รวมกฎหมายวัด
-พระราชบัญญัติคณะสงฆ์และ กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับวัด -ไวยาวัจกร -การเช่าที่ดินของวัด -การจัดการศาสนสมบัติของวัด
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ( ฉบับที่ ๒ ) พ . ศ . ๒๕๓๕ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๐๕ เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบันและให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่าโดยที่ เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นจึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตรา พระราชบัญญัติไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
มาตรา ๔ ภายในระยะเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บรรดากฎกระทรวง สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับ คณะสงฆ์ ที่ใช้บังคับ อยู่ในวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา ให้คงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระ ราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคมพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับหรือ ระเบียบของมหาเถรสมาคม ยกเลิก หรือมีความอย่างเดียวกันหรือขัดหรือแย้งกันหรือกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๕ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา ๔ บรรดาอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุ ตำแหน่งใดหรือคณะกรรมการสงฆ์ใด ซึ่งไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจกำหนดโดย กฎมหาเถรสมาคมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใดรูปใดหรือหลายรูปร่วม กันเป็นคณะตามที่ เ ห็นสมควรได้
มาตรา ๕ ทวิ ในพระราชบัญญัตินี้
"คณะสงฆ์" หมายความว่า บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจใน หรือนอกราชอาณาจักร
"คณะสงฆ์อื่น" หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย หรืออนัมนิกาย "พระราชาคณะ" หมายความว่า พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้นสามัญจนถึง ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ "สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์" หมายความว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับสถาปนา ก่อนสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ถ้าได้รับสถาปนาในวันเดียวกันให้ถือรูปที่ได้รับสถาปนาในลำดับก่อน
มาตรา ๕ ตรี พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ของ พระภิกษุในคณะสงฆ์มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มี อำนาจออก กฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ * มาตรา ๕ ทวิและมาตรา ๕ ตรี บัญญัติขึ้นโดยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๓๕
หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช
มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอ นามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติ หน้าที่ได้ให้นายกรัฐมนตรีโดย ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดย สมณศักดิ์รองลงมา ตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
มาตรา ๘ สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์และทรงตรา พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม
มาตรา ๙ ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงลาออกจากตำแหน่งหรือพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณา โปรดให้ ออกจากตำแหน่ง พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระสังฆราชหรือ ตำแหน่งอื่นใด ตามพระราชอัธยาศัยก็ได้
มาตรา ๑๐ ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เป็นผู้ ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชถ้าสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่ เหลืออยู่เลือกพระราชาคณะรูปหนึ่งผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราช จะได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคสาม หรือสมเด็จพระราชาคณะซึ่ง ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้นำความ ในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
* มาตรา ๗ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน * มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน ให้รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนามสมเด็จ พระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้ในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) มรณภาพ (๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ (๓) ลาออก (๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก
หมวด ๒ มหาเถรสมาคม
มาตรา ๑๒ มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ โดย ตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมี จำนวนไม่เกินสิบสองรูปเป็นกรรมการ
* มาตรา ๑๒ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน มาตรา ๑๓ ให้ผอ.สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้ สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
มาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
มาตรา ๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จ- พระสังฆราชทรงแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) มรณภาพ (๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ (๓) ลาออก (๔) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก
ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง เป็นกรรมการ แทนกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคก่อนอยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๑๕ ทวิ การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมตามมาตรา ๑๒ และการให้กรรมการ มหาเถรสมาคมพ้น จากตำแหน่งตามมาตรา ๑๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จ- พระสังฆราช
มาตรา ๑๕ ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม (๒) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร (๓) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการและการสาธารณ- สงเคราะห์ของคณะสงฆ์ (๔) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา (๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่งมีมติหรือ ออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้และจะมอบให้พระภิกษุ รูปใดหรือ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๙ เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้
มาตรา ๑๕ จัตวา เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม จะตรากฎมหาเถรสมาคมเพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครอง สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ก็ได้พระภิกษุและสามเณรที่ได้รับโทษตามวรรคหนึ่ง ถึงขั้นให้สละสมณเพศต้องสึกภายในสามวันนับแต่วัน ทราบคำสั่งลงโทษ
* มาตรา ๑๕ ทวิ มาตรา ๑๕ ตรี และมาตรา ๑๕ จัตวา บัญญัติเพิ่มขึ้นโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมไม่อาจมาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมมหาเถร- สมาคมและมิได้มอบหมายให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนให้สมเด็จ พระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นผู้ปฏิบัติ หน้าที่แทน
* มาตรา ๖ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕ และ ให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน
มาตรา ๑๗ การประชุมมหาเถรสมาคมต้องมีกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยการแต่งตั้งรวม กันมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ระเบียบการประชุมมหาเถร- สมาคมให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม
มาตรา ๑๘ ในกรณีที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา๑๕ วรรคสอง ให้ถือว่ามหาเถรสมาคม มีกรรมการเท่าจำนวนที่เหลืออยู่ในขณะนั้น
มาตรา ๑๙ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ตามมติมหา- เถรสมาคมประกอบด้วยพระภิกษุหรือบุคคลอื่นจำนวนหนึ่งมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องที่จะเสนอต่อ มหาเถรสมาคมและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมายโดยขึ้นตรงต่อมหา เถรสมาคมการจัดให้มีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ การแต่งตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการหรืออนุกรรมการ และระเบียบการประชุมให้เป็นไปตามระเบียบมหาเถรสมาคม
หมวด ๓ การปกครองคณะสงฆ์
มาตรา ๒๐ คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
มาตรา ๒๐ ทวิ เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีเจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติ หน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์การแต่งตั้งและการกำหนดอำนาจหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน กฎมหาเถรสมาคม
* มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน
*มาตรา ๒๐ ทวิ บัญญัติเพิ่มขึ้นโดยมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๕๓๕
มาตรา ๒๑ การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้จัดแบ่งเขตปกครองดังนี้ (๑) ภาค (๒) จังหวัด (๓) อำเภอ (๔) ตำบล จำนวนและเขตปกครองดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
มาตรา ๒๒ การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้มีพระภิกษุเป็นผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับ ดังต่อไปนี้ (๑) เจ้าคณะภาค (๒) เจ้าคณะจังหวัด (๓) เจ้าคณะอำเภอ (๔) เจ้าคณะตำบล
เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นสมควรจะจัดให้มีรองเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะอำเภอ และ รองเจ้าคณะตำบล เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะนั้น ๆ ก็ได้
มาตรา ๒๓ การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระภิกษุอัน เกี่ยวกับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
หมวด ๔ นิคหกรรมและการสละสมณเพศ
