สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลำดับชั้น-การปกครองของคณะสงฆ์

ลำดับชั้น-การปกครองของคณะสงฆ์


วัด

การปกครองคณะสงฆ์



แผนที่แสดงเขตปกครองคณะสงฆ์ แบ่งเป็น ๑๘ ภาค


แผนภูมิการปกครองคณะสงฆ์

เขตปกครองคณะสงฆ์
*******************


             การปกครองคณะสงฆ์ ยึดพระธรรมวินัยเป็นหลักสูงสุด มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นกฏหมายส่งเสริมให้การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น และกฏมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่ง เป็นแนวปฏิบัติในการบริหารการคณะสงฆ์

             กฎหมายที่ให้อำนาจจัดระบบการปกครองคณะสงฆ์นั้น ได้กำหนดให้ถือว่าผู้ปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาโดยชัดแจ้ง พระสังฆาธิการทุกรูป จึงต้องมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานเหมือนข้าราชการของแผ่นดินอีกส่วนหนึ่งด้วย และ การปฏิบัติหน้าที่ของพระสังฆาธิการทุกระดับ ต้องเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักนิติธรรม ต้องยึดความถูกต้อง สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม เป็นหลักการ จะเป็นเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยความรู้ความฉลาดและความสามารถเป็นเครื่องมือ

             การปกครองคณะสงฆ์ตามรูปแบบที่จัดอยู่ในปัจจุบัน ยึดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นหลักจัดรูปแบบการปกครอง และการปกครองคณะสงฆ์นั้น มี ๒ ส่วน คือ
             ๑) การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง
             ๒) การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค


เขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง

             การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง ได้แก่ การดำเนินกิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนาในส่วนกลาง กล่าวคือศูนย์กลางบริหารงานนั้น เป็นหน่วยควบคุมนโยบายหลักของมหาเถรสมาคม ซึ่งการคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เรียกว่า "การ" คือ การรักษาความเรียบร้อยดีงาม (การปกครอง) เป็นต้น บางการแยกหน่วยงานในส่วนกลางออกเป็นหน่วย บางการมีผู้สนองงานโดยรูปบุคคล บางการมีผู้สนองงานโดยรูปการคณะกรรมการ ลักษณะนี้ คืองานในส่วนกลาง มิใช่หมายถึง กรุงเทพมหานคร เป็นส่วนกลาง แท้จริงกรุงเทพมหานคร เป็นการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นจังหวัด
อนึ่ง เมื่อว่าเฉพาะการปกครองและเขตปกครองแล้ว เขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง หมายถึง หน และ คณะ แยกตามส่วนแห่งนิกายสงฆ์ คือ

             (๑) คณะมหานิกาย มี ๔ หน คือ หนกลาง หนเหนือ หนตะวันออก และหนใต้ มีเจ้าคณะใหญ่เป็นผู้ปกครอง
             (๒) คณะธรรมยุต มี ๑ คณะ เพราะรวมทั้งหมดเข้าเป็นคณะเดียว มีเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตเป็นผู้ปกครอง
การกำหนดเขตปกครองเป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ส่วนการแต่งตั้งเจ้าคณะในส่วนกลางและผู้สนองงานอื่น ๆ ในส่วนกลาง ขอยกไว้


 
เขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค

             คณะสงฆ์ ซึ่งหมายถึง บรรดาพระสงฆ์ผู้สืบศาสนทายาทลัทธิเถรวาทในประเทศไทย ได้แก่ พระสงฆ์ ๒ คณะ คือ คณะมหานิกาย ๑ คณะธรรมยุต ๑ พระสงฆ์ทั้ง ๒ คณะนี้ จัดการปกครองตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ กล่าวคืออาศัยพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับที่กล่าวนี้ เป็นหลักจัดระบบการปกครองอาณาจักรของพระสงฆ์ เป็นอาณาจักรพิเศษ ซึ่งอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร โดยมีนามบัญญัติว่า "คณะสงฆ์" หรือเรียกอีกโวหารหนึ่งว่า "พุทธจักร" มีหลักการปกครองชั้นอุดมการณ์นั้นคือ "พระธรรมวินัย" หรือจะเรียกว่ามีพระธรรมวินัยเป็นธรรมนูญการปกครองก็ถูก แต่การจะทำให้การปกครองบรรลุตามอุดมการณ์ได้ดีนั้น ต้องอาศัยพระบรมราชูปถัมภ์เป็นเครื่องดำเนินการ อันได้แก่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ดังเรียนแล้ว เป็นหลักกำหนดหลักเกณฑ์ขอบเขตแห่งเขตปกครอง ขอบเขตแห่งอำนาจ ขอบเขตแห่งผู้ใช้อำนาจ และวิธีการใช้อำนาจ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีระบบเป็นแบบแผน ในมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคตามลำดับ เป็น ๔ ชั้น คือ

             (๑) ภาค              (๒) จังหวัด
             (๓) อำเภอ            (๔) ตำบล

             และในมาตรา ๒๒ วรรค ๒ ให้กำหนดจำนวนและเขตปกครองทั้ง ๔ ชั้น เป็นกฎมหาเถรสมาคม กล่าวคือให้ตรากฎมหาเถรสมาคมกำหนดไว้ เจ้าคณะชั้นใด จะกำหนดเอาตามใจชอบมิได้ ดังนั้น มหาเถรสมาคมจึงตรากฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๔ ขึ้นเป็นหลักเกณฑ์ และในกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวได้กำหนดให้วางระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดวิธีการปฏิบัติไว้อีกชั้นหนึ่ง



เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นภาค
***********

             ภาค เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นสูงสุด เป็นเขตปกครองซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง คล้ายกับเขตปกครองมณฑล ในสมัยใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ (พระราชบัญญัติ ร.ศ.๑๒๑) หรือเขตตรวจการภาค ในสมัยใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ การกำหนดเขตภาค กำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๓๕) อย่างอิสระ โดยรวมพื้นที่ไม่ต่ำว่า ๓ จังหวัดเข้าเป็นเขตปกครองภาคหนึ่ง ตามความในกฎมหาเถรสมาคม มี ๑๘ ภาค แต่ในทางปฏิบัติ มี ๒๖ ภาค คือ
คณะมหานิกาย มี ๑๘ ภาค คือ ภาค ๑ - ๑๘ ตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๔
คณะธรรมยุต มี ๘ ภาค คือ ภาค ๑,๒,๓ และ ๑๓ รวมเป็นหนึ่งภาค, ภาค ๔,๕,๖ และ ๗ รวมเป็นหนึ่งภาค ภาค ๘, ภาค ๙, ภาค ๑๐, ภาค ๑๑, (เป็น ๔ ภาค) ภาค ๑๔ และ ๑๕ รวมเป็นหนึ่งภาค ภาค ๑๖, ๑๗ และ ๑๘ รวมเป็นหนึ่งภาค และการรวมภาคหลายภาคเข้าเป็นหนึ่งภาคนั้น เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม
ภาค เป็นเขตปกครองที่ทำการปกครองคณะสงฆ์ระดับจังหวัดลงไปจนถึงส่วนวัด และเป็นเขตที่ประสานงานกับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค



เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นจังหวัด
******************

             จังหวัด เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นที่ ๒ ซึ่งเป็นเขตปกครองพื้นที่จำกัดเฉพาะจังหวัด ซึ่งจังหวัดนั้นหมายถึง กรุงเทพมหานคร และจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร โดยพื้นที่ทั้งราชอาณาจักรมี ๗๖ จังหวัด รวมกรุงเทพมหานครอยู่ในจำนวนนี้ด้วย ตามความในข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๓๕) ว่าด้วยจำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค กำหนดไว้ชัดเจนว่า จำนวนและเขตปกครองจังหวัด ให้อนุโลมตามจำนวนและเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร แต่ในทางปฏิบัติมี ๑๒๖ จังหวัด คือ
คณะมหานิกาย มี ๗๖ จังหวัด ครบตามจำนวนจังหวัดแห่งราชอาณาจักร
คณะธรรมยุต มี ๕๐ จังหวัด บางจังหวัดอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร บางจังหวัดต้องรวมหลายจังหวัดเข้าเป็นหนึ่งจังหวัด การรวมหลายจังหวัดเข้าเป็นหนึ่งจังหวัดนั้น เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม

             อนึ่ง จังหวัดทางคณะสงฆ์นั้น แม้มิได้กำหนดชัดเจน ก็พอเทียบได้ว่าจะต้องมีวัดในเขตจังหวัดนั้น พอจะเป็นตำบลทางคณะสงฆ์และอำเภอทางคณะสงฆ์ได้ จึงจะกำหนดเป็นจังหวัดได้ หากมีจำนวนวัดต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะเป็นตำบลและอำเภอทางคณะสงฆ์ได้ ก็จัดเป็นจังหวัดทางคณะสงฆ์ไม่ได้ เพราะขาดระบบการบังคับบัญชา


เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอ
***************

             อำเภอ เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นที่ ๓ ซึ่งหมายถึงเขตในกรุงเทพมหานครและอำเภอในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร จำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอนั้น คณะสงฆ์ต้องเป็นผู้กำหนด แม้ทางราชอาณาจักรมีพระราชกฤษฎีกายกกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอแล้ว อำเภอนั้นเป็นอำเภอทางราชอาณาจักรเท่านั้น หาเป็นอำเภอทางคณะสงฆ์ไม่ ตามความในข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๓๕) และในระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตการปกครองอำเภอ พ.ศ.๒๕๓๗ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการได้ ๒ ได้แก่

             ๑) กำหนดโดยอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร
             ๒) กำหนดเป็นกรณีพิเศษ

             กำหนดโดยอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรนั้น ให้อนุโลมได้เฉพาะอำเภอที่มีวัดซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย ๕ วัดขึ้นไป เพราะอำเภอที่มีวัด ๕ วัดขึ้นไป เป็นอำเภอที่มีเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลได้ อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด จะมีเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นตำบลมิได้ เมื่อทั้งอำเภอไม่มีเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นตำบล จะกำหนดเป็นเขตปกครองชั้นอำเภอมิได้ คือจะยกขึ้นเป็นอำเภอทางคณะสงฆ์มิได้เลย

             การกำหนดเป็นกรณีพิเศษนั้น ได้แก่ การกำหนดเขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นอำเภอที่ไม่ต้องอนุโลมตามเขตบริหารราชการแห่งราชอาณาจักร ตามระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดไว้ ๒ ลักษณะ ได้แก่
             (๑) อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด
             (๒) อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๑๐ วัด
อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัดนั้น ไม่สามารถจะกำหนเขตเป็นอำเภอโดยอนุโลมได้ แต่จำเป็นต้องปกครอง จึงบังคับให้รวมกับอำเภออื่น

             อำเภอที่มีวัดต่ำกว่า ๑๐ วัด คือมีวัดเกินกว่า ๕ วัด แต่ไม่ถึง ๑๐ วัด และประกอบด้วยหลัก ๒ ประการ ได้แก่
                          ๑. เป็นการเหมาะสม ๑
                          ๒. สะดวกในทางปกครอง

             ให้รวมขึ้นในปกครองของเจ้าอำเภออื่นซึ่งมีเขตติดต่อกัน ในจังหวัดเดียวกันได้
การรวมทั้ง ๒ ลักษณะนี้ มีข้อบังคับไว้ ดังนี้

             (๑) ถ้ารวมกันเข้าเพียง ๒ อำเภอ ให้คงชื่อไว้ทั้ง ๒ อำเภอ
             (๒) ถ้ารวมเกินกว่านั้น ให้คงชื่อไว้อำเภอเดียว

             วิธีดำเนินการกำหนดเขตปกครองอำเภอนั้น มี ๒ ได้แก่
                          ๑.ในกรณีกำหนดโดยอนุโลม
                          ๒. ในกรณีกำหนดเป็นกรณีพิเศษ
             ในกรณีกำหนดโดยอนุโลมพอสรุปตามที่เคยปฏิบัติได้ดังนี้

             (๑) ให้เจ้าคณะจังหวัดเสนอเจ้าคณะภาคเพื่อมหาเถรสมาคมประกาศกำหนดเขตโดยอนุโลม
             (๒) เมื่อลงประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้ว ให้ถือเป็นเขตปกครองอำเภอทางคณะสงฆ์
ในกรณีกำหนดเป็นกรณีพิเศษ พอสรุปได้ดังนี้
             (๑) ให้เจ้าคณะจังหวัดเสนอเจ้าคณะภาคเพื่อประกาศกำหนดเป็นกรณีพิเศษโดยอนุมัติของมหาเถรสมาคม
             (๒) เมื่อได้ลงประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้ว ให้ถือเป็นเขตปกครองอำเภอทางคณะสงฆ์



แบบกำหนดเขตปกครองเป็นกรณีพิเศษ
  

ประกาศคณะสงฆ์ภาค…………………..
เรื่อง กำหนดเขตปกครองอำเภอในจังหวัด…………..เป็นกรณีพิเศษ
พ.ศ.๒๕………
**************

             อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ แห่งระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตปกครองอำเภอ พ.ศ.๒๕๓๗ โดยอนุมัติของมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค…… จึงประกาศกำหนดเขตปกครองอำเภอในจังหวัด……………เป็นกรณีพิเศษ ดังต่อไปนี้

             ข้อ ๑ ให้วัดทั้งหลายในเขตอำเภอ………………..กับ อำเภอ…………………..จังหวัด………………..รวมอยู่ในเขตปกครองอำเภอเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า "อำเภอ…………. และอำเภอ…………………."
             ข้อ ๒ ให้วัดทั้งหลายในอำเภอ……………… กับ อำเภอ……………… และอำเภอ……………….จังหวัด……………………รวมอยู่ในเขตปกครองอำเภอเดียวกันเรียกชื่อว่า "อำเภอ………………."

