอยู่ในกามสุขตามฆราวาสวิสัย ครั้งนั้นในฤดูฝน พรรษากาลที่พระสัมพุทธเจ้า ทรงจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปปตนมิคทายวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลแต่บ้านยสมานพ ราตรีวันหนึ่งยสมานพนอนหลับก่อน เหล่านางบำเรอและบริวารนอนหลับภายหลัง แสงชวาลาที่ตามไว้ยังสว่างอยู่ ยสมานพตื่นขึ้นเห็นบริวารเหล่านั้นนอนหลับอยู่ ปราศจากสติสัมปชัญญะ แสดงอาการวิกลวิการไปต่างๆ บ้างกรน คราง ละเมอเพ้อพึมพำ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีดังแต่ก่อน ปรากฏแก่ยสมานพเหมือนซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า ยสมานพเห็นแล้วเกิดความสลดใจ เบื่อหน่าย รำคาญ อยู่ในห้องไม่ติด ออกอุทานด้วยความสังเวชใจว่า "ที่นี่วุ่นวาย ไม่เป็นสุข" แล้วออกจากห้องสวมรองเท้าเดินออกจากประตูเรือน ตรงไปทางที่จะไปป่าอิสิปปตนมิคทายวัน
ในเวลานั้นจวนใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสมานพ เดินบ่นมาด้วยความสลดใจ ใกล้ที่จงกรมเช่นนั้น จึงรับสั่งเรียกด้วยพระมหากรุณาว่า "ยส! ที่นี่ไม่วุ่นวาย ยส! ที่นี่สงบเป็นสุข ยส! ท่านมาที่นี่เถิด" ฝ่ายยสมานพได้ยินเสียงพระศาสดารับสั่งว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย สงบ เป็นสุข" ก็ดีใจถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ด้วยความสบายใจ ปราศจากความวุ่นวาย เป็นทางให้ได้ความสงบสุข
พระศาสดาตรัสเทศนาโปรดยสมานพด้วยอนุปุพพิกถา แสดงถึงปฏิปทาเบื้องต้นที่คฤหัสถชนจะพึงสดับและปฏิบัติตามได้โดยลำดับ คือ
๑. ทาน พรรณนาความเสียสละ ให้ด้วยความยินดี เพื่อบูชาคุณของท่านผู้มีคุณ ด้วยความกตัญญู ด้วยความเคารพนับถือ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลฉันญาติมิตรด้วยความไมตรี ด้วยน้ำใจอันงาม เพื่ออนุเคราะห์ผู้น้อย ผู้ตกทุกข์ได้ยากด้วยความกรุณาสงสาร
๒. ศีล พรรณนาความรักษากาย วาจาเป็นสุภาพเรียบร้อย เว้นจากการเบียดเบียนกัน เพื่อความสงบสุข ตามหลักแห่งมนุษยธรรม
๓. สวรรค์ พรรณนาถึงอานิสงส์ของผู้บำเพ็ญทาน รักษาศีล จะพึงได้พึงถึงความสุขอย่างเทพเจ้าในสรวงสวรรค์ ยิ่งกว่าความสุขของมนุษย์
๔. กามาทีนพ พรรณนาถึงโทษของกาม ของผู้บริโภคกามทั้งในมนุษย์ ทั้งในสวรรค์ เป็นช่องทางแห่งทุกข์โทษ เพราะวุ่นวาย ไม่สงบ เดือดร้อนไม่รู้จักสิ้นสุด น่าระอา น่าเบื่อหน่าย
๕. เนกขัมมานิสงส์ พรรณนาถึงอานิสงส์ของการหลีกออกจากกาม เหมือนคนออกจากเรือนไฟที่กำลังติดอยู่ ไม่เร่าร้อน สงบเย็นใจ เป็นสุข ไม่มีภัยไม่มีเวรทุกประการ
ฟอกจิตของยสมานพให้ห่างไกลจากความยินดีในกาม ได้ธรรมจักษุเหมือนผ้าที่ซักฟอกให้หมดมลทิน ควรจะรับน้ำย้อมได้แล้ว พระศาสดาจึงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย-เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธ-ความดับทุกข์ และ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา-ได้แก่ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ โปรดยสมานพให้ได้เห็นธรรมพิเศษ ณ ที่นั่งนั้น
ฝ่ายมารดาของยสมานพทราบว่าลูกชายหาย มีความเศร้าโศก บอกแก่เศรษฐีผู้เป็นสามี ท่านเศรษฐีตกใจ ให้คนออกติดตามตลอดทางทุกสาย แม้ตนเองก็ร้อนใจ อยู่ไม่ติดออกติดตามด้วย เผอิญเดินทางผ่านมาใกล้ที่ป่าอิสิปปตนมิคทายวัน เห็นรองเท้าของลูก จำได้ ดีใจตามเข้าไปหาจนถึงที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่
พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ โปรดท่านเศรษฐี ให้เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ท่านเศรษฐีได้เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยคนแรก ก่อนกว่าชนทั้งปวงในพระศาสนานี้
ขณะที่พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ โปรดท่านเศรษฐี ยสมานพนั่งอยู่ในที่นั้น ได้ฟังเทศนาทั้งสองเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งในที่นั่งนั้นเอง พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จอริยคุณเบื้องสูงเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้น นับว่ายสมานพเป็นพระอรหันต์องค์แรกที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์ คือ ยังมิทันได้บวชก็บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นคุณสูงสุดในพระศาสนานี้
ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดาไม่ทราบว่าท่านยสะสิ้นอาสวะแล้ว จึงกล่าวแก่ท่านยสะว่า "พ่อยสะ มารดาของเจ้าไม่เห็นเจ้า มีความเศร้าโศกพิไรรำพันยิ่งนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด"
ท่านยสะแลดูพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาจึงตรัสบอกแก่เศรษฐีให้ทราบว่า "บัดนี้ ยสะได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์แล้วมิใช่ผู้ที่จะกลับคืนไปครองฆราวาสอีก"
ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า "เป็นลาภอันประเสริฐของยสะแล้ว ขอให้ยสะได้รุ่งเรืองอยู่ในอนาคาริยวิสัยเถิด" แล้วกราบทูลอาราธนพระบรมศาสดากับพระยสะ ให้ไปรับอาหารบิณฑบาตรที่เรือนของตนในเช้าวันนั้น ครั้นทราบว่าพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยอาการดุษณีภาพแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับไปสู่เรือน แจ้งข่าวแก่ภรรยา พร้อมกับสั่งให้จัดแจงขาทนียโภชนียาหารอันประณีต เพื่อถวายพระบรมศาสดา
เมื่อท่านเศรษฐีกลับไปแล้ว ยสมานพได้กราบทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ พระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพิเศษ ด้วยยสมานพได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์แล้ว เพียงแต่ทรงรับให้เข้าอยู่ในภาวะของภิกษุ ในพระธรรมวินัยได้เท่านั้น ดังนั้นจึงตรัสพระวาจาแต่สั้นๆว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด" ตัดคำว่า "เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ" ข้างท้ายออกเสีย ด้วยพระยสะถึงที่สุดทุกข์แล้ว
ในเวลาเช้าวันนั้น พระบรมศาสดาก็มีพระยสะเป็นพระตามเสด็จ ๑ รูป เสด็จไปยังเรือนท่านเศรษฐีตามคำอาราธนา ประทับนั่งยังอาสนะที่ตกแต่งไว้ถวายเป็นอันดี มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะเข้าเฝ้า พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้สตรีทั้งสองนั้นได้ธรรมจักษุ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปฏิญาณตนเป็นอุบาสิกาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้เป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนาก่อนกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในโลกนี้
ครั้นได้เวลาภัตกิจ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้จัดการอังคาสด้วยขัชชโภชนาหารอันประณีตด้วยมือตนเอง เมื่อเสร็จภุตกิจแล้ว พระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนาให้อุบาสกอุบาสิกาทั้งสามนั้น อาจหาญ ร่าเริงในธรรมเป็นอันดีแล้ว เสด็จกลับประทับยังป่าอิสิปปตนมิคทายวัน
ครั้งนั้น มีเศรษฐีบุตรชาวเมืองพาราณสี ๔ คน คือ วิมละ ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่ของพระยสะ ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระยสะออกบวช เกิดความสนใจใคร่จะรู้ธรรมที่พระยสะมุ่งหมายประพฤติพรต ดังนั้นสหายทั้ง ๔ คน จึงพร้อมกันไปพบพระยสะถึงที่อยู่ พระยสะได้พาสหายทั้ง๔ คนนั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลให้ทรงสั่งสอน พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเศรษฐีบุตรทั้ง ๔ นั้น ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ ทั้งทรงสั่งสอนให้บรรลุพระอรหัตผลในกาลต่อมา ครั้งนั้นมีพระอรหันต์ในโลกเป็น ๑๑ องค์ด้วยกันทั้งพระบรมศาสดา
ต่อมามีสหายของพระยสะซึ่งเป็นชาวชนบท ๕๐ คน ได้ทราบข่าวว่าพระยสะออกบวช มีความคิดเช่นเดียวกับสหายของพระยสะทั้ง ๔ นั้น จึงไปหาพระยสะที่ป่าอิสิปปตนมิคทายวัน ได้สดับธรรมมีความเลื่อมใส ได้อุปสมบทและได้บรรลุพระอรหัตผลด้วยกันทั้งหมดโดยนัยก่อน จึงเกิดมีพระอรหันต์รวมทั้งพระบรมศาสดาด้วย ๖๑ องค์




ตอนที่ ๒๙  ส่งพระสาวกประกาศพระศาสนา


เมื่อพระสาวกมีมากพอจะเป็นกำลังช่วยพระองค์ออกประกาศพระศาสนา เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่คนเป็นอันมากได้แล้ว ครั้นออกพรรษาแล้ว จึงส่งพระสาวกทั้ง ๖๐ นั้น ออกไปประกาศพระศาสนาด้วยพระดำรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ! เราได้พ้นแล้วจากบ่วงเครื่องรึงรัดทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปในชนบท เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ต่างรูปต่างไปแต่ละทิศทาง อย่าไปรวมกัน ๒ รูปในทางเดียวกัน จงแสดงธรรมประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสบังปัญญาดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้พึงถึง แล้วผู้ตรัสรู้ธรรมจักมีขึ้นตามโดยลำดับ แม้เราก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมเช่นกัน
ครั้นพระสาวกทั้ง ๖๐ องค์ ถวายบังคมลาพระบรมศาสดาออกจากป่าอิสิปปตนมิคทายวัน จาริกไปประกาศพระศาสนายังชนบทน้อยใหญ่ตามพระพุทธประสงค์ ส่วนพระองค์ก็เสด็จดำเนินไปยังตำบลอุรุเวลา ครั้นถึงไร่ฝ้ายในระหว่างทาง เสด็จหยุดพักที่ร่มไม้ต้นหนึ่ง
ขณะนั้นมานพ ๓๐ คน ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่กันเรียกว่า "ภัททวัคคีย์" อยู่ในราชตระกูลแห่งราชวงศ์โกศล ต่างคนต่างพาภรรยาของตนๆมาหาความสำราญ บังเอิญสหายคนหนึ่งไม่มีภรรยา สหายเหล่านั้นจึงไปหาหญิงโสเภณีคนหนึ่งมาให้เป็นเพื่อนร่วมความสำราญ ครั้นเผลอไปไม่ระแวดระวัง หญิงโสเภณีคนนั้นได้ลักเอาเครื่องแต่งกายและสิ่งของอันมีค่าหนีไป มานพทั้ง ๓๐ คนนั้นจึงออกเที่ยวติดตามมาพบพระบรมศาสดาที่ไร่ฝ้ายนั้น มานพเหล่านั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลถามว่า พระอง๕ได้ทรงเห็นหญิงผู้นั้นมาทางนี้หรือไม่ พร้อมกับได้ทูลถึงพฤติการณ์ของหญิงนั้นให้ทราบด้วย
พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสว่า "ภัททวัคคีย์ ท่านทั้งหลายจะแสวงหาหญิงผู้นั้นดี หรือแสวงหาตนของตนดี" ครั้นสหายเหล่านั้นกราบทูลว่า แสวงหาตนดีกว่า จึงรับสั่งว่าถ้าเช่นนั้นจงตั้งใจฟัง เราจะแสดงธรรมแก่ท่านทั้งหลาย แล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้ภัททวัคคีย์มานพทั้ง ๓๐ นั้นได้ดวงตาเห็นธรรม ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ แล้วทรงสั่งสอนให้บรรลุอริยผลเบื้องสูง ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาเช่นเดียวกับพระสาวก ๖๐ องค์ก่อนนั้น พระอริยสงฆ์คณะนี้ได้กราบทูลลาเดินทางไปยังเมืองปาวา ข้างใต้แห่งแว่นแคว้นโกศลชนบท




ตอนที่ ๓๐ โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง



ครั้นพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกเหล่าภัททวัคคีย์ไปแล้ว ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลาประเทศ อันตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์มหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของอุรุเวลกัสสปอาจารย์ใหญ่ของชฎิล ๕๐๐
ราชคฤห์นครนั้นเป็นเมืองหลวงแห่งมคธรัฐ ซึ่งเป็นมหาประเทศ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองโดยสิทธิ์ขาด เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คน เจริญวิทยาความรู้ตลอดการค้าขาย เป็นที่รวมอยู่แห่งบรรดาคณาจารย์ เจ้าลัทธิมากในสมัยนั้น
ในบรรดาคณาจารย์ใหญ่ๆนั้น ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นนักบวชจำพวกชฎิล ท่านมีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน ออกบวชจากตระกูลกัสสปโคตร ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นพี่ชายใหญ่ มีชฎิล ๕๐๐ เป็นบริวาร ตั้งอาศรมสถานที่พนาสณฑ์ ตำบลอุรุเวลา ต้นแม่น้ำเนรัญชรานทีตำบลหนึ่งจึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสป
น้องคนกลางมีชฎิลบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมสถานที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดเข้าไปอีกตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า นทีกัสสป ส่วนน้องคนเล็กมีชฎิลบริวาร ๒๐๐ ตั้งอาศรมสถานอญู่ที่คุ้งใต้แห่งแม่น้ำเนรัญชรานั้นค่อไปอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งมีนามว่าตำบลคยาสีสะประเทศ จึงได้นามว่า คยากัสสป ชฎิลคณะนี้ทั้งหมดมีลัทธิหนักในการบูชาเพลิง
พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงอาศรมสถานของท่านอุรุเวลกัสสปในเวลาเย็น จึงเสด็จตรงไปพบอุรุเวลกัสสปทันที ทรงรับสั่งขอพักแรมด้วยสัก ๑ ราตรี อุรุเวลกัสสปรังเกียจ ทำอิดเอื้อนไม่พอใจให้พัก เพราะเห็นพระบรมศาสดาเป็นนักบวชต่างลัทธิของตน พูดบ่ายเบี่ยงว่า ไม่มีที่ให้พัก ครั้นพระบรมศาสดาตรัสขอพักที่โรงไฟ ซึ่งเป็นสถานที่บูชาเพลิงของชฎิล ด้วยเป็นที่ว่างไม่มีชฎิลอยู่อาศัย ทั้งเป็นที่อยู่ของนาคราชดุร้ายด้วย อุรุเวลกัสสปได้ทูลว่า พระองค์อย่าพอใจพักที่โรงไฟเลย ด้วยเป็นที่อยู่ของพญานาคมีพิษร้ายแรง ทั้งดุร้ายที่สุดอาศัยอยู่ จะได้รับความเบียดเบียนจากนาคราชนั้น ให้ถึงอันตรายแก่ชีวิต เมื่อพระบรมศาสดารับสั่งยืนยันว่า นาคราชนั้นจะไม่เบียดเบียนพระองค์เลย ถ้าท่านอุรุเวลกัสสปอนุญาตให้เข้าอยู่ ท่านอุรุเวลกัสสปจึงได้อนุญาตให้เข้าไปพักแรม
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าไปยังโรงไฟนั้น ประทับนั่งดำรงพระสติต่อพระกัมมัฏฐานภาวนา ฝ่ายพญานาคเห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาประทับในที่นั้น ก็มีจิตคิดขึ้งเคียดจึงพ่นพิษตลบไป ในลำดับนั้นพระบรมศาสดาก็ทรงพระดำริว่า ควรที่ตถาคตจะแสดงอิทธานุภาพให้เป็นควันไปสัมผัสมังสฉวีและเอ็นอัฐิแห่งพญานาคนี้ ระงับเดชพญานาคให้เหือดหาย แล้วก็ทรงสำแดงอิทธาภิสังขารดังพระดำรินั้น พญานาคมิอาจจะอดกลั้นซึ่งความพิโรธได้ ก็บังหวนควันพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้น พระบรมศาสดาก็สำแดงเตโชกสิณสมาบัติ บันดาลเปลวเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ และเพลิงทั้งสองฝ่ายก็บังเกิดขึ้นแสงแดงสว่าง ดุจเผาผลาญซึ่งโรงไฟนั้นให้เป็นเถ้าธุลี
ส่วนชฎิลทั้งหลายก็แวดล้อมโรงไฟนั้น ต่างเจรจากันว่า พระสมณะนี้มีสิริรูปงามยิ่งนัก เสียดายที่เธอมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งพญานาคในที่นี้
ครั้นล่วงสมัยราตรีรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กำจัดฤทธิเดชพญานาคให้อันตรธานหาย บันดาลให้นาคราชนั้นขดกายลงในบาตร แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวลกัสสป ตรัสบอกว่า พญานาคนี้สิ้นฤทธิเดชแล้ว อุรุเวลกัสสปเห็นดังนั้นก็ดำริว่า พระสมณะนี้มีอานุภาพมาก ระงับเสียซึ่งฤทธิพญานาคให้อันตรธานพ่ายแพ้ไปได้ ถึงดังนั้นไซร้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา มีจิตเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ จึงกล่าวว่าข้าแต่สมณะ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ อาศรมของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะถวายภัตตาหารให้ฉันทุกวันเป็นนิตย์
พระบรมศาสดาก็เสด็จประทับยังพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ใกล้อาศรมแห่งอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้น ครั้นสมัยราตรีเป็นลำดับ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ก็ลงมาสู่สำนักพระบรมโลกนาถ ถวายอภิวาทและประดิษฐานยืนอยู่ใน ๔ ทิศ มีทิพยรังสีสว่างดุจกองเพลิงก่อไว้ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเวลาเช้าอุรุเวลกัสสปจึงเข้าไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลว่า นิมนต์พระสมณะไปฉันภัตตาหารเถิด ข้าพเจ้าตกแต่งไว้ถวายเสร็จแล้ว แต่เมื่อคืนนี้เห็นรัศมีสว่างไปทั่วพนัสมณฑลสถาน บุคคลผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์ จึงปรากฏรุ่งเรืองในทิศทั้ง ๔ พระบรมศาสดาจึงตรัสบอกว่า "ดูกร กัสสป นั้นคือ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ลงมาสู่สำนักตถาคตเพื่อฟังธรรม" อุรุเวลกัสสปได้สดับดังนั้น ก็ดำริว่า พระมหาสมณะองค์นี้มีอานุภาพมาก ท้าวจาตุมหาราชยังลงมาสู่สำนัก ถึงกระนั้นก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา
พระบรมศาสดาเสด็จมากระทำภัตกิจ เสวยภัตตาหารของอุรุเวลกัสสปเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับมาสู่ทิวาวิหารในพนาสณฑ์นั้น ครั้นรัตติกาลสมัย ท้าวสหัสนัยก็ลงมาสู่สำนักพระบรมศาสดา ถวายนมัสการแล้วยืนอยู่ที่ควรข้างหนึ่ง เปล่งรัศมีสว่างดุจกองอัคคีใหญ่ไพโรจน์ยิ่งกว่าราตรีก่อน ครั้นเพลารุ่งเช้า กัสสปชฎิลไปสู่สำนักพระบรมศาสดา ทูลอาราธนาให้ฉันภัตตาหารแล้วทูลถามว่า เมื่อคืนนี้มีผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์ จึงมีรัศมียิ่งกว่าราตรีก่อนพระบรมศาสดาตรัสบอกว่า "ดูกรกัสสป เมื่อคืนนี้ท้าวโกสีย์สักกเทวราชลงมาสู่สำนักตถาคต เพื่อจะฟังธรรม" ชฎิลได้สดับดังนั้น ก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจนัยก่อน
พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของกัสสปดาบสแล้ว ก็กลับมาอยู่ทิวาวิหารยังพนัสสถานที่นั้น ครั้นเข้าสมัยราตรี ท้าวสหัมบดีมหาพรหมก็ลงมาสู่สำนักพระบรมศาสดา เปล่งรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปกว่าสองราตรีนั้น ครั้นรุ่งเช้าอุรุเวลกัสสปก็ไปทูลอาราธนาฉันภัตตาหารแล้วทูลถามอีก พระบรมศาสดาตรัสบอกว่า "คืนนี้ท้าวสหัมบดีพรหมลงมาสู่สำนักตถาคต" กัสสปดาบสก็ดำริดุจนัยก่อน พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของอุรุเวลชฎิลแล้วก็กลับมาสู่สำนัก
ในวันรุ่งขึ้น มหายัญญลาภบังเกิดขึ้นแก่อุรุเวลชฎิล คือ ชนชาวอังครัฐทั้งหลายจะนำเอาขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมาก มาถวายแก่อุรุเวลชฎิล อุรุเวลชฎิลจึงดำริแต่ในราตรีว่า รุ่งขึ้นพรุ่งนี้มหาชนจะนำเอาอเนกนานาหารมาสู่สำนักอาตมา หากพระสมณะรูปนี้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ลาภสักการะก็จะบังเกิดแก่เธอเป็นอันมาก อาตมาจักเสื่อมสูญจากสรรพสักการบูชา ทำไฉน ณ วันพรุ่งนี้อย่าให้เธอมาสู่ที่นี้ได้
พระบรมศาสดาทรงทราบความดำริของชฎิล ด้วยเจโตปริยญาณ ครั้นเพลารุ่งเช้าก็เสด็จไปสู่อุตตรกุรุทวีป ทรงบิณฑบาตได้ภัตตาหารแล้วก็เสด็จมากระทำภัตกิจยังฝั่งอโนดาต แล้วทรงยับยั้งอยู่ ณ ทิวาวิหารในที่นั้น ต่อมาเพลาสายัณหสมัยจึงเสด็จมาสู่วนสณฑ์สำนัก ครั้นรุ่งขึ้นกัสสปชฎิลไปทูลอาราธนาเสวยภัตตาหารแล้วทูลถามว่า "วานนี้พระองค์ไปแสวงหาอาหารในที่ใด ไฉนไม่ไปสู่สำนักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าระลึกถึงพระองค์อยู่" จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกวาระน้ำจิตของชฎิลที่วิตกนั้นให้แจ้งทุกประการ อุรุเวลกัสสปได้สดับก็ตกใจ ดำริว่าพระมหาสมณะนี้มีอานุภาพมากแท้ เธอล่วงรู้จิตอาตมา ถึงดังนั้นก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ดังอาตมา
ในกาลนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรบังเกิดแก่พระบรมศาสดา พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินไปซักผ้าบังสุกุล ซึ่งห่อศพนางปุณณทาสีที่ทอดทิ้งอยู่ในอามกสุสานะป่าช้าผีดิบ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกษัตริย์อุภโตสุชาติเสด็จจากขัตติยราชสกุลอันสูงด้วยเกียรติศักดิ์ ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณเป็นพระสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ เป็นโมลีของโลก เห็นปานนี้แล้ว ยังทรงลดพระองค์ลงมาซักผ้าขาวที่ห่อศพนางปุณณทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในป่าช้า เพื่อทรงใช้เป็นผ้าจีวรทรงเช่นนี้ เป็นกรณียะที่สุดวิสัยของเทวดาและมนุษย์ซึ่งอยู่ในสถานะเช่นนั้นจะทำได้
มหาปฐพีใหญ่ก็กัมปนาทหวั่นไหวเป็นมหัศจรรย์ถึง ๓ ครั้ง ตลอดระยะทางทรงพระดำริว่า ตถาคตจะซักผ้าบังสุกุลนี้ในที่ใด ? ขณะนั้นท้าวสหัสนัยอมรินทราธิราชทรงทราบในพุทธปริวิตก จึงเสด็จลงมาขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ในพื้นศิลา สำเร็จด้วยเทวฤทธิ์ให้เต็มไปด้วยอุทกวารี แล้วกราบทูลพระชินศรีให้ทรงซักผ้าบังสุกุลในที่นั้น ขณะที่ทรงซักก็ทรงพระดำริว่า จะทรงขยำในที่ใดดี ท้าวโกสีย์ก็เอาแผ่นศิลาใหญ่เข้าไปถวาย ทรงขยำด้วยพระหัตถ์จนหายกลิ่นอสุภ แล้วก็ทรงพระดำริว่าจะห้อยตากผ้าบังสุกุลจีวรในที่ใดดี ลำดับนั้นรุกขเทพยดาซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ไม้กุ่มบก ก็น้อมกิ่งไม้ลงมาถวายให้ทรงห้อยตากจีวร ครั้นทรงห้อยตากแล้วก็ทรงพระจินตนาว่าจะแผ่พับผ้าในที่ใด ท้าวสหัสนัยก็ยกแผ่นศิลา อันใหญ่มาทูลถวายให้แผ่พับผ้ามหาบังสุกุลนั้น
เพลารุ่งเช้า อุรุเวลกัสสปไปเฝ้าพระบรมศาสดา เห็นสระและแผ่นศิลาทั้งสอง ซึ่งมิได้ปรากฏมีในที่นั้นมาก่อน และกิ่งไม้กุ่มน้อมลงมาเช่นนั้น จึงทูลถาม พระบรมศาสดาตรัสบอกความทั้งปวงให้ทราบ เมื่อกัสสปได้ฟังก็สะดุ้งตกใจ ดำริว่า พระสมณะองค์นี้มีเดชานุภาพมากยิ่งนัก แม้ท้าวมัฆวานยังลงมากระทำไวยาวัจกิจถวาย แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา
พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของชฎิล แล้วก็กลับมาสถิตยังพนาสณฑ์ตำบลที่อาศัย ครั้นรุ่งขึ้นในวันเป็นลำดับ กัสสปชฎิลไปทูลนิมนต์ฉันภัตตาหาร จึงตรัสว่า "ท่านจงไปก่อนเถิด ตถาคตจะตามไปภายหลัง" เมื่อส่งชฎิลไปแล้ว จึงเสด็จเหาะไปนำเอาผลหว้าใหญ่ประจำทวีปในป่าหิมพานต์มา แล้วก็เสด็จมาถึงโรงไฟก่อนหน้าชฎิล ครั้นชฎิลมาถึงจึงทูลถามว่า พระองค์มาทางใดจึงถึงก่อน พระศาสดาจึงตรัสบอกประพฤติเหตุแล้วตรัสว่า "ดูกรกัสสป ผลหว้าประจำทวีปนี้ มีวรรณสัณฐานสุคันธรสเอมโอช ถ้าท่านปรารถนาจะบริโภค ก็เชิณตามปรารถนา" อุรุเวลกัสสปก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจหนหลัง ครั้นพระศาสดาทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับไปยังพนาสณฑ์ที่สำนัก
ในวันต่อมาได้ทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์เช่นนั้นอีก ๔ ครั้ง คือ ทรงส่งอุรุเวลกัสสปมาก่อน แล้วเสด็จเหาะไปเก็บผลมะม่วงครั้งหนึ่ง เก็บผลมะขามป้อมครั้งหนึ่ง เก็บผลส้มในป่าหิมพานต์ครั้งหนึ่ง เสด็จขึ้นไปดาวดึงส์เทวโลกนำเอาผลไม้ปาริฉัตตกครั้งหนึ่ง เสด็จมาถึงก่อน คอยท่าอุรุเวลกัสสปอยู่ที่โรงไฟ ให้ชฎิลเห็นเป็นอัศจรรย์ใจทุกครั้ง
วันหนึ่งชฎิลทั้งหลายปรารถนาจะก่อไฟก็มิอาจผ่าฟืนออกได้ จึงดำริว่าที่เป็นดังนี้เพราะฤทธิ์พระมหาสมณะทำโดยแท้ พระบรมศาสดาจึงตรัสถาม ครั้นทราบความแล้วก็ตรัสว่า ท่านจงผ่าฟืนตามปรารถนาเถิด ในทันใดนั้นชฎิลก็ผ่าฟืนออกตามประสงค์
วันหนึ่งชฎิลทั้ง ๕๐๐ ปรารถนาจะบูชาเพลิง ก่อเพลิงไม่ติด จึงคิดปริวิตกเหมือนหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ก่อเพลิงได้ เพลิงก็ติดขึ้นทั้ง ๕๐๐ กองพร้อมกันในขณะเดียว ชฎิลทั้งหลายบูชาเพลิงสำเร็จแล้ว จะดับเพลิง เพลิงก็ไม่ดับ จึงดำริดุจหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ดับเพลิง เพลิงก็ดับพร้อมกันทั้ง ๕๐๐ กอง
วันหนึ่งในเวลาหนาว ชฎิลทั้งหลายลงอาบน้ำดำผุดขึ้นลงในแม่น้ำเนรัญชรานที สมเด็จพระชินศรีผู้ทรงพระกรุณาแก่ชฎิล ทรงดำริว่า เมื่อชฎิลขึ้นจากน้ำแล้วจะหนาวมาก จึงทรงนิรมิตเชิงกรานประมาณ ๕๐๐ อัน มีเพลิงติดทั้งสิ้นไว้ในที่นั้น ครั้นชฎิลทั้งหลายขึ้นจากน้ำหนาวจัดก็ชวนกันเข้าผิงไฟที่เชิงกราน แล้วก็คิดสันนิษฐานว่า พระมหาสมณะคงจะนิรมิตไว้ให้เป็นแน่ น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
วันหนึ่งมหาเมฆตั้งขึ้นมิใช่ฤดูกาล บันดาลให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก กระแสน้ำเป็นห้วงใหญ่ไหลท่วมไปในที่ทั้งปวงโดยรอบบริเวณนั้น ธรรมดาว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จสถิตอยู่ ณ ประเทศที่ใด แม้ที่นั้นน้ำท่วม ก็ทรงอธิษฐานมิให้น้ำท่วมเข้าไปในที่นั้นได้ และในครั้งนั้นก็ทรงดำริว่า ตถาคตจะยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไปในทิศโดยรอบ ที่หว่างกลางนั้นจะมีพื้น ภูมิภาคจะราบเรียบขึ้นปกติ ตถาคตจะจงกรมอยู่ในที่นั้นแล้วก็ทรงอธิษฐานบันดาลให้เป็นดังพุทธดำรินั้น
ฝ่ายอุรุเวลกัสสปนั้นคิดว่าพระมหาสมณะนี้ น้ำจะท่วมเธอหรือไม่ท่วมประการใด หรือจะหลีกไปสู่ประเทศอื่น จึงลงเรือพร้อมกับชฎิลทั้งหลาย รีบพายไปดูโดยด่วน ถึงประเทศที่พระองค์ทรงสถิต ก็เห็นน้ำสูงขึ้นเป็นกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ แลเห็นพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในพื้นภูมิภาคปราศจากน้ำ จึงส่งเสียงร้องเรียก พระพุทธเจ้าขานรับว่า "กัสสป! ตถาคตอยู่ที่นี้" แล้วก็เสด็จเหาะขึ้นไปบนอากาศ เลื่อนลอยลงสู่เรือของกัสสปชฎิล กัสสปชฎิลก็ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีอิทธิฤทธิ์เป็นอันมาก แต่ถึงมีอานุภาพมากเช่นนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา
แท้จริง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปปตนมิคทายวัน ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนกัตติกมาส (เดือน ๑๒) มาประทับอยู่ที่อุรุเวลประเทศ จนตราบเท่าถึงวันเพ็ญเดือน ๒ เป็นเวลาสองเดือน ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ทรมานอุรุเวลกัสสปโดยอเนกประการ อุรุเวลกัสสปก็ยังมีสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้น ด้วยทิฏฐิอันกล้ายิ่งนัก จึงทรงพระดำริว่า ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง
จึงมีพระวาจาตรัสแก่อุรุเวลกัสสปว่า "กัสสป! ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกล มิใช่ทางมรรคผลอันใด ไฉนเล่าท่านจึงถือตนว่าเป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตัวเอง ทั้งๆที่ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า ตัวยังมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด ยังทำตนลวงคนอื่นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อีก กัสสป! ถึงเวลาอันควรแล้วที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า ท่านยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย กัสสป! แล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน"
เมื่ออุรุเวลกัสสปได้สดับพระโอวาท ก็รู้สึกตัวละอายแก่ใจ ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์ และพระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง"
พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "กัสสป! ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่านจงชี้แจงให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจงยอมให้บรรพชาอุปสมบท" อุรุเวลกัสสปก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์ ศิษย์ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชาในสำนักพระบรมครูสิ้น แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยเครื่องบริขารและเครื่องตกแต่ง ผม ชฎา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังเสือ ไม้สามง่าม ในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน
ครั้งนั้น ท่านนทีกัสสปดาบส ผู้เป็นน้องกลางเห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอยน้ำมา ก็ดำริว่าชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่ชาย จึงใช้ให้ชฎิลสองสามอันเป็นศิษย์ไปสืบดู รู้เหตุแล้ว นทีกัสสปดาบสก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์ มาสู่สำนักของท่านอุรุเวลกัสสป ถามเหตุนั้น ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น พากันเข้าถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้น ดุจชฎิลพวกก่อนนั้น
ฝ่ายคยากัสสปดาบส ผู้เป็นน้องน้อยเห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำลงมาจำได้ ก็คิดดุจนทีกัสสปชฎิลผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสทั้ง ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักพระอุรุเวลกัสสป ไปถามทราบความแล้วเลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสชลดุจหนหลัง แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง มีอุรุเวลกัสสป เป็นต้น กับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฎฐิแห่งตนแล้ว โปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะประเทศ ตรัสพระธรรมเทศนา อาทิตตปริยายสูตร* โปรดภิกษุ ๑,๐๐๐ นั้น ให้บรรลุพระอรหัตด้วยกันทั้งสิ้น
*อาทิตตปริยายสูตร เป็นสูตรที่แสดงอายตนภายใน อายตนภายนอก วิญญาณ สัมผัส เวทนา เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ เพื่ออนุโลมตามอัธยาศัยของปุราณชฎิลที่นิยมบูชาไฟเป็นวัตร




