สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความรู้เกี่ยวกับพระสงฆ์

ความรู้เกี่ยวกับพระสงฆ์

สงฆ์ หรือ สงฺฆ ในภาษาบาลีแปลว่า หมู่ หมายถึง สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเลื่อมใส สละเรือนออกบวช ถือวัตรปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัย ที่พระบรมศาสดา สั่งสอนและกำหนดไว้ พระสงฆ์ในทางพระพุทธศาสนามี ๒ ประเภท โดยปรากฏในบทสวดสังฆคุณ ดังนี้

      ยทิทํ ได้แก่ บุคคลเหล่านี้ คือ
      จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุคคล 

      อันหมายถึงพระสงฆ์ฝ่ายธรรม ๔ และพระสงฆ์ฝ่ายวินัย ๔

     พระสงฆ์ฝ่ายธรรม หมายถึง พระอริยบุคคล ๔ ประเภท คือ
      พระโสดาบัน (สุปฏิปณฺโณ ปฏิบัติดี , งาม)
      พระสกทาคามี (อุชุปฏิปณฺโณ ปฏิบัติตรง , ถูกต้อง)
      พระอนาคามี (ญายปฏิปณฺโณ ปฏิบัติชอบ , เพื่อธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์)
      พระอรหันต์ (สามีจิปฏิปณฺโณ ปฏิบัติสมควร, เหมาะสม)

      พระสงฆ์ฝ่ายวินัย หมายถึง พระภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทตามพระบรมพุทธานุญาต ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป เรียกว่าสงฆ์ เนื่องจากคำว่าสงฆ์ แปลว่า หมู่ จึงเรียกหมู่พระภิกษุว่า ภิกษุสงฆ์ และพระภิกษุสงฆ์จัดเป็นพระสงฆ์โดยสมมุติ จึงเรียกว่า สมมุติสงฆ์ จัดเป็น ๔ วรรค ตามตามพระบรมพุทธานุญาต เพื่อปฏิบัติสังฆกิจตามพระวินัย คือ จตุวรรค (ภิกษุ ๔ รูป) ปญฺจวรรค (ภิกษุ ๕ รูป) ทสวรรค (ภิกษุ ๑๐ รูป) วิสติวรรค (ภิกษุ ๒๐ รูป) แต่ถ้าพระภิกษุ ๒-๓ รูป เรียกว่า คณะ ถ้าพระภิกษุรูปเดียว จัดเป็นบุคคล

      อนุตฺตรํ ปุญฺญเขตฺตํ โลกสฺส พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
      อาหุเนยฺโย พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา (นำมาถวาย เช่นนำมาใส่บาตรขณะบิณฑบาตร)
      ปาหุเนยฺโย พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ (จัดไว้รอท่าให้ท่านมารับ เช่น การนิมนต์มาฉันที่บ้าน)
      ทกฺขิเนยฺโย พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การรับทักษิณาทาน (การเอ่ยปากขอเองจากท่าน)
      อฺญชลีกรณีโย พระสงฆ์เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี (การประนมมือ)

สงฆ์ คือ หมู่, ชุมนุม
      ๑. หมู่สาวกของพระพุทธเจ้าเรียกว่า สาวกสงฆ์ ดังคำสวดในสังฆคุณ ประกอบด้วยคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล (รายตัวบุคคล) ๘ เริ่มแต่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จนถึงพระอรหันต์ ต่างจากภิกขุสงฆ์ คือหมู่แห่งภิกษุหรือชุมนุมภิกษุ (ดูความหมาย ๒), ต่อมา บางทีเรียกอย่างแรกว่า อริยสงฆ์ อย่างหลังว่า สมมติสงฆ์

      ๒. ชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย ต่างโดยเป็น สงฆ์จตุรวรรคบ้าง ปัญจวรรคบ้าง ทศวรรคบ้าง วีสติวรรคบ้าง, ถ้าเป็นชุมนุมภิกษุ ๒ หรือ ๓ รูป เรียกว่า คณะ ถ้ามี ภิกษุรูปเดียว เป็น บุคคล

