สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฉักกะ คือ หมวด ๖

ฉักกะ คือ หมวด ๖


ฉักกะ คือ หมวด ๖



๑๔๔) คารวะ ๖
๑. ความเอื้อเฟื้อ ในพระพุทธเจ้า
๒. ความเอื้อเฟื้อ ในพระธรรม
๓. ความเอื้อเฟื้อ ในพระสงฆ
๔. ความเอื้อเฟื้อ ในความศึกษา
๕. ความเอื้อเฟื้อ ในความไม่ประมาท
๖. ความเอื้อเฟื้อ ในปฏิสันถารคือต้อนรับปราศรัย
ภิกษุควรทำคารวะ ๖ ประการนี้.
องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๓๖๙.
 




(๑๔๕) สาราณิยธรรม ๖ (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง เรียกสาราณิยธรรม มี ๖ อย่าง คือ)
๑.เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยกาย มีพยาบาลภิกษุไข้เป็นต้น ด้วยจิตเมตตา.
๒.เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยวาจา เช่นกล่าวสั่งสอนเป็นต้น ด้วยจิตเมตตา.
๓.เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ คิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน.
๔. แบ่งปันลาภที่ตนได้มาแล้วโดยชอบธรรม ให้แก่เพื่อนภิกษุสามเณร ไม่หวงไว้บริโภคจำเพาะผู้เดียว.
๕. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่น ๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น.
๖. มีความเห็นร่วมกันกับภิกษุสามเณรอื่น ๆ ไม่วิวาทกับใคร ๆเพราะมีความเห็นผิดกัน.
ธรรม ๖ อย่างนี้ ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.
องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๓๒๒.



(๑๔๖) อายตนะภายใน ๖
๑. ตา
๒. หู
๓. จมูก
๔. ลิ้น
๕. กาย
๖. ใจ
.อินทรีย์ ๖ ก็เรียก .
ม. ม. ๑๒/๙๖. อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๘๕.



(๑๔๗) อายตนะภายนอก ๖
๑. รูป
๒. เสียง
๓. กลิ่น
๔. รส
๕. โผฏฐัพพะ คืออารมณ์ที่มาถูกต้องกาย
๖. ธรรม คืออารมณ์เกิดกับใจ .
อารมณ์ ๖ ก็เรียก.
ม. อุป. ๑๔/๔๐๑. อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๘๕.



(๑๔๘) วิญญาณ ๖
๑.จักขุวิญญาณ อาศัยรูปกระทบตา เกิดความรู้ขึ้น
๒.โสตวิญญาณ อาศัยเสียงกระทบหู เกิดความรู้ขึ้น
๓.ฆานวิญญาณ อาศัยกลิ่นกระทบจมูก เกิดความรู้ขึ้น
๔. ชิวหาวิญญาณ อาศัยรสกระทบลิ้น เกิดความรู้ขึ้น
๕. กายวิญญาณ อาศัยโผฏฐัพพะกระทบกาย เกิดความรู้ขึ้น
๖. มโนวิญญาณ อาศัยธรรมเกิดกับใจ เกิดความรู้ขึ้น
ที. มหา. ๑๐/๓๔๔. อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๘๕.



(๑๔๙) สัมผัส ๖ (อายตนะภายในมีตาเป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูปเป็นต้น วิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้น กระทบกัน เรียกสัมผัส มีชื่อตามอายตนะภายในเป็น ๖ คือ)
๑. จักขุ สัมผัส.
๒. โสตุ สัมผัส.
๓. ฆานะ สัมผัส.
๔. ชิวหา สัมผัส.
๕. กาย สัมผัส.
๖. มโน สัมผัส.
ที. มหา. ๑๐/๓๔๔. สํ. นิ. ๑๖/๔.



(๑๕๐))เวทนา ๖(สัมผัสนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง มีชื่อตามอายตนะภายในเป็น ๖ คือ)
๑. จักขุ สัมผัสสชาเวทนา
๒. โสต สัมผัสสชาเวทนา
๓. ฆาน สัมผัสสชาเวทนา
๔. ชิวหา สัมผัสสชาเวทนา
๕. กาย สัมผัสสชาเวทนา
๖. มโน สัมผัสสชาเวทนา
ที. มหา. ๑๐/๓๔๔. สํ. นิ. ๑๖/๔.



