สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จตุกกะ คือ หมวด ๔

จตุกกะ คือ หมวด ๔


จตุกกะ คือ หมวด ๔

(๘๐) วุฑฒิ ๔ (คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๔ อย่าง )
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบท่านผู้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่าสัตบุรุษ.
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพ.
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ.
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๓๒.



(๘๑) จักร ๔
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร.
๒. สัปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ.
๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ.
๔. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน.
ธรรม ๔ อย่างนี้ ดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๔๐.



(๘๒) อคติ ๔
๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน
๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน
๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา
๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว
อคติ ๔ ประการนี้ ไม่ควรประพฤติ.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๒๓.



(๘๓) อันตรายของภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ ๔
๑. อดทนต่อคำสอนไม่ได้ คือเบื่อต่อคำสั่งสอนขี้เกียจทำตาม.
๒. เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้.
๓. เพลิดเพลินในกามคุณ ทะยานอยากได้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป.
๔. รักผู้หญิง
ภิกษุสามเณรผู้หวังความเจริญแก่ตน ควรระวังอย่าให้อันตราย๔ อย่างนี้ย่ำยีได้.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๖๕.



(๘๔) ปธาน ๔ (คือความเพียร ๔ อย่าง)
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน.
๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว.
๓. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน.
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม.
ความเพียร ๔ อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบ ควรประกอบให้มีในตน.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๒๐.



(๘๕) อธิษฐานธรรม ๔
คือธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง
๑. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้.
๒. สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง.
๓. จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ.
๔. อุปสมะ สงบใจจากสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความสงบ.
ม. อุป. ๑๔/๔๓๗.



(๘๖) อิทธิบาท ๔
คือคุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง
๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น.
๒. วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น.
๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ.
๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น.
คุณ ๔ อย่างนี้ มีบริบูรณ์แล้ว อาจชักนำบุคคลให้ถึงสิ่งที่ต้องประสงค์ซึ่งไม่เหลือวิสัย.
อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๒๙๒.



(๘๗) ควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน (๑ )
๑. ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต.
๒. ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต.
๓. ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต.
๔. ในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูก.



(๘๘) ควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน (๒)
๑. ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด.
๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง.
๓. ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง.
๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๖๑.



(๘๙) ปาริสุทธิศีล ๔
๑. ปาติโมกขสังวร สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่พระองค์อนุญาต.
๒. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏัฐพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ.
๓. อาชีวปาริสุทธิ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต.
๔. ปัจจยปัจจเวกขณะ พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา.
วิ. สีล. ปฐม. ๑๙.



(๙๐) อารักขกัมมัฏฐาน ๔
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าที่มีในพระองค์และทรงเกื้อกูลแก่ผู้อื่น.
๒. เมตตา แผ่ไม่ตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า.
๓. อสุภะ พิจารณาร่างกายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม.
๔. มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตน.
กัมมัฏฐาน ๔ อย่างนี้ ควรเจริญเป็นนิตย์.
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ.



(๙๑) พรหมวิหาร ๔
๑. เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาจะให้เป็นสุข.
๒. กรุณา ความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์.
๓. มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี.
๔. อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจไม่เสียใจเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ.
ธรรม ๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่.
อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๓๖๙.



(๙๒) สติปัฏฐาน ๔
๑. กายานุปัสสนา
๒. เวทนานุปัสสนา
๓. จิตตานุปัสสนา
๔. ธัมมานุปัสสนา.
สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัว ตน เรา เขา เรียกกายานุปัสสนา.
สติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เรียกเวทนานุปัสสนา.
สติกำหนดพิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแล้ว เป็นอารมณ์ว่าใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เรียกจิตตานุปัสสนา.
สติกำหนดพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่า ธรรมนี้ก็สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตัว ตน เรา เขาเรียกธัมมานุปัสสนา.
ที. มหา. ๑๐/๓๒๕.



(๙๓) ธาตุกัมมัฏฐาน ๔
๑. ธาตุดิน
๒. ธาตุน้ำ
๓. ธาตุไฟ
๔. ธาตุลม
ธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน เรียกปฐวีธาตุ ธาตุน้ำ เรียกอาโปธาตุธาตุไฟ เรียกเตโชธาตุ ธาตุลม เรียกว่าโยธาตุ.
ธาตุอันใดมีลักษณะแข้นแข็ง ธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุ ปฐวีธาตุนั้นที่เป็นภายใน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า.
ธาตุอันใดมีลักษณะเอิบอาบ ธาตุนั้นเป็นอาโปธาตุ อาโปธาตุนั้นที่เป็นภายใน คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร.
ธาตุอันใดมีลักษณะร้อน ธาตุนั้นเป็นเตโชธาตุ เตโชธาตุนั้นที่เป็นภายใน คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย.
ธาตุอันใดมีลักษณะพัดไปมา ธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุ วาโยธาตุนั้นที่เป็นภายใน คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจ.
ความกำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เรียกว่าธาตุกัมมัฏฐาน.
ม. อุป. ๑๔/๔๓๗.



(๙๔) อริยสัจ ๔
๑. ทุกข์
๒. สมุทัย คือ เหตุให้ทุกข์เกิด
๓. นิโรธ คือความดับทุกข์
๔. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์.
ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ได้ชื่อว่าทุกข์ เพราะเป็นของทาน ได้ยาก.
ตัณหาคือความทะยานอยาก ได้ชื่อว่าสมุทัย เพราะเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด. ตัณหานั้น มีประเภทเป็น ๓ คือตัณหาความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ เรียกว่ากามตัณหาอย่าง ๑ ตัณหาความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่าภวตัณหาอย่าง ๑ ตัณหาความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่เรียกว่าวิภวตัณหาอย่าง ๑.
ความดับตัณหาได้สิ้นเชิง ทุกข์ดับไปหมด ได้ชื่อว่านิโรธ เพราะเป็นความดับทุกข์.
ปัญญาอันชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้ทุกข์เกิด สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ได้ชื่อว่ามรรค เพราะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์.
มรรคนั้นมีองค์ ๘ ประการ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ทำความเพียรชอบ ๑ ตั้งสติชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑.
อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๑๒๗.



