หลักจริยธรรม หรือศีลธรรม ทางพระพุทธศาสนามี ๓ ขั้น ๑. ขั้นมูลฐาน ๒. ขั้นกลาง ๓.ขั้นสูง
ก. จริยธรรมขั้นมูลฐาน เรียกว่า
“ ศีล ๕ ธรรม ๕ “ หรือ เบญจศีล เบญจธรรม” ดังต่อไปนี้
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์หรือมนุษย์ เป็นศีล กรุณาต่อสัตว์หรือมนุษย์ เป็นธรรม ๒. เว้นจากการลัก ฉ้อ เป็นศีล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และประกอบอาชีพสุจริต เป็นธรรม ๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นศีล สำรวมในกาม เป็นธรรม ๔. เว้นจากการพูดปด เป็นศีล พูดจริง เป็นธรรม ๕. เว้นจากการดื่มสุราเมรัย เป็นศีล มีสติสำรวมระวัง เป็นธรรม ข. จริยธรรมชั้นกลาง เรียกว่า
“ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ “ ดังต่อไปนี้ ทางกาย ๓ ข้อ ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์หรือมนุษย์ ๒. เว้นจากการลักทรัพย์ ๓. เว้นการประพฤติผิดในกาม
ทางวาจา ๔ ข้อ ๑. เว้นจากการพูดปด ๒. เว้นจากการพูดยุยงให้แตกร้าวกัน ๓. เว้นจาการพูดหยาบ ๔. เว้นจากการพูดเหลวไหลเพ้อเจ้อ
ทางใจ ๓ ข้อ ๑. ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ๒. ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น หรือคิดให้เขาพินาศ ๓. ไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม โดยมีความเห็นถูกต้องว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บิดามารดามีคุณ เป็นต้น
ค. จริยธรรมขั้นสูง
เรียกว่า “อริยมรรค “ แปลว่า “ ทางอันประเสริฐ ” บ้าง เรียกว่า”มัชฌิมาปฏิปทา” แปลว่า “ข้อปฏิบัติทางสายกลาง “ บ้าง มี ๘ ประการ คือ
๑. ความเห็นชอบ คือมีปัญญาเห็นอริยสัจ ๔ ประการ ๒. ความดำริชอบ คือ ดำริในการออกจากกาม ในการไม่ปองร้าย ดำริในการไม่เบียดเบียน ๓. การเจรจาชอบ คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่ยุยงให้แตกร้าว ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๔. การกระทำชอบ คือ ไม่ฆ่าสัตว์หรือมนุษย์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ๕. การเลี้ยงชีพชอบ คือ ไม่หาเลี้ยงชีพในทางที่ผิดที่มีโทษ ประกอบอาชีพที่ชอบธรรม ๖. ความเพียรชอบ คือ เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำความดีเกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ ๗. การตั้งสติชอบ คือ ตั้งสติพิจารณาร่างกาย เวทนา หรือความรู้สึกสุขทุกข์ ตลอดจนไม่สุข ไม่ทุกข์ จิต และธรรม รวม ๔ ประการ ให้รู้เท่าทันเห็นทั้งความเกิด ความดับ ๘. การตั้งใจมั่นชอบ คือ การทำจิตใจให้สงบมีสมาธิอย่างแน่วแน่ ที่เรียกว่าได้ฌาน ๔
ความหมายหลายนัยของเบญจศีล