(๑๕๑) ธาตุ ๖
๑. ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน.
๒. อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ.
๓. เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ.
๔. วาโยธาตุ คือ ธาตุลม.
๕. อากาสธาตุ คือ ช่องว่างมีในกาย.
๖. วิญญาณธาตุ คือ ความรู้อะไรได้.
ม. อุป. ๑๔/๑๒๕. อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๑๐๑.



(๑๕๒) อภิญญา ๖
๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้
๒. ทิพพโสต หูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ รู้จัดกำหนดใจผู้อื่น
๔. ปุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ รู้จัดทำอาสวะให้สิ้น.
องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๓๑๑.
อธิบาย: ธรรม ๖ อย่างนี้ ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. อิทธิวิธิ กล่าวไว้ในนิทเทสว่า แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆคนเดียวนิรมิตเป็นคนมากก็ได้ กลับเป็นคนเดียวอีกก็ได้ ล่องหนคือผ่านไปในวัตถุกั้นขวางอยู่ เช่น ฝา กำแพง ภูเขา ดุจไปในที่แจ้งก็ได้. ดำดิน คือไปใต้ดินแล้วผุดขึ้นในที่ปรารถนาดุจดำในน้ำก็ได้. เดินน้ำ คือไปได้บนพื้นน้ำอันไม่แตกดุจเดินบนพื้นดินก็ได้.เหาะ คือนั่งไปในอากาศดุจนกบินก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ด้วยมือก็ได้. ใช้อำนาจด้วยกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้. ทิพพโสตมีนิทเทสว่า มีหูทิพย์หมดจดล่วงหูของสามัญมนุษย์ ฟังเสียง ๒ อย่างได้ คือทั้งเสียงทิพย์ ทั้งเสียงมนุษย์ ทั้งเสียงไกล เสียใกล้.เจโตปริยญาณ มีนิทเทสว่า กำหนดด้วยใจของตนแล้วรู้ได้ซึ่งใจของบุคคลอื่นอันบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองอย่างไร. อีก ๓ อย่างอธิบายไว้แล้วในวิชชา ๓. อภิญญา ๕ ข้างต้นนั้น ตามนิทเทสดูเป็นพ้น ธรรมดาของมนุษย์ แต่ก็ยังมีกิจการของมนุษย์เทียบได้เป็นหลายอย่าง คนเดียวเป็นคนมาก มีคนเดียวทำการได้หลายหน้าที่ เทียบตัวอย่างพระราชาองค์เดียวครองได้หลายอาณาจักร. คนมากเป็นคนเดียว มีการรวมสามัคคีของเอกชนเข้าเป็นคณะเทียบ ตัวอย่างพระสงฆ์นี้เอง. ล่องหนและดำดินมีการขุดอุโมงค์เทียบ. เดินน้ำมีการเดินบนน้ำแข็งคนในประเทศหนาวจัดเทียบ. เหาะมีการใช้อากาศยานเทียบ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ด้วยมือได้ มีการรู้จักคำนวณคติของพระจันทร์พระอาทิตย์ตลอดถึงจันทรุปราคา และสุริยุปราคาได้แม่นยำเทียบ. ใช้อำนาจด้วยกายไปตลอดพรหมโลก มีรู้จักคำนวณคติของดาวเคราะห์และฐานะของดาวฤกษ์ได้เทียบ ฟังเสียงทิพย์ได้ มีรู้จักสังเกตอาการแห่งฐานที่กับทั้งคนและพัสดุแล้ว อาจสันนิษฐานไว้ว่าเป็นอย่างไร ดุจว่าได้รับบอกเทียบ ฟังเสียงไกลได้มีได้ยินข่าวในถิ่นไกลที่เรียกว่าหูไวเทียบ ในบัดนี้ มีฟังโทรศัพท์เทียบด้วย. เจโตปริยญาณ มีการทายใจและกำหนดรู้อัธยาศัยเทียบ.ระลึกชาติได้ มีการรู้พงศาวดารแห่งตนเทียบ. ทิพพจักขุ มีรู้จักตำนานแห่งคนอื่นเทียบ. ใจความแห่งอภิญญา ๖ นี้มีอยู่เพียงไร ขอนักธรรมจงสอดส่องแล้วลงสันนิษฐานเอาเอง.