 
ความหมายของสังฆะ


 คำว่า “สังฆะ” ก็คือ สงฆ์ แปลว่า หมู่ หรือชุมชน ดังนั้น คำว่า “พระสงฆ์” คือชุมชนอันประเสริฐ ซึ่งเกิดจากท่านผู้รู้ผู้ดำเนินตามอย่างพระพุทธเจ้า มาอยู่ร่วมกัน เป็นแหล่งที่ดำรงรักษาธรรม และเป็นแหล่งแห่งกัลยาณมิตร ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้ผู้ศึกษาเจริญงอกงามขึ้นไปในชีวิตอันประเสริฐ จนสามารถเข้าถึงธรรม ตามอย่างพระพุทธเจ้า

พระสงฆ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1.พระอริยสงฆ์ คือภิกษุผู้รู้แจ้งธรรมผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บรรลุถึงความรู้แจ้งสามารถกำจัดกิเลสตัณหาอุปาทานได้ตามภูมิชั้นของตน ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ตามลำดับ

 2.สมมุติสงฆ์ คือพระภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทถูกต้องตามธรรมวินัยแล้วอุทิศตนเพื่อการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตามความสามารถของตน แต่ยังไม่บรรลุมรรคผล

ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาพระสงฆ์สามารถประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ได้

โดยแบ่งพระสงฆ์ออกเป็น 4 หมวดคือ

1. สงฆ์จตุวรรค คือ หมู่ภิกษุตั้งแต่ 4 รูป สามารถประกอบพิธีกรรมได้ทุกอย่าง ยกเว้น การปวารณา การทอดกฐิน การอุปสมบทและอัพภาน (พิธีกรรมของสงฆ์ที่ผิดอาบัติ)

2. สงฆ์ปัญจวรรค คือ หมู่ภิกษุตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป สามารถทำปวารณา ให้ผ้ากฐิน และให้การอุปสมบทในปัจจันตชนบทได้ (สถานที่ขาดแคลนพระสงฆ์ เช่น ในเขตชนบท)

3. สงฆ์ทสวรรค คือ หมู่ภิกษุตั้งแต่ 10 รูปขึ้นไป สามารถให้การอุปสมบทในมัธยมประเทศ (สถานที่ที่ไม่ขาดแคลนพระสงฆ์ เช่นในเขตเมือง) ได้

4. สงฆ์วีสติวรรค คือ หมู่ภิกษุจำนวน 20 รูปขึ้นไป สามารถทำอัพภานได้

 

คุณค่าของพระสงฆ์

คุณค่าของพระสงฆ์ เรียกว่าสังฆคุณ หมายถึง พระคุณของพระสงฆ์ เป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของพระสงฆ์ 9 ประการ
แบ่งออกเป็น ความดีของพระสงฆ์ที่เป็นเหตุ 4 ประการ และความดีของพระสงฆ์ที่เป็นผล 5 ประการ

ดังนี้คือ 

ความดีของพระสงฆ์ที่เป็นเหตุ

 คุณงามความดีของพระสงฆ์ที่เป็นคุณสมบัติเฉพาะตน หรือความดีที่เป็นเหตุให้คนอื่นมองเห็นและยกย่องนับถือ เลื่อมใสเคารพ บูชา มี 4 ประการ คือ 

1. สุปฏิปนฺโน หมายถึง เป็นผู้ปฏิบัติดี คือ พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตามแนวทางแห่งอริยมรรคมีองค์ 8

ปฏิบัติตามหลักธรรมและวินัย 

 2. อุชุปฏิปนฺโน หมายถึง เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ พระสงฆ์เป็นผู้ไม่ปฏิบัติหลอกลวง เจ้าเล่ห์ ไม่คดโกง

ไม่พูดเท็จ เป็นคนตรงปากกับใจตรงกัน 

 3. ญายปฏิปนฺโน หมายถึง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม คือ พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติที่มุ่งธรรมหรือ

ปฏิบัติถูกทางเพื่อให้เกิดความรู้เห็นสภาวะทั้งหลายตามเป็นจริง (รู้แจ้งในธรรม) 

 4. สามีจิปฏิปนฺโน หมายถึง เป็นผู้ปฏิบัติสมควร คือ พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติน่ายกย่องนับถือ

สมควรได้รับความเคารพกราบไหว้ เพราะดีพร้อมทุกอย่าง บริสุทธิ์ตามพระธรรมวินัย

ท่านทำความดีโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น 

ความดีของพระสงฆ์ที่เป็นผล 

คุณงามความดีของพระสงฆ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นหรือความดีที่เป็นผลให้คนอื่นมองเห็นแล้ว

