สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ อริยสัจ ๔ โลกธรรม ๘ พรหมวิหาร ๔ สังคหวัตถู ๔

ศีล ๕  ศีล ๘  ศีล ๑๐  ศีล ๒๒๗  อริยสัจ ๔  โลกธรรม ๘  พรหมวิหาร ๔  สังคหวัตถู ๔

ทสกะ คือ หมวด ๑๐

อกุศลกรรมบถ ๑๐
ความหมาย ประเภทธรรม- ช่องทางแห่งพฤติกรรมชั่ว นำชีวิตเสื่อมและโทษวิบัติ ก่อทุกข์แก่ผู้อื่น เป็นทางที่ไม่ควรดำเนิน

กายกรรม ทำด้วยพลังกาย ๓ อย่าง
1. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์มีชีวิตถึงตาย ทำลายชีพมนุษย์
2. อทินนาทาน โจรกรรม ฉ้อโกงสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาต
3. กาเมสุมิจฉาจาร ล่วงประเวณีทางกาม ผิดจารีตประเพณีและกฏหมาย

วจีกรรม ทำด้วยวาจา ๔ อย่าง
4. มุสาวาท พูดเท็จ สับปลับ หรือโกหกหลอกลวง
5. ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด ยุแหย่ให้แตกสามัคคี
6. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ระคายหู หยาบโลน ด่าเปรย ถากถาง แดกดัน กรรโชก
7. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล ไร้สาระ ไม่เหมาะแก่กาลและสถานที่

มโนกรรม ทำด้วยใจ ๓ อย่าง
8. อภิชฌา โลภอยากได้ของ จิตหมายจะเอาสมบัติของคนอื่นมาครอง
9. พยาบาท ปองร้ายเขา ผู้ใจเจจ็บแก้แค้น ต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้อื่น
10. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม ขัดแย้งกฎธรรมดา

กุศลกรรมบถ ๑๐
ความหมาย ประเภทธรรม- ครรลองแห่งมนุษยธรรมที่สมุบูรณ์ อันเป็นทางบุญ ทุกคนควรดำเนินตาม
*จัดเป็นกายกรรม ๓ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากผิดประเวณี ทางกาม
*จัดเป็นวจีกรรม ๔ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบเว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
*จัดเป็นมโนกรรม ๓ ไม่โลภมากอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายเขา เห็นชอบตามคลองธรรม

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง

ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐ อย่าง

ความหมาย ประเภทธรรม-สิ่งป้องกันภัย อันผู้ถือบวชเป็นบรรพชิต ควรกำหนดในใจเสมอ

อ้างอิง: พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 157 ,158   ข้อ ๘. อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร 
ว่าด้วยธรรมที่บรรพชิตพึงพิจารณาเนื่อง ๆ ๑๐  ประการ   
 
[๔๘]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ธรรม  ๑๐  ประการนี้ 
อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ   ๑๐ ประการเป็นไฉน   คือ  

*บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง  ๆ ว่า เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์  ๑ 

*บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆว่า   การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น  ๑  
*บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆว่า  อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่  ๑   

*บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า  เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีลหรือไม่  ๑   

*บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า  เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีลหรือไม่  ๑ 

*บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า  เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น  ๑ 

*บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า.    เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน  เป็นทายาทของกรรม  มีกรรมเป็นกำเนิด   มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์   มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย    เราจักทำกรรมใดดีหรือชั่วก็ตาม  เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น  ๑ 

*บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๑

*บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่าหรือไม่  ๑
 
*บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า  ญาณทัสสนะวิเศษอันสามารถกำจัดกิเลส  เป็นอริยะ  คือ  อุตตริมนุสสธรรม  อันเราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือหนอ   ที่เป็นเหตุให้เราผู้อันเพื่อนพรหมจรรย์ถามแล้ว จักไม่เป็นผู้เก้อเขินในกาลภายหลัง  ๑ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   ธรรม  ๑๐ ประการนี้แล   อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ.
                           จบอภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตรที่ ๘


นาถกรณธรรม คือ ธรรมทำที่พึ่ง ๑๐ อย่าง
ความหมาย ประเภทธรรม-ธรรมที่พยุงหลักประกันชีวิต และที่พึ่งด้านจิต
1.ศีล กิริยามารยาทเรียบร้อย พูดจาอ่อนหวาน
2. พาหุสัจจะ รู้ศิลปวิทยาทั้งคดีโลกและคดีธรรม
3. กัลยาณมิตตตา คบหาสนิทสนมกับมิตรผู้รู้ดี และประพฤติสุจริต
4. โสวจัสสตา เชื่อฟัง คล้อยตามคำเตือนของผู้ใหญ่
5. กิงกรณีเยสุ ทักขตา ขวนขวายช่วยเพื่อนภิกษุสามเณรทำงานโดยเต็มใจ
6. ธัมมกามตา สนใจแสวงหาความรู้ และตั้งใจปฏิบัติธรรม
7. วิริยารัมภะ พยายามละเลิกความชั่วอย่างเด็ดขาด ทำความดีอย่างเด็ดเดี่ยว
8. สันตุฏฐี ยินดีสิ่งที่ตนหามาได้ พอใจสิ่งที่ตนมี
9. สติ ความมีสติรู้จักกำหนดจดจำ มั่นคง ทรงจำเหตุการณ์ได้แม่นยำ
10. ปัญญา รอบรู้ปรัชญาแห่งชีวิต เข้าถึงธาตุแท้สภาวธรรม


กถาวัตถุ คือ ถ้อยคำที่ควรพูด ๑๐ อย่าง
ความหมาย ประเภทธรรม-เรื่องสำคัญๆ ที่ควรยกขึ้นสนทนา ระหว่างเพื่อนพรหมจรรย์
1. อัปปิจฉกถา พูดโน้มน้าวให้มักน้อย เฉพาะสิ่งจำเป็นแก่ชีวิต
2. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำพาให้สันโดษ ยินดีของที่ให้ พอใจสิ่งที่ตนครอง
3. ปวิเวกถา พูดจูงใจให้เกิดรักสงัดกายวาจา แลสงบใจจากกิเลส
4. อสังสัคคกถา คำแนะนำมิให้คลุกคลีมั่วสุม ปลีกตนอยู่สงัด
5. วิริยารัมภกถา ชักนำให้หมั่นเพียร ขะมักเขม้น เพื่อให้สำเร็จคุณธรรมเบื้องสูง
6. สีลภถา ชักนำให้ประพฤติตจนมีระเบียบเรียบร้อย
7. สมาธิกถา ปลุกปลอบให้อบรมจิตสงบนิ่งและคงที่
8. ปัญญกถา พูดเร่งให้เกิดความฉลาดรอบรู้สภาวธรรมโดยถ่องแท้
9. วิมุตติถา เน้นหนักถึงการทำจิตให้หลุดพ้นจากอำนาจกิเลสตัณหา
10. วิมุตติญาณสัสสนกถา พูดชักนำให้รู้แจ้งเห็นจริงตามที่จิตว่างและสงบ


อนุสสติ คือ อารมณ์ที่ควรระลึก ๑๐ ประการ
ความหมาย ประเภทธรรม-ควบคุมความคิดให้จดจ่อ ต่ออารมณ์ปรากฏเฉพาะหน้าเท่านั้น
1. พุทธานุสสติ น้อมใจถึงคุณลักษณะดีเด่นของพระพุทธเจ้า
2. ธัมมานุสสติ น้อมนึกถึงคุณประโยจน์ และความสำคัญแห่งพระธรรม
3. สังฆานุสสติ น้อใจถึงคุณสมบัติ และเอกลักษณ์ของพระสงฆ์
4. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน
5. จาคานุสสติ ระลึกถึงทานบริจาคที่ตนกระทำแล้ว
6. เทวตานุสสติ ระลึกถึงพฤติกรรม ทำให้คนใจสูงเหมือนเทวดา
7. มรณัสสติ ส่งใจถึงความตาย ที่ตนเองหนีไม่พ้น แล้วไม่ประมาท
8. กายคตาสติ นึกถึงความน่าเกลียด ความไม่งามของส่วนต่างๆ ในร่างกาย
9. อานาปานัสสติ ตั้งสติติดตามลมหายใจเข้าออกทุกระยะ
10. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระนิพพานซึ่งเป็นที่ระงับกิเลสและกองทุก ข์ทั้งมวล

อานิสงส์ หรือประโยชน์
1. เสริมให้จิตมีพลังศรัทธาแน่นและมั่นไม่หวั่นไหว
2. ตื่นตัวไม่มัวเมาในวัยและชีวิต รีบประกอบสมณกิจ และบรรลุมรรคผลสูงขึ้น

 


อปริหานิยธรรม ๗ อย่าง
ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว ชื่อว่า อปริหานิยธรรม มี ๗ อย่าง คือ :
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์.
๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุม ก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันช่วยทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ.
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์ ทรงบัญญัติไว้แล้ว สาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรง บัญญัติไว้.
๔. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือ ภิกษุเหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน.
๕. ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น.
๖. ยินดีในเสนาสนะป่า.
๗. ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อนภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มา สู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่เป็นสุข.
ธรรม ๗ อย่างนี้ ตั้งอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ ความเจริญฝ่ายเดียว

 

ศีล ๒๒๗ ข้อ
 ศีล ๒๒๗ มีความหมายคือ ศีลสำหรับพระภิกษุ ซึ่งพระภิกษุต้องถือศีล ๒๒๗ ข้อ โดยอยู่ในภิกขุปาฏิโมกข์
ศีล ๒๒๗ ข้อที่เป็นวินัยของสงฆ์ ทำผิดถือว่าเป็นอาบัติ สามารถแบ่งออกได้เป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นรุนแรงจนกระทั่งเบาที่สุดได้ดังนี้ ได้แก่