(๑๕๓) อภิฐาน ๖ [ฐานะอย่างหนัก]
๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้า จนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น
๕. สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกจากกัน
๖. อัญญสัตถุทเทส ถือศาสดาอื่น.
องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๔๘๖.
อธิบาย: ชนผู้ฆ่ามารดาบิดาของตนเองได้แล้ว จักไม่ฆ่าคนอื่นในเมื่อตนขัดใจขึ้นมาเป็นอันไม่มี และชื่อว่าล้างผลาญสกุลของตนด้วย. คนฆ่าพระอรหันต์ผู้ประพฤติกาย วาจา ใจ บริสุทธ์ไม่ได้คิดร้ายทำร้ายผู้ใดผู้หนึ่งเลย และเป็นที่นับถือของมหาชน จัดไม่ฆ่าคนอื่นผู้ยังไม่สงบถึงนั้น ผู้ไม่เป็นที่นับถือถึงนั้น เป็นอันไม่มี และชื่อว่าล้างผลาญที่นับถือของมหาชนด้วย. คนผู้ทำร้ายพระศาสดาของตนเองได้แล้ว เป็นหมดหลักในทางพระสาสนา ดุจเดียวกับคนคิดกบฏทำร้ายพระเจ้าแผ่นดินของตน. ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกเป็นพรรคพวก แต่คณะของตนยังทำลายได้แล้ว จักไม่คิดทำลายคณะอื่นเป็นอันไม่มี เช่นเดียวกับคนยุแหย่ทำความแตกสามัคคีในชาติของตน. ๕ นี้เรียกอนันตริยกรรม แปลว่ากรรมให้ผลในลำดับไป จัดเป็นครุกรรมคือกรรมหนักในฝ่ายบาป. บทหลังข้าพเจ้าเข้าใจว่าหมายภิกษุผู้ไปเข้ารีตเดียรถีย์ทั้งยังเป็นภิกษุ ที่เรียกว่า "ติตฺถิยปกฺกนฺตโก" ที่ห้ามอุปสมบทอีก. ภิกษุเห็นปานนี้ เป็นผู้แตกจากคณะของตนไปเข้าคณะอื่น แต่ไม่ได้ทำลายคณะเดิมของตน เหมือนภิกษุผู้ทำสังฆเภท ดุจเดียวกับคนโจทก์เจ้า ที่เขาเรียกว่า "ภักดีต่อไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน" เพราะอย่างนี้ ฐานะ ๖ นี้ แต่ละอย่าง ๆจึงจัดเป็นอภิฐานที่แปลว่าฐานะอันหนัก ผู้ถือพระศาสนาอย่างเคร่งครัดเพียงพระโสดาบันย่อมไม่ทำเลย.



(๑๕๔) จริต ๖
๑. ราคจริต มีราคะเป็นปกติ
๒. โทสจริต มีโทสะเป็นปกติ
๓. โมหจริต มีโมหะเป็นปกติ
๔. วิตักกจริต มีวิตกเป็นปกติ
๕. สัทธาจริต มีศรัทธาเป็นปกติ
๖. พุทธิจริต มีความรู้เป็นปกติ.
วิ. กมฺมฏฺฐานคฺคห. ปฐม. ๑๒๗.
อธิบาย: คนที่ ๑ มีปกติรักสวนรักงาม จะพึงแก้ด้วยพิจารณากายคตาสติ หรืออสุภกัมมัฏฐาน. คนที่ ๒ มีปกติหงุดหงิดโกรธง่าย จะพึงแก้ด้วยเจริญเมตตา. คนที่ ๓ มีปกติเขลางมงาย จะพึงแก้ด้วยเรียนและถาม ด้วยการฟังธรรมและสนทนาธรรมโดยกาลด้วยอยู่กับครู. คนที่ ๔ มีปกตินึกพล่าน จะพึงแก้ด้วยสะกดอารมณ์เช่นเพ่งกสิณหรือเจริญอานาปานัสสติกัมมัฏฐาน. คนที่ ๕ มีปกติเชื่อง่าย จะพึงนำไปด้วยกถาเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เช่นกล่าวถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์. คนที่ ๖ เรียกว่าญาณจริต ก็มี มีปกติใช้ความคิด จะพึงนำไปด้วยแนะให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ เช่นให้คำนึงถึงไตรลักษณ์.