(๙๕) อบาย ๔
๑. นิรยะ นรก
๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดรัจฉาน
๓. ปิตติวิสัย ภูมิแห่งเปรต
๔. อสุรกาย พวกอสุระ.
ขุ. อิติ. ๒๕/๓๐๑.
อธิบาย: ภูมิ กำเนิดหรือพวก อันหาความเจริญมิได้ จัดเป็นอบาย. นิรยะ ท่านว่าเป็นภูมิที่ลงโทษคนผู้ทำบาปตายแล้วไปเกิดขึ้น ณ ที่นั้น มีนายนิรยบาลเป็นผู้ทำกรรมกรณ์ต่าง ๆ ให้ได้ความเดือดร้อน แสดงโดยบุคคลาธิษฐานด้วยถูกไฟลวกและถูกประหารดุจความเข้าใจของพวกพราหมณ์ครั้งเวทิกสมัย คือยุคถือลัทธิตามพระเวทว่า คนทำบาปตายไปแล้วถูกพระยมชำระแล้วลงโทษให้ตกนรก และต้องเสวยกรรมกรณ์ต่าง ๆ แต่ในปูนหลังกล่าวเพียงนรกและคนทำบาปไปเกิดเองในภูมินั้น การถูกเพลิงลวกหรือถูกประหารก็เป็นอยู่ในภูมินั้นเอง ไม่กล่าวถึงนายนิรยบาล เป็นกลเม็ดอยู่. กำเนิดดิรัจฉานที่ไม่มีภูมิเป็นที่อยู่ต่างหาก ต้องอาศัยมนุษยโลก ปรากฏแล้ว นอกจากนี้ ท่านว่ายังมีนาคและครุฑมีพิภพเป็นที่อยู่ มีพระราชาในพวกกันเอง เป็นสัตว์ผู้บริบูรณ์ แม้อย่างนั้น ท่านก็จัดเป็นอบายเพราะไม่เป็นภัพพบุคคลเหมือนมนุษย์. ศัพท์ว่า เปรต แปลว่า ผู้ละไปแล้ว หมายเอาผีผู้เคยเป็นมนุษย์มาก่อน ยังไม่ได้ไปถือกำเนิดอื่น ได้ในศัพท์ สัมภเวสี ผู้แสวงหาที่เกิดในเมตตสูตร ภายหลังหมายเอาเฉพาะจำพวกทำบาปมีโทษไม่ถึงตกนรก แต่มีรูปร่างซวดทรงไม่สมประกอบ ตกยาก ได้ความอดอยากเป็นล้นเหลือ เดือดร้อน ไปในทางเป็นอยู่ของตนเอง. พวกเปรตนี้ ดูเหมือนอาศัยมนุษยโลกก็มี พึงเห็นอย่างพวกเปรตพระญาติเก่าของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งกล่าวถึงในติโรกุฑฑสูตร และในอรรถกถาแห่งสูตรนั้น ดูเหมือนมีภูมิสำหรับก็มี พึงเห็นอย่างพวกเปรตซึ่งกล่าวถึงในชาณุสโสณีสูตรนอกจากนี้ ยังมีเปรตอีกจำนวนหนึ่ง อยู่ปลีกตามลำพังในมนุษยโลกได้เสวยสุขเสวยทุกข์ปนกัน มีวิมานอยู่ มีสมบัติ ได้เสวยสุขในวิมานในวัน ครั้นค่ำลง ต้องออกจากวิมานไปรับกรรมการณ์เหมือนสัตว์นรกในคืน พอสว่างก็กลับวิมานได้อีก. อสุรกาย เป็นจำพวกที่มัว ในบาลีไม่กล่าวถึงเลย ในอรรถกถาก็ได้พบเพียงสักว่าชื่อ ในปทานุกรมสํสกฤต แก้อสุรศัพท์ว่าผู้เป็นอยู่ อธิบายว่า ได้แก่ผีเป็นอทิสสมานกาย ประเภทที่ชั่ว ตรงกับผีไม่มีชื่อผู้เที่ยวหลอกมนุษย์ให้ตกใจกลัว. ผีแปลกจากเปรตเพราะเที่ยวหลอก เปรตไม่หลอกเป็นแต่คนไปพบเข้าเอง หรือเมื่อจะร้องทุกข์แก่คน ก็แสดงตัวให้เห็นเป็นอทิสสมานกายหรือไม่ ๆ ชัด กล่าวถึงทั้ง ๒ อย่าง. อาหารของสัตว์นรก ท่านกล่าวว่ากรรม. อาหารของสัตว์ดิรัจฉาน เป็นตามประเภทของมัน ที่เป็นส่วนใหญ่ ของเกิดในสรีระแห่งสัตว์ด้วยกันเป็นต้นว่าเนื้อและเลือดก็มี ของนับเข้าในภูตคาม เป็นต้นว่าหญ้าและใบไม้ก็มี. อาหารของเปรต ท่านกล่าวว่ากรรมด้วย ผลทานอันญาติมิตรผู้ยังเป็นอยู่ในมนุษยโลกบริจาคแล้วอุทิศไปถึงด้วย. อาหารของ อสุรกายไม่ได้ระบุไว้ชัด เทียบอาหารของยักษ์เลว ๆ ของเกิดในสรีระแห่งสัตว์ด้วยกันไม่เลือกว่าดีหรือเสีย สกปรกหรือไม่. ข้าพเจ้า จักเปรียบสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เพื่อเป็นทางสันนิษฐาน สัตว์นรก เช่นคนโทษถูกรับอาญาแผ่นดินต้องเสวยกรรมกรณ์อยู่ในพันธนาคารแต่รัฐบาลให้อาหารกินไม่อดอยากมากนัก. เปรต เช่น คนตกทุกข์ได้ยาก อดอยาก หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้โดยฝืดเคือง หากินในทางเที่ยวขอทาน. อสุรกาย เช่นคนอดอยากอย่างนั้นแล้ว เที่ยวลอบทำโจรกรรมในค่ำคืน ตลอดถึงการหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่น.



