ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก อ.วศิน อินทสระ
พระพุทธโอวาทในโอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ข้อ คือ
๑. การไม่ทำชั่วทั้งปวง (สพฺพปาปสฺส อกรณํ) ๒. การทำกุศลคือความดีให้พรั่งพร้อม (กุสลสฺสูปสมฺปทา) ๓. การทำจิตให้ผ่องแผ้ว (สจิตฺตปริโยทปนํ)
๑. การไม่ทำชั่วทั้งปวง
ความชั่วมีหลายอย่าง แต่ที่เป็นมูลรากเรียกว่า อกุศลมูล พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๓ อย่างคือ โลภ โกรธ หลง เมื่อ ๓ อย่างนี้แม้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้ความชั่วอื่น ๆ ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดมีอยู่แล้วเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ละเสีย
๑.๑ การละความโลภ
๑. ความโลภอย่างหยาบ เช่น โลภอยากได้ของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรมต้องโกงหรือแย่งชิงเขาเป็นต้น พวกเด็กเล็ก ๆ เป็นกันมาก ยกตัวอย่าง เด็กที่เห็นของเล่นของเพื่อนที่ตัวเล็กกว่า แย่งของเขามาเป็นของตนในผู้ใหญ่ก็มีเหมือนกันแต่ไม่ค่อยทำซึ่งหน้า มักทำอย่างลับ ๆ ทั้งนี้เพราะความละอายบ้าง เพราะเกรงกลัวโทษทางกฎหมายบ้าง วิธีสอนให้เด็กละความโลภแบบนี้ก็คือลองถามแกดูว่า ถ้าเป็นของ ๆ แก มีใครมาแย่งชิงไปแกพอใจไหม ? แกโกรธไหม ? ถ้าเด็กบอกว่าไม่พอใจและโกรธ ก็บอกว่า เมื่อเราไปแย่งของเขา เขาก็ไม่พอใจและโกรธเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จงเว้นการแย่งชิงของ ๆ ผู้อื่น ในผู้ใหญ่ก็พูดทำนองนี้ แต่เน้นเรื่องเกียรติให้มาก เพราะผู้ใหญ่นิยมสงวนท่าทีและรักเกียรติโดยเฉพาะผู้ที่เริ่มจะเป็นผู้ใหญ่มักมีความรู้สึกในเรื่องเกียรติสูง
๒. ความโลภอย่างกลาง คือความไม่รู้จักพอ ความไม่รู้จักประมาณในการแสวงหาในการได้ แสวงหาและอยากได้เกินจำเป็น ท่านมหาตมะคานธีกล่าวว่า ตามมติของท่านการสะสมทรัพย์ไว้เกินจำเป็น เป็นการขโมย ข้อนี้อธิบายได้ว่า ทรัพย์สมบัติในโลกเป็นของกลางเป็นของโลก มีไว้เพื่อคนในโลก ใครที่สะสมถือกรรมสิทธิ์ไว้เป็นส่วนตัวมากเกินไป ย่อมทำให้ผู้อื่นขาดแคลน ยากในการแสวงหาและบริโภคใช้สอย ผู้มีปัญญามองเห็นความจริงว่า การสะสมทรัพย์มีคุณค่าน้อยกว่า การสะสมปัญญาและคุณธรรม ไม่ต้องแย่งกับใครมีให้อย่างเหลือเฟือ เป็นคุณค่าภายในเป็นคุณค่าแท้ บางคนสะสมที่ดิน สะสมไว้ทำไมมากมาย ควรคิดถึงคนอื่นซึ่งเขาไม่มีที่ดินบ้าง ด้วยเหตุนี้จึงควรสะสมทรัพย์ภายนอก แต่พออาศัยกินอาศัยใช้ แล้วใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสะสมปัญญาและคุณงามความดี เพราะปัญญาและคุณงามความดีติดตามตัวเราไปได้ทุกหนทุกแห่งทั้งชาตินี้ และชาติหน้า ส่วนทรัพย์สินนั้นติดตามไปในปรโลกไม่ได้ ยังจะนำอันตรายมาให้ในชาตินี้อีกด้วย การคิดได้อย่างนี้เป็นอันละความโลภขั้นนี้ไปในตัว
๓. ความโลภอย่างละเอียด หมายถึงความติดใจหมกมุ่นพัวพันในทรัพย์สินของตน หวงแหน เฝ้าพิทักษ์รักษาเอาใจจดจ่อ จนไม่เป็นอันหลับอันนอนหรือไปไหนไม่ได้ มีความตระหนี่เหนียวแน่นอย่างยิ่ง ความโลภอย่างละเอียดนี้ แก้ได้ด้วยการพิจารณาเนือง ๆ ถึงโทษของความหวงแหนติดพันว่าเป็นสนิมของใจ ทำตนให้ตกเป็นทาสของสิ่งที่มี ก็จะลดความโลภชนิดนี้ลงได้บ้าง
๑.๒ การละความโกรธ
วิธีละความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ตำราทั้งหลายทั้งทางจิตวิทยาและทางศาสนาได้พูดถึงไว้มาก พอสรุปได้ดังนี้
๑. ให้พิจารณาถึงโทษของความโกรธ เช่น ความโกรธทำให้ร่างกายผิดปกติ การไหลเวียนของโลหิตไม่สม่ำเสมอ ทำให้หัวใจเต้นแรง ไม่หิวอาหารและทำให้อาหารไม่ย่อย เป็นเหตุให้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ เป็นต้น นอกจากนี้ความโกรธยังทำให้แสดงอาการหยาบคายกระด้าง ไม่สุภาพอย่างที่เคยเป็นในเวลาปกติ ทำให้เสียบุคลิก ลดเสน่ห์ในตัวเอง เพราะความโกรธอาจทำให้ฆ่าคนได้ อันเป็นโทษทั้งในปัจจุบันและอนาคต
๒. เห็นอกเห็นใจและให้อภัย พิจารณาเนือง ๆ ว่า คนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน มีวาสนาบารมีมาต่างกัน สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน การศึกษาอบรมก็ต่างกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นการยากที่จะเป็นไปอย่างใจเรา บางทีเราอยากมากเกินไปหรือเปล่า คือ อยากให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการจะให้เป็น แต่เขาเป็นไม่ได้เพราะเขาไม่ใช่เรา แม้ตัวเราเองก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้อย่างที่ต้องการทุกครั้งไป
๓. แผ่เมตตา ข้อนี้หมายความว่า หัดแผ่เมตตาบ่อย ๆ การแผ่เมตตาคือการสำรวมใจให้สงบแล้วบริกรรม คือนึกในใจว่าสัตว์ทั้งหลาย บุคคลทั้งหลายจงมีความสุข ปราศจากทุกข์เถิด อย่าได้เบียดเบียนกัน ขอให้มีความโปร่งใจ อย่าได้คับแค้นใจ อย่าว่าแต่เพียงปาก ขอให้จิตใจของเราอ่อนโยน ปรารถนาสุขแก่เขาจริง ๆ
๔.ลองนึกถึงจริยาของพระพุทธเจ้าทั้งในชาติอดีตและชาติสุดท้ายของพระองค์ท่าน ว่าท่านถูกเบียดเบียนใส่ร้ายป้ายสีอยู่มิใช่น้อย แต่พระองค์ท่านก็มีพระทัยสงบ ไม่โกรธ ไม่เกลียดผู้เบียดเบียน มีแต่หวังประโยชน์สุขแก่เขา เราจึงเคารพนับถือท่านเหลือเกิน
๕. ลองนึกถึงความสัมพันธ์อันยาวนาน ข้อนี้หมายความว่า ในสังสารวัฏอันยาวนานที่เราเวียนเกิดเวียนตายอยู่นี้ คนเราเคยเป็นอะไร ๆ กันมามาก อาจเคยมีความสัมพันธ์เป็นพ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยากันมาในอดีต ชาติใดชาติหนึ่ง คนที่เรากำลังโกรธอยู่เดี๋ยวนี้ อาจเคยเป็นมารดาหรือบิดาของเรา เคยลำบากยากเข็ญเป็นนักหนา เพื่อถนอมชีวิตเรา หรืออาจเคยสละชีวิตเพื่อเรา