ตอนที่ ๓๑  เสด็จพระนครราชคฤห์


พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่อุรุเวลาเสนานิคม โดยสำราญพอควรแก่กาลแล้ว ทรงพระประสงค์จะประดิษฐานพระศาสนาให้มั่นคงที่พระนครราชคฤห์ และทรงพระประสงค์จะเปลื้องปฏิญญาที่ทรงประทานพระเจ้าพิมพิสารไว้แต่แรก จึงชวนพระอริยสาวก ๑,๐๐๐ องค์ มีพระอุรุเวลกัสสปเป็นประธาน เสด็จไปยังมคธรัฐ ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวันใกล้พระนครราชคฤห์
ครั้นนายอุทยานบาลได้เห็นพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐เป็นบริวาร ก็มีใจชื่นบานเลื่อมใส รีบนำเรื่องเข้ากราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบแล้ว ก็ทรงโสมนัสเสด็จออกจากพระนคร พร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดี ๑๒ หมื่นเป็นราชบริพาร เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังลิฏฐิวันสถาน ถวายความเคารพในพระรัตนตรัยด้วยพระราชศรัทธา
ส่วนพราหมณ์และคหบดีทั้งหลายนั้น มีอัธยาศัยต่างกัน บางพวกถวายนมัสการแล้วก็นั่ง บางพวกก็กล่าวสัมโมทนียคาถาถวายความยินดีในการที่พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่พระนครราชคฤห์ บางพวกถวายความยินดีที่มีโอกาสมาเข้าเฝ้า ได้พบเห็นพระสัมพุทธเจ้า บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกก็นั่งเฉยอยู่ บางพวกบางหมู่ก็ปริวิตกจิตคิดไปต่างๆว่า พระสมณโคดมบวชในสำนักท่านอุรุเวลกัสสป หรือท่านอุรุเวลกัสสปบวชในสำนักพระสมณโคดม หรือใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กัน




ตอนที่ ๓๒ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร


ลำดับนั้นพระบรมศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณ ทรงพระประสงค์จะบรรเทาทิฏฐิของราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร จึงทรงพระดำรัสแก่พระอุรุเวลกัสสป "กัสสป เธอเห็นโทษในการบูชาไฟอย่างไร จึงได้เลิกการบูชาไฟเสีย"
พระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า การบูชายัญญ์ทั้งหลายมีความใคร่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นสิ่งที่น่าพอใจน่าปรารถนาเป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุแห่งความเร่าร้อน เพราะความไม่สมปรารถนาบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามอำนาจบ้าง ไม่เป็นทางให้สิ้นทุกข์โดยชอบ ข้าพระองค์จึงได้ละยัญญ์เหล่านั้นเสีย"
ครั้นพระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลดังนั้นแล้ว มีความประสงค์จะสำแดงตนให้พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายรู้ว่า ตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกระทำจีวรเฉวียงบ่าถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลด้วยเสียงอันดังด้วยอาการคารวะว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า" และกระทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศสูงประมาณ ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงมาถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยอาการนี้ถึง ๗ ครั้ง ยังความสงสัยของพราหมณ์และคหบดี ผู้เป็นราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารทั้งหมดในที่นั้น ให้เสื่อมสิ้นไป พร้อมกับได้ความเลื่อมใสและความอัศจรรย์ในพระบรมศาสดา ตั้งใจสดับธรรมโดยคารวะ
ลำดับนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงแสดงจตุราริยสัจโปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร ๑๑ หมื่น ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล อีก ๑ หมื่นให้ได้ความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพระรัตนตรัย เป็นอุบาสกในพระศาสนา
เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้วพระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวายความยินดีเลื่อมใสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นขัตติยราชกุมารอยู่นั้น หม่อมฉันได้ตั้งความปรารถนามโนปณิธานไว้ ๕ ข้อ คือ
๑ ขอให้ได้รับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติในราชอาณาจักรนี้
๒ ขอให้พระสัมพุทธเจ้าผู้ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมาสู่แว่นแคว้นของหม่อมฉัน
๓ ขอให้หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๔ ขอให้พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงพระกรุณาประทานธรรมเทศนาแด่หม่อมฉัน และ
๕ ขอให้หม่อมฉันได้รู้ทั่วถึงในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทาน
บัดนี้มโนปณิธานทั้ง ๕ ประการ ที่หม่อมฉันตั้งไว้นั้นได้สำเร็จแล้วทุกประการ หม่อมฉันมีความโสมนัสเบิกบานในพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง หม่อมฉันขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งปวง จงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้" พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณี ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่าพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว ก็ถวายอภิวาททูลลา พาราชบริพารเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร




ตอนที่ ๓๓ ทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆาราม


ครั้นวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์สาวก ๑,๐๐๐ เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังพระนครราชคฤห์ เสด็จสู่พระราชนิเวศน์ขึ้นประทับยังพระบวรพุทธาอาสน์ พระเจ้าพิมพิสารมหาราชพร้อมด้วยราชบริพารทรงถวายมหาทาน อังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระหัตถ์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสร็จการเสวยแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
"ลัฏฐิวัน ที่ทรงประทับอยู่นั้นเล็ก ทั้งไกลจากชุมนุมชนเกินพอดี ไม่สะดวกแก่ผู้มีศรัทธามีกิจจะพึงไป หม่อมฉันขอถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม ด้วยเป็นสถานที่กว้างใหญ่ มีเสนาสนะเรียบร้อย ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไกลจากชุมนุมชน เงียบสงัดไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน ผู้มีกิจจะพึงไปถึงได้ไม่ลำบาก สมเป็นพุทธาธิวาสอันพระองค์จะทรงประทับ" กราบทูลแล้วก็ทรงจับพระเต้าทองหลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงที่พระหัตถ์พระบรมศาสดา ถวายพระราชอุทยานเวฬุวันเป็นสังฆาราม เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา




ตอนที่ ๓๔ อุปดิสสะและโกลิตะออกบวช


พระบรมศาสดาทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆารามแล้ว ทรงอนุโมทนาพาพระสงฆ์สาวกเสด็จกลับประทับยังพระเวฬุวันวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระศาสนาอันมโหฬาร ทั้งงามตระการตาและมั่นคง ควรแก่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมาแต่จตุรทิศจะพึงเข้าพำนักอยู่อาศัย เป็นความสะดวกสบายแก่สมณเพศ ที่โลกยกย่องว่าเป็นบุญเขตควรแก่การบูชา มหาชนมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หลั่งไหลกันมาสดับธรรมเทศนากันเป็นอันมาก เป็นอันว่าพระบรมศาสดาได้เริ่มประดิษฐานพระศาสนา เป็นหลักฐานลงที่พระเวฬุวันวิหาร ณ พระนครราชคฤห์ เกียรติศักดิ์เกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนาได้เริ่มแพร่ไปในชุมนุมชนตามตำบลน้อยใหญ่เป็นลำดับ
สมัยนั้น มีหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ใกล้กรุงราชคฤห์ ๒ หมู่บ้าน เรียกว่า อุปติสสคาม บ้าน ๑ โกลิตคาม บ้าน ๑ บุตรคนใหญ่ของนายบ้านอุปติสสคาม ซึ่งเกิดแต่นางสารีพราหมณี ชื่อ อุปดิสสะ บุตรคนใหญ่ของนายบ้านโกลิตคาม ซึ่งเกิดแต่นางโมคคัลลีพราหมณี ชื่อ โกลิตะ และเนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองตั้งอยู่ไม่ไกลกัน มีฐานะทัดเทียมกัน ทั้งเคารพนับถือกันดี ดังนั้นบุตรของตระกูลทั้งสองนี้จึงรักใคร่ ไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม คบหาสมาคมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ไว้วางใจกันเป็นอย่างดี
อุปดิสสะ กับ โกลิตะ มีอายุคราวเดียวกัน เป็นสหชาติร่วมปีเกิด เดือนเกิด แต่อุปดิสสะแก่วันกว่า โกลิตะจึงเรียกอุปดิสสะว่าพี่ ในฐานะที่แก่กว่า คนทั้งสองเจริญวัยอยู่ในความอุปถัมภ์บำรุงของบิดามารดาเป็นอย่างดี มีเด็กในหมู่บ้านทั้งสองเป็นเพื่อนฝูงกันแต่เยาว์วัยก็มาก แม้เมื่อมีอายุควรแก่การศึกษาแล้ว คนทั้งสองตลอดมิตรสหายก็ได้เข้าศึกษาศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน แม้เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ยังเป็นเพื่อนร่วมงาน ร่วมความสนุกสนานบันเทิงด้วยกันด้วยดีเสมอมาในการชมมหรสพ ถึงคราวสรวลเสเฮฮาก็สรวลเสเฮฮาด้วย ถึงคราวสลดใจก็สลดด้วย คราวเบิกบานใจ ควรตกรางวัลก็ตกรางวัลให้ด้วยกัน
วันหนึ่งมีงานมหรสพบนภูเขา มีผู้คนไปมาก อุปดิสสมานพและโกลิตมานพก็ไปชมด้วยกัน แต่เป็นด้วยทั้งสองมานพมีบารมีญาณแก่กล้า ดูมหรสพด้วยพิจารณา เห็นความจริงของกัปปกิริยาอาการของคนแสดงและคนดู รวมทั้งตนเองด้วย ปรากฏอยู่ในสถานะที่ไม่น่าจะนิยมชมชื่นเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น การชมมหรสพก็ไม่ออกรส ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนแต่ก่อน หน้าตาก็ไม่เบิกบาน คิดว่าอีกไม่ถึง ๑๐๐ ปี ทั้งคนแสดงและคนดูก็ตายหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อันใดในการมาดูมหรสพนี้เลย ควรจะแสวงหาโมกขธรรมประเสริฐกว่า
ครั้นมานพทั้งสองได้ไต่ถามถึงความรู้สึกนึกคิด ทราบความประสงค์ตรงกันเช่นนั้นก็ดีใจ และอุปดิสสมานพก็กล่าวกับโกลิตมานพว่าสมควรจะบวชแสวงหาโมกขธรรมด้วยกันเถิด เมื่อตกลงใจออกบวชด้วยกันแล้วโกลิตมานพจึงปรึกษาว่า เราจะบวชในอาจารย์ใดดี
สมัยนั้น สญชัยปริพาชก เป็นอาจารย์ใหญ่ อยู่ในเมืองราชคฤห์สำนักหนึ่งที่มีบริษัทบริวารมาก มานพทั้งสองจึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าเราควรจะไปบวชในสำนักอาจารย์สญชัยปริพาชก ครั้นตกลงใจแล้วมานพทั้งสองต่างก็พาบริวารของตนรวม ๕๐๐ คน เข้าไปหาท่านอาจารย์สญชัยปริพาชก ขอบวชและศึกษาอยู่ในสำนักนั้น
จำเดิมแต่มานพทั้งสองเข้าไปบวชเป็นศิษย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพาชกไม่นาน สำนักนี้ก็เจริญเป็นที่นิยมของมหาชนเป็นอันมาก ลาภสักการะพร้อมด้วยยศก็เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
เมื่ออุปดิสสมานพและโกลิตมานพบวชเป็นปริพาชก ศึกษาลัทธิของอาจารย์สญชัยไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ จึงได้เรียนถามว่า "ท่านอาจารย์ ลัทธิของท่านอาจารย์มีเท่านี้แหละหรือ?" อาจารย์สญชัยก็บอกว่า "ลัทธิของเรามีเพียงเท่านี้ ท่านทั้งสองเรียนจบบริบูรณ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ข้าพเจ้ารู้ โดยท่านไม่รู้เลย" แล้วตั้งให้อุปดิสสมานพและโกลิตมานพทั้งสอง เป็นอาจารย์สอนศิษย์ในสำนัก มีศักดิ์เสมอด้วยตน
มานพทั้งสองปรึกษากันว่า การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักนี้หาประโยชน์มิได้ ด้วยไม่เป็นทางให้เข้าถึงโมกขธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการหลุดพ้นได้ ความจริงชมพูทวีปนี้ก็กว้างใหญ่ คงจะมีท่านที่มีความรู้สอนให้เราเข้าถึงโมกขธรรมได้ ควรจะเที่ยวสืบเสาะแสวงหาดู แล้วมานพทั้งสองก็ลาอาจารย์ เที่ยวเสาะแสวงหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นอาจารย์สอนโมกขธรรมให้
แม้พยายามเที่ยวไปในชนบทน้อยใหญ่ ได้ข่าวว่ามีอาจารย์ในสำนักใดดี มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมนับถือ ก็เข้าไปไต่ถาม ขอรับความรู้ความแนะนำ แต่แล้วก็ไม่สมประสงค์ เพราะทุกอาจารย์ที่เข้าไปไต่ถาม ต่างก็ยอมจำนนด้วยไม่สามารถบรรเทาความสงสัย ให้ความเบิกบานเคารพนับถือได้ เมื่อได้ท่องเที่ยวทุกแห่งจนสุดความสามารถ สิ้นศรัทธาที่จะพยายามสืบเสาะต่อไปอีกแล้ว มานพทั้งสองก็กลับมาอยู่ในสำนักอาจารย์เดิมดังกล่าว ต่างให้สัญญาไว้แก่กันว่า ผิว์ผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกให้แก่ผู้หนึ่งได้รู้เช่นกัน
ในกาลนั้นพอพระสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จไปตรัสเทศนาธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ ตราบเท่าจนส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ ออกไปเที่ยวประกาศพระศาสนา แล้วพระองค์ก็เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชฎิล ๑,๐๐๐ รูป แล้วเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จประทับอยู่ในเวฬุวันวิหาร
ครั้งนั้น พระอัสสชิเถรเจ้า ซึ่งอยู่ในคณะภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้ออกประกาศพระศาสนาจาริกมาสู่เมืองราชคฤห์ เวลาเช้าทรงบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตภายในเมือง ขณะนั้น พออุปดิสสปริพาชกบริโภคอาหารเช้าแล้ว เดินไปสู่อารามปริพาชก เห็นพระอัสสชิเถรเจ้าซึ่งสมบูรณ์ด้วยอาจาระตามสมณวิสัย จะก้าวไปข้างหน้าหรือจะถอยกลับ มีสติสังวรเป็นอันดี มีจักษุทอดพอประมาณทุกขณะ
เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เป็นที่พึงตาพึงใจของอุปดิสสะเป็นอย่างมาก ดำริว่า บรรพชิตมีกิริยาอาการในรูปนี้ เรามิได้เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ท่านผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ในโลกนี้ บรรพชิตรูปนี้จะต้องนับเข้าในพระอรหันต์พวกนั้นรูปหนึ่งเป็นแน่แท้ ควรเราจะเข้าหาสมณรูปนี้เพื่อได้ศึกษา ขอรับข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุโมกขธรรมเช่นท่านบ้าง แต่แล้วอุปดิสสมานพก็กลับได้สติ ดำริใหม่ว่า "ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยวบิณฑบาตของภิกษุรูปนี้อยู่ ไม่ควรที่เราจะเข้าไปไต่ถาม" ครั้นอุปดิสสะดำริฉะนี้แล้ว ก็เดินติดตามท่านภายในระยะทางพอสมควร
ครั้นพระอัสสชิเถรเจ้าได้บิณฑบาตแล้วหลีกไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าควรจะเป็นที่นั่งทำภัตกิจได้ อุปดิสสปริพาชกได้รีบเข้าไปใกล้ จัดตั้งอาสนะถวายแล้วนั่งปฏิบัติ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน ครั้นพระเถรเจ้าทำภัตกิจเสร็จแล้ว อุปดิสสปริพาชกจึงกล่าวปฏิสันถารด้วยคารวะว่า "ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ ใบหน้าของท่านผ่องใสยิ่งนัก แสดงว่าท่านมีความสุข แม้ผิวพรรณของท่านก็สะอาดบริสุทธิ์ ประทานโทษ ท่านบรรพชาต่อท่านผู้ใด ใครเป็นครูอาจารย์ของท่าน และท่านได้เล่าเรียนธรรมในผู้ใด?"
พระเถรเจ้าตอบว่า "ดูกร ปริพาชก พระมหาสมณะศากยบุตรเสด็จออกบรรพชาจากศากยราชตระกูล พระองค์นั้น เป็นบรมครูของฉัน ฉันบวชต่อพระศาสดาพระองค์นั้น และเล่าเรียนธรรมในพระศาสดาพระองค์นั้นแล" อุปดิสสปริพาชกจึงเรียนถามต่อไปว่า "อาจารย์ของท่านสอนธรรมอย่างไรแก่ท่าน?"
พระเถรเจ้าดำริว่า ธรรมดาปริพาชกย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา ควรอาตมะจะแสดงคุณแห่งพระศาสนา โดยความเป็นธรรมลึกซึ้งและประณีตสุขุมเถิด ครั้นแล้วจึงตอบว่า "ดูกรปริพาชก อาตมะเพิ่งบวชใหม่ ไม่อาจแสดงธรรมวินัยโดยพิสดารแก่เธอได้ดอก" อุปดิสสปริพาชกจึงเรียนปฏิบัติท่านว่า "ข้าพเจ้าชื่อว่า อุปดิสสะ ขอให้พระเถรเจ้ากรุณาบอกธรรมเพียงแต่ย่อๆเถิด"
พระอัสสชิเถรเจ้ากล่าวคาถาแสดงวัตถุประสงค์ของพระศาสนาว่า "เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา" เป็นอาทิ ความว่า "ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งเหตุของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสสอนอย่างนี้"
อุปดิสสปริพาชกได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นสัจธรรม ถึงบรรลุโสดาปัตติผล โดยสดับเทศนาหัวใจพระศาสนาของพระเถรเจ้าเพียงคาถาหนึ่งเท่านั้น แล้วเรียนท่านโดยคารวะว่า "ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขอประทานกรุณาหยุดเพียงนี้เถิด อย่าแสดงต่อไปอีกเลย เวลานี้พระบรมศาสดาของเราเสด็จอยู่ที่ไหน ?"
พระเถรเจ้าบอกว่า "เวลานี้พระบรมศาสดายังเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร" "เป็นพระคุณหาที่สุดมิได้" อุปดิสสะอุทานวาจาออกด้วยความซาบซึ้งในธรรมและในความกรุณาของพระเถรเจ้า "นิมนต์ท่านอาจารย์ไปก่อนเถิด แล้วข้าพเจ้าจะตามไปภายหลัง ด้วยข้าพเจ้าได้ให้สัญญาไว้กับโกลิตมานพสหายที่รักว่า ถ้าผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกแก่กันให้รู้ ฉะนั้นข้าพเจ้าจะกลับไปเปลื้องสัญญาเสียก่อน แล้วจะพาสหายผู้นั้นไปสู่สำนักพระบรมศาสดาของเราต่อภายหลัง" แล้วกราบพระเถรเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์ด้วยความเคารพ กระทำประทักษิณเดินเวียน ๓ รอบ แล้วส่งพระเถรเจ้าไปก่อน ส่วนตนออกเดินบ่ายหน้าไปสู่ปริพาชการาม
ส่วนโกลิตปริพาชกเห็นสหายเดินมาแต่ไกล จึงดำริว่า ใบหน้าของสหายเราวันนี้ดูเบิกบานผ่องใสยิ่งกว่าวันอื่นๆชะรอยจะได้โมกขธรรมเป็นแน่แท้ ครั้นอุปดิสสปริพาชกเข้ามาใกล้ จึงถามตามความคิด อุปดิสสะก็บอกว่า "ตนได้บรรลุโมกขธรรมแล้ว มานี่ก็เพื่อบอกโมกขธรรมนั้นแก่สหาย ให้เป็นไปตามสัญญาของเราที่ให้กันไว้แต่แรก ขอสหายจงตั้งใจฟังเถิด" แล้วอุปดิสสะก็แสดงคาถาหัวใจของพระศาสนา ซึ่งตนได้สดับมาจากพระอัสสชิเถรเจ้า พออุปดิสสะแสดงจบลง โกลิตปริพาชกก็ได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นในอริยสัจจะ บรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกับอุปดิสสปริพาชก
โกลิตะจึงกล่าวแก่อุปดิสสะว่า "เราทั้งสองได้บรรลุโมกขธรรมแล้ว ควรจะไปสำนักพระบรมศาสดากันเถิด" อุปดิสสะเป็นผู้เคารพบูชาอาจารย์มาก จึงตอบว่า "ถูกแล้ว เราทั้งสองควรจะไปเฝ้าพระบรมศาสดาดังที่เธอกล่าว แต่ก่อนจะจากสำนักนี้ไป เราทั้งสองควรจะไปอำลาท่านสญชัยอาจารย์ แล้วหาโอกาสแสดงโมกขธรรมให้ฟัง ถ้าอาจารย์ของเรามีวาสนาบารมีก็จะพลอยได้รู้โมกขธรรมด้วยกัน แม้ไม่ถึงอย่างนั้นเพียงแต่ท่านเชื่อฟัง แล้วพากันไปสู่สำนักพระบรมศาสดา เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว ก็จะได้บรรลุมรรคและผลตามวาสนาบารมีเป็นแน่"
ครั้นสองสหายปรึกษาตกลงกันแล้ว ก็พากันเข้าไปหาท่านสญชัยอาจารย์ บอกให้ทราบว่า "บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วนั้น เป็นนิยยานิกธรรมสามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์โดยชอบจริง พระสงฆ์สาวกก็ปฏิบัติชอบด้วยสุปฏิบัติ ท่านอาจารย์จงมารวมกันไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้ายังพระเวฬุวันสถานนั้นเถิด"
ท่านสญชัยปริพาชกจึงกล่าวห้ามว่า "ไยท่านทั้งสองจึงมาเจรจาเช่นนี้ เรามีลาภยศใหญ่ยิ่งเป็นเจ้าสำนักใหญ่โตถึงเพียงนี้แล้ว ยังควรจะเป็นศิษย์ของใครในสำนักใดอีกเล่า ?" แต่แล้วก็คิดว่า อุปดิสสะและโกลิตะทั้งสองนี้เป็นคนดีมีปัญญาสามารถ น่าที่จะบรรลุโมกขธรรมตามที่ปรารถนายิ่งนักแล้ว คงจะไม่ฟังคำห้ามปรามของตน จึงกล่าวใหม่ว่า "ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยถึงความชราแล้ว ไม่อาจจะไปเป็นศิษย์ผู้ใดได้ดอก"
"ท่านอาจารย์อย่ากล่าวดังนั้นเลย" สหายทั้งสองวิงวอน "ไม่ควรที่ท่านอาจารย์จะคิดเช่นนั้น เมื่อพระสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ดังดวงอาทิตย์อุทัยให้ความสว่างแล้ว คนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมของพระสัมพุทธเจ้า แล้วท่านอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร"
"พ่ออุปดิสสะ ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก ?" สญชัยปริพาชกถามอย่างมีทางเลี่ยง แต่อุปดิสสะตอบตรงๆโดยความเคารพว่า "คนโง่สิมาก ท่านอาจารย์ คนฉลาดมีปัญญาสามารถจะมีสักกี่คน"
"จริง ! อย่างพ่ออุปดิสสะพูด" สญชัยปริพาชกกล่าวอย่างละเมียดละไม "คนฉลาดมีน้อย คนโง่มีมาก อุปดิสสะ เพราะเหตุนี้แหละเราจึงไม่ได้ไปด้วยกัน เราจะอยู่ในสำนักของเรา อยู่ต้อนรับคนโง่ คนโง่อันมีปริมาณมากจะมาหาเรา ส่วนคนฉลาดจะไปหาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นท่านทั้งสองจงไปเถิด เราไม่ไปด้วยแล้ว"
แม้สหายทั้งสองจะพูดจาหว่านล้อมสญชัยปริพาชกด้วยเหตุผลใดๆก็ไม่สามารถโน้มน้าวจิตใจของสญชัยปริพาชก ให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดาได้ อุปดิสสะและโกลิตะจึงชวนปริพาชกผู้เป็นบริวารของตนจำนวน ๒๕๐ คน ลาอาจารย์สญชัยไปเฝ้าพระบรมศาสดา ยังพระเวฬุวันวิหาร




ตอนที่ ๓๕ โปรดอัครสาวก


ขณะนั้น เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นอุปติสสะและโกลิตะ พาบริษัทของตนตรงเข้ามาแต่ไกลเช่นนั้นจึงรับสั่งว่า " ภิกษุทั้งหลาย โน่น ! คู่อัครสาวกของตถาคตมาแล้ว พาบริวารของเธอมาให้ตถาคตด้วย " เมื่อปริพพาชกทั้งหลายเข้ามาเฝ้าแล้ว พระบรมศาสดาก็แสดงธรรมโดยควรแก่อุปนิสัยของปริพพาชกเหล่านั้น ครั้นจบพระธรรมเทศนา ปริพพาชกทั้งหมด เว้นอุปติสสะและโกลิตะได้บรรลุอรหัตตผลด้วยกันสิ้น
สหายทั้งสอง จึงพาบริษัทของตนทั้งหมดเข้ากราบทูลขอประทานอุปสมบท สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสมบท แก่ปริพพาชกทั้ง ๒๕๐ คนนั้น เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วตรัสเรียกชื่อสหายทั้งสองนั้นตามนามของมารดา คือ รับสั่งเรียก อุปติสสะ ผู้เป็นบุตรของนางสารีพราหมณีว่า สารีบุตร รับสั่งเรียก โกลิตะ ผู้เป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณีว่า โมคคัลลานะ อาศัยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับสั่งเรียกท่านทั้งสองเช่นนั้นในท่ามกลางบริษัท ๔ พุทธบริษัทจึงนิยมเรียกท่าน ด้วยชื่อที่ได้รับพระมหากรุณาประทานใหม่ตลอดอายุของท่าน และนิยมเรียกมาจนบัดนี้
ฝ่ายพระโมคคัลลานะ อุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน หลีกไปทำความเพียรอยู่ในเสนาสนะป่า ใกล้บ้านกัลลวาละมุตตคาม ในแคว้นมคธ ความง่วงครอบงำนั่งโงกอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ตรัสบอกอุบายระงับความง่วงให้อันตรธานแล้ว ทรงประทานโอวาทในธาตุกัมมักฏฐาน พระโมคคัลลานะได้สดับแล้วปฏิบัติตาม ก็ได้บรรลุพระอรหัตในวันนั้น
ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน ตามพระบรมศาสดาไปอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา ใกล้กรุงราชคฤห์ ได้สดับพระธรรมเทศนา เวทนาปริคคหสูตร ซึ่งพระบรมศาสดา ทรงแสดงแก่ปริพพาชกชื่อว่า ทีฆนขะ อัคคิเวสนโคตร ผู้เป็นหลานของพระเถระเจ้า พระเถระเจ้าตั้งใจกำหนดพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัต ส่วนทีฆนขะปริพพาชกได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
ในกาลนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงตั้งพระเถระเจ้าทั้งสองไว้ในตำแหน่ง คู่แห่งอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย
เนื่องจากวันที่พระสารีบุตรเถระเจ้า ได้บรรลุพระอรหัต เป็นวันมาฆปรุณมีเพ็ญเดือน ๓ เวลาบ่าย พระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่เวฬุวัน พระอรหันต์ขีณาสพเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ คือ พระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ พระคยากัสสปเถระ รวม ๑,๐๐๐ องค์ กับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ รวม ๒๕๐ องค์ รวมทั้งสองคณะ ๑,๒๕๐ องค์ ได้พร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี จึงได้เสด็จในท่ามกลางพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์นั้น แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ ประทานธรรมอันเป็นหลักแห่งพระศาสนา เพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไป.




ตอนที่ ๓๖ เสด็จเมืองกบิลพัสดุ์


ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ณ พระนครกบิลพัสดุ์ เมื่อได้ทรงทราบพระเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ ก็ทรงปิติโสมนัส ที่พระโอรสของพระองค์ได้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ สมดังคำพยากรณ์ของ ท่านอาจารย์อสิตดาบสและพราหมณาจารย์ทั้ง ๘ คน ทรงตั้งพระทัยคอยเวลาอยู่ว่า เมื่อใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงจะเสด็จไปพระนครกบิลพัสดุ์
ครั้นไม่ได้ข่าววี่แววมาเลยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ ก็ทรงร้อนพระทัยปรารถนาจะให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์ จึงทรงส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารคณะหนึ่ง ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร
กราบทูลอาราธนาให้เสด็จยังพระนครกบิลพัสดุ์
ครั้นอำมาตย์และบริวารคณะนั้นเดินทางจากพระนครกบิลพัสดุ์ ถึงพระนครราชคฤห์ อันมีระยะทาง ๖๐ โยชน์ ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาที่พระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ได้โอกาสฟังธรรมด้วย ครั้นฟังธรรมแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตทั้งคณะ ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ไม่ได้โอกาสที่จะกราบทูลความตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงบัญชามา
ครั้นล่วงมาหลายเวลา พระเจ้าสุทโธทนะเห็นอำมาตย์คณะนั้นหายไป ก็ทรงส่งอำมาตย์ใหม่ออกติดตาม และกราบทูลความประสงค์ของพระองค์ อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จ แม้อำมาตย์ราชทูตคณะนี้ ก็ได้ฟังธรรมบรรลุมรรคผล และได้อุปสมบทในพระศาสนา เช่นอำมาตย์คณะนั้น
พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งอำมาตย์ไปอาราธนาไม่เป็นผลสมพระทัยดังนี้ถึง ๙ ครั้ง ครั้งสุดท้ายทรงน้อยพระทัย รับสั่งเรื่องนี้แก่กาฬุทายี อำมาตย์ผู้ใหญ่ ขอมอบเรื่องให้กาฬุทายีอำมาตย์ช่วยจัดการให้สมพระราชประสงค์ ด้วยทรงเห็นว่ากาฬุทายี เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่สนิทสนม เป็นที่ไว้วางพระทัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแต่ก่อน ทั้งเป็นสหชาติของพระบรมศาสดาด้วย
กาฬุทายีรับสนองพระบัญชาพระเจ้าสุทโธทนะว่า " จะพยายามกราบทูลเชิญเสด็จให้สมพระราชประสงค์ให้จงได้ " แต่ได้กราบทูลลาอุปสมบทด้วย เพราะแน่ใจว่าตนควรจะได้อุปสมบทในสมัยที่เป็นโอกาสอันดีงามเช่นนี้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะจำต้องพระราชทานให้กาฬุมายีตามที่ทูลขอด้วยความเสียดาย หากแต่ดีพระทัยว่า กาฬุทายีอำมาตย์จะได้ทูลอัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สมประสงค์
ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์ พร้อมด้วยบริวารเดินทางมาถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยบริวาร แล้วทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุด้วยกันทั้งสิ้น
เมื่อพระกาฬุทายีเถระเจ้าบวชแล้วได้ ๘ วัน ก็พอสิ้นเหมันตฤดู จะย่างขึ้นฤดูคิมหันต์ ถึงวันผคุณมาสปุรณมี คือ วันเพ็ญเดือน ๔ พอดีพระเถระเจ้ากาฬุทายีจึงดำริว่า พรุ่งนี้ก็เป็นเวลาย่างเข้าฤดูร้อน บรรดาเหล่าชาวกสิกรทั้งหลายก็เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ มรรคาที่จะเสด็จไปสู่นครกบิลพัสดุ์ก็สะดวกสบาย พฤกษาชาติก็เกิดเรียรายอยู่ริมทางก็ให้ความร่มเย็นเป็นอย่างดี สมควรที่พระชินศรีบรมศาสดาจะเสด็จดำเนินไปกรุงกบิลพัสดุ์ แสดงธรรมโปรดพระมหากษัตริย์สุทโธทนะ พระพุทธบิดา ตลอดพระบรมวงศานุวงศ์ศากยราช
ดำริแล้วพระเถระเจ้าก็เข้าเฝ้าพระบรมโลกนาถยังพระคันธกุฎี ทูลสรรเสริญมรรคาทางไปกบิลพัสดุ์บุรี เป็นสุขวิถีทางดำเนินสะดวกสบายตลอดมรรคา ยามเมื่อแสงแดดแผดกล้า ก็มีร่มไม้ได้พักร้อนเป็นที่รื่นรมย์ตลอดระยะทาง ๖๐ โยชน์ หากพระองค์จะทรงบำเพ็ญปรหิตประโยชน์ โปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์นคร ก็จะเป็นที่สำราญพระกายไม่ต้องรีบร้อนยามเสด็จพระพุทธลีลา ตลอดพระสงฆ์สาวกที่จะติดตามพระบาทา ก็จะไม่ลำบากด้วยน้ำท่าและกระยาหาร ด้วยตามระยะทางมีโคจรคามเป็นที่ภิกษาจารตลอดสาย อนึ่ง พระบรมชนกนาถก็มีพระทัยมุ่งหมาย ใคร่จะได้ประสบพบพระองค์ ตลอดพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด หากพระองค์จะทรงพระกรุณาเสด็จไปให้สมมโนรถของพระชนกนาถ ตลอดทั่วพระประยูรญาติศากยวงศ์ แล้วประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงที่กบิลพัสดุ์บุรี ก็จะเป็นเกียรติเป็นศรีแก่พระพุทธศาสนา นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ปวงมหาชน เป็นศิริมงคลแก่อนุชนคนภายหลังชั่วกาลนาน ข้าพระองค์ขออัญเชิญพระพิชิตมารเสด็จสู่กบิลพัสดุ์บุรี โปรดพระชนกและพระประยูรญาติให้ปิติยินดีในคราวนี้เถิด
เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับสุนทรกถา ที่กาฬุทายีเถระเจ้ากราบทูลพรรณนา รวม ๖๔ คาถา วิจิตรพิสดาร ก็ทรงตรัสสาธุการแก่พระกาฬุทายี ตรัสว่า " ตถาคตจะเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์บุรี ตามคำของท่าน ณ กาลบัดนี้ ฉะนั้นท่านจงแจ้งข่าวแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย ให้ตระเตรียมการเดินทางไกล ตามตถาคตประสงค์ที่จะเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์บุรี
เมื่อพระกาฬุทายีออกมาประกาศให้มวลพระสงฆ์ ที่มาสันนิบาตอยู่พร้อมหน้าให้ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว บรรดาพระสงฆ์ขีณาสพทุก ๆ องค์ ก็เตรียมบาตรจีวร มาสโมสรรอเสด็จพระบรมศาสดาตามวันเวลาที่กำหนด
ครั้นได้เวลาพระบรมศาสดาจารย์พร้อมด้วยพระสงฆ์ขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นประมาณ เสด็จดำเนินไปยังกบิลพัสดุ์นคร เสด็จโดยมิได้รีบร้อนตามสบาย ประมาณระยะทางเดินได้วันละ ๑ โยชน์พอดี ฝ่ายพระกาฬุทายีได้ส่งข่าวเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์ ของพระชินศรีสัมพุทธเจ้าแด่พระเจ้าสุทโธทนะบรมกษัตริย์ ท้าวเธอได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสเบิกบาน แจ้งข่าวสารแก่มวลพระประยูรญาติทั้งศากยราช และโกลิยะวงศ์ ในเทวทหะนคร
พระญาติทั้งสองฝ่ายได้มาสโมสรประชุมกันต้อนรับที่กบิลพัสดุ์บุรี ด้วยความปิติยินดีเกษมสานต์ ได้ร่วมกำลังสร้างนิโครธมหาวิหาร พร้อมด้วยเสนาสนะและพระคันธกุฎิ เพื่อรับรองพระชินศรีและพระสงฆ์สาวกพุทธบริษัท เป็นสถานที่งดงามและเงียบสงัดควรแก่สมณะวิสัยเป็นอย่างดี
ครั้นสมเด็จพระชินศรี พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จถึงกบิลพัสดุ์นคร บรรดาพระประยูรญาติที่มาสโมสรต้อนรับอยู่ทั่วหน้า มีพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เป็นประธาน ต่างแสดงออกซึ่งความเบิกบานตามแก่วิสัย แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าไปประทับยังพระนิโครธารามพระมหาวิหาร พระบรมศาสดาจารย์ก็เสด็จขึ้นประทับบนพระบวรพุทธอาสน์ บรรดาพระสงฆ์ ๒ หมื่นต่างก็ขึ้นนั่งบนเสนาสนะอันมโหฬาร ดูงามตระการ ปรากฏ สมเกียรติศากยบุตรพุทธชิโนรสบรรดามี
ครั้งนั้น บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลาย มีมานะทิฏฐิอันกล้า นึกละอายใจไม่อาจน้อมประณมหัตถ์ถวายนมัสการพระบรมศาสดาได้ ด้วยดำริว่า " พระสิตธัตถะกุมาร มีอายุยังอ่อน ไม่สมควรแก่ชุลีกรนมัสการ จึงจัดให้พระประยูรญาติราชกุมาร ที่พระชนมายุน้อยคราวน้อง คราวบุตร หลาน ออกไปนั่งอยู่ข้างหน้า เพื่อจะได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา ซึ่งเห็นว่าควรแก่วิสัย ส่วนพระประยูรญาติผู้ใหญ่พากันประทับ นั่งอยู่เบื้องหลังเหล่าพระราชกุมาร ไม่ประณมหัตถ์ ไม่นมัสการ หรือคารวะแต่ประการใด ด้วยมานะจิตคิดในใจว่าตนแก่กว่า ไม่ควรจะวันทาพระสิตธัตถะกุมาร "
เมื่อพระบรมศาสดาจารย์ได้ทรงประสบเหตุ ทรงพระประสงค์จะให้เกิดสลดจิต คิดสังเวชแก่พระประยูรญาติ ที่มีมานะจิตคิดมมังการ จึงทรงสำแดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศ ให้ปรากฏประหนึ่งว่าละอองธุลีบาทได้หล่นลงตรงเศียรเกล้า แห่งพระประยูรญาติทั้งหลาย ด้วยพุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์
ครานั้น พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช พระพุทธบิดา ได้ทรงเห็นปาฏิหาริย์เป็น มหัศจรรย์ จึงประณมหัตถ์ถวายนมัสการแล้วกราบทูลว่า
" ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แต่กาลก่อน เมื่อพระองค์ทรงประสูติใหม่ได้ ๑ วัน หม่อมฉันให้พระพี่เลี้ยงนำมาเพื่อนมัสการพระกาลเทวิลดาบส พระองค์ก็ทรงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏขึ้นไปอยู่บนชฎาพระกาลเทวิลอาจารย์ แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ได้ถวายนมัสการเป็นปฐม ต่อมางานพระราชพิธีนิยม ประกอบการวัปปมงคลแรกนาขวัญ พระพี่เลี้ยงนางนมได้นำพระองค์ประทับบรรทมใต้ร่มไม้หว้า ครั้นเวลาบ่าย เงาไม้ก็ไม่ได้ชายไปตามตะวัน เป็นปาฏิหาริย์ที่มหัศจรรย์ได้ปรากฏ แม้ครั้งนั้นหม่อมฉันก็ได้ประณตนมัสการเป็นคำรบสอง ควรแก่การสดุดี รวมเป็นสามครั้งกับครั้งนี้ ที่หม่อมฉันได้อัญชลีนมัสการ "
เมื่อสุดสิ้นพระราชบรรหารแห่งพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช บรรดาเหล่าพระประยูรญาติสิ้นทั้งหมด ก็พากันยอกรประณตอภิวาทพระบรมศาสดา ด้วยคารวะเป็นอันดี
ต่อนั้น พระมหามุนีบรมสุคตเจ้า ก็เสด็จลงจากอากาศ ประทับนั่งลงบนพระพุทธอาสน์ในท่ามกลางพระบรมประยูรญาติสมาคม เป็นที่ชื่นชมโสมนัส สุดจะประมาณด้วยบุญญาภินิหารพระโลกนาถ ขณะนั้น มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในอากาศ บันดาลหยาดฝนโบกขรพรรษให้ตกลงในที่พระขัติยะประยูรวงศ์ประชุมกัน น้ำฝนโบกขรพรรษนั้น มีสีแดงหลั่งไหลเสียงสนั่นลั่นออกไปไกล เหมือนเสียงสายฝนธรรมดา ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกาย จึงจะเปียกกาย ถ้าไม่ปรารถนาแล้ว แม้แต่เม็ดหนึ่งก็มิได้เปียกตัว เหมือนหยาดน้ำตกลงในใบบัว แล้วก็กลิ้งตกลงไปมิได้ติดอยู่ให้เปียก ดังนั้น จึงได้นามขนานขานเรียกว่า " ฝนโบกขรพรรษ " เป็นมหัศจรรย์
ครั้งนั้น พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ชวนกันพิศวง ต่างองค์ก็สนทนาว่า มิได้เคยเห็นมาแต่ก่อนกาล พระองค์จึงมีพุทธบรรหารตรัสว่า
" ฝนโบกขรพรรษนี้ มิใช่จะตกในที่ชุมนุมพระประยูรญาติในครั้งนี้เท่านั้น ก็หาไม่ ในอดีตสมัย เมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดร บรมโพธิสัตว์ ฝนโบกขรพรรษก็เคยได้ตกลงในที่ชุมนุมพระประยูรญาติเหมือนครั้งนี้ "
แล้วสมเด็จพระมหามุนีจึงได้ทรงพระแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ยอยกพระมหาบารมีทาน เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระประยูรญาติก็ถวายนมัสการทูลลากลับพระราชนิเวศน์หมดด้วยกัน ไม่มีใครเฉลียวจิตคิดถึงวันยามอรุณรุ่งพรุ่งนี้ ว่าสมเด็จพระชินศรีและพระสงฆ์จะทรงเสวยบิณฑบาตที่ใด จึงไม่มีใครทูลอาราธนาให้เสด็จไปเสวยภัตตาหารในเคหะสถานของตน ๆ ในกบิลพัสดุ์บุรี