ปาราชิก มี ๔ ข้อ
สังฆาทิเสส มี ๑๓ ข้อ
อนิยต มี ๒ ข้อ (อาบัติที่ไม่แน่ว่าจะปรับข้อไหน)
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ข้อ (อาบัติที่ต้องสละสิ่งของว่าด้วยเรื่องจีวร ไหม บาตร อย่างละ ๑๐ข้อ)
ปาจิตตีย์ มี ๙๒ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่ไม่ต้องสละสิ่งของ)
ปาฏิเทสนียะ มี ๔ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่พึงแสดงคืน) เสขิยะ (ข้อที่ภิกษุพึงศึกษาเรื่องมารยาท) แบ่งเป็น สารูปมี ๒๖ ข้อ (ความเหมาะสมในการเป็นสมณะ)
โภชนปฏิสังยุตต์ มี ๓๐ ข้อ (ว่าด้วยการฉันอาหาร)
ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ มี ๑๖ ข้อ (ว่าด้วยการแสดงธรรม)
ปกิณสถะ มี ๓ ข้อ (เบ็ดเตล็ด)
อธิกรณสมถะ มี ๗ ข้อ (ธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์)
รวมทั้งหมดแล้ว ๒๒๗ ข้อ ผิดข้อใดข้อหนึ่งถือว่าต้องอาบัติ การแสดงอาบัติสามารถกล่าวกับพระภิฏษุรูปอื่นเพื่อเป็นการแสดงตนต่อความผิดได้ แต่ถ้าถึงขั้นปาราชิกก็ต้องสึกอย่างเดียว

ปาราชิก มี ๔ ข้อได้แก่
๑. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)
๒. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย)
๓. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน)หรือแสวงหาศาสตราอันจะนำไปสู่ความตายแก่ร่างกายมนุษย์
๔. กล่าวอวดอุตตริมนุสสธัมม์ อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)

สังฆาทิเสส มี ๑๓ ข้อ ถือเป็นความผิดหากทำสิ่งใดต่อไปนี้
๑.ปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน
๒.เคล้าคลึง จับมือ จับช้องผม ลูบคลำ จับต้องอวัยวะอันใดก็ตามของสตรีเพศ
๓.พูดจาหยาบคาย เกาะแกะสตรีเพศ เกี้ยวพาราสี
๔.การกล่าวถึงคุณในการบำเรอตนด้วยกาม หรือถอยคำพาดพิงเมถุน
๕.ทำตัวเป็นสื่อรัก บอกความต้องการของอีกฝ่ายให้กับหญิงหรือชาย แม้สามีกับภรรยา หรือแม้แต่หญิงขายบริการ
๖.สร้างกุฏิด้วยการขอ
๗.สร้างวิหารใหญ่ โดยพระสงฆ์มิได้กำหนดที่ รุกรานคนอื่น
๘.แกล้งใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
๙.แกล้งสมมุติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
๑๐.ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน
๑๑.เป็นพวกของผู้ที่ทำสงฆ์ให้แตกกัน
๑๒.เป็นผู้ว่ายากสอนยาก และต้องโดนเตือนถึง 3 ครั้ง
๑๓. ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ประจบคฤหัสถ์

อนิยตกัณฑ์ มี ๒ ข้อได้แก่
๑. การนั่งในที่ลับตา มีอาสนะกำบังอยู่กับสตรีเพศ และมีผู้มาเห็นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการอันใดอันหนึ่งกล่าวแก่ภิกษุนั้นได้แก่ ปาราชิกก็ดี สังฆาทิเสสก็ดี หรือปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุนั้นถือว่ามีความผิดตามที่อุบาสกผู้นั้นกล่าว
๒. ในสถานที่ที่ไม่เป็นที่ลับตาเสียทีเดียว แต่เป็นที่ที่จะพูดจาค่อนแคะสตรีเพศได้สองต่อสองกับภิกษุผู้เดียว และมีผู้มาเห็นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้พูดขึ้นด้วยธรรม 2 ประการอันใดอันหนึ่งกล่าวแก่ภิกษุนั้นได้แก่ สังฆาทิเสสก็ดี หรือปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุนั้นถือว่ามีความผิดตามที่อุบาสกผู้นั้นกล่าว

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ มี ๓๐ ข้อ ถือเป็นความผิดได้แก่
๑.เก็บจีวรที่เกินความจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน
๒.อยู่โดยปราศจากจีวรแม้แต่คืนเดียว
๓.เก็บผ้าที่จะทำจีวรไว้เกินกำหนด ๑ เดือน
๔.ใช้ให้ภิกษุณีซักผ้า
๕.รับจีวรจากมือของภิกษุณี
๖.ขอจีวรจากคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ เว้นแต่จีวรหายหรือถูกขโมย
๗.รับจีวรเกินกว่าที่ใช้นุ่ง เมื่อจีวรถูกชิงหรือหายไป
๘.พูดทำนองขอจีวรดีๆ กว่าที่เขากำหนดจะถวายไว้แต่เดิม
๙.พูดให้เขารวมกันซื้อจีวรดีๆ มาถวาย
๑๐.ทวงจีวรจากคนที่รับอาสาเพื่อซื้อจีวรถวายเกินกว่า ๓ ครั้ง
๑๑.หล่อเครื่องปูนั่งที่เจือด้วยไหม
๑๒.หล่อเครื่องปูนั่งด้วยขนเจียม (ขนแพะ แกะ) ดำล้วน
๑๓.ใช้ขนเจียมดำเกิน ๒ ส่วนใน ๔ ส่วน หล่อเครื่องปูนั่ง
๑๔.หล่อเครื่องปูนั่งใหม่ เมื่อของเดิมยังใช้ไม่ถึง ๖ ปี
๑๕.เมื่อหล่อเครื่องปูนั่งใหม่ ให้เอาของเก่าเจือปนลงไปด้วย
๑๖.นำขนเจียมไปด้วยตนเองเกิน ๓ โยชน์ เว้นแต่มีผู้นำไปให้
๑๗.ใช้ภิกษุณีที่ไม่ใช้ญาติทำความสะอาดขนเจียม
๑๘.รับเงินทอง
๑๙.ซื้อขายด้วยเงินทอง
๒๐.ซื้อขายโดยใช้ของแลก
๒๑.เก็บบาตรที่มีใช้เกินความจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน
๒๒.ขอบาตร เมื่อบาตรเป็นแผลไม่เกิน ๕ แห่ง
๒๓.เก็บเภสัช ๕ (เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย)ไว้เกิน ๗ วัน
๒๔.แสวงและทำผ้าอาบน้ำฝนไว้เกินกำหนด ๑ เดือนก่อนหน้าฝน
๒๕.ให้จีวรภิกษุอื่นแล้วชิงคืนในภายหลัง
๒๖.ขอด้ายเอามาทอเป็นจีวร
๒๗.กำหนดให้ช่างทอทำให้ดีขึ้น
๒๘.เก็บผ้าจำนำพรรษา (ผ้าที่ถวายภิกษุเพื่ออยู่พรรษา) เกินกำหนด
๒๙.อยู่ป่าแล้วเก็บจีวรไว้ในบ้านเกิน ๖ คืน
๓๐.น้อมลาภสงฆ์มาเพื่อให้เขาถวายตน

