สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระไตรปิฏก

พระไตรปิฏก

พระไตรปิฏก

ศาสนาทุกศาสนา มีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน แม้เดิมจะมิได้ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อมนุษย์รู้จักใช้ตัวหนังสือ ก็ได้มีการเขียน การจารึกคำสอนในศาสนานั้น ๆ ไว้ เมื่อโลกเจริญขึ้นถึงกับมีการพิมพ์หนังสือเป็นเล่ม ๆ ได้ คัมภีร์ศาสนาเหล่านั้นก็มีผู้พิมพ์เป็นเล่มขึ้นโดยลำดับ พระไตรปิฎก หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า ติปิฎกหรือเตปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับไตรเวทเป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ใบเบิ้ลของศาสนาคริสต์  อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม 
โดยรูปศัพท์ คำว่าพระไตรปิฏก แปลว่า ๓ คัมภีร์
เมื่อแยกเป็นคำๆ ว่า พระ + ไตร + ปิฏก
คำว่า "พระ" เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง
คำว่า "ไตร" แปลว่า สาม
คำว่า "ปิฏก" แปลได้ ๒ อย่าง คือ แปลว่า คัมภีร์ หรือแปลว่า กระจาด ตะกร้า

ดังนั้น พระไตรปิฏก จึงหมายถึง สิ่งที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ไม่ไห้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของนั้นเอง

ปิฏก ๓ หรือพระไตรปิฏก แบ่งออกเป็น
๑. พระวินัยปิฏก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
๒. พระสุตตันตปิฏก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วไป
๓. พระอภิธรรมปิฏก ว่าด้วยธรรมล้วนๆ หรือธรรมสำคัญ


พระไตรปิฏก

๑.พระวินัยปิฏก คัมภีร์ว่าด้วยระเบียบ
๒.พระสุตันตปิฏก คัมภีร์ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วๆไป มีประวัติและท้องเรื่องประกอบ เน้นความสำคัญในสมาธิ คือ ด้านจิตใจ
๓. พระอภิธรรมปิฏก คัมภีร์ว่าด้วยหลักธรรมและคำอธิบาย ที่เป็นเนื้อหาวิชาการล้วนๆ ไม่มีประวัติและท้องเรื่องประกอบ

ความสำคัญของพระไตรปิฎก

ก่อนปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสทำนองสั่งเสียกับพระอานนท์ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานล่วงลับไปแล้ว จะไม่ทรงตั้งภิกษุรูปใดแทนพระองค์ หากแต่ให้ชาวพุทธทั้งหลายยึดพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์
ตามพระพุทธพจน์ว่า "โย โว อานนฺท มยาธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา" แปลว่า ดูก่อน อานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น เป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป

          พระพุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นว่า พระธรรมวินัย ถือเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงเท่ากับเป็นองค์พระศาสดาและเป็นตัวแทนพระพุทธศาสนา และพระธรรมวินัยทั้งหลายนั้นล้วนได้ประมวลอยู่ใน พระไตรปิฏก ทั้งสิ้น

อาจกล่าวได้ว่า พระไตรปิฏก มีความสำคัญดังนี้ คือ

๑. เป็นที่รวบรวมไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ คือคำสั่งของพระพุทธเจ้า

๒. เป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เราสามารถเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระไตรปิฏก

๓. เป็นแหล่งต้นเดิมหรือแม่บทในพระพุทธศาสนา

๔. เป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา คำสอนและข้อปฏิบัติใดๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยในพระไตรปิฏก

๕. เป็นคัมภีร์ที่ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ทางวิชาการ

(ขอขอบคุณที่มาจาก www.dhammathai.org )
____________________________________
ความหมายของพระไตรปิฏก

ไตรปิฎก "ปิฎกสาม"; ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้นๆ ว่า กระจาดหรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับ
ใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว โดยนัยนี้  ไตรปิฎกจึงแปลว่า คัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ ( และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา ) ๓ ชุด หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด กล่าวคือ วินัยปิฎก  สุตตันตปิฎก  และอภิธรรมปิฎก ; 

พระไตรปิฎก จัดแบ่งหมวดหมู่โดยย่อดังนี้

     ๑. พระวินัยปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์แบ่งเป็น ๕ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา ม จุ ป) คือ

๑. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต
๒. ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ รวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด
๓. มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น ๑๐ ขันธกะ หรือ ๑๐ ตอน
๔. จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย ๑๒ ขันธกะ
๕. ปริวาร คัมภีร์ประกอบหรือคู่มือ บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย

     พระวินัยปิฎกนี้ แบ่งอีกแบบหนึ่งเป็น ๕ คัมภีร์เหมือนกัน (จัด ๒ ข้อในแบบต้นนั้นใหม่) คือ
๑. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ (ศีล ๒๒๗ ข้อ) ฝ่ายภิกษุสงฆ์
๒. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ (ศีล ๓๑๑ ข้อ) ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
๓. มหาวรรค 
๔. จุลวรรค 
๕. ปริวาร

     บางทีท่านจัดให้ย่นย่อเข้าอีก แบ่งพระวินัยปิฎกเป็น ๓ หมวด คือ
๑. วิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (คือรวมข้อ ๑ และ ๒ ข้างต้นทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน)
๒. ขันธกะ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ทั้ง ๒๒ ขันธกะหรือ ๒๒ บทตอน (คือรวมข้อ ๓ และ ๔ เข้าด้วยกัน)
๓. ปริวาร ว่า คัมภีร์ประกอบ (คือข้อ ๕ ข้างบน)

     ๒. พระสุตตันตปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่างๆ ที่ตรัส ยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาสตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๕ นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) คือ

๑. ทีฆนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว ๓๔ สูตร
๒. มัชฌิมนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง ๑๕๒ สูตร
๓. สังยุตตนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรียกว่าสังยุตต์หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม ๕๖ สังยุตต์ มี ๗,๗๖๒ สูตร
๔. อังคุตตรนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรม มี ๙,๕๕๗ สูตร
๕. ขุททกนิกาย ชุมนุมพระสูตร คาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าในสี่นิกายแรกไม่ได้มี ๑๕ คัมภีร์