             ประกาศ ณ วันที่………เดือน………………………พ.ศ………

(พระ………………………..)
เจ้าคณะภาค…………….

คำแนะนำเพิ่มเติม
             ๑) ข้อ ๑ ใช้ในกรณีรวมเพียง ๒ อำเภอ
             ๒) ข้อ ๒ ใช้ในกรณีรวม ๓ อำเภอขึ้นไป
             ๓) ข้อความใดไม่ต้องการให้ตัดออก คงไว้เฉพาะที่ต้องการ



เขตปกครองคณะสงฆ์ชั้นตำบล

             ตำบล เป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคชั้นที่ ๔ ซึ่งหมายถึงแขวงในกรุงเทพมหานคร และตำบลในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร จำนวนและเขตปกครองตำบลนั้น คณะสงฆ์เป็นผู้กำหนด แม้ทางราชอาณาจักรจะมีประกาศกระทรวงมหาดไทยตั้งตำบลแล้วก็ตาม ตำบลนั้นเป็นตำบลทางราชอาณาจักรเท่านั้น หาเป็นตำบลทางคณะสงฆ์ไม่ ตามความในข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๓๕) และในระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดจำนวนและเขตปกครองตำบล พอกำหนดเป็นหลักได้ ๒ กรณี ได้แก่

                          ๑) กำหนดโดยอนุโลมตามตำบลแห่งราชอาณาจักร
                          ๒) กำหนดเป็นกรณีพิเศษ
             ในกรณีที่ ๑ ให้อนุโลมตามเขตปกครองตำบลแห่งราชอาณาจักรได้ เฉพาะตำบลที่มีวัดถูกต้องตามกฎหมาย ๕ วัดขึ้นไปเท่านั้น และเมื่อจะกำหนดตำบลใหม่ แม้ตำบลใหม่จะมีวัด ๕ วัดขึ้นไปแล้วก็ตาม แต่ตำบลเดิมที่ตำบลใหม่เคยรวมอยู่ ซึ่งจะมีเขตเปลี่ยนแปลงจะต้องมีวัดคงอยู่ไม่ต่ำกว่า ๕ วัด ถ้าจะมีวัดคงอยู่ต่ำกว่า ๕ วัด จะแยกตำบลใหม่ โดยกำหนดอนุโลมมิได้
              ในกรณีที่ ๒ ให้กำหนดเป็นกรณีพิเศษตามจำนวนวัดแต่ละตำบล แยกเป็น ๕ ลักษณะ ได้แก่
                          ๑) ตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด
                          ๒) ตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด จำนวน ๓ ตำบลขึ้นไป
                          ๓) แม้ตำบลที่มีวัดครบ ๕ วัด แต่มีเหตุอื่น
                          ๔) ตำบลที่มีวัดเกินกว่า ๑๐ วัด (แยกเฉพาะวัดที่เกิน ๑๐)
                          ๕) ตำบลที่มีวัดตั้งแต่ ๑๐ วัด ขึ้นไป (แบ่งแยกออกเป็นเขต)

ลักษณะที่ ๑ แยกพิจารณาปฏิบัติได้ดังนี้
             (๑) ให้รวมวัดในตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด ขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่นซึ่งมีเขตติดต่อกัน
             (๒) ให้รวมเข้ากับตำบลอื่น ซึ่งเมื่อรวมแล้วมี ๑๐ วัดขึ้นไป เพื่อความสะดวกหรือเพื่อความเจริญต่อคณะสงฆ์ จะแบ่งเป็น ๒ เขตหรือหลายเขต โดยจะเรียกชื่อตำบลอนุโลมตามชื่อตำบลแห่งราชอาณาจักรหรือจะเรียกว่า "ตำบล………………….……..เขต ๑" "ตำบล………..เขต ๒" ก็ได้

ลักษณะที่ ๒
             ให้รวมตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด ตั้งแต่ ๓ ตำบลขึ้นไปเข้าเป็นเขตปกครองเดียวกัน เข้ารวมแล้วมีวัด ๑๐ วัดขึ้นไป จะแบ่งเป็นเขตและกำหนดชื่อตำบลดังในลักษณะที่ ๑ ก็ได้

ลักษณะที่ ๓
              แม้ตำบลที่มีวัดครบ ๕ วัด แต่ถ้าเข้าลักษณะพิเศษ ๒ ประการ คือ มีความเหมาะสม ๑ สะดวกในทางปกครอง๑ จะรวมขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่นก็ได้

ลักษณะที่ ๔
             ตำบลที่มีวัดเกิน ๑๐ วัด ถ้าสะดวกในทางปกครองจะแยกวัดที่เกิน ๑๐ นั้น ไปขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่นก็ได้

ลักษณะที่ ๕
             ตำบลที่มีวัด ๑๐ วัดขึ้นไป ถ้ามีลักษณะพิเศษ ๒ ประการ คือ ๑.เพื่อสะดวกแก่การปกครอง ๒.เพื่อความเจริญแก่คณะสงฆ์ จะแบ่งเป็น ๒ เขต หรือหลายเขต เรียกชื่อตำบลว่า "ตำบล………..เขต ๑" "ตำบล…………..เขต ๒" ก็ได้ แต่เขตหนึ่ง ๆ จะต้องมีวัดไม่ต่ำกว่า ๕ วัด

             ตำบลทางคณะสงฆ์แต่ละตำบลให้มีเจ้าคณะตำบลจำนวนตำบลละ ๑ รูป ถ้าตำบลใดมี ๘ วัดขึ้นไป ให้มีรองเจ้าคณะตำบลได้ ๑ รูป

             การรวมหลายตำบลเป็นตำบลเดียว ถ้ารวม ๒ ตำบล ให้คงชื่อไว้ทั้ง ๒ ตำบล ถ้ารวม ๓ ตำบลขึ้นไป ให้คงชื่อไว้ตำบลเดียว

การกำหนดเขตตำบลดังกล่าวให้ยึดหลัก ๔ อย่าง คือ
             ๑. ต้องมีวัดตำบลละไม่ต่ำกว่า ๕ วัด
             ๒. เจ้าคณะอำเภอเป็นผู้กำหนดเขตจำนวนและชื่อตำบลเสนอ
             ๓. เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้ประกาศโดยอนุมัติของเจ้าคณะภาค
             ๔. ให้ถือเป็นเขตปกครองเมื่อประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้ว