ปฏิบัติต่อท่านอย่างเหมาะสม ให้ความเคารพกราบไหว้ ให้ความอนุเคราะห์และอุปถัมภ์ท่าน

ในเรื่องการบำรุงด้วยปัจจัย 4 และในเรื่องต่าง ๆ แก่ท่าน มี 5ประการคือ

1. อาหุเนยฺโย หมายถึง พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การสักการะบูชา
2. ปาหุเนยฺโย หมายถึง พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ
3. ทกฺขิเณยฺโย หมายถึง พระสงฆ์เป็นผู้ควรรับของที่เขานำมาทำบุญ
4. อญฺชลีกรณีโย หมายถึง พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้
5. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โอกสฺส หมายถึงพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลกคือเป็นแหล่งเผยแพร่ความดีที่ยอดเยี่ยมของโลก

 พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เป็นหลักให้แก่การดำเนินชีวิตของเรา เมื่อเราปฏิบัติถูกต้อง

ตามธรรมนั้นศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของเราก็จะเจริญปรากฏออกมาจนกระทั่งเข้าถึงความจริง

ของธรรมชาติมีชีวิตที่ดีงามมีความสุขอย่างแท้จริง แต่การที่จะเข้าถึงพระธรรมได้นั้น จะต้องอาศัย

พระสงฆ์ ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนที่ดีงาม มีปัญญา มีคุณธรรม และถือว่าเป็นผู้ที่พัฒนาตนเองให้บริสุทธิ์

สมบูรณ์แล้ว คอยเกื้อหนุนให้เพื่อนมนุษย์โดยการอบรมสั่งสอนตามหลักธรรมพระพุทธศาสนา

ทั้งในด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ 

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้ง สังฆะ ขึ้นให้เป็นชุมชนอันประเสริฐ ซึ่งบุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรม

จะมาประกอบเข้าเป็นชุมชนนั้นชุมชนที่เรียกว่าสังฆะนี้ ก็จะเป็นแหล่งที่ช่วยดำรงรักษาธรรมที่

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นไว้ และเป็นที่เจริญงอกงามแห่งคุณความดีทั้งหลาย เป็นแหล่งซึ่ง

มีกัลยาณมิตร ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้ผู้ที่เข้ามาสามารถเจริญงอกงามไปในธรรม จนกระทั่งเข้าถึง

ธรรมนั้นโดยสมบูรณ์ชุมชนนี้คือ สังฆะ ซึ่งเป็นรัตนตรัยที่ 3 ในพระรัตนตรัย 

 ***********************************************

 ความรู้เกี่ยวกับพระสงฆ์

ภัต หรือ ภัตร หมายถึงข้าว อาหารของกิน

ภัตตาหาร แปลว่า อาหารคือภัต หมายถึงอาหารสำหรับพระสงฆ์ฉัน เช่น พูดว่าพระสงฆ์ ฉันภัตตาหาร

ก็หมายความว่าพระสงฆ์ฉันอาหารนั่นเอง

จังหัน หมายถึง ข้าว, อาหาร, ของขบเคี้ยว เป็นคำโบราณที่ใช้กับพระสงฆ์
จังหัน ปกติใช้เป็นคำเรียกรวมอาหารทั้งคาวหวาน ผลไม้ และของขบฉันทุกชนิดที่จัดไว้
สำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ เช่นใช้ว่า พระท่านกำลังฉันจังหันอยู่
ฉันจังหัน ก็คือรับประทานอาหารนั่นเอง
จังหัน ในปัจจุบันไม่นิยมใช้ แต่ใช้คำว่า  ภัตตาหาร” แทน
ความจริงคำว่า จังหัน เป็นคำที่แปลความหมายมาจากคำว่า ภัต หรือ ภัตตาหาร นั่นเอง

ภัต หรือ ภัตตาหาร ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับและฉันได้ มีหลายประเภทเช่น

๐  สังฆภัต อาหารที่เขาถวายสงฆ์
๐ นิมันตนภัต อาหารที่เขาถวายในที่นิมนต์
๐ สลากภัต อาหารที่เขาถวายตามสลาก
๐ อาคันตุกภัต อาหารที่เขาจัดถวายพระอาคันตุกะ
๐ นิตยภัต อาหารที่เขาถวายเป็นประจำ

ตามพระวินัยสงฆ์ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้สงฆ์แบ่งปันอาหารที่ได้มาแก่กันให้ทั่วถึง