     ๓. พระอภิธรรมปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ

๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ
๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ
๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓
๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
๗. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย ๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร

     พระไตรปิฎกที่พิมพ์ด้วยอักษรไทยท่านจัดแบ่งเป็น ๔๕ เล่ม
แสดงพอให้เห็นรูปเค้าดังนี้

ก. พระวินัยปิฎก ๘ เล่ม
เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ ว่าด้วยปาราชิก สังฆาทิเสส และอนิยต
สิกขาบท(สิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ ๑๙ ข้อแรก)
เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบาของ
ภิกษุ(เป็นอันครบสิกขาบท ๒๒๗ หรือ ศีล ๒๒๗)
เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท ๓๑๑ ของภิกษุณี
เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มี ๔ ขันธกะ ว่าด้วยการอุปสมบท (เริ่มเรื่องตั้งแต่ตรัสรู้และประดิษฐานพระศาสนา) อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา
เล่ม ๕ มหาวรรค ภาค ๒ มี ๖ ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องเครื่องหนังเภสัช กฐิน จีวร นิคหกรรม และการทะเลาะวิวาทและสามัคคี
เล่ม ๖ จุลวรรค ภาค ๑ มี ๔ ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคหกรรม วุฏฐานวิธีและการระงับอธิกรณ์
เล่ม ๗ จุลวรรค ภาค ๒ มี ๘ ขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยเรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรต่างๆ การงด
สวดปาฏิโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒
เล่ม ๘ ปริวาร คู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย

ข. พระสุตตันปิฎก ๒๕ เล่ม
๑. ทีฆนิกาย ๓ เล่ม
เล่ม ๙ สีลขันธวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๓ สูตร หลายสูตรกล่าวถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
เล่ม ๑๐ มหาวรรค มีพระสูตรยาว ๑๐ สูตร ส่วนมากชื่อเริ่มด้วย "มหา" เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหาสติ
ปัฏฐานสูตร เป็นต้น
เล่ม ๑๑ ปาฏิกวรรค มีพระสูตรยาว ๑๑ สูตร เริ่มด้วยปาฏิกสูตร หลายสูตรมีชื่อเสียงเช่น จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตร สิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร

๒. มัชฌิมนิกาย ๓ เล่ม
เล่ม ๑๒ มูลปัณณาสก์ บั้นต้น มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร
เล่ม ๑๓ มัชฌิมปัณณาสก์ บั้นกลางมีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร
เล่ม ๑๔ อุปริปัณณาสก์ บั้นปลายมีพระสูตรขนาดกลาง ๕๒ สูตร

๓. สังยุตตนิกาย ๕ เล่ม
เล่ม ๑๕ สคาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่างๆ เช่นเทวดามาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่ มี ๑๑ สังยุตต์
เล่ม ๑๖ นิทานวรรค ครึ่งเล่มว่าด้วยเหตุปัจจัย คือหลักปฏิจจสมุปบาท นอกนั้น มีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรม สังสารวัฏ ลาภสักการะ เป็นต้น จัด เป็น ๑๐ สังยุตต์
เล่ม ๑๗ ขันธวารวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ในแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ดรวมทั้งเรื่อง สมาธิและทิฏฐิต่างๆ
ปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น ๑๓ สังยุตต์
เล่ม ๑๘ สฬายตนวรรค เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ ๖ ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฏิบัติให้ถึงอสังขตะ อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์
เล่ม ๑๙ มหาวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เรียงลำดับเป็นมรรค โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์ สัมมัปปธาน พละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจจ์ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบันและอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น ๑๒ สังยุตต์ (พึงสังเกตว่าคัมภีร์นี้เริ่มต้นด้วยการย้ำความสำคัญของความมีกัลยาณมิตร เป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่มรรค)

๔. อังคุตตรนิกาย ๕ เล่ม
เล่ม ๒๐ เอก-ทุก-ติกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ รวมทั้งเรื่องเอตทัคคะ
เล่ม ๒๑ จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๔
เล่ม ๒๒ ปัญจก-ฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๕-๖
เล่ม ๒๓ สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๗-๘-๙
เล่ม ๒๔ ทสก-เอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๑๐-๑๑
     ในอังคุตตรนิกายมีข้อธรรมหลากหลายลักษณะ ตั้งแต่ทิฏฐธัมมิกัตถะถึงปรมัตถะ ทั้งสำหรับบรรพชิต และสำหรับคฤหัสถ์ กระจายกันอยู่โดยเรียงตามจำนวน