ตอนที่ ๓๗ โปรดพระพุทธบิดา


ครั้นสิ้นสมัยราตรีรุ่งเช้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จด้วยพระขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นบริวาร ทรงบาตรดำเนินภิกษาจารตามท้องถนนในกบิลพัสดุ์นคร ขณะนั้น มหาชนที่สัญจรในถนน ตลอดไปถึงทุก ๆ คน ทุกบ้านช่อง ต่างก็จ้องดูด้วยความเลื่อมใสและประหลาดใจระคนกันว่า ไฉนพระผู้เป็นเจ้าสิทธัตถะกุมารจึงนำพระสงฆ์เที่ยวภิกษาจารด้วยอาการเช่นนี้ แล้วก็โจษจันกันอึงทั่วพระนคร
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบก็ตกพระทัย รีบเสด็จลงจากพระราชนิเวศน์ เสด็จพระราชดำเนินไปหยุดยืนเฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดาแล้วทูลว่า
" ไฉนพระองค์จึงทรงทำให้หม่อมฉันได้รับความอัปยศ โดยเที่ยวภิกษาจารเช่นนี้ "
สมเด็จพระชินสีห์จึงตรัสตอบว่า
" ดูกรพระราชสมภาร อันการเที่ยวบิณฑบาตนี้ เป็นจารีตประเพณีของตถาคต "
" ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อันบรรดากษัตริย์ขัตติยสมมติวงค์องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเที่ยวบิณฑบาตเช่นนี้ยังจะมีอยู่ ณ ที่ใด ประเพณีของหม่อมฉันไม่เคยมีแต่ครั้งไหนในก่อนกาล "
" ดูกรพระราชสมภาร นับแต่ตถาคตได้บรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว ก็สิ้นสุดสมมติขัตติวงศ์ เริ่มประดิษฐานพุทธวงศ์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ ดังนั้น การเที่ยวบิณฑบาตจึงเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า ตลอดพระภิกษุสงฆ์ที่สืบสายพุทธวงศ์ชั่วนิรันดร "
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว จึงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงรับบาตรของพระบรมศาสดา ทูลอาราธนาให้เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ทรงอังคาสด้วยอาหารบิณฑบาตอันประณีต
วันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาต ในพระราชนิเวศน์เป็นวันที่สอง ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีและพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระนางมหาปชาบดีได้บรรลุ โสดาปัตติผล พระพุทธบิดาได้บรรลุ สกทาคามีผล
วันรุ่งขึ้นอีก พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาต ใ นพระราชนิเวศน์เป็นวันที่สาม ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสเทศนามหาธรรมปาลชาดกโปรดพระพุทธบิดา ให้สำเร็จพระอนาคามีผล




ตอนที่ ๓๘ โปรดพระนางพิมพาเทวี


พระเจ้าสุทโธนะกราบทูลว่า
" ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระนางพิมพาเทวี เป็นชนปทกัลยาณี มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ สุดจะหาสตรีที่ใดเสมอได้ นับแต่พระองค์เสด็จจากพระนครไป สิ่งอันใดที่ก่อให้เกิดราคี เสื่อมศรีเสียเกียรติยศแล้ว พระนางจะห่างไกลไม่กระทำ เฝ้าแต่รำพันถึงคุณสมบัติของพระองค์ แล้วก็โศกเศร้าอาดูร มิได้ใส่ใจถ่อยคำของผู้ใดจะช่วยแนะนำให้บรรเทาความเศร้าโศก ไม่สนใจในการตกแต่งกายทุกอย่าง เลิกเครื่องสำอางทุกชนิด เมื่อได้ทราบว่าพระองค์ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ พระนางก็จัดหาผ้ากาสาวพัสตร์มาใช้ตามพระองค์ตลอดจนทุกวันนี้ ได้ทราบข่าวว่าพระองค์อดพระกระยาหาร ทรมานกาย พระนางก็พอใจอดพระกระยาหารตามเสด็จตลอดเวลา จะหาสตรีที่มีความจงรักภักดีเช่นนี้ เห็นสุดหา "
" อนึ่ง นับแต่พระองค์เสด็จมาสู่พระราชนิเวศน์เข้า ๓ วันนี้ พระนางพิมพาก็มิได้มาเฝ้า เศร้าโศกอยู่แต่ในห้องผทม
ตั้งใจอยู่ว่าพระองค์คงจะเสด็จเข้าไปหายังห้องที่เคยเสด็จประทับในกาลก่อน หากพระองค์จะไม่เสด็จไปยังห้องของพระนางแล้ว พระนางคงจะเสียพระทัยถึงแก่วายชีวิตเป็นแน่แท้ หม่อมฉันขออาราธนาพระองค์เสด็จไปโปรดพระนางพิมพาเทวี ขอให้ทรงพระกรุณาประทานชีวิตแก่พระนางผู้มีความจงรักภักดีในครั้งนี้ด้วยเถิด "
พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า
" ดูกรพระราชสมภาร อันพระนางพิมพาเทวีมารดาราหุลกุมาร มีความจงรักภักดีต่อตถาคต สมจริงดังพระองค์รับสั่งทุกประการ และก็สมควรที่ตถาคตจะไปอนุเคราะห์พระนางให้สมมโนรถ เพื่อบรรเทาความเศร้าโศก ให้ได้รับความสดชื่น สุขใจ ในอมตธรรมตามควรแก่วาสนา ด้วยพระนางมีคุณแก่ตถาคตมามากยิ่งนัก ในอดีตกาล ได้ช่วยตถาคตบำเพ็ญมหาทานบารมีมากกว่าแสนชาติ "
ครั้นแล้วก็รับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายรออยู่ที่ปราสาทราชนิเวศน์ ให้ตามเสด็จแต่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ อัครสาวก ๒ องค์ เป็นปัจฉาสมณะ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปยังปราสาทของพระนางพิมพาเทวี พลางมีพระวาจารับสั่งแก่อัครสาวกว่า
" พระมารดาราหุลนี้ มีคุณแก่ตถาคตเป็นอันมาก ผิว่านางจะจับบาทตถาคตลูบคลำสัมผัส และโศกเศร้าอาดูรพิลาปร่ำไห้ ด้วยกำลังเสน่หา ท่านทั้งสองอย่าได้ห้ามปราม ปล่อยตามอัธยาศัย ให้พระนางพิไรรำพันปริเวทนาจนกว่าจะสิ้นโศก ผิว่าไปห้ามเข้า นางก็ยิ่งเพิ่มความเศร้าเสียพระทัยถึงชีวิต ไม่ทันได้สดับพระธรรมเทศนา ตถาคตยังเป็นหนี้พิมพามิได้เปลื้องปลด จะได้แทนทดใช้หนี้แก่พิมพาในกาลบัดนี้"
ครั้นตรัสบอกอัครสาวกทั้งสองแล้ว ก็เสด็จพระพุทธลีลาเข้าไปในห้องแห่งประสาท ขึ้นสถิตบนรัตนบัลลังก์อาสน์อันงามวิจิตร
ฝ่ายนางสนมทั้งหลาย ครั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่บนปราสาท จึงรีบไปทูลความแด่พระนางพิมพาว่า
" บัดนี้ พระสิทธัตถะราชสวามีของพระนางเจ้า ได้เสด็จมาประทับยังห้องแห่งปราสาทของพระนางแล้ว "
เมื่อพระนางพิมพาเทวีทรงสดับ ก็ลุกจากที่ประทับ จูงหัตถ์พระราหุล ราชโอรสกลั้นความกำสรดโศก แล้วก็เสด็จคลานออกจากพระทวารสถานที่สิริไสยาสน์ ตรงเข้ากอดบาทพระบรมศาสดา แล้วซบพระเศียรลงถวายนมัสการ พลางทรงพิลาปกราบทูลสารว่า
" โทษกระหม่อมฉันนี้มีมาก เพราะเป็นหญิงกาลกิณี พระองค์จึงเสด็จหนีให้อาดูรด้วยเสน่หา แต่เวลายังดรุณภาพ พระองค์มิได้ตรัสบอกให้ทราบ แสร้งทรงสละข้าพระบาทไว้ไม่มีอาลัย ดุจก้อนเขฬะบนปลายพระชิวหา อันถ่มออกจากพระโอฐมิได้โปรดปราน เสด็จบำราศร้างจากนิวาสน์สถานไปบรรพชา ถึงมาตรว่า ข้าพระบาทพิมพานี้มีโทษแล้ว ส่วนลูกแก้วราหุลราชกุมาร เพิ่งประสูติจากพระครรภ์ในวันนั้น ยังมิทันได้รู้ผิดชอบประการใด นั้นมีโทษสิ่งไรด้วยเล่า พระผ่านเกล้าจึงแกล้งทอดทิ้งไว้ให้ร้างพระปิตุรงค์"
" ประการหนึ่ง ข้าพระบาทของพระองค์นี้ โหราจารย์ญาณเมธีได้ทำนายไว้แต่ยังเยาว์วัยว่า ยโสธราพิมพาราชกุมารี มีบุญญาธิการใหญ่ยิ่ง ควรเป็นมิ่งมเหษีอดุลกษัตริย์จักรพรรดิราช คำทำนายนั้นก็เคลื่อนคลาดเพี้ยนผิด พิมพากลับวิปริตเป็นหญิงหม้ายชายร้างสิ้นราคา "
เมื่อพระนางพิมพาเทวีปริเวทนามาฉะนี้ แล้วก็กลิ้งเกลือกพระอุตมางคโมลีเหนือหลังพระบาทพระศาสดา ดูเป็นที่เวทนา
ส่วนสมเด็จพระพุทธบิดา ก็ได้กราบทูลพรรณนาถึงความดีของพระนางพิมพาเทวีศรีสะใภ้ว่า
" จะหาสตรีคนใดเสมอได้ยากยิ่ง มีความจงรักภักดีต่อพระองค์จริงประจักษ์ตา ทราบว่าพระองค์ผทมเหนือพื้นพสุธา พระนางก็ประพฤติตามเสด็จ โดยผทมยังภาคพื้นเมทนีดล ครั้นทราบว่า พระองค์เว้นเครื่องสุคนธ์ลูบไล้ ตลอดดอกไม้บุบผชาติ พระนางก็เว้นขาดจากเครื่องประดับทุกประการ ทั้งเครื่องลูบไล้สุมามาลย์ก็เลิกหมด เฝ้าแต่รันทดถึงพระองค์อยู่ไม่ขาด แม้บรรดาพระประยูรญาติของพระนาง ในเทวหะนคร ส่งข่าวสารมาทูลวอนว่า จะรับกลับไปบำรุงเลี้ยงรักษาปฏิบัติ พระนางก็บอกปัด มิได้เล็งแลดูหมู่กษัตริย์ศากยะวงศ์พระองค์ใด ตั้งพระทัยภักดีมีสัตย์ซื่อเสน่หาเฉพาะพระองค์ดำรงมา ดังพรรณนามาฉะนี้"
เมื่อพระชินสีห์ได้ทรงเสวนาการ จึงมีพระพุทธบรรหารดำรัสว่า
" ดูกรบรมบพิตร พระนางพิมพาเทวี จะได้มีจิตจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อสามีแต่ในชาตินี้เท่านั้น ก็หาไม่ พระมารดาราหุลนี้นั้น น้ำใจเป็นหนึ่งแน่ไม่แปรผันในสวามี แม้ในอดีตกาล ครั้งเสวยชาติเป็นเดรัจฉานกินนรี ก็มีจิตจงรักภักดีเลิศคุณดิลก "
แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงจันทกินนรชาดกโดยพิสดาร บันเทาความโศกเศร้าปริเวทนาการของพระนางพิมพาให้เสื่อมหายคลายกำสรด เสมือนหนึ่งหลั่งน้ำอมตรสลงตรงดวงจิตของพระนาง ซึ่งเร่าร้อนด้วยเพลิงพิษคือกิเลสให้พลันดับ กลับให้ความสดชื่นเกษมสานต์
ส่วนพระนางพิมพาราชกัญญา ครั้นสร่างโศกสิ้นทุกข์ มีใจผ่องแผ่ว เบิกบาน ตั้งพระทัยสดับพระธรรมที่พระศาสดาทรงพระกรุณาประทานสืบไป ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาทพระศาสดา ด้วยความทราบซึ้งในพระมหากรุณา ที่ทรงอุตสาห์เสด็จมาประทานชีวิตให้สดชื่นรื่นรมย์ ทั้งประทานอมตธรรมให้ชื่นชม สมกับที่พระนางได้จงรักภักดีตั้งแต่ต้นมา
แล้วสมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จพระพุทธลีลา พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๒ หมื่น เสด็จคืนสู่พระนิโครธมหาวิหาร





ตอนที่ ๓๙
นันทกุมารออกบวช



วันที่ ๔ พระบรมศาสดาเสด็จไปรับบิณฑบาต ในนิเวศน์ของพระนันทราชกุมารผู้เป็นพุทธอนุชา ซึ่งประสูติแต่พระนางมหาปชาบดี โคตมี ในงานวิวาหมงคลของนันทกุมารเอง ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ก็ประทานบาตรให้นันทกุมารถือไว้ มีพระดำรัสตรัสมงคลคาถาแก่สมาคม เสร็จแล้วก็เสด็จลุกจากอาสน์ ลงจากนิเวศน์ แต่มิได้ทรงรับบาตรจากนันทกุมาร แม้นันทกุมารก็ไม่กล้าทูลเตือนให้ทรงรับบาตรคืนไป คงทรงดำเนินตามเสด็จลงมา ด้วยดำริอยู่ว่า เมื่อเสด็จถึงพื้นล่างแล้ว คงทรงรับไป
ครั้นพระศาสดาไม่ทรงรับคืนไป ก็ดำริอีกว่า ถึงหน้าพระลานคงจะทรงรับ หรือไม่ก็ถึงพระทวารวัง ก็คงจะทรงรับไป ครั้นสองแห่งไม่ทรงรับ นันทกุมารก็ต้องจำใจถือตามเสด็จต่อไปอีก ไม่อาจทูลเตือนได้ แล้วก็ดำริต่อไปใหม่ตามทางเสด็จว่า เมื่อถึงตรงนั้น ๆ แล้ว คงจะทรงรับบาตรคืนไป
ฝ่ายนางชนปทกัลยาณี ผู้เป็นเทวีคู่อภิเษก ได้ทราบจากนางสนมว่า พระชินสีห์พานันทกุมารไปเสียแล้ว ก็ตกพระทัย ทรงกรรแสง รีบแล่นตามมาโดยเร็ว แล้วร้องทูลว่า
" ข้าแต่นันทะพระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบทรงเสด็จกลับมาโดยด่วน "
นันทกุมารได้สดับเสียงก็สะดุ้งด้วยความอาลัย ใคร่จะกลับ แต่กลับไม่ได้ ด้วยเกรงพระทัยพระบรมศาสดา ต้องฝืนใจอุ้มบาตรตามพระบรมศาสดาไปจนถึงนิโครธมหาวิหาร ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงพระคันธกุฎีแล้วก็ทรงรับสั่งว่า
" นันทกุมาร จงบรรพชาเสียเถิด "
นันทกุมารไม่อาจทูลขัดพระพุทธบัญชาได้ ด้วยความเคารพยิ่ง ก็จำใจทูลว่า
" จะบวช "
แล้วก็ทรงโปรดประทานอุปสมบทให้นันทกุมารในวันนั้น




ตอนที่ ๔๐ ราหุลบรรพชา



ครั้นวันที่ ๗ พระนางพิมพาเทวีประดับองค์ราหุลกุมารด้วยอาภรณ์อันวิจิตร ให้ราชบุรุษพาเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อทูลขอขุมทอง ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติอันราหุลกุมาร เป็นทายาทควรจะได้รับเป็นสมบัติสืบสันตติวงค์
พระศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปพระวิหาร แล้วโปรดให้พระสารีบุตรจัดการบรรพชาราหุลกุมารเป็นสามเณร
พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ ก็โทมนัสเสียพระทัย ด้วยเดิมนั้นทรงประสงค์จะให้นันทกุมาร พระโอรถองค์ที่ ๒ สืบราชสมบัติ พระบรมศาสดาก็ทรงพาไปอุปสมบทเสีย ท้าวเธอก็ทรงหวังว่า จะให้ราหุลกุมารซึ่งเป็นทายาท สืบราชสมบัติต่อไป ซึ่งเป็นความหวังครั้งสุดท้าย แต่แล้วพระบรมศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปให้บรรพชาเสียอีก จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระวิหาร แล้วทูลขอประทานพระพุทธานุญาตว่า
" แต่นี้ต่อไปเมื่อหน้า กุลบุตรผู้ใดแม้ประสงค์จะบวช หากมารดาบิดาไม่ยอมพร้อมใจอนุญาตให้บวชแล้ว ขอให้ทรงงดไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้นั้น "

พระบรมศาสดาก็ทรงประทานแก่พระพุทธบิดา แล้วถวายพระพรอำลา พาพระนันทและราหุลสามเณร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริษัท เสด็จนิวัตตนาการกลับกรุงราชคฤห์มหานคร.




ตอนที่ ๔๑ ถวายพระเชตวันวิหาร



ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐี ผู้อยู่ในเมืองสาวัตถี มาที่พระนครราชคฤห์ด้วยธุระกิจอย่างหนึ่ง พักอยู่ที่นิเวศน์ของท่านราชคฤห์เศรษฐี ผู้เป็นน้องชายแห่งภริยาของท่าน ได้ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุโสดาปัตติผล แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาให้เสด็จประกาศพระพุทธศาสนายังนครสาวัตถี พร้อมกับกราบทูลว่า จะจัดสร้างพระวิหารถวายให้เป็นสังฆาราม
ครั้นพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว ท่านอนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐีก็รีบล่วงหน้าไป บริจาคทรัพย์ซื้อที่ดิน อันเป็นอุทยานของพระราชกุมาร พระนามว่า " เชต " โดยวิธีให้คนขนเอาเงินมาลาดลงให้เต็มบนพื้นที่นั้นตามสัญญา สิ้นเงิน ๒๗ โกฏิ ทั้งพระราชกุมารเจ้าของที่ให้สัญญาขอให้จารึกพระนามของพระองค์ว่า " เชตวัน " ติดไว้ที่ซุ้มประตูพระอาราม ซึ่งเป็นส่วนของพระองค์สร้างอีกด้วย
ท่านมหาเศรษฐีได้บริจาคทรัพย์สร้างพระคันธกุฎีและเสนาสนะ อันควร แก่ สมณะวิสัย พร้อมหมดทุกอย่างด้วยอำนาจเงินอีก ๒๗ โกฎิ
เมื่อพระเชตวันวิหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทูลอัญเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมาจำพรรษา สมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จมาสถิตยังพระมหาวิหารเชตวัน ในความอุปถัมภ์บำรุงของพุทธบริษัท มีท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี เป็นประมุข พระศาสดาและพระสงฆ์ ได้รับความสุขตามควรแก่วิสัย ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัททั้งหลายให้เลื่อมใส มั่นอยู่ในคุณพระรัตนตรัยเป็นอันมาก.
ครั้งนั้น พระนันทะ พุทธอนุชา เกิดความกระสันต์เป็นทุกข์ใจ ด้วยไม่มีความเลื่อมใสในการบรรพชา ครั้นพระบรมศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้มาเฝ้าแล้วตรัสถาม พระนันทะทูลความว่า ตนมีจิตกำหนัดคำนึงถึงนางชนปทกัลยาณี ลำดับนั้น พระชินสีห์จึงทรงจูงกรของพระอนุชา สำแดงอิทธานุภาพพาพระนันทะขึ้นไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก บันดาลให้เห็นแม่วานรตัวหนึ่งในระหว่างทาง แล้วทรงพาขึ้นไปบันดานให้เห็นนางเทพอัปสรกัญญา ซึ่งมีกายงามวิจิตรเจริญตา กำลังดำเนินขึ้นไปเฝ้าท้าวสหัสสนัยยังเทพวิมาน จึงตรัสถามว่า
" นันทะ นางชนปทกัลยาณีที่เธอมีใจรัญจวนถึงนั้น กับนางอัปสรเหล่านี้ นางไหนจะงามกว่ากัน "
พระนันทะกราบทูลว่า
" ข้าแต่พระผู้มีพระภาค จะเอานางชนปทกัลยาณี มาเปรียบกับนางฟ้านั้นผิดกันไกล นางชนปทกัลยาณีหากจะเปรียบเทียบก็ได้เท่ากับแม่วานรในระหว่างทางเท่านั้น "
" นันทะ ผิว่าเธอยินดีรักใคร่นางฟ้าทั้งหลายนี้ ตถาคตรับรองจะช่วยให้ได้นางฟ้าสำเร็จตามความปรารถนาของเธอ "
" ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม ถ้าพระองค์จะทรงพระกรุณาช่วยให้ข้าพระองค์ได้นางฟ้านี้สมความปรารถนาแล้วไซร้ ข้าพระองค์ยินดีจะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ไม่รัญจวนจิตคิดออกไป "
พระบรมศาสดาตรัสว่า
" นันทะ ตถาคตรับรอง "
แล้วก็ทรงพาพระนันทะอันตรธารจากเทวโลก มาปรากฏ ณ พระเชตวัน
ครั้งนั้น บรรดาภิกษุที่เป็นเพื่อนพระนันทะทราบเหตุ ต่างก็พากันพูดเคาะพระนันทะว่า
" ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนางฟ้า โดยมีพระบรมศาสดาเป็นผู้รับรองจะสงเคราะห์ให ้"
พระนันทะคิดละอายใจ จึงหลีกออกไปอยู่ในที่สงัด บำเพ็ญสมณธรรมแต่ผู้เดียว ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล.




ตอนที่ ๔๒ ศากยะราช ๖ พระองค์ออกบวช



วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังมหาชนบท ประทับอยู่ที่อนุปิยะอัมพวันใกล้บ้านอนุปิยะมลานิคม แขวงเมืองพาราณสี ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะ ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา เข้าไปหาพระอนุรุทธะ ผู้เป็นอนุชา ทรงปรารภว่า
" ในตระกูลเรา ยังไม่มีใครออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย ฉะนั้น ในเราสองคน คือ อนุรุทธะกับพี่ จะต้องออกบวชคนหนึ่ง พี่จะให้อนุรุทธะเลือกเอา อนุรุทธะจะบวชหรือจะให้พี่บวช "
เนื่องจากพระอนุรุทธะ เป็นพระโอรสพระองค์เล็ก ของพระเจ้าอมิโตทนะ พระมารดารักมาก ทั้งเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีบุญมาก ได้รับความรักใคร่เมตตาปราณีจากพระญาติทั้งหลายเป็นอันมาก ดังนั้น อนุรุทธะกุมารจึงทูลว่า
" หม่อมฉันบวชไม่ได้ดอก ขอให้เจ้าพี่บวชเถอะ "
พระมหานามะจึงรับสั่งว่า
" ถ้าอนุรุทธจะอยู่ ก็ต้องศึกษาเรื่องการครองเรือน เรื่องบำรุงวงศ์ตระกูลให้จงดี"
และพระมหานามะ ก็ถวายคำแนะนำการครองชีพด้วยกสิกรรม ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ อนุรุทธะกุมารก็ฟังแล้วทรงระอาในการงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อกันไปไม่รู้สิ้น จึงรับสั่งว่า
" ถ้าเช่นนั้น ให้เจ้าพี่อยู่เถอะ หม่อมฉันจะบวชเอง รำคาญที่จะต้องไปวุ่นอยู่กับงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อไม่รู้สิ้น "
รับสั่งแล้วก็ลาพระมารดาขออนุญาตบรรพชาตามพระบรมศาสดา พระมารดาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง ภายหลังทรงอนุญาตเป็นนัยว่า
" ถ้าพระภัททิยะราชกุมาร ผู้เป็นโอรสของพระนางกาฬีโคธาศากยะวงศ์ ผู้เป็นเพื่อนเล่นที่สนิทสนมของพ่อจะออกบรรพชา พ่อจะบรรพชาด้วยก็ตามเถิด "
พระอนุรุทธะก็ไปชวนพระภัททิยะ ให้ออกบวชด้วยกัน แต่วิงวอนชวนอยู่ถึง ๗ วัน พระภัททิยะจึงยินยอมปฎิญญาว่าจะบวชด้วย
ในกาลนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ คือ พระภัททิยะ ๑ พระอนุรุทธะ ๑ พระอานนท์ ๑ พระภัคคุ ๑ พระกิมพิละ ๑ พระเทวทัต ๑ ได้พร้อมใจกันจะออกบรรพชา และชวน อุบาลีอำมาตย์ (ช่างกัลบก) ๑ เป็น ๗ ด้วยกัน เดินทางไปสู่มลรัฐชนบทเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยะอัมพวัน ถวายอภิวาทแล้ว ขอประทานบรรพชาอุปสมบท
แต่ก่อนที่พระบรมศาสดาจะทรงประทานบรรพชา พระอนุรุทธะได้กราบทูลว่า
" ข้าแต่ผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เป็นกษัตริย์ สูงด้วยขัตติยะมานะอันกล้า ขอให้พระองค์ประทานบรรพชาแก่อุบาลี อำมาตย์ ผู้รับใช้สอยติดตาม ของมวลข้าพระองค์ก่อน ให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรพชาต่อภายหลัง จะได้คารวะ ไหว้นบ เคารพนับถืออุบาลี ผู้บวชแล้วก่อน บรรเทาขัตติยะมานะให้บางเบาจากสันดาน "
พระบรมศาสดาจึงได้ประทานอุปสมบทแก่อุบาลี กัลบกก่อน แล้วจึงประทานอุปสมบทแก่ ๖ กษัตริย์ในภายหลัง
พระภัททิยะ นั้น ได้สำเร็จไตรวิชา พระอรหัตตผลในพรรษานั้น
พระอนุรุทธะ ได้บรรลุทิพพจักษุญาณ ก่อน ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนา มหาปุริสวิตักสูตร จึงสำเร็จพระอรหัตตผล
พระอานนท์ นั้น ได้บรรลุอริยะผลเพียงพระโสดาบัน
พระภัคคุ และ พระกิมพิละ เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุพระอรหัตตผล
ส่วนพระเทวทัตนั้น ได้ บรรลุปุถุชนฤทธิ์ อันเป็นของโลกิยะบุคคล
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปประทับ ณ เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น ลาภสักการะบังเกิดแก่พระองค์กับทั้งภิกษุสงฆ์สาวกเป็นอันมาก คนทั้งหลายถือสักการะ มีจีวร บิณฑบาต เภสัช อัฎฐบาน เป็นต้น เข้ามาสู่วิหาร ถวายแก่พระสงฆ์สาวกเป็นเนืองนิตย์ ส่วนมากทุก ๆ คนที่มา ย่อมถามถึงแต่พระอัครสาวกทั้งสอง และพระสาวกองค์อื่น ๆ ว่า ท่านอยู่ ณ ที่ใด แล้วพากันไปเคารพนบไหว้สักการบูชา ไม่มีใครถามถึงพระเทวทัตแม้แต่ผู้เดียว
พระเทวทัตเกิดความโทมนัสน้อยใจ ตามวิสัยของปุถุชน จำพวกที่มากด้วยความอิจฉา ฤษยา คิดว่า เราเป็นกษัตริย์ศากยะราชสกุลเหมือนกัน ออกบรรพชากับด้วยกษัตริย์ขัตติวงศ์นั้น ๆ แต่ไม่มีใครนับถือ ถามหา น่าน้อยใจ
เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็เกิดตัณหาในลาภสักการะ เข้าครอบงำจิต คิดใคร่จะได้ลาภสักการะ สัมมานะ เคารพนับถือ แล้วก็คิดต่อไปว่า เราจะทำบุคคลผู้ใดให้เลื่อมใส กราบไหว้บูชาดีหนอ จึงจะบังเกิดลาภสักการะ
ครั้นคิดต่อไปก็มองเห็นอุบายทันทีว่า พระอชาตศัตรูราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารนั้น ยังทรงพระเยาว์ ยังไม่รอบรู้คุณและโทษแห่งบุคคลใด ๆ ควรจะไปคบหาด้วยพระราชกุมารนั้นเถิด ลาภสักการะก็จะพลันบังเกิดเป็นอันมาก
ครั้นดำริดังนั้นแล้ว ก็หลีกจากเมืองโกสัมพีไปสู่เมืองราชคฤห์ แล้วนิรมิตกายเป็นกุมารน้อย เอาอสรพิษ ๔ ตัว ทำเป็นอาภรณ์ประดับมือและเท้า ขดทำเป็นเทริดบนศีรษะ ๑ ตัว ทำเป็นสังวาลพันกาย ๑ ตัว สำแดงปาฏิหาริย์ปุถุชนฤทธิ์ของตนเหาะไปยังพระราชนิเวศน์ ลอยลงจากอากาศ ปรากฏกายอยู่เฉพาะหน้าพระอชาตศัตรูราชกุมาร ครั้นพระราชกุมารตกพระทัยกลัว ก็ทูลว่า
" อาตมา คือพระเทวทัต "
แล้วเจรจาเล้าโลมให้พระราชกุมารหายกลัว สำแดงกายเป็นพระทรงไตรจีวรและบาตร ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระราชกุมาร เมื่อพระราชกุมารเห็นปาฏิหาริย์เช่นนั้น ก็ทรงเลื่อมใส เคารพนับถือ ถวายลาภสักการบูชาเป็นอันมาก
ภายหลัง พระเทวทัตเกิดบาปจิตคิดใฝ่สูง ด้วยอำนาจตัณหา มานะครอบงำจิตคิดผิดไปว่า เราสมควรจะเป็นผู้ครองพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง พอดำริดังนั้น ปุถุชนฤทธิ์ของตนก็เสื่อมสูญพร้อมกับจิตตุบาท
ครั้นคิดดังนั้นแล้ว ก็เดินทางมาเฝ้าพระพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร ณ เมืองราชคฤห์ ในเวลาที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่มวลพุทธบริษัท ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารมหาราชประทับเป็นประธานอยู่ เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเทวทัตได้กราบทูลว่า
" ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้พระองค์ทรงชราภาพแล้ว จงเสวยทิฎฐธรรมสุขวิหารสำราญพระกมล มีความขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จะรับภาระธุระช่วยว่ากล่าวครอบครองภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ขอพระองค์จงมอบเวรพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งสิ้นให้แก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะได้ว่ากล่าวสั่งสอนแทนพระองค์สืบไป "
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับ จึงตรัสห้ามว่า " ไม่ควร " ไม่ทรงอนุญาตให้เป็นไปตามความปรารถนาของพระเทวทัต พระเทวทัตก็โทมนัส ผูกอาฆาตในพระบรมศาสดา จำเดิมแต่นั้นมา
พระบรมศาสดาได้ทรงประกาศความประพฤติอันไม่ดีอันไม่งามของพระเทวทัต ซึ่งเกิดขึ้นด้วยจิตลามกให้พระสงฆ์ทั้งหลายทราบ เพื่อให้ภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ จะได้สังวรระวังจิตมิให้วิปริตไปตาม
ต่อมาพระเทวทัตคิดการใหญ่ ปรารถนาจะทำอันตรายแก่พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปเฝ้าพระอชาตศัตรูราชกุมาร แล้วด้วยอุบายทูลว่าแต่ก่อนมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืน บัดนี้อายุของมนุษย์น้อยถอยลง หากพระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อนพระราชบิดา แต่เวลายังหนุ่มอยู่แล้ว ไฉนพระองค์จะได้รับราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยพระราชสมบัติสมดังพระทัยที่ปรารถนาไว้เล่า ฉะนั้นพระองค์จงปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดา จัดการสถาปนาพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติเสียตั้งแต่บัดนี้เถิด แม้อาตมาก็จะฆ่าพระสมณะโคดมเสีย จะได้เป็นพระบรมศาสดา ปกครองพระสงฆ์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน



ตอนที่ ๔๓  พระเจ้าอชาตศัตรู ปลงพระชนม์พระบิดา


เมื่อพระอชาตศัตรูราชกุมาร ยังเยาว์พระวัย พระทัยเบา หลงเชื่อถ้อยคำของพระเทวทัต จึงทำปิตุฆาต ปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์พระเจ้าพิมพิสาร พระชนกนาถ ให้อภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สำเร็จดังปรารถนา
พระเทวทัตได้พยายามทำร้ายพระบรมศาสดา โดยคบคิดกับพระเจ้าอชาติศัตรูเป็นการใหญ่
ครั้งที่หนึ่ง ได้ใช้ให้นายขมังธนูทั้งหลาย เข้าไปทำอันตรายยิงพระบรมศาสดา แต่นายขมังธนูกลับมีจิตศรัทธา สดับพระธรรมเทศนา ให้บรรลุโสดาปัตติผลด้วยกันทั้งสิ้น
พระเทวทัตกลิ้งศิลาทำร้ายพระพุทธเจ้า
พระเทวทัตลอบขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฎ กลิ้งก้อนหินศิลาใหญ่ลงมาหวังจะให้ประหารพระบรมศาสดา ขณะเสด็จขึ้นถึง สะเก็ดศิลาได้กระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ที่พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นนาถะของโลก เป็นพระบรมครูของเทพยดาและมวลมนุษย์ ต้องประสบอันตรายถึงเสียพระโลหิตจากพระกาย เพราะพระเทวทัตกระทำอนันตริยกรรมพุทธโลหิตุบาท




ตอนที่ ๔๔ พระเทวทัตทำสังฆเภท


พระเทวทัต ปล่อยช้างนาฬาคีรี
พระเทวทัตให้ปล่อยช้างนาฬาคีรี ช้างพระที่นั่งกำลังซับมันดุร้าย เพื่อให้ทำอันตรายพระชนม์ชีพพระบรมศาสดา ในเวลาเสด็จออกบิณฑบาต แต่ช้างนาฬาคีรีก็ไม่ทำร้ายพระองค์ ครั้งนั้น พระอานนท์เถระเจ้า มากด้วยความกตัญญู สละชีวิตถวายเป็นพุทธบูชา โดยกลัวว่าช้างนาฬาคีรีจะทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ออกไปยืนกั้นหน้าช้างนาฬาคีรีไว้ เพื่อให้ช้างทำลายชีวิตท่าน ปรารถนาจะป้องกันพระบรมศาสดา
ในทันใดนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงช้างนาฬาคีรีให้หมดพยศอันร้ายกาจ หมอบยอบกายเข้าไปถวายบังคมพระบรมศาสดา ฟังพระบรมศาสดาตรัสสอน แล้วเดินกลับเข้าสู่โรงช้าง ด้วยอาการอันสงบ ปรากฏแก่มหาชนที่ประชุมกันดูอยู่เป็นอันมาก เป็นมหัศจรรย์
ครั้นพระผู้มีพระภาค พาพระสงฆ์เสด็จกลับยังพระเวฬุวันวิหาร มหาชนก็พากันแซ่ซ้องร้องสาธุการ ติดตามไปยังพระเวฬุวันวิหาร จัดมหาทานถวาย
ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว พระบรมศาสดาได้ตรัสอนุปุพพิกกถา อนุโมทนาเมื่อได้ทรงสดับคำพรรณนาถึงคุณของพระอานนท์เถระเจ้า ที่ได้สละชีวิตออกไปยืนกั้นช้างนาฬาคีรี สมเด็จพระชินสีห์ จึงประทานพระธรรมเทศนามหังสชาดก และจุลลหังสชาดก ยกคุณของพระอานนท์เถระเจ้าที่ได้สละชีวิตถวายพระองค์ แม้ในอดีตชาติ
แท้จริง การที่พระเทวทัตเกิดมีจิตบาปหยาบช้าลามก ทำร้ายพระบรมศาสดามาก่อนนั้นก็ดี แนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรู ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารก็ดี มิสู้จะปรากฏแพร่หลายนัก ต่อเมื่อปล่อยช้างนาฬาคีรี ให้ประทุษร้ายพระบรมศาสดาครั้งนั้นแล้ว ความชั่วร้ายแต่หนหลังของพระเทวทัตก็ปรากฏทั่วไป ชาวพระนครราชคฤห์พากันโพนทะนากันโกลาหลว่า พระเทวทัตคบคิดด้วยพระเจ้าอชาติศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร ทำร้ายพระสัมมาพุทธเจ้า ทำกรรมชั่วช้าลามกสิ้นดี
ครั้นพระเจ้าอชาติศัตรูได้ทรงสดับข่าวติฉินร้ายแรงเช่นนั้น ก็ละอายพระทัย จึงเลิกโรงทานที่จัดอาหารบำรุงพระเทวทัตและศิษย์เสียสิ้น ทั้งไม่เสด็จไปหาพระเทวทัตเหมือนแต่ก่อน แม้ชาวเมืองทั้งหลายก็ไม่ศรัทธาเลื่อมใส ไม่พอใจให้การบำรุง แม้พระเทวทัตไปสู่บ้านเรือนใด ๆ ก็ไม่มีใครต้อนรับ เพียงแต่อาหารทัพพีหนึ่งก็ไม่ได้ พระเทวทัตได้เสื่อมเสียจากลาภสักการะทั้งปวง
ภายหลัง พระเทวทัตปรารถนาจะเลี้ยงชีพด้วยโกหัญญกรรม การหลอกลวงสืบไป เพื่อจะเเสดงว่าตนเป็นผู้เคร่งครัด ได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ เพื่อให้พระบรมศาสดาบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติโดยเคร่งครัด คือ
ให้อยู่ในเสนาสนะป่า เป็นวัตร
ให้ถือบิณฑบาต เป็นวัตร
ให้ทรงผ้าบังสุกุล เป็นวัตร
ให้อยู่โคนไม้ เป็นวัตร
ให้งดฉันมังสาหาร เป็นวัตร
ในวัตถุทั้ง ๕ ภิกษุรูปใด จะปฏิบัติข้อใด ให้ถือข้อนั้นโดยเคร่งครัด คือให้สมาทานเป็นวัตร ปฏิบัติโดยส่วนเดียว
พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า
" ไม่ควร ควรให้ปฏิบัติได้ตามศรัทธา "
ด้วยทรงเห็นว่า ยากแก่การปฏิบัติ เป็นการเกินพอดีไม่เป็นทางสายกลางสำหรับบุคคลทั่วไป
พระเทวทัตโกรธแค้น ไม่สมประสงค์ กล่าวโทษพระบรมศาสดา ประกาศว่า คำสอนของตนประเสริฐกว่า ทำให้ภิกษุที่บวชใหม่ มีปัญญาน้อยหลงเชื่อ ยอมทำตนเข้าเป็นสาวก ครั้นพระเทวทัตได้ภิกษุยอมเข้าเป็นบริษัทของตนแล้ว ก็พยายามทำสังฆเภท แยกจากพระบรมศาสดา
เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบ ก็โปรดให้หาพระเทวทัตมาเฝ้า รับสั่งถาม พระเทวทัตก็ทูลตามความสัตย์ จึงทรงตรัสพระพุทธโอวาทห้ามปรามว่า
" ดูก่อนเทวทัต ท่านอย่าพึงทำเช่นนั้น อันสังฆเภทนี้เป็นครุกรรมใหญ่หลวงนัก "
พระเทวทัตมิได้เอื้อเฟื้อในพระโอวาท ไปจากที่นั้น พบพระอานนท์ ในพระนครราชคฤห์ ได้บอกความประสงค์ของตนว่า
" ท่านอานนท์ จะเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าเลิกจากพระบรมศาสดา ข้าพเจ้าเลิกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง ข้าพเจ้าจะทำอุโบสถสังฆกรรมเป็นการภายในแต่พวกของเราเท่านั้น"
พระอานนท์ได้นำความนั้นมากราบทูลพระบรมศาสดา เมื่อทรงทราบแล้วก็บังเกิดธรรมสังเวช ทรงพระดำริว่า
" พระเทวทัตจะกระทำอนันตริยกรรม อันจะนำตัวให้ไปทนทุกข์อยู่ในอเวจีมหานรก" แล้วทรงอุทานว่า
...กรรมใดไม่ดีด้วย ไม่เป็นประโยชน์ด้วย กรรมนั้นทำได้ง่าย
ส่วนกรรมใดดีด้วย มีประโยชน์ด้วย กรรมนั้นทำได้ยากยิ่งนัก
ในที่สุด พระเทวทัตก็ประชุมภิกษุ ส่วนมากเป็นชาววัชชี บวชใหม่ ในโรงอุโบสถ ประกาศทำสังฆเภท จักระเภท แยกออกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง แล้วพาภิกษุเหล่านั้นไปยังตำบลคยาสีสะประเทศ
ครั้นพระบรมศาสดาได้ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำรัสให้พระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระ ไปนำภิกษุพวกนั้นกลับ อัครสาวกทั้งสองรับพระบัญชาแล้วไปที่คยาสีสะประเทศนั้น แนะนำพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้น ให้กลับใจด้วยอำนาจเทศนาปาฏิหาริย์และอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ให้ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอมตธรรม แล้วพาภิกษุเหล่านั้นกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา
พระโกกาลิกะ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระเทวทัต มีความโกรธ กล่าวโทษแก่พระเทวทัต ที่ไปคบค้าด้วยพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ให้พระอัครสาวกทั้งสองพาภิกษุทั้งหลายกลับไปหมดสิ้น แล้วประหารพระเทวทัตที่ทรวงอก ด้วยเท้าอย่างแรงด้วยกำลังโทสะ เป็นเหตุให้พระเทวทัตเจ็บปวดอย่างสาหัส ถึงอาเจียนเป็นโลหิต ได้รับทุกข์เวทนากล้า
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จจากพระนครราชคฤห์ ไปประทับยังพระเชตวันวิหารพระนครสาวัตถีแล้ว ต่อมาพระเทวทัตก็อาพาธหนักลง ไม่ทุเลาถึง ๙ เดือน กลับหวนคิดถึงพระบรมศาสดา ใคร่จะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยแน่ใจในชีวิตสังขารของตนคงจะดับสูญในกาลไม่นานนั้นเป็นแน่แท้ จึงได้ขอร้องให้ภิกษุที่เป็นสาวกของตนให้ช่วยพาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ภิกษุพวกนั้นกล่าว
" ท่านอาจารย์เป็นเวรอยู่กับพระบรมศาสดาหนักนัก ข้าพเจ้าทั้งหลาย หาอาจพาไปเฝ้าได้ไม่"
พระเทวทัตจึงกล่าวว่า
" ท่านทั้งปวงอย่าให้เราพินาศฉิบหายเสียเลย แม้เราจะได้ทำเวรอาฆาตในพระผู้มีพระภาค แต่พระผู้มีพระภาคจะได้อาฆาตตอบเราแม้แต่น้อยหนึ่งก็มิได้มี เราจะไปขมาโทษ ขอให้พระองค์อดโทษให้สิ้นโทษ ด้วยน้ำพระทัยพระผู้มีพระภาคเปี่ยมด้วยพระกรุณา ทรงพระการุญในพระเทวทัตก็ดี ในองคุลีมาลโจรก็ดี ในช้างนาฬาคีรีก็ดี ในพระราหุลผู้เป็นพระโอรสก็ดี เสมอกัน "
เหตุนั้น พระเทวทัตจึงขอร้อง วิงวอนแล้ว ๆ เล่า ๆ ให้ภิกษุผู้เป็นศิษย์ ช่วยนำตัวไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.. บรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์มีความสงสาร จึงพร้อมกันยกพระเทวทัตขึ้นนอนบนเตียงแล้วช่วยกันหามมา ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ จนถึงเมืองสาวัตถี ครั้นพระสงฆ์ทั้งหลายรู้ข่าว จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตได้ทำกรรมหนัก ไม่อาจเห็นตถาคตในอัตตภาพนี้ได้เลย "
แม้ภิกษุทั้งหลายจะได้เข้ากราบทูลให้ทรงทราบเป็นระยะ ๆ หลายหน ถึงครั้งสุดท้าย พระเทวทัตได้ถูกหามมาใกล้พระเชตวันวิหารแล้ว พระผู้มีพระภาค ก็ยังทรงรับสั่งเช่นเดิมอยู่อย่างนั้นอีกว่า
" ภิกษุทั้งหลาย แม้พระเทวทัต จะเข้ามาในพระเชตวัน พระเทวทัตก็จะไม่ได้เห็นตถาคตเป็นแน่แท้ "
เมื่ออันเตวาสิกทั้งหลาย หามพระเทวทัตมาถึงสระโบกขรณี ซึ่งอยู่นอกพระเชตวันวิหาร จึงวางเตียงลงในที่ใกล้สระ แล้วก็ชวนลงอาบน้ำในสระนั้น
ส่วนพระเทวทัตก็ลุกขึ้นนั่งอยู่บนเตียง ห้อยเท้าทั้งสองถึงพื้นดิน ประสงค์จะเหยียบยันกายขึ้นบนพื้นปฐพี ในขณะนั้น พื้นปฐพีก็แยกออกเป็นช่อง สูบเอาเท้าทั้งสองของพระเทวทัตลงไปในแผ่นดินโดยลำดับ พระเทวทัตได้จมหายไปในภาคพื้น ตราบเท่าถึงคอ และกระดูกคาง วางอยู่บนพื้นปฐพี
ในเวลานั้น พระเทวทัตได้กล่าวคาถาสรรเสริญบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
" พระผู้มีพระภาค เป็นอัครบุรุษ ยอดแห่งมนุษย์และเทพดาทั้งหลาย พระองค์เป็นสารถีฝึกบุรุษอันประเสริฐ พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยบุญญลักษณ์ถึงร้อย และบริบูรณ์ด้วยสมันตจักษุญาณ หาที่เปรียบมิได้ ข้าพระองค์ขณะนี้ มีเพียงกระดูกคางและศรีษะ กับลมหายใจเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ... "




ตอนที่ ๔๕ พระเทวทัตถูกธรณีสูบ


พอสิ้นเสียงแห่งคำนี้เท่านั้น ร่างพระเทวทัตก็จมหายลงไปในแผ่นพื้นปฐพี ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ด้วยบาปไม่เคารพในพระรัตนตรัย ประทุษร้ายในพระบรมศาสดา ทำสังฆเภทอันเป็นอนันตริยกรรม ข่าวพระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ เป็นข่าวใหญ่เกรียวกราว ได้แพร่สะพัดไปในนครสาวัตถี
ไม่นานก็รู้กันทั่วกรุง โจษจันกันไปทั่วชุมนุมชน ด้วยเพิ่งจะรู้จะได้ยิน เพิ่งจะปรากฎ ผู้หนักในธรรมก็สังเวชสลดใจ คนใจบุญก็สะดุ้งต่อบาป เห็นบาปเป็นภัยใหญ่หลวง คนที่เกลียดชังพระเทวทัต ก็พากันดีใจโลดเต้นสาปแช่ง สมน้ำหน้าพระเทวทัตหนักขึ้น ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
"บัดนี้ พระเทวทัตไปบังเกิดในที่ไหน?"
พระบรมศาสดาตรัสว่า
"ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ภิกษุทั้งหลาย คนทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ เมื่อละจากโลกนี้ไป ก็ย่อมทวีความเดือดร้อนยิ่งขึ้น "
ภายหลัง พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้สึกในความผิดของพระองค์ ทรงเดือดร้อนพระทัย โปรดให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ พาพระองค์เฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งประทับอยู่ที่พระวิหารกลม ในชีวกัมพวนาราม ครั้นสดับพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้วทรงเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นกำลังอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาต่อมา.




ตอนที่ ๔๖ พระพุทธบิดาเสด็จพระนิพพาน


ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กุฎาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครไพศาลี ทรงทราบว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ซึ่งประทับอยู่กบิลพัสดุ์นคร ทรงประชวรหนัก อาศัยที่ทรงสมบูรณ์ด้วยพระกตัญญูกตเวทีตาธรรม จึงเสด็จไปเยี่ยมพระพุทธบิดา พร้อมด้วยพระสาวกเป็นอันมาก ทรงบำเพ็ญปิตุปัฏฐานธรรมถวายการพยาบาลตามพุทธวิสัย
ขณะนั้น พระเจ้าสุทโธทนะ ได้รับการบีบคั้นจากอาพาธกล้า เกิดทุกขเวทนายิ่งนัก มีพระอาการทุรนทุรายหมดสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกพระหัตถ์ ตั้งพระทัยอธิษฐานพระจิตบำบัดโรคาพาธ แล้วทรงลูบลงที่พระเศียรพระเจ้าสุทโธทนะ ขณะนั้นอาพาธกล้าก็ทุเลาลงด้วยพระบารมี
พระอานนท์เถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่พระหัตถ์เบื้องขวา อาพาธข้างขวาก็ทุเลาลง
พระอานนท์เถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่เบื้องซ้าย อาพาธกล้าด้านซ้ายก็เพลาลง
พระราหุลเถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่พระปฤษฎางค์ อาพาธกล้าที่พระกายก็ทุเลาลง
พระเจ้าสุทโธทนะทรงพระสำราญพระกายคลายความทุกข์เวทนาอันสาหัส ทรงลุกขึ้นประทับนั่งถวายบังคมพระบรมศาสดา ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่เสด็จมาทรงอนุเคราะห์
พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา โปรดให้พระพุทธบิดาบรรลุพระอรหัตตผล แต่ด้วยพระเจ้าสุทโธทนะทรงพิจารณาเห็นชนมายุของพระองค์ถึงอวสานสุดสิ้นเพียงนั้นแล้ว ก็ทูลลาพระบรมศาสดาเสด็จนิพพาน และลาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสิ้นด้วยกัน แล้วพระองค์ก็เสด็จนิพพานด้วยอุปปาทิเสสนิพพาน
พระบรมศาสดาทรงเคารพในขัตติยประเพณีนิยม ทรงเป็นประธานอำนวยการพระศพ ในฐานะที่พระองค์เป็นพระโอรส และเป็นพระญาติผู้ใหญ่ จึงโปรดให้พระมหากัสสปเถระเจ้า ไปตรวจดูที่ประดิษฐานจิตรกาธาร เพื่อถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธบิดา และโปรดให้พระสารีบุตรเถระเจ้า เป็นภาระจัดถวายน้ำสรงพระศพพระพุทธบิดา ตามขัตติยประเพณี
เมื่อเจ้าพนักงานอัญเชิญพระศพไปประดิษฐาน ณ พระจิตรกาธารที่จัดถวายสมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์แล้ว บรรดาพระประยูรญาติทั้ง 6 พระนคร คือ เมืองกบิลพัสดุ์ ๑ เมืองเทวทหะ ๑ เมืองโกลิยะ ๑ เมืองสักกะ ๑ เมืองสุปวาสะ ๑ เมืองเวระนคร ๑ ก็ประชุมกันบำเพ็ญกุศลมหายัญ อุทิศถวายด้วยความเคารพ และความอาลัยอย่างยิ่ง
ครั้นได้เวลา พระบรมศาสดาก็ทรงเป็นประธานจุดเพลิงถวายพระศพพระพุทธบิดา บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลายพากันโศกเศร้าพิลาปไห้ ปริเทวนาการ พระบรมศาสดาจารย์ ก็ทรงตรัสธรรมิกถาเล้าโลม ระงับความเศร้าโศกแห่งมหาชนโดยควรแก่อุปนิสัย.




ตอนที่ ๔๗ พระนางประชาบดี โคตมี ออกบวช


ส่วนพระนางมหาปชาบดี มีพระทัยน้อมไปในบรรพชา จึงเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดายังนิโครธาราม ทูลขอบรรพชา พระศาสดาไม่ทรงอนุญาต แม้พระนางเจ้าจะทูลวอนขอถึงสามครั้ง ก็ไม่สมพระประสงค์ ทรงโทมนัส ทรงพระกรรแสง เสด็จกลับพระนิเวศน์
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จกลับไปประทับยังกุฎคารศาลา ป่ามหาวัน ณ พระนครไพศาลีแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยนางกษัตริย์ศากยราชวงค์เป็นอันมาก ที่ยินดีในการบรรพชา ปลงพระเกศา นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ พากันเสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ ไปเมืองไพศาลีด้วยพระบาท ตั้งพระทัยขอประทานบรรพชา ทรงดำเนินไปจนกระถึงกุฎาคารศาลา ประทับยืนกรรแสงอยู่ที่ซุ้มประตูกุฎาคารศาลา ที่พระบรมศาสดาประทับนั้น
ขณะนั้น พระอานนท์ออกมาพบไต่ถาม ทราบความแล้ว ก็รับเป็นภาระนำความกราบทูลขอประทานอุปสมบท ให้พระนางมหาชาบดี
ในครั้งแรก พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า สตรีไม่ควรอุปสมบท
ภายหลังพระอานนท์ทูลถามว่า หากสตรีบวชแล้ว จะสามารถปฎิบัติธรรมได้บรรลุอริยมรรค อริผล โดยควรแก่อุปนิสสัยหรือไม่?
เมื่อพระศาสดาตรัสว่า "สามารถ"
พระอานนท์ก็กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ขอได้ทรงพระกรุณาประทานโอกาสให้พระเจ้าน้า ได้ทรงอุปสมบทเถิด
ทรงรับสั่งว่า
"อานนท์ ผิวะพระนางมหาปชาบดีโคตมี จะทรงรับปฏิบัติครุธรรม ๘ ได้บริบูรณ์ ตถาคตก็อนุญาตให้ได้"
"อานนท์ ครุธรรม ๘ ประการนั้น ดังนี้
๑. ภิกษุณีแม้จะบวชได้ 100 พรรษา ก็พึงให้ทำอัญชลี เคารพนบนอบภิกษุ แม้บวชในวันเดียวนั้น
๒. ภิกษุณีอย่าอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
๓. ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับโอวาท แต่สำนักสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้ว ให้พึงปวารณาในสำนักอุภโตสงฆ์
๕. ภิกษุณี หากต้องอยู่ปริวาสกรรม พึงประพฤติปักขมานัต (คืออยู่มานัตถึงกึ่งเดือน) ในสำนักอุภโตสงฆ์
๖. ภิกษุณี อุปสมบทในสำนักอุภโตสงฆ์ พึงสมาทานซึ่งวัตรปฎิบัติในธรรม ๖ ประการ คือ เว้นจากปาณาติบาต ถึงวิกาลโภชนะ เป็นต้น มิให้ล่วง และศึกษาให้รู้วัตรปฎิบัติต่าง ๆ สิ้นกาลถึงพรรษาเต็ม
๗. ภิกษุณี อย่าพึงด่าบริภาษภิกษุสงฆ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
๘. ภิกษุณี นับแต่วันบรรพชาเป็นต้นไป พึงสดับรับโอวาทของภิกษุกล่าวสั่งสอนฝ่ายเดียว ห้ามโอวาทสั่งสอนภิกษุ ฯ
พระอานนท์เถระ เรียนจำครุธรรม ๘ ประการนั้น จากพระบรมศาสดาแล้ว ก็ออกมาแจ้งพระพุทธบัญชานั้นแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางเจ้าทรงน้อมรับที่จะปฏิบัติด้วยความยินดีทุกประการ พระอานนท์ก็เข้ามากราบทูลพระบรมศาสดาให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงโปรดประทานบรรพชาอุปสมบทแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี กับศากยะขัตติยนารีด้วยกันทั้งสิ้น
ครั้นออกพระวัสสา ปวารณาแล้ว พระบรมศาสดากับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งหลายก็เสด็จจากเมืองไพศาลี ไปพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร ฝ่ายข้างพระนครกบิลพัสดุ์ เมื่อพระนางเจ้ามหาปชาบดีโคตมี ทรงผนวชแล้ว บรรดามหาอำมาตย์และราชปุโรหิตทั้งหลาย ได้ประชุมพร้อมกันยก "เจ้าศากยะมหานาม" โอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอมิโตทนะ พระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติสืบราชสันติวงศ์
ต่อมา พระนางพิมพาเทวี มารดาราหุลกุมาร ก็เข้าเฝ้าพระเจ้ามหานาม ทูลลาออกบรรพชา แล้วทรงพาบรรดาขัตติยนารีทั้งหลาย เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระเชตวันวิหาร ทูลขอประทานบรรพชาอุปสมบท สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานบรรพชาอุปสมบทแก่พระนางเจ้า และบรรดาขัตติยนารีทั้งสิ้น ด้วยครุธรรม ๘ ประการนั้น