ปาจิตตีย์ มี ๙๒ ข้อได้แก่
๑.ห้ามพูดปด
๒.ห้ามด่า
๓.ห้ามพูดส่อเสียด
๔.ห้ามกล่าวธรรมพร้อมกับผู้ไม่ได้บวชในขณะสอน
๕.ห้ามนอนร่วมกับอนุปสัมบัน(ผู้ไม่ใช้ภิกษุ)เกิน ๓ คืน
๖.ห้ามนอนร่วมกับผู้หญิง
๗.ห้ามแสดงธรรมสองต่อสองกับผู้หญิง
๘.ห้ามบอกคุณวิเศษที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช
๙.ห้ามบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่ผู้มิได้บวช
๑๐.ห้ามขุดดินหรือใช้ให้ขุด
๑๑.ห้ามทำลายต้นไม้
๑๒.ห้ามพูดเฉไฉเมื่อถูกสอบสวน
๑๓.ห้ามติเตียนภิกษุผู้ทำการสงฆ์โดยชอบ
๑๔.ห้ามทิ้งเตียงตั่งของสงฆ์ไว้กลางแจ้ง
๑๕.ห้ามปล่อยที่นอนไว้ ไม่เก็บงำ
๑๖.ห้ามนอนแทรกภิกษุผู้เข้าไปอยู่ก่อน
๑๗.ห้ามฉุดคร่าภิกษุออกจากวิหารของสงฆ์
๑๘.ห้ามนั่งนอนทับเตียงหรือตั่งที่อยู่ชั้นบน
๑๙.ห้ามพอกหลังคาวิหารเกิน ๓ ชั้น
๒๐.ห้ามเอาน้ำมีสัตว์รดหญ้าหรือดิน
๒๑.ห้ามสอนนางภิกษุณีเมื่อมิได้รับมอบหมาย
๒๒.ห้ามสอนนางภิกษุณีตั้งแต่อาทิตย์ตกแล้ว
๒๓.ห้ามไปสอนนางภิกษุณีถึงที่อยู่
๒๔.ห้ามติเตียนภิกษุอื่นว่าสอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่ลาภ ๒๕.ห้ามให้จีวรแก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
๒๖.ห้ามเย็บจีวรให้นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
๒๗.ห้ามเดินทางไกลร่วมกับนางภิกษุณี
๒๘.ห้ามชวนนางภิกษุณีเดินทางเรือร่วมกัน
๒๙.ห้ามฉันอาหารที่นางภิกษุณีไปแนะให้เขาถวาย
๓๐.ห้ามนั่งในที่ลับสองต่อสองกับภิกษุณี
๓๑.ห้ามฉันอาหารในโรงพักเดินทางเกิน ๓ มื้อ
๓๒.ห้ามฉันอาหารรวมกลุ่ม
๓๓.ห้ามรับนิมนต์แล้วไปฉันอาหารที่อื่น
๓๔.ห้ามรับบิณฑบาตเกิน ๓ บาตร
๓๕.ห้ามฉันอีกเมื่อฉันในที่นิมนต์เสร็จแล้ว
๓๖.ห้ามพูดให้ภิกษุที่ฉันแล้วฉันอีกเพื่อจับผิด
๓๗.ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล
๓๘.ห้ามฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน
๓๙.ห้ามขออาหารประณีตมาเพื่อฉันเอง
๔๐.ห้ามฉันอาหารที่มิได้รับประเคน
๔๑.ห้ามยื่นอาหารด้วยมือให้ชีเปลือยและนักบวชอื่นๆ
๔๒.ห้ามชวนภิกษุไปบิณฑบาตด้วยแล้วไล่กลับ
๔๓.ห้ามเข้าไปแทรกแซงในสกุลที่มีคน ๒ คน
๔๔.ห้ามนั่งในที่ลับมีที่กำบังกับมาตุคาม (ผู้หญิง)
๔๕.ห้ามนั่งในที่ลับ (หู) สองต่อสองกับมาตุคาม
๔๖.ห้ามรับนิมนต์แล้วไปที่อื่นไม่บอกลา
๔๗.ห้ามขอของเกินกำหนดเวลาที่เขาอนุญาตไว้
๔๘.ห้ามไปดูกองทัพที่ยกไป
๔๙.ห้ามพักอยู่ในกองทัพเกิน ๓ คืน
๕๐.ห้ามดูเขารบกันเป็นต้น เมื่อไปในกองทัพ
๕๑.ห้ามดื่มสุราเมรัย
๕๒.ห้ามจี้ภิกษุ
๕๓.ห้ามว่ายน้ำเล่น
๕๕.ห้ามหลอกภิกษุให้กลัว
๕๔.ห้ามแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในวินัย
๕๖.ห้ามติดไฟเพื่อผิง
๕๗.ห้ามอาบน้ำบ่อยๆเว้นแต่มีเหตุ
๕๘.ให้ทำเครื่องหมายเครื่องนุ่งห่ม
๕๙.วิกัปจีวรไว้แล้ว (ทำให้เป็นสองเจ้าของ-ให้ยืมใช้) จะใช้ต้องถอนก่อน
๖๐.ห้ามเล่นซ่อนบริขารของภิกษุอื่น
๖๑.ห้ามฆ่าสัตว์
๖๒.ห้ามใช้น้ำมีตัวสัตว์
๖๓.ห้ามรื้อฟื้นอธิกรณ์(คดีความ-ข้อโต้เถียง)ที่ชำระเป็นธรรมแล้ว
๖๔.ห้ามปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น
๖๕.ห้ามบวชบุคคลอายุไม่ถึง ๒๐ ปี
๖๖.ห้ามชวนพ่อค้าผู้หนีภาษีเดินทางร่วมกัน
๖๗.ห้ามชวนผู้หญิงเดินทางร่วมกัน
๖๘.ห้ามกล่าวตู่พระธรรมวินัย (ภิกษุอื่นห้ามและสวดประกาศเกิน ๓ ครั้ง)
๖๙.ห้ามคบภิกษุผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
๗๐.ห้ามคบสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
๗๑.ห้ามพูดไถลเมื่อทำผิดแล้ว
๗๒.ห้ามกล่าวติเตียนสิกขาบท
๗๓.ห้ามพูดแก้ตัวว่า เพิ่งรู้ว่ามีในปาฏิโมกข์
๗๔.ห้ามทำร้ายร่างกายภิกษุ
๗๕.ห้ามเงื้อมือจะทำร้ายภิกษุ
๗๖.ห้ามโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสที่ไม่มีมูล
๗๗.ห้ามก่อความรำคาญแก่ภิกษุอื่น
๗๘.ห้ามแอบฟังความของภิกษุผู้ทะเลาะกัน
๗๙.ให้ฉันทะแล้วห้ามพูดติเตียน
๘๐.ขณะกำลังประชุมสงฆ์ ห้ามลุกไปโดยไม่ให้ฉันทะ
๘๑.ร่วมกับสงฆ์ให้จีวรแก่ภิกษุแล้ว ห้ามติเตียนภายหลัง
๘๒.ห้ามน้อมลาภสงฆ์มาเพื่อบุคคล
๘๓.ห้ามเข้าไปในตำหนักของพระราชา
๘๔.ห้ามเก็บของมีค่าที่ตกอยู่
๘๕.เมื่อจะเข้าบ้านในเวลาวิกาล ต้องบอกลาภิกษุก่อน
๘๖.ห้ามทำกล่องเข็มด้วยกระดูก งา หรือเขาสัตว์
๘๗.ห้ามทำเตียง ตั่งมีเท้าสูงกว่าประมาณ
๘๘.ห้ามทำเตียง ตั่งที่หุ้มด้วยนุ่น
๘๙.ห้ามทำผ้าปูนั่งมีขนาดเกินประมาณ
๙๐.ห้ามทำผ้าปิดฝีมีขนาดเกินประมาณ
๙๑.ห้ามทำผ้าอาบน้ำฝนมีขนาดเกินประมาณ
๙๒.ห้ามทำจีวรมีขนาดเกินประมาณ

ปาฏิเทสนียะ มี ๔ ข้อได้แก่
๑. ห้ามรับของคบเคี้ยว ของฉันจากมือภิกษุณีมาฉัน
๒. ให้ไล่นางภิกษุณีที่มายุ่งให้เขาถวายอาหาร
๓. ห้ามรับอาหารในสกุลที่สงฆ์สมมุติว่าเป็นเสขะ (อริยบุคคล แต่ยังไม่ได้บรรลุเป็นอรหันต์)
๔. ห้ามรับอาหารที่เขาไม่ได้จัดเตรียมไว้ก่อนมาฉันเมื่ออยู่ป่า

เสขิยะ สารูป มี ๒๖ ข้อได้แก่
๑.นุ่งให้เป็นปริมณฑล (ล่างปิดเข่า บนปิดสะดือไม่ห้อยหน้าห้อยหลัง)
๒.ห่มให้เป็นนปริมณฑล (ให้ชายผ้าเสมอกัน)
๓.ปกปิดกายด้วยดีไปในบ้าน
๔.ปกปิดกายด้วยดีนั่งในบ้าน
๕.สำรวมด้วยดีไปในบ้าน
๖.สำรวมด้วยดีนั่งในบ้าน
๗.มีสายตาทอดลงไปในบ้าน (ตาไม่มองโน่นมองนี่)
๘.มีสายตาทอดลงนั่งในบ้าน
๙.ไม่เวิกผ้าไปในบ้าน
๑๐.ไม่เวิกผ้านั่งในบ้าน
๑๑.ไม่หัวเราะดังไปในบ้าน
๑๒.ไม่หัวเราะดังนั่งในบ้าน
๑๓.ไม่พูดเสียงดังไปในบ้าน
๑๔.ไม่พูดเสียงดังนั่งในบ้าน
๑๕.ไม่โคลงกายไปในบ้าน
๑๖.ไม่โคลงกายนั่งในบ้าน
๑๗.ไม่ไกวแขนไปในบ้าน
๑๘.ไม่ไกวแขนนั่งในบ้าน
๑๙.ไม่สั่นศีรษะไปในบ้าน
๒๐.ไม่สั่นศีรษะนั่งในบ้าน
๒๑.ไม่เอามือค้ำกายไปในบ้าน
๒๒.ไม่เอามือค้ำกายนั่งในบ้าน
๒๓.ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะไปในบ้าน
๒๔.ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะนั่งในบ้าน
๒๕.ไม่เดินกระโหย่งเท้า ไปในบ้าน
๒๖.ไม่นั่งรัดเข่าในบ้าน

โภชนปฏิสังยุตต์ มี ๓๐ ข้อคือหลักในการฉันอาหารได้แก่

๑.รับบิณฑบาตด้วยความเคารพ
๒.ในขณะบิณฑบาต จะแลดูแต่ในบาตร
๓.รับบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง (ไม่รับแกงมากเกินไป)
๔.รับบิณฑบาตแค่พอเสมอขอบปากบาตร
๕.ฉันบิณฑบาตโดยความเคารพ
๖.ในขณะฉันบิณฑบาต และดูแต่ในบาตร
๗.ฉันบิณฑบาตไปตามลำดับ (ไม่ขุดให้แหว่ง)
๘.ฉันบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง ไม่ฉันแกงมากเกินไป
๙.ฉันบิณฑบาตไม่ขยุ้มแต่ยอดลงไป
๑๐.ไม่เอาข้าวสุกปิดแกงและกับด้วยหวังจะได้มาก
๑๑.ไม่ขอเอาแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน หากไม่เจ็บไข้
๑๒.ไม่มองดูบาตรของผู้อื่นด้วยคิดจะยกโทษ
๑๓.ไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่เกินไป
๑๔.ทำคำข้าวให้กลมกล่อม
๑๕.ไม่อ้าปากเมื่อคำข้าวยังมาไม่ถึง
๑๖.ไม่เอามือทั้งมือใส่ปากในขณะฉัน
๑๗.ไม่พูดในขณะที่มีคำข้าวอยู่ในปาก
๑๘.ไม่ฉันโดยการโยนคำข้าวเข้าปาก
๑๙.ไม่ฉันกัดคำข้าว
๒๐.ไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย
๒๑.ไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง
๒๒.ไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว
๒๓.ไม่ฉันแลบลิ้น
๒๔.ไม่ฉันดังจับๆ
๒๕.ไม่ฉันดังซูด ๆ
๒๖.ไม่ฉันเลียมือ
๒๗.ไม่ฉันเลียบาตร
๒๘.ไม่ฉันเลียริมฝีปาก
๒๙.ไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ
๓๐.ไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทลงในบ้าน