๕. ขุททกนิกาย ๙ เล่ม
เล่ม ๒๕ รวมคัมภีร์ย่อย ๕ คือ
ขุททกปาฐะ(บทสวดย่อยๆ โดยเฉพาะมงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร)
ธรรมบท(เฉพาะตัวคาถาทั้ง ๔๒๓)
อุทาน(พุทธอุทาน ๘๐)
อิติวุตตกะ(พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย "เอวมฺเม สุตํ" แต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า "อิติ วุจฺจติ" รวม ๑๑๒ สูตร)
และสุตตนิบาต(ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วนหรือมีความนำเป็นร้อยแก้ว รวม ๗๑ สูตร)
เล่ม ๒๖ มีคัมภีร์ย่อยที่เป็นคาถาล้วน ๔ คือ
วิมานวัตถุ(เรื่องผู้เกิดในสวรรค์อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น ๘๕ เรื่อง)
เปตวัตถุ(เรื่องเปรตเล่ากรรมชั่วในอดีตของตน ๕๑ เรื่อง)
เถรคาถา(คาถาของพระอรหันตเถระ ๒๖๔ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรมเป็นต้น)
เถรีคาถา(คาถาของพระอรหันตเถรี ๗๓ รูป ที่กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นนั้น)
เล่ม ๒๗ ชาดก ภาค ๑ รวมคาถาแสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติ และมีคาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง ภาคแรก ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต) ถึงเรื่องมี ๔๐ คาถา (จัตตาฬีสนิบาต) รวม ๕๒๕ เรื่อง
เล่ม ๒๘ ชาดก ภาค ๒ รวมคาถาอย่างในภาค ๑ นั้น เพิ่มอีก แต่เป็นเรื่องอย่างยาว ตั้งแต่เรื่องมี ๕๐ คาถา (ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต) จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมี ๑,๐๐๐ คาถา รวมอีก ๒๒ เรื่อง
บรรจบทั้งสองภาค เป็น ๕๔๗ ชาดก
เล่ม ๒๙ มหานิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร ในอัฏฐกวรรคแห่งสุตตนิบาต
เล่ม ๓๐ จูฬนิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร ในปารายนวรรคและขัคควิสาณสูตร ในอุรควรรค แห่งสุตตนิบาต
เล่ม ๓๑ ปฏิสัมภิทามรรค ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่นเรื่อง ญาณ ทิฏฐิ อานาปาน
อินทรีย์ วิโมกข์ เป็นต้น อย่างพิสดาร เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน
เล่ม ๓๒ อปทาน ภาค ๑ คาถาประพันธ์แสดงประวัติโดยเฉพาะในอดีตชาติ เริ่มด้วยพุทธอปทาน (ประวัติของพระพุทธเจ้า) ปัจเจกพุทธอปทาน (เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า) ต่อด้วยเถรอปทาน (อัตตประวัติแห่งพระอรหันตเถระ) เรียงลำดับเริ่มแต่พระสารีบุตร ตามด้วยพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธ พระปุณณมันตานีบุตร พระอุบาลี พระอัญญาโกณฑัญญะ พระปิณโฑลภารทวาชะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระอานนท์ ต่อเรื่อยไปจนจบภาค ๑ รวม พระอรหันตเถระ ๔๑๐ รูป
เล่ม ๓๓ อปทาน ภาค ๒ คาถาประพันธ์แสดงอัตตประวัติพระอรหันตเถระต่ออีกจนถึงรูปที่ ๕๕๐ ต่อนั้น เป็น เถรีอปทานแสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี ๔๐ เรื่อง เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม ๑๖ รูป ต่อด้วยพระเถรีที่สำคัญเรียงลำดับคือพระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา พระกุณฑลเกสี พระกีสา โคตมี พระธรรมทินนา พระสกุลา พระนันทา พระโสณา พระภัททกาปิลานี พระยโสธรา และท่านอื่นๆ ต่อไปจนจบ ครั้นจบอปทานแล้ว ท้ายเล่ม ๓๓ นี้ มีคัมภีร์ พุทธวงส์ เป็นคาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์จนถึงประวัติของพระองค์เองรวมเป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ จบแล้วมีคัมภีร์สั้นๆ ชื่อ จริยาปิฎก เป็นท้ายสุด แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ ๓๕ เรื่องที่มีแล้วในชาดก แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ

ค. พระอภิธรรมปิฎก ๑๒ เล่ม
เล่ม ๓๔ ธัมมสังคณี ต้นเล่มแสดง มาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ มีทั้งชุด ๓ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามีเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง เป็นอดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง ฯลฯ  และชุด ๒ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสังขตธรรม อสังขตธรรม ชุดหนึ่ง รูปีธรรม อรูปีธรรม ชุดหนึ่ง โลกียธรรม โลกุตตรธรรม ชุดหนึ่งเป็นต้น รวมทั้งหมดมี ๑๖๔ ชุด หรือ ๑๖๔ มาติกา จากนั้นขยายความมาติกาที่ ๑ เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรมที่กระจายออกไปโดย จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ท้ายเล่มมีอีก ๒ บท แสดงคำอธิบายย่อหรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาที่กล่าวถึงข้างต้นจนครบ ๑๖๔ มาติกา ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน ๒ บท เป็น ๒ แบบ (แต่บทท้ายจำกัดความไว้เพียง ๑๒๒ มาติกา)
เล่ม ๓๕ วิภังค์ ยกหลักธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นมาแจกแจงแยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่จนชัดเจนจบไปเป็นเรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด ๑๘ เรื่อง คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘อริยสัจจ์ ๔ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฌาน อัปปมัญญา ศีล ๕ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณประเภทต่าง ๆ และเบ็ดเตล็ดว่าด้วยอกุศลธรรมต่างๆ อธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่าวิภังค์ของเรื่องนั้นๆ เช่นอธิบายขันธ์ ๕ ก็เรียกขันธวิภังค์ เป็นต้น รวมมี ๑๘ วิภังค์
เล่ม ๓๖ ธาตุกถา นำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ อีก ๑๒๕ อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่าข้อใดได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ และปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า "โสดาบัน" ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์๓ ได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น
เล่ม ๓๗ กถาวัตถุ คัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ เรียบเรียงขึ้น เพื่อ
แก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกแล้วถึง ๑๘ นิกาย เช่นความเห็นว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้ เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจากกรรมเป็นต้น ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา
เล่ม ๓๘ ยมก ภาค ๑ คัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก แปลว่า คู่) เช่นถามว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล, รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์(ทั้งหมด) เป็นรูป, ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์ หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี ๗ คือ มูล (เช่นกุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น เล่มนี้จึงมี ๗ ยมก
เล่ม ๓๙ ยมก ภาค ๒ ถามตอบอธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาค ๑ อีก ๓ เรื่อง คือ จิตตยมก ธรรมยมก
(กุศล-อกุศล-อัพยากตธรรม) อินทรียยมก บรรจบเป็น ๑๐ ยมก
เล่ม ๔๐ ปัฏฐาน ภาค ๑ คัมภีร์ปัฏฐานอธิบายปัจจัย ๒๔ โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ ธรรมที่นำมาอธิบายก็คือข้อธรรมที่มีในมาติกาคือแม่บทหรือบทสรุปธรรม ซึ่งกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์สังคณีนั่นเอง แต่อธิบายเฉพาะ ๑๒๒ มาติกาแรกที่เรียกว่า อภิธรรมมาติกา ปัฏฐานเล่มแรกนี้ อธิบายความหมายของปัจจัย ๒๔ เป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ อนุโลมติกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โดยปัจจัย ๒๔ นั้น เช่นว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะศรัทธา จึงให้ทาน จึงสมาทานศีล จึงบำเพ็ญฌาน จึงเจริญวิปัสสนา ฯลฯ) กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย (คิดถึงทานที่ตนได้ให้ ศีลที่ได้รักษาแล้วดีใจ ยึดเป็นอารมณ์แน่นหนาจนเกิดราคะ ทิฏฐิ, มีศรัทธา มีศีล มีปัญญา แล้วเกิดมานะว่า ฉันดีกว่า เก่งกว่า หรือเกิดทิฏฐิว่า ต้องทำอย่างเรานี้เท่านั้นจึงถูกต้อง ฯลฯ) อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะความอยากบางอย่าง หรือเพราะมานะหรือทิฏฐิ จึงให้ทาน จึงรักษาศีล จึงทำฌานให้เกิด ฯลฯ) กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (คิดถึงฌานที่ตนเคยได้แต่มาเสื่อมไปเสียแล้ว เกิดความโทมนัส ฯลฯ) อย่างนี้เป็นต้น (เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลมคือตามนัยปกติไม่อธิบายตามนัยปฏิเสธจึงเรียกว่าอนุโลมปัฏฐาน)
เล่ม ๔๑ ปัฏฐาน ภาค ๒ อนุโลมติกปัฏฐาน ต่อ คือ อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ ต่อจากเล่ม ๔๐ เช่น อดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ปัจจุบันธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (พิจารณารูปเสียงเป็นต้น ที่ดับเป็นอดีตไปแล้วว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความโทมนัสขึ้น ฯลฯ) เป็นต้น
เล่ม ๔๒ ปัฏฐาน ภาค ๓ อนุโลมทุกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) เช่น โลกียธรรมเป็นปัจจัยแก่โลกียธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (รูปายตนะ เป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น
เล่ม ๔๓ ปัฏฐาน ภาค ๔ อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อ
เล่ม ๔๔ ปัฏฐาน ภาค ๕ ยังเป็นอนุโลมปัฏฐาน แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทต่างๆ ข้ามชุดกันไปมา ประกอบด้วย อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) เช่น อธิบาย "กุศลธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม ที่เป็นโลกียธรรม โดยอธิปติปัจจัย" เป็นอย่างไร เป็นต้น
อนุโลมติกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา)
อนุโลมติกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่นอธิบายว่า "กุศลธรรมที่เป็นอดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม" เป็นอย่างไร เป็นต้น 
อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในบทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่นชุดโลกียะ โลกุตตระ กับชุดสังขตะอสังขตะ เป็นต้น
เล่ม ๔๕ ปัฏฐาน ภาค ๖ เป็นปัจจนียปัฏฐาน คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายอย่างเล่มก่อนๆ นั่นเอง แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ แยกเป็น ปัจจนียปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+ปฏิเสธ เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม+ปฏิเสธ เช่นว่า อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรมเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+อนุโลม เช่นว่า อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลธรรมที่เป็นอกุศล เกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร และในทั้ง ๓ แบบนี้ แต่ละแบบ จะอธิบายโดยใช้ธรรมในแม่บทชุด ๓ แล้วต่อด้วยชุด ๒ แล้วข้ามชุดระหว่างชุด ๒ กับชุด ๓  ชุด ๓ กับชุด ๒  ชุด ๓ กับชุด ๓  ชุด ๒ กับชุด ๒ จนครบทั้งหมดเหมือนกัน ดังนั้นแต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียดออกไปเป็น ติก ทุก ทุกติก ติกทุก ติกติก ทุกทุก ตามลำดับ (เขียนให้เต็มเป็น ปัจจนียติกปัฏฐาน ปัจจนียทุกปัฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้เรื่อยไป จนถึงท้ายสุดคือ ปัจจนียานุโลมทุกทุกปัฏฐาน)

     คัมภีร์ปัฏฐานนี้ ท่านอธิบายค่อนข้างละเอียดเฉพาะเล่มต้นๆ เท่านั้นเล่มหลังๆ ท่านแสดงไว้แต่หัวข้อหรือแนว และทิ้งไว้ให้ผู้เข้าใจแนวนั้นแล้วเอาไปแจกแจงโดยพิสดารเอง โดยเฉพาะเล่มสุดท้ายคือภาค ๖ แสดงไว้ย่นย่อที่สุด แม้กระนั้นก็ยังเป็นหนังสือถึง ๖ เล่ม หรือ ๓,๓๒๐ หน้ากระดาษพิมพ์ ถ้าอธิบายโดยพิสดารทั้งหมดจะเป็นเล่มหนังสืออีกจำนวนมากมายหลายเท่าตัว ท่านจึงเรียกปัฏฐานอีกชื่อหนึ่งว่า "มหาปกรณ์" แปลว่า ตำราใหญ่ ใหญ่ทั้งโดยขนาดและโดยความสำคัญ

     พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

(ขอขอบคุณที่มา คัดลอกจาก พจนานุกรมศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระธรรมปิฏก ป.อ.ปยุตโต และ www.84000.org)
________________________________
เชิญคลิ๊กเข้าอ่านพระไตรปิฏกพร้อมรายละเอียด(ภาษาไทย)แต่ละเรื่องได้ตามหัวข้อด้านล่าง