เบญจศีล หรือศีลห้า ท่านผู้รู้ได้ให้ความหมายไว้หลายนัย เช่น มนุษยธรรม หมายถึง ธรรมของมนุษย์ คนที่เกิดมาไม่มีศีลกำกับ ก็เป็นมนุษย์ที่ไร้ความหมาย คุณค่าต่ำ ไม่แตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆ อารยธรรม หมายถึง ธรรมอันประเสริฐหรือธรรมของพระอริยเจ้า มาตรฐานสังคม หมายถึงเครื่องชี้วัดของสังคมว่าจะสงบสุข หรือเดือดร้อน ให้ดูมาตรวัดคือเบญจศีล สัญญาประชาคม หมายถึง ข้อกติกาที่สังคมต้องร่วมกันประพฤติ จึงจะเกิดสันติสุข หลักประกันสังคม หมายถึง สังคมจะมั่นใจว่าอันตรายไม่เกิดถ้าได้อยู่ร่วมกันกับผู้รักษาศีลห้า สังคมจะหวาดวิตก เมื่อทราบว่าอยู่ท่ามกลางคนไร้ศีล คนที่มีศีลห้าเป็นพื้นฐาน ชีวิตจะรับน้ำหนักได้มากเพราะฐานแข็งแรง โดยเฉพาะน้ำหนักในทางดี เมื่อเรารักษาศีล ศีลจะรักษาเรามิให้เสียหาย และศีลจะรักษาสังคมมิให้ล่มสลาย องค์ประกอบของศีลห้าแต่ละข้อ
องค์ประกอบปาณาติบาต ๕ อย่าง ๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต ๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดจะฆ่า ๔. ปโยโค มีความเพียรที่จะฆ่า ๕. เตนมรนัง สัตว์นั้นตายลงด้วยความเพียรนั้น
องค์ประกอบอทินาทาน ๕ อย่าง
๑. ปรปริคคหิตัง วัตถุสิ่งของที่มีเจ้าของเก็บรักษาไว้ ๒. ปรปริคคหิตสัญญิตา รู้ว่าวัตถุสิ่งนั้นมีเจ้าของเก็บรักษาไว้ ๓. เถยยจิตตัง มีจิตคิดจะลัก ๔. ปโยโค ทำความเพียรที่จะลัก ๕. อวหาโร ได้สิ่งของนั้นมาด้วยความเพียรนั้น
องค์ประกอบกาเมสุมิจฉาจาร ๔ อย่าง ๑. อคมนิยวัตถุ วัตถุที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง ๒. ตัสมิง เสวนจิตตัง มีจิตคิดจะเสพในวัตถุนั้น ๓. ปโยโค มีความพยายามที่จะเสพ ๔. มัคเคนมัคคปฏิปตันติ- มีความพอใจในการประกอบมรรคซึ่งกันและกัน อธิวาสัง องค์ประกอบมุสาวาท ๔ อย่าง ๑. อวัตถวัตถุ สิ่งของหรือเรื่องราวที่ไม่จริงอย่างหนึ่ง ๒. วิสังวาทจิตตา มีจิตคิดมุสาอย่างหนึ่ง ๓. ปโยโค พยายามมุสาด้วยกายหรือด้วยวาจาตามความประสงค์ของตนอย่างหนึ่ง ๔. ตทัตถวิชานนัง ผู้อื่นมีความเชื่อตามเนื้อความที่มุสา
องค์ประกอบสุราเมรัย ๔ อย่าง ๑. สุราเมรยภาโว สิ่งที่เป็นสุราและเมรัย ๒. ปิวิตุกามตา มีความประสงค์จะดื่ม ๓. ปิวนัง ทำการดื่ม ๔. มัททวัง มีอาการมึนเมา บทสรุปการละเมิดศีลห้า ๑. โหดร้าย ๒. มือไว ๓.ใจเร็ว ๔. ขี้ปด ๕.หมดสติ กรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา หลักความเชื่อเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนา
มีพระพุทธพจน์ปรากฏอยู่ในพระธรรมบทขุททกนิกาย ว่า ยาทิส ลถเต พีช ตาทิส ลภเต ผล กลยาณการี กลยาณ ปาปการี จปาปก บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว นี่คือหัวใจของหลักคำสอนเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธเรารู้จักดี และนิยมนำไปพูดกันจนติดปากว่า “ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว “ ที่ว่าชาวพุทธรู้จักกันดีนี้มิใช่หมายความว่าชาวพุทธโดยทั่วไปจะรู้เรื่องกรรม เพราะที่ว่ารู้ๆกันนั้น ส่วนมากก็ก็รู้แค่เอาไปพูดไปคุย หรือรู้กันอย่างผิวเผินเท่านั้นแต่จะหาคนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรมอย่างลึกซึ้งจนเชื่อเรื่องกรรมอย่างมั่นคงนั้นปัจจุบันนี้รู้สึกว่าจะหายาก เพราะการที่คนในสังคมไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นเอง จึงทำให้ปัญหาต่างๆในบ้านเมืองเรามีมากขึ้น