มาตรา ๒๔ พระภิกษุจะต้องรับนิคหกรรมก็ต่อเมื่อกระทำการล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและนิคหกรรม ที่จะลงแก่พระภิกษุก็ต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย
มาตรา ๒๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔ มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้การลงนิคหกรรมเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม และให้ถือว่า เป็นการชอบด้วยกฎหมายที่มหาเถรสมาคมจะกำหนดในกฎมหาเถรสมาคมให้มหาเถรสมาคม หรือ พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งใดเป็นผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้ล่วง ละเมิดพระธรรมวินัยกับทั้ง การกำหนดให้การวินิจฉัยการลงนิคหกรรมให้เป็นอันยุติในชั้นใด ๆ นั้นด้วย
มาตรา ๒๖ พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด ให้ได้รับนิคหกรรมถ้าให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น
มาตรา ๒๗ เมื่อพระภิกษุรูปใดต้องด้วยกรณีข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ ให้ได้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึกแต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น (๒) ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ (๓) ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง (๔) ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
* มาตรา ๒๗ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทนให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม พระภิกษุผู้ต้อง คำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามวรรคสอง ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น
มาตรา ๒๘ พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่ วันที่คดีถึงที่สุด
มาตรา ๒๙ พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงาน- อัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใด วัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
มาตรา ๓๐ เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการให้ พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น
หมวด ๕ วัด
มาตรา ๓๑ วัดมีสองอย่าง (๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (๒) สำนักสงฆ์ ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป
* มาตรา ๓๑ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕ และ ให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน มาตรา ๓๒ การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย การยุบเลิกวัด และการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ให้ เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณียุบเลิกวัด ทรัพย์สินของวัดที่ถูกยุบเลิกให้ตกเป็น ศาสนสมบัติกลาง
มาตรา ๓๒ ทวิ วัดใดเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัย ในระหว่างที่ยังไม่มีการยุบเลิกวัด ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาวัดนั้น รวมทั้งที่วัดที่ธรณีสงฆ์และทรัพย์สินของวัดนั้นด้วยการยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
*มาตรา ๓๒ ทวิ บัญญัติเพิ่มขึ้นโดยมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕
มาตรา ๓๓ ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัด มีดังนี้ (๑) ที่วัด คือ ที่ซึ่งตั้งวัด ตลอดจนเขตของวัดนั้น (๒) ที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด (๓) ที่กัลปนา คือ ที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา
มาตรา ๓๔ การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นกรณีตามวรรคสองการโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่น ของรัฐ เมื่อมหาเถรสมาคมไม่ขัดข้องและได้รับค่าผาติกรรมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้น แล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดหรือกรมการศาสนา แล้วแต่กรณีในเรื่องทรัพย์สินอันที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง
มาตรา ๓๕ ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี
* มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน
มาตรา ๓๖ วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง และถ้าเป็นการสมควรจะให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วยก็ได้
มาตรา ๓๗ เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (๑) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี (๒) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัด นั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม (๓) เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ (๔) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล
มาตรา ๓๘ เจ้าอาวาสมีอำนาจดังนี้ (๑) ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด (๒) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด (๓) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัดหรือให้ทำทัณฑ์บน หรือให้ ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาสซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วย พระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม
มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาสการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
หมวด ๖ ศาสนสมบัติ
มาตรา ๔๐ ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท (๑) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง (๒) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลาง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนา เพื่อการนี้ให้ถือว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเจ้าของศาสนสมบัติกลางนั้นด้วยการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๑ ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำงบประมาณประจำปีของศาสนสมบัติกลางด้วยความเห็นชอบ ของ มหาเถรสมาคม และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้งบประมาณนั้นได้
หมวด ๗ บทกำหนดโทษ
มาตรา ๔๒ ผู้ใดมิได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ หรือถูกถอดถอนจากความเป็นพระอุปัชฌาย์ ตามมาตรา ๒๓ แล้ว กระทำการบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี * มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๔ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน มาตรา ๔๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๕ จัตวา วรรคสอง มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ วรรคสาม หรือมาตรา๒๘ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี มาตรา ๔๔ ผู้ใดพ้นจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องปาราชิกมาแล้วไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยตาม มาตรา ๒๕ หรือไม่ ่ก็ตาม แต่มารับบรรพชาอุปสมบทใหม่ โดยกล่าวความเท็จหรือปิดบังความ จริงต่อพระอุปัชฌาย์ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี มาตรา ๔๔ ทวิ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราชต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๔๔ ตรี ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่นอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ * มาตรา ๔๔ ทวิ และมาตรา ๔๔ ตรี บัญญัติเพิ่มขึ้นโดยมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕
หมวด ๘ เบ็ดเตล็ด
มาตรา ๔๕ ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็น เจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๖ การปกครองคณะสงฆ์อื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง *มาตรา ๔๖ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ใช้ ความดังที่พิมพ์ไว้แทน
หมายเหตุ
๑. ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ได้บัญญัติเพิ่มเติมอีก ๔ มาตรา คือ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ ดังนี้ มาตรา ๑๘ บรรดากฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคมที่ออกตามพระ ราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๙ วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๒๐ ให้พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์อยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ยังมีสมณศักดิ์นั้นต่อไป ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ กรรมการ หรืออนุกรรมการใดตามพระราชบัญญัติ คณะ สงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ หรือตามกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง ของมหาเถรสมาคมซึ่งออกตาม ความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ.๒๕๐๕ ยังคงดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระการดำรงตำแหน่ง หรือจนกว่ามหาเถรสมาคมจะมีมติเป็นประการอื่น มาตรา ๒๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
๒. ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ๒.๑ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และ ๒.๒นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๓๕
ดาวน์โหลด จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ความหมายของไวยาวัจกร
ไวยาวัจกร หมายถึง ผู้ทำกิจธุระแทนภิกษุหรือสงฆ์ , ผู้จัดการขวนขวายแทนภิกษุหรือสงฆ์ ไวยาวัจกร หมายถึง ผู้ทำกิจธุระแทนสงฆ์, ผู้ช่วยขวนขวายทำกิจธุระ, ผู้ช่วยเหลือรับใช้พระ