(๑๕๕) ธรรมคุณ ๖
๑. สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
๒. สนฺทิฏฺฐิโก อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง
๓. อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล
๔. เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู
๕. โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา
๖. ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน.
องฺ. ติก. ๒๐/๒๖๖.
อธิบาย: คนที่ ๑ มีปกติรักสวนรักงาม จะพึงแก้ด้วยพิจารณากายคตาสติ หรืออสุภกัมมัฏฐาน. คนที่ ๒ มีปกติหงุดหงิดโกรธง่าย จะพึงแก้ด้วยเจริญเมตตา. คนที่ ๓ มีปกติเขลางมงาย จะพึงแก้ด้วยเรียนและถาม ด้วยการฟังธรรมและสนทนาธรรมโดยกาลด้วยอยู่กับครู. คนที่ ๔ มีปกตินึกพล่าน จะพึงแก้ด้วยสะกดอารมณ์เช่นเพ่งกสิณหรือเจริญอานาปานัสสติกัมมัฏฐาน. คนที่ ๕ มีปกติเชื่อง่าย จะพึงนำไปด้วยกถาเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เช่นกล่าวถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์. คนที่ ๖ เรียกว่าญาณจริต ก็มี มีปกติใช้ความคิด จะพึงนำไปด้วยแนะให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ เช่นให้คำนึงถึงไตรลักษณ์.บทว่า สฺวากฺขาโต หมายความกว้าง ท่านพรรณนาว่า ได้ใน ๒ สัทธรรม คือ ปริยัติ กับ ปฏิเวธ. ปริยัติ ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะตรัสไม่วิปริต คือตรัสได้จริง เพราะแสดงข้อปฏิบัติโดยลำดับกันที่ท่านเรียกว่า ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด มีทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธ์บริบูรณ์สิ้นเชิง และเพราะประกาศพรหมจรรย์อย่างนั้น. ปฏิเวธ ได้ชื่อย่างนั้น เพราะปฏิปทากับพระนิพพานย่อมสมควรแก่กันและกัน. ตั้งแต่บทว่า สนฺทิฏฺฐิโก เป็นต้นไป ได้ในปฏิเวธอย่างเดียว. บทว่า สนฺทิฏฺฐิโก หมายความว่า ผู้ใดได้บรรลุ ผู้นั้นย่อมเห็นเอง รู้เอง ไม่ต้องเชื่อตามคำผู้อื่น. บทว่า อกาลิโก หมายความว่า ให้ผลในลำดับแห่งการบรรลุไม่เหมือนผลไม้อันให้ผลตามฤดู.