(๙๖) อปัสเสนธรรม ๔
๑. พิจารณาแล้วเสพของอย่างหนึ่ง
๒. พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่ง
๓. พิจารณาแล้วเว้นของอย่างหนึ่ง
๔. พิจารณาแล้วบรรเทาของอย่างหนึ่ง.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๓๖.
อธิบาย: ข้อต้นเสพของอันสบาย ต่างโดยเป็นจีวร บิณฑบาตเสนาสนะ คิลานเภสัช บุคคลและธรรมเป็นต้น ที่เสพเข้ากุศลเกิดขึ้นและเจริญขึ้น อกุศลไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไป. ข้อที่ ๒ อดกลั้นอารมณ์อันไม่เป็นที่เจริญใจ ต่างโดยหนาว ร้อน หิว ระหาย ถ้อยคำเสียดแทง และทุกขเวทนาอันแรงกล้า. ข้อที่ ๓ เว้นของไม่ สบาย ต่างโดยประเภทอย่างนั้น ที่เสพเข้า อกุศลเกิดขึ้นและเจริญขึ้น กุศลไม่เกิด ที่เกิดแล้วเสื่อมสิ้นไป. ข้อที่ ๔ บรรเทาอกุศลวิตกอันสัมปยุตด้วยกาม ด้วยพยาบาท ด้วยวิหิงสา.



(๙๗) อัปปมัญญา ๔
๑. เมตตา
๒. กรุณา
๓. มุทิตา
๔. อุเบกขา.
ที. สี. ๙/๓๑๐.
อธิบาย:เมตตา โดยพยัญชนะ ได้แก่ความสนิทสนม คือรักใคร่ เว้นจากราคะ โดยอรรถ ได้แก่ปรารถนาความสุขความเจริญเพื่อผู้อื่น. กรุณา โดยพยัญชนะ ได้แก่ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นได้ทุกข์ร้อน โดยอรรถ ได้แก่ความปรารถนาเพื่อจะปลดเปลื้องทุกข์ของเขา. มุทิตา โดยพยัญชนะ ได้แก่ความชื่นบาน โดยอรรถ ได้แก่ความพลอยยินดีด้วย ในเมื่อเห็ นผู้อื่นได้ดี. อุเบกขา โดยพยัญชนะได้แก่ความวางเฉย โดยอรรถ ได้แก่ความวางคนเป็นกลาง ในเมื่อจะแผ่เมตตากรุณาไปไม่บังควร เช่นเอาใจช่วยโจรเป็นตัวอย่าง หรือในเมื่อจะพลอยยินดีด้วยสมบัติของอีกฝ่ายหนึ่ง จำจะยินดีด้วยวิบัติของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ๒ ฝ่ายเป็นความกัน จะพลอยยินดีด้วยฝ่ายชำนะก็จำจะยินดีด้วยความแพ้ของอีกฝ่ายหนึ่ง. ธรรม ๔ อย่างนี้ ที่แผ่โดยเจาะตัวก็ดี โดยไม่เจาะตัวแต่ยังไม่จำกัดมุ่งเอาหมู่นี้หมู่นั้นก็ดี จัดเป็นพรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม โดยอธิบายว่า
พรหมโดยอุปบัติก็ดี พรหมโดยสมมติ คือ ผู้ใหญ่ก็ดี ย่อมอยู่ด้วยธรรมเหล่านี้. ที่แผ่โดยไม่เจาะตัวไม่มีจำกัด จัดเป็นอัปปมัญญา แปลว่า ภาวนามีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์ เป็นปฏิปทาของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้.



(๙๘) พระอรหันต์ ๔
๑. สุกฺขวิปสฺสโก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน
๒. เตวิชฺโช ผู้ได้วิชชาสาม
๓. ฉฬภิญฺโญ ผู้ได้อภิญญาหก
๔. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต ผู้ถึงปฏิสัมภิทา.
อธิบาย: สุกขวิปัสสก แปลตามพยัญชนะว่า ผู้เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ง โดยอรรถ ได้แก่ท่านผู้เจริญวิปัสสนาล้วน ได้สำเร็จพระอรหัต มิได้ทรงคุณอย่างอื่นอีก. คุณ ๓ ประเภทเป็นเครื่องแปลกแห่งพระอรหัต อีก ๓ องค์ พึงดูตามหมวด.



(๙๙) พระอริยบุคคล ๔
๑. พระโสดาบัน
๒. พระสกทาคามี
๓. พระอนาคามี
๔. พระอรหันต์.
ที. สี. ๙/๑๙๙.
หมายเอาท่านผู้ได้บรรลุอริยมรรคและอริยผลซึ่งจักแสดงข้างหน้า.