ตัวอย่างหนังสือขอกำหนด

ที่……../………   สำนักงานเจ้าคณะอำเภอ…………
วัด…………………………
 
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗

เรื่อง ขอกำหนดเขตปกครองตำบล
กราบเรียน เจ้าคณะจังหวัด……………
สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาประกาศกระทรวงมหาดไทย จำนวน ๑ ฉบับ

             ด้วยอำเภอพิจารณาเห็นว่า สมควรได้มีการกำหนดเขตปกครองตำบลใหม่ ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อยดีงาม และเหมาะสม ดังต่อไปนี้
             ๑. โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศแยกหมู่บ้านบางหมู่ในเขตตำบล…..…รวมตั้งเป็นตำบลใหม่ เรียกชื่อว่า "ตำบล……………." ดังสำเนาประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ถวายมาพร้อมนี้ โดยที่ตำบลเดิมและตำบลใหม่ มีวัดครบ ๕ วัดทุกตำบล ควรได้กำหนดเขตปกครองตำบลโดยอนุโลมตามเขตตำบลแห่งราชอาณาจักร โดยรวมวัดในเขตตำบล…... ซึ่งแต่เดิมอยู่ในเขตตำบล………… ตั้งเป็นตำบลใหม่ ซึ่งเรียกว่า "ตำบล…………." อนุโลมตามตำบลแห่งราชอาณาจักร มี ๖ วัด คือ
                     ๑) วัด……………………. ๒) วัด……………….
                     ๓) วัด……………………. ๔) วัด……………….
                     ๕) วัด……………………. ๕) วัด……………….
             อนึ่ง ตำบล……………………..ซึ่งมีเขตเปลี่ยนแปลง คงมี ๕ วัด คือ
                     ๑) วัด……………………. ๒) วัด………………
             ๒. ตำบล………….มีวัดไม่ถึง ๕ วัด เห็นควรให้รวมขึ้นในเขตปกครองของเจ้าคณะตำบล…………….. ซึ่งรวมแล้ว คงมี ๗ วัด คือ
                     ๑) วัด…………………….. ๒) วัด………………..
             ๓. ตำบล……………………กับตำบล………………..มีวัดตำบลละไม่ถึง ๕ วัด ควรรวมเข้าเป็นตำบลเดียวกัน เรียกว่า "ตำบล…………….." มี…………..วัด คือ
                     ๑) วัด…………………… ๒) วัด………………….
             ๔. ตำบล……………….…ตำบล………………..กับตำบล……….…………..มีวัดตำบลละไม่ถึง ๕ วัด เห็นควรรวมเป็นเขตปกครองเดียวกัน เรียกชื่อว่า "ตำบล……….แล้ว แบ่งเป็น……………เขต ดังนี้
                     ๑) ตำบล…………………..เขต ๑ มี……………วัด คือ
                      (ก) วัด……………. (ข) วัด…………..
                     ๒) ตำบล………………….เขต ๒ มี……………วัด คือ
                     (ก) วัด…………… (ข) วัด………………….
             ๕. ตำบล…………….มีวัดครบ ๕ วัด แต่เพื่อความเหมาะสมและสะดวกในทางปกครอง เห็นควรให้รวมขึ้นในเขตปกครองเจ้าคณะตำบล……………เมื่อรวมแล้วคงมี ๑๐ วัด คือ
                     ๑) วัด………………………. ๒) วัด………………………
             ๖. ตำบล……………..มี ๑๑ วัด เพื่อสะดวกในทางปกครอง เห็นควรให้วัด…………… ซึ่งเป็นวัดที่ ๑๑ รวมขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบล………………..เมื่อรวมแล้ว คงมี……….วัด คือ
                     ๑) วัด………………. ๒) วัด…………………..
             ๗. ตำบล………………..มี ๑๐ วัด เพื่อสะดวกแก่การปกครองและเพื่อความเจริญแห่งคณะสงฆ์ ควรให้แบ่งเป็น ๒ เขต ดังนี้
                     ๑) ตำบล………….. เขต ๑ มี ๕ วัด คือ
                                  (๑) วัด………………. (๒) วัด………………
                     ๒) ตำบล…………..เขต ๒ มี ๕ วัด คือ
                                  (๑) วัด………………. (๒) วัด………………
             ฉะนั้น จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป.

กราบเรียนมาด้วยความเคารพอย่างสูง

…………………………….
(พระ……………………..)
เจ้าคณะอำเภอ……………..

หมายเหตุ.-
             - แบบนี้ทำพอเป็นตัวอย่าง ตาม
             -ใน ๑) ใช้สำหรับการกำหนดโดยอนุโลมตามข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๔ และในการกำหนดโดยอนุโลมนี้ อาจใช้เหตุผลอย่างอื่นตามลักษณะของตำบล เช่น แต่เดิมเป็น ๒ ตำบลมานานแล้ว แต่วัดไม่เพียงพอ ครั้นภายหลังมีวัดเพิ่มขึ้นควรใช้ว่า "โดยที่ตำบล…………..และตำบล………..เดิมมีวัดตำบลละ ๔ วัด บัดนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัดเพิ่มขึ้นตำบลละ ๑ วัด เป็นเหตุให้แต่ละตำบลมีวัดครบ ๕ วัด ควรได้กำหนดเขตปกครองตำบลใหม่โดยอนุโลมตามตำบลแห่งราชอาณาจักร คือ……………….."
             -ใน ๒) ใช้สำหรับรวมตำบลที่มีวัดต่ำกว่า ๕ วัด ขึ้นในการปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่น (ข้อ ๔ วรรค ๑)
             -ใน ๓) ใช้สำหรับรวม ๒ ตำบลเข้าด้วยกัน (ระเบียบข้อ ๔ วรรค ๒)
             -ใน ๔) ใช้สำหรับรวม ๓ ตำบลเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งเขต (ระเบียบข้อ ๕)
             -ใน ๕) ใช้สำหรับรวมตำบลที่มีวัดครบ ๕ วัด ขึ้นในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่น
             -ใน ๖) ใช้สำหรับแยกวัดที่เกิน ๑๐ ไปรวมในปกครองของเจ้าคณะตำบลอื่น
             -ใน ๗) ใช้สำหรับแยกตำบลที่มีวัด ๑๐ วัด เป็น ๒ เขต หรือหลายเขต
(ดูข้อกำหนด ต้องศึกษาว่า ลักษณะอย่างไรควรใช้วิธีใด ส่วนข้อที่ไม่ต้องการใช้ ก็ตัดออกเสีย)

