ทุกกะ คือ หมวด ๒
๑) ธรรมะมีอุปการะมาก ๒
๑. สติ ความระลึกได้.
๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว.
--------------------------------------
(๒) ธรรมเป็นโลกบาล ๒ (คือ คุ้มครองโลก )
๑. หิริ ความละอายแก่ใจ.
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัว.
--------------------------------------
(๓) ธรรมอันทำให้งาม ๒
๑. ขันติ ความอดทน.
๒. โสรัจจะ ความเสงี่ยม.
--------------------------------------
(๔) บุคคลหาได้ยาก ๒
๑. บุพพาการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน.
๒. กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และตอบแทน.
--------------------------------------
(๕) อริยบุคคล ๒
๑. พระเสขะ พระผู้ยังต้องศึกษา
๒. พระอเสขะ พระผู้ไม่ต้องศึกษา
องฺ. ทุก. ๒๐/๘๐.
อธิบาย : พระอริยบุคคล ๗ เบื้องต้น ชื่อว่าพระเสขะ เพราะเป็นผู้ยังต้องปฏิบัติเพื่อมรรคผลเบื้องสูงขึ้นไป. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล ชื่อว่าพระอเสขะ เพราะเสร็จกิจอันจะต้องทำแล้ว [จงดูอริยบุคคล ๘].
--------------------------------------
(๖) กัมมัฏฐาน ๒
๑. สมถกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายสงบใจ
๒. วิปัสสนากัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา.
องฺ. ทุก. ๒๐/๗๗.
อธิบาย : กัมมัฏฐานเนื่องด้วยบริกรรม ไม่เกี่ยวกับปัญญาจัดเป็นสมถกัมมัฏฐาน. กัมมัฏฐานเนื่องด้วยทัสสนะทางใจ ในคติของธรรมดา ปรารภสภาวธรรมและสามัญญลักษณะ จัดเป็นวิปัสสนา กัมมัฏฐาน. ภาวนา ๒ ก็เรียก.
--------------------------------------
(๗) กาม ๒
๑. กิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุใคร่
๒. วัตถุกาม พัสดุอันน่าใคร่.
ขุ. มหา. ๒๙/๑.
อธิบาย : กิเลสกาม ได้แก่กิเลสให้ใคร่ คือ ราคะ โลภะอิจฉา คือความอยากได้ อิสสาคือความริษยาหรือความหึง อรติความไม่ยินดีด้วย อสันตุฏฐิ ความไม่สันโดษ เป็นอาทิ. วัตถุกามได้แก่กามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ.
--------------------------------------
(๘) ทิฏฐิ ๒
๑. สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง
๒. อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดศูนย์.
สํ. ขนฺธ. ๑๗/๑๒๐.
อธิบาย: ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น ใช้เป็นคำกลางก็มี จะให้รู้ว่าดีหรือชั่ว เติมคำหมายต่างเข้า เช่น "สมฺมาทิฏฺ€ิ" ความเห็นชอบ "มิจฺฉาทิฏฺ€ิ" ความเห็นผิด "ทิฏฺ€ิสมฺปนฺโน" ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ "ทิฏฺ€ิวิปนฺโน" วิบัติด้วยทิฏฐิ. แต่โดยมากใช้หมายความช้างเห็นผิด เช่นทิฏฐิ ๒ นี้. ความเห็นว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรศูนย์ แม้ในภาษาสํสกฤตว่า "อาตฺมนฺ" เรียกในภาษมคธว่า "อัตตา" ก็มี"ชีโว" ก็มี เรียกในภาษาไทยว่า "เจตภูต"เป็นธรรมชาติไม่ศูนย์ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป จัดเป็นสัสสตทิฏฐิ. ความเห็นปฏิเสธภาวะอย่างนั้น ถือว่าคนและสัตว์จุติจากอัตภาพนั้นแล้วเป็นขาดศูนย์ จัดเป็นอุจเฉททิฏฐิ.
--------------------------------------
(๙) เทสนา ๒
๑. ปุคคลาธิฏฐานา มีบุคคลเป็นที่ตั้ง
๒. ธัมมาธิฏฐานา มีธรรมเป็นที่ตั้ง.
สทฺ. ปฏิ. ๗๗.