(๑๐๐) อริยวงศ์ ๔
ปฏิปทาของพระอริยบุคคลผู้เป็นสมณะ เรียกว่าอริยวงศ์ แจกออกเป็น ๔ คือ
๑. สันโดษด้วยจีวร
๒. สันโดษด้วยบิณฑบาต
๓. สันโดษด้วยเสนาสนะ ตามมีตามเกิด
๔. ยินดีในการเจริญกุศลและในการละอกุศล.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๕.
อธิบาย: เนื่องจากผู้สันโดษนั้น ย่อมสรรเสริญคุณแห่งสันโดษอย่างนั้น ไม่ทำอเนสนา คือแสวงหาไม่ควร เพราะเหตุปัจจัย ๓ นี้ไม่ได้ก็ไม่ทุรนทุราย ได้ก็บริโภค ไม่ติดใจในปัจจัย ๓ นั้น ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะสันโดษและยินดีในภาวนาและปหานะนั้น.



(๑๐๑) อรูป ๔
๑. อากาสานัญจายตนะ
๒. วิญญาณัญจายตนะ
๓. อากิญจัญญายตนะ
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ.
สํ. สฬ. ๑๘/๓๒๖.
อธิบาย:ศัพท์ว่า อรูป นี้ นัยหนึ่งเป็นชื่อแห่งฌานมีวิภาคดังนี้: พระโยคาวจรได้บรรลุรูปฌานที่ ๔ แล้ว พิจารณาเห็นปฏิภาคนิมิตแห่งกสิณ จนเป็นอากาศคือของว่างเปล่า เรียกว่าเพิกกสิณแล้วคำนึงเป็นอารมณ์ว่าอากาศหาที่สุดมิได้ น่าจะได้แก่ไม่ทำในใจถึงปฏิภาคนิมิตต์ หรือไม่เหนี่ยวรูปเป็นอารมณ์ นี้เป็นอากาสา- นัญจาญตนะ เป็นอรูปฌานที่ ๑. ในลำดับนั้น ล่วงอากาศเสียถือเอา
วิญญาณเป็นอารมณ์ว่าวิญญาณหาที่สุดมิได้ น่าจะได้แก่คำนึงถึงวิญญาณเป็นอารมณ์ นี้เป็นวิญญาณัญจายตนะ เป็นอรูปฌานที่ ๒. ในลำดับนั้น ล่วงวิญญาณเสีย ถือเอาความไม่มีอะไรเหลือสักน้อยหนึ่งเป็นอารมณ์ คือ เกือบไม่มีอะไรเป็นอารมณ์เลย นี้เป็น อากิญจัญญายตนะ เป็นอรูปฌานที่ ๓. ในลำดับนั้น ล่วงอารมณ์เกือบไม่มีอะไรเหลือนั้นเสีย จนเป็นผู้มีสัญญาคือความรู้สึกตัวก็มิใช่เป็นผู้หาสัญญามิได้ก็มิใช่ นี้จัดเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นอรูปฌานที่ ๔.
อีกนัยหนึ่ง เป็นชื่อแห่งภพ มีอธิบายดังนี้: ผู้ได้อรูปฌานนั้นล้วนเป็นส่วนโลกิยะ จุติจากอัตตภาพนั้นแล้ว ไปเกิดในพรหมภพมีประเภทเป็น ๔ มีชื่อเหมือนอย่างนั้นตามกำลังฌานของตน.



(๑๐๒) อวิชชา ๔
๑. ไม่รู้ในทุกข์
๒. ไม่รู้ในทุกขสมุทัย
๓. ไม่รู้ในทุกขนิโรธ
๔. ไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
สํ. สฬ. ๑๘/๓๑๕.



(๑๐๓) อาหาร ๔
๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
๒. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ
๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา
๔. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ.
ม. มู. ๑๒/๘๙.
อธิบาย: ธรรมอันได้ชื่อว่าอาหารนั้น เพราะเป็นปัจจัยนำผลมา. อาหารชนิดที่กลืนกินนั้น ย่อมเลี้ยงร่างกายให้เป็นไป. ผัสสะนั้น หมายเอาความประจวบกันแห่งอายตนะภายในภายนอก และวิญญาณ เป็นปัจจัยแห่งเจตสิกอันจะพึงเกิดโดยวิถี มีเวทนาเป็นต้น.มโนสัญเจตนานั้น หมายเอาความจงใจ เป็นปัจจัยแห่งการทำ การพูด การคิด ซึ่งจัดเป็นกรรม. วิญญาณ มีวิภาคเป็น ๒ วิถีวิญญาณ ได้แก่จิตในแถว เกิดทางทวาร ๖ ปฏิสนธิวิญญาณได้แก่วิญญาณในปฏิสนธิแรกเกิด. วิถีวิญญาณ เป็นอันกล่าวถึงในผัสสาหารแล้ว โดยเอกเสสนัย น่าจะได้แก่ปฏิสนธิวิญญาณอันเป็นปัจจัยแห่งนามรูป กล่าวโดยสมมติ คือ อัตตภาพข้างหน้าอันจะเจริญขึ้นโดยลำดับ ได้ในองค์แห่งปฏิจจสมุปบาท วิญฺญาณปจฺจยานามรูปํ ซึ่งแปลว่า นามรู้ย่อมเกิดมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย.



(๑๐๔) อุปาทาน ๔
๑. กามุปาทาน ถือมั่นกาม
๒. ทิฏฐุปาทาน ถือมั่นทิฏฐิ
๓. สีลัพพตุปาทาน ถือมั่นศีลพรต
๔. อัตตวาทุปาทาน ถือมั่นวาทะว่าตน.
ม. มู. ๑๒/๑๓๒.
อธิบาย: ความถือมั่นข้างเลว ได้แก่ถือรั้น จัดเป็นอุปาทาน. ถือมั่นวัตถุกามด้วยอำนาจกามตัณหา หมกมุ่นอยู่ว่านั่นของเรา จนเป็นเหตุอิสสาหรือหึง จัดเป็นกามุปาทาน. ถือมั่นความเห็นผิดด้วยอำนาจหัวดื้อ จนเป็นเหตุเถียงกันทะเลาะกัน จัดเป็นทิฏฐุปาทาน. ถือมั่นศีลพรต คือ ธรรมเนียมที่เคยประพฤติมาจนชิน ด้วยอำนาจความเชื่อว่าขลัง จนเป็นเหตุหัวดื้องมงาย จัดเป็นสีลัพพตุปาทาน. ถือเราถือเขาด้วยอำนาจมานะ จนเป็นเหตุถือพวก จัดเป็นอัตตวาทุปาทาน.