_____________________________________________________________________________________

 พระสงฆ์และการปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์  

สาระสำคัญ 

พระสงฆ์นอกจากจะเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนปัจจุบันเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติอันดีงาม เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตแล้ว ยังมีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนทั้งในด้านการศึกษา สุขภาพกาย สุขภาพจิต ความเป็นอยู่ การดำรงชีวิต พัฒนาชุมชน และด้านสังคมสงเคราะห์อื่น ๆ ควรที่พุทธศาสนิกชนพึงระลึกถึงพระคุณของพระสงฆ์ และปฏิบัติต่อพระสงฆ์ให้ถูกต้องเหมาะสม 

พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงพระธรรม ศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติสืบต่อกันมา พระธรรมจึงยังคงอยู่ทั้งในรูปคัมภีร์และในรูปการนำไปปฏิบัติ ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน นอกจากนั้นพระสงฆ์ยังสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา โดยบรรพชาอุปสมบทสืบต่อมาไม่ขาดสาย ได้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเป็นอันมาก ดังที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน พระสงฆ์มิใช่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว ยังเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ อีกหลายด้าน ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้ 

บทบาทของพระสงฆ์ในการช่วยเหลือประชาชน
การปฏิบัติของพระสงฆ์ที่เป็นการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆพระสงฆ์มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
๑. ด้านการศึกษา
ในสมัยก่อน การศึกษามีเฉพาะในวัดและในวัง ในวัดพระสงฆ์เป็นผู้จัดการศึกษาและเป็นผู้สอน ในวังพระมหากษัตริย์ทรงจัดการศึกษา โดยให้ราชบัณฑิต คือ ผู้ที่ลาสิกขาจากพระภิกษุบ้าง พระสงฆ์บ้างเป็นผู้สอนการศึกษาในวัดมี 3 ระดับคือ 

๑. ระดับเด็กวัด ครอบครัวที่ไม่รู้หนังสือ เมื่อมีบุตรชายอายุได้ 7 – 8 ปี ก็นำไปถวายเจ้าอาวาสหรือผู้ใหญ่ที่รู้จักคุ้นเคยในวัดใกล้บ้านให้เป็นเด็กวัด เด็กวัดนอกจากทำหน้าที่รับใช้พระอาจารย์แล้ว ยังได้รับการศึกษาตามสมควรจากพระอาจารย์ วิชาที่เรียนคือ ภาษาไทย พออ่านออกเขียนได้ คิดเลข บวกลบคูณหาร และคำไหว้พรสวดมนต์ตามสมควร เทียบได้กับการศึกษาระดับประถมศึกษา 

๒. ระดับสามเณร ครอบครัวที่รู้หนังสือพอสมควร สานบุตรของตนเองภายในบ้านให้อ่านออกเขียนได้ เมื่อบุตรชายอายุได้ 14 – 15 ปี ก็นำไปบวชเป็นสามเณรในวัดที่คุ้นเคย เด็กวัดที่มีอายุระดับเดียวกันก็บวชเป็นสามเณรด้วย สามเณรเรียนภาษาไทยเพิ่มขึ้นในรูปฉันทลักษณ์หรือโครง ฉันท์ กาพย์ กลอน เรียนธรรมะ ฝึกสวดมนต์ ฝึกเทศนา ตลอดจนเรียนวิชาต่าง ๆ เทียบได้กับการศึกษาระดับมัธยมศึกษา

๓. ระดับภิกษุ เมื่ออายุครบอุปสมบท สามเณรก็ได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุ ผู้ไม่เคยบวชเป็นสามเณรมาก่อนอุปสมบทเป็นภิกษุเลยก็มี คนแต่ก่อนอุปสมบทกันหลายพรรษาเรียกว่าบวชเรียน ภิกษุเรียนธรรมะ ภาษาบาลี แต่งกวีนิพนธ์ ฝึกเทศนาทำนองต่าง ๆ วิชาช่างและวิชาอื่น ๆ เท่าที่พระอาจารย์มีความชำนาญจะสอนได้ การศึกษาระดับนี้เทียบได้กับอุดมศึกษา เมื่อภิกษุลาสิกขาออกมาจึงเรียกว่า บัณฑิต หรือ ทิด ถ้าทำงานในกรมอาลักษณ์ เรียกว่า ราชบัณฑิต 