ตอนที่ ๔๘ ยมกปฏิหาริย์



ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จจากพระนครไพศาลี มาประทับยังพระเวฬุวันวิหาร ณ พระนครราชคฤห์ อีกวาระหนึ่ง...
เศรษฐีผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ในพระนครราชคฤห์ ได้ไม้จันทร์แดงท่อนใหญ่มาท่อนหนึ่งมีค่ามาก ดำริว่า
บัดนี้ มีมหาชนโจษจันกันทั่วไปว่า ผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้นี้เป็นพระอรหันต์ แม้สมณะก็มีหลายท่าน ที่ประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ เราไม่อาจรู้ได้ว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์ ที่เราควรจะเคารพนบไหว้ แล้วยอมตนเป็นสาวก บัดนี้ เห็นควรจะทดลองให้ปรากฏชัดแก่ตาของเราเอง
จึงให้ช่างไม้กลึงไม้จันทร์แดงท่อนนั้นเป็นบาตร ให้เอาไม้ไผ่มาปักลงที่หน้าเรือน ต่อไม้ไผ่ให้สูงถึง ๑๕ วา แล้วให้เอาบาตรผูกแขวนไว้บนปลายไม้นั้น ให้ประกาศว่า
ถ้าว่า พระอรหันต์มีอยู่ ขอเชิญให้ท่านผู้นั้นจงเหาะมาในอากาศ แล้วถือเอาบาตรไม้จันทร์แดงนี้ตามปรารถนา และข้าพเจ้าพร้อมด้วยบุตรภรรยาจะเคารพนบนอบยอมตนเป็นสาวก นับถือบูชาตลอดชีวิต หากภายใน ๗ วันนี้ ไม่มีผู้ใดที่ทรงคุณ เป็นพระอรหันต์ เหาะมาถือบาตรแล้ว เราจะถือว่า ในโลกนี้ ไม่มีพระอรหันต์ดังที่มหาชนกล่าวขวัญถึงเลย......
ในเวลานั้น ได้มีบุคคลหลายคนที่แสดงตนว่า เป็นพระอรหันต์ ด้วยอุบายต่างๆ และจะขอรับบาตรไป แต่มิได้เหาะไปถือเอาตามประกาศ ท่านเศรษฐีก็ยืนกรานไม่ยอมให้ทุกราย แม้เวลาจะได้ล่วงเลยไปแล้ว ๖ วัน จนเข้าวันที่ ๗ แล้ว ก็ยังไม่ปรากฎว่า มีผู้ใดได้เหาะมาถือเอาบาตรตามประกาศของท่านราชคฤห์เศรษฐีนั้น
ประจวบกับในเช้าวันนั้น ท่านมหาโมคคัลลานะเถระ กับพระปิณโฑลภารทวาชะเถระ ได้ร่วมทางเดินมารับบาตรในพระนครคฤห์ หยุดยืนห่มจีวรอยู่ที่พื้นหินก้อนใหญ่ในภายนอกเมือง พระมหาเถระทั้งสองได้ยินเสียงมหาชนสนทนากันว่า วันนี้เป็นวันที่ ๗ วันสุดท้ายของวันประกาศ ของท่านราชคฤห์เศรษฐีแล้ว ยังไม่ปรากฏว่า มีพระอรหันต์องค์ใด เหาะมาถือบาตรไม้จันทร์แดงไปเลย พระอรหันต์คงจะไม่มีอยู่ในโลกนี้แน่แล้ว วันนี้แหละเราจะได้รู้ทั่วกันว่า ในโลกนี้จะมีพระอรหันต์จริงหรือไม่??
พระมหาโมคคัลลานะเถระได้ปราศรัยกับพระปิณโฑลภารทวาชะเถระว่า
ได้ยินไหมท่าน ? ผู้คนกำลังกล่าวดูหมิ่นพระศาสนา เป็นการเสื่อมเสียถึงเกียรติพระบรมศาสดา ตลอดถึงพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย ฉะนั้น นิมนต์ท่านเหาะไปเอาบาตรไม้จันทร์แดงลูกนั้นเสียเถิด จะได้เปลื้องคำนินทาว่าร้ายนั้นเสีย
เมื่อพระปิณโฑลภารทวาชะเถระ ได้โอกาสจากพระมหาโมคัลลานะผู้เป็นอัครสาวกเช่นนั้นแล้ว ก็เข้าสู่จตุตถฌาน อันเป็นที่ตั้งแห่งอภิญญา ทำอิทธิปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศ กับทั้งแผ่นหินใหญ่ ซึ่งยืนเหยียบอยู่นั้นด้วย เลื่อนลอยไปดุจปุยนุ่นปลิวไปตามสายลม
พระเถระเจ้าเหาะเวียนรอบพระนครราชคฤห์ ปรากฏแก่มหาชนทั่วไป ชนทั้งหลายพากันเอิกเกริกร้องชมปาฏิหาริย์เสียงลั่นสนั่นไป
ครั้นพระมหาเถระเจ้าเหาะเวียนได้ ๗ รอบแล้ว ก็สลัดแผ่นหินที่เหยียบอยู่นั้น ให้ปลิวตกไปยังที่เดิม แล้วเหาะมาลอยอยู่เบื้องบนแห่งเรือนท่านเศรษฐีนั้น......
เมื่อท่านเศรษฐีได้เห็นเช่นนั้น ก็เกิดปีติเลื่อมใสสุดที่จะประมาณ ได้หมอบกราบจนอุระจดถึงพื้น แล้วร้องอาราธนาพระเถระเจ้าให้ลงมาโปรด
เมื่อพระปิณโฑลภารทวาชะเถระลงมานั่งบนอาสนะที่ท่านเศรษฐีได้จัดตกแต่งไว้เป็นอันดีแล้ว ท่านเศรษฐีก็ให้นำบาตรไม้จันทน์แดงนั้นลงมาบรรจุอาหารอันประณีตลงในบาตรนั้นจนเต็ม แล้วน้อมถวายพระเถระเจ้าด้วยคารวะอันสูง พระเถระเจ้ารับบาตรแล้ว ก็บ่ายหน้ากลับยังวิหาร..
ฝ่ายชนทั้งหลายที่ไปธุระกิจในที่อื่นเสีย กลับมาไม่ทันได้เห็นปาฏิหาริย์นั้น ก็รีบพากันติดตามพระเถระเจ้าไปเป็นอันมาก ร้องขอให้ท่านเมตตาแสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ให้ชมบ้าง พระเถระเจ้าก็แสดงปาฏิหาริย์ให้ชนทั้งหลายนั้นชมตามปรารถนา แล้วไปสู่วิหาร
พระบรมศาสดาได้ทรงสดับเสียงมหาชนอื้ออึง ติดตามพระปีณโฑภาระทวาชะมาเช่นนั้น จึงตรัสถามพระอานนท์ว่า
" เสียงอะไร "
พระอานนท์ก็กราบทูลให้ทรงทราบ จึงรับสั่งให้หาพระปิณโฑลภารทวาชะเถระมาถาม ครั้นทรงทราบความแล้ว ก็ทรงตำหนิว่า เป็นการไม่สมควร แล้วโปรดให้ทำลายบาตรไม้จันทน์แดงนั้น ย่อยให้เป็นจุณ แจกพระสงฆ์ทั้งหลายบดให้เป็นโอสถใส่จักษุ ทั้งทรงบัญญัติห้ามสาวกทำปาฏิหาริย์สืบไป
ฝ่ายเดียรถีย์ทั้งหลายได้ทราบเหตุนั้นแล้ว ก็พากันดีใจ คิดเห็นไปว่า ตนได้โอกาสจะยกตนแล้ว ก็ให้เที่ยวประกาศว่า
" เราจะทำปาฏิหาริย์แข่งฤทธิ์กับพระสมณะโคดม
ครั้นพระเจ้าอชาตศัตรูราชทรงสดับข่าวเช่นนั้น ก็เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลถามว่า
" ได้ทราบว่า พระองค์ทรงบัญญัติห้ามพระสาวกทำปาฏิหาริย์หรือประการใด ? "
เมื่อพระบรมศาสดาทรงรับว่า
"ดูกร มหาบพิตร เป็นจริงอย่างที่ทรงทราบ "
พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทูลต่อไปอีกว่า
"บัดนี้ พวกเดียรถีย์ กำลังเตรียมการทำปาฏิหาริย์ พระองค์จะทำประการใด?"
"ดูกรมหาบพิตร ทรงรับสั่ง ถ้าเดียรถีย์ทำปาฏิหาริย์ ตถาคตก็จะทำบ้าง"
"ข้าแต่พระสุคต ก็พระองค์ทรงบัญญัติห้ามทำปาฏิหาริย์แล้ว มิใช่หรือ?"
"จริงอย่างมหาบพิตรรับสั่ง แต่ตถาคตห้ามเฉพาะพระสาวกเท่านั้น หาได้ห้ามการทำของตถาคตเองไม่"
"ข้าแต่พระบรมครู พระองค์ทรงบัญญัติห้ามผู้อื่น แต่พระองค์เว้นไว้เช่นนั้นหรือ"
"...ดูกรมหาบพิตร ผิฉะนั้น ตถาคตจะถามพระองค์บ้าง พระราชอุทยานของมหาบพิตรทั้งหลายนั้น ถ้าคนทั้งหลายมาบริโภคผลไม้ต่าง ๆ มีผลมะม่วง เป็นต้น ในพระราชอุทยานนั้น พระองค์จะทำอันใดแก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น "
"ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ก็จะให้ลงทัณฑ์แก่คนเหล่านั้น "
"ดูกรมหาบพิตร ผิวะพระองค์เสวยผลไม้ ในพระราชอุทยานนั้นเล่า ควรจะได้รับอาชญาหรือไม่ ประการใด? "
"ข้าแต่พระบรมครู ข้าพระองค์เป็นเจ้าของ บริโภคได้ ไม่มีโทษ "
"ดูก่อนมหาบพิตร ตถาคตก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน เหตุนั้น ตถาคตจึงจะทำยมกปาฏิหาริย์ เยี่ยงอย่างพุทธประเพณีสืบมา "
พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทูลถามว่า
" เมื่อใด พระองค์จะทรงทำปาฏิหาริย์ "
" นับแต่นี้ไปอีก ๔ เดือน ถึงวันเพ็ญอาสาฬหมาส เดือน ๘ ตถาคตจึงจะทำปาฏิหาริย์"
" พระองค์จะทรงทำ ณ สถานที่ใด พระเจ้าข้า "
" ดูกรมหาบพิตร ตถาคตจะทำปาฏิหาริย์ ณ ที่ใกล้พระนครสาวัตถี "
ครั้นเดียรถีย์ทั้งหลายได้ทราบข่าวนั้น ก็เตรียมพร้อมที่จะติดตามไปทำปาฏิหาริย์ ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมกับประกาศให้มหาชนทราบด้วยว่า พระสมณะโคดมจะหนีเราไปทำปาฏิหาริย์ ณ เมืองสาวัตถี เราทั้งหลายจะพากันติดตาม ไม่ยอมให้หนีไปให้พ้น
ส่วนพระบรมศาสดาเสด็จกลับจากบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์แล้ว ก็เสด็จพระพุทธดำเดินไปพระนครสาวัตถี โดยลำดับแห่งมรรคา ด้วยความสบายไม่รีบร้อน ประทับพักแรมตามระยะทาง แม้เหล่าเดียรถีย์ทั้งหลายก็พากันติดตามพระบรมศาสดาจนถึงพระนครสาวัตถี
ครั้นถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้จัดสร้างมณฑป ประกาศแก่ชาวเมืองว่า จะทำปาฏิหาริย์ที่มณฑปนั้น
ครั้งนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ทรงทราบข่าวว่า พระบรมศาสดา เสด็จมาประทับยังพระเชตวันวิหารแล้ว จึงเสด็จออกมาเฝ้าแล้วกราบทูลว่า
" บัดนี้ เหล่าเดียรถีย์จัดทำมณฑป เพื่อแสดงปาฏิหาริย์ หม่อมฉันจะทำมณฑปถวาย เพื่อเป็นที่แสดงปาฏิหาริย์"
ครั้นพระบรมศาสดาทรงห้าม ก็ทูลถามว่า
"พระองค์จะทรงทำปาฏิหาริย์ ณ สถานที่ใด? "
พระบรมศาสดาตรัสว่า
" ตถาคตจะทำปาฏิหาริย์ ณ ที่ใกล้ร่มไม้คัณฑามพพฤกษ์ (ไม้มะม่วง) "
เมื่อเดียรถีย์ได้ล่วงรู้ข่าวนั้นแล้ว ก็ให้จัดการทำลายบรรดาต้นมะม่วงในบริเวณนั้นทั้งสิ้น แม้แต่เมล็ดมะม่วงที่เพิ่งงอกขึ้น ก็มิให้มี เพื่อมิให้เป็นโอกาสแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทำปาฏิหาริย์ ดังพระวาจาที่ทรงรับสั่งแก่พระเจ้าปัสเสนทิโกศล
ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๘ เวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ยังมิทันจะถึงพระนคร ขณะนั้น นายอุทยานบาล ชื่อว่า คัณฑะผู้รักษาสวนหลวง ได้เห็นผลมะม่วงผลใหญ่ผลหนึ่ง สุกอยู่บนต้น มีกิ่งใบบังอยู่ มดแดงตอมอยู่โดยรอบ กาก็กำลังจ้องจะเข้าจิกกิน นายคัณฑะดีใจจึงไล่กาให้บินหนีไปแล้ว สอยผลมะม่วงสุกนั้นลงมา มุ่งจะเอาไปถวายพระเจ้าปัสเสนทิโกศล เดินมาในระหว่างทาง ก็ประจวบพบพระผู้มีพระภาคเจ้า มีศรัทธาเลื่อมใส จึงได้น้อมผลมะม่วงสุกผลนั้นเข้าไปถวายพระบรมศาสดา
ครั้นพระองค์ทรงรับแล้ว ประสงค์จะประทับนั่งเสวยผลมะม่วง ณ ที่ตรงนั้น พระอานนท์เถระเจ้าก็ปูลาดอาสนะถวายตามพระพุทธประสงค์ พร้อมกับเอาผลมะม่วงนั้น ทำเป็นอัมพปานะถวายให้ทรงเสวย...
ครั้นพระบรมศาสดาทรงเสวยอัมพปานะแล้ว จึงรับสั่งให้นายอุทยานบาลนั้นเอาเมล็ดมะม่วงนั้นปลูกที่พื้นดิน ณ ที่ตรงนั้น แล้วพระบรมศาสดาก็ทรงอธิษฐานล้างพระหัตถ์รดเมล็ดมะม่วงนั้น ซึ่งเพิ่งเพาะในขณะนั้น
ด้วยพระพุทธานุภาพ เมล็ดมะม่วงก็เริ่มงอกในทันใดนั้นเอง แล้วเริ่มเกิดเป็นลำต้น แตกใบ แตกกิ่งก้านสาขาโดยลำดับ จนต้นมะม่วงใหญ่สูงได้ ๑๒ วา ๒ ศอก พร้อมกับตกช่อ ออกดอก ออกผล อ่อน แก่ สุก ถึงงอม หล่นตกลงภาคพื้นออกเกลื่อนกล่น มหาชนเดินผ่านมาก็เก็บบริโภค มีรสหวานสนิท ไม่ช้าข่าวมะม่วงพิเศษ ซึ่งเป็นของอัศจรรย์ก็แพร่ไปทั่วพระนคร ประชาชนก็พากันสัญจรหลั่งไหลมาชมเป็นอันมาก สุดที่จะประมาณ
ลำดับนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศล จึงโปรดให้จัดรักษาต้นมะม่วง ตลอดที่ในบริเวณนั้น ป้องกันมิให้ใครเข้ามาทำอันตราย
คนทั้งหลายมาชมแล้ว บ้างก็เก็บกินตามประสงค์ แล้วชวนกันด่าแช่งเหล่าเดียรถีย์ว่า เป็นคนชั่วช้า มีเจตนาร้าย จ้างให้คนทำลายต้นมะม่วง แม้แต่เมล็ดงอกก็ไม่ให้เหลือ เพื่อจะมิให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทำปาฏิหาริย์ให้สมจริงดังพระวาจา
บัดนี้ คัณฑามพพฤกษ์เกิดขึ้นเป็นลำดับสูงใหญ่ยิ่งกว่าที่เคยเห็นมาแต่กาลก่อนแล้วพวกเจ้าจะว่าประการใด
บางคนที่คนองกาย ก็เอาเมล็ดมะม่วงขว้างเดียรถีย์ เย้ยหยันให้ได้อาย
ในเวลาเที่ยงวันนั้นเอง ท้าวสักกะอมรินทราธิราชได้บันดาลให้เกิดพายุใหญ่พัดเป็นธุลีรอบบริเวณนั้น พัดมณฑปของเดียรถีย์ทำลายลงสิ้น ทั้งบันดาลให้ฝนลูกเห็บใหญ่ตกถูกเดียรถีย์ทั้งหลาย ไม่สามารถจะทนทานอยู่ได้ ต้องพากันหนีไปจากที่นั้นสิ้น ปูรณกัสสปหัวหน้าเดียรถีย์ทั้งหลาย ได้รับความอับอาย น้อยใจเป็นที่สุด ได้ใช้เชือกผูกหม้อข้าวยาคูพันเข้ากับคอของตนแล้วกระโดดลงแม่น้ำ ทำลายชีวิตตนเองเสีย
ครั้นเพลาบ่าย ประชาชนทั้งหลายได้มาประชุมกัน ณ บริเวณรอบต้นคัณฑามพพฤกษ์เป็นอันมาก
จึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เพื่อทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ประทับยืน ณ ที่หน้าพระวิหาร ขณะนั้น พระสาวกและสาวิกาทั้งหลายที่มีฤทธิ์ ต่างก็เข้าเฝ้า ขอประทานโอกาสทำปาฏิหาริย์ถวาย พระบรมศาสดาไม่ทรงประทาน
ต่อนั้นพระบรมศาสดาก็ทรงเข้าจตุตถฌานอันเป็นที่ตั้งแห่งอภิญญา ทรงทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศ เสด็จดำเนินไปมา ณ พื้นรัตนจงกรม แล้วทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตเหมือนพระองค์ขึ้นองค์หนึ่ง แสดงอิริยาบถให้ปรากฏสลับกับพระองค์ คือพระองค์เสด็จประทับยืน พระพุทธนิรมิตเสด็จนั่ง พระองค์ประทับนั่ง พระพุทธนิมิตประทับยืน ทุก ๆ อิริยาบถสลับกัน บางทีพระพุทธนิมิตตรัสถาม พระองค์ตรัสตอบ พระองค์ตรัสถามบ้าง พระพุทธนิมิตตอบบ้าง
ในที่สุดทรงทำปาฏิหาริย์ให้เกิดท่อน้ำ ท่อไฟ พวยพุ่งออกจากพระกายเป็นคู่ ๆ รอบ ๆ พระกาย เป็นสาย ๆ ไม่ระคนกันสว่างงามจับท้องฟ้านภากาศ เป็นมหาอัศจรรย์ยิ่งนัก
...ครั้งนั้น เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ประชุมกันชมพระพุทธปาฏิหาริย์มากมายสุดที่จะคณนา พระบรมศาสดาทรงทำปาฏิหาริย์แล้ว ก็ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทที่สันนิบาตประชุมกันอยู่ในที่นั้น ในเวลาจบพระธรรมเทศนา พุทธบริษัททั้งเทพดาและมนุษย์ ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นอันมาก




ตอนที่ ๔๙ โปรดพุทธมารดา


ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพระดำริว่า
"พระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนนั้น หลังจากทรงทำยมกปาฏิหาริย์แล้ว เสด็จไปจำพรรษา ณ ที่ใด ? "
ครั้นทรงทราบด้วยพระอตีตังสนาญาณว่า
"พระพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ปางก่อน ทุก ๆ พระองค์ เมื่อได้ทรงทำยมกปาฏิหาริย์แล้ว ย่อมเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์สุราลัยเทวโลก แสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดา สนองพระคุณด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม อันบริบูรณ์อยู่ในพระหฤทัย "
แล้วทรงดำริสืบไปว่า แม้พระองค์ก็จะทรงปฎิบัติเช่นนั้น ก็แหละครั้นทรงดำริแล้ว ในขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จลุกจากรัตนบัลลังก์อันตั้งอยู่เหนือยอดคัณฑามพพฤกษ์
เสด็จขึ้นไปประทับนั่งบนปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ภายใต้ร่มไม้ปาริชาติ ณ ดาวดึงส์สวรรค์เทวโลก
ในลำดับนั้น ท้าวสหัสสนัยน์เทวราช ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จขึ้นมาประทับยังเทวโลกสถาน ก็ทรงเกษมสานต์โสมนัส ประณมหัตถ์ถวายอภิวาท แล้วก็ขอประทานโอกาสออกไปประกาศให้เทพดาทั้งหลายทุกชั้นฟ้า มาสันนิบาตประชุมกันเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า รอบพระแท่นปัณฑุกัมพลพุทธอาสน์ เพื่อสดับรับพระธรรมเทศนา
ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประสงค์จะให้พระพุทธมารดาเสด็จมาสู่ที่ประชุมเทพดานั้น ครั้นมิได้ทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสถามท้าวโกสีย์ว่า พระพุทธมารดาของตถาคตอยู่ ณ ที่ใด ? เมื่อท้าวสักกะทราบถึงพระพุทธอัธยาศัยเช่นนั้น จึงได้ทูลลาขึ้นไปดุสิตเทวภพ เข้าเฝ้าพระมหามายาเทพเจ้า ทูลอัญเชิญให้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามพุทธประสงค์
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทอดพระเนตรเห็นพระพุทธมารดา เสด็จมาประทับในเทวสมาคมเช่นนั้นแล้ว ก็ทรงโสมนัส ตรัสอัญเชิญให้เสด็จมาในที่ใกล้ แล้วทรงประกาศซึ่งพระคุณของพระมารดา อันยิ่งใหญ่ไพศาลสุดจะคณนา ให้ปรากฏในเทวสมาคม
ในลำดับนั้น ก็ทรงแสดงอภิธรรม ๗ พระคัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดาตลอดไตรมาส ให้เทพดาในโลกธาตุที่ประชุมฟังธรรมอยู่ในที่นั้น ได้บรรลุมรรคผลสุดที่จะประมาณ ในอวสานกาลเป็นที่จบคัมภีร์มหาปัฎฐาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ ๗ พระมหามายาเทวี พระพุทธมารดาได้บรรลุพระโสดาปัตติผล สมพระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ได้ทรงตั้งพระทัยเสด็จขึ้นมาสนองคุณพระพุทธมารดา





ตอนที่ ๕๐ เสด็จลงจากดาวดึงส์


กาลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์แล้ว เสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ เทวโลกดาวดึงส์สถานโดยฉับพลัน ครั้งนั้น มหาชนที่มาประชุมกันชมปาฏิหาริย์กำลังมีความเบิกบานเลื่อมใส ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปโดยฉับพลันเช่นนั้น ย่อมเป็นเหมือนดังดวงพระอาทิตย์หรือดวงจันทร์หลบหายเข้าไปในผืนแผ่นเมฆอันหนาแน่น มัวมืดลงในทันทีทันใดนั้น ชนทั้งหลายก็เศร้าโศกปริเทวนาการ พากันเข้าไปถาม พระมหาโมคคัลลานะเถระว่า
" พระผู้มีพระภาคเสด็จไปอยู่ที่ใด"
พระมหาโมคคัลลานะเถระ แม้จะรู้ดีอยู่แล้ว แต่เพื่อประกาศเกียรติคุณของพระอนุรุทธเถระ จึงกล่าวว่า
" ขอท่านทั้งหลายไปถามพระอนุรุทธเถระดูเถิด "
คนทั้งหลายเหล่านั้นจึงพากันไปหาพระอนุรุทธเถระ แล้วเรียนถามท่าน
พระเถระเจ้าจึงบอกว่า
" พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในดาวดึงส์เทวโลก เพื่อตรัสพระธรรมเทศนา อภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา "
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ก็เมื่อใดเล่า พระองค์จึงเสด็จลงมา ? "
"ดูก่อนท่านทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้า จะต้องแสดงธรรมแก่ทวยเทพดา ในดาวดึงส์เทวโลก ถึง ๓ เดือน ต่อเมื่อถึงวันมหาปวารณาจึงเสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก "
ชนทั้งหลายจึงกล่าวแก่พระมหาโมคคัลลานะเถระว่า
" ถ้าพวกข้าพเจ้ามิได้เห็นองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จะไม่ไปจากที่นี่"
แล้วก็ชวนกันตั้งทับและชมโรมที่อาศัยตามอัธยาศัยของตน ๆ ตั้งจิตอธิษฐานปาฏิหาริย์อุโบสถ ตลอดไตรมาสเสมอกัน
....แม้จริง ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จขึ้นไปเทวโลก ก็ทรงทราบถึงเหตุการณ์นี้ดีแล้ว ฉะนั้น จึงได้ตรัสสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะเถระ เอาเป็นธุระแสดงธรรม และให้จุลอนาถบิณฑิกะเอาธุระสงเคราะห์ด้วยโภชนาหารแก่มหาชน อันประชุมอยู่ ณ ที่นั้นตลอดเวลา
ครั้นกาลใกล้จะถึงวันปวารณายังอีก ๗ วัน ชนเหล่านั้นจึงพากันไปหาพระมหาโมคคัลลานะเถระ เรียนถามอีกว่า
" พระผู้เป็นเจ้าควรจะกรุณาให้พวกข้าพเจ้าได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคจะเสด็จลง ณ ที่ไหน เมื่อใดแน่ ? หากข้าพเจ้าทั้งหลายมิได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จะไม่ไปจากที่นี่ "
พระมหาโมคคัลลานะเถระกล่าวว่า
"เรื่องนี้จะต้องทูลถามพระบรมศาสดาก่อนจึงจะทราบได้ "
แล้วพระมหาโมคคัลลานะเถระจึงสำแดงปาฏิหาริย์ขึ้นบนเทวโลก เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ทูลถามว่า
" บัดนี้ บริษัททั้งหลายใคร่จะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า หากไม่ได้เห็นแล้ว ก็จะไม่ไปจากที่นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลใดพระเจ้าข้า พระองค์จะเสด็จลงสู่มนุษย์โลก และจะเสด็จลงที่สถานที่ใด ? "
พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า
"โมคคัลลานะ เวลานี้พระสารีบุตรพี่ชายของท่านอยู่ ณ ที่ใดเล่า ? "
"ท่านจำพรรษาอยู่ที่เมืองสังกัสสะนคร พระเจ้าข้า "
" โมคคัลละนะ ถ้าเช่นนั้น ตถาคตจะลง ณ ที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสะนคร ในวันมหาปวารณา นับแต่นี้ไปอีก ๗ วัน โมคคัลลานะ ถ้าชนทั้งหลายใคร่จะเห็นตถาคต ก็จงไปสู่ที่นั้นในเวลานั้นเถิด "
พระมหาโมคคัลลานะเถระรับพระพุทธบัญชาแล้ว ก็ลงมาแจ้งข้อความนั้นแก่ชนทั้งหลาย ผู้ต้องการทราบเรื่องนี้อยู่.......
ครั้นถึงวันปุรณมี แห่งอัสสยุชมาส เพ็ญเดือน ๑๑ พระบรมศาสดาทรงปวารณาพระวัสสาแล้วจึงตรัสบอกแก่ท้าวสักกะเทวราชว่า ตถาคตจะลงไปสู่มนุษย์โลกในวันนี้
ท้าวโกสีย์จึงนิรมิตรบันไดทิพย์ ๓ บันได ลงจากเทวโลก คือบันไดทองอยู่เบื้องขวา บันไดเงินอยู่เบื้องซ้าย บันไดแก้วอยู่ท่ามกลาง เชิงบันใดทั้ง ๓ นั้น ประดิษฐานอยู่ภาคพื้นปฐพีที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสะนคร ศีรษะบันใดเบื้องบนจรดยอดภูเขาสิเนรุราช บันไดแก้วนั้นเป็นที่พระผู้มีพระภาคเสด็จลง บันไดทองเป็นที่เทวดาทั้งหลายตามลงมาส่งเสด็จ บันไดเงินเป็นที่พรหมทั้งหลายตามลงมาส่งเสด็จ
ขณะนั้นเทพดาและพรหมทั้งหลายได้มาประชุมพร้อมกันบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าเต็มทั่วจักรวาล




ตอนที่ ๕๑ โลกวิวรณะปาฏิหาริย์


เทพดาในหมื่นจักวาฬได้มาประชุมกันในจักวาฬนี้ เพื่อชมพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ พร้อมกับสักการะบูชา สมโภชพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยทิพพบุบผามาลัย เป็นอเนกประการ
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับยืนที่ฐานศีรษะบันได ในท่ามกลางเทพพรหมบริษัท ซึ่งแวดล้อมเป็นบริวาร จึงได้ทรงทำ " โลกวิวรณะปาฎิหาริย ์" เปิดโลกโดยอาการทอดพระเนตรไปทิศต่าง ๆ รวมทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างเป็น ๑๐ ทิศด้วยกัน
และในทันใดนั้น ทุกทิศทุกทางจะแลโล่งตลอดหมดไม่มีอันใดกีดบัง เทวดาในสวรรค์จะมองเห็นมนุษย์ และเห็นถึงยมโลก เห็นนรก และมนุษย์ก็จะเห็นเทวดาในสวรรค์ เห็นสัตว์นรก แม้สัตว์นรกก็เห็นมนุษย์ตลอดเทวดาบนสวรรค์ ไม่มีสิ่งใดปิดบัง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์เปิดโลก พร้อมกับเปล่งฉัพพรรณรังสีรัศมี ๖ ประการ เป็นมหาอัศจรรย์
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลก โดยบันใดแก้วมณีมัยในท่ามกลางเทพดาในหมื่นจักวาฬ มีท้าวสักกะ เป็นต้น ลงโดยบันใดทอง สุวรรณมัย ในเบื้องขวา ท้าวสหัมบดีกับหมู่พรหมเป็นอันมาก ลงโดยบันใดเงิน หิรัญญมัย ในเบื้องซ้าย ปัญจสิขรคนธรรพเทพบุตร ทรงพิณมีสีดังผลมะตูมสุก ดีดขับร้องด้วยมธุรศัพท์อันไพรเราะ มาเบื้องหน้าพระบรมศาสดา ท้าวสันตุสิตเทวราช กับท้าวสุยามเทวราช ทรงทิพจามรถวายพระบรมศาดาทั้ง ๒ ข้าง ท้าวมหาพรหมปชาบดีทรงทิพย์เสวตรฉัตรกั้นถวายพระบรมศาสดา ท้าวโกสีย์อมรินทราธิราชประคองบาตรเสลมัยของพระบรมศาสดา เสด็จเป็นมัคคุเทศก์นำพระบรมศาสดาลงมา ในท่ามกลางของทวยเทพดาและพรหมทั้งหลายแวดล้อมเป็นบริวาร
ฝ่ายมหาชนทั้งหลาย ที่ตั้งใจคอยเฝ้าพระบรมศาสดาเสด็จลงจากดาวดึงส์ ในบริเวณสถาน ที่ร่มไม้คัณฑามพพฤกษ์ทั้งหมด เมื่อได้ทราบข่าวจากกพระมหาโมคคัลลานะเถระก็พากันดีใจ พร้อมกันออกเดินทางมาจนถึงเมืองสังกัสสะนคร ไปประชุมกันอยู่ในที่ใกล้ประตูเมือง แม้บรรดาชาวเมืองสังกัสสะนครก็พากันประชุมกันอยู่อย่างคับคั่ง ตลอดพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย อันมีพระสารีบุตรเถระเป็นประธาน ก็สันนิบาตประชุมกันต้อนรับพระบรมศาสดาอยู่ ณ ที่นั้นอย่างพร้อมเพรียง
เมื่อพระบรมศาสดาทรงเสด็จถึงเชิงบันได มหาชนทั้งหลายได้พากันแซ่ซ้องสาธุการเสียงสนั่นหวั่นไหว ด้วยความงามจับอกจับใจอย่างที่ไม่เคยคิดเห็นมาแต่ก่อน แม้แต่พระสารีบุตรพุทธสาวก ก็ยังได้กล่าวคาถาสรรเสริญด้วยความยินดียิ่งว่า
" น เม ทิฏ.โฐ อิโต ปุพ.เพ เป็นอาทิ ความว่า ข้าพระองค์ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อนเลย พระบรมศาสดาซึ่งงดงามด้วยสิริโสภาค ยิ่งกว่าเทพเจ้าทั้งมวล มีพระสุรเสียงอันไพเราะอย่างนี้ เสด็จลงมาจากสวรรค์ "
พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ผู้กำลังมีโสมนัสพึงตาพึงใจ พระรูปพระโฉมอยู่ในท่ามกลางเทพดาและพรหมเป็นอันมาก ในเวลาจบพระธรรมเทศนาพุทธบริษัทได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตั้งแต่เบื้องบนจนเบื้องปลาย คือพระอรหัตผลเป็นอันมาก




ตอนที่ ๕๒ ลำดับพรรษายุกาล


จำเดิมแต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อนุตรภิเศกสัมโพธิญาณ คำนวณพระชนมพรรษาได้ ๓๕ พระวัสสาแล้ว ก็เริ่มบำเพ็ญปรหิตประโยชน์ โปรดเวนัยสัตว์ แต่ปฐมโพธิสัมภาร ในพรรษาแรก เสด็จจำพรรษา ณ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พรรษาหนึ่ง ในพรรษาที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เสด็จจำพรรษาที่พระเวฬุวันวิหาร ณ
พระนคราชคฤห์ รวม ๓ พรรษา ในพรรษาที่ ๕ เสด็จจำพรรษาที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครไพศาลี ในพรรษาที่ ๖ เสด็จจำพรรษาบนมกุฏบรรพต ในพรรษาที่ ๗ เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่บนปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ร่มไม่ปาริชาติในดาวดึงส์เทวโลก แสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา ในพรรษาที่ ๘ เสด็จจำพรรษาที่เภสกลาวัน ป่าไม้สีเสียด
ใกล้กรุงสุงสุมารคีรี ในภัคคราฐ ในพรรษาที่ ๙ เสด็จจำพรรษาที่ปาลิไลยวันสถาน อาศัยกุญชรชาติ ชื่อว่า ปาลิไลยหัตถี ทำวัตรปฏิบัติ ในพรรษาที่ ๑๐ เสด็จจำพรรษาที่บ้านนาลายพราหมณ์ ในพรรษาที่ ๑๑ เสด็จจำพรรษาที่ภายใต้ร่มไม้ปุจิมันทพฤกษ์ ไม้สะเดา อันเป็นรุกขพิมานของนาเฬรุยักษ์ ใกล้พระนครเวรัญชา ในพรรษาที่ ๑๒ เสด็จจำพรรษาอยู่ในปาลิยบรรพต
ในพรรษาที่ ๑๓ เสด็จจำพรรษาที่พระเชตวันวิหาร ณ พระนครไพศาลี ในพรรษที่ ๑๔ เสด็จจำพรรษาที่นิโครธาราม มหาวิหาร ใกล้พระนครกบิลพัศดุ์ อนุเคราะห์ระงับการวิวาทระหว่างพระประยูรญาติทั้งหลาย ทั้งสองพระนคร ในพรรษาที่ ๑๕ เสด็จจำพรรษาที่อัคคาฬวเจดีย์ ใกล้อาฬวีนคร หลังจากทรงทรมานอาฬวกยักษ์ ให้สิ้นพยศแล้ว ในพรรษาที่ ๑๖ ที่ ๑๗ และที่ ๑๘ เสด็จกลับไปจำพรรษาที่เวฬุวันวิหาร ณ
นครราชคฤห์ อีก รวม ๓ พรรษา ในพรรษาที่ ๑๙ ถึงพรรษาที่ ๔๕ รวม ๒๕ พรรษานี้ ทรงจำพรรษาที่พระเชตวันวิหารและบุพพาราม สลับกัน คือประทับที่พระเชตวันวิหาร ของท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีสร้างถวาย ๑๙ พรรษา ประทับที่บุพพาราม ของท่านมหาอุบาสิกา วิสาขา สร้างถวาย ๖ พรรษา ครั้นในพรรษาที่ ๔๕ ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้าย พระบรมศาสดา ทรงจำพรรษา ณ บ้านเวฬุคาม ใกล้พระนครไพศาลี ภายในพรรษาทรงพระประชวรอาพาธหนักครั้งหนึ่ง ทรงเยียวยาบำบัดพระโรคด้วยโอสถ คือ สมาบัติ ครั้นออกพรรษา ทรงทำปวารณากับด้วยพระสงฆ์สาวกทั้งปวง
ได้รับสั่งแก่พระสารีบุตรเถระว่า
" ไม่ช้าแล้วตถาคตก็จะปรินิพพาน ดูกรสารีบุตร ตถาคตจะไปพระนครสาวัตถี "
พระสารีบุตรเถระรับพระบัญชาออกมารับสั่งพระสาวกให้เตรียมการตามเสด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จไปประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร




ตอนที่ ๕๓ พระอัครสาวกปรินิพพาน


ฝ่ายพระสารีบุตรเถระถวายวัตรแก่พระบรมศาสดาแล้ว ถวายบังคมลาไปที่พักในทิวาวิหาร ขึ้นบัลลังก์สมาธิ
เข้าสู่วิมุตติผลสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัติแล้ว พิจารณาดูอายุสังขารตน ก็ทราบชัดว่า ยังดำรงชนมายุอยู่ได้อีก ๗ วันเท่านั้น จึงได้ดำริต่อไปว่า อาตมาจะไปปรินิพพานในสถานที่ใด พระราหุลเถระก็ไปปรินิพพานที่ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในดาวดึงส์เทวโลก พระอัญญาโกญทัญญเถระ ก็ไปปรินิพพานที่ฉัตทันตะสระ ในหิมวันตประเทศ..... ...ต่อนั้น พระเถระเจ้าปรารภถึงมารดาว่า มารดาของอาตมานี้ ได้เป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ แม้อย่างนั้นแล้ว มารดาก็ยังไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ก็อุปนิสัยในมรรคผลจะพึงมีแก่มารดาบ้างหรือไม่หนอ ? ครั้นพระเถระเจ้าพิจารณาไป ก็ทราบชัดว่า มารดามีนิสัยแห่งพระโสดาบัน ด้วยธรรมเทศนาของอาตมา มหาชนเป็นอันมาก จะได้พลอยมีส่วนได้มรรคผลด้วย ควรอาตมาจะไปปรินิพพานที่เรือนมารดาเถิด ครั้นดำริแล้ว พระเถระเจ้าจึงเรียกพระจุนทะเถระ ผู้เป็นน้องชายมาสั่งว่า
" จุนทะ เรามาไปเยี่ยมมารดากันเถิด ท่านจงออกไปบอกภิกษุบริษัททั้ง ๕๐๐ ว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร มีความประสงค์จะไปบ้านนาลันทคาม "
พระจุนทะรับพระบัญชาพระเถระเจ้าแล้ว ออกไปแจ้งแก่พระสงฆ์ทั้งปวง
ครั้นพระสงฆ์ทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว พระสารีบุตรก็พาพระสงฆ์ทั้งปวง ไปเฝ้าพระบรมศาสดายังพระคันธกุฏี กราบทูลว่า
" ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม บัดนี้ ชีวิตของข้าพระองค์เหลือ ๗ วันเท่านั้น เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลาปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
" สารีบุตร เธอจะไปปรินิพพาน ณ ที่ใด ข้าพระองค์จะไปปรินิพพาน ณ ห้องประสูติ ในเคหะสถานของมารดา พระเจ้าข้า สารีบุตร เธอจงกำหนดกาลนั้นโดยควรเถิด "
แล้วทรงรับสั่งต่อไปอีกว่า
" สารีบุตร บรรดาภิกษุทั้งหลายชั้นน้อง ๆ จะเห็นพี่เหมือนอย่างเธอ หาได้ยาก ฉะนั้นเธอจงแสดงธรรมแก่ภิกษุน้อง ๆ ของเธอ เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกสำหรับครั้งนี้ก่อนเถิด"
เมื่อพระเถระเจ้าได้รับประทานโอกาสเช่นนั้น จึงสำแดงปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปในอากาศ สูงประมาณชั่วลำตาล กลับลงมาถวายนมัสการพระบรมศาสดาเสียครั้งหนึ่ง ครั้งที่สองเหาะขึ้นไปสูงได้ ๒ ชั่วลำตาล กลับลงมาถวายนมัสการอีกหนึ่งครั้ง ครั้งที่ ๓ เหาะขึ้นไปถึง ๓ ชั่วลำตาล จนถึงครั้งที่ ๗ เหาะขึ้นไป ๗ ชั่วลำตาล ลอยอยู่บนอากาศ แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายในท่ามกลางอากาศ ขณะนั้น ชาวพระนครสาวัตถีได้มาสโมสรสันนิบาตอยู่เป็นอันมาก แล้วพระเถระเจ้าก็ลงมาจากอากาศ ถวายอภิวาทบังคมลาคลานคล้อยถอยออกมาจากพระคันธกุฏี
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระมหากรุณา เสด็จลุกจากพระพุทธอาสน์ออกมาส่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรถึงหน้าพระคันธกุฏี ประทับยืนอยู่ที่พื้นแก้วมณี หน้าพระคันธกุฏีนั้น
พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ทำประทักษิณพระบรมศาสดา ๓ รอบ แล้วประคองอัญชลีกราบทูลว่า
" ในที่สุดอสงไขยแสนกัลป์ล่วงมาแล้วนั้น ข้าพระองค์ได้หมอบลงแทบบาทมูลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอโนมทัสสี ตั้งปณิธานปรารถนาพบพระองค์ และแล้วมโนรถของข้าพระองค์ ก็พลันได้สำเร็จสมประสงค์ ตั้งแต่ได้เห็นพระองค์เป็นปฐมทัศนะ บัดนี้ เป็นปัจฉิมทัศนะแห่งการได้เห็นพระองค์ ผู้เป็นนาถะของข้าพระองค์แล้ว "
ทูลเพียงเท่านั้นแล้วก็ประนมหัตถ์ถอยหลังบังคมลาออกไป พอควรแล้ว ก็ถวายนมัสการกราบลาลงที่พื้นพสุธา บ่ายหน้าออกไปจากพระเชตวนาราม ..พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
" ภิกษุทั้งหลาย เธอจะตามไปส่งพี่ใหญ่ของเธอ ก็ตามใจเถิด ..ภิกษุทั้งหลายได้พากันไปส่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเป็นอันมาก ครั้นถึงซุ้มประตูพระเชตวนาราม พระเถระเจ้าจึงกล่าวห้ามว่า
" ท่านทั้งหลาย จงหยุดแต่เพียงนี้เถิด "
พร้อมกับได้ให้โอวาท ด้วยวาจาที่นิ่มนวล ควรดื่มไว้ในใจ ให้ตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาทเป็นนิรันดร แล้วพาภิกษุผู้เป็นบริวารพ้นจากเชตวนาราม มุ่งหน้าไปบ้านนาลันทคาม
ในครั้งนั้น ชนทั้งหลายร้องไห้ รำพัน ด้วยความอาลัยในพระเถระเจ้า
ติดตามไปเป็นอันมาก พระเถระเจ้าได้ให้โอวาท ให้เห็นความไม่จีรังของสังขารทั้งหลาย พร้อมกับเตือนใจให้มั่นอยู่ในความไม่ประมาทในอริยธรรมแล้วให้ชนเหล่านั้นพากันกลับไปสิ้น พระเถระเจ้าเดินทางไป ๗ วัน ก็ถึงบ้านนาลันทคาม แคว้นมคธรัฐ ในเวลาเย็น จึงพาภิกษุทั้งหลายพักอยู่ที่ร่มไทรใหญ่ใกล้ประตูบ้าน บังเอิญอุปเรวัตตมานพ หลานชายของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เดินเที่ยวออกมานอกบ้าน เห็นพระเถระเจ้าเข้าก็ดีใจเข้าไปนมัสการ
พระเถระเจ้าถามว่า
" อุปเรวัตต ยายของเธออยู่หรือไปไหน ? "
" อยู่ที่เรือน เจ้าข้า "
อุปเรวัตตเรียนพระเถระเจ้าด้วยเคารพ
" ถ้าเช่นนั้น เธอจงกลับเข้าไปบอกยาย ขอห้องที่ประสูติให้ลุงพัก กับขอให้จัดที่สำหรับพระสงฆ์ ๕๐๐ ที่มานี้พอได้พักอาศัยในวันนี้ด้วย "
...อุปเรวัตตมานพรีบกลับเข้าบ้าน ตรงเข้าไปหานางสารีพราหมณี ผู้เป็นยายด้วยความดีใจ บอกตามคำที่พระเถระเจ้าสั่งมา
"... เวลานี้ลุงของเจ้าอยู่ที่ไหน ? "
" อยู่ที่ประตูบ้านจ้า ยาย "
" เจ้ารู้ไหมว่า ลุงเจ้ามาทำไม ? "
" ไม่ทราบจ้า
นางสารีพราหมณีคิดว่า
" อุปดิส ลูกเรา ขอพักที่ห้องประสูติ เธอบวชมานานแล้ว ชะรอยจะเบื่อบวช มาคราวนี้อาจมาสึกก็ได้ "
คิดแล้วก็ดีใจ สั่งให้คนใช้รีบจัดแจงห้องประสูติแลที่พระสงฆ์ ๕๐๐ พอได้พักอาศัยภายในบ้าน แล้วให้อุปเรวัตตมานพออกไปอาราธนาพระเถระเจ้าให้เข้ามาสู่เรือน พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร พาพระสงฆ์ขึ้นเรือนมารดา ให้พระสงฆ์ทั้งหลายพักอาศัยอยู่ยังที่จัดแจงไว้ภายนอก ส่วนพระเถระเจ้าเข้าไปพักยังภายในห้องประสูตของท่าน พอเวลาค่ำ โรคาพาธกล้าได้เกิดแก่พระมหาเถระ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต พระภิกษุเข้าถวายปฏิบัติ นำภาชนะอาเจียนและภาชนะอาจมออกมาชำระผลัดเปลี่ยนอยู่เนืองๆ นางสารีพราหมณีเป็นทุกข์ใจในการอาพาธของพระมหาเถระเจ้าเป็นอันมาก นั่งคอยดูอยู่ที่ประตูห้อง..
ในค่ำคืนนั้น เทพดาในเทวโลกได้พากันมาเยี่ยมพระเถระเจ้าเป็นอันมาก เริ่มต้นแต่ ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ องค์ ท้าวโกสีย์เทวราช ท้าวสุยามเทวราช และท้าวสันตุสิตเทวราช ตลอดท้าวมหาพรม ต่างเข้ามาขอโอกาสปฏิบัติพยาบาลเช่นเดียวกันโดยลำดับ พระเถระเจ้าให้คำตอบแก่เทพดาทั้งหลายว่า
" ภิกษุคิลานุปัฏฐาก ผู้ปฏิบัติพยาบาลของอาตมามีแล้ว
ขอให้ท่านกลับไปเถิด..
ฝ่ายนางสารีพราหมณี เห็นเทวดามาไม่ขาดสาย
แต่ละองค์ล้วนมีรัศมีโอภาสงามยิ่งนัก เพียบพร้อมด้วยทิพยรัตน์สรรพาภรณ์ล้ำค่าทั้งสิ้น ต่างเข้าไปหาพระเถระเจ้า ด้วยอาการคารวะเป็นอันดี มีความสงสัยเทพดานั้นคือใคร มาธุระอันใดหนอ ? จึงเข้าไปถามอาการไข้กะพระจุนทะเถระ บุตรชายคนน้อยว่า
" พ่อจุนทะ อาการไข้ของอุปดิสพี่ชายของพ่อ เป็นอย่างไรบ้าง? ยังพอทนได้อยู่ดอก แม่ "
พระจุนทะตอบ แล้วแจ้งอาการไข้ให้มารดาฟัง
" ขณะนี้อาการไข้สงบแล้ว ทั้งว่างคนเยี่ยมด้วย แม่
เข้าไปหาสนทนากับพี่ใหญ่เถิด "
นางพราหมณี ได้โอกาสเข้าไปหาพระเถระเจ้าแล้ว ถามว่า
" บุคคลที่เข้ามาหาพ่อนั้น คือผู้ใด "
" ท้าวจตุโลกบาล จ้ะ แม่ "
นางพราหมณีตลึงในเกียรติ์อันสูงของลูกชาย พลางปราสัยต่อไปว่า
" พ่ออุปดิส พ่อยังเป็นใหญ่กว่าท้าวจตุโลกบาลอีกหรือนี่ ? "
" ท้าวจตุโลกบาลก็เหมือนคนอุปัฏฐากบำรุงวัด เท่านั้นแหละแม่ เมื่อครั้งพระบรมศาสดาของลูกปฏิสนธิในครรภ์ของพระพุทธมารดา ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่พระองค์นี้ ยังลงมาถวายอารักขาเป็นนิตย์ "
" บุคคลที่สองเล่าพ่ออุปดิส คือผู้ใด ? "
" นั่นท้าวโกสีย์ อมรินทราธิราช จ้า แม่ "
พ่ออุปดิส ลูกยังสูงกว่า จอมเทพดาชั้นดาวดึงส์สวรรค์อีกหรือ ? "
" ท้าวโกสีย์ ก็เหมือนกับสามเณรถือบริกขารของพระบรมศาสดาเท่านั้นแหละ แม่ เมื่อครั้งพระบรมศาสดาของลูกเสด็จลงจากเทวโลก ที่ประตูเมืองสังกัสสะนคร ท้าวโกสีย์องค์นี้ ยังถือบาตรนำเสด็จพระบรมครูของลูกเลย แม่ ่
" ใครกันเล่า พ่ออุปดิส ที่เข้ามาหาลูก หลังจากท้าวโกสีย์เทวราช และใครต่อใครกลับไปแล้ว ท่านผู้นั้นช่างมีรัศมีรุ่งเรืองยิ่งนัก "
" นั่นท้าวมหาพรหม จ้า แม่ "
" พ่ออุปดิส ลูกยังเหนือกว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือลูก ? "
" ท้าวมหาพรหมองค์นี้แหละแม่ ในวันที่พระบรมศาสดาของลูกประสูติ ได้ถือเอาข่ายทองเข้ารองรับพระกุมาร ถวายการบำรุงรักษาพระบรมศาสดาอยู่เนืองนิตย์ แม้ในวันที่พระบรมศาสดาเสด็จลงจากเทวโลก ก็ยังกั้นเศวตรฉัตร์ถวาย ปรากฏแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ที่ประชุมอยู่แทบประตูเมืองสังกัสสะนครทั่วทุกคน "
นางสารีพราหมณี ฟังพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรบรรยายแล้ว เห็นคุณอันมหัศจรรย์ในพระมหาเถระว่า อานุภาพบุตรเรายังปรากฏถึงเพียงนี้ และอานุภาพของพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นครูของบุตรเรา คงจะสูงยิ่งกว่านี้เป็นแน่ เกิดปีติเบิกบานใจ
ต่อมา พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรก็แสดงธรรมพรรณาพุทธคุณโปรดมารดา ให้นางสารีพราหมณีมารดา ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในพระศาสนา สมมโนรถที่อุตสาหะมาสนองพระคุณมารดา แล้วพระเถระเจ้าก็เชิญให้มารดาออกไปพักด้วยดึกมากแล้ว ครั้นนางสารีพราหมณีออกไปแล้ว พระเถระเจ้าจึงถามพระจุนทะเถระว่า
" เวลาเท่าใดแล้ว "
เมื่อได้รับคำตอบว่า
" ใกล้รุ่งแล้ว "
จึงสั่งให้พระสงฆ์ทั้งหลายมาประชุมพร้อมกัน ให้พระจุนทะเถระพยุงกายท่านนั่งขึ้น แล้วกล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
" ตลอดเวลา ๔๔ พรรษา ที่ท่านทั้งหลายติดตามมา หากกรรมอันใดที่มิชอบใจท่านทั้งหลายจะพึงมี ท่านทั้งหลายจงอดโทษแก่ข้าพเจ้าเสียเถิด"
ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ได้เรียนท่านว่า
" ข้าแต่พระเถระเจ้า ตลอดเวลาที่บรรดาข้าพเจ้าติดตามพระเถระเจ้า ไม่มีกรรมอันใดของพระเถระเจ้าเลย ที่มิชอบใจข้าพเจ้าทั้งหลาย หากข้าพเจ้าทั้งหลายพึงมีความประมาทสิ่งใดสิ่งหนึ่งในพระเถระเจ้าแล้ว ขอพระเถระเจ้าได้กรุณาอดโทษแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย "
พอเวลาอรุณปรากฏ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ก็ดับขันธปรินิพพาน ในเวลาวารปุรณมี แห่งกัตติกมาส เพ็ญเดือน ๑๒
ครั้นรุ่งเช้า เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้มาสโมสรสันนิบาตทำสักการะศพพระมหาเถระในที่ปรินิพพาน ทำที่ประดิษฐานศพประชุมเพลิงงามวิจิตร ทำฌาปนกิจถวายเพลิงสระรีศพของพระมหาเถระตามประเพณีนิยม พระจุนทะเถระได้รวบรมอัฏฐิธาตุ ห่อผ้าขาว แล้วถือเอาบาตรและจีวรของพระมหาเถระ กับพระธาตุมาสู่ประตูพระเชตวันวิหาร ชวนพระอานนท์เถระเจ้า นำเข้าไปทูลถวายพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาทรงรับเอาพระธาตุแล้ว ตรัสสรรเสริญคุณพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรในท่ามกลางพุทธบริษัทเป็นอันมาก แล้วโปรดให้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระธาตุ
พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรไว้ในพระเชตวนาราม ครั้นสำเร็จแล้ว เสด็จไปพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเป็นบริวาร ประทับที่เวฬุวนาราม
ในกาลนั้น พระมหาโมคคัลลานะเถระสถิตอยู่ที่กาฬศิลาประเทศ ในมคธชนบท หมู่เดียรถีย์ทั้งหลายเห็นร่วมกันว่า พระโมคคัลลานะเถระเจ้า มีอานุภาพมาก สามารถไปสวรรค์ได้ ไปนรกได้ ครั้นไปแล้วก็นำเอาข่าวสารจากเทพดาในสวรรค์ จากสัตว์นรกในแดนพวกนั้น ๆ มาบอกแก่มนุษย์ทั้งหลายผู้เป็นญาติ เป็นมิตรสหายในโลกนี้ มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบิดามารดาของเทพดาและสัตว์นรกนั้น ๆ ก็เลื่อมใส อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา หากพระสมณะโคดมก็ดี พระสงฆ์ทั้งหลายก็ดี เว้นพระโมคคัลลานนะเถระเจ้า ก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ คือไม่อาจยึดเหนี่ยวใจชนทั้งหลายได้เลย พวกเราทั้งหลายต้องเสื่อมคลายความนับถือของมหาชน เสื่อมจากลาภผล ก็เพราะพระเถระเจ้าองค์นี้ ดังนั้น ตราบใดที่พระเถระเจ้าองค์นี้ยังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นชื่อเสียงลาภผลของพวกเราจะดีขึ้นไม่ได้เลย ควรหาอุบายจ้างคนฆ่าพำระเถระเจ้าเสียเถิด
ครั้นแล้วจึงจัดการเรี่ยไรทรัพย์จากอุปัฏฐากของตน ๆ จ้างโจรทั้งหลายที่โลภในทรัพย์ ให้ไปฆ่าพระเถระเจ้า ซึ่งอยู่ ณ กาฬศิลาประเทศ พวกโจรเหล่านั้นรับเอาทรัพย์ค่าจ้างแล้ว ยกพวกไปล้อมจับพระเถระเจ้ายังที่อยู่ พระมหาโมคคัลลานะเถระเจ้าได้ทำปาฏิหาริย์หนีไปได้ทุกครั้ง แต่โจรพวกนั้นก็พยายามล้อมจับอยู่ถึงสองเดือน ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ครั้นถึงเดือนที่สาม พระเถระเจ้าพิจารณาเห็นกรรมของท่าน ที่ทำในชาติก่อนติดตามมา เห็นควรจะรับผลแห่งกรรมที่ตามมาสนองนั้น จึงยอมให้โจรล้อมจับตามประสงค์ ครั้นพวกโจรจับพระเถระเจ้าได้แล้ว จึงได้ทุบตีจนอัฐิหัก แตก แหลกไม่มีดี โดยเกรงว่าจะไม่ตาย แล้วจะกลับฟื้นคืนชีพได้ ครั้นแน่ใจว่า พระเถระเจ้าไม่อาจฟื้นคืนชีพได้แล้ว จึงเอาสรีระของท่านไปทิ้งไว้ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าพอจะลับตาคนได้ แล้วพากันหนีไปจากที่นั้น
พระโมคคัลลานะเถระดำริว่า อาตมาควรจะไปทูลพระบรมศาสดาเสียก่อนจึงปรินิพพาน ครั้นดำริแล้วก็เรียงลำดับสรีระกาย ผูกเข้าให้มั่นด้วยกำลังฌาน แล้วเหาะไปโดยอากาศวิถี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า
" ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลาปรินิพพาน "
มีพระพุทธดำรัสว่า
" เธอจะปรินิพพานล่ะหรือ ? โมคคัลลานะ "
" พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลาปรินิพพานในวันนี้แล้ว "
" โมคคัลลานะ เธอจะปรินิพพาน ณ ที่ใด ? "
" ที่กาฬศิลาประเทศ พระเจ้าข้า "
พระโมคคัลานะกราบทูล
" ถ้าเช่นนั้น เธอจงแสดงธรรมแก่ตถาคตก่อน "
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่ง
" ด้วยการที่จะเห็นสาวกเหมือนอย่างเธอ จะไม่มีต่อไปแล้ว "
พระมหาโมคคัลานะเถระ รับพระพุทธบัญชาแล้ว ได้ทำปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปในอากาศ โดยอาการเช่นเดียวกับพระสารีบุตรเถระ ครั้นแสดงธรรมแล้ว ลงมาจากอากาศถวายอภิวาท ทูลลาพระบรมศาสดาไปยังกาฬศิลาประเทศ ปรินิพพานในที่นั้น ในวันสิ้นเดือน ๑๒ หลังจากพระสารีบุตรเถระปรินิพพาน ๑๕ วัน
ในกาลนั้น เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ไปสโมสรประชุมกันถวายสักการบูชาสรีระศพพระเถระเจ้า ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และไม้หอม อันวิจิตร มีประการต่าง ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลาย ได้เสด็จไปเป็นประธานจุดเพลิง ทำฌาปนกิจสรีระศพพระเถระเจ้า ในท่ามกลางเทพดาและมนุษย์ ซึ่งได้พร้อมเพรียงกันมามากยิ่งนัก ขณะนั้น ฝนดอกไม้ทิพย์ได้ตกลงมาในบริเวณถวายเพลิงพระเถระเจ้า ประมาณโยชน์หนึ่งโดยรอบ มหาชนได้มาประชุมสักการะศพพระเถระเจ้าถึง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดให้เก็บอัฐิธาตุพระเถระเจ้า มาก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่ซุ้มประตูพระเชตวนาราม




ตอนที่ ๕๔ ทรงปรารภชราธรรม


วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ ซึ่งปูลาด ณ ร่มเงาแห่งพระวิหาร พระอานนท์เถรเจ้าเข้าเฝ้าถวายนมัสการแล้ว กราบทูลว่า
"ข้าพระองค์ได้เห็นความผาสุกแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว และความอดกลั้นทนทานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ได้เห็นแล้ว เมื่อได้เห็นพระองค์ทรงพระประชวร ข้าพระองค์รู้สึกว่า กายของข้าพระองค์จะหนัก จะงอมระงมไปด้วย แม้ทิศานุทิศทั้งหลาย ก็ดูมืดมนไป แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่สว่างแก่ดวงจิต เพราะมาวิตกคิดถึงความไข้ที่ทรงพระประชวรนั้น แต่ยังอุ่นใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่ปรารภพระภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธวจนะอันใดอันอันหนึ่งแล้ว ยังจักไม่ทรงปรินิพพานก่อน ข้าพระองค์มีความดีใจอยู่หน่อยหนึ่งฉะนี้"
"ดูกรอานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังมาหวังอะไรในตถาคตอีกเล่า ธรรมที่ตถาคตแสดงแล้วทั้งปวง ตถาคตแสดงโดยเปิดเผย ไม่มีภายในภายนอก ไม่มีการปกปิดซ่อนความสำคัญในธรรมใดๆ เลย"
"อานนท์ ตถาคตเป็นศาสดาของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย โดยจิตบริสุทธิ์ พ้นจากตัณหา มานะ ทิฏฐิ นิสัย ด้วยประการทั้งปวง ข้อซึ่งลี้ลับ จะปกปิดซ่อนบังไว้ โดยเฉพาะแก่สาวกบางรูป บางเหล่า ไม่ทั่วไปก็ดี หรือจะเก็บไว้แสดงต่ออวสานกาลสุดท้ายก็ดี ข้อนั้นมิได้มีแก่ตถาคตเลย"
"อานนท์ ผู้ใดยังมีฉันทะ อาลัยอยู่ว่า จะรักษาภิกษุสงฆ์ ผู้นั้นแหละจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอันใดอันหนึ่ง แสดงความห่วงใย อันฉันทะปริวิตกเช่นนั้นไม่มีแก่ตถาคตเลย"
"อานนท์ บัดนี้ตถาคตเจริญวัย อายุตถาคตถึง ๘๐ ปีแล้ว กายของตถาคตปรากฏวิปริต โดยอาการเห็นปานนี้ อินทรีย์ทั้งหลายมีจักษุ เป็นต้น ก็วิกลแปรปรวนไม่ปกติเหมือนแต่ก่อนทุกประการ เหมือนเกวียนเก่าคร่ำคร่า อาศัยไม้ไผ่ผูกกระหนาบ คาบค้ำอุปถัมภ์บำรุงไว้ฉันใด กายของตถาคตก็ฉันนั้น เมื่อล่วงลุถึงชรา อาศัยสมาธิภาวนาอุปถัมภ์บำรุงไว้ จึงค่อยพอเป็นไป"
"อานนท์ เธอจงอาศัยตนของตนเองเป็นที่พึ่งที่พำนักเถิด สิ่งอื่นซึ่งจักเป็นที่พึ่งที่แน่นอนแก่ตนไม่มี"
พระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงธรรมปรารภความชรา ซึ่งเบียดเบียนกายของพระองค์แก่พระอานนท์เถรเจ้าด้วยประการฉะนี้ เทพยดาที่มาสดับพระธรรมเทศนาในที่นั้น ได้บรรลุธรรมาภิสมัยเป็นอันมาก
ครั้นวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี เมื่อเสด็จกลับมาทำภัตกิจแล้ว เสด็จไปเมืองไพศาลี พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ประทับที่กุฎาคารศาลา ป่ามหาวัน
ฝ่ายบรรดากษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายได้สดับข่าวพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา ต่างมีความยินดีเลื่อมใส ได้นำสักการะออกไปเฝ้าถวายบังคมพระบรมศาสดา สดับพระธรรมเทศนาแล้วทูลอาราธนาให้เสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต
ครั้นรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จเข้าไปในพระราชนิเวศน์ ทรงทำภัตกิจแล้วประทานธรรมานุศาสน์แก่กษัตริย์ลิจฉวีทั้งปวง แล้วเสด็จออกจากพระนคร ทรงประทับยืนอยู่หน้าประตูเมืองไพศาลี เยื้องพระกายผันพระพักตร์มาทอดพระเนตรเมืองไพศาลีเป็นครั้งสุดท้าย รับสั่งแก่พระอานนท์เถระว่า
"อานนท์ การเห็นเมืองไพศาลีของตถาคตครั้งนี้เป็นปัจฉิมทรรศนะ"
แล้วเสด็จไปยังกุฎาคารศาลา สถานที่ประทับยืนนั้น เรียกว่า "นาคาวโลกเจดีย์สถาน"
ตอนที่ ๕๕
ทรงทำนิมิตโอภาส
ครั้นเสด็จถึงกุฎาคารศาลาแล้ว รับสั่งแก่พระอานนท์เถระว่า
"เธอจงถือเอานิสีทนะสันถัตตามไป ตถาคตจะไปพักที่ทิวาวิหาร ณ ปาวาลเจดีย์"
พระอานนท์ก็เอานิสีทนะสันถัตตามพระบรมศาสดาไปปูลาดถวายยังที่พระประสงค์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่งแล้ว ก็ถวายพระอภิวาทนั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งว่า "อานนท์ เมืองไพศาลีนี้ เป็นรมณียสถาน ทั้งปาวาลเจดีย์และโคตมเจดีย์ เป็นที่รื่นรมย์สำราญทุกตำบล ถ้าบุคคลผู้ใดได้เจริญซึ่งอิทธิบาทธรรม ๔ ประการ และมีกมลสันดานปรารถนาจะให้อายุดำรงคงอยู่ประมาณกัลป์หนึ่ง หรือมากกว่านั้นไป บุคคลนั้นก็สามารถจะมีอายุยืนต่อไปได้ดังปรารถนา"
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสนิมิตโอภาสดังนี้ พระอานนท์สดับแล้วก็มิได้ทราบพระพุทธอัธยาศัย จึงมิได้กราบทูลอาราธนาให้พระบรมศาสดาดำรงพระชนม์อยู่จนสิ้นกัลป์ เพื่อประโยชน์สุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะมารเข้าดลใจพระอานนท์ทำให้รู้ไม่ทัน จึงมิได้ทูลอาราธนา แม้พระบรมศาสดาจะทรงทำนิมิตโอภาสดังนี้ถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์ได้ฟังแล้วก็นิ่งอยู่ ลำดับนั้นพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า
"อานนท์ เธอจงไปนั่งยังวิเวกสถาน เจริญฌานสมาบัติโดยควรเถิด"



ตอนที่ ๕๖ ทรงปลงอายุสังขาร


ครั้นพระอานนท์รับพระพุทธบัญชา ถวายบังคมลาออกไปนั่งอยู่ที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นวิเวกไม่ไกลจากพระบรมศาสดาแล้ว ลำดับนั้น พญาวัสวดีมารผู้ใจบาป ก็ถือโอกาสเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทูลอาราธนาปรารภถึงความหลัง เมื่อครั้งแรกตรัสรู้ เสด็จอยู่ ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธว่า เมื่อครั้งนั้น ได้ทูลอาราธนาให้เสด็จปรินิพพานแล้วแต่พระองค์ทรงห้ามว่า ตราบใดบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สาวกของตถาคตยังไม่เจริญมั่นคงก็ดี ศาสนาของตถาคตยังไม่แผ่ไพศาลไปทั่วโลกธาตุก็ดี ตราบนั้นตถาคตจะยังไม่ปรินิพพานก่อน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า บัดนี้บริษัท ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เจริญแพร่หลายแล้ว พระศาสนาได้ดำรงมั่นเป็นหลักฐาน สมดังมโนปณิธานแล้ว ขออาราธนาพระองค์เสด็จปรินิพพานเถิด
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า
"ดูกรมาร ท่านจงมีความขวนขวายน้อยเถิด อย่าทุกข์ใจไปเลย ไม่ช้าแล้วตถาคตก็จักปรินิพพาน กำหนดกาลแต่นี้ล่วงไปอีก ๓ เดือนเท่านั้น"
ครั้นพญามารได้สดับพระพุทธบัญชาเช่นนั้น ก็มีจิตโสมนัสยินดี แล้วก็อันตรธานจากสถานที่นั้นไป
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำหนดพระทัย ทรงปลงพระชนมายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ ในวันมาฆปุรณมี เพ็ญเดือน ๓ ครั้งนั้นก็บังเกิดมหัศจรรย์บันดาล พื้นแผ่นพสุธาธารโลกธาตุ ก็กัมปนาทหวั่นไหวประหนึ่งว่าแสดงความทุกข์ใจ อาลัยในพระผู้มีพระภาคเจ้า จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในกาลไม่นาน ต่อนี้ไปอีก ๓ เดือนเท่านั้น
ขณะนั้นพระอานนท์เถระ ได้เห็นความอัศจรรย์ใจเพราะแผ่นดินไหวใหญ่นั้นก็มีความพิศวง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามถึงเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวใหญ่ พระบรมศาสดาตรัสบอกเหตุแห่งแผ่นดินไหวใหญ่แก่พระอานนท์เถระว่า
"อานนท์ แผ่นดินไหวด้วยเหตุ ๘ ประการคือ
๑.ลมกำเริบ
๒. ท่านผู้มีฤทธิ์บันดาล
๓. พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิตลงสู่พระครรภ์
๔. พระโพธิสัตว์ประสูติ
๕. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๖. พระตถาคตเจ้าแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร
๗. พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขาร
๘. พระตถาคตเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
อานนท์ เหตุ ๘ ประการนี้แลแต่ละอย่าง ย่อมทำให้แผ่นดินไหวได้"
ต่อนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสเล่าถึงเรื่องพญามาร ได้อาราธนาให้พระองค์ปรินิพพาน เริ่มแต่แรกตรัสรู้ จนถึงอาราธนาให้ปรินิพพานในวันนี้อีก ในที่สุดก็ตรัสว่า
"บัดนี้ ตถาคตได้รับอาราธนาพญามารกำหนดปลงอายุสังขารอีก ๓ เดือนก็จักปรินิพพานแล้ว เพราะเหตุนั้นแผ่นดินจึงไหว"
พระอานนท์เถระจึงกราบทูลว่า
"ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงได้ทรงพระกรุณาดำรงพระชนมายุกัลป์หนึ่งเถิด เพื่อประโยชน์สุขเป็นอันมากแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย" "อย่าเลย อานนท์ เธออย่าวิงวอนตถาคตเลย บัดนี้มิใช่เวลาอันควรที่เธอจะวิงวอนตถาคตเสียแล้ว"
แม้พระบรมศาสดาจะตรัสห้ามเช่นนั้นแล้ว พระอานนท์ก็ยังได้ทูลวิงวอนอยู่อีกถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง พระองค์จึงตรัสว่า
"อานนท์ เธอยังเชื่อปัญญาความตรัสรู้ของตถาคตอยู่หรือ?"
"เชื่อพระเจ้าข้า ข้าพระองค์เชื่อมั่นในความตรัสรู้ของพระองค์"
"ก็เมื่อเธอเชื่อมั่นเช่นนั้น ไฉนเธอจึงมาแค่นได้ วิงวอนตถาคตซึ่งห้ามเธออยู่ถึง ๓ ครั้งฉะนี้เล่า?"
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยข้าพระองค์ได้สดับรับรู้มาจากพระองค์ว่า ผู้ใดได้เจริญอิทธิบาทภาวนา ๔ ประการนี้ ทำให้มากให้ชำนาญดีแล้ว ผิวะผู้นั้นประสงค์จะดำรงชนมายุอยู่นาน เขาก็จะพึงตั้งอยู่ได้ถึงกัลป์หรือเกินกว่า ก็อิทธิบาทภาวนานั้น พระองค์ทรงเจริญได้ดียิ่งแล้ว หากพระองค์ทรงพระประสงค์จะดำรงพระชนมายุอยู่ ก็จะดำรงอยู่ได้ถึงกัลป์หนึ่ง หรือยิ่งกว่า เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงได้กราบทูลวิงวอนอาราธนาถึง ๓ ครั้งดังนี้"
"อานนท์ เธอเชื่อว่าอิทธิบาทภาวนามีอานุภาพถึงเช่นนั้นหรือ"
"เชื่อ พระเจ้าข้า"
"แล้วเพราะอะไรเล่า อานนท์ เมื่อตถาคตทำนิมิตโอภาสอันชัดซึ่งพอจะรู้ได้ อานนท์ก็กลับไม่รู้ไม่อาราธนา ไม่วิงวอนตถาคตในกาลอันควรจะอาราธนา เป็นความผิดของอานนท์ผู้เดียว"
"อานนท์ ถ้าในคราวนั้นหากเธอจะรู้ทันและอาราธนาตถาคตแล้ว ตถาคตก็จะพึงห้ามสัก ๒ ครั้ง แล้วในครั้งที่ ๓ ตถาคตก็จะรับคำวิงวอนอาราธนานั้น ก็เมื่ออานนท์ไม่วิงวอนอาราธนาในเวลานั้น จึงเป็นความผิดพลาดของอานนท์ผู้เดียว"
"อานนท์ ความจริงนิมิตโอภาสอันนี้ มิใช่ตถาคตจะแสดงแก่เธอในครั้งเดียวในที่นี้ก็หาไม่ ตถาคตได้แสดงแก่อานนท์ถึง ๑๖ ครั้ง ๑๖ ตำบล อานนท์คงจะยังระลึกได้อยู่ คือ ที่เมืองราชคฤห์ ๑๐ ตำบล คือ ๑.ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ๒. ที่โคตมนิโครธ ๓.ที่เหวสำหรับทิ้งโจร ๔.ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต ๕. ที่กาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิบรรพต ๖. ที่สัปปิโสภณฑิกา ณ สีตวัน ๗. ที่ตโปทาราม ๘. ที่เวฬุวนาราม ๙. ที่ชีวกัมพวนาราม ๑๐.ที่มัททกุจฉิวัน กับที่เมืองไพศาลี ๖ ตำบล คือ ๑. ที่อุทเทนเจดีย์ ๒. ที่โคตมเจดีย์ ๓. ที่สัตตัมพเจดีย์ ๔. ที่พหุปุตตเจดีย์ ๕. ที่สารันทเจดีย์ ๖. ที่ปาวาลเจดีย์นี้เป็นครั้งสุดท้าย รวมเป็น ๑๖ ตำบลด้วยกัน"
"อานนท์ ในวาระทั้ง ๑๖ ครั้งนั้น เป็นการที่ควรจะอาราธนาวิงวอนตถาคต อานนท์ก็ไม่รู้ไม่อาราธนาไม่วิงวอน หากใน ๑๖ ครั้งนั้นอานนท์จะพึงอาราธนาวิงวอนตถาคต ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ตถาคตก็จะพึงห้ามเสีย ๒ ครั้ง แล้วในครั้งที่ ๓ ตถาคตก็จะรับอาราธนาของอานนท์ เพราะอานนท์ไม่รู้ ไม่อาราธนา ไม่วิงวอน ปล่อยให้ล่วงเลยเวลาอันควรมา นั่นเป็นความผิดพลาดของอานนท์ผู้เดียว"
"ตถาคตได้บอกเธอมาแต่เดิมแล้วมิใช่หรืออานนท์ว่า บรรดาสัตว์สังขารที่รักใคร่เจริญใจทั้งปวง ล้วนไม่คงทนถาวรอยู่ได้ตามใจประสงค์ ย่อมพลัดพรากจากไปเป็นอย่างอื่นสิ้น จะหาสิ่งซึ่งเที่ยง ยั่งยืนถาวรในสังขารนี้ได้ที่ไหน ทุกสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ย่อมมีความสลายตัวไปเป็นธรรมดา การที่จะร่ำร้องว่า ขอสิ่งนั้นอย่าได้ฉิบหายเลย ย่อมไม่เป็นฐานะที่พึงได้ เป็นได้ดังประสงค์โดยแท้"
"ดูกร อานนท์ สิ่งใดที่ตถาคตได้สละแล้ว คายแล้ว ปล่อยเสียแล้ว ละเสียแล้ว วางเสียแล้ว การที่ตถาคตจักคืนกลับมารับสิ่งนั้นเข้าไว้อีก เพราะเหตุแห่งชีวิต ไม่เป็นฐานะที่จะมีขึ้นได้เลย"
"อานนท์ ทั้งคนหนุ่ม ทั้งคนแก่ ทั้งคนโง่ คนฉลาด คนจน คนมี ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยกันสิ้น เหมือนภาชนะดิน ถึงจะเล็ก ใหญ่ ดิบ สุก ประการใด ก็ย่อมมีความแตกทำลายเป็นที่สุดเหมือนกันหมดฉะนั้น"
"สังขารทั้งหลาย มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา มีความเกิดในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และดับสลายลงในที่สุด พระนิพพานเป็นคุณชาติ ดับเสียซึ่งชาติ ชรา มรณะ เป็นเอกันตสุข ประเสริฐหาสิ่งเสมอมิได้ อานนท์ วัยของตถาคตล่วงลุถึงความชราแล้ว ชีวิตของตถาคตเหลืออยู่น้อยแล้ว ไม่ช้าก็จะละท่านทั้งปวง ท่านทั้งหลายจงมีสติ อย่าได้ประมาท พยายามกระทำที่พึ่งแก่ตน พึงรักษาจตุปาริสุทธิศีล มากอยู่ด้วยการเจริญสมณธรรมเป็นอันดี ผู้ใดมั่นอยู่ในอัปปมาทธรรม ประพฤติธรรมวินัยนี้ให้บริสุทธิ์ด้วยดี ผู้นั้นจักละเสียได้ซึ่งชาติสงสาร ถึงซึ่งฝั่งแห่งนิพพานอันเป็นที่สุดแห่งวัฏทุกข์"
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนาแก่พระอานนท์เถรเจ้าด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงรับสั่งแก่พระอานนท์ว่า
"อานนท์ เราพร้อมกัน จะไปบ้านภัณฑุคาม ณ บัดนี้"
เมื่อพระภิกษุสงฆ์พร้อมกันแล้ว ก็เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังบ้านภัณฑุคาม ประทับสำราญพระอิริยาบถโดยควรแก่พระอัธยาศัย แสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ณ บ้านภัณฑุคามนั้นให้ตั้งอยู่ในอริยธรรมคือ ศีลสมาธิ ปัญญา วิมุตติ อันเป็นธรรมนำให้หลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล
ต่อนั้นพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ได้เสด็จไปสู่บ้านหัตถีคามและอัมพคาม และชัมพุคาม และเมืองโภคนคร โดยลำดับ ประทับอยู่ที่โภคนคร แสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองนั้น ต่อนั้น จึงได้เสด็จไปยังเมืองปาวานคร เสด็จเข้ายับยั้งอาศัยที่อัมพวันสวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร คือบุตรนายช่างทองซึ่งอยู่ใกล้เมืองนั้น