๖. สงเคราะห์เอื้อเฟื้อ การสงเคราะห์เอื้อเฟื้อกันเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยให้มีสัมพันธไมตรีต่อกันดีขึ้น การให้เป็นเครื่องสมานไมตรีและเป็นเครื่องผูกมิตร ทำให้จิตใจของอีกฝ่ายหนึ่งอ่อนโยนและจิตของเราก็อ่อนโยนลงด้วย ๗. ลองนึกแยกธาตุ พิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่ามนุษย์เราประกอบด้วยธาตุ ๔ หรือธาตุ ๖ กล่าวคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และวิญญาณ เราโกรธอะไร ? โกรธธาตุ ๔ โกรธทำไม ? โกรธไปก็แค่นั้น ไม่มีอะไรดีขึ้น อีกไม่นานทั้งเขาและเราก็จะตายจากกันไป ทำใจให้สบายดีกว่า เมื่อคิดได้ดังนี้ เข้าใจว่าความโกรธคงระงับลง หมั่นพิจารณาเนือง ๆ ก็จะลดความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วได้ อันที่จริงบางทีที่เราโกรธก็เพราะถือนั่นถือนี่ ถือตัวถือตน ว่าเราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ คิดแล้วก็เจ็บใจ ที่เจ็บใจก็เพราะนำมาคิด ถ้าไม่คิดเสียก็ไม่เจ็บใจและหมดเรื่อง
๑.๓ การละความหลง
ความหลง คือความไม่รู้ตามจริง ความเขลา ความมืดของดวงจิต ที่ว่าไม่รู้ตามเป็นจริงนั้น คือรู้ไปเสียอีกอย่างหนึ่งจากความเป็นจริง เมื่อเป็นดังนี้จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนขึ้น คือทำให้เห็นผิด เข้าใจผิด สำคัญมั่นหมายผิด เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ ส่วนสิ่งที่ไม่เป็นสาระ กลับเห็นว่าเป็นสาระ ดังนี้เป็นต้น เรียกว่าความหลง ที่หลงเพราะขาดปัญญาขาดโยนิโสมนสิการ คือ ความรอบรู้ และความรอบคอบ เมื่อสาดแสงสว่างคือปัญญาเข้าไปความมืดก็หายไป ความหลงผิดก็ย่อมหายไปด้วย เหมือนอย่างว่าคนยืนอยู่ในที่มืดมองอะไร ๆ เห็นไม่ถนัด จึงทำให้เข้าใจผิด เห็นผิดไปจากความเป็นจริงเช่นอาจเห็นกิ่งไม้เป็นแขนของผี เห็นตอไม้เป็นหัวผีเป็นต้น แต่พอสาดแสงสว่างเข้าไปก็ได้เห็นตามเป็นจริงข้อนี้ฉันใดในชีวิตคนก็เหมือนกัน เพราะใจมืดด้วยกิเลสต่าง ๆ จึงทำให้เห็นผิดเข้าใจผิด พอแสงสว่างคือปัญญาเกิดขึ้น ทำลายโมหะได้ ก็ย่อมเห็นตามเป็นจริง การพัฒนาจิตและปัญญาให้เจริญจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำลายโมหะ พระพุทธองค์ตรัสว่า ความหลงก่อให้เกิดโทษนานาประการ โมหะทำให้จิตฟุ้งซ่าน เร่าร้อน เมื่อใดความหลงครอบงำบุคคล เมื่อนั้นเขามีแต่ความมืดเด็ก ๆ มีโมหะมาก ยังไม่ได้อบรมจิตและปัญญา จึงขาดเหตุผล คิดเอาแต่อารมณ์ตัว ผู้ใหญ่ที่อบรมจิตและปัญญาแล้ว โมหะย่อมน้อยลง ดำเนินชีวิตตามเหตุผลมากขึ้น ส่วนผู้ใหญ่ที่ไม่ได้อบรมจิตและปัญญาก็คงเหมือนเด็กที่อายุมากขึ้นเท่านั้นเอง และดูน่ารำคาญกว่าเด็กจริง ๆ เสียอีก โลภ โกรธ หลง ทั้ง ๓ ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในฐานเป็นอกุศลมูล คือ รากเหง้าของอกุศล ต้นเค้าของความชั่ว เมื่อโลภ โกรธ หรือหลงเกิดขึ้น อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น ขอให้ลองพิจารณาดูเถิด ไม่ว่าความชั่วใด ๆ ที่เกิดแก่ตัวเราหรือสังคม ย่อมต้องมีกิเลส ๓ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นมูลอยู่ทั้งนั้น ถ้าโลภ โกรธ หลงเบาบางลง ความทุกข์และเรื่องยุ่งต่าง ๆ ก็จะเบาบางลงด้วย ความทุกข์ก็ลดน้อยลงด้วยเหมือนกัน
๒. การทำความดีให้พรั่งพร้อม
เมื่อละชั่วได้แล้ว ถ้ายังไม่ทำความดี ชีวิตก็ยังพร่องอยู่ยังมิได้ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ซึ่งเขาเหล่านั้นได้ทำประโยชน์ให้แก่เรา โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง คนเราทุกคนเกิดมาพร้อมด้วยหนี้บุญคุณของผู้อื่น มีมารดาบิดาเป็นต้น จึงต้องทำความดีเพื่อใช้หนี้สังคม จริงอยู่ การละความชั่วได้นั้นเป็นความดีอย่างหนึ่ง แต่ชีวิตจะไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่ทำความดีด้วย ดังกล่าวแล้ว
๒.๑ วิธีสร้างความดี
การทำความดีนั้นต้องมีวิธีทำหรือวิธีสร้างต่อไปนี้เป็นวิธีการบางอย่างในการทำความดี ซึ่งมีอย่างน้อย ๒ วิธีคือ
๑. พยายามให้กุศลจิตเกิดขึ้นบ่อย ๆ ด้วยมนสิการถึงคุณความดี หรือพิจารณาถึงคุณค่าของความดี
๒. เมื่อกุศลจิตคือความคิดที่จะทำความดี (ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง) เกิดขึ้นแล้วให้รีบทำทันที เพราะถ้ายังลังเลรีรออยู่ จิตใจจะน้อมไปในบาปหรือในความชั่ว กล่าวคืออาจกลับใจไม่ทำเสีย ข้อความทั้ง ๒ ดังกล่าวมา สมกับพระพุทธภาษิตที่ว่า 'อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ ปาปา จิตฺตํ นิวารเย ทนฺธิ หิ กรโต ปุญญํ ปาปสฺมึ รมตี มโน" แปลว่า "ควรรีบทำความดี ควรห้ามจิตเสียจากบาป เมื่อทำความดีช้า ๆ หรือมัวลังเลรีรออยู่ ใจย่อมยินดีในความชั่ว" ทั้งนี้เพราะจิตใจของคนเรากลับกลอกแปรปรวนเร็ว เดี๋ยวจะเอาอย่างนั้น เดี๋ยวจะเอาอย่างนี้ ตามไม่ค่อยทัน เพราะความนึกคิดของคนนั้นไม่เที่ยง มีเหตุปัจจัยปรุง เมื่อเหตุปัจจัยปรุงให้ดีก็ดีไปชั่วคราว พอเปลี่ยนเหตุปัจจัยใหม่ คือได้เหตุปัจจัยชั่วก็กลับเป็นชั่วเสียอีก น่าเบื่อหน่าย พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านจึงฝึกทำใจของท่านให้มั่นคง แจ่มใส จนเหตุปัจจัย ๆ อะไร ๆ ทำให้แปรปรวนไม่ได้ สงบอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเด็ก ๆ ที่ประเดี๋ยวก็หัวเราะ ประเดี๋ยวก็ร้องไห้
๒.๒ วิธีรักษาคุณความดี
การรักษาคุณความดีเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ และตามความรู้สึกของข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นภาระอันมีเกียรติยิ่ง การกระทำสิ่งใดก็ตาม ถ้าเป็นการกระทำเพื่อรักษาความดีก็รู้สึกว่าเป็นการกระทำที่มีเกียรติ แม้จะทุกข์ยากลำบาก และขมขื่นบ้างก็มีความชื่นใจแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ด้วย การทำความดี ยังง่ายกว่าการรักษาคุณความดี เปรียบเหมือนการมีลูกง่ายกว่าการเลี้ยงดูบำรุงรักษาลูกบางคนทำความดีมาเกือบตลอดชีวิต พอรักษาคุณความดีไว้ไม่ได้สักครั้งสองครั้งก็กลายเป็นคนเสียและคนก็มักพูดถึงตรงเสียนั้น แกงอย่างดีทั้งหม้อใหญ่ พอแมลงวันลงไปนอนตายอยู่สักตัว ผู้ที่จะมาซื้อกินก็รังเกียจ มีแต่เจ้าของแกงเท่านั้นที่จะหาทางแก้ไข เช่น ตักแมลงวันทิ้งแล้วต้มให้เดือดใหม่ ชีวิตของคนก็เหมือนกัน มีดีมาก มีชั่วเพียงเล็กน้อย คนทั้งหลายก็เพ่งมอง และพากันรังเกียจตรงชั่วเล็กน้อยนั่นแหละ ผ้าขาวทั้งผืนมีจุดดำอยู่นิดเดียวก็มองเห็นเป็นตำหนิและเห็นเด่นชัดมาก ชีวิตของคนก็เหมือนกันยิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องมากเท่าใด ข้อบกพร่องเล็กน้อยคนก็ยิ่งมองเห็นได้ง่าย เพราะฉะนั้น การรักษาคุณความดีจึงเป็นของยากอย่างยิ่ง พระอริยเจ้าทั้งหลายจึงพยายามทำความดีชนิดที่ไม่ต้องเป็นภาระกังวลกับการรักษาอีกต่อไป สิ่งที่จะมาทำลายความดีก็คือความชั่ว สิ่งที่จะให้ทำความชั่วก็คือกิเลส การทำลายกิเลสจึงเท่ากับทำลายบ่อเกิดของความชั่ว เมื่อกิเลสสิ้นแล้ว จึงไม่ต้องกังวลกับเรื่องการรักษาความดีอีกต่อไป เป็นการปลดเปลื้องภาระอันยิ่งใหญ่ เป็นความสงบสุขอันยิ่งใหญ่ คราวนี้ ปัญหาว่า อะไรคือเครื่องมือในการรักษาคุณความดี คำตอบก็คือความไม่ประมาท กล่าวคือการมีสติระวังอยู่เสมอ ไม่นิ่งนอนใจ ไม่วางใจ อย่างที่พระพุทธะจ้าตรัสว่า "ภิกฺขุ วิสฺสาสมา ปาทิ อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ แปลว่า เมื่อยังไม่ถึงความสิ้นกิเลสก็อย่านอนใจ ความชั่วที่จะมาทำลายความดีนั้นมักเกิดจากความนอนใจ หรือความประมาทว่าไม่เป็นไร รูรั่วน้อย ๆ ของเรืออาจทำให้เรือจมได้ ไฟน้อย ๆ อาจเผาเมืองได้ เพราะฉะนั้นผู้รักษาเรือ รักษเมือง จึงไม่ควรประมาท ควรรีบอุดรูรั่วและดับไฟดุ้นน้อยที่จะเป็นอันตรายนั้นเสีย เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจลุกลามใหญ่โตเป็นสงครามกลางเมืองได้แบบ "น้ำผึ้งหยดเดียว" ผู้ต้องรักษาความสามัคคีจึงต้องระวังเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่ประมาท เพราะความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา มองในทางตรงกันข้ามว่า ความไม่ประมาทเป็นคุณธรรมของผู้รักษา รวมความว่าเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนเราที่จะต้องรักษาคุณความดีที่ได้ทำไว้แล้ว และควรจะต้องถือเป็นหน้าที่อันมีเกียรติ ใครเขาจะมาทำอะไรให้อย่างไร ซึ่งบางทีอาจทำให้เราเสียได้เหมือนกัน แต่ถ้าเราถือว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องรักษาคุณความดี เราก็จะรักษาคุณความดีไว้ได้ วิธีสร้างความดี เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิตมนุษย์ ผู้ที่รู้จักความดีและความชั่วแล้ว แต่ถ้าไม่รู้จักสร้างความดีหลีกหนีความชั่ว ก็จะสร้างความดีไม่สำเร็จ เหมือนคนที่รู้ว่าตึกนั้นคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีสร้างก็ไม่อาจสร้างตึกให้สำเร็จได้ สร้างแล้วพัง ๆ ในที่สุด ก็อ่อนใจเลิกสร้างไปเอง
๓. การทำจิตให้ผ่องแผ้ว
กิเลสเป็นสิ่งเศร้าหมองของจิตใจ จิตผ่องใสอยู่ตามธรรมชาติ ดังพระพุทธพจน์ว่า ปภสฺสรมิทํ ภิกุขเว จิตฺตฺ อาคนฺตุเกหิ อุปกุกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส แต่เศร้าหมองไปเพราะกิเลสที่จรมา เปรียบเหมือนน้ำสะอาด แต่เศร้าหมองเพราะสิ่งปนเปื้อน เมื่อนำสิ่งปนเปื้อนออกแล้วน้ำก็กลับใสสะอาดดังเดิม การทำจิตให้บริสุทธิ์แท้จริงจึงต้องมุ่งไปที่การกำจัดกิเลส ความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นกิเลสสำคัญที่เป็นอกุศลมูล คือ รากเหง้าของอกุศล เพราะเมื่อ ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งมีแล้ว ก็จะทำให้อกุศลอื่น ๆ ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น ใครจะมีอุดมคติอย่างไรก็ตามเถิด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืม คือ อุดมคติในกำจัดและทำลายกิเลส มนสิการ (ทำในใจ) อยู่เสมอว่า เราเกิดมาเพื่อกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นหรือพัฒนาตนไปสู่ความดีจนถึงที่สุด คือไม่มีความชั่วหลงเหลืออยู่เลย คนไทยโบราณเข้าใจเรื่องนี้ดี เราจะเห็นคำอธิษฐานอันเป็นอุดมคติของท่านปรากฏอยู่ทั่วไปที่สาธารณสถาน โบราณวัตถุที่สร้าง เมื่อท่านรักษาศีลให้ทานก็จะมีคำอธิษฐานอันเป็นอุดมคติว่า ขอบุญนี้หรือทานนี้ จงเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ (กิเลส) จงเป็นปัจจัยให้ได้นิพพาน (การดับกิเลส) อิทํ เม ทานํ อาสวกฺขยาวหํ โหตุ, นิพพานปจฺจโย โหตุ ดังนี้ นอกจากนี้ยังมีใจเผื่อแผ่ถึงสรรพสัตว์ทั่วหน้า ด้วยการอุทิศส่วนกุศลที่ตนทำแล้วให้แก่สัตว์ทั้งหลายทุกหมู่เหล่า ฝึกอัธยาศัยให้เป็นผู้ไม่เห็นแก่ความสุขของตนเพียงผู้เดียว การสละกิเลสเป็นภารกิจอันสำคัญของมนุษย์ทุกคน เพราะการเกิดมาแต่ละชาติก็เพื่อพัฒนาตนให้ถึงขั้นสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในที่สุดแห่งการพัฒนาก็คือมีความดีล้วน ๆ ไม่มีความชั่วหลงเหลืออยู่เลย ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เหมือนเมล็ดพืชที่พัฒนาดีที่สุดก็มีแต่เนื้อล้วน ๆ ไม่มีเมล็ด เช่น มะละกอ มะม่วง หรือทุเรียน ที่พัฒนาถึงที่สุดแล้ว เนื้อมากและดี เมล็ดลีบเพาะไม่ขึ้นอีก เป็นการพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกัน เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์นี้ ควรทำจิตให้สงบก่อนอันท่านเรียกในภาษาธรรมว่า อุปสมะ (ความสงบจิต) หรือทำจิตให้สงบปราศจากความวุ่นวายทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสมี โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ความสงบนั้นไม่ใช่ความอยู่เฉย หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Inavctive แต่ความสงบทำให้คนแอ็คตีฟมากทีเดียว ความฟุ้งซ่านอันตรงกันข้ามกับความสงบต่างหากเล่าที่ทำให้คนเกียจคร้านจับจดทำอะไรไม่เป็นล่ำเป็นสัน