ในสมัยรัชการที่ ๕ ทรงมอบให้กระทรวงธรรมการจัดการศึกษาในส่วนกลาง ให้พระสงฆ์มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นประธานจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยการสนับสนุนจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย การประถมศึกษาจึงแพร่หลายไปทั่วราชอาณาจักรอย่างรวดเร็ว เป็นพื้นฐานให้มีพระราชบัญญัติประถมศึกษา เกณฑ์เด็กอายุ ๘ ปีขึ้นไปเข้าเรียนประถมศึกษาในสมัยรัชการที่ ๖ ในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน พระสงฆ์ช่วยเหลือในด้านการศึกษาดังนี้ คือ 

๑. ให้ใช้อาคารของวัด เช่น ศาลาการเปรียญเป็นโรงเรียนชั่วคราว เมื่อยังไม่ได้สร้างโรงเรียนขึ้น 

๒. พระสงฆ์เป็นครูสอนวิชาต่าง ๆ ในระดับประถมศึกษา ในกรณีที่ขาดแคลนครู 

๓. ให้ใช้ที่วัดสร้างโรงเรียน บางกรณีทางราชการเป็นผู้สร้าง บางกรณีพระสงฆ์เป็นผู้สร้างแล้วมอบให้ทางราชการ 

๔. ให้การอุปถัมภ์โรงเรียน โดยจัดหาโต๊ะเรียนและอุปกรณ์การศึกษาต่าง ๆ ให้โรงเรียน 

๕. อบรมศีลธรรมให้แก่นักเรียน 

๖. รับเด็กที่ยากจนเป็นเด็กวัด และให้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในวัดนั้น

๗. จัดตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น เพื่อให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปศึกษาเล่าเรียน โดยมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ดำเนินการสอนและอบรม ตามนโยบายของกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ

 

๒. ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต
พระสงฆ์ช่วยเหลือประชาชนในการรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ดังนี้ 

๑. พระสงฆ์บางรูปเป็นหมอยา ใช้วิธีรักษาแผนโบราณ โดยใช้สมุนไพรชนิดต่าง ๆ สามารถรักษาโรคบางชนิดหายได้ เป็นที่พึ่งของประชาชนในสมัยโบราณซึ่งไม่มียาแผนปัจจุบัน และในสมัยปัจจุบันก็ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนในชนบทที่อยู่ห่างไกลและขาดแคลนบริการด้านสาธารณสุข 

๒. พระสงฆ์สามารถแนะนำประชาชน ให้รู้จักป้องกันโรคต่าง ๆ รักษาสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาด รับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย เมื่อมีผู้เจ็บป่วยก็สามารถแนะนำให้ไปรับการรักษาที่สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลที่เหมาะสมได้ 

๓. พระสงฆ์สอนธรรม ให้ประชาชนเข้าใจด้วยเหตุผล ให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริง จนสามารถระงับความทุกข์ได้ด้วยตนเอง

๔. พระสงฆ์สามารถแนะนำผู้มีความทุกข์ ความเดือดร้อน ให้ไปปรึกษานักวิชาการ เช่นจิตแพทย์ นักกฎหมาย นายตำรวจ ข้าราชการฝ่ายปกครอง เป็นต้น ตามชนิดของความเดือดร้อน นั้น ๆ 

๓. ด้านความเป็นอยู่การดำเนินชีวิต
พระสงฆ์ช่วยเหลือประชาชนในด้านความเป็นอยู่และในด้านอาชีพ ดังนี้ 

๑. แนะนำอบรมให้แต่ละคนในครอบครัวหนึ่ง ๆ ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง เช่นบิดามารดาปฏิบัติต่อบุตร บุตรปฏิบัติต่อบิดามารดา สามีปฏิบัติต่อภรรยา ภรรยาปฏิบัติต่อสามีเป็นต้น 

๒. แนะนำให้ทุกคนเว้นจากอบายมุข สิ่งเสพย์ติด และรู้ถึงสาเหตุของโรคเอดส์ 

๓. แนะนำให้ตั้งอยู่ในประโยชน์ปัจจุบัน 4 ประการ คือ ความหมั่นขยันหาทรัพย์ ความรู้จักเก็บรักษาทรัพย์ การคบเพื่อนที่ดี และการดำเนินชีวิตอย่างพอดี ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ฝืดเคือง 

๔. เป็นสื่อกลางระหว่างราชการกับประชาชน เช่น ราชการจะแนะนำส่งเสริมการประกอบอาชีพ และฝึกอบรมเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ อาจขอความร่วมมือจากพระสงฆ์ให้ช่วยประกาศให้ประชาชนทราบ พระสงฆ์ก็ให้ความร่วมมือ 