ไวยาวัจกรตามพระวินัย ตามพระวินัย มีไวยาวัจกร ที่ปรากฏในสิกขาบทที่ ๑๐ จีวรวรรคที่ ๑ นิสัคคิยปาจิตตีย์ ๓ ความว่า "ถ้าใคร ๆ นำทรัพย์มาเพื่อค่าจีวรแล้วถามภิกษุว่า ใครเป็นไวยาวัจกรของเธอ ถ้าภิกษุต้องการจีวร ก็พึงแสดงคนวัดหรืออุบาสกว่า ผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ครั้นเขามอบหมายไวยาวัจกรนั้นแล้ว สั่งภิกษุว่า ถ้าต้องการจีวร ให้เข้าไปหาไวยาวัจกร ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาเขาแล้วทวงว่า เราต้องการจีวรดังนี้ได้ ๓ ครั้ง ถ้าไม่ได้จีวร ไปยืนแต่พอเขาเห็นได้ ๖ ครั้ง ถ้าไม่ได้ขืนไปทวงให้เกิน ๓ ครั้ง ยืนเกิน ๖ ครั้ง ได้มา ต้องนิสัคคิยปาจิตตีย์ถ้าไปทวงและยืนครบกำหนดแล้วไม่ได้จีวรจำต้องไปบอกเจ้าของเดิมว่าของนั้นไม่สำเร็จประโยชน์แก่ตน ให้เขาเรียกเอาของเขาคืนมาเสียอธิบายความตามวินัยมุข ๔ เล่ม ๑ กัณฑ์ที่ ๖ สิกขาบทที่ ๑๐ ว่า อนึ่ง พระราชาก็ดีราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คฤหบดีก็ดี ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า เจ้าจงจ่ายจีวร ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้แล้ว ยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าทูตนั้น เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ นำมาเฉพาะท่าน ขอท่านจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร ภิกษุนั้น พึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่า พวกเราหาได้รับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่ พวกเรารับแต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาล ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ใครๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือภิกษุผู้ต้องการจีวร พึงแสดงชนผู้ทำการในอาราม หรืออุบาสก ให้เป็นไวยาวัจกร ด้วยคำว่า คนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของพระภิกษุทั้งหลาย ถ้าทูตนั้น สั่งไวยาวัจกรนั้นให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า คนที่ท่านแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว ท่านจงเข้าไปหาเขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาลภิกษุผู้ต้องการจีวร เข้าไปหาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือน ๒-๓ ครั้ง ว่า เราต้องการจีวร ภิกษุทวงอยู่ เตือนอยู่ ๒-๓ ครั้ง ยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ พึงเข้าไปยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมากยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ถ้าเธอพยายามให้ยิ่งกว่านั้น ยังจีวรนั้นให้สำเร็จ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถ้าให้สำเร็จไม่ได้พึงไปเองก็ดีส่งทูตไปก็ดี ในสำนักที่ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรมา เพื่อเธอ บอกว่า ท่านส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปเฉพาะภิกษุใด ทรัพย์นั้นหาสำเร็จประโยชน์น้อยหนึ่งแก่ภิกษุนั้นไม่ ท่านจงทวงเอาคืนทรัพย์ของท่าน ทรัพย์ของท่านอย่าได้ฉิบหายเสียเลย. นี้เป็นสามีจิกรรม.(คือการชอบ) ในเรื่องนั้นไวยาวัจกรที่ปรากฏในวินัยมุข เล่ม ๒ กัณฑ์ที่ ๒๐ กล่าวว่า "ที่กัลปนา คือที่นาที่สวนและที่อย่างอื่นอีกอันทายกผู้เจ้าของบริจาคไว้เพื่อเป็นค่าปัจจัยบำรุงสงฆ์ เช่นเรียกในบัดนี้ว่าที่ธรณีสงฆ์ในบาลี แสดงครุภัณฑ์ ไม่ได้กล่าวถึง แต่ในบาลีเภสัชชขันธกะกล่าวไว้แต่ไม่ชัดความดังนี้ พืชของบุคคลอันเพาะปลูกในพื้นที่ของสงฆ์ เจ้าของพึงให้ส่วนแล้วบริโภค นี้ก็ได้แก่ที่นาหรือที่สวนมีคนเช่าถือ เสียค่าเช่าให้แก่สงฆ์. ที่กัลปนานี้ อนุโลมเข้าในบทอารามวัตถุ เป็นครุภัณฑ์ ของอันเกิดขึ้นในที่นั้นหรือจะเรียกว่าค่าเช่าก็ตามที่ทายกผู้ถวายไม่ได้ กำหนดเฉพาะปัจจัย ต้องการด้วยปัจจัยอย่างใด จะน้อมไปเพื่อปัจจัยอย่างนั้น ควรอยู่ที่ทายกผู้ถวายกำหนดเฉพาะ เสนาสนปัจจัย ต้องน้อมเข้าไปในเสนาสนะเท่านั้น.ถ้าไวยาวัจกรสงฆ์ดูแลทำที่กัลปนานั้นเอง ไม่ได้ให้มีผู้เช่าถือ จ่ายผลประโยชน์อันเกิดในที่นั้น ให้แก่ผู้ทำผู้รักษาตามส่วนได้อยู่. ผู้ทำผู้รักษามีกรรมสิทธิ์ในของอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นเท่าส่วนอันตนจะพึงได้. อีกฝ่ายหนึ่ง ในบาลีเภสัชชขันธกะนั้นเองกล่าวว่า พืชของสงฆ์เพาะปลูกในที่ของบุคคล พึงให้ส่วนแล้วบริโภค น่าจะได้แก่การที่ไวยาวัจกรสงฆ์เช่านาหรือสวนของคนอื่นทำเป็นของสงฆ์ เช่นนี้ ท่านยอมให้จ่ายผลประโยชน์ของสงฆ์ให้ เป็นค่าเช่า ค่าถือแก่เจ้าของที่ การเช่นนี้ยังไม่เคยได้ยินว่ามีสักรายหนึ่ง มีแต่บุคคลเช่าที่ของสงฆ์ทั้งนั้น"
ไวยาวัจกรตามกฎกระทรวง
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ข้อ ๖ ให้เจ้าอาวาสจัดให้ ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้งทำบัญชีรับจ่ายเงิน ของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทินให้ทำบัญชีเงินรับจ่ายและคงเหลือ ทั้งนี้ให้เจ้าอาวาสตรวจตราดูแลให้ เป็นไปโดยเรียบร้อยและถูกต้อง ข้อ ๗ ในกรณีที่วัด เจ้าอาวาสไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดถูกฟ้องหรือถูกหมายเรียกเข้าเป็นโจทก์ ร่วมหรือจำเลยร่วม ในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลรักษา และจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เจ้าอาวาสแจ้งต่อกรมการศาสนา หรือ ศึกษาธิการจังหวัด ที่วัดตั้งอยู่ให้ทราบไม่ช้ากว่าห้าวัน นับแต่วันรับหมาย
ไวยาวัจกรตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
มาตรา ๒๓ การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับ ตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่นๆ และไวยาวัจกรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม มาตรา ๔๕ ให้ถือว่าพระภิกุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาไวยาวัจกรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีที่มีการมอบหมายให้ไวยาวัจกรดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินของวัด ไวยาวัจกรมีฐานะเป็น "ตัวแทน" ของวัดในการจัดการทรัพย์สินของวัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจ ชำระใหม่ (พ.ศ. ๒๕๓๕)