พระวินัยปิฎก ๘ เล่ม

พระสุตตันตปิฎก ๒๕ เล่ม

พระอภิธรรมปิฏก ๑๒ เล่ม

________________________________

 
ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

  การกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก จำเป็นต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ยังมิได้จดจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งหลักฐานเรื่องการท่องจำ และข้อความที่กระจัดกระจายยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่ จนถึงมีการสังคายนา คือจัดระเบียบหมวดหมู่ การจารึกเป็นตัวหนังสือการพิมพ์เป็นเล่ม

ในเบื้องแรกเห็นควรกล่าวถึงพระสาวก ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ
         ๑. พระอานนท์ ผู้เป็นพระอนุชา (ลูกผู้พี่ผู้น้อง) และเป็นผู้อุปฐากรับใช้ใกล้ชิดของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก
         ๒. พระอุบาลี ผู้เชี่ยวชาญทางวินัย ในฐานะที่ทรงจำวินัยปิฎก
         ๓. พระโสณกุฏิกัณณะ ผู้เคยท่องจำบางส่วนแห่งพระสุตตันตปิฎก และกล่าวข้อความนั้นปากเปล่าในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ได้รับสรรเสริญว่าทรงจำได้ดีมาก ทั้งสำเนียงที่กล่าวข้อความออกมาก็ชัดเจนแจ่มใส เป็นตัวอย่างแห่งการท่องจำในสมัยที่ยังไม่มีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นตัวหนังสือ
         ๔. พระมหากัสสป ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มให้มีการสังคายนา จัดระเบียบพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่ ในข้อนี้ย่อมเกี่ยวโยงไปถึงพระพุทธเจ้า พระสาริบุตร และพระจุนทะ น้องชายพระสาริบุตร ซึ่งเคยเสนอให้เห็นความสำคัญของการทำสังคายนา คือจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ดังจะกล่าวต่อไป

พระอานนท์เกี่ยวกับพระไตรปิฎกอย่างไร 

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้แล้วแสดงธรรมโปรดเจ้าลัทธิกับทั้งพระราชาและมหาชนในแว่นแคว้นต่าง ๆ ในปลายปีแรกที่ตรัสรู้นั้นเอง พระพุทธบิดาก็ทรงส่งทูตไปเชิญเสด็จพระศาสดาให้ไปแสดงธรรมโปรด ณ กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์แสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติแล้ว พระประยูรญาติต่างพากันเลื่อมใสให้โอรสของตนออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก
พระอานนท์เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนศกายะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา เมื่อนับโดยเชื้อสายจึงนับเป็นพระอนุชาหรือลูกผู้น้องของพระพุทธเจ้า ท่านออกบวชพร้อมกับราชกุมารอื่น ๆ อีก คือ ๑. อนุรุทธะ ๒. ภัคคุ ๓. กิมพิละ ๔. ภัททิยะ รวมเป็น ๕ ท่านในฝ่ายศากยวงศ์ เมื่อรวมกับเทวทัตซึ่งเป็นราชกุมารในโกลิยวงศ์ ๑ กับอุบาลี ซึ่งเป็นพนักงานภูษามาลา มีหน้าที่เป็นช่างกัลบกอีก ๑ จึงรวมเป็น ๗ ท่านด้วยกัน ใน ๗ ท่านนี้เมื่ออกบวชแล้วก็มีชื่อเสียงมากอยู่ ๔ ท่าน คือ พระอานนท์ เป็นพุทธอุปฐาก ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก พระอนุรุทธ์ ชำนาญในทิพยจักษุ พระอุบาลี ทรงจำและชำนิชำนาญในทางพระวินัย กับพระเทวทัต มีชื่อเสียงในทางก่อเรื่องยุ่งยากในสังฆมณฑล จะขอปกครองคณะสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า

กล่าวเฉพาะพระอานนท์ เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะรับหน้าที่นี้ ท่านได้ขอพรหรือนัยหนึ่งเงื่อนไข ๘ ประการจากพระพุทธเจ้า เป็นเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ ๔ ข้อ เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ข้อ คือ

 เงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ
         ๑. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
         ๒. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานบิณฑบาต (คืออาหาร) อันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
         ๓. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
         ๔. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์

เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง
         ๕. ถ้าพระองค์จัดเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้
         ๖. ถ้าข้าพระองค์จักนำบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ที่ไกล ให้เข้าเฝ้าได้ในขณะที่มาแล้ว
         ๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น และ
         ๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงข้อความอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ครั้นเสด็จมาแล้วจักตรัสบอกข้อความอันนั้นแก่ข้าพระองค์

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ที่ขอเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธนั้นเพื่ออะไร พระอานนท์กราบทูลว่า เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่าท่านอุปฐากพระพุทธเจ้าเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ ส่วนเงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ข้อนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถาม ท่านก็กราบทูลว่า ๓ ข้อต้น เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่า พระอานนท์จะอุปฐากพระพุทธเจ้าทำไมในเมื่อพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ ส่วนเงื่อนไขข้อสุดท้ายก็เพื่อว่าถ้ามีใครถามท่านในที่ลับหลังพระพุทธเจ้าว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในที่ไหน ถ้าพระอานนท์ตอบไม่ได้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า พระอานนท์ตามเสด็จพระศาสนาไปดุจเงาตามตัว แม้เรื่องเพียงเท่านี้ก็ไม่รู้ เมื่อพระอานนท์กราบทูลชี้แจงดังนั้นแล้ว พระศาสดาก็ทรงตกลงประทานพรหรือเงื่อนไขทั้งแปดข้อ

 เฉพาะพรข้อที่ ๘ เป็นอุปการะแก่การที่จะรวบรวมพระพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่อย่างยิ่ง เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม (พระอุบาลี วินัย) เพื่อจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งกระทำภายหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน

ในสมัยที่วิชาหนังสือยังไม่เจริญพอที่จะใช้บันทึกเรื่องราวได้ดั่งในปัจจุบัน อันเป็นสมัยที่ไม่มีการจด มนุษย์ก็ต้องอาศัยความจำเป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกเรื่องราวนั้น ๆ ไว้ แล้วบอกเล่าต่อ ๆ กันมา การทรงจำและบอกกันด้วยปากต่อ ๆ กันมานี้ เรียกในภาษาบาลีว่า มุขปาฐะ