อธิบาย: เทสนาแสดงโดยสมมติ กล่าวถึงบุคคลเป็นตัวอย่างเรียกปุคคลาธิฏฐานา. เทสนาแสดงโดยสภาวะ ยกธรรมเป็นที่ตั้งเรียกธัมมาธิฏฐานา. อุทาหรณ์ แสดงว่า บุคคลมีศรัทธา มีเพียรมีสติ ได้สมาธิ มีปัญญาเป็นเช่นนั้น ๆ นี้ปุคคลาธิฏฐานา.แสดงว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นเช่นนั้น ๆ นี้ธัมมาธิฏฐานา.
(๑๐) ธรรม ๒
๑. รูปธรรม สภาวะเป็นรูป
๒. อรูปธรรม สภาวะมิใช่รูป.
อภิ. สงฺ. ๒.
--------------------------------------
(๑๑) ธรรม ๒
๑. โลกิยธรรม ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก
๒. โลกุตตรธรรม ธรรมอันพ้นวิสัยของโลก.
อภิ. สงฺ. ๒.
อธิบาย: มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ รวมเป็น ๙ จัดเป็นโลกุตตรธรรม เหลือจากนั้นเป็นโลกิยธรรม.
--------------------------------------
(๑๒) ธรรม ๒
๑. สังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยปรุง
๒. อสังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยไม่ได้ปรุง.
องฺ. จตุกฺก. ๒๐ ๔๔.
อธิบาย:สิ่งหรือสภาพมีเกิดในเบื้องต้น มีแปรไปในท่ามกลางมีดับในที่สุด เป็นสังขตธรรม. อีกอย่างหนึ่ง สภาพเกิดแต่เหตุทั้งปวงจัดเป็นสังขตธรรม. พระนิพพานจัดเป็นอสังขตธรรม.
--------------------------------------
(๑๓) นิพพาน ๒ (โดยบรรยาย )
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ
๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ.
ขุ. อิติ. ๒๕/๒๕๘. องฺ. นวก. ๒๓/๓๙๔.
อธิบาย: โดยบุคคลาธิฏฐาน พระอริยเจ้าผู้ละกิเลสได้สิ้นเชิงด้วยพระอรหัตตมรรคแล้ว ได้บรรลุพระอรหัตตผล เป้นพระอรหันต์ยังทรงชีพอยู่ จัดว่าได้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพาน ครั้นสิ้นชีพแล้ว จัดว่าได้บรรลุอนุปาทิเสสนิพพาน.
--------------------------------------
(๑๔) บูชา ๒
๑. อามิสบูชา บูชาด้วยอามิส (คือสิ่งของ)
๒. ปฏิปัตติบูชา บูชาด้วยปฏิบัติตาม.
องฺ. ทุก. ๒๐/๑๑๗.
--------------------------------------
(๑๕) ปฏิสันถาร ๒
๑. อามิสปฏิสันถาร ปฏิสันถารด้วยอามิส (คือสิ่งของ)
๒. ธัมมปฏิสันถาร ปฏิสันถารโดยธรรม.
องฺ. ทุก. ๒๐/๑๑๖.
อธิบาย: ปฏิสันถาร ได้แก่ การต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น.อามิสปฏิสันถาร ได้แก่ ต้อนรับด้วยให้สิ่งของ เช่นให้น้ำร้อนหมากพลูอาหารเป็นต้น. ธัมมปฏิสันถาร แก้กันมาว่า กล่าวธรรมให้ฟังหรือแนะนำกันในทางธรรม. ข้าพเจ้าเห็นไม่ใช่อาการรับแขก มติของข้าพเจ้า ได้แก่ต้อนรับโดยควรแก่ฐานะของแขกผู้มา ควรลุกรับ กราบไหว้ก็ทำ ไม่ควรทำอย่างนั้น ก็ทำความเอื้อเฟื้อด้วยประการอื่น.แม้เจ้าถิ่นมีปรารถนาดี แต่ทำไม่ควรแก่ฐานะของแขก การปฏิสันถารนั้นอาจเสีย เช่นแขกเป็นคนชั้นสูง เจ้าถิ่นทำการต้อนรับอย่างคนสามัญดูเป็นไม่สำคัญในแขกผู้นั้นเลย. อีกฝ่ายหนึ่ง แขกเป็นคนสามัญเจ้าถิ่นต้อนรับแข็งแรง อย่างทำแก่แขกชั้นสูง ดูเป็นตื่นหรือเซอะไป.ธัมมปฏิสันถาร หมายเอาการต้อนรับที่ทำพอดีสมแก่ฐานะของแขก.
--------------------------------------
(๑๖) ปริเยสนา ๒
๑. อริยปริเยสนา แสวงหาอย่างประเสริฐ
๒. อนริยปริเยสนา แสวงหาอย่างไม่ประเสริฐ.
ม. มู. ๑๒/๓๑๔.