บทว่า เอหิปสฺสิโก หมายความว่า เป็นคุณอัศจรรย์ดุจของประหลาด ที่ควรป่าวร้องกันมาดูมาชม. บทว่า โอปนยิโก หมายความว่า ความน้อมเข้าไว้ในใจของตน หรือควรน้อมใจเข้าไปหา. บทว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ หมายความว่า ผู้ใดได้บรรลุ ผู้นั้นย่อมรู้แจ้งเฉพาะตน อันผู้อื่นไม่พลอยมาตามรู้ตามเห็นด้วยได้. มติของข้าพเจ้าว่า พระธรรมในที่นี้ดูเหมือนท่านผู้แสดงไม่ได้หมายจะแยกโดยวิภาค กล่าวรวมปนกันไป แต่เมื่อจะกล่าวแยกบทว่า สฺวากฺขาโต น่าจะได้ในปริยัติอย่างเดียว และได้ชื่ออย่างนั้น เพราะตรัสอิงเหตุและเพราะตรัสแต่พอดีเป็นกลาง ๆ ไม่หย่อนไม่ตึงด้วยก็ได้. ข้อว่าได้ในปฏิเวธนั้น ความอธิบายอยู่ข้างมัว แม้พรรณนามากไปอย่างไรก็ไม่พ้นมัว และคำว่าปฏิปทากับพระนิพพานสมควรแก่กันและกันนั้น ปฏิปทาก็ได้แก่ปฏิบัตินั้นเอง แก้ไปข้างปฏิบัติก่อนนั่นแลจึงจะกระจ่าง เพราะปฏิบัตินับเข้าในบทนี้ก็ได้ เพราะเป็นมัชฌิมาปฏิปทาและอนุบุพพปฏิปทา เมื่อปฏิบัติดีแล้ว ผลแห่งปฏิบัติจึงจักปรากฏว่าดีตามกัน. บทว่า สนฺทิฏฺฐิโก อาจได้ในธรรมอื่นจากปฏิเวธด้วยก็ได้เพราะปริยัติก็ต้องการความเข้าใจที่ได้แก่เห็นเอง ปฏิบัติก็ต้องการความรู้จัดทางที่ได้แก่เห็นเอง ในลำดับนั้นปฏิเวธจึงเกิด ที่ให้เจ้าตัวรู้ว่าทำให้แจ้งแล้ว. บทว่า อกาลิโก ก็เหมือนกัน เพราะผู้ฟังปริยัติย่อมได้ปสาทะและศรัทธาเป็นต้นในขณะฟังนั้นเองก็มี ปฏิบัติย่อมเป็นที่นิยมในกาลทุกเมื่อ ไม่เป็นไปในบางคราว และได้อานิสงส์แห่งความปฏิบัติในทันทีก็มี.บทว่า เอหิปสฺสิโก เปรียบด้วยการดูด้วยมังสจักษุ น่าจะได้ในปริยัติและปฏิบัติด้วย เพราะปริยัติเป็นคุณที่ควรจะชวนกันมาฟังแลเพราะปฏิบัติเป็นคุณที่ควรจะชวนกันให้ทำตาม เพื่อจะได้ชมปฏิเวธด้วยน้ำใจ. บทว่า โอปนยิโก น่าจะได้ในปฏิบัติด้วย เพราะแม้ปฏิบัติก็ควรน้อมเข้ามาด้วยทำตามหรือทำให้เกิดขึ้น. บทว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ ก็เหมือนกัน เพราะการปฏิบัติอันจะให้ได้ผลดี อันผู้ปฏิบัติต้องรู้จักทำให้สมควรแก่ฐานะของตน.เพราะอย่างนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า พระธรรมในที่นี้ ท่านผู้กล่าวไม่ได้หมายจะแยกโดยวิภาค กล่าวรวมกันไป. ไม่กล่าวถึงปฏิบัติธรรมบ้างเลย ไม่เป็นอุบายให้เกิดอุตสาหะ เมื่อไม่ปฏิบัติ ปฏิเวธจะเกิดขึ้นไฉน ปริยัติอันแสดงเพื่อชักนำให้ปฏิบัติ ก็หาประโยชน์มิได้.