------------------------------------------------------------------

การปกครองคณะสงฆ์ไทยสมัยต่างๆ 

๑. การปกครองคณะสงฆ์สมัยพุทธกาล
การปกครองระยะต้นๆ พระพุทธเจ้าทรงกระทำด้วยพระองค์เองทุกอย่าง พอระยะต่อมาให้พระสาวกช่วยกระทำบ้าง เป็นการแบ่งเบาภาระและฝึกหมู่สาวก เพื่อที่จะรับช่วงงานจากพระองค์ ครั้นต่อมาตอนใกล้ปรินิพพานทรงมอบความเป็นใหญ่ให้หมู่พระสงฆ์สาวก ส่วนพระองค์ก็ทรงดูแลทั่วไปและทำงานด้านการสอนอย่างเดียว เป็นทำนอง “บิดาอบรมบุตรธิดาให้รู้จักการงาน” บั้นปลายชีวิตก็มอบทรัพย์สมบัติให้

๒. ตอนหลังสมัยพุทธกาล
คณะสงฆ์แตกแยกออกเป็นหลายคณะ พระพุทธเจ้าทรงแนะนำหลักการป้องกันการวิวาทไว้ เช่น หลักแห่งสามัคคีธรรม และหลักแห่งการระงับอธิกรณ์ของสงฆ์ เป็นต้น
หลักแห่งการป้องกันความแตกแยกนั้น พระองค์ทรงแนะไว้ ๔ ประการ คือ

๑. ให้มีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรม ในเพื่อนบรรพชิตทั้งที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๒. ให้มีความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อต่อกัน ไม่ตระหนี่ในปัจจัย ๔ แบ่งปันกันใช้ตามที่มี
๓. ให้มีความเสมอกันโดยศีล
๔. ให้มีความเสมอกันโดยทิฏฐิ 

๓. การปกครองคณะสงฆ์ไทยสมัยสุโขทัย
".....พ่อขุนรามคำแหง กระทำโอยทาน แก้มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรหลวก(รู้) กว่าปู่ครูในเมืองนี้ทุกคน ลูกแต่เมืองสีธรรมราชมา.........." เป็นต้น
พระพุทธศาสนาสมัยสุโขทัย เป็นนิกายมหายาน เพราะสืบทอดมาจากสมัยขอมมีอำนาจ ครั้นถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงพระองค์ขยายอำนาจไปทางใต้ ทรงเลื่อมใสในพระเถระนิกายเถรวาท ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากลังกา จึงทรงอาราธนาพระเถระจากเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อมาปรับปรุงพุทธศาสนาและพระสงฆ์ในสุโขทัย เมื่อคณะสงฆ์ทางใต้ขึ้นไปปรับปรุง คณะสงฆ์สุโขทัยจึงหันกลับมาถือนิกายหินยาน หรือเถรวาทมากขึ้น 

คณะสงฆ์สุโขทัยแบ่งออกเป็น ๒ คณะใหญ่ๆ คือ

๑. คามวาสี ( นิกายเดิม) เป็นพระที่มีอารามอยู่ใกล้บ้านใกล้เมืองหรืออยู่ในบ้านในเมือง เล่าเรียนคันถธุระ(ศึกษาพระไตรปิฎก)

๒. อรัญญวาสี มาจากลังกา ทางลังกานิยมเรียกคณะนี้ว่า "วนวาสี" แปลว่า "ผู้อยู่ป่า" ปรากฏในศิลาจารึกว่า พระเจ้าแผ่นดินซึ่งครองกรุงสุโขทัย

ทรงจัดให้พระมหาสวามีสังฆราช ที่มาจากลังกาอยู่ในอรัญญิกประเทศ คือ อัมพวันวนาราม วัดสวนมะม่วง นอกพระนครเป็นพระอยู่ในอารามป่า เล่าเรียนวิปัสสนา 

ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์
๑. การปกครองคณะสงฆ์ มิได้แบ่งการปกครอง เป็นการปกครองร่วมกันบังคับบัญชาตามลำดับชั้น
๒. พระสังฆราช เป็นตำแหน่งสูงสุดของการปกครองคณะสงฆ์
๓. "ปู่" คงจะเป็นตำแหน่งรองจากสังฆราช(ปัจจุบันเรียกว่า พระครู)
๔. "มหาเถระ" คงได้แก่ พระผู้มีพรรษา ผู้คงแก่เรียน รู้ธรรมวินัยทั่วไป แต่มิใช่ตำแหน่งที่กษัตริย์แต่งตั้ง อาจจะมีตำแหน่งทางการปกครองเป็นเจ้าคณะหมู่ หมวด หรือสมภารวัดก็ได้
๕. สมัยสุโขทัยตอนปลายได้มีประเพณีพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์คงรับมาจากลังกา
๖. ในสมัยสุโทัยบางครั้งเรียก "คณะคามวาสี"ว่า ฝ่ายขวา "คณะอรัญญวาสี" ว่า ฝ่าย ซ้าย แต่ชื่อคณะคามวาสีและคณะอรัญญวาสีคงมีใช้ต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา
เข้าใจว่า "ตำแหน่งสังฆราช" กับ "ปู่ครู" เป็นสมณศักดิ์ในสมัยนั้น สุโขทัยมีสังฆราชหลายพระองค์แต่การปกครองไม่มีเอกภาพเหมือนกรุงรัตนโกสินทร์เพราะหัวเมืองใหญ่ที่เป็นประเทศราชเจ้าเมืองก็ตั้งสังฆราชเป็นประมุขในแต่ละเมืองเป็นประมุขในสมัยหลังปรากฏเรียกตำแหน่งพระเถระเจ้าคณะเมืองว่า "สังฆราชา" อยู่หลายแห่ง สังฆราชจึงมิใช่มีองค์เดียว ส่วนปู่ครูนั้น เมืองใหญ่ๆ อาจมีหลายองค์ ถ้าเมืองเล็กมีองค์เดียว ขึ้นตรงต่อสังฆราช


๔. การปกครองคณะสงฆ์สมัยอยุธยา
ยังคงถือแบบอย่างสุโขทัย แต่เพิ่มขึ้นมาอีกคณะคือ "คณะป่าแก้ว" สืบเนื่องจากตามตำนานโยนก กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.๑๙๖๕ พระเถระชาวเชียงใหม่ ๗ รูป พระเถระชาวอยุธยา ๒ รูปและพระเถระชาวเขมร ๑ รูป เดินทางไปลังกาและได้บวชแปลงเป็นสิงหลนิกายในสีมาน้ำ แม่น้ำกัลยาณี ในสำนักพระวันรัตนมหาเถระ เมื่อบวชใหม่แล้วก็ปฏิบัติอยู่ในลังกานานหลายปีจึงเดินทางกลับ ขากลับนิมนต์พระเถรชาวลังการมาด้วย ๒ รูป เมื่อถึงอยุธยาแล้วก็แยกย้ายกันไปเผยแผ่ ตั้งนิกายขึ้นมาใหม่เรียกว่า "ป่าแก้ว" (วนรัตน = ป่าแก้ว) คณะนี้ยังปรากฏที่นครศรีธรรมราชและพัทลุง เช่น วัดเขียนคณะป่าแก้ว เป็นต้น คณะนี้ปฏิบัติเคร่ง ประชาชนจึงสนับสนุนมาก
พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา(พิมพ์ พ.ศ.๒๔๕๕) ว่า ".....มูลเหตุแห่งการแยกคณะสงฆ์ออกเป็น ๒ เกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ราว พ.ศ.๒๔๒๗ พระองค์ทรงระลึกถึงพระมหาเถรคันฉ่อง (ชาวมอญ) จึงโปรดให้เป็นสังฆราช ครองวัดมหาธาตุ มีพระทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศญาณฯ ครั้งนั้นคณะสงฆ์แยกเป็ย ๒ คณะ คือ คณะเหนือให้ขึ้นต่อสมเด็จพระอริยวงศญาณฯ คณะใต้ขึ้นต่อสมเด็จพระวันรัตน์(สังฆราชาเดิมคือ คณะป่าแก้ว)