อธิบาย : สัมมาอาชีวะ เป็นอริยปริเยสนา. มิจฉาอาชีวะเป็นอนริยปริเยสนา. ในพระสูตรแสดงว่า แสวงหาสภาพอันมิใช่ของมีชรา พยาธิ มรณะ เป็นธรรม คือคุณธรรมมีพระนิพพานเป็นอย่างสูง เป็นอริยปริเยสนา แสวงหาของมีชรา พยาธิ มรณะ เป็นธรรมเช่นหาของเล่น เป็นอนริยปริเยสนา.
--------------------------------------
(๑๗) ปาพจน์ ๒
๑. ธรรม
๒. วินัย
ที. มหา. ๑๐/๑๗๘.
อธิบาย: ความปฏิบัติไม่ได้เนื่องด้วยระเบียบอันทรงตั้งไว้ด้วย พุทธอาณา เป็นสิกขาบทหรืออภิสมาจาร เป็นทางนำความประพฤติและอัธยาศัยให้ประณีตขึ้น จัดเป็นธรรม. ความปฏิบัติเนื่องด้วยระเบียบอย่างนั้น เป็นทางนำความประพฤติให้สม่ำเสมอกัน หรือเป็นเครื่องบริหารคณะ จัดเป็นวินัย.
--------------------------------------
(๑๘) รูป ๒
๑. มหาภูตรูป รูปใหญ่
๒. อุปาทายรูป รูปอาศัย.
ขุ. ปฏิ. ๓๑/๒๗๕. ม. อุป. ๑๔/๗๕.
อธิบาย: สิ่งอันเป็นวิสัยแห่งอายตนะภายใน ๕ ข้างต้น จัดเป็นรูปในเบญจขันธ์. สิ่งอันเป็นวิสัยของจักษุเท่านั้น จัดเป็นรูปในอายตนะภายนอก. ธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย จัดเป็นมหาภูตรูป. อาการของมหาภูตรูป จัดเป็นอุปาทายรูป. ประเภทแห่งอุปาทายรูป แสดงไว้ในพระอภิธัมมัตถสังคหะ คือประสาท ๕สิ่งที่ให้สำเร็จการเห็น เรียกจักขุปสาท ๑, สิ่งที่ให้สำเร็จการฟังเรียกโสตปสาท ๑, สิ่งที่ให้สำเร็จการดม เรียกฆานปสาท ๑, สิ่งที่ให้สำเร็จการลิ้ม เรียกชิวหาปสาท ๑, สิ่งที่ให้สำเร็จการรู้สึกผัสสะเรียกกายปสาท ๑, หรือเรียกสั้นเพียง จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กายโคจร (คืออารมณ์) ๕ รูปอันเป็นวิสัยแห่งจักขุ ๑, เสียง ๑, กลิ่น ๑,รส ๑, โผฏฐัพพะ (ยกอาโปนับแต่ ๓) ๑. ภาวะ ๒ อิตถีภาวะความเป็นหญิง ๑, ปุริสภาวะ ความเป็นชาย ๑. หทัย หมายเอาสิ่ง ที่ให้สำเร็จความคิด ๑. ชีวิตินทรีย์ หมายเอาความเป็นอยู่แห่งรูปหรือสิ่งที่รักษารูปให้เป็นอยู่ ๑. อาหารหมายเอาโอชา ๑. อากาสธาตุหมายเอาสิ่งที่ขังอยู่ในช่องว่าง เรียกปริจเฉทรูป ๑. วิญญัตติ ๒ คือกายวิญญัตติ กิริยาที่ไหวกายได้ ๑, วจีวิญญัตติ กิริยาที่ไหววาจา คือพูดได้ ๑. วิการ คืออาการต่าง ๓ ลหุตา ความเบา อธิบายว่ารูปของคนยังเป็น ไม่หนักดุจรูปของคนตายแล้ว ๑, มุทุตา ความอ่อนสลวย อธิบายว่า รูปยังปกติมีข้อลำอาจคู้หรือเหยียดคล่องแคล่วไม่แข็งกระด้างดุจรูปของคนเจ็บคนตายแล้ว ๑, กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน คือความคล่องแคล่ว ๑. ลักขณะ ๔ คือ อุจจยะความรู้จักเติบขึ้น ๑, สันคติ ความสืบเนื่องกัน เช่นขนเก่าหลุดร่วงไปใหม่เกิดแทนกัน ๑, ชรตา ความรู้จักทรุดโทรม ๑, อนิจจตาความไม่ยั่งยืน ๑. สิริเป็น ๒๕ รวมทั้ง ๒ ประเภทเป็น ๒๙ แต่ในปกรณ์นับเป็น ๒๘. ในที่บางแห่งนับโคจรเพียง ๔ ยกโผฏฐัพพะที่เป็นประเภทเดียวกับรูป จึงลง ๒๘ พอดี.