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ มี ๑๖ ข้อคือ
๑.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ
๒.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ
๓.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีของมีคมในมือ
๔.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีอาวุธในมือ
๕.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมเขียงเท่า (รองเท้าไม้)
๖.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้า
๗.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในยาน
๘.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนที่นอน
๙.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งรัดเข่า
๑๐.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
๑๑.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่คลุมศีรษะ
๑๒.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนอาสนะ (หรือเครื่องปูนั่ง) โดยภิกษุอยู่บนแผ่นดิน
๑๓.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งบนอาสนะสูงกว่าภิกษุ
๑๔.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่ แต่ภิกษุยืน
๑๕.ภิกษุเดินไปข้างหลังไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่เดินไปข้างหน้า
๑๖.ภิกษุเดินไปนอกทางไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในทาง

ปกิณสถะ มี ๓ ข้อ
๑. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
๒. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในของเขียว (พันธุ์ไม้ใบหญ้าต่างๆ)
๓. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ

อธิกรณสมถะ มี ๗ ข้อได้แก่
๑. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ในที่พร้อมหน้า (บุคคล วัตถุ ธรรม)
๒. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยการยกให้ว่าพระอรหันต์เป็นผู้มีสติ
๓. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยยกประโยชน์ให้ในขณะเป็นบ้า
๔. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยถือตามคำรับของจำเลย
๕. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ
๖. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยการลงโทษแก่ผู้ผิด
๗. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยให้ประนีประนอมหรือเลิกแล้วกันไป


ศีล ๑๐ ข้อ

ศีล ๑๐ มีความหมายคือ
สำหรับสามเณร แต่ผู้ใดศรัทธาจะรักษาก็ได้
๑. เว้นจากทำลายชีวิต
๒. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
๓. เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี
๔. เว้นจากพูดเท็จ
๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป
๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ฯลฯ
๘. เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ฯลฯ
๙. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ ฯลฯ
๑๐. เว้นจากการรับทองและเงิน


อาราธนาศีล ๑๐
(ถ้าคนเดียวเปลี่ยนจากคำว่า "มะยัง" เป็น "อะหัง" และ "ยาจามะ" เป็น "ยาจามิ")
มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ทะสะ สีลานิ ยาจามะ (ว่า ๓ ครั้ง) ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอสมาทานศีล ๘ พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อประโยชน์แห่งการรักษา เป็นข้อ ๆ
คำสมาทาน ว่า
ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า)
อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการลัก ,ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช่ให้ผู้อื่นลัก ฉ้อ)
อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากอสัทธรรม กรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์)
มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริง และคำล่อลวง อำพรางผู้อื่น)
สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ )
วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล)
นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากพูด ฟัง ฟ้อนรำ ขับรอ้งและประโคมเครื่องดนตรีต่าง ๆ และดูการเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล)
มาลาคนฺธวิเลปน ธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการทัดทรงดอก การใช้ของหอมเครื่องประทินผิว)
อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากนั่ง นอน เหนือเตียง ตั่ง มีเท้าสูงเกินประมาณ และที่นั่ง ที่นอนอันสูงใหญ่ ภายในใส่นุ่นและสำลี อาสนะอันวิจิตรไปด้วยลดลายงามด้วยเงินทองต่าง ๆ)
ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการรับเงินทอง)
อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ (ว่า ๓ ครั้ง)


ศีล ๘ ข้อ

ศีล ๘ มีความหมายคือ
สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ หัวข้อเหมือนศีล ๕ แต่เปลี่ยนข้อ ๓ และเติมข้อ ๖-๗-๘ คือ
๑. เว้นจากทำลายชีวิต
๒. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
๓. เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี
๔. เว้นจากพูดเท็จ
๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป
๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเคลื่องลูบไล้ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
๘. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย


อาราธนาศีล ๘
(ถ้าคนเดียวเปลี่ยนจากคำว่า "มะยัง" เป็น "อะหัง" และ "ยาจามะ" เป็น "ยาจามิ")
มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามะ (ว่า ๓ ครั้ง)
ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอสมาทานศีล ๘ พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อประโยชน์แห่งการรักษา เป็นข้อ ๆ
คำสมาทาน ว่า
ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า)
อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการลัก ,ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช่ให้ผู้อื่นลัก ฉ้อ)
อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากอสัทธรรม กรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์)
มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริง และคำล่อลวง อำพรางผู้อื่น)
สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ )
วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล)
นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากพูด ฟัง ฟ้อนรำ ขับรอ้งและประโคมเครื่องดนตรีต่าง ๆ และดูการเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล และทัดทรงตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับและดอกไม้ของหอม เครื่องทาเครื่องย้อม ผัดผิวให้งามต่าง ๆ)
อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากนั่ง นอน เหนือเตียง ตั่ง มีเท้าสูงเกินประมาณ และที่นั่ง ที่นอนอันสูงใหญ่ ภายในใส่นุ่นและสำลี อาสนะอันวิจิตรไปด้วยลดลายงามด้วยเงินทองต่าง ๆ)
อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ (ว่า ๓ ครั้ง)


ศีล ๕

ศีล ๕ มีความหมายคือ
๑. เว้นจากทำลายชีวิต
๒. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากพูดเท็จ
๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท


อาราธนาศีล ๕
(ถ้าคนเดียวเปลี่ยนจากคำว่า "มะยัง" เป็น "อะหัง" และ "ยาจามะ" เป็น "ยาจามิ")
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติถายะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยันปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตยาถะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติยาถะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอสมาทานศีล ๕ พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อประโยชน์แห่งการรักษา เป็นข้อ ๆ
คำสมาทาน ว่า
ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า)
อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการลัก ,ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช่ให้ผู้อื่นลัก ฉ้อ)
กาเมสุมิจฺฉานารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม)
มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริง และคำล่อลวง อำพรางผู้อื่น)
สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ )         


โลกธรรม ๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัณณาสก์ เมตตาวรรค
โลกธรรมสูตร

โลกธรรมสูตร
[๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก
และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ
ลาภ ๑  ความเสื่อมลาภ ๑
ยศ ๑  ความเสื่อมยศ ๑
นินทา ๑ สรรเสริญ ๑
สุข ๑ ทุกข์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก
และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้ ฯ
ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑
ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑
ทุกข์ ๑ เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวน
เป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรม
เหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่ามีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อม
ไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและความยินร้าย
เสียได้จนไม่เหลืออยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอัน
ปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง ฯ..


ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘

ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการนี้ มีมาใน โคตมีสูตร อังคุตตรนิกาย เป็นถ้อยคำที่ตรัสแก่ ประเจ้าแม่น้ำโคตมี ซึ่งออกบวชเป็นภิกษุณี ถือกันว่า เป็นหลักสำคัญ มีข้อความที่น่าสนใจเป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่งคือ เป็นหลักธรรมที่ทรงเลือกสรรมา ในลักษณะเป็นเครื่องตอบแทนคุณแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นมารดา อีกส่วนหนึ่งด้วย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นว่า การปฏิบัติอย่างใด จะเป็นไปถูกต้องตาม หลักแห่งการดับทุกข์ หรือไม่ ก็ควรใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้ เป็นเครื่องตัดสินได้โดยเด็ดขาด ฉะนั้น จึงเป็นหลักที่แสดงถึง ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา อยู่ในตัวหลักเหล่านั้น คือถ้า ธรรม (การปฏิบัติ) เหล่าใด

๑. เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ
๒. เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ (คือทำให้ลำบาก)
๓. เป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ (คือไม่เป็นการมักน้อย)
๕. เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ
๖. เป็นไปเพื่อความคลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก

พึงรู้ว่า ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่ สัตถุศาสน์ (กล่าวคือคำสอนของพระศาสดา) แต่ถ้าเป็นไปตรงกันข้าม จึงจะเป็นธรรมเป็นวินัยเป็นสัตถุศาสน์ คือ
๑. เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
๒. เป็นไปเพื่อความไม่ประกอบทุกข์
๓. เป็นไปเพื่อไม่สะสมกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความอยากน้อย
๕. เป็นไปเพื่อความสันโดษ
๖. เป็นไปเพื่อความไม่คลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อความพากเพียร
๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย

มีอธิบายว่า ความกำหนัดย้อมใจ ได้แก่ ความติดใจรัก ยิ่งขึ้นๆ ในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องหรือแวดล้อม ถ้าการปฏิบัติ หรือ การกระทำ หรือ แม้แต่การพูดการคิดอย่างใด ทำ
ให้ บุคคลผู้นั้นมีความติดใจรักในสิ่งใดๆ แล้ว ถือว่าเป็นการปฏิบัติผิด ตัวอย่างเช่น การดูหนังดูละคร เป็นต้น มันทำให้เกิดความยอ้มใจ อย่างที่กล่าวนี้ ด้วยอำนาจของราคะ เป็นต้น ซึ่งจะเทียบดูได้กับจิตใจของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความสงบ หรือ แม้แต่อยู่ในที่สงัด จะเห็นได้ว่า เป็นการแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม พึงอาศัยตัวอย่างนี้ เป็นเครื่องเทียบเคียง จับความหมายของคำๆ นี้ ให้ได้ ทั้งในทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่สุด ตัวอย่างแห่งธรรมารมณ์ เช่น การขอบคิดฝัน ถึงสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ ก็ย่อมทำจิตให้ถูกยอ้มด้วย ราคะมากขึ้นๆ เป็นต้น