ผู้รู้เห็นว่า พระมหาเถรคันฉ่อง เป็นพระมอญ แม้จะมีความดีมากแต่คงไม้ได้เป็นใหญ่ถึงขั้นสังฆราช อาจปกครองเฉพาะพระชาวมอญเท่านั้น คณสงฆ์นั้นสันิษฐานว่าน่าจะแบ่งออกเป็น ๓ คณะ คือ

         ๑. คณะคามวาสีฝ่ายขวา
         ๒. คณะอรัญวาสี
         ๓. คณะคามวาสีฝ่ายซ้าย


ลักษณะการปกครองของคณะสงฆ์
๑. สมณศักดิ์ในสมัยอยุธยาเพิ่มเป็น ๓ ขั้น คือสังฆราช กับ พระครู ยังเอาแบบสุโขทัย เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช บังคับบัญชาคณะสงฆ์ทั่วอาณาจักร แบ่งการปกครองดังนี้
          ๑.๑ สมเด็จพระสังฆราช ว่าการทั่วราชอาณาจักร
          ๑.๒ พระสังฆราช ว่าการหัวเมืองใหญ่ๆ
          ๑.๓ พระครู ว่าการหัวเมืองเล็ก หรือในราชธานี
ต่อมาจึงยกพระครูให้สูงเท่ากับพระสังฆราชหัวเมือง ที่เราเรียกว่า "พระราชาคณะ" อยู่ทุกวันนี้

๒. คำว่า "สมเด็จ" เป็นภาษาเขมรที่นำมาใช้ ตำแหน่งสมเด็จในสมัยพระนารายณ์มหาราช ปรากฏในหนังสือของลาลูแบร์ "เรื่องเมืองไทย" ว่า พระวันรัตน์เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มหาสังฆปรินายก ปกครองคณะสงฆ์ทั้งปวง
แต่ในหนังสือเก่าๆ มีชื่อ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี ส่วนสมเด็จพระวันรัตน์ เป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี รูปใดมีพรรษามากรูปนั้นก็เป็นสมเด็จพระสังฆราช


๕. การปกครองพระสงฆ์ในสมัยกรุงธนบุรี
อาณาจักรสมัยกรุงธนบุรีตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะถูกพม่าทำลาย หลังจากพระเจ้ากรุงธนบุรีรวบรวมอำนาจได้แล้ว ก็มิได้ปรากฏว่า ได้พระราชาคณะครั้งกรุงเก่ามาเป็นประมุขสงฆ์พระที่มาเป็นสังฆราช ก็เป็นเพียงพระอาจารย์ดี วัดประดู่ องค์ที่ ๒ คือ พระอาจารย์ศรี วัดพน้ญเชิง ซึ่งมิใช่พระราชาคณะ รูปที่ ๓พระสังฆราชชื่น ซึ่งคงเป็นพระที่ทรงสมณะเก่าสมัยกรุงอยุธยาพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เชิญมาจากเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก เดิมคงเป็นพระครูสุธรรมธีรราชมหามุนี เจ้าคณะเมืองระยอง แต่ภายหลัง ในรัชกาลที่ ๑ ถูกลดยศลงจากพระสังฆราชลงมาเป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี ว่าที่พระวันรัตน์

สรุป การปกครองสงฆ์ยุคนี้เอาแบบอย่างมาจากอยุธยา และในตอนกลางรัชกาล การคณะสงฆ์เจริญมาก แต่ตามพงศาวดารกล่าวว่า ในตอนปลายรัชกาลก็เสื่อมลง เพราะพระเจ้ากรุงธนบุรีสำคัญผิดไป แต่ก็นับว่าพระองค์ก็ทรงได้กอบกู้ฐานะพระสงฆ์ไว้เท่าๆกับการกอบกู้เอกราชของชาติไว้นั้นเอง

๖. การปกครองคณะสงฆ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

๖.๑ รัชกาลที่ ๑ ทรงปรับปรุงคณะสงฆ์พอสรุปได้ดังนี้
(๑) ให้พระภิกษุบางรูปลาสิกขา เพราะทรงปฏิบัติไม่เหมาะในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และโปรดเกล้าให้ตั้งแต่งใหม่หมด สมเด็จพระสังฆราช(ศรี) วัดบางหว้าใหญ่ ซึ่งถูกถอดยศในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพรสังฆราชอีก นับว่าเป็นสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(๒) รัชกาลที่ ๑ ได้ออกกฏหมายสงฆ์ เพิ่มขึ้นจากวินัยสงฆ์อีกด้วย กฏหมายที่ออกมามี ๑๐ ฉบับ ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ ฉบับสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๔ นับเป็นกษัตริย์องค์แรกที่ออกกฏหมายคณะสงฆ์ เนื่องจากอยู่ระหว่างการฟื้นฟูบ้านเมืองและเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
(๓) สมณศักดิ์ของพระสงฆ์ แบ่งออกเป็น ๒ อันดับ คือ พระราชาคณะผู้ใหญ่ และพระราชาคณะสามัญ พระราชาคณะผู้ใหญ่กำหนดไว้ ๔ ชั้น คือ
      ๓.๑ สมเด็จพระสังฆราช ซ้าย-ขวาได้แก่สมเด็จพระอริยวงศ์และสมเด็จพระวันรัตน์
      ๓.๒ พระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่อรัญวาสี พระพุทธโฆษาจารย์ ผู้ช่วยสังฆปรินายก พระพิมลธรรม เจ้าคณะรองฝ่ายซ้าย พระธรรมวโรดม เจ้าคณะรองฝ่ายขวา
      ๓.๓ พระพรหมมุนี พระธรรมเจดีย์ คณะเหนือ พระธรรมไตรโลก คณะใต้
      ๓.๔ พระเทพกวี คณะเหนือ พระเทพมุนี คณะใต้ พระญาณไตรโลก เจ้าคณะรองอรัญวาสี นอกจากนี้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญทั้งหมดคือ พระเทพโมลี พระธรรมโกษา พระโพธิวงศ์ เป็นต้น แต่พระโพธิวงศ์ ยกเป็นชั้นเทพในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือรัชกาลที่ ๑ ส่วนพระราชาคณะยังไม่มี