--------------------------------------
(๑๙) วิมุตติ ๒
๑. เจโตวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งใจ
๒. ปัญญาวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งปัญญา.
องฺ. ทุก. ๒๐/๗๘.,๑๐๔. อง. นวก. ๒๓/๔๗๓.
อธิบาย : ความทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสาสวะถึงความบริสุทธิ์โดยนิปปริยาย เรียกวิมุตติ๑. วิมุตติมีสมาธิเป็นปทัฏฐาน คือ ท่านผู้บรรลุได้ฌานมาก่อนแล้ว จึงบำเพ็ญวิปัสสนาต่อ จัดเป็นเจโตวิมุตติ. วิมุตติที่ได้บรรลุด้วยลำพังบำเพ็ญวิปัสสนาล้วน จัดเป็นปัญญาวิมุตติ.อย่างต้น ได้แก่วิมุตติของพระอรหันต์ผู้ได้บรรลุวิชชา ๓ และผู้ได้อภิญญา ๖. อย่างหลัง ได้แก่วิมุตติของพระอรหันต์สุขวิปัสสก๒. อีกอย่างหนึ่ง ท่านแสดไว้โดยไม่ต่าง๓ ทั้ง ๒ ชื่อหมายเอาพระอรหันต์ เรียกเจโตวิมุตติ เพราะพ้นจากราคะ เรียกปัญญาวิมุตติเพราะพ้นจากอวิชชา.
--------------------------------------
(๒๐) สังขาร ๒
๑. อุปาทินนกสังขาร สังขารมีใจครอง
๒. อนุปาทินนกสังขาร สังขารไม่มีใจครอง.
วิ. ขนฺธ. ตติย. ๒๐.
อธิบาย: สิ่งที่ธรรมดาคุมเข้าจากธาตุ เช่นร่างกายและต้นไม้ก็ดี สิ่งที่คนคุมเข้าจากสัมภาระ เช่นรถและเรือนก็ดี ชื่อว่าสังขาร.เทวดามนุษย์อมนุษย์และดิรัจฉานต่างประเภท เป็นอุปาทินนกสังขาร. ภูเขา ต้นไม้ รถ เรือน เป็นต้น เป็นอนุปาทินนกสังขาร.
--------------------------------------
(๒๑) สมาธิ ๒
๑. อุปจารสมาธิ สมาธิเป็นแต่เฉียด ๆ
๒. อัปปนาสมาธิ สมาธิอันแน่แน่ว.
วิ. สมาธิ. ทุติย. ๑๙๔. ม. มู. ๑๒/๓๘๑. (โดยความ)
อธิบาย: การทำใจให้นิ่ง คือมีอารมณ์เดียว จัดเป็นสมาธิสมาธิอันยังไม่ดิ่งลงไปแท้ เป็นแต่จวน ๆ จัดเป็นอุปจารสมาธิ. สมาธิอังดิ่งลงไป สุขุมกว่าอุปจารสมาธิ จัดเป็นอัปปนาสมาธิ.
--------------------------------------
(๒๒) สุข ๒
๑. กายิกสุข สุขทางกาย
๒. เจตสิกสุข สุขทางใจ.
--------------------------------------
(๒๓) สุข ๒
๑. สามิสสุข สุขอิงอามิส (คือกามคุณ)
๒. นิรามิสสุข สุขไม่อิงอามิส (คืออิงเนกขัมมะ).
องฺ. ทุก. ๒๐/๑๐๑.
ทุกข์อย่างละ ๒ พึงรู้โดยปฏิปักขนัยต่อสุข.
--------------------------------------
(๒๔) สุทธิ ๒
๑. ปริยายสุทธิ หมดจดโดยเอกเทส
๒. นิปปริยายสุทธิ หมดจดโดยสิ้นเชิง.
มโน. ปู. ทุติย. ๔.
อธิบาย :ปฏิบัติกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์เป็นอย่าง ๆ ยังมี การละและการบำเพ็ญเป็นกิจอยู่อีก จัดเป็นปริยายสุทธิ. ความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ผู้เสร็จกิจในการละและการบำเพ็ญแล้ว จัดเป็นนิปปริยายสุทธิ.
(ขอบคุณที่มาจาก www.watsomanas.com)