สาเหตุที่คนเข้าใจผิดเรื่องของกรรม การที่มีคนเข้าใจผิดในเรื่องกรรม จนมีความคิดเห็นผิดเพี้ยนไปว่า “ ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป“ อย่างที่มีปรากฏอยู่นั้นน่าจะมาจากสาเหตุใหญ่ๆ ๒ ประการคือ จับเหตุจับผลผิด ใจร้อน รอไม่ได้ คอยไม่ได้
( จากหนังสือศาสนาสร้างสันติ ของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม รวบรวมโดยพันเอกต่อพรต เจนการ ) คุณค่าทางจริยธรรม คุณค่าที่ต้องการในทางจริยธรรมของหลักกรรม มีดังนี้ ๑. ให้เป็นผู้หนักแน่นในเหตุผล และมองเห็นการกระทำและผลการกระทำตามแนวของเหตุปัจจัย ไม่เชื่องมงาย ตื่นข่าว เช่นเรื่องแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นต้น ๒. ให้เห็นว่า ผลสำเร็จที่ตนต้องการ จุดหมายที่ปรารถนา จะเข้าถึงหรือสำเร็จได้ด้วยการลงมือทำ - จึงต้องพึ่งตนเอง และทำความเพียรพยายาม - ไม่มัวคอยโชคชะตา ไม่หวังผลบันดาลหรือรอผลของการเซ่นสรวงอ้อนวอน ๓. ให้มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ที่จะงดเว้นจากกรรมชั่ว และรับผิดชอบต่อผู้อื่น ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลทำความดีต่อเขา. ๔. ให้ถือว่าบุคคลมีสิทธิและหน้าที่โดยธรรมชาติ ที่จะกระทำการต่างๆเพื่อแก้ไขปรับปรุงสร้างเสริมตนเองให้ดีขึ้นไป โดยเท่าเทียมกัน สามารถทำตนให้เลวลงหรือดีขึ้น ให้ประเสริฐจนถึงยิ่งกว่าเทวดาและพรหมได้ทุกๆคน ๕. ให้ถือว่าคุณธรรม ความสามารถ ความดีความชั่วที่ทำ ความประพฤติปฏิบัติ เป็นเครื่องมือวัดความทรามหรือความประเสริฐของมนุษย์ ไม่ให้มีการแบ่งแยกโดยชาติชั้นวรรณะ ๖. ในแง่กรรมเก่า ให้ถือเป็นบทเรียน และให้รู้จักพิจารณาเข้าใจตนเองตามเหตุผล ไม่คอยเพ่งโทษแต่ผู้อื่น มองเห็นพื้นฐานทุนเดิมของตนที่มีในปัจจุบัน เพื่อรู้จักที่จะแก้ไขปรับปรุง และวางแผนสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าต่อไปให้ถูกต้อง ๗. ให้ความหวังในอนาคตสำหรับสามัญชนทั่วไป
( จากหนังสือ พุทธธรรม ของ พระธรรมปิฎก ( ป. อ. ปยุตตโต )
อริยสัจ ๔ เรียนอริยสัจ ๔ ต้องรู้หน้าที่ต่ออริยสัจ ๔ เพื่อความรวบรัด ขอให้ดูหลักอริยสัจ พร้อมทั้งความหมายตามแบบ และหน้าที่ของคน ต่ออริยสัจข้อนั้นๆ
๑. ทุกข์ ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากของรัก ความปรารถนาไม่สมหวัง โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ( ขันธ์ ๕ ที่ยึดไว้ด้วยอุปาทาน ) เป็นทุกข์ พูดอีกนัยหนึ่ง คือ ชีวิตและทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ที่จะต้องผันแปรไปตามเหตุปัจจัย จึงแฝงไว้ด้วยความกดดัน บีบคั้น ขัดแย้ง ขัดข้อง มีความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ในตัว พร้อมที่จะทำให้เกิดทุกข์มีปัญหาขึ้นมาได้เมื่อใดเมื่อหนึ่ง ในรูปใดรูปหนึ่งแก่ผู้ที่ยึดมั่นไว้ด้วยอุปาทาน หน้าที่ต่อทุกข์ คือการกำหนดรู้ เข้าใจมัน รู้เท่าทันความเป็นจริง ( เรียกว่า ปริญญา )