คำว่า เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ หมายถึงการทำตนเองให้ลำบากด้วยความไม่รู้เท่าถึงการณ์ ด้วยความเข้าใจผิดในกรณีที่ไม่ควรจะมีความลำบากหรือลำบากแต่น้อยก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าพิศวงว่า คนเราไม่ชอบความลำบากด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้ว
ทำไมจึงไปทำสิ่งที่ตนจะลำบาก ทั้งนี้ ก็เพรา อำนาจของโมหะ คือ ความหลงเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความเข้าใจผิดกลับตรงข้าม แม้ในกรณีที่เป็นเรื่องของการอยากดี อยากเด่นอยากมีชื่อเสียง เป็นต้น ก็มีมูลมาจากโมหะอยู่นั่นเอง กรณีที่เป็นการประชด
ผู้อื่น หรือ ถึงกับประชดตัวเองก็ตาม ย่อมสงเคราะห์เข้าในข้อนี้ ซึ่งมีมูลอันแท้จริง มาจากความหลงสำคัญผิดอย่างเดียวกัน นั่นเอง โดยส่วนใหญ่ ได้แก่ การปฏิบัติ ที่เรียกว่า อัตตภิลมถานุโยค คือ การทรมานตนอย่างงมงาย

คำว่า สะสมกองกิเลส หมายถึงการเพิ่มพูนโลภะ โทสะ โมหะ โดยรอบด้าน ผิดจากความกำหนัดย้อมใจ ตรงที่ข้อนี้ หมายถึงเป็นอุปกรณ์ หรือ เครื่องสนับสนุนการเกิดของกิเลสทั่วไปและให้ทวียิ่งขึ้นด้วย การสะสมสิ่งซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกิเลส อยู่เป็นประจำ ในกรณีของ คนธรรมดาสามัญ บางอย่างอาจจะ ไม่จัดเป็น การสะสมกองกิเลส แต่จัดเป็นการสะสมกิเลส อย่างยิ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ โดยตรง เช่น พวกบรรพชิต หรือในบางกรณี ก็จัดว่า เป็นการสะสมกองกิเลส ทั้ง คฤหัสถ์ และ บรรพชิต เช่น การมีเครื่องประดับ หรือ เครื่องใช้ชนิดที่
ไม่มีความจำเป็น แก่การเป็นอยู่ แต่เป็นไป เพื่อความลุ่มหลง หรือ ความเห่อเหิม ทะเยอทะยาน ประกวด ประขันกัน โดยส่วนเดียว เป็นต้น เป็นการขยาย ทางมาของกิเลส ให้กว้างขวาง ไม่มีที่สิ้นสุด

คำว่า ความอยากใหญ่ หมายถึง การอยากเกินมาตรฐานแห่งภาวะ หรือสถานะหรือกำลังสติปัญญาของตน เป็นต้น ส่วนความไม่สันโดษ ไม่ได้หมายถึง ความอยากใหญ่ เช่นนั้น แต่หมายถึง ความไม่รู้จักพอใจ ในสิ่งที่ได้มาแล้ว หรือมีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้มีความรู้สึกเป็น คนยากจนอยู่เนืองนิจ เป็นทางให้เกิดความอยาก
ใหญ่ หรือ กิเลสอย่างอื่นต่อไปได้ หรือในทางตรงกันข้าม ทำให้เกิดการทำลายตัวเอง จนถึงกับฆ่าตัวตายก็ได้ โดยภาษาบาลี ความอยากใหญ่ เรียกว่ามหิจฺฉตา ความไม่สันโดษ เรียก อสันตุฎฐิ โดยพยัญชนะ หรือโดยนิตินัย เราอาจจะแยกได้
ว่า เป็นคนละชั้น คนละตอน หรือคนละอย่าง แต่โดยพฤตินัย ย่อมเป็นไปด้วยกัน จนถึงกับหลงไปได้ว่า เป็นสิ่งเดียวกัน

คำว่า ความคลุกคลี หมายถึง การระคนกันเป็นหมู่ เพื่อความเพลิดเพลินอย่างใดอย่างหนึ่ง จากการกระทำอันนั้น ความเพลิดเพลิน จากการคลุกคลีนี้ มีรสดึงดูด ในทางธรรมารมณ์เป็นส่วนใหญ่ และก็มีความยั่วยวน ไม่แพ้อารมณ์ที่ได้รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะเหตุฉะนั้นเอง คนเราจึงติดใจรสของการที่ได้ระคนกันเป็นหมู่นี้ ทำให้จิตใจลุ่มหลงมีลักษณะเหมือนกับจมไม่ลง ทำให้ความคิด ความอ่าน ดำเนินไปอย่างผิวเผิน ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการคิด อย่างแยบคาย หรือ ลึกซึ้ง แต่พึงทราบไว้ว่า การประชุมกันเพื่อศึกษาเล่าเรียน ปรึกษาหารือ กิจการงาน อันเป็นหน้าที่เป็นต้นนั้น ท่านไม่เรียกว่า การคลุกคลีกัน เป็นหมู่ในที่นี้ แต่อีกทางหนึ่ง ท่านยังหมายกว้างไปถึงว่า การถูกกิเลสทั่วไป กลุ้มรุม ด้วยสัญญาอดีต ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เคยผ่านมาแล้ว แต่หนหลัง แม้นั่งคิดฝัน
อยู่คนเดียว ก็กลับสงเคราะห์ไว้ในคำว่า การคลุกคลีในหมู่ อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพราะมีมูล มาจาก ความอาลัย ในการระคนด้วยหมู่คำว่า ความเกียจคร้าน และคำว่า เลี้ยงยาก มีความหมายชัดเจนแล้ว การปฏิบัติทำความดับทุกข์ เป็นเรื่องใหญ่และยึดยาว จึงต้องอาศัย ความเพียร ความเลี้ยงง่าย จึงจะเป็นเหตุให้ไม่ต้องมีภาระ เรื่องอาหาร มากกว่าที่จำเป็น ซึ่งทำให้เสียเวลา และเสียวัตถุมากไปเปล่าๆ โดยที่อาจจะนำไปใช้เป็นประโยชน์ อย่างอื่นได้

ลักษณะทั้ง ๘ นี้ แต่ละอย่างๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ โดยตรงก็มี เป็นเพียงอุปสรรคก็มี และเป็นการปฏิบัติผิดโดยตรงก็มี จึงถือว่าไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ ต่อเมื่อปฏิบัติ ตรงกันข้าม จาก ๘ อย่างข้างต้น จึงจะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ หรือ เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ นี้นับว่าเป็น หมวดธรรมที่เป็นอุปกรณ์ แห่งการปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ อย่างหนึ่งในฐานะที่เป็นหลักสำหรับยึดถือ หรือให้ดำเนินไปถูกทาง

 

สังคหวัตถุ ๔ ประการ
สังคหวัตถุ คือ หลักในการสงเคราะห์กันและกัน
ประกอบด้วย
๑. ทาน คือ การแบ่งปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้
๒. ปิยวาจา คือ การใช้เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน
๓. อัตถจริยา คือ ประพฤติตนแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
๔. สมานัตตตา คือ ความเป็นคนวางตนเสมอ ไม่ถือตัว

๑. ทาน เป็นการแบ่งปันสิ่งของ ๆ ตน แก่คนที่ควรให้ มีอยู่ ๕ ประการ
เรียกว่า สัปปุริสทาน คือ
๑. ให้ด้วยศรัทธา
๒. ให้ด้วยความเคารพต่อผู้รับและสิ่งของที่ตนให้
๓. ให้ตามโอกาสและเวลาที่ควรให้
๔. ให้ด้วยใจอนุเคราะห์
๕. ให้โดยไม่กระทบกระเทือนผู้อื่น

๒. ปิยวาจา การพูดจาปราศรัยถ้อยคำสำนวนที่สุภาพ อ่อนหวาน ไพเราะ ปราศจากคำพูดที่หยาบคาย โกหก พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ
๓. อัตถจริยา หมั่นประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยฉลาดในการทำประโยชน์ เช่น การช่วยเหลือด้วยกำลังกาย และใช้คำพูดที่ที่มีประโยชน์แก่ผู้ฟังตามสถานะและโอกาส
๔. สมานัตตตา ความวางตนให้เหมาะสมกับฐานะของตน วางตนให้เสมอต้นเสมอปลาย แก่บุคคลและโอกาส
ประโยชน์ ของ สังคหวัตถุ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่นและสร้างความสามัคคีในหมู่คณะไว้ได้

 

พรหมวิหาร ๔  ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ (หรือหมายถึงวิหารเครื่องอยู่หรือข้อปฏิบัติของพรหม  หรือหมายถึง ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความเป็นพรหม)
       ๑. เมตตา  ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
       ๒. กรุณา  ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์
       ๓. มุทิตา  ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
       ๔. อุเบกขา  ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือกล่าวอย่างง่ายๆว่า การกระทำที่เกิดเป็นบุญ เป็นกุศล แก่ผู้กระทำดังต่อไปนี้

บุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน (ทานมัย) คือการเสียสละนับแต่ทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง ตลอดจนกำลังกาย สติปัญญา ความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยส่วนรวม รวมถึงการละกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจ จนถึงการสละชีวิตอันเป็นสิ่งมีค่าที่สุดเพื่อการปฏิบัติธรรม

บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล (สีลมัย) คือการตั้งใจรักษาศีล และการปฏิบัติตนไม่ให้ละเมิดศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา  ศีล ๑๐ ของสามเณร  หรือ ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ  เพื่อรักษากาย วาจา และใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด  พ้นจากกายทุจริต ๔ ประการ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ละเว้นจากการลักทรัพย์  ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม  และเสพสิ่งเสพติดมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท  วจีทุจริต ๔ ประการ คือไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ และไม่พูดคำหยาบ   มโนทุจริต ๓ ประการ คือ ไม่หลงงมงาย ไม่พยาบาท ไม่หลงผิดจากทำนองคลองธรรม

บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา (ภาวนามัย ) คือการอบรมจิตใจในการละกิเลส ตั้งแต่ขั้นหยาบไป จนถึงกิเลสอย่างละเอียด  ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา  รู้ทางเจริญและทางเสื่อม  จนเข้าใจอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด

บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ (อปจายนมัย) คือการให้ความเคารพ ผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ ๓ ประเภท คือ ผู้มี วัยวุฒิ ได้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้องและผู้สูงอายุ  ผู้มี คุณวุฒิ หรือคุณสมบัติ ได้แก่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ และผู้มี ชาติวุฒิ ได้แก่พระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์

บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ (เวยยาวัจจมัย) คือ การกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา เช่น การชักนำบุคคลให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ในฝ่ายสัมมาทิฎฐิ

บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) คือ การอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง  การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไป

บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย) คือ การได้ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า “สาธุ” เพื่อเป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำ   ก็ขอให้ได้มีโอกาสได้แสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย

บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) คือ การตั้งใจฟังธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน หรือที่เคยฟังแล้วก็รับฟังเพื่อได้รับความกระจ่างมากขึ้น บรรเทาความสงสัยและทำความเห็นให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จนเกิดปัญญาหรือความรู้ก็พยายามนำเอาความรู้และธรรมะนั้นนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สู่หนทางเจริญต่อไป

บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) คือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือการประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในทางที่ชอบ   ตามรอยบาทองค์พระศาสดา ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น   หรือการนำธรรมไปขัดเกลากิเลสอุปนิสัยเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา มาประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป

บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐชุกัมม์) คือ ความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สิ่งที่เป็นแก่นสารสาระหรือที่ไม่ใช่แก่นสารสาระ ทางเจริญทางเสื่อม  สิ่งอันควรประพฤติสิ่งอันควรละเว้น  ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็นให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ

 

แสดงอุเบกขา แบบต่างๆ

       ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม
       พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม, ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม, หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่

       พรหมวิหาร ๔ เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา ๔ เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต
       พรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ด้วยสังคหวัตถุเป็นต้น.
       อนึ่ง ในการที่จะเข้าใจและปฏิบัติพรหมวิหาร ๔ ให้ถูกต้อง พึงทราบรายละเอียดบางอย่าง โดยเฉพาะสมบัติและวิบัติของธรรม ๔ ประการนั้น ดังนี้
       ก. ความหมายโดยวิเคราะห์ศัพท์


       ๑. เมตตา = (มีน้ำใจ)เยื่อใยใฝ่ประโยชน์สุขแก่คนทั้งหลาย หรือน้ำใจปรารถนาประโยชน์สุขที่เป็นไปต่อมิตร
 
       ๒. กรุณา = ทำความสะเทือนใจแก่สาธุชน เมื่อคนอื่นประสบทุกข์ หรือถ่ายถอนทำทุกข์ของผู้อื่นให้หมดไป หรือแผ่ใจไปรับรู้ต่อคนสัตว์ทั้งหลายที่ประสบทุกข์
 
       ๓. มุทิตา = โมทนายินดีต่อผู้ประกอบด้วยสมบัติหรือผลดีนั้นๆ
 
       ๔. อุเบกขา = คอยมองดูอยู่ โดยละความขวนขวายว่า สัตว์ทั้งหลายจงอย่าผูกเวรกัน เป็นต้น และโดยเข้าถึงความเป็นกลาง
 


       ข. ลักษณะ หน้าที่หรือกิจ (รส) ผลปรากฏ (ปัจจุปัฏฐาน) และปทัสถาน (เหตุใกล้)


       ๑. เมตตา = ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ
 
 ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเกื้อกูลแก่คนสัตว์ทั้งหลาย 
 
 หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา 
 
 ผลปรากฏ = กำจัดความอาฆาตแต้นเคืองให้ปราศไป 
 
 ปทัสถาน = เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของคนสัตว์ทั้งหลาย
 
       ๒. กรุณา = ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือดร้อน 
 
 ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์แก่คนสัตว์ทั้งหลาย 
 
 หน้าที่ = ไม่นิ่งดูดาย/ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของคนสัตว์ทั้งหลาย 
 
 ผลปรากฏ = ไม่เบียดเบียน/อวิหิงสา 
 
 ปทัสถาน = เห็นภาวะไร้ที่พึ่ง/สภาพน่าอนาถของคนสัตว์ทั้งหลายที่ถูกทุกข์ครอบงำ
 
       ๓. มุทิตา = ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จหรือทำอะไรก้าวไปด้วยดี 
 
 ลักษณะ = พลอยยินดี/ยินดีด้วย 
 
 หน้าที่ = ไม่ริษยา/เป็นปฏิปักษ์ต่อความริษยา 
 
 ผลปรากฏ = ขจัดความริษยา ความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสุขสำเร็จของผู้อื่น 
 
 ปทัสถาน= เห็นสมบัติ/ความสำเร็จของคนสัตว์ทั้งหลาย
 
       ๔. อุเบกขา = ในสถานการณ์รักษาธรรมตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ 
 
 ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเป็นกลางต่อคนสัตว์ทั้งหลาย 
 
 หน้าที่ = มองเห็นความเสมอภาคกันในคนสัตว์ทั้งหลาย 
 
 ผลปรากฏ = ระงับความขัดเคืองเสียใจและความคล้อยตามดีใจ 
 
 ปทัสถาน= มองเห็นภาวะที่ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมของตนว่า สัตว์ทั้งหลายจักได้สุข พ้นทุกข์ ไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้ที่ถึง ตามใจชอบได้อย่างไร
 


       ค. สมบัติ (ความสมบูรณ์หรือความสัมฤทธิ์ผล)  และวิบัติ (ความล้มเหลว หรือการปฏิบัติผิดพลาด ไม่สำเร็จผล)


       ๑. เมตตา: 

สมบัติ = สงบหายไร้ความแค้นเคืองไม่พอใจ
  
 วิบัติ = เกิดเสน่หา
 
       ๒. กรุณา: 

สมบัติ = สงบหายไร้วิหิงสา 
  
 วิบัติ = เกิดความโศกเศร้า
 
       ๓. มุทิตา: 

สมบัติ = สงบหายไร้ความริษยา
   
 วิบัติ = เกิดความสนุกสนาน
 
       ๔. อุเบกขา: 

สมบัติ = สงบหายไม่มีความยินดียินร้าย 
  
 วิบัติ = เกิดความเกิดความเฉยด้วยไม่รู้ (เฉยโง่ เฉยเมย เฉยเมิน)
 


       ง. ข้าศึก คือ อกุศลซึ่งเป็นศัตรูคู่ปรับที่จะทำลายหรือทำธรรมนั้นๆ ให้เสียไป


       ๑. เมตตา:
 ข้าศึกใกล้ = ราคะ 
  
 ข้าศึกไกล = พยาบาท คือความขัดเคืองไม่พอใจ
 
       ๒. กรุณา:
 ข้าศึกใกล้ = โทมนัส คือความโศกเศร้าเสียใจ 
  
 ข้าศึกไกล = วิหิงสา
 
       ๓. มุทิตา:
 ข้าศึกใกล้ = โสมนัส (เช่น ดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์) 
  
 ข้าศึกไกล = อรติ คือความไม่ยินดี ไม่ใยดี ริษยา
 
       ๔. อุเบกขา:
 ข้าศึกใกล้ = อัญญาณุเบกขา (เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ เฉยเมย) 
  
 ข้าศึกไกล = ราคะ (ความใคร่) และปฏิฆะ (ความเคือง) หรือชอบใจและขัดใจ
 


       จ. ตัวอย่างมาตรฐาน ที่แสดงความหมายของพรหมวิหารได้ชัด ซึ่งคัมภีร์ทั้งหลายมักยกขึ้นอ้าง


       ๑. เมื่อลูกยังเล็กเป็นเด็กเยาว์วัย 
 
 แม่ - เมตตา รักใคร่เอาใจใส่ ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต
 
       ๒. เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย 
 
 แม่ - กรุณา ห่วงใยปกปักรักษา หาทางบำบัดแก้ไข
 
       ๓. เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า 
 
 แม่ - มุทิตา พลอยปลาบปลื้มใจ หรือหวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน
 
       ๔. เมื่อลูกรับผิดชอบกิจหน้าที่ของตนขวนขวายอยู่ด้วยดี
  
 แม่ - อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู 


       พึงทราบด้วยว่า
       ฉันทะ คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี หรือความต้องการที่จะทำให้คนสัตว์ทั้งหลายดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง เช่น อยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์เป็นต้น) เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง ๔ นี้
       การข่มระงับกิเลส (เช่นนิวรณ์) ได้ เป็นท่ามกลาง
       สมาธิถึงขั้นอัปปนา (คือ ภาวะจิตที่มั่นคงเรียบรื่นสงบสนิทดีที่สุด) เป็นที่จบของพรหมวิหารทั้ง ๔ นั้น