๕. สนับสนุนและให้ความร่วมมือด้านอาคารสถานที่ เช่น ราชการต้องการประชุมประชาชน พระสงฆ์ก็อนุญาตให้ใช้อาคารของวัด เช่น ศาลาการเปรียญเป็นที่ประชุม 

๖. เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม ศาสนพิธี ตามประเพณีต่าง ๆ ที่นิยมปฏิบัติกันในท้องถิ่นนั้น ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น งานวันเกิด การบวช งานแต่งงาน งานศพ เป็นต้น 

๔. ด้านพัฒนาชุมชน
พระสงฆ์สามารถช่วยเหลือประชาชนและราชการในด้านพัฒนาชุมชนดังต่อไปนี้ 

๑. พระสงฆ์ริเริ่มและเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชน โดยติดต่อราชการให้เข้ามาพัฒนาและขอให้ประชาชนร่วมมือ

๒. ขอร้องให้ประชาชนเสียสละทรัพย์เพื่อให้ชุมชนเจริญขึ้น เช่น บริจาคที่ดินตัดถนนเข้าหมู่บ้าน และสร้างแหล่งน้ำต่าง ๆ เป็นต้น

 ๓. แนะนำให้ประชาชนร่วมมือกับราชการในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่นขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ เลิก ลด ละ อบายมุข รู้จักรักษาสิ่งแวดล้อม มีความสามัคคีกลมเกลียวกันในชุมชน เป็นต้น 

๔. เป็นสื่อกลางในการนำสาธารณูปโภคอื่น ๆ ได้แก่ ไฟฟ้า โทรศัพท์เข้าหมู่บ้านตำบล นั้น ๆ เพื่อสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น 

๕. ด้านสังคมสงเคราะห์อื่น ๆ
พระสงฆ์สามารถช่วยเหลือประชาชนในด้านสังคมสงเคราะห์ ดังต่อไปนี้

๑. ใช้วัดเป็นที่บรรเทาสาธารณภัย เช่น อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย เป็นต้น โดยให้ประชาชนผู้ประสบภัยอาศัยอยู่ชั่วคราว รวมทั้งสงเคราะห์ด้วยวัตถุสิ่งของต่าง ๆ 

๒. ให้การสงเคราะห์เด็กกำพร้า โดยตั้งมูลนิธิสำหรับเลี้ยงดู และให้การศึกษา 

๓. ให้การศึกษาแก่เด็กที่ด้อยโอกาส เช่นเด็กในชุมชนแออัด เด็กกำพร้า เป็นต้น โดยขออนุญาตทางราชการจัดสอนที่วัด หรือในสถานที่ของชุมชน 

๔. จัดอบรมคนงานให้เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ รู้จักปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมก่อนที่นายจ้างจะรับเข้าทำงาน 

ตัวอย่างพระสงฆ์ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชน
พระสงฆ์ในปัจจุบันที่มีบทบาทช่วยเหลือประชาชนมีจำนวนมาก ขอยกตัวอย่างพอสังเขปเช่น

หลวงพ่อจำรูญ ปานจันทร์ สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกที่ช่วยเหลือบำบัดรักษาผู้ติดสิ่งเสพย์ติด

พระอาจารย์พยอม กลฺยาโณ วัดสวนแก้ว เป็นพระนักเทศน์และช่วยพัฒนาสังคมของชุมชนไทยในต่างประเทศ พระธรรม

 

การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ในศาสนพิธีที่บ้าน
ศาสนพิธีที่กระทำที่บ้านมี ๒ ประเภท คือ 

พิธีมงคล และพิธีอวมงคล ในที่นี้จะกล่าวถึงพิธีอวมงคลโดยเฉพาะ 

พิธีอวมงคล นั้น ได้แก่พิธีเกี่ยวกับศพ ซึ่งมีตั้งแต่สวดศพ ทำบุญ ๗ วัน ทำบุญ ๕๐ วัน ทำบุญ ๑๐๐ วัน ฌาปนกิจศพ หรือพระราชทานเพลิงศพ ทำบุญอัฐิ บรรจุอัฐิ