๖.๒ รัชกาลที่ ๒
คณะสงฆ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง สมณศักดิ์ที่น่าสนใจ คือ รัชกาลที่ ๒ ทรงตั้งพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าวาสุกรี ซึ่งผนวชอยู่ที่วัดพระเชตุพนเป็น "พระองค์เจ้าพระราชาคณะ กรมหมื่นนุชิตชิโนรสศรีสุคตขัตติยวงศ์" แต่มีสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ


๖.๓ รัชกาลที่ ๓
ทรงปฏิรูปคณะสงฆ์ขึ้น เหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับคณะสงฆ์มีดังนี้
(๑)โปรดให้รวมพระอารามหลวงและอารามราษฎร์ในกรุงเข้าเป็นคณะหนึ่งต่างหาก เรียกว่า "คณะกลาง" ขึ้นในกรมหมื่นนุชิตชิโนรส
(๒) คณะสงฆ์เพิ่มขึ้นมี ๔ คณะ คือ
       ๒.๑ คณะเหนือ
       ๒.๒ คณะใต้
       ๒.๓ คณะกลาง
       ๒.๔ คณะอารัญวาสี
(๓) มีคณะใหม่เกิดขึ้นในรัชกาลนี้อีก คือ คณะธรรมยุติ ครั้งแรกจำนวนน้อยอาศัยอยู่กับคณะกลาง

๖.๔ รัชกาลที่ ๔

คณะสงฆ์เริ่มดีขึ้น จำนวนพระสงฆ์เริ่มมากขึ้นตั้งแต่คร้งรัชกาลที่ ๓ ทั้งยังมีคณะใหม่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นทางการคือ คณะธรรมยุติและคณะอรัญวาสีเดิมกลับหายไปไม่ทราบชัดว่าหายไปไหน ตอนเริ่มรัชกาลยังมีอยู่ คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศเป็นเจ้าคณะ แต่ชื่ออรัญวาสีค่อยๆ หายไปในภายหลัง ด้านสมณศักดิ์รัชกาลนี้เพิ่มมากขึ้น และทรงเห็นว่า กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงคุณธรรมยิ่งกว่าสังฆนายกอื่นๆ จึงโปรดตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก สถาปนาขึ้นเป็น "กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส" เป็นประธานสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร และทรงสถาปนาพระพิมลธรรม (อู่) วัดสุทัศน์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณอนัโรมตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๓ ที่จะให้เป็นสังฆราช แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นสังฆราช เป็นเพียงเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือเท่านั้น และทรงยกพระพุทธโฆษาจารย์(ฉิม) เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ด้วย ส่วนการปกครองหัวเมืองแต่เดิมตำแหน่งเป็นพระสังฆราชา รัชกาลที่ ๔ โปรดให้เปลี่ยนเป็น สังฆปาโมกข์ มียศเทียบเท่าพระครู แต่บางเมืองก็มียศเท่าพระราชาคณะ ใช้ราชทินนามเหมือนกรุงเทพฯ

๖.๕ สมัยรัชกาลที่ ๕
เป็นระยะที่กิจการทุกส่วนของประเทศได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากระบบเก่าสู่ระบบใหม่ ด้านศาสนาก็เช่นเดียวกัน มีการปฏิรูปขึ้นในทุกๆ ด้านเวลานั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ได้ทรงช่วยในด้านการคณะสงฆ์เป็นอย่างดี
ด้านสมณศักดิ์ มีที่น่าสนใจคือ ในรัชกาลนี้ได้เพิ่มสมณศักดิ์ชั้น "ราช" ขึ้นใหม่ ครั้นก่อนพระราชาคณะมี ๔ ชั้น คือ พระราชาคณะสามัญ ๑ ชั้น เมื่อเพิ่มชั้นราชขึ้น จึงมี ๕ ชั้น ส่วนชั้นสามัญกลายเป็นชั้นที่ ๖ จึงเรียงตามลำดับใหม่ได้ดังนี้

          ๑. ชั้นสมเด็จ
          ๒. ชั้นรองสมเด็จ
          ๓. ชั้นธรรม
          ๔. ชั้นเทพ
          ๕. ชั้นราช
           ๖. ชั้นเทพ
และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะของบางตำแหน่ง เช่นเลื่อนพระพรหมมุนีจากชั้น ๓ ขึ้นเป็นชั้น ๒ เลื่อนพระธรรมโกษาจารย์จากชั้นสามัญเป็นชั้นที่ ๓ เป็นต้น เรื่องสำคัญในวงการสงฆ์ คือการมีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์อย่างจริงจังขึ้น ซึ่งควรจะรู้โดยละเอียดไว้ดังนี้

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑
ก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ เราทราบมาแล้วว่าคณะสงฆ์จัดเป็น ๓ นิกาย คือ
          ๑. มหานิกาย
          ๒. ธรรมยุติกนิกาย
          ๓. รามัญนิกาย
ทั้งหมดนี้สืบมาจากทักษิณนิกายหรือเถรวาท แต่ก็มีอุตรนิกายหรือมหายานอยู่บ้างคือ พระญวนกับพระจีนฝ่ายหลังนี้มิได้รับการยกย่องเป็นพระภิกษุสงฆ์ คงถือว่าเป็นนักพรตเท่านั้น มาถึงรัชกาลที่ ๕ จึงทรงตั้งหัวหน้าฝ่ายญวนเป็นพระครู และฝ่ายจีน เป็นพระอาจารย์ ก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ยังคงมี ๔ คณะเหมือนรัชกาลที่ ๓,๔ คือ
๑. คณะเหนือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(แสง) วัดราชบูรณะ เป็นเจ้าคณะใหญ่ โดยมากรวมเอาวัดทางเหนือมาขึ้นกับคณะนี้ และคณะนี้ก็ขึ้นตรงต่อมหาดไทย
๒. คณะใต้ สมเด็จพระวันรัตน์ (ฑิต) วัดมหาธาตุเป็นเจ้าคณะใหญ่ รวมเอาวัดทางใต้มาขึ้นกับคณะนี้ และขึ้นต่อกรมพระกลาโหมและกรมท่า
๓. คณะกลาง สมเด็จพระพำฒาจารย์ (หม่อนเจ้าสังฆฑัต) วัดพระเชตุพน เป็นเจ้าคณะใหญ่ รงมเอาวัดในส่วนกลางและนครเขื่อนขันธ์ (อ.พระประแดง) มาขึ้นในคณะนี้ แต่ที่ปรากฏจริงวัดในส่วนกลางไปขึ้นต่อคณะเหนือก็มี คณะใต้ก็มีสับสนอยู่
๔. คณะธรรมยุติ เวลานั้นยังไม่มีสมเด็จเจ้าคณะใหญ่ มีพระศาสนโสภณเป็นเจ้าคณะรอง รวมเอาวัดธรรมยุติทั่วราชอาณาจักรขึ้นคณะนี้ ผู้ปกครองต่อมาเป็นพระราชาคณะที่เป็นเจ้าเสียส่วนมากก สมเด็จเจ้าคณะใหญ่ของคณะนี้มีฐานานุกรมเป็นพิเศษกว่าคณะอื่นๆ