(๑๐๕) โอฆะ ๔
๑. กาโมฆะ โอฆะคือกาม
๒. ภโวฆะ โอฆะคือภพ
๓. ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ
๔. อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา.
สํ. มหา. ๑๙/๘๘.
โยคุ ๔ อาสวะ ๔ เหมือนกัน.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๓.
อธิบาย: กาม ภพ อวิชชา พึงรู้โดยนัยอันกล่าวแล้วใน อาสวะ ๓. ทิฏฐิ หมายเอามิจฉาทิฏฐิ. สภาพ ๔ นี้ ได้ชื่อว่าโอฆะเพราะเป็นดุจกระแสน้ำอันท่วมใจสัตว์. ได้ชื่อว่าโยคะ เพราะประกอบสัตว์ได้ในภพ. ได้ชื่อว่าอาสวะ เพราะเป็นสภาพหมักหมมอยู่ในสันดาน.



(๑๐๖) กิจในอริยสัจ ๔
๑. ปริญญา กำหนดรู้ทุกขสัจ
๒. ปหานะ ละสมุทัยสัจ
๓. สัจฉิกรณะ ทำให้แจ้งนิโรธสัจ
๔. ภาวนา ทำมัคคสัจให้เกิด.
สํ. มหา. ๑๙/๕๓๙.
อธิบาย: อธิยมรรคเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจ ๔ นี้ในขณะเดียวกัน.



(๑๐๗) ฌาน ๔
๑. ปฐมฌาน ฌานที่ ๑
๒. ทุติยฌาน ฌานที่ ๒
๓. ตติยฌาน ฌานที่ ๓
๔. จตุตถฌาน ฌานที่ ๔
ม. มู. ๑๒/๗๓.
อธิบาย: การเพ่งอารมณ์จนใจแน่แน่วเป็นอัปปนาสมาธิ เรียกว่าฌาน. ฌานนั้นจัดเป็น ๔ ชั้น เรียกชื่อตามลำดับปูรณสังขยา ประณีตขึ้นไปกว่ากันโดยลำดับ. ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ ยังมีตรึกซึ่งเรียกว่าวิตก และยังมีตรองซึ่งเรียกว่าวิจาร เหมือนอารมณ์แห่งจิตของคนสามัญ แต่ไม่ประกอบด้วยกิเลสกามและอกุศลธรรม ซ้ำมีปีติคือความอิ่มใจ และสุขคือความสบายใจเกิดแต่วิเวกคือความสงบกับประกอบด้วยจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งลงไป ซึ่งเรียกว่าเอกัคคตา. ทุติยฌานมีองค์ ๓ ละวิตกวิจารเสียได้ คงอยู่แต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิกับเอกัคคตา. ตติยฌานมีองค์ ๒ ละปีติเสียได้ คงอยู่แต่สุขกับเอกัคคตา. จตุตถฌานมีองค์ ๒ เหมือนกัน ละสุขเสียได้กลายเป็นอุเบกขา คือเฉย ๆ กับเอกัคคตา. ฌาน ๔ นี้ จัดเป็นรูปฌาน เป็นรูปสมาบัติ มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ สงเคราะห์เข้าในรูปาวจรภูมิ.



(๑๐๘) ทักขิฌาวิสุทธิ ๔
๑. ทักขิฌาบางอย่าง บริสุทธ์ฝ่ายทายก มิใช่ฝ่ายปฏิคาหก
๒. ทักขิณาบางอย่าง บริสุทธ์ปฏิคาหก มิใช่ฝ่ายทกยก
๓. ทักขิณาบางอย่าง ไม่บริสุทธ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก
๔. ทักขิณาบางอย่าง บริสุทธ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๐๔.
อธิบาย: ของทำบุญ เรียกว่าทักขิณา. ทายกเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม บริจาคทักขิณาใดแก่ปฏิคาหกผู้ทุศีล มีบาปธรรมทักขิณานั้น จัดว่าบริสุทธ์ฝ่ายทายก มิใช่ฝ่ายปฏิคาหก. ทายกเป็นผู้ ทุศีล มีบาปธรรม บริจาคทักขิณาใดแก่ปฏิคาหกผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทักขิณานั้น จัดว่าบริสุทธ์ฝ่ายปฏิคาหก มิใช่ฝ่ายทายก. ทั้งทายกทั้งปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ทักขิณาอันทายกบริจาคแก่ปฏิคาหกนั้น ย่อมไม่บริสุทธ์เลย. ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทักขิณาอันทายกบริจาคแก่ปฏิคาหกนั้น ย่อมบริสุทธ์พร้อมทั้งสองฝ่าย.