ตอนที่ ๕๗ บิณฑบาตครั้งสุดท้าย


ในกาลนั้นนายจุนท์ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาสถิตอยู่ในสวนของตน ก็มีความยินดีได้นำสักการะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายนมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควร พระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาโปรดให้นายจุนท์ชื่นชมโสมนัสและบรรลุโสดาปัตติผล นายจุนท์ได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคกับทั้งพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ให้เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตยังนิเวศน์ของตน พระบรมศาสดาทรงรับด้วยดุษณีภาพ
ครั้นนายจุนท์ทราบในพุทธอัธยาศัยแล้วก็กลับคืนสู่นิเวศน์ ให้ตกแต่งขาทนียะและโภชนียาหารกับทั้งสุกรมัทวะประกอบด้วยรสอันเอมโอชแต่ในเวลาราตรี ครั้นรุ่งเช้านายจุนท์ได้ออกไปทูลอัญเชิญเสด็จพระบรมศาสดา
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ได้เสด็จไปยังนิเวศน์ของนายจุนท์ ประทับนั่งบนพุทธาอาสน์แล้ว ตรัสแก่นายจุนท์ว่า
"สุกรมัทวะซึ่งท่านตกแต่งไว้นั้น จงอังคาสเฉพาะแต่ตถาคตผู้เดียว ที่เหลือนั้นให้ขุดหลุมฝังเสีย และจงอังคาสภิกษุสงฆ์ทั้งหลายด้วยอาหารอย่างอื่นๆ เถิด"
นายจุนท์ก็กระทำตามพระพุทธบัญชา ครั้นเสร็จภัตกิจแล้วก็ตรัสอนุโมทนา ให้นายจุนท์ปสาทะเบิกบานในไทยทานที่ถวายแล้ว ก็เสด็จกลับไปสู่อัมพวัน
เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยภัตตาหารของนายจุนท์ในวันนั้นก็ทรงประชวรพระโรค "โลหิตปักขันทิกาพาธ" มีกำลังกล้าลงพระโลหิต เกิดทุกขเวทนามาก ได้แสดงปุพพกรรมที่ทรงทำไว้ในชาติก่อน แก่พระอานนท์แล้วตรัสว่า
"อานนท์ มาเราจะไปสู่เมืองกุสินารานคร"
พระอานนท์รับพระบัญชาแจ้งให้พระสงฆ์ทั้งหลายเตรียมตามเสด็จพร้อมแล้ว




ตอนที่ ๕๘ ทรงขอน้ำเสวย


ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงเยียวยาพระโรคาพาธด้วยโอสถ คือสมาบัติภาวนา เสด็จจากเมืองปาวาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ตามมรรคาโดยลำดับ ขณะที่เสด็จพระพุทธดำเนินตามทางนั้น ให้บังเกิดกระหายน้ำเป็นกำลัง จึงเสด็จแวะเข้าพักยังร่มไม้ริมทาง พลางตรัสเรียกพระอานนท์ว่า
"อานนท์ ตถาคตกระหายน้ำมาก เธอจงไปตักน้ำมาให้ตถาคตดื่มระงับความกระหายให้สงบ"
เป็นครั้งแรกและเป็นครั้งเดียว ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเรียกขอน้ำเสวยในขณะเดินทางยังไม่ถึงที่พัก เนื่องด้วยพระองค์ทรงประชวรมาก ใกล้อวสานพระชนม์ ต้องเสวยทุกขเวทนาซึ่งเกิดแต่สังขาร สมดังกระแสพระโอวาทที่ตรัสว่า
"สังขารเป็นมารทำลายความสงบสุข ไม่เลือกว่าสังขารของผู้ใดทั้งสิ้น"
พระอานนท์ได้กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มเพิ่งข้ามแม่น้ำนี้ไป แม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำเล็ก น้ำในแม่น้ำก็น้อย เมื่อล้อเกวียนมากด้วยกัน บดไปตลอดทุกเล่ม น้ำขุ่นนัก ไม่ควรจะเป็นน้ำเสวย ถัดนี้ไปไม่ไกลนัก แม่น้ำกกุธานทีมีน้ำจืดใสเย็น ทั้งมีท่ารื่นรมย์เชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคไปยังแม่น้ำกกุธานทีโน้นเถิด ผิวะเสวยหรือจะสรงก็จะเย็นเป็นสุขสำราญ"
"ไปเถอะ อานนท์" ทรงรับสั่ง
"ไปนำน้ำในแม่น้ำนี้แหละมาให้ตถาคตดื่มบรรเทาความกระหาย"
พระอานนท์ได้กราบทูลทัดทานถึง ๒ ครั้ง เมื่อได้สดับกระแสรับสั่งครั้งที่ ๓ พระเถรเจ้าก็อนุวัตรตามพระบัญชาทันที ด้วยได้สติรู้ทันในพระบารมีของพระสัมพุทธเจ้าว่า
"อันธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะดำรงคงพระวาจามั่นในสิ่งซึ่งหาสาเหตุมิได้ เป็นไม่มี"
จึงรีบนำบาตรเดินตรงไปยังแม่น้ำนั้น ครั้นเข้าไปใกล้แม่น้ำนั้นก็พลันได้ปีติโสมนัส ด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้ามาบันดาลน้ำในแม่น้ำซึ่งขุ่นข้นให้กลับกลายเป็นน้ำใสสะอาดปราศจากมลทิน
เมื่อพระอานนท์ได้เห็นเช่นนั้นก็เกิดอัศจรรย์ใจ พิศวงในอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดำริว่า
"อานุภาพอันใหญ่หลวงของพระพุทธเจ้าเห็นปานนี้เป็นความอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาในกาลก่อน"
พระเถรเจ้าได้ลงไปตักน้ำด้วยโสมนัส แล้วเดินมาด้วยความบันเทิง น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงเสวยตามพระพุทธประสงค์แล้วได้กราบทูลถึงเหตุอัศจรรย์ที่ได้ประสบมานั้น
ครั้งนั้น ปุกกุสะบุตรแห่งมัลลกษัตริย์ ผู้เป็นสาวกของท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางจากเมืองกุสินารา เพื่อจะไปยังปาวานครโดยทางนั้น ครั้นมาถึงที่นั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ร่มไม้ใหญ่ริมทาง จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควร พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงสันติวิหารธรรมโปรด ปุกกุสะได้สดับแล้วเกิดความเลื่อมใส ได้น้อมคู่ผ้าสิงคิวรรณอันมีเนื้อละเอียด มีสีดังทองสิงคี งามประณีตมีค่ามาก ถวายพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยกราบทูล
"ขอพระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุเคราะห์ รับคู่ผ้าสิงคิวรรณนี้ เพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด"
"ปุกกุสะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงคลุมกายตถาคตเพียงผืนเดียว อีกผืนหนึ่งจงให้อานนท์เถิด"
ปุกกุสะได้น้อมผ้าเข้าถวายเป็นพุทธบริโภคผืนหนึ่ง ถวายพระอานนท์เถระผืนหนึ่ง ตามพระพุทธบัญชา พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมีกถาให้ปุกกุสะมัลลบุตร เบิกบานรื่นเริงในกุศลจริยาตามสมควร แล้วปุกกุสะได้อภิวาททูลลาไป




ตอนที่ ๕๙ ผิวกายของพระพุทธเจ้าผ่องใสยิ่งใน ๒ เวลา


เมื่อปุกกุสะมัลลบุตรหลีกไปแล้ว พระอานนท์เถระได้นำผ้าสิงคิวรรณทั้ง ๒ ผืนเข้าถวายพระผู้มีพระภาค ทรงนุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ผ้าสิงคิวรรณสีดุจถ่านไฟที่ปราศจากเปลวงาม เมื่อพระเถรเจ้านำเข้าถวายปกคลุมพระกายเป็นพุทธบริโภคทั้งคู่ ในทันใดนั้น ผิวกายของพระผู้มีพระภาค ก็งามบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก
พระอานนท์ได้กราบทูลสรรเสริญ ความอัศจรรย์ของพระฉวีวรรณ งามผ่องใสสมกับคู่ผ้าสิงคิวรรณที่ปกคลุมพระกายยิ่งนัก
"จริงดังอานนท์สรรเสริญ" พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่ง
"กายของตถาคตย่อมงามบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งใน ๒ เวลาคือ เวลาราตรีที่จะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ และเวลาราตรีที่จะปรินิพพาน ๑ อานนท์เวลานี้แล กายของตถาคตงามบริสุทธิ์ยิ่งนัก"
"อานนท์ ในยามที่สุดแห่งราตรีวันนี้แหละ ตถาคตจะปรินิพพาน ณ ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ณ สาลวัน แห่งมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา อานนท์ เรามาไปพร้อมกันยังแม่น้ำกกุธานที"
พระอานนท์รับพระบัญชา มาแจ้งให้พระสงฆ์ทราบทั่วกัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จไปโดยมรรคานั้น จนถึงแม่น้ำกกุธานที เสด็จลงเสวยและสนานสำราญพระกายตามอัธยาศัยแล้ว เสด็จขึ้นมาประทับยังร่มไม้ รับสั่งให้พระจุนท์เถระลาดสังฆาฏิถวาย ด้วยขณะนั้นพระอานนท์กำลังบิดผ้าชุบสรงอยู่ แล้วสมเด็จพระบรมครูก็เสด็จบรรทมระงับความลำบากกายที่ตรากตรำมาในระยะทาง




ตอนที่ ๖๐ ผลแห่งบิณฑบาตทาน


เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพักผ่อน พอบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยแล้ว จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า
"อานนท์ ต่อไปภายหน้าหากจะพึงมีใคร ทำความร้อนใจแก่นายจุนทกัมมารกบุตรว่า ‘เพราะบิณฑบาตที่ท่านถวายพระผู้มีพระภาคครั้งสุดท้ายแล้วเสด็จปรินิพพาน' ท่านทั้งหลายพึงช่วยระงับเสียให้สงบ พึงทำความสบายใจให้แก่นายจุนท์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญว่า อันบิณฑบาตทานที่ถวายพระตถาคตใน ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่พระตถาคตเจ้าเสวยแล้ว ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ ครั้งที่พระตถาคตเจ้าเสวยแล้วเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ๑ เป็นทานมีผลมาก มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตทานทั้งหลาย เป็นกุศลกรรม ทำให้เจริญอายุ วรรณ สุข ยศ และสวรรค์ ดังนี้เถิด"




ตอนที่ ๖๑ อนุฏฐานไสยา


ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ได้เสด็จพระพุทธดำเนินข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ไปเมืองกุสินารานคร แล้วเสด็จเข้าไปยังสาลวันอุทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้นครกุสินารา โปรดให้พระอานนท์ปูลาดเตียงที่บรรทม ณ ระหว่างไม้รังทั้งคู่ แล้วเสด็จขึ้นบรรทมสีหไสยา มีสติสัมปชัญญะ แต่มิได้มีอุฏฐานสัญญามนสิการ คือ ไม่คิดว่าจะลุกขึ้นอีกแล้ว เพราะเหตุเป็นไสยาอวสาน คือ นอนครั้งสุดท้าย นิยมเรียกว่า อนุฏฐานไสยา (นอนไม่ลุก)




ตอนที่ ๖๒ ทรงปรารภสักการบูชา



ครั้งนั้น ต้นรังทั้งคู่ผลิดอกบานเต็มต้น ร่วงหล่นมายังพระพุทธสรีระ บูชาพระตถาคตเจ้าเป็นมหัศจรรย์ แม้ดอกมณฑาในเมืองสวรรค์ ตลอดทิพยสุคนธชาติ ก็ตกลงมาจากอากาศ บูชาพระตถาคตเจ้า ใช่แต่เท่านั้น ยังเทพเจ้าทั้งหลายก็ประโคมดนตรีทิพย์ บันลือลั่นเป็นมหานฤนาท บูชาพระตถาคตเจ้าในอวสานกาล
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่พระอานนท์เถระว่า
"อานนท์ การบูชาพระตถาคตเจ้าด้วยอามิสบูชา แม้มากเห็นปานนี้ ก็ไม่ชื่อว่าบูชาพระตถาคตอันแท้จริง อานนท์ ผู้ใดแลมาปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่งในธรรม ผู้นั้นชื่อว่า บูชาพระตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง"
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพระกรุณาเตือนพุทธบริษัทให้หนักแน่นในธรรมานุธรรมปฏิบัติ เพื่อประสงค์ให้พระศาสนาสถิตสถาพรดำรงอยู่ในโลก ตลอดกาลนิรันดร ด้วยประการฉะนี้
ครั้งนั้น พระอุปวาณเถระ ยืนถวายงายพัดอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสให้พระอุปวาณะถอยออกไปเสีย พระอานนท์เกิดปริวิตกว่า
"ความจริง พระอุปวาณะองค์นี้ก็เป็นพุทธอุปัฏฐากใกล้เคียงพระบรมศาสดามานานแล้ว ไฉนหนอในการสุดท้ายนี้ พระบรมศาสดาจึงไม่ทรงพอพระทัยให้ถวายปฏิบัติดังเช่นเคย น่าจะมีเหตุอะไร" จึงได้เข้าเฝ้าทูลถาม
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"อานนท์ ขณะนี้เทพยดาทั้งหมดทุกห้องสวรรค์ชั้นฟ้า ได้มาประชุมกันบูชาพระตถาคต โดยหวังจะเห็นพระตถาคตในครั้งสุดท้ายนี้ แต่พระอุปวาณะได้มายืนกั้นอยู่ ณ เบื้องหน้าเสีย เทพยดาทั้งหลายพากันยกโทษ ด้วยไม่สมใจที่ตั้งใจมา ดังนั้นตถาคตจึงสั่งให้พระอุปวาณะถอยออกไปเสียจากที่เบื้องหน้านี้"




ตอนที่ ๖๓ ทรงแสดงสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล


ครั้งนั้น พระอานนท์เถรเจ้าได้กราบทูลว่า
"ในกาลก่อน เมื่อออกพรรษาแล้ว บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในทิศต่างๆ ย่อมเดินทางเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เข้าใกล้สนทนาปราศรัยได้ความเจริญใจ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายจักไม่ได้โอกาสอันดีเช่นนั้น เหมือนกับเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ อีกต่อไป"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลนี้คือ สถานที่พระตถาคตเจ้าบังเกิดแล้ว คือ ที่ประสูติจากพระครรภ์ ๑ สถานที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ๑ สถานที่พระตถาคตเจ้าแสดงธรรมจักร๑ สถานที่พระตถาคตเจ้าปรินิพพาน ๑ สถานที่ทั้ง ๔ ตำบลนี้แล ควรที่พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า จะดูจะเห็นและควรจะให้เกิดความสังเวชทั่วกัน"
"อานนท์ ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ได้เที่ยวไปยังเจดีย์สังเวชนียสถานเหล่านี้ด้วยความเลื่อมใส ชนเหล่านั้น ครั้นทำกาลกิริยาลง จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"




ตอนที่ ๖๔  วิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระ


ลำดับนั้น พระอานนท์เถรเจ้า ได้ทูลถามถึงวิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติในพระพุทธสรีระ เป็นไฉน"
"ดูกร อานนท์ท่านทั้งหลายอย่าขวนขวายเลย จงตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรมุ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์เถิด บรรดากษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีทั้งหลายที่เลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า มีอยู่มาก จักทำซึ่งการบูชาสรีระแห่งพระตถาคตเจ้า"
"ก็กษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น จะพึงปฏิบัติในพระสรีระโดยวิธีเช่นใดเล่า พระเจ้าข้า"
"อานนท์ ผู้รู้ทั้งหลายย่อมปฏิบัติในพระสรีระของพระตถาคตเจ้าเป็นแบบเดียวกันกับวิธีปฏิบัติในพระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชนั้นแล"
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็วิธีปฏิบัติในพระสรีระแห่งจักรพรรดิราชนั้นมีแบบอย่างเป็นไฉนเล่า พระเจ้าข้า"
"ดูกร อานนท์ ชนทั้งหลายย่อมพันพระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชด้วยผ้าขาวซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าขาว ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญพระสรีระลงในหีบทองอันเต็มไปด้วยน้ำมันหอม เชิญขึ้นสู่จิตรกาธาร ซึ่งทำด้วยไม้หอม ถวายพระเพลิงแล้วเชิญพระอัฐิธาตุไปทำพระสถูป บรรจุไว้ ณ ที่หอประชุมแห่งถนนใหญ่ทั้ง ๔ เพื่อเป็นที่ไหว้สักการบูชาแห่งมหาชนผู้สัญจรไปมาแต่ทิศทั้ง ๔ เพื่อประโยชน์แก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน"




ตอนที่ ๖๕ ถูปารหบุคคล


"อานนท์ บุคคลผู้ควรแก่การประดิษฐานในสถูป เรียกว่า ถูปารหบุคคล มี ๔ ประเภท คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ พระสาวกอรหันต์ ๑ พระเจ้าจักรพรรดิ ๑ บุคคลพิเศษทั้ง ๔ นี้ ควรที่บรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูป เพื่อเป็นที่สักการบูชากราบไหว้ด้วยความเลื่อมใส ด้วยสามารถเป็นพลวปัจจัย นำให้ผู้กราบไหว้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ตามกำลังศรัทธาเลื่อมใส"




ตอนที่ ๖๖  ประทานโอวาทแก่พระอานนท์


ครั้งนั้น พระอานนท์เถระเข้าไปในวิหาร ยืนเหนี่ยวกลอนประตูวิหาร ร้องไห้คิดสังเวชตัวว่าอาภัพ อุตส่าห์ติดตามปฏิบัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดุจเงาติดตามพระองค์ โดยมุ่งยึดเอาพระองค์เป็นนาถะ เพื่อทำความสิ้นทุกข์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็จะเสด็จปรินิพพานในราตรีนี้แล้ว ทั้งที่เราเองก็ยังเป็นเสขบุคคลอยู่
พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทอดพระเนตรเห็นพระอานนท์ในที่นั้น รับสั่งถามภิกษุทั้งหลาย ครั้นทรงทราบความแล้ว ตรัสให้ไปตามพระอานนท์เข้ามายังที่เฝ้า แล้วตรัสว่า
"อานนท์ อย่าเลย เธออย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรเลย เราได้บอกแก่เธอแล้วมิใช่หรือว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงถาวร จะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน ทุกสิ่งที่มีเกิดในเบื้องต้นแล้ว จะต้องแปรปรวนในท่ามกลาง ที่สุดก็ต้องสลายลงเช่นเดียวกันหมด"
"อานนท์ เธอเป็นบุคคลที่มีบุญได้สั่งสมไว้แล้ว เธอจงอุตส่าห์บำเพ็ญเพียรเถิด ไม่ช้าเธอก็จักถึงความสิ้นอาสวะ คือ จักได้เป็นพระอรหันต์ ก่อนวันพระสงฆ์ทำปฐมสังคายนานั้นแล"




ตอนที่ ๖๗ ตรัสสรรเสริญพระอานนท์


ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอตีตังสญาณอันวิเศษ ได้ทรงพยากรณ์พระอานนท์ในที่ประชุมสงฆ์เช่นนั้นแล้ว ก็ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วก็ดี แม้ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้าอีกก็ดี บรรดาภิกษุผู้อุปัฏฐากของพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ก็เป็นเหมือนเช่นอานนท์อุปัฏฐากของเราในบัดนี้แหละ"
"ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต ประกอบธุรกิจด้วยปัญญารอบรู้ว่า กาลใดบริษัทใดจะเข้าเฝ้า อานนท์ก็จัดให้เข้าเฝ้า ตามสมควรแก่สถานะวิสัยแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และเดียรถีย์ได้ถี่ถ้วนทุกประการ"
อนึ่ง เมื่อบริษัทได้เข้าไปใกล้ ได้เห็นอานนท์ก็มีจิตยินดี เมื่อฟังอานนท์แสดงธรรมก็ชื่นชมไม่อิ่ม ไม่เบื่อด้วยธรรมกถาของอานนท์เลย เมื่ออานนท์หยุดพักธรรมกถา บริษัทก็ยินดีเบิกบานในธรรมกถาที่แสดงแล้ว ประหนึ่งพระเจ้าจักรพรรดิ ประทานความชื่นชม ไม่เบื่อด้วยภาษิตแก่กษัตริย์ พราหมณ์ เป็นต้น ฉะนั้น




ตอนที่ ๖๘ ตรัสเรื่องเมืองกุสินารา


พระอานนท์เถรเจ้าได้กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมืองกุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน ไม่ควรเป็นเมืองที่พระองค์จะเสด็จปรินิพพาน ข้าพระองค์ขออาราธนาให้ไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ๆ เช่น พระนครราชคฤห์ พระนครสาวัตถี เป็นต้น นั้นเถิด กษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีผู้มหาศาล จักได้จัดการสักการบูชาพระสรีระเป็นมโหฬาร ควรแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นอัจฉริยมนุษย์บุรุษรัตนดิลกเลิศในโลก"
"อานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น" ทรงรับสั่ง
"อานนท์ เมืองกุสินารานี้ แต่ปางก่อนเคยเป็นมหานครราชธานี มีนามว่า "กุสาวดี" เป็นนครใหญ่ไพศาล พระเจ้ามหาสุทัศน์จักรพรรดิราช เป็นพระมหากษัตริย์ครอบครอง เป็นเมืองที่มีผู้คนมาก ประชาชนสงบสุข สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สรรพสิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ชีวิตของมนุษย์ทุกประการ เสียงร้องเรียกหา ค้าขายสัญจรไปมาหาสู่กันไม่หยุดหย่อน ทั้งกลางวันกลางคืน"




ตอนที่ ๖๙ โปรดให้แจ้งข่าวปรินิพพานแก่พวกมัลลกษัตริย์


ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องเมืองกุสินารา บรรเทาความข้องใจหายความปริวิตกแก่พระอานนท์เถรเจ้าแล้ว ทรงรับสั่งว่า "อานนท์ จงเข้าไปบอกพวกมัลลกษัตริย์ให้ทราบว่า "บัดนี้ พระตถาคตเจ้าจักปรินิพพาน ณ ยามที่สุดแห่งราตรีในวันนี้ อย่าให้มัลลราชทั้งหลายมีความเดือดร้อนในภายหลังว่า พระตถาคตเจ้ามาปรินิพพานในคามเขตของเราทั้งหลายๆ สิกลับไม่ได้เห็นพระองค์ในกาลสุดท้าย"
พระอานนท์ทรงรับพระบัญชาแล้ว รีบเข้าไปแจ้งความนั้นแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ตามพระประสงค์ของพระตถาคตเจ้าทุกประการ เมื่อมัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ทราบแล้ว ต่างมีความทุกข์โทมนัส พร้อมด้วยโอรส สุณิสา และปชาบดี กับทั้งอำมาตย์พร้อมด้วยบุตรและภริยารีบเสด็จออกไปยังสาลวันอุทยาน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระอานนท์เถรเจ้าดำริว่า
"ถ้าจะให้มัลลกษัตริย์ทั้งหลายเรียงองค์กันเข้าเฝ้า ราตรีก็จะสว่างเปล่าไม่สิ้นเสร็จ จึงได้จัดให้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสกุลๆ เป็นคณะๆ แล้วกราบทูลชื่อและวงศ์ตระกูลถวายโดยลำดับ ให้มัลลกษัตริย์ได้เข้าถวายอภิวาทเสร็จภายในปฐมยามเบื้องต้นแห่งราตรีนั้น



ตอนที่ ๗๐ โปรดสุภัททปริพาชก


สมัยนั้น ปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อว่า สุภัททะ ชาวเมืองกุสินารา สุภัททปริพาชกนั้นได้ยินข่าวว่า พระสมณโคดมจักปรินิพพานในที่สุดแห่งราตรีนี้แล้ว จึงคิดว่า
"ความสงสัยของเรามีอยู่ ควรจะรีบออกไปเฝ้าทูลถามให้พระองค์ตรัสบอกบรรเทาความในใจของเรานั้นเสีย"
แล้วสุภัททปริพาชก ก็ออกจากเมืองกุสินารา เข้าไปพบพระอานนท์ยังอุทยานสาลาวัน เพื่อขอโอกาสได้เข้าเฝ้า
พระอานนท์เถรเจ้าได้ทัดทานว่า
"อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเจ้าเลย ขณะนี้พระตถาคตเจ้าก็ทรงลำบากพระกายหนักอยู่แล้ว"
แม้สุภัททปริพาชกจะได้วิงวอนแล้วๆ เล่าๆ อยู่ถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง พระอานนท์เถรเจ้าก็ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้สดับเสียงพระอานนท์และสุภัททปริพาชกเจรจากันอยู่ จึงตรัสเรียกพระอานนท์ว่า
"อานนท์ อย่าห้ามสุภัททะเลย ให้สุภัททะได้เห็นตถาคตเถิด แม้สุภัททะจะถามปัญหาอันใดกับตถาคต ก็จะไม่เบียดเบียนตถาคตให้ลำบาก สุภัททะจักตรัสรู้ทั่วถึงธรรมในปัญหาทั้งปวงที่ตถาคตได้พยากรณ์แล้ว"
ลำดับนั้น พระอานนท์จึงบอกปริพาชกว่า
"สุภัททะ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระกรุณาประทานโอกาสให้แก่ท่านแล้ว ท่านจงเข้าไปเฝ้าเถิด"
สุภัททปริพาชกมีความเบิกบานใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคมแล้ว ได้ทูลถามถึงครูทั้ง ๖ ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิ มีปูรณกัสสป เป็นต้น ปฏิญญาว่าเป็นผู้วิเศษ ได้ตรัสรู้ยิ่งด้วยปัญญานั้น สมจริงดังคำปฏิญญาหรือไม่ ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"อย่าเลย สุภัททะ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟัง แล้วทำไว้ในใจให้สำเร็จประโยชน์เถิด"
แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอริยมรรค ๘ ประการ ว่าเป็นมรรคาประเสริฐมีอยู่ในธรรมวินัยใดแล้ว สมณะ คือ ท่านผู้สงบระงับดับกิเลสได้จริง ย่อมมีอยู่ในธรรมวินัยนั้น อนึ่ง อริยมรรคทั้ง ๘ นั้น ก็มีอยู่เฉพาะในธรรมวินัยนี้เท่านั้น แม้สมณะดังกล่าวแล้ว ก็มีอยู่แต่ในธรรมวินัยนี้แห่งเดียว
"สุภัททะ หากภิกษุทั้งหลายจะพึงปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ในธรรมนี้แล้วไซร้ โลกนี้จักไม่พึงว่างเปล่าจากพระอรหันต์"
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมนี้ สุภัททปริพาชกมีความเชื่อเลื่อมใส ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา พร้อมกับขอปฏิญญาตนเป็นอุบาสก และทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสให้พระอานนท์รับธุระจัดให้สุภัททะอุบาสก บรรพชาอุปสมบทตามความปรารถนา เมื่อพระสุภัททะได้อุปสมบทแล้ว หลีกออกไปบำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลในราตรีวันนั้น ได้เป็นพระอรหันต์ปัจฉิมสาวกของพระผู้มีพระภาค ทันพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา




ตอนที่ ๗๑ โปรดให้ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ


พระอานนท์เถระ ได้ทูลถามพระบรมศาสดาว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระฉันนะถือตัวว่าเป็นข้าเก่า ติดตามพระองค์คราวเสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์ เป็นผู้ว่ายาก ไม่รับโอวาทใครๆ แม้จะกรุณาเตือน เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว จักเป็นผู้ว่ายากยิ่งขึ้น ด้วยหาผู้ยำเกรงมิได้ ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติแก่ท่านอย่างไร ในกาลเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว"
"อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะเถิด"
" พรหมทัณฑ์ เป็นไฉนเล่า พระเจ้าข้า"
" อานนท์ การลงพรหมทัณฑ์นั้น คือ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงโอวาท ไม่พึงสั่งสอนเลย ไม่พึงเจรจาคำใดๆ ด้วยทั้งสิ้น เว้นแต่คำอันเป็นกิจธุระโดยเฉพาะ อานนท์ เมื่อฉันนะถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แล้ว จักสำนึกในความผิด และสำเหนียกในธรรมวินัย เป็นผู้ว่าง่าย ยอมรับโอวาท ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล"




ตอนที่ ๗๒ ประทานโอวาท


ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
"อานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว หากจะมีภิกษุบางรูปดำริว่า พระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว บัดนี้ ศาสดาของเราไม่มี อานนท์! ท่านทั้งหลายไม่ควรดำริอย่างนั้น ไม่ควรเห็นอย่างนั้น แท้จริง วินัยที่เราได้บัญญัติแก่ท่านทั้งหลายก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลายก็ดี เมื่อเราล่วงไป ธรรมและวินัยนั้นๆ แล จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย"




ตอนที่ ๗๓ ปัจฉิมโอวาท


"ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"




ตอนที่ ๗๔ นิพพาน


เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระโอวาทประทานเป็นวาระสุดท้ายเพียงเท่านี้แล้ว ก็หยุดมิได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลมเป็นลำดับดังนี้ คือ
ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติที่ ๙
สัญญาเวทยิตนิโรธนี้ มีอาการสงบที่สุด ถึงดับสัญญาและเวทนา ไม่รู้สึกทั้งกายทั้งใจทุกประการ แม้ลมหายใจเข้าออกก็หยุด สงบยิ่งกว่านอนหลับ ผู้ไม่คุ้นเคยกับสมาบัตินี้ อาจคิดเห็นไปว่าตายแล้ว ดังนั้นพระอานนท์เถรเจ้าผู้นั่งเฝ้าดูพระอาการอยู่ตลอดทุกระยะ ได้เกิดวิตกจิตคิดว่า พระบรมศาสดาคงจะเสด็จนิพพานแล้ว จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธเถรเจ้า ผู้เชี่ยวชาญในสมาบัตินี้ว่า
"ข้าแต่ท่านอนุรุทธะ พระบรมศาสดาเสด็จนิพพานแล้วหรือยัง ?"
"ยัง ท่านอานนท์ ขณะนี้พระบรมศาสดา กำลังเสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ" พระอนุรุทธะบอก
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติตามเวลาที่พระองค์ทรงกำหนดแล้ว ก็เสด็จออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะ ถอยออกจากสมาบัตินั้น โดยปฏิโลมเป็นลำดับ จนถึงปฐมฌาน
ต่อนั้นก็ออกจากปฐมฌานแล้วทรงเข้าทุติยฌาน อีกวาระหนึ่ง ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว ก็เสด็จปรินิพพาน ณ ปัจฉิมยาม แห่งราตรีวิสาขปุรณมี เพ็ญเดือน ๖ มหามงคลสมัย ด้วยประการฉะนี้
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ก็บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินไหว กลองทิพย์ก็บันลือลั่น กึกก้องศัพท์สำเนียงเสียงสนั่นในอากาศ เป็นมหาโกลาหลในปัจฉิมกาล พร้อมกับขณะเวลาปรินิพพานของสมเด็จพระอรหันตสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นนาถะของโลก
ขณะนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวโกสีย์สักกเทวราช พระอนุรุทธเถรเจ้า และพระอานนท์เถรเจ้า ได้กล่าวคาถาสรรเสริญพระคุณของพระสัมพุทธเจ้า แสดงความไม่เที่ยงถาวรของสัตว์สังขารทั่วไป ด้วยความเลื่อมใสและความสลดใจ ในการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาของมวลเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ขณะนั้น บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทั้งปวง ที่ประชุมอยู่ในอุทยานสาลวันนั้น ต่างก็เศร้าโศกร่ำไรรำพันปริเทวนาการ คร่ำครวญถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่น่าสลดใจยิ่งนัก พระอนุรุทธเถรเจ้าและพระอานนท์เถรเจ้าได้แสดงธรรมีกถาปลุกปลอบ บรรเทาจิตบริษัทให้เสื่อมสร่างจากความเศร้าโศก ตามควรแก่วิสัยและควรแก่เวลา
ครั้นสว่างแล้ว พระอนุรุทธเถรเจ้าก็มีเถรบัญชาให้พระอานนท์รีบเข้าไปในเมืองกุสินารา แจ้งข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้าแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อมัลลกษัตริย์ได้สดับข่าวปรินิพพาน กำสรดโศกด้วยความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกำลัง จึงดำรัสสั่งให้ประกาศข่าวปรินิพพานแก่ชาวเมืองให้ทั่วนครกุสินารา แล้วนำเครื่องสักกานบูชานานาสุคนธชาติ พร้อมด้วยผ้าขาว ๕๐๐ พับ เสด็จไปยังสาลวันที่เสด็จปรินิพพาน ทำสักการบูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยบุบผามาลัยสุคนธชาติเป็นเอนกประการ
มหาชนเป็นอันมาก แม้จะอยู่ในที่ไกล เมื่อได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ต่างก็ถือนานาสุคนธชาติมาสักการบูชามากมายสุดจะคณนา เวลาค่ำก็ตามชวาลาสว่างไสวทั่วสาลวัน ประชาชนต่างพากันมาไม่ขาดสายตลอดเวลา ๖ วัน ไม่มีหยุด พากันรีบรุดมาทำสักการบูชาด้วยความเลื่อมใส ถวายความเคารพอันสูงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า





ตอนที่ ๗๕ พระสรีระศพไม่เคลื่อนจากที่


ครั้นวันที่ ๗ มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ปรึกษาพร้อมใจกัน ในการจะอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาค ไปโดยทิศทักษิณแห่งพระนคร เพื่อถวายพระเพลิงยังภายนอกพระนคร เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว ก็เตรียมอัญเชิญพระสรีระศพ แต่ก็ไม่สามารถจะอัญเชิญไปได้ แม้แต่จะขยับเขยื้อนให้เคลื่อนจากสถานที่สักน้อยหนึ่ง มัลลกษัตริย์พากันตกตะลึงในเหตุอัศจรรย์ที่ไม่เคยประสบเช่นนั้น จึงได้พร้อมกันไปเรียนถามท่านพระอนุรุทธเถรเจ้า ซึ่งเป็นประธานสงฆ์อยู่ ณ ที่นั้นว่า
"ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุไฉน ข้าพเจ้าทั้งหลาย จึงจะสามารถเขยื้อนเคลื่อนพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า จากสถานที่ประดิษฐานนั้นได้เล่า พระคุณเจ้า"
"เพราะพระองค์ทำไม่ต้องประสงค์ของเทวดา" พระอนุรุทธเถรเจ้ากล่าว
"เทวดาจึงไม่ยอมให้พระพุทธสรีระเขยื้อนจากที่"
"เทวดาทั้งหลายมีความประสงค์เป็นฉันใดเล่า ท่านพระอนุรุทธะผู้เจริญ"
"เทวดาทุกองค์มีความประสงค์ให้อัญเชิญพระสรีระศพของพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าพระนครก่อน โดยเข้าทางประตูทิศอุดร เชิญไปในท่ามกลางพระนคร แล้วออกจากพระนคร โดยทางประตูทิศบูรพา แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานถวายพระเพลิงที่มกุฎพันธนเจดีย์ ด้านทิศตะวันออกแห่งกุสินารานคร เทวดามีความประสงค์ดังนี้ เมื่อพระองค์ทำขัดกับความประสงค์ของเทวดา จึงไม่สำเร็จ"
ครั้นมัลลกษัตริย์ได้ทราบเถราธิบายเช่นนั้น ก็ทรงผ่อนผันอนุวัตรให้เป็นไปตามประสงค์ของเทวดา จัดการอัญเชิญพระสรีระศพของพระผู้มีพระภาคเขยื้อนเคลื่อนจากสถานที่นั้นไปอย่างง่ายดาย แล้วก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพขึ้นประดิษฐานบนเตียงมาลาอาสน์ ซึ่งตกแต่งด้วยอาภรณ์อันวิจิตร แล้วเคลื่อนขบวนอัญเชิญไปโดยทางอุตรทิศ เข้าไปภายในแห่งพระนคร
ประชาชนพากันสโมสรเข้าขบวนแห่ตามพระสรีระศพสุดประมาณ เสียงดุริยางค์ดนตรีแซ่ประสานกับเสียงมหาชน ดังสนั่นลั่นโกลาหลเป็นมหัศจรรย์ ทั้งดอกมณฑาอันเป็นของทิพย์ในสรวงสวรรค์ ก็ร่วงหล่นลงมาสักการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า
ขบวนมหาชนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพ ได้ผ่านไปในวิถีทางท่ามกลางพระนครกุสินารา ประชาชนทุกถ้วนหน้าพากันสักการบูชาทั่วทุกสถาน ตลอดทางที่พระพุทธสรีระศพจะแห่ผ่านไปโดยลำดับ