เมื่อมีความสงบใจเกิดขึ้นในบุคคลใด เขาย่อมทำและพูดด้วยความสงบ ทำให้ชีวิตของเขาสดชื่นอยู่เสมอ เหมือนต้นไม้หรือพืชพันธุ์ที่ได้น้ำได้อาหารดีย่อมสดชื่น ตรงกันข้ามกับต้นไม้หรือพืชพันธ์ที่ขาดน้ำขาดอาหารย่อมเหี่ยวแห้งอับเฉา ภาวะชีวิตที่สดชื่นของบุคคล ทำให้สามารถเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ปัญหาชีวิตและความลึกลับต่าง ๆ ของธรรมชาติเราสามารถเข้าใจได้โดยผ่านทางความสงบนี่เอง แต่ความสงบนั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ความสงบแท้และความสงบเทียม ความสงบแท้ให้ความสุขแท้ ความสงบเทียมให้ความสงบอย่างเทียม ความสงบแท้คือความสงบอันเกิดจากการได้ทำคุณงามความดี การสร้างบุญกุศล ความสงบอันเกิดจากใจที่เป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหวหรือความสงบอันเกิดจากการเอาชนะกิเลสได้ ดับกิเลสได้แม้เพียงชั่วครู่ชั่วคราว จนถึงดับกิเลสได้ถาวร เป็นสันติสุขถาวร (Eternal Peace หรือ Lasting Peace) ส่วนความสงบเทียมนั้นคือ ความสงบเพราะการสนองความต้องการที่พลุ่งขึ้น ฟูขึ้นได้เป็นคราว ๆ ไป สนองได้คราวหนึ่งก็สงบไปคราวหนึ่ง แล้วพลุ่งขึ้นอีก ฟูขึ้นอีก การฟูขึ้น พลุ่งขึ้นในครั้งหลัง ๆ จะรุนแรงหนักหน่วงยิ่งกว่าครั้งก่อน ๆ เสียอีก จะต้องคอยสนองความอยาก ความปรารถนากันอยู่ร่ำไป เหมือนเติมเชื้อไฟ ซึ่งในระยะแรกดูท่าจะสงบลงเพราะเชื้อยังสดอยู่ แต่พอเชื้อแห้งเกรียมลุกไหม้ดีแล้ว ไฟก็จะโหมแรงยิ่งขึ้นทุกคราวไป ความสงบเทียม ทำให้เกิดความสุขอย่างเทียม เหมือนความสุขของคนไข้ที่ได้กินของแสลง ส่วนความสงบแท้ก่อให้เกิดความสุขอย่างแท้ เหมือนความสุขของคนไข้ที่ได้กินยาอันเหมาะแก่โรค ยานั้นเข้าไปตัดโรค ทำให้โรคหายขาดไป ทุกขเวทนาอันเกิดจากโรคหายขาดไป อันที่จริง ความดิ้นรนของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ก็เพื่อระงับหรือสงบความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะทุรนทุรายอยู่ตลอดเวลา ที่ยังสนองความต้องการไม่ได้ เมื่อสนองความต้องการได้ครั้งหนึ่ง ความทุรนทุรายก็สงบลง เรียกว่าความสุข ความสงบขั้นสูงสุดที่เรียกกันว่า นิพพาน นั้น จึงเป็นความสุขอันสูงสุด เป็นความสุขที่แท้จริง ไม่มีความสุขใดเหนือความสงบ คือ พระนิพพาน นิพพานจึงเป็นความสุขอย่างยิ่ง (นิพพานํ ปรมํ สุขํ) นิพพานก็คือความดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาดเป็นเรื่อง ๆ ไป นี่หมายถึงนิพพานของพระอริยะตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป กิเลสอันใดที่ท่านละได้แล้ว กิเลสอันนั้นไม่เกิดขึ้นอีกหรือไม่กำเริบอีก บางทีท่านก็ใช้คำว่า "วิมุติ" แทน "นิพพาน" อย่างในพระสูตรบางแห่งท่านกล่าวว่า "ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบ (อกุปฺปา เม วิมุตฺติ) ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ภพใหม่ไม่มีแก่เรา" เมื่อใช้คำว่า วิมุติ แทน นิพพาน วิมุติคือความหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราวของปุถุชน ก็มีเรียกว่า ตทังควิมุติ หลุดพ้นด้วยองค์ธรรมนั้น ๆ เช่น หลุดพ้นจากพยาบาทด้วยธรรม คือ เมตตา เมื่อใดมีเมตตาประจำใจ เมื่อนั้นพยาบาทไม่มี การหลุดพ้นจากกิเลสของผู้ได้ฌานก็มีเรียกว่า วิกขัมภนวิมุติ ข่มกิเลสได้ด้วยอำนาจฌาน เหมือนคนเป็นโรคกินยาคุมไว้ได้ไม่กำเริบ แต่พอหมดฤทธิ์ยาโรคก็กำเริบต่อไป ต้องมียาอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเข้าไปตัดโรคได้จึงหายขาดไม่ต้องคุมอีกต่อไป นั่นคือ สมุจเฉทวิมุติ หลุดพ้นอย่างเด็ดขาด ได้แก่ความหลุดพ้นของพระอริยเจ้า อย่างไรก็ตาม พอจะกล่าวได้ว่า นิพพานหรือความสงบนั้นเป็นความต้องการโดยธรรมชาติของมนุษย์ กล่าวคือ โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เราต้องการความสงบ ไม่ต้องการวุ่นวาย แต่ที่ต้องวุ่นวายไม่สงบก็เพราะมีบางสิ่งบางอย่างมากระตุ้นเร้า จิตใจจึงดิ้นรนไปตามแรงกระตุ้นเร้านั้น เปรียบเหมือนน้ำซึ่งเมื่อว่าโดยธรรมชาติแล้ว มันสงบเยือกเย็น แต่ที่มันร้อนบ้าง เป็นฟอง เป็นคลื่นบ้าง ก็เพราะเหตุอื่น ไม่ใช่ธรรมชาติของมัน ความสุขที่เกิดจากความวุ่นวายกับความสุขที่เกิดจากความสงบนั้น คุณภาพต่างกันมาก ที่เกิดจากความวุ่นวายควรจะเรียกว่าความเพลิดเพลินตื่นเต้นจะถูกกว่า ส่วนที่เกิดจากความสงบนั่นแหละควรเรียกว่าความสุขเต็มความหมาย เมื่อพูดถึงความสุข เราไม่ควรละเลยเรื่องคุณภาพของความสุข เพราะเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องเสื้อผ้า อาหาร เรายังนึกถึงคุณภาพ แต่เรื่องความสุข ทำไมคนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยนึกถึงคุณภาพ นึกแต่ขอให้มีความสุข ความพอใจ ความเพลิดเพลินก็แล้วกัน ส่วนจะได้มาโดยวิธีใดก็ช่าง คุณภาพของความสุขเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าบุคคลใดแสวงหาความสุขที่ด้อยคุณภาพอยู่เสมอแล้ว จิตของเขาก็จะสูญเสียคุณภาพเมื่อจิตสูญเสียคุณภาพแล้ว พฤติกรรมทางกาย วาจาของผู้นั้นก็พลอยสูญเสียคุณภาพไปด้วย พูดอย่างสามัญว่า พฤติกรรมทางกาย วาจาของเขาเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ของผู้อื่น ทำให้เป็นที่ดูหมิ่นของคนทั้งหลาย ส่วนผู้แสวงหาความสุขที่มีคุณภาพดีอยู่เสมอ เช่น ความสุขจากการหาวิชาความรู้ ความสุขจากการบำเพ็ญ คุณงามความดี ความสุขที่ได้จากความสงบใจ ซึ่งเป็นความสุขที่ประณีตแล้ว จิตของเขาก็จะมีคุณภาพดีขึ้นทุกวัน ๆ เมื่อคุณภาพจิตดี คุณภาพของชีวิตก็สูงพฤติกรรมทางกาย วาจาของท่านผู้นั้นก็พลอยดีงามสูงส่งไปด้วย เป็นนิยมยกย่องของคนทั้งหลาย ตนเองก็ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสงบสุขชื่นบาน การทำจิตให้สงบนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น การเป็นคนไม่จู้จี้ขี้เอาเรื่อง ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่, ไม่มักวิตกกังวลเรื่องที่ล่วงมาแล้ว และเรื่องอันยังไม่เกิดขึ้น การทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ใช้เวลาให้หมดไปกับการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง การเป็นผู้มีเหตุผล การเล็งเห็นทั้งคุณและโทษของสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง การพยายามมองบุคคลและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในแง่ดีตามสมควร การทำจิตให้สงบด้วยวิธีการบำเพ็ญสมาธิหรือสมถภาวนา และการอบรมจิตใจให้มีปัญญาที่เรียกว่า "วิปัสสนาภาวนา" ในที่นี้จักกล่าวเฉพาะการทำจิตให้สงบโดยวิธีวิปัสสนา การทำจิตให้สงบโดยวิธีวิปัสสนา วิปัสสนาก็มีหลายวิธีเหมือนกัน แต่หลักสำคัญคือการควบคุมจิตให้อยู่เหนืออารมณ์ปัจจุบัน เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่กับอิริยาบถนั้น การกิน การดื่ม ด้วยสติสัมปชัญญะหรือสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ความยินดียินร้ายครอบงำได้เมื่อได้เห็น รูป ฟังเสียง เป็นต้น
อนึ่ง วิปัสสนาหรือการยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนานั้น คือ การพิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นอารมณ์ภายนอก (objects) และอารมณ์ภายใน (emotions) ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงไม่หลงผิดด้วยอวิชชาหรืออุปาทาน เมื่อเห็นไตรลักษณ์แจ่มแจ้ง วิปัสสนาปัญญาก็เกิดขึ้นเป็นเครื่องมือตัดกิเลส แม้จะทำวิปัสสนา จุดมุ่งหมายพุ่งไปสู่ปัญญาก็จริง แต่ย่อมผ่านภาวะความสงบแห่งจิตไปด้วย สงบพอที่จะใช้ปัญญาได้ถนัด ถ้าจิตยังฟุ้งซ่านอยู่ เหมือนน้ำกระเพื่อมอยู่ แม้เราจะมีจักษุดีก็ไม่อาจมองเห็นอะไรที่อยู่ใต้น้ำได้ ก็ต่อเมื่อน้ำนิ่งสงบ ผู้มีจักษุดีจึงมองเห็นวัตถุที่อยู่ใต้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น แม้จะเดินตามสายวิปัสสนาก็ต้องมีสมาธิอ่อน ๆ ด้วยจึงจะสามารถใช้วิปัสสนาปัญญาให้สำเร็จประโยชน์เต็มที่ได้ สมาที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนานี้ ท่านเรียกว่า "วิปัสสนาสมาธิ" รวมความว่า อุปสมะ คือความสงบนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสงบจากกิเลส อันเป็นเหตุแห่งความยุ่งยากทั้งหลาย ถ้าคนในโลกของเราช่วยกันสงบกิเลสภายในตน โลกของเราจะสงบเย็นยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ หลายร้อยหลายพันเท่า กิเลสที่มีอยู่ภายในใจของแต่ละคนนั่นเองได้แผลงฤทธิ์ ออกมาทำลายซึ่งกันและกันให้เดือดร้อนวุ่นวายอยู่ การช่วยกันรักษาความสงบภายในตน เป็นการช่วยสังคมให้สงบอย่างมั่นคงยั่งยืนและแน่นอน ความสงบ ความผ่องแผ้วแห่งจิต ความบริสุทธิ์แห่งจิต ทำให้ชีวิตสดชื่นแจ่มใส มีความสุขอยู่ด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นหลักคำสอนสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา จัดเป็นพุทธจริยศาสตร์อย่างสูง พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ควรขัดเกลาจิตใจอยู่เสมอให้บริสุทธิ์จากกิเลส ก็จะสามารถดับทุกข์ได้ "วิสุทธิ สพฺพเกฺลเสหิ โหติ ทุกฺเขหิ นิพฺพุติ" แปลว่า ความบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวง เป็นการดับทุกข์ (ทั้งปวง)
โอวาทานุสาสนีก่อนปรินิพพาน
พระจอมศาสดาก็เสด็จไปยังภัณฑุคาม และโภคนครตามลำดับ ในระหว่างนั้นทรงให้โอวาทภิกษุทั้งหลายด้วยพระธรรมเทศนาอันเป็นไปเพื่อโลกุตตราริยธรรม กล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุติญาณทรรศนะ เป็นต้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย ศีลเป็นพื้นฐานเป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ประหนึ่งแผ่นดิน เป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์ ใจย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาดเช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน "ศีลนี่เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ คือความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นพื้นฐาน ย่อมเป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบ เหมือนเรือนที่มีฝาผนัง มีประตูหน้าต่างปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาสำหรับป้องกันลม แดดและฝน ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อน ฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิก็ฉันนั้น ย่อมสงบอยู่ได้ ไม่กระวนกระวาย เมื่อลม แดดและฝน กล่าวคือโลกธรรมแผดเผากระพือซัดสาดเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า สมาธิอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญญาในการฟาดฟันย่ำยีและเชือดเฉือนกิเลสาสวะต่าง ๆ ให้เบาบางและหมดสิ้นไป เหมือนบุคคลผู้มีกำลังจับศัสตราอันคมกริบแล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน "ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้นย่อมปรากฏดุจไฟดวงใหญ่กำจัดความมืดให้ปลาสนาการ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละอองคือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึงเป็นประดุจประทีปแห่งดวงใจ "อันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสอยู่โดยปกติ แต่เศร้าหมองไปเพราะคลุกเคล้าด้วยกิเลสนานาชนิด ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นเครื่องฟอกจิตใจให้ขาวสะอาดดังเดิม จิตที่ฟอกแล้วด้วยศีล สมาธิและปัญญา ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง "ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะย่อมพบกับปีติปราโมชอันใหญ่หลวง รู้สึกตนว่าได้พบขุมทรัพย์มหึมา หาอะไรเปรียบมิได้ เอิบอาบซาบซ่านด้วยธรรม ตนของตนเองนั่นแล เป็นผู้รู้ว่าบัดนี้กิเลสานุสัยต่าง ๆ ได้สิ้นไปแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว เหมือนบุคคลผู้ตัดแขนขาด ย่อมรู้ด้วยตนเองว่า บัดนี้แขนของตนขาดแล้ว" โอวาทานุสาสนีของพระผู้มีพระภาคส่วนใหญ่เป็นไปเยี่ยงนี้