ไวยาวัจกรตามประมวลกฎหมายอาญา
ไวยาวัจกรมีฐานะเป็น "เจ้าพนักงาน" ตามประมวลกฎหมายอาญาจึงได้รับการคุ้มครองและควบคุมตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้ มาตรา ๑๓๖ ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตาม หน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๔๗ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสียต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือ จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
หน้าที่ของไวยาวัจกร ๑. หน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต ๒. หน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ
หน้าที่ไวยาวัจกรประเภทที่ ๑ ได้แก่หน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัตจากส่วนราชการที่ได้ตั้งนิตยภัตถวายแก่พระ ภิกษุในวัดนั้น ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนี้ ไวยาวัจกรจะต้องได้รับหนังสือมอบหมายจากเจ้าอาวาส เพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการผู้จ่ายนิตยภัตตามระเบียบของทางราชการ
ส่วนหน้าที่ไวยาวัจกรประเภทที่ ๒ คือ หน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดซึ่งต้องมีหนังสือมอบหมายของเจ้า อาวาสเป็นหลักฐาน เนื่องจากศาสนสมบัติของวัดมีอยู่มากมายหลายชนิด บางส่วนสำหรับใช้ในการพระศาสนาและบางส่วนก็มิได้ใช้ในการพระศาสนา นอกจากนี้ วิธีการดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัด ก็อาจกระทำได้หลายวิธีด้วยกันฉะนั้น ทรัพย์สินส่วนใดจะมอบหมายให้ไวยาวัจกรจัดการโดยวิธีใดจึงจำเป็นต้องมี "หนังสือ" มอบหมายของเจ้าอาวาสเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกและป้องกันมิให้เกิดข้อบกพร่อง หรือข้อยุ่งยากในการปฏิบัติหน้าที่ของไวยาวัจกรแต่อย่างไรก็ดี ในการปฏิบัติหน้าที่ของไวยาวัจกรประเภทที่ ๒ ถึงแม้ว่าจะได้รับหนังสือมอบหมายจากเจ้าอาวาสเป็นหลักฐานไว้แล้วก็ตาม ไวยาวัจกรจะดำเนินการไปโดยอิสระตามความพอใจของตนก็หาไม่ จะต้องจัดการให้เป็นไปโดยชอบด้วยบทบัญญัติในมาตรา ๔๐ วรรค ๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ กล่าวคือ ต้องให้เป็นไปตาม "วิธีการ"ที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยนัยนี้ ถ้าไวยาวัจกรปฏิบัติการใดๆ โดยไม่ได้รับหนังสือมอบหมายจากเจ้าอาวาสก็ดีหรือได้รับหนังสือมอบหมายจากเจ้าอาวาสแล้ว แต่กระทำไปโดยมิชอบด้วยวิธีการตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงก็ดี ต้องถือว่าได้กระทำไปโดยนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของตนแล้วแต่กรณี หากเกิดข้อบกพร่อง หรือเสียหายขึ้นด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว ไวยาวัจกรจะต้อง "รับผิดชอบ" ในความบกพร่องหรือความเสียหายนั้นโดยนัยเดียวกัน ถ้าเจ้าอาวาสมอบหมายให้ไวยาวัจกรปฏิบัติการใดๆ โดยมิได้มอบหมายเป็นหนังสือ ตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๒ นี้แล้ว หากเกิดข้อบกพร่องหรือเสียหายขึ้นด้วยเหตุดังกล่าวแล้วเจ้าอาวาสจะต้องร่วม "รับผิดชอบ" ในความบกพร่องหรือความเสียหายนั้นด้วย
ความรับผิดชอบของไวยาวัจกร
โดยที่ไวยาวัจกร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดประโยชน์ศาสนสมบัติของวัดอันเป็น ทรัพย์สินของ "พระศาสนา" นอกจากจะมีบทบัญญัติกำหนดขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ไวยาวัจกร พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร ตลอดจน "ความรับผิดชอบ" ในหน้าที่ของไวยาวัจกรไว้เป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับความรับผิดชอบของข้าราชการฝ่ายบ้านเมือง ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินแผ่นดินหรือของ "ชาติ" ซึ่งแยกออก พิจารณาได้เป็น ๒ ส่วน คือ ๑. ความรับผิดชอบในทางแพ่ง ๒. ความรับผิดชอบในทางอาญา ส่วนความรับผิดชอบของไวยาวัจกรในข้อที่ ๑ คือ ความรับผิดชอบในทางแพ่งนั้นหมายถึงความรับผิดชอบในฐานะที่ไวยาวัจกรเป็น "ตัวแทนของวัด" ซึ่งเป็นนิติบุคคล ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๑ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ถ้าไวยาวัจกรกระทำการใดๆ โดยมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของไวยาวัจกรหรือมิชอบด้วยสิทธิหน้าที่ของวัด หากเกิดความเสียหายแก่วัดหรือบุคคลภายนอกก็ตาม ไวยาวัจกรผู้นั้นต้องรับผิด ต้องรับใช้ความเสียหายนั้นแก่วัด หรือบุคคลภายนอกแล้วแต่กรณี ตามประมวลผลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ ๑๕ ตัวแทน ความรับผิดชอบของไวยาวัจกรในข้อที่ ๒ คือ ความรับผิดชอบในทางอาญานั้น หมายถึง ความรับผิดชอบ ในฐานที่ไวยาวัจกรเป็น "เจ้าพนักงาน" ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๕แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มีความว่า "มาตรา ๔๕ ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และ ไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" ตามบทบัญญัติในมาตรา ๔๕ ซึ่งยกฐานะของไวยาวัจกรให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาเช่นนี้ มิใช่มีความมุ่งหมายแต่เพียง "ควบคุม" การปฏิบัติหน้าที่ของไวยาวัจกรเท่านั้น ยังมีความมุ่งหมายเพื่อ "คุ้มครอง" การปฏิบัติหน้าที่ของไวยาวัจกรอีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะในประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติแยกความผิดเกี่ยวกับเจ้าพนักงานไว้เป็น ๒ ลักษณะ คือ ความผิดเกี่ยวกับความยุติธรรมและความผิดทั้ง ๒ ลักษณะยังแบ่งออกเป็น ๒ หมวด คือ ๑. ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ๒. ความผิดต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน นอกจากนี้ยังได้บัญญัติความผิดเกี่ยวกับเรื่องเจ้าพนักงานไว้ในลักษณะและ หมวดอื่นๆอีกในประมวลกฎหมายอาญา แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องและสำคัญเท่านั้นโดยนัยนี้ถ้ามีผู้ใดกระทำผิดต่อไวยาวัจกรผู้กระทำตามหน้าที่ต้องด้วยกรณี อย่างไรอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ว่าด้วยความผิดต่อเจ้าพนักงาน หรือในลักษณะหรือหมวดอื่นๆแล้ว ก็ต้องมี ความผิดและรับโทษทางอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในกรณีนั้นๆ ขอนำตัวอย่างมาประกอบการพิจารณาเฉพาะแต่เพียงบางกรณี ตัวอย่าง เช่น ผู้ใดดูหมิ่นไวยาวัจกร ซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ต้องมีความผิดฐาน "ดูหมิ่น" เจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๖โดยนัยเดียวกัน ถ้าไวยาวัจกรผู้ใดกระทำผิดต่อหน้าที่ของตนต้องด้วยกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในหมวดความผิดต่อเจ้าหน้าที่เจ้าพนักงาน หรือในลักษณะและหมวดอื่นๆ แล้ว ก็ต้องมีความผิดและรับโทษทางอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในกรณีนั้นๆ ตัวอย่าง เช่น ถ้าไวยาวัจกรผู้ใดเบียดบังยักยอกทรัพย์สินของวัด อันอยู่ในความครอบครองของตนตามหน้าที่ต้องมีความผิดฐานเจ้าพนักงาน "ยักยอก" ทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๗ หรือ ถ้าไวยาวัจกรผู้ใดใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นการเสียหายแก่วัด ต้องมีความผิดฐานเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่และตำแหน่งหน้าที่ในทาง "ทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๑ หรือถ้าไวยาวัจกรผู้ใดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ต้องมีความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดย "มิชอบ" หรือโดยทุจริตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๗ มีความว่ามาตรา ๑๕๗ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ต้องระหว่างโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับการแต่งตั้งไวยาวัจกรเนื่องจากไวยาวัจกรต้องรับภาระปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญเกี่ยวกับผลประโยชน์ ส่วนได้ส่วนเสียของวัดและพระศาสนาอยู่หลายประการ เพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อบกพร่องเสียหายในการปฏิบัติหน้าที่ของไวยาวัจกรดัง กล่าวมาแล้ว จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งไวยาวัจกรไว้เป็น พิเศษ ซึ่งแยกสาระสำคัญออกพิจารณา ได้เป็น ๔ ส่วน คือ ๑. หลักเกณฑ์การแต่งตั้งไวยาวัจกร ๒. วิธีการแต่งตั้งไวยาวัจกร ๓. การแต่งตั้งไวยาวัจกรหลายคน ๔. การแต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่งไวยาวัจกร
หลักเกณฑ์การแต่งตั้งไวยาวัจกร
คฤหัสถ์ที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งให้เป็นไวยาวัจกร ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ ข้อ ๖ คฤหัสถ์ผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกร ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อ ไปนี้ (๑) เป็นชาย มีสัญชาติไทย นับถือพระพุทธศาสนา (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ (๓) เป็นผู้มีหลักฐานมั่นคง (๔) เป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ ไวยาวัจกรได้ (๕) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองตามระบบรัฐธรรมนูญ (๖) ไม่เป็นผู้ที่มีร่างกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือมีโรคเป็นที่รังเกียจแก่สังคม (๗) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี เช่น มีความ ประพฤติเสเพล เป็นนักเลงการพนัน เสพสุราเป็นอาจิณ หรือติดยาเสพติดให้โทษ (๘) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว (๙) ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษให้ออกจากราชการ หรือ องค์การของรัฐบาล หรือบริษัทห้างร้านเอกชน ใน ความผิดหรือมีมลทินมัวหมองในความผิดเกี่ยวกับการเงิน (๑๐) ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติในข้อ ๖ โดยตลอดแล้ว จะเห็นได้ว่าได้กำหนด "คุณสมบัติ" ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งไวยาวัจกรไว้มากถึง ๑๐ ประการ ทั้งนี้ โดยมีเหตุผลและความมุ่งหมายอันสำคัญอยู่หลายประการ แต่ถ้าจะกล่าวโดยสรุปแล้ว