(๑๕๖) ปิยรูป สาตรูป หมวดละหก ๑๐ หมวด
๑. จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย มโน.
๒. รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรม.
๓. จักขุวิญญาณ กายวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ.
๔. จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส.
๕. จักขุสัมผัสสชา เวทนา, โสตสัมผัสสชา เวทนา,ฆานสัมผัสสชา เวทนา, ชิวหาสัมผัสสชา เวทนา,
กายสัมผัสสชา เวทนา, มโนสัมผัสสชา เวทนา.
๖. รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา.
๗. รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คัมธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา.
๘. รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา.
๙. รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก.
๑๐. รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร.
ที. มหา. ๑๐/๓๔๓.
อธิบาย: หมวดที่ ๑ อายตนะภายใน หมวดที่ ๒ อายตนะภายนอก หมวดที่ ๓ วิญญาณ คือความรู้สึกอาศัยอายตนะภายใน เกิดเพราะอายตนะ ๒ ประเภทนั้นพร้อมกันเข้า หมวดที่ ๔ สัมผัส คือความประจวบอาศัยอายตนะภายใน เกิดเพราะการประจวบกันเข้าแห่งอายตนะ ๒ ประเภทนั้นกับวิญญาณ หมวดที่ ๕ เวทนา คือความเสวยอารมณ์ เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข เกิดเพราะสัมผัสหมวดที่ ๖ สัญญา คือความหมายรู้อิงอายตนะภายนอก เกิดในลำดับแห่งเวทนา หมวดที่ ๗ สัญเจตนา คือความคิดอ่านอิงอายตนะภายนอก เกิดในลำดับสัญญา หมวดที่ ๘ ตัณหา อิงอายตนะภายนอก เกิดในลำดับแห่งสัญเจตนา หมวดที่ ๙ วิตก คือความตริอิงอายตนะภายนอก เกิดในลำดับแห่งตัณหา หมวดที่ ๑๐ วิจาร คือความตรองอิงอายตนะภายนอก เกิดในลำดับแห่งวิตก. ในธรรมเหล่านี้ วิญญาณและสัมผัสมีกิจต่างกันอย่างไร อยู่ข้างมัว. ในปฏิจจสมุปบาทส่วนอภิธรรมย่นว่า "สฬายตนปจฺจยาผสฺโส" แปลว่าผัสสะ ย่อมเกิดมีเพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัย ในพระสูตรกล่าวถึงวิญญาณ ในระหว่างอายตนะ ๖ และผัสสะ "จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺาณํ, ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส"แปลว่า อาศัยจักขุและรูปเกิดจักขุวิญญาณ ประจวบกันแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ. ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ความรู้สึกสักว่าเห็นหรือได้ยินเป็นต้น เป็นวิญญาณ ความรู้สึกพอใจไม่พอใจหรือพอเป็นกลาง ๆ อันเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาตามประเภทเป็นผัสสะ. ยุกติเป็นอย่างไร ขอนักธรรมสนใจดูเถิด. ธรรมเหล่านี้ ได้ชื่อว่า เป็นปิยรูป สาตรูป โดยอรรถว่า เป็นสภาวะที่รักที่ชื่นใจ ด้วยเพ่งอิฏฐารมณ์เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งตัณหา ตัณหาเมื่อเกิดย่อม เกิดในธรรมเหล่านี้ เมื่อดับย่อมดับในธรรมเหล่านี้.