โอวาทปาติโมกข์
โอวาทปาติโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็น "ปาติโมกข์"
ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ 20 พรรษาแรก
เฉพาะครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน 3) หลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน
เป็นการแสดงปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ 4 เรียก "จาตุรงคสันนิบาต" คือ
- พระภิกษุสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย - พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือเป็นผู้ที่พระพุทธองค์
ทรงประทานการบรรพชาอุปสมบทให้ทั้งสิ้น - พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นผู้ได้ อภิญญา 6 ทั้งสิ้น - เป็นเวลาที่ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ คือตรงกับ วันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งชาวพุทธรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในวันมาฆบูชา
การแสดงโอวาทปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ 4 (จาตุรงคสันนิบาต)
มีเพียงครั้งเดียวในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ (อรรถกถาแสดงไว้ว่า
พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" นี้ ด้วยพระองค์เอง ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์
ตลอด 20 พรรษาแรก หลังจากนั้นทรงบัญญัติให้พระสงฆ์แสดง "อาณาปาติโมกข์" แทน)
คาถาโอวาทปาฏิโมกข์และคำแปล คาถาต้นฉบับ คำแปล
๏ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
๏ ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
๏ สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ
๏ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง 1 การบำเพ็ญแต่ความดี 1 การทำจิตของตนให้ผ่องใส 1 นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
๏ อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
๏ การไม่กล่าวร้าย 1 การไม่ทำร้าย 1 ความสำรวมในปาฏิโมกข์ 1 ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร 1 ที่นั่งนอนอันสงัด 1 ความเพียรในอธิจิต 1 นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ความหมายของโอวาทปาฏิโมกข์
โอวาทปาฏิโมกข์มักถูกกล่าวถึงในแง่หลักธรรม 3 อย่างเดียวว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง อาจสรุปใจความได้เป็นสามส่วน คือ หลักธรรม 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้
พระพุทธพจน์คาถาแรก
ทรงกล่าวถึงจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น อันอาจเรียกได้ว่า อุดมการณ์ 4 ของพระพุทธศาสนา ได้แก่ - ความอดทนอดกลั้น - นิพพาน - ความไม่เบียดเบียน - ความสงบ
พระพุทธพจน์คาถาที่สอง
ทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" หรือ หลักธรรม 3 กล่าวกันเป็นเป็นการสรุปรวบยอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอันเป็นแนวทางที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติ ได้แก่
- การไม่ทำบาปทั้งปวง - การทำกุศลให้ถึงพร้อม - การทำจิตใจให้บริสุทธิ์
มีผู้อธิบายว่าทั้งสามข้อนี้อาจอนุมานเข้ากับ ศีล สมาธิ และปัญญา
พระพุทธพจน์คาถาที่สาม
ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา หรือ วิธีการ 6 ได้แก่ - ไม่ว่าร้าย - ไม่ทำร้าย - สำรวมในปาติโมกข์ (ปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัยอันดี) - รู้จักประมาณในอาหาร - อยู่ในสถานที่สงบ - เพียรฝึกฝนจิตใจให้สงบ
http://www.dhammada.net/2011/02/17/7653/

วันมาฆบูชา เดิมเรียกว่า วันมาฆปุณณมี หมายถึง วันที่พระจันทร์เพ็ญเต็มดวง
ในเดือนมาฆะ ส่วนมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือ
วันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งวันมาฆบูชานี้ เราทราบกันว่า เป็นวันที่พระภิกษุ
๑๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย และมีเหตุอัศจรรย์พร้อมกัน ๔ ประการ
เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต การประชุมพร้อมกันด้วย องค์ ๔ และในวันนี้
พระพุทธเจ้าทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
ซึ่งเราถือกันว่า เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
ความสำคัญ
วันมาฆบูชา ประกอบด้วยเหตุสำคัญ ๓ ประการ คือ ๑. เป็นวันที่พระสารีบุตร บรรลุอรหัตผล ที่ถ้ำสุกรขาตา หลังจากบวชได้ ๑๕ วัน ๒. เป็นวันประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ ถึง ๑,๒๕๐ รูป และพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประกาศหลักการ วิธีการ อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา ๓. พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระอัครสาวก คือพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ส่วนใหญ่เราจะทราบกันแต่เพียงว่า เป็นวันจาตุรงคสันนิบาต พระสงฆ์มาประชุมกัน ๑,๒๕๐ รูป และพระพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ จึงควรทราบเพิ่มเติมดังนี้