 พระอานนท์เป็นผู้ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่ามีความทรงจำดี สดับตรับฟังมาก นับว่าท่านได้มีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ สืบมาจนทุกวันนี้


พระอุบาลีเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร

เรื่องของพระอุบาลี ผู้เคยเป็นพนักงานภูษามาลาอยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ท่านออกบวชพร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่น ๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น และในฐานที่ท่านเป็นคนรับใช้มาเดิมก็ควรจะเป็นผู้บวชคนสุดท้าย แต่เจ้าชายเหล่านั้นตกลงกันว่าควรให้อุบาลีบวชก่อน ตนจะได้กราบไหว้อุบาลีตามพรรษาอายุ เป็นการแก้ทิฏฐิมานะตั้งแต่เริ่มแรกในการออกบวช แต่ท่านก็มีความสามารถสมกับเกียรติที่ได้รับจากราชกุมารเหล่านั้น คือเมื่อบวชแล้วท่านมีความสนใจกำหนดจดจำทางพระวินัยเป็นพิเศษ มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฎก (เล่มที่ ๗) ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วทรงสรรเสริญวินัย กับสรรเสริญท่านพระอุบาลีเป็นอันมาก ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี นอกจากนั้น ในวินัยปิฎก (เล่มที่ ๙) มีพระพุทธภาษิตโต้ตอบกับพระอุบาลีในข้อปัญหาทางพระวินัยมากมาย เป็นการเฉลยข้อถามของพระเถระ เรียกชื่อหมวดนี้ว่า อุปาลิปัญจกะ มีหัวข้อสำคัญถึง ๑๔ เรื่อง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ท่านพระอุบาลีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวินัยปิฎก จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการช่วยรวบรวมข้อพระวินัยต่าง ๆ ทั้งของภิกษุและภิกษุณีให้เป็นหมวดหมู่หลักฐานมาจนทุกวันนี้


พระโสณกุฏิกัณณะเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร

ความจริงท่านผู้นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็นหลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก อันช่วยให้เกิดความเข้าใจดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก จึงได้นำเรื่องของท่านมากล่าวไว้ในที่นี้ด้วย เรื่องของท่านผู้นี้ปรากฎในพระสุตตันตปิฎกเล่ม ๒๕ มีใจความว่า เดิมท่านเป็นอุบาสก เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดของพระมหากัจจานเถระ พำนักอยู่ใกล้ภูเขาอันทอดเชื่อมเข้าไปในนคร ชื่อ กุรุรฆระ ในแคว้นอวันตี ท่านเลื่อมใสในพระกัจจานเถระและเลื่อมใสที่จะบรรพชาอุปสมบท พระเถระกล่าวว่าเป็นการยากที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ท่านจึงแนะนำให้เป็นคฤหัสถ์ ประพฤติตนแบบอนาคาริกะ คือผู้ไม่ครองเรือนไปก่อน แต่อุบาสกโสณกุฏิกัณณะรบเร้าบ่อย ๆ ท่านจึงบรรพชาให้ ต่อมาอีก ๓ ปี จึงรวบรวมพระได้ครบ ๑๐ รูป จัดการอุปสมบทให้ หมายความว่าพระโสณะต้องบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ

ต่อมาท่านลาพระมหากัจจานเถระเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตวนาราม กรุงสาวัตถี เมื่อไปถึงและพระพุทธเจ้าตรัสถาม ทราบความว่า เดินทางไกลมาจากอวันตีทักขิณบถ คืออินเดียภาคใต้ จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้จัดที่พักให้ พระอานนท์พิจารณาว่า พระองค์คงปรารถนาจะสอบถามอะไรกับภิกษุรูปนี้เป็นแน่แท้ จึงจัดที่พักให้ในวิหารเดียวกันกับพระพุทธเจ้า

ในคืนวันนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเสด็จเข้าสู่วิหาร แม้พระโสณกุฏกัณณะก็นั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเข้าสู่วิหาร ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสเชิญให้พระโสณะกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง ๑๖ สูตร อันปรากฏให้อัฏฐกวัคค์ (สุตตนิบาต พระสุตตันติปิฎก เล่มที่ ๒๕) จนจบ เมื่อจบแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ และท่วงทำนองในการกล่าว ว่าไพเราะสละสลวย แล้วตรัสถามเรื่องส่วนตัวอย่างอื่นอีก เช่นว่ามีพรรษาเท่าไร ออกบวชด้วยมีเหตุผลอย่างไร

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก ว่าได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ใครสามารถหรือพอใจจะท่องจำส่วนไหน ก็ท่องจำส่วนนั้น ถึงกับมีครูอาจารย์กันเป็นสาย ๆ เช่น สายวินัยดังจะกล่าวข้างหน้า

พระมหากัสสปเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร

พระมหากัสสป เป็นผู้บวชเมื่อสูงอายุ ท่านพยายามปฏิบัติตนในทางเคร่งครัด แม้จะลำบากบ้างก็แสดงความพอใจว่าจะได้เป็นตัวอย่างแก่ภิกษุรุ่นหลัง พระศาสดาทรงสรรเสริญท่านว่าเป็นตัวอย่างในการเข้าสู่สกุลชักกายและใจห่าง ประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คะนองกายวาจาใจในตระกูล นอกจากนั้นยังทรงสรรเสริญในเรื่องความสามารถในการเข้าฌานสมาบัติ

ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ แม้ไม่ใคร่สั่งสอนใครมาก แต่ก็สั่งสอนคนในทางปฏิบัติคือทำตัวเป็นแบบอย่าง เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนาคือร้อยกรอง หรือจัดระเบียบพระธรรมวินัย นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้เกิดพระไตรปิฎก อนึ่ง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งท่านชักชวนให้ทำขึ้นนั้น ท่านเองเป็นผู้ถามทั้งพระวินัยและพระธรรม ท่านพระอุบาลีเป็นผู้ตอบเกี่ยวกับพระวินัย ท่านพระอานท์เป็นผู้ตอบเกี่ยวกับพระธรรม ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในตอนที่ว่าด้วยสังคายนา