(๑๕๗) สวรรค์ ๖ ชั้น
๑. ชั้นจาตุมหาราชิก
๒. ชั้นดาวดึงส์
๓. ชั้นยาม
๔. ชั้นดุสิต
๕. ชั้นนิมมานรดี
๖. ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี.
สํ. มหา. ๑๙/๕๓๑.
อธิบาย: สวรรค์ ๖ ชั้นนี้ ถัดกันขึ้นไปโดยลำดับ. ชั้นจาตุมหาราชิก เป็นต่ำที่สุด มีท้าวมหาราช ๔ องค์เป็นผู้ปกครอง,
๑. ท้าวธตรฐ มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร ครองในทิศบูรณ์
๒. ท้าววิรุฬหก มีพวกกุมภัณฑ์เป็นบริวาร ครองในทิศทักษิณ
๓. ท้าววิรูปักข์ มีพวกนาคเป็นบริวาร ครองในทิศปัศจิม
๔. ท้าวกุเวร มีพวกยักษ์เป็นบริวาร ครองในทิศอุดร.
ในอาฏานาฏิยสูตร กล่าวถึงท้าวมหาราช ๔ องค์นี้ โดยอาการที่ร่วมกันว่า รู้จักอภิรมณ์อยู่ด้วยฟ้อนขับ มีโอรสองค์ละมาก ๆ ทรงนามว่าอินทร์เหมือนกันทั้งนั้น เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา พรรณนา ไว้โดยเฉพาะถึงด้านของท้าวกุเวรว่า มีราชธานีและนครต่าง ๆ มีแม่น้ำ มีสภาที่ประชุมยักษ์ มีรุกขชาติและสกุณชาติต่าง ๆ ท้าวกุเวรนั้นมีปราสาทเป็นที่อยู่ มีช้าง มีม้า เป็นราชพาหนะ มีวอหรือเสลี่ยงเป็นราชยาน ปกครองตลอดลงมาถึงอุตตรกุรุทวีป ที่อยู่ของมนุษย์ผู้ไม่ต้องทำไร่ไถนา บริโภคข้าวสาลีไม่ต้องหุงด้วยฟืน หุงในหม้อ ที่ไม่ต้องเอาขึ้นตั้งไฟหรือเอาขึ้นวางบนศิลาเพลิง ใช้โคบ้าง ปศุสัตว์อื่นบ้าง แทนม้า ใช้หญิงบ้าง ชายบ้างแทนพาหนะ. สันนิษฐานตามรัฐปสาสโนบาย ชั้นจาตุมหาราชิก น่าจะได้แก่อาณาจักรที่รวม ๔ ชนบทเข้ากันในสัมพันธไมตรี กล่าวโดยเฉพาะ น่าได้แก่ชมพูทวีปนี้เอง
ในสมัยหนึ่ง และท้าวมหาราช ๔ องค์นั้น น่าเป็นวงศ์เดียวกันเป็นอินทรวงศ์ เพราะอย่างนี้จึงว่าโอรสเป็นอันมากทรงนามว่าอินทร์เหมือนกันทั้งนั้น. ชั้นดาวดึงส์ เดิมที่เป็นที่อยู่แห่งพวกอสูร ท้าวเวปจิตติเป็นผู้ครอง ยังไม่ได้ยินว่ามีอะไรนอกจากเป็นป่า. ต่อมา ท้าวสักกเทวราช คือพระอินทร์กับเทพผู้สหจรรวม ๓๓ องค์เกิดขึ้น ณ ที่นั้นจึงเป็นสถานที่รุ่งเรือง มีเวชยันตปราสาท มีสุธัมมสภาที่ประชุมเทวดา มีสวนนันทวัน มีสวนจิตรลดา มีโปกขรณีสุนันทา เกิดขึ้นเพราะบุญญานุภาพของท้าวสักกเทวราชและพระราชเทวี. สถานที่นี้ตั้งเป็นเมืองสวรรค์ชื่อเทพนคร มีกำแพงล้อม มีเชิงเทินและหอรบพร้อมสรรพ. ท้าวเธอมีพระเทวี ๔ องค์ พระนางสุธัมมา พระนาง สุจิตรา พระนางสุนันทา พระนางสุชาดา โปรดพระนางสุชาดามากเสด็จไปข้างไหนเอาไปด้วย. ท้าวเธอมีช้างเอราวัณ ๓ เศียรเป็นพระคชาธาร แต่มีคำกล่าวว่า ไม่ใช่ช้างจริง ๆ เป็นช้างเทวบุตรจำแลงขึ้น เพราะในสวรรค์ชั้นนั้น ไม่มีสัตว์ดิรัจฉาน แต่ในแห่งอื่นว่ามีครุฑ นอกจากนี้ ยังมีเวชยันตราชรถสำหรับทรง พระมาตลีเป็นสารถี ม้าที่เทียมเป็นม้าจริงหรือม้าเนรมิตไม่ได้กล่าวไว้. พวกเทวดากับพวกอสูรไม่ปรองดองกัน