พระ พุทธองค์ ทรงเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ เพื่อไปยังพระวิหารเวฬุวัน หลังจากที่ทรงแสดงธรรมโปรด ทีฆนขปริพาชก แล้ว ซึ่งพระสารีบุตร ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ ด้วยพระธรรมเทศนานั้นเช่นกัน พระพุทธองค์เสด็จมายัง พระวิหาร ทรงประชุมพระสาวก ซึ่งมีมหาสันนิบาตประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ๑. วันนั้น เป็นวันอุโบสถ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ประกอบด้วยมาฆนักษัตร (ดวงจันทร์เต็มดวงในเดือนมาฆะ) ๒. พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันตามธรรมดาของตน โดยมิได้ นัดหมาย ๓ .พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา ๖ ไม่มีแม้ สักรูปหนึ่งที่เป็นปุถุชน หรือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสกะ ๔. พระสงฆ์เหล่านั้น เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระพุทธเจ้า ทรง อุปสมบทให้ทั้งสิ้น โอวาทปาฏิโมกข์ - โอสารณา
โอวาทปาติโมกข์
ความหมายของคำว่า ปาติโมกข์
คำว่า ปาตี ได้แก่ การตกไป เช่น การตกไปในสังสารวัฏ การตกไปในกิเลส
การตกไปในห้วงความทุกข์ และอบายทั้งหลาย ดังนั้น ปาตี จึงเป็นชื่อของปุถุชน
ทั้งหลายผู้ตกไปในสังสารวัฏ กิเลส ความทุกข์ และอบายทั้งหลาย
คำว่า โมกฺข ได้แก่ การหลุดพ้น เครื่องหลุดพ้น ซึ่งหมายถึง นิพพาน
เพราะฉะนั้น คำว่า ปาติโมกข์ จึงแปลว่า ความหลุดพ้นจากกิเลส และ
ความทุกข์ทั้งหลาย รวมความว่า โอวาทปาติโมกข์ จึงได้แก่ คำสอน เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส
และความทุกข์
ประเภทของปาติโมกข์ ปาติโมกข์ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑. อาณาปาติโมกข์ คือ สิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติ เพื่อเป็นขอบเขตแก่ภิกษุ
และภิกษุณีทั้งหลาย หลักธรรมที่ว่า สำรวมในพระปาติโมกข์ หมายถึง อาณาปาติโมกข์ นี้ ๒. โอวาทปาติโมกข์ คือ โอวาททั้งหลายที่ทรงแสดงในวันเพ็ญเดือน ๓
มีโอวาทว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ เป็นต้น อาณาปาติโมกข์นั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ และพระสาวกทั้งหลาย
ย่อมสวดแสดงทุกกึ่งเดือน ส่วนโอวาท ปาติโมกข์นั้น พระพุทธเจ้าเท่านั้นทรงแสดง
โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา
หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป
ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุ วนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา
(ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา
ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา),
คาถา โอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)
สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑
การบำเพ็ญแต่ความดี ๑
การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง,
พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม,
ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,
ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่ง นอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก
ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
โอวาทวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องให้โอวาทแก่นางภิกษุณี เป็นต้น,
เป็นชื่อวรรคที่ ๓ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์ พระวินัยปิฎก
โอวาทานุสาสนี คำกล่าวสอนและพร่ำสอน, คำตักเตือนและแนะนำพร่ำสอน
โอษฐ์ ปาก, ริมฝีปาก
โอสารณา การเรียกเข้าหมู่, เป็นชื่อสังฆกรรมจำพวกหนึ่ง
มีทั้งที่เป็นอปโลกนกรรม (เช่น การรับสามเณรผู้กล่าวตู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งถูกนาสนะไปแล้วและเธอกลับตัวได้)
เป็นญัตติกรรม (เช่น เรียกอุปสัมปทาเปกขะที่สอนซ้อม อันตรายิกธรรมแล้วเข้าไปในสงฆ์) เป็นญัตติทุติยกรรม
(เช่น หงายบาตรแก่คฤหัสถ์ที่กลับตัวประพฤติดี) เป็นญัตติ จตุตถกรรม (เช่นระงับนิคหกรรมที่ได้ทำแก่ภิกษุ)
กิจกรรมของชาวพุทธ
กิจกรรมของชาวพุทธในวันมาฆบูชา ๑. เว้นอบายมุขทุกประเภท ๒. ตักบาตร ทำบุญ ให้ทาน ๓. สมาทานศีล รักษาศีล ๕ ศีลอุโบสถ ๔. ฟังพระธรรมเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ๕. ปฏิบัติกรรมฐาน ๖. เวียนเทียนกระทำประทักษิณรอบสัญญลักษณ์พระรัตนตรัย
เพื่อน้อมระลึกถึงจาตุรงคสันนิบาต และการแสดง โอวาทปาติโมกข์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า http://www.kammatan.com/

ในปีหนึ่งๆ นอกเหนือไปจากวันพระตามปกติแล้ว พุทธศาสนิกชนจะมีวันพระที่จัดเป็นวันสำคัญพิเศษอยู่อีก 3 วันคือวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา
ทั้งสามวันนี้ได้มีผู้เปรียบเทียบว่า วันวิสาขบูชา อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ถือได้ว่าเป็น วันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาครั้งแรก เป็น วันพระธรรม และวันมาฆบูชา วันที่พระสงฆ์มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อรับฟังหลักการ อุดมการณ์ ตลอดจนวิธีปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนาเป็น วันพระสงฆ์
สำหรับวันมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญ เดือนมาฆะคือเดือน 3 หรือเดือน 4 ในปีที่มีอธิกมาส เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548
ในสมัยโบราณก่อนที่จะมีพุทธศาสนานั้น การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะเป็นพิธีดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า “ศิวาราตรี” คือ เป็นการทำพิธีลอยบาปในแม่น้ำคงคา และประกอบพิธีสักการบูชาพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ ซึ่งเป็นพิธีใหญ่ในเทวสถานต่างๆ
เมื่อพุทธศาสนาได้กำเนิดขึ้น พระภิกษุพุทธสาวกซึ่งมาจากวรรณะต่างๆ มีทั้งวรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ และวรรณะอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่ก็เคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนทั้งสิ้น