 

อิทธิบาท ๔

คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ

๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน

ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ตนถือว่า ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้
ข้อนี้ เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิด คุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อ

วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึงการการะทำที่ติดต่อไม่ขาดตอนเป็นระยะยาว
จนประสบความสำเร็จ คำนี้มีความหมายของความกล้าหาญเจืออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง

จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้น ไปจากความรู้สึกของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็น
วัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ
อยู่ด้วยอย่างเต็มที่

วิมังสา หมายถึงความสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ
ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้รวมความหมายของคำว่าปัญญาไว้อย่างเต็มที่

บุคคลเมื่อประกอบด้วย คุณธรรม ๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมประสบความสำเร็จ ในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยของมนุษย์ ซึ่งโดยตรงทางหมายถึงความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ที่เรียกว่า นิพพาน ส่วนเรื่องอื่น นอกนั้นไป ถือว่าเป็น เรื่องพิเศษ และ ไม่มี ขอบขีดจำกัด
เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับ เรื่องนอกเหนือ วิสัยธรรมดา อยู่มาก เช่นเรื่องที่ว่า คนเราอาจมีอายุยืน ถึงกัลป์ ด้วยอำนาจแห่งอิทธิบาททั้ง ๔ นี้ ซึ่งข้อนี้มิได้มีความหมาย ขัดกัน ในข้อที่ว่า อิทธิบาท ๔ นี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้อายุยืนถึงปานนั้นได้หรือไม่ แต่
มีปัญหาอยู่ที่ว่า คนเราจะสามารถ เจริญอิทธบาทให้มากถึงเท่านั้นได้หรือไม่ต่างหาก เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือว่า หลักเกี่ยวกับอิทธิบาท นี้ คงมีความหมาย ไปตามตัวหนังสือ โดยไม่ต้องมีขอบขีดจำกัดว่าอะไรบ้าง สรุปความสั้นๆว่าวิสัยของใคร
ทำให้เขาเจริญอิทธิบาทได้มากเท่าใด เขาย่อมได้รับผลเต็มกำลังของอิทธิบาทนั้น แม้ในสิ่งที่บางคน ถือว่าเป็นของเหลือวิสัย โดยเฉพาะเช่น การบรรลุนิพพานในที่บางแห่ง ท่านเติมคำว่า อธิปเตยย เข้าข้างท้ายคำเหล่านี้ เป็น ฉันทาธิปไตย
วิริยาธิปไตย วิมังสาธิปไตย ไปดังนี้ก็มี แปลว่า ความมีฉันทะเป็นใหญ่ เป็นต้น ซึ่งที่แท้ ก็ได้แก่ อิทธิบาท อย่างเดียวกัน นั่นเอง แต่ใช้คำว่า ที่มีความหมาย ที่เห็นได้ชัด ยิ่งขึ้นว่า ในการทำกิจใดๆ ก็ดี ย่อมมีฉันทะ เป็นต้น เหล่านี้เป็นใหญ่ หรือเป็นประธานในความสำเร็จ เป็นการชวนให้สนใจในสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท นี้ยิ่งขึ้น มีพระพุทธภาษิต ยืนยัน อยู่ในที่ หลายแห่ง ว่า การตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ของพระองค์เอง สำเร็จได้โดยมี อิทธิบาท๔ นี้ เป็นประธาน แห่งการกระทำ ในลำดับนั้นๆ ฉะนั้น จึงถือว่าเป็น อุปกรณ์อันขาดเสียไม่ได้ในความ
สำเร็จทุกชนิด ผู้ปฏิบัติ เพื่อความ ความดับทุกข์ จึงต้องสนใจเป็นพิเศษ แม้การประกอบ ประโยชน์ ในทางโลก ก็ใช้หลักเกณฑ์ อันเดียวกันนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเท่าเทียมกัน แม้ที่สุด แต่ในกรณีที่เป็น การทำชั่ว ทำบาป ก็ยังอาจนำไปใช้ ให้
บรรลุผลได้ตามที่ตนประสงค์ ฉะนั้น ท่านจึงจัดเป็น หลักธรรม ที่สำคัญหมวดหนึ่ง ในบรรดา โพธิปักขิยธรรม ทั้งหลายนี้นับว่า เป็นอุปกรณ์ในฐานะเป็น เครื่องช่วยให้เกิดการปฏิบัติ ดำเนินไปได้ โดยปราศจากอุปสรรค ตั้งแต่ต้น จนถึง จุดหมายปลายทาง

 พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่บังเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ในโลกนี้  ให้หลุดพ้นจากความทุกข์  เพราะมนุษย์ต้องอยู่เป็นกลุ่มในสังคมที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรือง  เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีพ   แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความไม่สงบขาดความมั่นคงด้านจิตใจ  ขาดหลักที่พึ่งทางใจทำให้มีปัญหาต่อการดำรงชีวิตของตนเองและส่วนรวม

            หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมุ่งที่สอนให้มนุษย์มีหลักที่พึ่งทางใจ  และมีแนวทางการประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้เกิดมงคลแก่ชีวิต  อันจะทำให้มนุษย์สามารถอยู่รวมกันในสังคมด้วยความสงบสุขและเจริญก้าวหน้า

 

พุทธธรรมเพื่อชีวิตและสังคม

            พุทธธรรมเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิตธรรมทุกข้อหากปฏิบัติตามอย่างจริงจังจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างมากทั้งสิ้น  พุทธธรรมนั้นสอนทั้งการดำเนินชีวิตที่จะทำให้ชีวิตตนมีค่าหรือเป็นชีวิตที่ประเสริฐ  ชีวิตที่อยู่กับความเจริญและคุณธรรมและสอนการดำเนินชีวิตให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี สงบ และเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม

            หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามีเป็นจำนวนมาก  หลักธรรมที่จัดว่าเป็นแม่บทของพุทธธรรมทั้งหมดได้แก่  อริยสัจ ๔ ซึ่งจะช่วยให้เรามีความเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ  และรู้จักชีวิตของตนเองอย่างแท้จริง

 

     ๑.  อริยสัจ ๔ :  ความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่าง

            อริยสัจ แปลว่า  “ความจริงอันประเสริฐ  หรือความจริงของพระอริยบุคคล”  หมายความว่า ถ้าผู้ใดสามารถรู้ อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญา  ผู้นั้นก็จะเป็นพระอริยบุคคลและที่ทำให้เป็นผู้ประเสริฐนั้นก็เพราะในขณะที่รู้ อริยสัจ ๔  กิเลสทั้งหลายก็ถูกทำลายหายไปจากจิตของผู้นั้นด้วย คือ จิตจะมีสภาพใสสะอาด บริสุทธิ์ พ้นจากสภาพสามัญชนกลายเป็นพระอริยบุคคล  หรือเป็นบุคคลที่ประเสริฐอริยสัจดังกล่าวนี้  เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นผู้ค้นพบหรือได้ตรัสรู้เป็นบุคคลแรกในโลกจึงทำให้พระองค์กลายเป็นพระพุทธเจ้า  หรือเป็นบุคคลผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

             อริยสัจ ๔  จัดเป็นหมวดธรรมที่สำคัญมากของพระพุทธศาสนา  เพราะเป็นที่สรุปรวมของพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมด  หมายความว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ คือ พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกนั้น  ก็จะสรุปรวมลงในอริยสัจ ๔ ทั้งสิ้น

            ความหมายของอริยสัจ ๔ แต่ละข้อ เพื่อจำง่ายจึงเป็นตารางได้ดังนี้      

อริยสัจ ๔
 คำแปล
 คำขยายความ
 
๑.  ทุกข์

๒.  สมุทัย

๓.  นิโรธ

๔.  มรรค
 ความไม่สบายกายไม่สบายใจ

เหตุให้ทุกข์เกิด

ความดับทุกข์

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
 ที่จัดว่าเป็นทุกข์เพราะมีลักษณะเบียดเบียน บีบคั้น ทนได้ยาก

ได้แก่ ตัณหาความอยาก  ๓ อย่าง

ได้แก่ การดับตัณหาให้สิ้นไป

ได้แก่  มรรค  ๘ ประการ
 

 

            ๑.๑  ทุกข์  :  ความทุกข์

                  ทุกข์ คือ สิ่งที่เบียดเบียนบีบคั้นทำให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ อันเกิดจากร่างกายหรือจิตใจ ถูกเบียดเบียนแล้ว  ทนได้ยาก  หรือทนไม่ได้ จึงทำให้เกิดเป็นทุกข์ ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อนักเรียนเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดหัว ปวดฟัน ปวดท้องอย่างรุนแรงจนทนไม่ได้ ทนไม่ไหว จึงเกิดเป็นทุกข์ทางกาย

                  ในบางครั้ง นักเรียนเกิดอารมณ์เศร้า หดหู่ หรือเกิดอาการกระวนกระวายใจ  เพราะถูกด่าบ้าง เพราะผิดหวังที่ทำอะไรไม่ได้ตามใจบ้าง  จึงเกิดเป็นทุกข์ทางใจ

                  ความทุกข์ทางกายและความทุกข์ทางใจทั้ง ๒ ประการนี้  จัดเป็นความทุกข์ขั้นพื้นฐานที่เกิดขึ้นประจำวัน  ซึ่งทุกคนต่างก็รู้จักดีและเคยประสบกันมาแล้ว  แต่ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบในทุกข์อริยสัจนั้น  ยังมีความหมายกว้าง ครอบคลุมไปถึงลักษณะไม่คงที่  มีความแปรปรวนในสิ่งที่ทั้งปวงด้วย  ซึ่งท่านได้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