(๑๐๙) ธรรมสมาทาน ๔
๑. ธรรมสมาทานบางอย่าง ให้ทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากต่อไป.
๒. ธรรมสมาทานบางอย่าง ให้ทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากต่อไป.
๓. ธรรมสมาทานบางอย่าง ให้สุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป.
๔. ธรรมสมาทานบางอย่าง ให้สุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไป.
ม. มู. ๑๒/๕๕๖.
อธิบาย: ธรรมสมาทาน ได้แก่การทำกรรม อุทาหรณ์มาในบางพระสูตร อย่างต้น ประพฤติอกุศลกรรมบถฝืนใจได้เสวยทุกขโทมนัส. อย่างที่ ๒ ประพฤติกุศลกรรมบถได้ด้วยความยากลำบากอย่างที่ ๓ ประพฤติอกุศลกรรมบถด้วยความพอใจ ได้เสวยสุขโสมนัส. อย่างที่ ๔ ประพฤติกุศลกรรมบถด้วยความพอใจ ได้เสวยสุขโสมนัส.ขยายความอย่างที่ ๑ เช่นคนคบคนพาล ถูกคนพาลล่อพาตัวไปปล้นเอาทรัพย์ของคนอื่น ผู้นั้นไม่สมัครทำเลย แต่หลวมตัวเข้าไปเสียแล้วถ้าไม่ทำกับมัน กลัวมันจะฆ่าเสีย ต้องจำใจทำ. อย่างที่ ๒ คนช่วยชีวิตแห่งผู้อื่น ด้วยฝ่ายอันตราย เช่นช่วยคนตกน้ำ. อย่างที่ ๓ คนหากินโดยทางมิจฉาอาชีวะ หาทรัพย์ได้คล่อง ๆ เช่นรับของโจรหรือรับสินบน. อย่างที่ ๔ คนมีทรัพย์ จ่ายทรัพย์ของตนเพื่อเกื้อกูลผู้อื่นได้รับความเบิกบานใจ. คนผู้ทำบาป ตายแล้วย่อมไปสู่ทุคติ. คนผู้ทำบุญ ตายแล้วย่อมไปสู่สุคติ.



(๑๑๐) บริษัท ๔(๑)
๑. ภิกษุ
๒. ภิกษุณี
๓. อุบาสก
๔. อุบาสิกา.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๗๘.



(๑๑๑) บริษัท ๔(๒)
๑. กษัตริย์
๒. พราหมณ์
๓. คฤหบดี
๔. สมณะ.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๗๙.



(๑๑๒) บุคคล ๔
๑. อุคฆติตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมพอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง.
๒. วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น.
๓. เนยยะ ผู้พอแนะนำได้.
๔. ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๘๓.
อธิบาย: บุคคลที่ ๑ เป็นผู้มีปฏิภาณเป็นอย่างดี ท่านผู้เทศนายกเพียงหัวข้อขึ้นแสดง ก็เข้าใจแล้ว ตัวอย่างเช่นพระอัสสชิแสดงแก่พระสารีบุตรครั้งยังเป็นปริพาชกว่า ความเกิดและดับแห่งธรรมทั้งหลายเพราะเหตุ พระสารีบุตรเข้าในดีว่า หัวใจพระพุทธศาสนาคือถือว่าสิ่งนั้น ๆ สารพัดทุกอย่างเป็นเหตุและผลแห่งกันและกัน เกิดขึ้นก็เพราะเหตุ ดังก็เพราะสิ้นเหตุ. บุคคลที่ ๒ มีปฏิญาณไม่ถึงอย่างนั้น ต่อได้ฟังอธิบายความจึงเข้าใจได้ ตัวอย่าง พระปัญจวัคคีย์ได้ฟังพระศาสดาตรัสว่า ปัญจขันธ์เป็นอนัตตา แล้วทรงอธิบายว่าถ้าปัญจขันธ์เป็นอัตตาแล้วไซร้ ปัญจขันธ์นั้นก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่อความลำบาก และจะพึงปรารถนาได้ตามใจว่า ขอจงเป็นอย่างนี้เถิดอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ท่านเข้าใจแล้ว. บุคคลที่ ๓ ได้แก่ผู้พอจะฝึกสอนอบรมได้ต่อไป อย่างคนสามัญ. บุคคลที่ ๔ ได้แก่บุคคลผู้สักว่าฟัง ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จเพราะการฟัง.



(๑๑๓) ปฏิปทา ๔
๑. ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า
๒. ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว
๓. สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า
๔. สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๒๐๐.
อธิบาย: นี้หมายเอาความปฏิบัติของภิกษุผู้ได้บรรลุธรรมพิเศษ.ปฏิปทาที่ ๑ พึงเห็นเช่นของพระจักขุปาลเถระ ท่านถือเนสัชชิกธุดงค์ไม่นอนตลอดพรรษาจนจักษุบอด ได้ความลำบาก ได้บรรลุธรรมพิเศษก็ช้ากว่าพวกสหาย. ปฏิปทาที่ ๒ พึงเห็นเช่นของภิกษุผู้อาพาธ ได้เสวยทุกขเวทนากล้าคือเอาเป็นอารมณ์ พอได้บรรลุธรรมพิเศษแล้วก็ดับจิต ที่เรียกว่าชีวิตสมสีสี. ปฏิปทาที่ ๓ พึงเห็นเช่นของภิกษุเรียนกัมมัฏฐานไม่ถูกแก่จริต ไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษมานาน กว่าจะได้เรียนกัมมัฏฐานถูกแก่จริต. ปฏิปทาที่ ๔ พึงเห็นเช่นของพระพาหิยะ ผู้ได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาในระหว่างทางก็ได้บรรลุธรรมพิเศษ.