เมื่อถึงวันเพ็ญมาฆบูชาได้เห็นพวกพราหมณ์ทำพิธีใหญ่ ซึ่งตนเคยทำมาก่อน ก็คงคิดว่าน่าจะทำอะไรทำนองนั้นบ้าง จึงได้พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย และนี้เอง จึงได้ก่อให้เกิดเหตุที่ถือว่าอัศจรรย์ขึ้นในเวลาต่อมา กล่าวคือนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นเวลา 9 เดือน (ตั้งแต่วันเพ็ญ เดือน 6 ถึง วันเพ็ญเดือน 3 ของอีกปี) และเริ่มออกสั่งสอนเป็นเวลา 7 เดือน (สอนครั้งแรกคือไปโปรดปัญจวัคคีย์ เมื่อวันอาสาฬหบูชา คือวันเพ็ญเดือน 8 ในปีเดียวกับที่ตรัสรู้ ) พระพุทธเจ้าได้ลูกศิษย์ คือพระภิกษุที่เป็นพระสาวกขณะนั้นกว่า 1,300 องค์ ซึ่งพระสาวกเหล่านี้ พระพุทธองค์ได้ทรงส่งออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ทรงค้นพบใหม่ไปยังเมืองต่างๆ ส่วนพระองค์ประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน (ป่าไผ่) กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ที่พระเจ้าพิมพิสารถวาย และถือเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา
ปรากฏว่าพระสาวกที่เดินทางมาเฝ้าโดยมิได้นัดหมายกันนี้มีถึง 1,250 องค์ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่ง เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ ตลอดพระชนมชีพของพระพุทธองค์มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้น จึงได้กำหนดเรียกวันนี้ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” คือวันประชุมใหญ่ครั้งแรกและเป็นครั้งพิเศษ ด้วยเป็นวันที่ประกอบด้วยองค์ 4 คือ
1.พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นพุทธสาวก จำนวน 1,250 องค์มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย 2.พระพุทสาวกเหล่านี้ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระพุทธเจ้าทรงประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง 3.พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 ได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ ระลึกชาติได้ ตาทิพย์ หูทิพย์ กำหนดรู้ใจคนอื่นได้ และบรรลุอาสวักขยญาณคือญาณหยั่งรู้ธรรมที่เป็นที่สิ้นแห่งอาสวะหรือกิเลสทั้งหล าย และ 4. วันนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือนมาฆ พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ซึ่งเป็นเวลาที่ดีที่สุดคือ เป็นเวลากลางคืน อากาศไม่ร้อน ท้องฟ้าแจ่มใส
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะให้การมาครั้งนี้ของพุทธสาวกเป็นการประช ุมพิเศษในการแสดงโอวาทปาติโมกข์เพื่อประกาศหลักการ อุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธทั้งหลายจะได้ยึดถือเป็นแม่บทสำหรับประพฤติปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ และยังเป็นแม่บทในการเผยแพร่พระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้
โอวาทปาติโมกข์ที่ว่านี้ เป็นคนอย่างกับพระปาฏิโมกข์หรือศีล 227 ข้ออันเป็นพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ และพระภิกษุต้องลงโบสถ์ฟังทุกวันพระกึ่งเดือน ซึ่งโอวาทปาติโมกข์ที่พระบรมศาสดาแสดงในวันนั้น ถือเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญ หรือเป็น หัวใจของพระพุทธศาสนา เลยทีเดียว
หลักธรรมดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หลักธรรม 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 อันได้แก่
หลักการ 3 ได้แก่ 1.การไม่ทำบาปทั้งปวง ไม่ว่าจะด้วยกาย วาจาและใจ 2.การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่าง 3.การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาปทั้งปวง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนถึงขั้นบรรลุอรหันตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง
อุดมการณ์ 4 ได้แก่ 1. ความอดทน คือการอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ 2.ความไม่เบียดเบียน คือ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น 3. ความสงบ คือ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจาและใจ 4.นิพพาน คือ การดับทุกข์ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8
วิธีการ 6 ได้แก่ 1. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือโจมตีใคร 2.ไม่ทำร้าย คือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น 3.สำรวมในปาติโมกข์ คือ ความเคารพระเบียบวินัย กติกา กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม 4.รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี พอกินพออยู่ 5.อยู่ในสถานที่ที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่สงบและมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม 6.ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือการฝึกจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา
สำหรับหลักการ 3 ที่กล่าวข้างต้น ถือได้ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นการสอนหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องแก่พุทธศาสนิกชน ส่วนอุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 นั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหลักครูหรือหลักของผู้สอนคือวิธีการที่จะนำไปปรับปรุงตัวใ ห้เป็นกัลยาณมิตรทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งผู้ใดปฏิบัติได้นอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ยังจะช่วยเผยแพร่พระศาสนาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

คลิ๊กที่ลิงค์ด้านล่างเพื่อฟังเสียงอ่านหนังสือโอวาทปาฏิโมกข์ ของท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
http://www.kanlayanatam.com/Myimage-index/freeCD/feb09/mp3_ov.htm


|