สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การดำรงชีพชอบโดยทิศหก ของฆราวาส

การดำรงชีพชอบโดยทิศหก ของฆราวาส


การดำรงชีพชอบโดยทิศหก ของฆราวาส

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อมทิศทั้งหกอย่างไรพระเจ้าข้า !

ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”
คหบดีบุตร ! เมื่อใด อริยสาวก ละเสียได้ซึ่งกรรมกิเลส ๔ ประการ

ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดยฐานะทั้งสี่ และไม่เสพทางเสื่อม(อบายมุข)แห่งโภคะ ๖ ทาง,
เมื่อนั้น เขาชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากกรรมอันเป็นบาปรวม ๑๔ อย่าง เป็นผู้ปิดกั้นทิศทั้งหกโดยเฉพาะแล้ว;
ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า เขาปฏิบัติแล้วเพื่อชนะโลกทั้งสอง, ทั้งโลกนี้และโลกอื่น

เป็นอันเขาปรารภกระทำครบถ้วนแล้ว(อารทฺโธ),
เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย, ดังนี้.

กรรมกิเลส ๔ ประการอันอริยสาวกนั้น ละเสียได้แล้ว เป็นอย่างไรเล่า?
คหบดีบุตร ! ปาณาติบาต เป็นกรรมกิเลส. อทินนาทาน เป็นกรรมกิเลส.กาเมสุมิจฉาจาร เป็นกรรมกิเลส,
มุสาวาท เป็นกรรมกิเลส กรรมกิเลส ๔ ประการ
เหล่านี้เป็นกรรมอันอริยสาวกนั้นละขาดแล้ว.อริยสาวก ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดยฐานะทั้งสี่ เป็นอย่างไรเล่า?
ผู้ถึงซึ่ง ฉันทาคติ ชื่อว่ากระทำกรรมอันเป็นบาป, ผู้ถึงซึ่ง โทสาคติ ชื่อว่ากระทำกรรมอันเป็นบาป,
ผู้ถึงซึ่ง โมหาคติ ชื่อว่ากระทำกรรมอันเป็นบาป, ผู้ถึงซึ่ง ภยาคติ ชื่อว่ากระทำอันเป็นบาป.
คหบดีบุตร ! เมื่อใดอริยสาวก ไม่ถึงซึ่งฉันทาคติ ไม่ถึงซึ่งโทสาคติ ไม่ถึงซึ่งโมหาคติ ไม่ถึงซึ่งภยาคติ;
เมื่อนั้น ชื่อว่า ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดยฐานะทั้งสี่เหล่านี้, ดังนี้.

อริยสาวก ไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ ทาง เป็นอย่างไรเล่า?
คหบดีบุตร !การตามประกอบในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

เนื่องด้วยของเมาคือสุราและเมรัย เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ,
การตามประกอบในการเที่ยวตามตรอกซอกในเวลาวิกาล เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ,

การเที่ยวไปในที่ชุมนุมแห่งความเมา(สมชฺชาภิจรณ)เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ,
การตามประกอบในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทคือการพนัน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ,

การตามประกอบในบาปมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ,
การตามประกอบในความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ.

คหบดีบุตร ! อริยสาวกเป็นผู้ปิดกั้นทิศทั้งหกโดยเฉพาะแล้ว เป็นอย่างไรเล่า?

 
คหบดีบุตร ! พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่

คือพึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ(ทิศเบื้องหน้า).

พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา),
พึงทราบว่าบุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศเบื้องหลัง)

พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย),

พึงทราบว่า ทาษกรรมกร เป็นเหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องต่ำ ),
พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ(ทิศเบื้องบน).

(หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า)
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ประการ ดังนี้ว่า
ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน ๑

เราจักทำกิจของท่าน ๑

เราจักดำรงวงศ์สกุล ๑

เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท ๑

เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน ๑
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ประการเหล่านี้แล้ว

ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
ห้ามเสียจากบาป๑  ใ

ห้ตั้งอยู่ในความดี ๑

ให้ศึกษาศิลปะ ๑

ให้มีคู่ครองที่สมควร ๑

มอบมรดกให้ตามเวลา ๑.
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษมไม่มีภัยเกิดขึ้น.

(หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา)
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ประการ คือ
ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ ๑

ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๑

 ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง ๑

ด้วยการปรนนิบัติ ๑

ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ ๑.
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวาคืออาจารย์ อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว

ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ
แนะนำดี ๑

ให้ศึกษาดี ๑

บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง ๑

ทำให้รู้จักในมิตรสหาย ๑

ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง ๑.
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษมไม่มีภัยเกิดขึ้น.

(หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง)
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ประการ คือ
ด้วยการยกย่อง ๑

ด้วยการไม่ดูหมิ่น ๑

ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ ๑

ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้๑

ด้วยการให้เครื่องประดับ ๑
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลังคือภรรยา อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว

ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
จัดแจงการงานดี ๑

สงเคราะห์คนข้างเคียงดี ๑

ไม่ประพฤตินอกใจ ๑

ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่ ๑

ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง ๑.
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษมไม่มีภัยเกิดขึ้น.

(หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย)
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ประการ คือ
ด้วยการให้ปัน ๑

ด้วยการพูดจาไพเราะ ๑

ด้วยการประพฤติประโยชน์ ๑

ด้วยการวางตนเสมอกัน ๑

ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องแตกกัน ๑.
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรสหาย อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว

ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว ๑

รักษาทรัพย์ของมิตรผผู้ประมาทแล้ว ๑

เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย ๑

ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย ๑

นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร ๑
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

(หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องต่ำ)
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาษกรรมกร อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ประการ คือ
ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง ๑

ด้วยการให้อาหารและรางวัล ๑

ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ ๑

ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้ ๑

ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย ๑
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือทาษกรรมกร อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ประการเหล่านี้แล้ว

ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย ๑

เลิกงานที่หลังนาย ๑

ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๑

กระทำการงานให้ดีที่สุด๑

นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ ๑.
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องตำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

(หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน)
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
ด้วยเมตตากายกรรม ๑

ด้วยเมตตาวจีกรรม ๑

ด้วยเมตตามโนกรรม ๑

ด้วยการไม่ปิดประตู(คือยินดีต้อนรับ)๑

 ด้วยการถวายอามิสทาน ๑
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบนคือสมณพราหมณ์ อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ประการเหล่านี้แล้ว

ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการ คือ
ห้ามเสียจากบาป๑

ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑

อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม ๑

ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง ๑

ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด ๑.

บอกทางสวรรค์ให้ ๑
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

(คาถาสรุปความ)
มารดาเป็นทิศเบื้องหน้า ครูอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา
บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย
ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
คฤหัสถ์ผู้สามารถในการครองเรือน พึงนอบน้อมทิศ ท.เหล่านี้.

บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล มีวาจาละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ มีความประพฤติถ่อมตัว

ไม่กระด้าง เช่นนี้แล้ว ย่อมได้รับการบูชา.
ผู้ขยันลุกขึ้น ไม่เกียจคร้าน ไม่หวั่นไหวในอันตรายใดๆ ประพฤติตนไม่มีช่องโหว่

มีปัญญา เช่นนี้แล้ว ย่อมได้รับการบูชา
ผู้ชอบสงเคราะห์ สร้างสรรค์มิตรภาพ รู้ความหมายแห่งถ้อยคำ ไม่ตระหนี่

เป็นผู้นำ – นำวิเศษ – นำไม่ขาดสาย เช่นนี้แล้ว ย่อมได้รับการบูชา .
การให้ทาน,การพูดจาไพเราะ, การประพฤติประโยชน์ใดๆเมื่อควรประพฤติ,

ความวางตนเสมอกันในกิจกรรม ท.ตามสมควรในกรณีนั้นๆ,สี่อย่างนี้

เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวโลก ดุจหมุดสลักยึดโยงรถที่กำลังแล่นอยู่.

 


ถ้าไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้แล้ว มารดาก็จะไม่ได้รับอะไรจากบุตร

จะเป็นการนับถือ หรือการบูชาก็ตาม บิดาก็จะไม่ได้รับอะไรจากบุตร.
เพราะเหตุที่เครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้ เป็นสิ่งที่บัณฑิตมุ่งกระทำ

ดังนั้น เขาจึง ถึงซึ่งคุณอันใหญ่ มีความสรรเสริญ ท.เกิดขึ้นแก่เขา.

 

ที่มา: ปา. ที. ๑๑/๑๙๕ – ๒๐๖/๑๗๔ -๒๐๕ (วัดนาป่าพง)

Tags : การดำรงชีพชอบโดยทิศหก ของฆราวาส

view