การปกครองแบ่งเป็นคณะ ๔ คณะนี้ที่น่าสนใจก็คือ ม่ทราบเหตุใดจึงแบ่งเช่นนี้เข้าใจว่า เปลี่ยนมาจากคณะคามวาสีฝ่ายซ้าย คณะอรัญวาสีและคณะคามวาสีฝ่ายขวา ครั้งกรุงเก่าคือ

             - คณะเหนือ = คณะคามวาสีฝ่ายซ้าย
             - คณะใต้    = คณะคามวาสีฝ่ายขวา
             - คณะอรัญวาสี
             - คณะกลาง
ทั้งหมดนี้มีมาแล้วครั้งรัชกาลที่ ๓ ต่อมาคณะอรัญวาสีค่อยๆ หายไปรวมกับคณะคามวาสี จึงเหลือเพียง ๓ คณะ ครั้นต่อมาจึงมีคณะธรรมยุติขึ้นจึงเป็น ๔ คณะอีก

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ (ร.ศ.๑๒๑) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ตรา พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติธรมวินัย ให้สอดคล้องกับการปกครองบ้านเมือง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้มีเจ้าคณะใหญ่อีก ๔ คณะ รวมเป็น ๘ รูป ทั้ง ๘ รูปนี้เป็น "กรรมการมหาเถรสมาคม" ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางกานปกครองคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้มีสมเด็จพระสังฆราชองค์เดียวเป็นผู้บัญชาเด็ดขาด เป็นประธานของมหาเถรสมาคม การปกครองแบ่งออกเป็นมณฑล เมือง แขวง และวัด ทั้งหมดนี้แบ่งกันขึ้นตามคณะใหญ่ทั้ง ๔ พ.ร.บ.นี้มี ๔๕ มาตรา และให้เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือ ร.ม.ต.กระทรวงศึกษา) รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

สำหรับคณะธรรมยุตินั้น เดิมรวมอยู่กับคณะกลางและได้แยกเป็นคณะต่างหาก ครั้งแรกนั้นไม่มีเจ้าคณะใหญ่ พ.ศ. ๒๓๙๓ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ จึงได้ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่ ต่อมาก็คือ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส


๖.๖ สมัยรัชกาลที่ ๖-๗
การคณะสงฆ์ดำเนินตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ตลอด แต่ตอนปลายรัชกาลที่ ๗ คณะสงฆ์กลุ่มหนึ่ง แสดงสังฆมติจะให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ การเคลื่อนไหวขยายวงกว้างออกไป จนต้องมีการเปลี่ยนแปลงในครั้งรัชกาลที่ ๘


๖.๗ สมัยรัชกาลที่ ๘

คณะรัฐบาลปฏิวัติ ซึ่งมีพ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็พยายามแก้ไข พ.ร.บ.เก่า และต้องการจะรวมนิกายทั้ง ๒ คือมหานิกายกับธรรมยุตินิกายเข้าด้วยกัน เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๘๔ พระยาพหลฯ ได้อุปสมบท ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรวมนิกาย การอุปสมบทครั้งนี้นิมนต์พระนั่งอันดับ ๕๐ รูป มีพระมหานิกาย ๓๔ รูป พระธรรมยุติ ๑๕ พระรามัญ ๑ เมื่อพระยาพหลฯ ลาสิกขาบทไปแล้ว คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติก็ครองวัดมหาธาตุเสีย การรวมนิกายจึงไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ความพยายามรวมนิกายก็มีผลบ้าง คือ สภาผู้แทนได้ออกกฎหมายสงฆ์เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๘๔ นั่นคือ " พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔" มี ๖๐ มาตรา ไม่มีมาตราใดแบ่งแยกการปกครอง พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกอบด้วย คณะสังฆมนตรี สังฆสภา พระธรรมธร(อัยการ) พระวินัยธร(ผู้พิพากษา) เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส อำนาจสูงสุดอยู่ที่ สมเด็จพระสังฆราช นอกนี้ยังแบ่งส่วนในคณะสังฆมนตรีออกเป็นองค์การใหญ่ๆ ๔ องค์การ คือ
          ๑. องค์การปกครอง ทำหน้าที่ฝ่ายปกครอง
          ๒. องค์การศึกษา ทำหน้าที่ฝ่ายการศึกษา
          ๓. องค์การเผยแผ่ ทำหน้าที่เผยแผ่อบรม
          ๔. องค์การสาธารณูปการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการก่อสร้างบูรณะ
พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นฉบับประชาธิปไตย คณะสงฆ์สอดคล้องกับบ้านเมืองทุกประการ ด้านการศึกษาสมัยนี้เจริญมาก เพราะองค์การศึกษาดูแลควบคุมตั้งแต่ส่วนกลางไปถึงส่วนภูมิภาค ด้านอื่นๆ ก็ได้รับการเอาใจใส่เช่นเดียวกัน

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ สมัยที่พณฯ จอมพล ส. ธนรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี(รัฐบาลปฏิวัติ) ต้องการให้ใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์เป็นไปอย่างรวดเร็วทันการ รัฐบาลจึงยกเลิก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ๒๔๘๔ เสีย และให้ออก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ แทนโดยให้อำนาจเด็ดขาดกับฝ่ายปกครอง(เจ้าหน้าที่บ้านเมือง) และพระปกครองมากขึ้น แต่ด้านการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมนั้นด้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จึงปรากฏว่าการศึกษาในระยะหลังนี้ไม่ก้าวหน้าเหมือนสมัย พ.ร.บ.๒๔๘๔

๖.๘ สมัยรัชกาลที่ ๙ (พ.ร.บ.๒๕๐๕)
สมเด็จพระสังฆราช เป็นประมุข มหาเถรสมาคม แบ่งการปกครองออกเป็น ๕ คือ หนเหนือ หนใต้ หนกลางหนตะวันออก และคณะธรรมยุติและแยกการปกครองออกเป็นภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และเจ้าอาวาส
 
 ข้อมูลจาก

http://www.mahathera.org/consistory.php

http://www.mcu.ac.th/site/bud06.php
http://www.songbr.org/main/god/ket_pokkrong.html 

http://www.snr.ac.th/sakyaputto/sangka.htm

http://budsakaeo.org/bud_admin.htm

 





view