(๑๑๔) ปฏิสัมภิทา ๔
๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในอรรถ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในธรรม
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในนิรุกติ
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในปฏิภาณ.
ขุ. ปฏิ. ๓๑/๑๗๕. องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๑๓๕.
อธิบาย: อรรถอย่างหนึ่ง หมายเอาความอธิบายแห่งภาษิตความเข้าใจอธิบายอรรถแห่งภาษิตย่อให้พิสดาร ดุจพระมหากัจจายนะได้รับยกย่องแห่งพระศาสดา จัดเป็นอัตถปฏิสัมภิทา. อีกอย่าง หนึ่งหมายเอาผล ความเข้าใจคาดหน้าถึงผลอันจักมี ด้วยอำนาจอนาคตตังสญาณ จัดเป็นอัตถปฏิสัมภิทา. ธรรมอย่างหนึ่ง หมายเอาภาษิตอันเป็นกระทู้ซึ่งเรียกว่าอุทเทส ความเข้าใจถือเอาใจความ แห่งอรรถาธิบายนั้น ๆ ตั้งเป็นกระทู้ขึ้นได้ จัดเป็นธัมมปฏิสัมภิทา.อีกอย่างหนึ่ง หมายเอาเหตุ ความเข้าใจสาวหาเหตุในหนหลังด้วยอำนาจอตีตังสญาณ จัดเป็นธัมมปฏิสัมภิทา. นิรุกติ ได้แก่ภาษาความเข้าใจภาษา รู้จักใช้ถ้อยคำให้คนเข้าใจตลอดถึงรู้ภาษาต่างประเทศ อาจชัดนำคนให้นิยมตามคำพูด กล่าวสั้นว่าเข้าใจพูด จัดเป็นนิรุตติปฏิสัมภิทา. ปฏิภาณ ได้แก่ความไหวพริบ ความเข้าใจทำให้สบเหมาะในทันที ในเมื่อเหตุเกิดขึ้นโดยฉุกเฉิน จัดเป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา.



(๑๑๕) ภูมิ ๔
๑. กามาจรภูมิ ชั้นท่องเที่ยวอยู่ในกาม
๒. รูปาวจรภูมิ ชั้นท่องเที่ยวอยู่ในรูป
๓. อรูปาวจรภูมิ ชั้นท่องเที่ยวอยู่ในอรูป
๔. โอกุตตรภูมิ ชั้นพ้นจากโลก.
ขุ. ปฏิ. ๓๑/๑๒๒.
อธิบาย: ภาวะอันประณีตขึ้นไปเป็นชั้น ๆ แห่งจิตและเจตสิกเรียกว่าภูมิในที่นี้ แปลว่าชั้นหรือพื้นแพ ชั้นแห่งจิตและเจตสิกอันยังปรารภกามเป็นอารมณ์ จัดเป็นกามาวจรภูมิ ได้แก่จิตและ เจตสิกของสามัญมนุษย์เป็นตัวอย่าง. ชั้นแห่งจิตและเจตสิกอันล่วง กามได้แล้ว แต่ยังปรารภรูปธรรมเป็นอารมณ์ จัดเป็นรูปาวจรภูมิได้แก่จิตและเจตสิกของพระโยคาวจรผู้ได้ฌานมีกสิณ หรือรูปอย่างอื่นเป็นอารมณ์ เรียกว่ารูปฌาน. ชั้นแต่งจิตและเจตสิกอันล่วงรูปธรรมได้แล้ว ปรารภอรูปธรรมเป็นอารมณ์ จัดเป็นอรูปาวจรภูมิ ได้แก่จิตและเจตสิกของพระโยคาวจรผู้ได้ฌานมีอรูปธรรม อย่างละเอียดเป็นอารมณ์ ที่เรียกว่าอรูปฌาน. ชั้นแห่งจิตและเจตสิกอันล่วงโลกิยธรรมได้แล้ว ไม่กลับกลายมาข้างต่ำ จัดเป็นโลกุตตรภูมิ ได้แก่จิตและเจตสิกแห่งพระอริยเจ้า.




(๑๑๖) มรรค ๔
๑. โสดาปัตติมรรค
๒. สกทาคามิมรรค
๓. อนาคามิมรรค
๔. อรหัตตมรรค.
วิ. ญาณทสฺสน. ตติย. ๓๑๙.
อธิบาย: ญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้เด็ดขาด เรียกว่ามรรค. มรรคนั้นจำแนกเป็น ๔ ด้วยอำนาจกำจัดสังโยชน์แต่เพียงเอกเทศบ้าง สิ้นเชิงบ้าง. พึงรู้สังโยชน์ ๑๐ [จงดูในทสกะหมวด ๑๐]ก่อนแล้ว รู้วิภาคแห่งมรรคดังนี้:
๑. โสดาปัตติมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส.
๒. สกทาคามิมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ เหมือนโสดาปัตติมรรค กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาลง.
๓. อนาคามิมรรค เป็นเหตุละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ทั้ง ๕.
๔. อรหัตตมรรค เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐.
ตามนัยที่กล่าวมานี้ สกทาคามิมรรค ไม่ชัดเหมือนมรรคอื่นแฝงอยู่ในระหว่างโสดาปัตติมรรคกับอนาคามิมรรค. และคำว่าทำราคะโทสะให้เบาลงนั้น ก็ไม่ชัดว่าเพียงไร. สันนิษฐานได้เพียงว่าราคะโทสะที่แรงกล้า เป็นเหตุไปอบาย เช่นกาเมสุมิจฉาจารและพยาบาท สงบมาแต่ครั้งโสดาปัตติมรรคแล้ว แปลว่า ท่านผู้เป็นโสดาบัน ไม่ทำกาเมสุมิจฉาจาร และไม่จองเวรแก่ผู้อื่น แต่ยังมีภรรยาสามีตามประเพณีโลก และยังโกรธผู้อื่น. ฝ่ายอนาคามิมรรคกำจัดราคะ โทสะ นั้นสิ้นเชิง แปลว่าท่านผู้เป็นพระอนาคามีเป็นโสดไม่มีคู่ ไม่มีสมัครรักใคร่ในทางกาม ไม่โกรธขึ้งใคร. ราคะ โทสะอันสกทาคามิมรรคทำให้เบาลงนั้น แปลว่ายังมี แต่ไม่ใช่อย่างแรงร้าย จะอธิบายว่า มีห่าง ๆ หรือมีอย่างสุขุม ก็ไม่ปรากฏว่าเพียงไรอีก และโมหะนั้นจะขาดเด็ดเพราะอรหัตตมรรค สกทาคามิมรรคทำให้เบาลงได้เพียงไร ไม่ชัดเหมือนกัน จึงยังเป็นมรรคที่มัวมีทางสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่งว่า คนยังมีรัก มีโกรธ มีหลง แต่เขาไม่เรียกว่าผู้รักง่าย ผู้โกรธง่าย ผู้หลงง่าย ทุกคนไป เขาเรียก เฉพาะคนที่มีกิเลสเช่นนั้นเป็นเจ้าเรือน พระสกทาคามีไม่ใช่ผู้รักง่ายผู้โกรธง่าย ผู้หลงง่ายกระมัง แต่ก็ไม่พ้นมัว.