                  ๑.  สภาวทุกข์  คือ ทุกข์ประจำสภาวะ หมายถึง ความทุกข์ที่มีประจำอยู่ในสภาพร่างกายของคนเรา เริ่มตั้งแต่เกิดมามีชีวิต จนถึงตาย ซึ่งมีอยู่ ๓ อย่าง ดังนี้ คือ

                        ๑.๑  ชาติทุกข์ แปลว่า “ความเกิดเป็นทุกข์”  หมายถึง  การทนทุกข์ทรมานตั้งแต่อยู่ในครรภ์

จนถึงคลอด  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า  การเกิดมามีชีวิตได้นั้น ต้องผ่านอันตรายมาได้โดยยากจึงจัดว่าเป็นทุกข์เพราะการเกิด

                        ๑.๒  ชราทุกข์  แปลว่า  “ความแก่ชราเป็นทุกข์”  หมายถึง สภาพร่างกายแก่ชราคร่ำครวญทรุดโทรม  แม้จะนั่งจะนอน จะเดินไปมาก็ลำบาก  จึงจัดว่าเป็นความทุกข์เพราะความแก่ชรา

                        ๑.๓  มรณทุกข์  แปลว่า  “ทุกข์คือความตาย”  หมายถึง ความตายนั้นเป็นสิ่งที่มาทำลายชีวิตหรือตัดรอนชีวิตของเราให้สิ้นไป  จึงจัดเป็นความทุกข์เพราะความตาย

                  ๒.  ปกิณณกทุกข์  แปลว่า  “ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ”  หมายถึง  ความทุกข์ที่จรมาจากที่อื่นโดยเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมของชีวิต  มีน้อยบ้างมากบ้าง ผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งมีอยู่ถึง ๘ อย่าง คือ

                        ๒.๑  โสกะ   ความเศร้าใจ ความเสียใจ

                        ๒.๒  ปริเทวะ  ความรำพึงรำพรรณบ่นท้อ 

                        ๒.๓  ทุกขะ   ความไม่สบายกายเพราะเจ็บป่วย

                        ๒.๔  โทมนัสสะ  ความน้อยใจ ความไม่สบายใจ

                        ๒.๕  อุปายาสะ  ความคับใจ ความตรอมใจ

                        ๒.๖  อัปปิยสัมปโยคะ  ประสบสิ่งไม่เป็นที่รักแล้วไม่ชอบใจ

                        ๒.๗  ปิยวิปปโยคะ  ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก

                        ๒.๘  อิจฉตาลาภะ  ความผิดหวังไม่ได้สิ่งที่ตนอยากได้

                  อาการทั้งหมดนี้จัดเป็นทุกข์  ความเดือดร้อน  ซึ่งเกิดขึ้นแก่ทุกคน  ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่  และเกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกโอกาส  การที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ชาวพุทธได้รู้จักกับตัวความทุกข์เหล่านั้น มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงสอนให้เรามองโลกในแง่ร้าย  แต่ทรงสั่งสอนให้มองโลกตามความเป็นจริง คือ ให้รู้จักกับความเป็นจริงของโลก เพื่อประสงค์จะให้ชาวพุทธไม่ประมาทพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริงนั้น  และสามารถที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาชีวิตของตนได้ทุกโอกาส

            ๑.๒  สมุทัย  :  เหตุให้ทุกข์เกิด

                  สมุทัย  แปลว่า “เหตุให้ทุกข์เกิด”  หมายความว่า  ความทุกข์ทั้งหมดในอริยสัจข้อที่  ๑  เหล่านั้นมิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ  จะต้องมีสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น  พระพุทธองค์นอกจากจะทรงรู้จักตัวความทุกข์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว  ยังทรงรู้สึกถึงสาเหตุอันแท้จริงที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้นด้วยโดยพระพุทธองค์ทรงชี้ว่า ตัณหา คือความอยากเกินพอดีที่มีอยู่ในจิตใจนั่นเอง  เป็นตัวเหตุให้เกิดความทุกข์ ตัณหา นั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ

                  ๑.  กามตัณหา  คือ ความอยากได้อย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งเกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น ตาเห็นรูปสวยงาม ก็เกิดความอยากได้  อยากได้บ้านสวยๆ ราคาแพง อยากได้เสื้อผ้าสวยๆ อยากได้รถยนต์คันงาม เป็นต้น ความอยากทำนองนี้เป็นความอยากในสิ่งที่รักใคร่  และน่าพอใจ เป็นความอยากที่ไม่รู้จบ  เมื่อไม่ได้ตามความประสงค์ก็จะเกิดทุกข์

                  ๒.  ภวตัณหา  คือ  ความยากเป็นอย่างโน้นอย่างนี้  เป็นความอยากได้ในตำแหน่งฐานะที่สูงขึ้นตามที่ตนรักใคร่และพอใจ เช่น อยากเป็นข้าราชการในตำแหน่งสูงๆ  อยากเป็นมหาเศรษฐีและอยากเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นต้น  เมื่อไม่ได้ดังใจปรารถนาก็เป็นทุกข์

                  ๓.  วิภวตัณหา  คือ ความอยากไม่เป็นความอยากไม่มี  จัดเป็นความอยากที่ประกอบกับความเบื่อหน่ายในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  โดยต้องการจะหลีกหนีให้พ้นจากสภาพนั้นไป เช่น อยากไม่เป็นคนโง่ อยากไม่เป็นคนพิการ และอยากไม่เป็นคนยากจน เป็นต้น  ซึ่งความอยากไม่เป็นนี้  ถ้าไม่เป็นไปตามที่ตนต้องการแล้วก็จะทำให้เกิดทุกข์ เช่นเดียวกัน

                  ตัณหา คือ ความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ ถ้าอยากจนเกินพอดี คือ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ ควรหรือไม่ควร เป็นต้น ย่อมทำให้เกิดเป็นทุกข์ทั้งสิ้น

            ๑.๓  นิโรธ  :  ความดับทุกข์

                  นิโรธ  แปลว่า  “ความดับทุกข์”  หมายถึง ความรู้หรือปัญญาที่ทำให้จิตใจของบุคคลสามารถละตัณหาได้  หรือสามารถทำลายตัณหาให้หมดไปจากจิตใจและจิตที่บรรลุนิโรธแล้ว  จะมีลักษณะสงัดจากกิเลส ไม่ยึดมั่นในตัวตน  รวมไปถึงไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงอีกด้วย  คงเหลือแต่ธรรมชาติของความสงบสุขอย่างยิ่ง  ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกสภาวะอย่างนี้ว่า  “นิพพาน”

            ๑.๔  มรรค  :  ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

                  มรรค  แปลว่า  “ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์”  หมายถึง  อริยมรรค  หรือทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการคือ

                  ๑.  ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)  หมายถึง  การรู้เห็นในอริยสัจ ๔  อย่างถูกต้อง  ชัดเจนด้วยปัญญา เช่นรู้ว่าทุกข์อย่างไร รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อย่างไร รู้ว่าจะดับทุกข์ได้เพราะการดับตัณหา และรู้ว่าอริยมรรค คือทางให้ถึงการดับตัณหาได้

                  ๒.  ความดำริชอบ  (สัมมาสังกัปปะ)  หมายถึง ความคิดชอบ เช่น มีความคิดหาหนทางที่จะหลีกออกจากกาม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มีความคิดที่จะไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น  และไม่คิดทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น

                  ๓.  การพูดชอบ  (สัมมาวาจา)  หมายถึง เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียดเว้นจากการพูดคำหยาบ และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ

                  ๔.  การกระทำชอบ  (สัมมกัมมันตะ)  หมายถึง  เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

                  ๕.  การเลี้ยงชีวิตชอบ  (สัมมาอาชีวะ)  หมายถึง  มีความเพียรระวังไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม

                  ๖.  ควรเพียรชอบ  (สัมมาวายามะ)  หมายถึง  มีความเพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในตน เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป  พากเพียรทำความดีให้เกิดขึ้น  และเพียรพยายามรักษาความดีทีมีอยู่แล้วให้คงอยู่

                  ๗.  ความระลึกชอบ  (สัมมาสติ)  หมายถึง ความมีสติระลึกถึงความเป็นไปได้ของสภาพร่างกาย  ระลึกถึงความเป็นไปของเวทนา (ขณะมีอารมณ์)  ว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ระลึกถึงความเป็นไปของจิตว่าเศร้าหมองเพราะกิเลสชนิดใด  จิตที่ผ่องใสเพราะเหตุใด  รวมไปถึงการระลึกถึงความดี ความชั่ว หรือความไม่ดีไม่ชั่วที่เกิดขึ้นในจิตของตน

                  ๘.  การตั้งจิตให้ชอบ  (สัมมาสมาธิ)  หมายถึง การทำจิตให้เป็นสมาธิ  เริ่มตั้งแต่การทำจิตให้สงบชั่วขณะ  (ขณิกสมาธิ)  การทำจิตให้สงบเกือบจะแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ)  และทำจิตให้สงบในขั้นแน่วแน่  (อัปปนาสมธิ)  หรือขั้นเข้าฌานสมาบัติ

            อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนี้  สามารถที่จะสรุปให้ย่อได้ ดังนี้ คือ

                  (๑)  การพูดชอบ การกระทำชอบและการเลี้ยงชีวิตชอบ ย่อลงในเรื่องศีล

                  (๒)  ความพยายามชอบ  ความระลึกชอบและการตั้งจิตมั่นชอบ ย่อลงในเรื่องสมาธิ

(๓)    ความเห็นชอบ  ความดำริชอบ  ย่อลงในเรื่องปัญญา

 

view