ทำสงครามกันทุกปี ถึงหน้าดอกจิตตปาตลิขอพวกอสูรบาน พวกอสูรยกพลมาทำสงครามกับเทวดา ต่างรุกได้บ้าง ต้องล่าบ้าง ในที่สุดพวกอสูรแพ้ ถูกพวกเทวดาขับตกสมุทรลงไป ท้าวสักกเทวราชตั้งความเป็นเอกราชขึ้นได้ ปกครองตลอดทั่วไป. ท้าวสักกเทวราชนั้น เสด็จออกในเทวสันนิบาต ณ พระแท่นบัณฑุกัมพลสิลา ภายใต้ต้นปาริฉัตตกะ. พระแท่นนั้น มีคำพรรณนาว่า มีสีเหลืองและนุ่มดุจผ้ากำพล เวลาประทับนั่งฟุบลงได้เวลาเสด็จลุกขึ้นกลับฟูขึ้นได้อย่างเดิม เช่นเดียวกับเก้าอี้สปริง. ในพุทธุปบาทกาล มีคำเล่าว่า สมเด็จพระบรมศาสดา เสด็จขึ้นไปทรงจำพรรษาในชั้นดาวดึงส์นี้พรรษาหนึ่ง ประทับ ณ พระแท่นบัณฑุกัมพลสิลานั้น ทรงแสดงพระอภิธรรมปิฎกแก่พระพุทธมารดาผู้เสด็จลงมาจากชั้นดุสิตในเทวสันนิบาต พอออกพรรษาแล้ว เสด็จลงจากชั้นดาวดึงส์โดยทางบันไดแก้ว ทอง เงิน ที่เทวดานิรมิต ลงที่เมืองสังกัสแคว้นโกศล.เรื่องเทวาสุรสงครามได้เค้าเงือนว่า หมายเอาสงครามใน ระหว่างพวกอริยกะผู้ยกมาจากเหนือ เข้าตั้งอยู่ในชมพูทวีป และพวกมิลักขะผู้อยู่ ณ ที่นั้นมาเดิม เช่นนี้ส่องให้เห็นความตลอดว่าสวรรค์ชั้นนี้ ได้แก่ชมพูทวีปนี้เองในโบราณสมัย. ชั้นยาม มีท้าวสุยามเป็นผู้ปกครอง ยังไม่พบคำพรรณนาถึงสวรรค์ชั้นนี้. ชั้นดุสิต มีท้าวสันดุสิตเป็นผู้ครองดูเป็นชั้นศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า เป็นที่เกิดและเป็นที่อยู่แห่งพระโพธิสัตว์ แห่งพระพุทธบิดา พระพุทธมาดาและแห่งท่านผู้วิเศษอื่น สมเด็จพระบรมศาสดาของเราก็ว่าได้อุบัติในชั้นนี้ เทวดาทั้งหลาย เชิญเสด็จให้จุติลงมาถือปฏิสนธิในมนุษยโลก เพื่อตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแล้วโปรดเวไนยนิกร แต่ไม่คำพรรณนาถึงฐานที่ นอกจากมีวิมาน. ชั้นนิมมานรดี มีท้าวสุนิมมิตเป็นผู้ครอง มีพรรณนาว่า เทวดาชั้นนี้เป็นจำพวกบริบูรณ์ปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งนิรมิตเอาเองได้. ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี มีท้าวนิมมิตวสวัดดีเป็นผู้ครอง มีพรรณนาว่า เทวดาชั้นนี้ ปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ได้ต้องนิรมิตเองเหมือนพวกเทวดานิมมานรดี มีเทวดาอื่นนิรมิตให้อีกที แต่เป็นอย่างนั้นทั้งชั้น เทวดาพวกไหนนิรมิตให้หาได้กล่าวชัดไม่ น่าจะได้แก่เทวดาชั้นนิมมานรดีกระมัง. เมื่อเป็นเช่นนี้ ชั้นนั้นย่อมมีอำนาจเหนือชั้นนิมมานรดี. สวรรค์ ๖ ชั้นนี้ ไม่ได้เกี่ยวด้วยธรรมเลย แต่กล่าวถึงในบาลีพระสูตรและอรรถกถา ผู้เชื่อง่าย ๆ ย่อมเชื่อดายไป ผู้เชื่อยากย่อมไม่สนใจเสียเลย ผู้คิดปริศนาธรรมย่อมตีความไปต่าง ๆ จึงนำมาแสดงไว้ในที่นี้ด้วยพอรู้เค้าเงื่อน เพื่อนำความเข้าใจให้ถูกทาง.




 

view