(๑๑๗) ผล ๔
๑. โสดาปัตติผล
๒. สกทาคามิผล
๓. อนาคามิผล
๔. อรหัตตผล.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๔๐.
อธิบาย: ธรรมารมณ์อันเกิดสืบเนื่องมาแต่มรรค เสวยกำไรที่มรรคได้ทำไว้นั้น เรียกว่าผล. ผลนั้นก็มีชื่อเป็น ๔ ตามมรรค. จักแสดงข้ออุปมาเปรียบมรรคกับผลพอเล็งเห็น. สังโยชน์เหมือนโรคในกาย มรรคเหมือนการรักษาโรคให้หาย ผลเหมือนความสุขสบายอันเกิดแต่ความสิ้นโรค. อีกอุปมาหนึ่ง สังโยชน์เหมือนโจรในป่ามรรคเหมือนกิริยาปราบโจร ผลเหมือนความสงบราบคาบเกิดมีเพราะหมดโจร.




(๑๑๘) โยนิ ๔
๑. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์
๒. อัณฑชะ เกิดในไข่
๓. สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล
๔. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น.
ม. มู. ๑๒/๑๔๗.
อธิบาย: กำเนิดเรียกว่าโยนิในที่นี้. กำเนิดชลาพุชะนั้น ได้แก่กำเนิดมนุษย์และกำเนิดดิรัจฉานที่คลอดออกเป็นตัวแลดูดนม เช่นโคกระบือ สุนัข แมวเป็นต้น. กำเนิดอัณฑชะนั้น ได้แก่กำเนิดดิรัจฉานที่เกิดในไข่ก่อนแล้วจึงฟักออกเป็นตัว เช่น ไก่ เป็ด นก เป็นต้น.กำเนิดสังเสทชะ ท่านหมายเอากำเนิดดิรัจฉานที่เกิดในของโสมม เช่น หมู่นอน. ถ้าแยกให้ชัดจากกำเนิดอัณฑชะ ควรแบ่งดังนี้ จำพวก เกิดในไข่ฟักแล้วเป็นตัวเติบขึ้น นับเข้าในจำพวกสัตว์ จัดเป็นอัณฑชะ.จำพวกเกิดในไข่ หรือไม่ปรากฏว่าเกิดจากอะไร เป็นชนิดหนอนและแมลงต่าง ๆ จัดเป็นสังเสทชะ. อีกอย่างหนึ่ง น่ากำหนดว่า จำพวกมีเลือดแดง จัดเป็นอัณฑชะ จำพวกมีเลือดเหลือง จัดเป็นสังเสทชะโดยเค้าเงื่อนก็สมกัน. กำเนิดโอปปาติกะท่านว่าได้แก่กำเนิดเทวดาและสัตว์นรกเป็นต้น เทวาก็ดี สัตว์นรกก็ดี ไม่ได้เกิดด้วยกำเนิด ๓ข้างต้น เกิดผุดขั้นในทันใด โตใหญ่เป็นวิญญูชนทีเดียว หาได้เป็นทารกมาก่อนไม่ เมื่อจุติก็หายวับไป ไม่ทอดทิ้งซากไว้ ยังไม่แลเห็นอุทาหรณ์.




(๑๑๙) วรรณะ ๔
๑. กษัตริย์
๒. พราหมณ์
๓. แพศย์ [พาณิช]
๔. ศูทร [คนงาน].
ม. ม. ๑๓/๕๒๐.




(๑๒๐) วิบัติ ๔
๑. สีลวิบัติ วิบัติแห่งศีล
๒. อาจารวิบัติ วิบัติแห่งอาจาระ
๓. ทิฏฐิวิบัติ วิบัติแห่งทิฏฐิ
๔. อาชีววิบัติ วิบัติแห่งอาชีวะ.
จุลฺลวคฺค. ปฐม. ๓๓๖.
อธิบาย: การประพฤติตนเป็นคนทุศีล ไม่มีสังวร จัดเป็นสีลวิบัติ. การไม่รักษามรรยาท ทอดธุระเสีย จัดเป็นอาจารวิบัติ.มิจฉาทิฏฐิ อันนำให้ประพฤติผิด จัดเป็นทิฏฐิวิบัติ. มิจฉาอาชีวะจัดเป็นอาชีววิบัติ.



(๑๒๑) เวสารัชชญาณ ๔
พระตถาคตเจ้าไม่เห็นว่าใคร ๆ จักท้องพระองค์ได้โดยธรรมในฐานะ ๔ คือ
๑. ท่านปฏิญญาว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ ท่านยังไม่รู้แล้ว
๒. ท่านปฏิญญาว่าเป็นขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่าน ยังไม่สิ้นแล้ว
๓. ท่านกล่าวธรรมเหล่าใดว่าทำอันตราย ธรรมเหล่านั้น ไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง
๔. ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้น ไม่เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งคนผู้ทำตาม.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๐. ม. มู. ๑๒/๑๔๔.
จึงไม่ทรงครั่นคร้าม ปฏิญญาฐานของผู้เป็นโจท เปล่งพระสุรสิงหนาทในบริษัท ประกาศพระพรหมจักร.

 

 

view