๒. ทุกขสมุทัย เรียกสั้นๆว่า สมุทัย ( เหตุเกิดแห่งทุกข์) ได้แก่ตัณหา คือความร่านรนทะยานอยาก ที่ทำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความติดใจ คอยใฝ่หาความยินดีใหม่ๆเรื่อยไป มี ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา พูดอีกนัยหนึ่ง ความอยากที่ยึดถือตนเองเป็นที่ตั้ง โดยอาการซึ่งมีเรา ที่จะได้ จะเป็น จะไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้ชีวิตถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกกระวนกระวาย ความหวาดกังวล ความติดข้องในรูปใดรูปหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่โปร่งโล่งเป็นอิสระ หน้าที่ต่อสมุทัย คือละเสีย ทำให้หมดไป เรียกว่าปหานะ
๓. ทุกขนิโรธ เรียกสั้นๆ ว่า นิโรธ ( ความดับทุกข์) ได้แก่การที่ตัณหาดับไปไม่เหลือ ด้วยการคลายออก สละเสียได้ สลัดออก พ้นไปได้ ไม่พัวพัน พูดอีกนัยหนึ่ง ภาวะแห่งนิพพาน ที่ไม่มีความทุกข์ เป็นสุขโดยไม่ขึ้นต่อตัณหา ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกกระวนกระวาย หวาดกังวล เป็นต้น มีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งบริสุทธิ์ เป็นอิสระ สงบ ปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน หน้าที่ต่อนิโรธ คือทำให้แจ้ง ทำให้สำเร็จ ทำให้เกิดมีเป็นจริงขึ้นมา หรือบรรลุถึง เรียกว่าสัจฉิกิริยา
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ( ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์ ) เรียกสั้นๆว่า มรรค ได้แก่ทางประเสริฐมีองค์ประกอบ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ หน้าที่ต่อมรรค คือเจริญ ฝึก หรือปฏิบัติ เรียกว่าภาวนา คำจำกัดความของอริยสัจมีมากมาย เช่นใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ....เป็นต้น สิ่งที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในอริยสัจ คือการรู้และทำหน้าที่ต่ออริยสัจแต่ละข้อให้ถูกต้อง มิฉะนั้น จะทำให้เกิดความผิดพลาด ทั้งในความเข้าใจและการประพฤติปฏิบัติ หน้าที่ต่ออริยสัจเหล่านี้ เรียกทางธรรมว่า กิจในอริยสัจ ได้แก กิจในทุกข์ - ปริญญา คือการกำหนดรู้ ( ทำความเข้าใจทุกข์ / ปัญหา และกำหนดรู้ ขอบเขตของมัน) กิจในสมุทัย - ปหานะ คือการละ (กำจัดแก้ไขต้นตอหรือสาเหตุของทุกข์/ปัญหา ) กิจในนิโรธ - สัจฉิกิริยา คือ การทำให้แจ้ง ( เข้าถึงภาวะที่ปราศจากทุกข์ / ปัญหา หรือบรรลุจุดหมาย ) กิจในมรรค - ภาวนา คือ การเจริญ ( ฝึกอบรมดำเนินการลงมือปฏิบัติตามวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย ) ความเข้าใจผิดที่สำคัญบางอย่างเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น การเห็นว่าพระพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น เกิดจากการไม่เข้าใจในอริยสัจ นี้ ( จากหนังสือพุทธธรรม พระธรรมปิฎก ป.อ. ปยุตโต )
|