การทำศพ หรือพิธีบำเพ็ญกุศลศพนั้นมักจะกระทำที่วัด เพราะบ้านเรือนส่วนมากในปัจจุบันคับแคบ ไม่สามารถตั้งศพบำเพ็ญกุศลได้ สำหรับผู้มีฐานะดี มีบ้านใหญ่โตกว้างขวาง เมื่อถึงแก่กรรมจะตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านก็ได้ หรือในบางท้องถิ่นนิยมตั้งศพที่บ้าน ซึ่งอาจตั้งบนเรือนหรือปลูกปะรำตั้งศพต่างหาก

 

การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์นั้นควรปฏิบัติ ดังต่อไปนี้


๑. จัดเตรียมสถานที่และเครื่องใช้ในพิธีให้พร้อม กล่าวคือ 

๑.๑ กำหนดสถานที่ตั้งศพ ตั้งแท่นหรือโต๊ะสำหรับตั้งหีบศพให้สูงพอสมควร จัดที่สักการะศพไว้หน้าหีบศพ 

๑.๒ จัดที่บูชาพระ ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา จัดที่สำหรับพระสวดอภิธรรม 

๑.๓ เตรียมเครื่องสำหรับใช้ในงานศพ คือ ผ้าภูษาโยง เครื่องทองน้อย ตู้พระอภิธรรม เครื่องกะบะ และเครื่องทองน้อย นิยมใช้ในหมู่คนชั้นสูง คนสามัญจะไม่ใช้ก็ได้ให้ใช้ธูปเทียนธรรมดา ถ้ามีการถวายภัตตาหารต้องจัดอาหารคาวหวานให้พร้อม ในงานพิธีอวมงคลนี้ ไม่ต้องตั้งน้ำมนต์และวงสายสิญจน์ 

๑.๔ จัดเครื่องรับรองพระสงฆ์ ได้แก่ ปูอาสนะ จัดกระโถน น้ำร้อนน้ำเย็นให้พร้อม 

๒. นิมนต์พระตามจำนวนที่สมควร เช่นการสดับปกรณ์หรือบังสุกุล นิมนต์ ๑๐ รูป หรือ ๒๐ รูป สวดอภิธรรมนิมนต์ ๔ รูป ทำบุญ ๗ วัน ๕๐วัน ๑๐๐ วัน นิมนต์ ๕ หรือ ๗ รูปเป็นต้น 

๓. การต้อนรับพระสงฆ์เมื่อพระมาถึง นิมนต์ให้พระเข้านั่งตามที่ แล้วประเคนสิ่งของที่เตรียมไว้ต้อนรับ ประเคนแล้วพึงประนมมือไหว้หรือกราบตามสมควร 

๔. การถวายภัตตาหาร ให้ยกอาหารเมื่อพระสวดพระพุทธมนต์จบแล้ว โดยประเคนอาหารคาวก่อน แล้วประเคนอาหารหวานในภายหลัง

๕. การประเคนของแก่พระสงฆ์ เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพควรประเคนเอง ถ้ามีมากนักจะมอบให้ผู้อื่นร่วมประเคนก็ได้ 

๖. การถวายเครื่องไทยธรรม ควรจัดเตรียมให้พร้อม เมื่อพระฉันภัตตาหารเสร็จและกลับเข้าที่นั่งเรียบร้อย แล้วจึงยกไปตั้งตรงหน้าพระให้ครบทุกรูป เจ้าภาพและแขกผู้ได้รับเชิญช่วยกันประเคน 

๗. ในการฟังพระเทศน์ จะต้องนั่งฟังอย่างพร้อมเพรียงเรียบร้อย ไม่ลุกไปทำกิจธุระในระหว่างที่พระเทศน์ควรรอจนกว่าพระจะเทศน์จบเสียก่อน ในขณะที่พระสวดอภิธรรมไม่ควรบริการน้ำหรืออาหารแก่แขก ควรรอให้พระสวดจนเรียบร้อยเสียก่อน 

๘. การส่งพระกลับวัด เจ้าภาพควรจะเดินไปส่งพระสงฆ์จนถึงยานพาหนะที่จะส่งพระสงฆ์กลับวัด หรือจนถึงประตูบ้านในกรณีที่พระสงฆ์เดินมา 

-----------------------------------------------------------------------

ที่มา

จัดทำโดย: นายสมศักดิ์ แสงราวี
ครูชำนาญการ โรงเรียนสทิงพระวิทยา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา 

ที่มาข้อมูล :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช)
และ สารนุกรมเสรีวิกิพีเดียแ
ละพุทธะ 

Tags : ความรู้เกี่ยวกับพระสงฆ์

view