ตอนที่ ๗๖ นางมัลลิกาถวายเครื่องมหาลดาประสาธน์


ขณะนั้น นางมัลลิกาผู้เป็นภรรยาของท่านพันธุละเสนาบดี ซึ่งมีนิเวศน์อยู่ในนครนั้น ครั้นได้ทราบว่า ขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพจะผ่านมาทางนั้น นางก็มีความยินดีที่จะได้อัญชลีอภิวาทเป็นครั้งสุดท้าย นางจึงดำริด้วยความเลื่อมใสว่า
"นับตั้งแต่ท่านพันธุละล่วงลับไปแล้ว เครื่องประดับอันมีชื่อว่า มหาลดาประสาธน์ เราก็มิได้ตกแต่งคงเก็บรักษาไว้เป็นอันดี ควรจะถวายเป็นอาภรณ์ประดับพระพุทธสรีระพระชินศรีในอวสานกาลบัดนี้เถิด
อันเครื่องอาภรณ์มหาลดาประสาธน์นี้งามวิจิตร มีค่ามากถึง ๙๐ ล้าน เพราะประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ ในสมัยนั้นมีอยู่เพียง ๓ เครื่อง คือ ของนางวิสาขา ๑ ของนางมัลลิกาภรรยาของท่านพันธุละ ๑ ของเศรษฐีธิดาภรรยาท่านเทวปานิยสาระ ๑ ซึ่งเป็นอาภรณ์ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นของสำหรับผู้มีบุญ
ครั้นเมื่อขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพ ผ่านมาถึงหน้าบ้านนางมัลลิกา นางจึงได้ขอร้องแสดงความประสงค์จะบูชาด้วยอาภรณ์มหาลดาประสาธน์ มหาชนผู้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพ ก็วางเตียงมาลาอาสน์ ที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระลง ให้นางมัลลิกาถวายอภิวาท เชิญเครื่องมหาลดาประสาธน์มาสวมพระพุทธสรีระศพ เป็นเครื่องบูชา ขณะนั้นพระพุทธสรีระศพก็งามโอภาสเป็นที่เจริญตาเจริญใจ ปรากฏแก่มหาชนทั้งหลาย ต่างพากันแซ่ซ้องสาธุการเป็นอันมาก แล้วมหาชนก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพเคลื่อนจากที่นั้น ออกจากประตูเมืองบูรพทิศ ไปสู่มกุฏพันธนเจดีย์
ครั้นถึงยังที่จิตรกาธาร อันสำเร็จด้วยไม้จันทน์หอม งามวิจิตรซึ่งได้จัดทำไว้ ก็จัดการห่อพระพุทธสรีระศพด้วยทุกุลพัสตร์ภูษา ๕๐๐ ชั้น แล้วก็อัญเชิญลงประดิษฐานในหีบทอง ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมันหอมตามคำพระอานนท์เถระแจ้งสิ้นทุกประการ




ตอนที่ ๗๗ ถวายพระเพลิงแต่เพลิงไม่ติด


ครั้นเรียบร้อยแล้ว ก็อัญเชิญหีบทองนั้นขึ้นประดิษฐานบนจิตรกาธาร ทำการสักการบูชา แล้วกษัตริย์มัลลราชทั้ง ๘ องค์ ผู้เป็นประธานกษัตริย์ทั้งปวง ก็นำเอาเพลิงจุดเพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระเพลิงก็ไม่ติดตามประสงค์ แม้จะพยายามจุดเท่าใดก็ไม่บรรลุผล มัลลกษัตริย์มีความสงสัย จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธเถรเจ้าว่า
"ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุอันใด เพลิงจึงไม่ติดโพลงขึ้น"
"เป็นเหตุด้วยเทวดาทั้งหลาย ยังไม่พอใจให้ถวายพระเพลิงก่อน" พระอนุรุทธะกล่าว
"เทวดาต้องการให้คอยท่าพระมหากัสสปเถระ หากพระมหากัสสปเถระยังมาไม่ถึงตราบใด ไฟจะไม่ติดตราบนั้น"
"ก็พระมหากัสสปเถรเจ้า ขณะนี้อยู่ที่ไหนเล่า ท่านผู้เจริญ"
"ดูก่อนพระมหาบพิตร ขณะนี้ พระมหากัสสปเถระกำลังเดินทางมาใกล้จะถึงอยู่แล้ว" พระเถระกล่าว
กษัตริย์มัลลราชทั้งหลายก็อนุวัตรตามความประสงค์ของเทวดา พักคอยท่าพระมหากัสสปเถรเจ้าอยู่




ตอนที่ ๗๘ ดอกมณฑาตก


เวลานั้นพระมหากัสสปเถรเจ้า พาภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ เดินทางจากเมืองปาวาไปเมืองกุสินารา เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงวัน แสงแดดกล้าพระเถรเจ้าจึงพาพระภิกษุสงฆ์เข้าหยุดพักร่มไม้ริมทาง ด้วยดำริว่า ต่อเพลาตะวันเย็นจึงจะเดินทางต่อไป
ครั้นพระเถรเจ้าพักพอหายเหนื่อย ก็เห็นอาชีวกผู้หนึ่งเดินถือดอกมณฑากั้นศีรษะมาตามทาง ก็นึกฉงนใจ ด้วยดอกมณฑานี้หามีในมนุษย์โลกไม่ เป็นของทิพย์ในสุราลัยเทวโลก จะตกลงมาเฉพาะในเวลาอันสำคัญๆ คือ เวลาพระบรมโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ เวลาประสูติ เวลาเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ เวลาพระสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ เวลาแสดงธรรมจักร เวลาทรงทำยมกปาฏิหาริย์ เวลาเสด็จลงจากเทวโลก เวลาปลงอายุสังขาร และเวลาพระสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เท่านั้นไฉนกาลบัดนี้ จึงเกิดมีดอกมณฑาอีกเล่า ทำให้ปริวิตกถึงพระบรมศาสดา หรือพระบรมศาสดาจักเสด็จปรินิพพานแล้ว นึกสงสัยจึงได้ลุกขึ้นเดินเข้าไปใกล้อาชีวกผู้นั้น แล้วถามว่า
"ดูกร อาชีวก ท่านมาแต่ที่ใด"
"เมืองกุสินารา พระผู้เป็นเจ้า"
"ท่านยังได้ทราบข่าวคราวพระบรมครูของเราบ้างหรือ อาชีวก" พระเถรเจ้าถามสืบไป
"พระสมณโคดม ครูของท่านนิพพานเสียแล้วได้ ๗ วันถึงวันนี้" อาชีวกกล่าว
"ดอกมณฑานี้ เราก็ได้มาแต่เมืองกุสินารา เนื่องในการนิพพานของพระมหาสมณโคดม พระองค์นั้น"
เมื่อภิกษุทั้งหลายที่เป็นปุถุชน ได้ฟังถ้อยคำของอาชีวกบอกเช่นนั้นก็ตกใจ มีหฤทัยหวั่นไหวด้วยกำลังแห่งโทมนัส เศร้าโศกปริเทวนาการร่ำไห้ถึงพระบรมศาสดา ฝ่ายพระสงฆ์ที่เป็นพระขีณาสพก็เกิดความสังเวชสลดจิต
เวลานั้นมีภิกษุรูปหนึ่ง บวชเมื่อภายแก่ ชื่อ สุภัททะ เป็นวุฑฒบรรพชิต มีจิตดื้อด้านด้วยสันดานพาลชน เป็นอลัชชีมืดมน ย่อหย่อนในธรรมวินัย ลุกขึ้นกล่าวห้ามภิกษุว่า
"ท่านทั้งปวง อย่าร้องไห้ร่ำไรไปเลย บัดนี้เราพ้นอำนาจพระมหาสมณะแล้ว เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ย่อมจู้จี้ เบียดเบียนบังคับบัญชาห้ามปรามเราต่างๆ นานา ว่าสิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร บัดนี้ พระองค์ปรินิพพานแล้ว เราปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็จะทำได้ตามใจชอบ ไม่มีใครบังคับบัญชาห้ามปรามแล้ว"




ตอนที่ ๗๙ ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพ


พระมหากัสสปเถรเจ้าได้ฟังคำของพระสุภัททะ กล่าวคำจ้วงจาบพระบรมศาสดาเช่นนั้น ก็สลดใจยิ่งขึ้น ดำริว่า
"ดูเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานไปเพียง ๗ วันเท่านั้น ก็ยังเกิดมีอลัชชีมิจฉาจิต คิดลามกเป็นได้ถึงเช่นนี้ ต่อไปเมื่อหน้า จะหาผู้คารวะในพระธรรมวินัยไม่ได้ หากไม่คิดหาอุบายแก้ไขป้องกันให้ทันท่วงทีเสียแต่แรก เราจะพยายามทำสังคายนา ยกพระธรรมวินัยขึ้นไว้เป็นที่เคารพ แทนองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้จงได้"
พระเถรเจ้าทำไว้ในใจเช่นนั้นแล้ว ก็กล่าวธรรมกถา เล้าโลมภิกษุสงฆ์ทั้งหลายให้ระงับดับความโศกแล้ว รีบพาพระสงฆ์บริวารเดินทางไปยังนครกุสินารา ตรงไปยังมกุฎพันธนเจดีย์ ครั้นถึงยังจิตรกาธาร ที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระศพพระบรมศาสดาแล้ว ก็ทำจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลี กระทำประทักษิณเวียนพระจิตรกาธารสามรอบแล้ว เข้าสู่ทิศเบื้องพระยุคลบาท น้อมถวายอภิวาทแล้วตั้งอธิษฐานจิตว่า
"ขอให้พระบรมบาททั้งคู่ของสมเด็จพระบรมครู ผู้ทรงพระเมตตา เสด็จไปประทานอุปสมบทแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีนามว่า กัสสปะ ณ ร่มไม้พหุปุตตนิโครธ ทั้งยังทรงพระมหากรุณาโปรดประทานมหาบังสุกุลจีวรส่วนพระองค์ ให้ข้าพระองค์ได้ร่วมพระพุทธบริโภคโดยเฉพาะ จงออกจากหีบทองรับอภิวาทแห่งข้าพระพุทธเจ้ากัสสปะ ซึ่งตั้งใจมาน้อมถวายคารวะ ณ กาลบัดนี้เถิด"
ขณะนั้น พระบรมบาททั้งคู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้แสดงอาการประหนึ่งว่า พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ได้ทำลายคู่ผ้าทุกุลพัสตร์ที่ห่อหุ้มอยู่ทั้ง ๕๐๐ ชั้น กับทั้งพระหีบทองออกมาปรากฏในภายนอก ในลำดับแห่งคำอธิษฐานของพระมหากัสสปเถรเจ้า ดุจดวงอาทิตย์ที่แลบออกมาจากกลีบเมฆ ฉะนั้น พุทธบริษัททั้งปวงเห็นเป็นอัศจรรย์พร้อมกัน
ทันใดนั้น พระมหากัสสปเถระก็ยกมือขึ้นประคองรองรับพระยุคลบาทของพระบรมศาสดาขึ้นชูเชิดเทิดทูนไว้บนศีรษะ แล้วก็กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มิได้อยู่ปฏิบัติพระองค์ ไปอยู่เสียในเสนาสนะป่าอรัญญิกาวาส แม้พระองค์จะทรงพระกรุณาประทานโอกาสว่า ‘กัสสปะชราแล้ว ทรงบังสุกุลจีวรเนื้อหนา พาลจะหนัก จะทรงคหบดีจีวรอันทายกถวายบ้าง ก็ตามอัธยาศัย จงอยู่ในสำนักตถาคต' แม้จะทรงมหากรุณาถึงเพียงนี้ กัสสปะก็มิได้อนุวัตรตามพระมหากรุณา ได้ประมาทพลาดพลั้งถึงดังนี้ ขอภควันตมุนีได้ทรงพระกรุณาโปรดอดโทษานุโทษแก่ข้าพระองค์ อันมีนามว่ากัสสปะ ณ กาลบัดนี้"
ครั้นพระมหากัสสปะกับพระสงฆ์บริวาร ๕๐๐ และมหาชนทั้งหลาย กราบนมัสการพระบรมยุคลบาทโดยควรแล้ว พระบาททั้งสองก็ถอยถดหดหายจากหัตถ์พระมหากัสสปะ นิวัตนาการคืนเข้าพระหีบดังเก่า ทุกสิ่งทุกอย่างได้ตั้งอยู่เป็นปกติ มิได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวจากที่แต่ประการใด เป็นมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่อีกวาระหนึ่ง ขณะนั้น เสียงโศกาปริเทวนาการของมวลเทพยดาและมนุษย์ ซึ่งได้หยุดสร่างสะอื้นแล้วแต่ต้นวัน ก็ได้พลันดังสนั่นขึ้นอีก เสมอด้วยวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ขณะนั้น เตโชธาตุก็บันดาลติดพระจิตรกาธารขึ้นเองด้วยอานุภาพเทพยดา เพลิงได้ลุกพวยพุ่งโชตนาเผาพระพุทธสรีระศพพร้อมคู่ผ้า ๕๐๐ ชั้น กับหีบทองและจิตรกาธารหมดสิ้น ยังมีสิ่งซึ่งเพลิงมิได้เผาให้ย่อยยับไป ด้วยอานุภาพพุทธอธิษฐาน ดังนี้
๑ ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระชั้นใน ๑ ผืน
๒ ผ้าหุ้มภายนอก ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระ ๑ ผืน กับทั้ง
๓ พระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔
๔ พระรากขวัญทั้ง ๒
๕ พระอุณหิส ๑
รวมพระบรมธาตุ ๗ องค์นี้ ยังคงปกติอยู่ดี มิได้แตกกระจัดกระจาย และ พระบรมสรีรธาตุทั้งหลาย นอกนั้นแตกฉานกระจัดกระจายทั้งสิ้น มีสัณฐานต่างกันเป็น ๓ ขนาด คือ
๑ ขนาดโต มีประมาณเท่าเมล็ดถั่วแตก
๒ ขนาดกลาง มีประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหัก
๓ ขนาดเล็ก มีประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด
แท้จริง โดยปกติพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงมีพระชนมายุยืนยาวไม่แตกทำลาย คงอยู่เป็นแท่ง แต่พระบรมศาสดาทั้งหลายทรงดำริว่า
"ตถาคตจะมีชนมายุน้อย ประกาศพระศาสนาอยู่ไม่นานก็จะปรินิพพาน พระศาสนาจะไม่แผ่ไพศาลไปนานาประเทศ เหตุดังนี้ จึงขออธิษฐานว่า
เมื่อตถาคตปรินิพพานเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว พระธาตุทั้งหลายจงแตกกระจายออกเป็น ๓ สัณฐาน มหาชนจะได้เชิญไปนมัสการ ทำการสักการบูชาในนานาประเทศที่อยู่ของตนๆ จะเป็นทางให้เข้าถึงกุศล อันอำนวยผลให้บังเกิดในสุคติภพต่อไป
ครั้นเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว ท่ออุทกธารแห่งน้ำทิพย์ก็ตกลงจากอากาศ ดับเพลิงให้อันตรธาน มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ก็มีความชื่นบาน ได้อัญเชิญมาซึ่งถาดทอง อันเต็มไปด้วยสุคนธวารี มาโสรจสรงลงที่พระจิตรกาธาร แล้วก็เก็บพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลาย ใส่ไว้ในพระหีบทองน้อย กับให้ตกแต่งซึ่งพระราชสัณฐาคารในท่ามกลางพระนคร ให้งามวิจิตรตระการด้วยสรรพาภรณ์ควรเป็นที่สถิตประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่คารวะอันสูง แล้วให้อัญเชิญพระหีบทองพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นเหนือคชาธารช้างพระที่นั่ง อันตกแต่งด้วยเครื่องอลังการอันมีเกียรติสูง ทำการสักการบูชาด้วยธูปเทียนสุคนธมาลาบุปผชาติ แล้วแห่เข้าสู่ภายในพระนคร อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ เบื้องบนรัตนบัลลังก์ ภายใต้เศวตฉัตร ณ พระโรงราชสัณฐาคารนั้น




ตอนที่ ๘๐  แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ


มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย พากันกริ่งเกรงว่าอรินทรราชทั้งหลายจักยกแสนยากรมาช่วงชิงพระบรมสารีริกธาตุ จึงให้จัดตั้งจาตุรงคเสนาโยธาหาญพร้อมสรรพด้วยศัตราวุธ ป้องกันรักษาพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งภายในและภายนอกพระนครอย่างมั่นคง แล้วให้จัดการสมโภชบูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยเครื่องดุริยางค์ดนตรี ฟ้อนรำขับร้อง ทั้งกีฬานักษัตรนานาประการเป็นมโหฬารยิ่งนัก ตลอดกาลถึง ๗ วัน
ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตสัตตุราช ผู้ครองนครราชคฤห์ พระเจ้าลิจฉวี แห่งพระนครไพศาลี พระเจ้ามหานาม แห่งกบิลพัสดุ์นคร พระเจ้าฐุลิยราช แห่งเมืองอัลลกัปปนคร พระเจ้าโกลิยราช แห่งเมืองรามคาม พระเจ้ามัลลราช แห่งเมืองปาวานคร และมหาพราหมณ์ ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกนคร รวม ๗ นครด้วยกัน ล้วนมีความเลื่อมใสและความเคารพนับถือมั่นในพระพุทธศาสนา ครั้นได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระบรมศาสดา มีความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก จึงได้แต่งราชทูตส่งไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองกุสินารานคร เพื่อจะได้สร้างพระสถูปบรรจุไว้เป็นที่สักการบูชา เป็นสิริมงคลแก่พระนครของพระองค์สืบไป
ครั้นส่งราชทูตไปแล้ว ก็ยังเกรงไปว่ากษัตริย์มัลลราช แห่งกุสินารานั้น จะขัดขืนไม่ยอมดังปรารถนา จึงให้จัดโยธาแสนยากรเป็นกองทัพ พร้อมด้วยจาตุรงคโยธาเสนาหาญครบถ้วนด้วยศัตราวุธเต็มกระบวนศึก เดินทัพติดตามราชทูตไป ด้วยทรงตั้งพระทัยว่า หากกษัตริย์มัลลราชแห่งนครกุสินาราขัดขืน ไม่ยอมให้ด้วยไมตรี ก็จะยกพลเข้าโหมหักบีบบังคับ เอาพระบรมธาตุด้วยกำลังทหาร
เมื่อกษัตริย์ทั้งหลายมีพระเจ้าอชาตสัตตุราช เป็นอาทิ ต่างยกจาตุรงคเสนาโยธาหาญมาถึงชานเมืองกุสินารา โดยลำดับ ครั้นทราบข่าวจากราชทูตว่า มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ไม่ยอมให้พระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดาดังประสงค์ ก็ไม่พอพระทัย ต่างก็ยกทัพเข้าประชิดกำแพงพระนคร จัดตั้งพลับพลาและตั้งค่ายเรียงรายพระนครกุสินารา รวม ๗ ทัพด้วยกัน แล้วให้ทหารร้องประกาศเข้าไปในเมืองว่า ให้มัลลกษัตริย์เร่งปันส่วนพระบรมสารีริกธาตุให้โดยดี แม้มิให้ก็จงออกมาชิงชัยยุทธนาการกัน
ฝ่ายมัลลกษัตริย์ในเมืองกุสินารานั้น เห็นกองทัพยกมาผิดรูปการณ์เป็นไมตรีเช่นนั้น ก็ตกใจสั่งให้ทหารประจำที่ รักษาหน้าที่เชิงเทินปราการรอบพระนครให้มั่นคง เมื่อได้ยินทหารร้องประกาศเข้ามาดังนั้น ก็ให้ทหารบนเชิงเทินร้องตอบไปว่า
"พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาปรินิพพานในพระนครของเรา ความจริง เราก็มิได้ไปทูลอัญเชิญให้เสด็จ และเราก็มิได้ส่งข่าวสารไปเชิญทูลเสด็จ พระองค์เสด็จมาเอง แล้วส่งพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ให้มาบอกให้เราไปสู่สำนักพระองค์ แม้เพียงดวงแก้วอันมีค่าเกิดในเขตแคว้นแดนเมืองของท่าน ท่านก็มิได้ให้แก่เรา ก็แล้วแก้วอันใดเล่าจะประเสริฐเสมอด้วยแก้ว คือ พระพุทธรัตนะ และก็เมื่อเราได้ซึ่งปฐมอุดมรัตนะเช่นนี้แล้ว ที่จะให้แก่ท่านทั้งปวงอย่าพึงหวังเลย ใช่ว่าจะดื่มน้ำนมมารดา และเป็นบุรุษแต่เฉพาะท่านทั้งหลาย ก็หาไม่ แม้เราก็ดื่มน้ำนมมารดา เป็นบุรุษเหมือนกัน จะขยาดเกรงกลัวท่านเมื่อไรมี"
กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายต่างทำอหังการแก่กันและกันด้วยขัตติยมานะ คุกคามท้าทายด้วยถ้อยคำมีประการต่างๆ ใกล้จะทำสงครามสัมประหารซึ่งกันและกันอยู่แล้ว
ในกาลนั้น โทณพราหมณ์ ผู้เป็นบัณฑิต เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์สอนไตรเพทแก่กษัตริย์ทั้งหลาย พิจารณาเห็นเหตุอันพึงจะมี ในสิ่งซึ่งมิใช่เหตุอันควรสัมประหารซึ่งกันและกัน จึงดำริว่า เราควรจะระงับเสียซึ่งการวิวาทของกษัตริย์ทั้งปวง และชี้ให้เห็นประโยชน์แห่งความสามัคคีเถิด
ครั้นโทณพราหมณ์ดำริเช่นนั้นแล้ว จึงขึ้นยืนอยู่บนที่สูง ปรากฏร่างแก่กษัตริย์ทั้งหลาย พร้อมกับกล่าววาจาห้ามว่า
"ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ขอทุกท่านจงสงบใจฟังคำของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นคำที่ท่านทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามโดยส่วนเดียวเถิด"
ครั้นโทณพราหมณ์ เห็นกษัตริย์ทั้งหลายตั้งใจสดับฟังถ้อยคำของตนเช่นนั้น จึงกล่าวต่อไปว่า
"ข้าแต่ท่านผู้จอมแห่งประชาราษฎร์ทั้งหลาย แท้จริงทุกๆ ท่าน ก็มิใช่สักการะ เคารพบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยฐานที่พระองค์เป็นกษัตริย์ที่สูงโดยชาติและโคตร หรือสูงโดยเกียรติ ยศ ศักดิ์ และทรัพย์สมบัติแต่ประการใดเลย ปรากฏว่า เราทั้งหลายสักการะ เคารพ บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยธรรมด้วยความเชื่อถือในธรรมที่พระองค์ทรงประทานไว้ทั่วกัน
ก็ธรรมทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้นั้น พระองค์ทรงสรรเสริญขันติความอดทน อหิงสา ความไม่เบียดเบียนและสามัคคี ความพร้อมเพรียงกัน อันเป็นธรรมทรงคุณค่าอันสูง ควรที่คนทั้งหลายจะพึงปฏิบัติทั่วกัน เมื่อเป็นดังนั้นแล้วเหตุอันใดเล่า เราควรจะพึงวิวาทกัน ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรเลย
เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลาย จงสามัคคีปรองดองกันเถิด ขอทุกท่านจงมีส่วนได้พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า อัญเชิญไปสักการะจงทั่วกันเถิด ขอพระบรมสารีริกธาตุที่เคารพบูชาอันสูง จงแพร่หลายออกไปยังพระนครต่างๆ เพื่อเป็นที่สักการะ เคารพ บูชาของมหาชนทั้งปวงเถิด"
เมื่อกษัตริย์ทั้งปวง ได้สดับคำของโทณพราหมณ์อันชอบด้วยธรรมอันสอดคล้องต้องกันกับรัฐประศาสโนบายเช่นนั้น ก็ได้สติ ดำริเห็นสอดคล้องต้องตามคำของโทณพราหมณ์ เลื่อมใสในถ้อยคำนั้น แล้วพร้อมกันตรัสว่า
"ชอบแล้ว ท่านอาจารย์ ขอท่านอาจารย์จงแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุออกเป็นส่วนๆ ให้เป็นของควรแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะพึงอัญเชิญไปสักการบูชาตามปรารถนาเถิด"
เมื่อโทณพราหมณ์ได้สดับคำยินยอมพร้อมเพรียงของกษัตริย์ทั้งปวงเช่นนั้น ก็ให้เปิดประตูเมืองกุสินารา อัญเชิญกษัตริย์ทั้งปวงเข้ามาภายในแล้ว ให้อัญเชิญไปประชุมพร้อมกันยังพระโรงราชสัณฐาคารที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แล้วให้เปิดพระหีบทองน้อยที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุให้กษัตริย์ทั้งปวงพร้อมกันถวายอภิวาทสมตามมโนรถ
ขณะนั้นพระบรมสารีริกธาตุอันทรงพรรณพิลาศงามโอภาสด้วยรัศมี ซึ่งปรากฏอยู่ในพระหีบทอง เฉพาะพระพักตร์ ได้เตือนพระทัยกษัตริย์ทั้งปวง ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้มีพระภาค กษัตริย์ทั้งปวงจึงได้ทรงกันแสงปริเทวนาการต่างๆ ครั้งนั้นโทณพราหมณ์เห็นกษัตริย์ทั้งหลายมัวแต่โศกศัลย์รันทดอยู่เช่นนั้น จึงหยิบพระทักษิณทาฐธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้วข้างขวาเบื้องบน ขึ้นซ่อนไว้ในมวยผม แล้วจัดการตักตวงพระบรมสารีริกธาตุด้วยทะนานทอง ถวายกษัตริย์ทั้ง ๘ พระนคร ซึ่งประทับอยู่ณ ที่นั้น ได้พระนครละ ๒ ทะนานเท่าๆ กันพอดี รวมพระบรมธาตุเป็น ๑๖ ทะนานด้วยกัน




ตอนที่ ๘๑ ท้าวสักกะอัญเชิญพระทักษิณทาฐธาตุไปเทวโลก


ขณะที่โทณพราหมณ์กำลังตักตวงพระบรมธาตุถวายกษัตริย์ทั้งหลายอยู่นั้น ท้าวสักกอมรินทราธิราชทรงทราบด้วยทิพยจักษุว่า โทณพราหมณ์ลอบหยิบเอาพระทักษิณทาฐธาตุซ่อนไว้ในมวยผม จึงทรงดำริว่า
"กำลังโทณพราหมณ์ไม่สามารถจะทำที่สักการบูชาเชิดชูพระบรมธาตุนั้นให้สมแก่พระเกียรติอันสูงได้ สมควรจะเอาไปประดิษฐานไว้ยังเทวโลก ให้เทวดาและพรหมทั้งหลายสักการบูชาเถิด"
ครั้นดำริแล้วก็แฝงพระกายลงมาหยิบเอาพระทักษิณทาฐธาตุ เชิญลงสู่พระโกษทองน้อย ยกขึ้นทูลพระเศียรเกล้าอัญเชิญไปบรรจุไว้ที่พระจุฬามณีเจดีย์ ณ สุราลัยเทวสถาน
ฝ่ายโทณพราหมณ์ ครั้นแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุถวายกษัตริย์ทั้งปวงเสร็จแล้ว ก็ยกมือขึ้นค้นหาพระทักษิณทาฐธาตุบนมวยผม ไม่พบก็เสียใจเป็นอันมาก ครั้นจะไต่ถามหาตัวคนเอาไป ว่าผู้ใดมาลอบเอาพระทักษิณทาฐธาตุบนมวยผมไป ก็ไม่กล้าออกปากด้วยละอายแก่ใจ เกรงว่ากษัตริย์ทั้งหลายจะยกโทษ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติของตนจึงสงบใจไว้ ไม่แสดงอาการอันใดออกมา แต่แล้วก็ดำริสืบต่อไปว่าทะนานทองใบนี้ ก็มีส่วนนับเนื่องในพระบรมสารีริกธาตุเป็นของวิเศษ ควรแก่การสักการบูชาอยู่ ควรที่อาตมาจะนำไปสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้เป็นที่สักการบูชาเถิด
ครั้นตกลงใจเช่นนั้นแล้วจึงกล่าวแก่กษัตริย์ทั้งปวงว่า
"ข้าแต่บพิตรทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอประทานทะนานทองตวงพระบรมธาตุใบนี้ เพื่อจะอัญเชิญไปสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้เป็นที่สักการบูชา กษัตริย์ทั้งหลายก็พร้อมใจกันยินยอมพระราชทานแก่โทณพราหมณ์ เพื่อไปสร้างพระตุมพเจดีย์บรรจุตามปรารถนา
ภายหลังกษัตริย์ในเมืองโมรีนคร ได้ทราบข่าวพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน จึงส่งราชทูตให้มาทูลขอพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองกุสินารานคร ทั้งยกพลพยุหเสนาตามมาภายหลัง กษัตริย์กุสินาราจึงแจ้งว่า พระบรมสารีริกธาตุนั้น กษัตริย์ทั้ง ๘ พระนครได้ไปประชุมแบ่งปันกันหมดสิ้นแล้ว ยังอยู่แต่พระอังคาร ขอให้อัญเชิญพระอังคารไปทำการสักการบูชาเถิด กษัตริย์โมรีนครก็อัญเชิญพระอังคารไปทำสักการบูชายังพระนครของตน




ตอนที่ ๘๒ พระสถูปเจดีย์สถาน



ในสมัยนั้นบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ต่างองค์ต่างก็จัดขบวนอันมโหฬาร อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังพระนครของตนด้วยเกียรติยศอันสูง แล้วให้ก่อพระสถูปเจดีย์ขึ้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เป็นที่สักการบูชาของมหาชน จึงปรากฏว่ามีพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ดังนี้
๑ พระธาตุเจดีย์ที่เมืองราชคฤห์
๒ พระธาตุเจดีย์ที่เมืองไพศาลี
๓ พระธาตุเจดีย์ที่เมืองกบิลพัสดุ์
๔ พระธาตุเจดีย์ที่เมืองอัลลกัปปนคร
๕ พระธาตุเจดีย์ที่เมืองรามนคร
๖ พระธาตุเจดีย์ที่เมืองเวฏฐทีปกนคร
๗ พระธาตุเจดีย์ที่เมืองปาวานคร
๘ พระธาตุเจดีย์ที่เมืองกุสินารานคร
๙ พระอังคารเจดีย์ที่เมืองโมรีนคร
๑๐ พระตุมพเจดีย์ที่เมืองกุสินารานคร
รวมเป็น ๑๐ เจดีย์ด้วยกัน ยังส่วนต่างๆ ที่เป็นส่วนของพระบรมธาตุบ้าง ที่เป็นส่วนบริขารพุทธบริโภคบ้าง ก็ปรากฏว่าได้รับอัญเชิญไปสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้ในเมืองต่างๆ ดังนี้
๑ พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา กับพระรากขวัญเบื้องขวา ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์สถาน ณ ดาวดึงสเทวโลก
๒ พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา เดิมไปประดิษฐาน ณ เมืองกาลิงคราฐ แต่บัดนี้ไปสถิตอยู่ในลังกาทวีป
๓ พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารราฐ
๔ พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ในนาคพิภพ
๕ พระรากขวัญเบื้องซ้าย กับพระอุณหิส ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ ณ พรหมโลก
ส่วนพระทนต์ทั้ง ๓๖ และพระเกศา พระโลมา กับทั้งพระนขาทั้ง ๒๐ นั้น เทพยดาอัญเชิญไปองค์ละองค์ สู่จักรวาลต่างๆ
อนึ่ง พระบริขารพุทธบริโภคทั้งหลายนั้น ก็ได้รับอัญเชิญไปบรรจุไว้ในสถูปตามนครต่างๆ ดังนี้
๑ พระกายพันธ์ สถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร
๒ พระอุทกสาฎก สถิตอยู่ที่เมืองปัญจาลราฐ
๓ พระจัมมขันธ์ สถิตอยู่ที่เมืองโกสลราฐ
๔ ไม้สีฟัน สถิตอยู่ที่เมืองมิถิลา
๕ พระธมกรก สถิตอยู่ที่เมืองวิเทหราฐ
๖ มีดกับกล่องเข็ม สถิตอยู่ที่เมืองอินทปัตฐ์
๗ ฉลองพระบาทและถลกบาตร สถิตอยู่ที่เมืองอุสิรพราหมณคาม
๘ เครื่องลาด สถิตอยู่ที่เมืองมกุฏนคร
๙ ไตรจีวร สถิตอยู่ที่เมืองภัททราฐ
๑๐ บาตร เดิมสถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร ภายหลังไปอยู่เมืองลังกาทวีป นิสีทนะสันถัด สถิตอยู่ที่เมืองกุรุราฐ
พระสังคีติกาจารย์ได้พรรณาประมวลพระสถูปเจดีย์ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระบริขารพุทธบริโภคไว้ด้วยประการฉะนี้
วนฺทามิ เจติยํ สพฺพํ สพฺพฏฺฐาเน สุปติฏฺฐิตํ สารีริกธาตุมหาโพธิ พุทธรูปํ สกลํ สทาฯ
ข้าฯขอน้อมไหว้พระเจดีย์ในทั่วทุกสถาน ทั้งพระปะระมะธาตุพระทรงญาณ ซึ่งประดิษฐานโอฬารรูจี
ไหว้พระมหาโพธิพวยพุ่งรุ่งโรจน์ร่มรื่นฤดี เป็นไม้พระตรัสจำรัสรัศมีของพระชินศรีศาสดาจารย์
ไหว้พระปฏิมารูปพระตถาคตเจ้าทรงญาณ ทั้งน้อยทั้งใหญ่เก่าใหม่ทุกสถาน ข้าฯขอนมัสการเป็นนิรันดรฯ




สามารถอ่านพุทธประวัติโดยละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
และขอขอบคุณข้อมูล จากที่มาด้านล่างทั้งหมด


๑.http://www.learntripitaka.com/History/Buddhist.html

๒.http://www.heritage.thaigov.net/religion/bio/index.htm

๓.http://watsansai.igetweb.com/index.php?mo=3&art=22416

๔.http://blog.spu.ac.th/51022574/2008/06/27/entry-1

๕.http://www.panyathai.or.th/

.http://www.wikipedia.org


๗.http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/prasut/

view