ได้กล่าวไว้แล้วว่า ในการปรารภนามของพระเถระ ๔ รูป ประกอบความรู้เรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกคือ พระอานนท์ พระอุบาลี พระโสณกุฏิกัณณะ และพระมหากัสสปนั้น ทำให้ความเกี่ยวโยงไปถึงพระพุทธเจ้า พระสาริบุตร และพระจุนทะ (น้องชายพระสาริบุตร) คือ   พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย สมัยเมื่อนครนถนาฏบุตร ผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ สาวกเกิดแตกกัน พระจุนทเถระผู้เป็นน้องชายพระสาริบุตร เกรงเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดแก่พระพุทธศาสนา จึงเข้าไปหาพระอานนท์เล่าความให้ฟัง พระอานนท์จึงชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อกราบทูลแล้วพระองค์ได้ตรัสตอบด้วยข้อความเป็นอันมาก แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญยิ่ง (ปาสาทิกสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ หน้า ๑๒๘ ถึงหน้า ๑๕๖) คือ ในหน้า ๑๓๙ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกพระจุนทะ แนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์ และทำสังคายนา คือจัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะเพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นยื่งยืนสืบไป

พระพุทธภาษิตที่แนะนำให้รวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่ นี้ ถือได้ว่าเป็นเริ่มต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดั่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

พระสาริบุตรแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย ในสมัยเดียวกันนั้น และปรารภเรื่องเดียวกัน คือเรื่องสาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน ภายหลังที่อาจารย์สิ้นชีวิต ค่ำวันหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบแล้ว เห็นว่าภิกษุทั้งหลายยังใคร่จะฟังต่อไปอีก จึงมอบหมายให้พระสาริบุตรแสดงธรรมแทน ซึ่งท่านได้แนะนำให้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยแสดงตัวอย่างการจัดหมวดหมู่ธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ ว่ามีธรรมอะไรบ้างอยู่ในหมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ จนถึงหมวด ๑๐ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงรับรองว่าข้อคิดและธรรมะที่แสดงนี้ถูกต้อง (สังคีติสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ หน้า ๒๒๒ ถึงหน้า ๒๘๗) หลักฐานในพระไตรปิฎกตอนนี้มิได้แสดงว่าพระสาริบุตรเสนอขึ้นก่อน หรือพระพุทธเจ้าตรัสแก่พระจุนทะก่อน แต่รวมความแล้วก็ต้องถือว่า ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสาริบุตรได้เห็นความสำคัญของการรวบรวมพระพุทธวจนะร้อยกรองให้เป็นหมวดเป็นหมู่มาแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑

 พระจุนทะเถระผู้ปรารถนาดี  เมื่อกล่าวถึงเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ทำสังคายนาก็ดี ถ้าไม่กล่าวถึงพระจุนทะเถระ ก็ดูเหมือนจะมองไม่เห็นความริเริ่ม เอาใจใส่ และความปรารถนาดีของท่าน ในเมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน เพราะจากข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ท่านได้เข้าพบพระอานนท์ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกพระอานนท์ชวนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้งหลังเมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีก ขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ โดยแสดงโพธิปัขิยธรรมอันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการสุดท้ายได้ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการ ที่เรียกว่าสาราณิยธรรม อันเป็นไปในทางสงเคราะห์ อนุเคราะห์และมีเมตตาต่อกัน มีความประพฤติและความเห็นในทางที่ดีงามร่วมกัน เรื่องนี้ปรากฏในสามคามสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๔๙ ซึ่งควรบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อบูชาคุณ คือความปรารถนาดีของพระจุนทะเถระ ผู้แสดงความห่วงใยในความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา
__________________________________


พระไตรปิฎกฉบับเสียงอ่านปาฬิ เพื่อฉลองพระราชศรัทธาในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเห็นความสำคัญอันยิ่งยวดในพระไตรปิฎก โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงได้จัดพิมพ์คุ๋มือการอ่านออกเสียงปาฬิภาสา ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ในการอ่านสัชฌายะพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม ชุดดิจิทัล ที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานแก่กระทรวงมหาดไทยไปเผยแผ่

ติปิฏกสัช์ฌาย อ่านว่า ติปิฏะกะสัชฌายะ เป็นศัพท์ปาฬิภาสาที่เขียนด้วยอักขรวิธีอักษรสยาม หมายถึง พระไตรปิฎกสากล ฉบับเพื่อการอ่านออกเสียงปาฬิภาสา เรียกเป็นภาษาไทย ว่า พระไตรปิฎกสัชฌายะ ซึ่งเขียนด้วย “สัททอักษรไทย-ปาฬิ” อันเป็นระบบการเขียนเพื่อออกเสียงอ่านปาฬิภาสาด้วยรูปอักษรไทยพร้อม สัททสัญลักษณ์ ที่อ่านตามอักขรวิธีในภาษาไทย และเนื่องด้วยสัททอักษรเป็นระบบสัญลักษณ์ทางเสียงที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถฝึกอ่านปาฬิภาสาได้ง่ายขึ้น กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ จึงได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นฉบับสัชฌายะ เพื่อมอบให้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เผยแผ่เป็นพระธัมมทานเป็นครั้งแรก ในวาระ ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ พ.ศ. ๒๕๕๕

พระไตรปิฎกสัชฌายะ คือ คู่มือสำหรับอ่านปาฬิภาสา พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม

การเผยแผ่พระไตรปิฎกสัชฌายะด้วยการพิมพ์สัททอักษรไทย-ปาฬิ ชุดนี้ มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการออกเสียงอ่านพระพุทธพจน์ให้ตรงกับเสียงปาฬิที่ได้มีการสังคายนา บันทึก และสืบทอดมาเป็นเวลา ๒๖๐๐ ปี ตามวิธีการที่มี ปรากฏในคัมภีร์สัททาวิเสส อันจะนำไปสู่การใช้ท่องเพื่อทรงจำ หรือใช้สวดอย่างสม่ำเสมอ อันเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาเสียงปาฬิในทางนิรุกติศาสตร์ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ในการจัดทำสัททอักษรไทย-ปาฬิ ชุดนี้ ได้มีการศึกษาและคัดเลือกโดยนักวิชาการ รวมทั้งผู้เช่ี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์แห่งราชบัณฑิตยสถาน และได้มีการปรับปรุงตามคำแนะนำของคณะสงฆ์ผู้ทรงพระปาติโมกข์ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสูงสุดทางเปรียญธัมม์ พร้อมทั้งได้มีการทดสอบการอ่านออกเสียงสัชฌายะเป็นอย่างดีแล้ว

เนื้อหาปาฬิภาสาในพระไตรปิฎกสัชฌายะนี้ เป็นผลจากการประชุมสัง คายนาพระไตรปิฎกนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งใช้พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นต้นฉบับสำคัญในการสังคายนา และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เมื่อมีการตรวจทานและจัดพิมพ์ใหม่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กุลเชษฐ์แห่งพระราชวงศ์ จึงได้พระราชทานพระไตรปิฎกสังคายนานานาชาติฉบับนี้เป็นฉบับสากลแก่นานาประเทศ ตามรอยพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ อันเป็นฉบับที่ตีพิมพ์เป็นชุดแรกของโลก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเป็นพระธัมมทาน จากกรุงสยามแก่สถาบันสำคัญทั่วโลกเมื่อศตวรรษที่แล้ว

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสถาบันพระมหากษัตริย์พุทธมามกะไทยที่ได้อุปถัมภ์พระไตรปิฎกให้สืบทอดอยู่ในแผ่นดินไทยจนถึงทุกวันนี้ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลจึงได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายพระไตรปิฎกสัชฌายะ เป็นปฐมฤกษ์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันวิสาขบูชา-พุทธชยันตี พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ในวโรกาสที่เสด็จฯ มาทรงอนุโมทนา พระไตรปิฎก จปร. ปาฬิภาสา-อักษรสยาม ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอักขรวิธีการเขียน ปาฬิภาสา-อักษรไทย และบัดนี้ได้พัฒนาเป็น สัททอักษรไทย-ปาฬิ ในพระไตรปิฎกสากลปัจจุบัน

http://issuu.com/worldtipitaka/docs/________________/1#share

"พระไตรปิฎกสัชฌายะ ฉบับเสียงอ่านปาฬิ" เล่มที่ ๑ จากชุด ๒๐๐ เล่มนี้ เป็นฉบับพกพา สำหรับเป็นคู่มือในการอ่านสัชฌายะ (เดิมเรียกเป็นภาษาไทยว่า สาธยาย และสังวัธยาย แต่ปัจจุบันเรียกเป็น 'ปาฬิภาสา' ว่า สัชฌายะ)

เล่มแรกนี้ รวมเนื้อหาจากพระไตรปิฎกที่สำคัญ ๔ บท เช่น ธัมมจักกัปปะวัตตะนะสุตตะ เป็นต้น เป็นการพิมพ์ปาฬิภาสา ด้วยระบบ สัททอักษรไทย-ปาฬิ (Phonetic Alphabet) ซึ่งเป็นหลักการเขียนเสียงอ่าน (transcription) ให้แม่นตรงกับเสียงที่สุด ซึ่งได้มีความพยายามจัดทำเป็นหนังสือสวดมนต์กันทั่วไปแล้ว แต่ชุด "พระไตรปิฎกสัชฌายะ" นี้ เป็นระบบการเขียนเสียงอ่านที่เป็นมาตรฐานทางภาษาศาสตร์ และได้นำชุด สัททอักษรไทย-ปาฬิ ชุดใหม่นี้ เสนอต่อราชบัณฑิตยสถานแล้วด้วย

พระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุด ๒๐๐ เล่ม จะได้เผยแผ่ต่อไป เพื่อให้ประชาชนได้หาไว้เป็นคู่มือ เป็นฉบับพกพา การแบ่งเป็นเล่มบางๆ เล็กๆ ถึงง ๒๐๐ เล่ม ก็เพื่อให้เบาบางและสามารถใช้สัชฌายะได้ในเวลา ๖ ช.ม. เป็นการจัดพิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตา และในราคาประชาชนเพื่อให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ ถือเป็นฉบับสนามคู่กับฉบับ จปร. อักษรสยาม ปกแข็ง ซึ่งเป็นชุดดิจิทัลราคาสูงที่ใช้สำหรับอ้างอิงชุด ๔๐ เล่ม ซึ่งได้พระราชทานเฉพาะผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ



_______________________________________________________

ขอขอบคุณข้อมูลที่มา

และสามารถอ่านเพิ่มเติมพระไตรปิฏกฉบับประชาชนได้ http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/   

และสามารถอ่านพระไตรปิฏกสากลได้ที่ http://endowment.worldtipitaka.org/

และสามารถอ่านพระไตรปิฏกออนไลน์ ฉบับ ม.หิดลได้ที่ http://budsir.mahidol.ac.th/

และสามารถอ่านพระไตรปิฏกออนไลน์ ฉบับมหาจุฬา http://www.mcu.ac.th/mcutrai/

http://www.mcu.ac.th/mcutrai/index.htm

และสามารถอ่านพระไตรปิฏก มหามกุฏราชวิทยาลัย http://mahamakuta.inet.co.th/tipitaka/tipitaka.html 

และสามารถอ่านสาเหตุการสังคยานาได้ที่
http://www.geocities.com/sungkayana/

และสามารถอ่านพระไตรปิฏก ได้ที่ http://www.tipitaka.com/

 
 

 

Tags : พระไตรปิฏก

view