ก็เพื่อให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่ไวยาวัจกร ซึ่งแยกพิจารณาโดยสังเขป ได้ดังนี้ (๑) เนื่องจากในการปฏิบัติหน้าที่ของไวยาวัจกร จะต้องมีการติดต่อประสานงานกับบุคคล "หลายฝ่าย" เช่น เจ้าอาวาสและบรรพชิตในวัดนั้นฝ่ายหนึ่งเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องฝ่ายหนึ่ง ตลอดถึงประชาชนทั่วไปอีกฝ่ายหนึ่ง จึงจำเป็นต้องกำหนด "คุณสมบัติ" เกี่ยวกับเรื่องเพศ วัย สัญชาติ ศาสนา หลักฐานการครองชีพ ความรู้ความสามารถความคิดเห็นทางการเมือง รวมทั้งมีร่างกายและจิตใจอันสมบูรณ์ ดังที่ได้บัญญัติไว้ตั้งแต่ประการที่ ๑ ถึงประการที่ ๖ ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งหมายเพื่อให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้นให้ดำเนิน ไปโดยเรียบร้อย (๒) นอกจากนี้ ไวยาวัจกรยังมีหน้าที่อันสำคัญอีกส่วนหนึ่งกล่าวคือ มีหน้าที่ต้องรับ เก็บรักษา และเบิกจ่าย "เงินศาสนสมบัติ" ของวัดเป็นจำนวนมากตามที่เจ้าอาวาสมอบหมาย จึงจำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับเรื่อง "ความประพฤติ"มิให้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ไม่เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่เคยมีความผิดเสียหายเกี่ยวกับการเงิน ตลอดถึงไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเพราะกระทำผิดอาญามาก่อน ดังที่ได้บัญญัติไว้ตั้งแต่ประการที่ ๗ ถึงประการที่ ๑๐ ทั้งนี้ โดยมุ่งหมายเพื่อให้ได้ผู้ที่มีเกียรติเป็นที่เชื่อถือไว้ว่างใจ และเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตบกพร่องเสียหายแก่ทรัพย์สินของวัดและพระ พุทธศาสนาฉะนั้น ในเรื่อง "คุณสมบัติ" ของไวยาวัจกรทั้ง ๑๐ ประการ ตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๖นี้ จึงจัดเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือกและแต่งตั้งไวยาวัจกร เพราะถ้าปรากฏว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกรนั้น "บกพร่อง" จากคุณสมบัติเพียงประการใดประการหนึ่ง การแต่งตั้งย่อมไม่เป็นการสมบูรณ์ตามกฎหมายนอกจากนี้ยังต้องดำเนินการให้ชอบด้วย "วิธีการ" แต่งตั้งตามที่บัญญัติไว้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะได้พิจารณาในลำดับต่อไป
วิธีการแต่งตั้งไวยาวัจกร
เนื่องจากมีบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติของไวยาวัจกรไว้เป็นหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งดังกล่าวแล้ว จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติกำหนด "วิธีดำเนินการ" แต่งตั้งไวยาวัจกรไว้อีกส่วนหนึ่ง เพื่อควบคุมการแต่งตั้งให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย ดังที่บัญญัติไว้ในข้อ ๗ มีความว่า
ข้อ ๗ ในการแต่งตั้งไวยาวัจกรของวัดใด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัดนั้นปรึกษาสงฆ์ในวัดพิจารณาคัดเลือก คฤหัสถ์ผู้มีคุณสมบัติตามควมในข้อ ๖ เมื่อมีมติเห็นชอบในคฤหัสถ์ผู้ใดก็ให้เจ้าอาวาสสั่งแต่งตั้งคฤหัสถ์ผู้นั้น เป็นไวยาวัจกร โดยอนุมัติของเจ้าคณะอำเภอในการแต่งตั้งไวยาวัจกร เพื่อความเหมาะสมจะแต่งตั้งไวยาวัจกรคนเดียว หรือหลายคนก็ได้ ในกรณีที่ไวยาวัจกรหลายคน ให้เจ้าอาวาสมอบหมายหน้าที่การงาน ให้แก่ไวยาวัจกรแต่ละคนเป็นหนังสือตามความในมาตรา ๓๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ บัญญัติหน้าที่เจ้าอาวาสไว้ว่า "บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นได้ด้วยดี" และวิธีจัดการศาสนสมบัติของวัดซึ่งกำหนดในกฎกระทรวง ก็เป็นวิธีการอันละเอียดและเหมาะสมแก่คฤหัสถ์ ที่บัญญัติให้มีไวยาวัจกรก็เพื่อให้ช่วยงานเจ้าอาวาสในการนี้ ซึ่งเจ้าอาวาสจะมอบหมายเป็นหนังสือ ขอแนะแนวปฏิบัติ ดังนี้
หลักเกณฑ์การแต่งตั้ง ให้แต่งตั้งในเมื่อไวยาวัจกรว่างลงหรือที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับปริมาณงาน เฉพาะที่ไวยาวัจกรว่างลง จะแต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่งไวยาวัจกรเป็นการชั่วคราวก่อนก็ได้ การแต่งตั้งไวยาวัจกรนั้น กำหนดคุณสมบัติอันเป็นหลักเกณฑ์ไว้หลายอย่าง เช่น เป็นชาย มีสัญชาติไทย นับถือพระพุทธศาสนา มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ เป็นต้น (ตามข้อ ๖ กฎ ๑๘)
วิธีแต่งตั้ง ให้เจ้าอาวาสปรึกษาสงฆ์ในวัดพิจารณาคัดเลือกคฤหัสถ์ผู้มีคุณสมบัติตามกฎมหาเถรสมาคมเพื่อขออนุมัติแต่งตั้ง มติแห่งการปรึกษานั้น ต้องเห็นพ้องกัน เมื่อปรึกษาแล้วให้ขออนุมัติจากเจ้าคณะอำเภอโดยเสนอผ่านเจ้าคณะตำบล รับอนุมัติแล้วจึงแต่งตั้ง เมื่อแต่งตั้งแล้วต้องรายงานการแต่งตั้งต่อเจ้าคณะอำเภอและแจ้งนายอำเภอเพื่อแจ้งสำนักงานพระ พุทธศาสนาแห่งชาติ และควรแจ้งให้สงฆ์และทายกทายิกาวัดนั้นทราบด้วย ข้อพิเศษ การแต่งตั้งไวยาวัจกร ต้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ จึงเป็นการแต่งตั้งที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องทำหนังสือมอบหมายการงานให้รับปฏิบัติและถ้าแต่งตั้งแทนคนเดิม ต้องสั่งให้ไวยาวัจกรคนเดิมหรือทายาทมอบหมายการงานพร้อมด้วยทรัพย์สินและ หลักฐานต่าง ๆซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้นั้นให้แก่ไวยาวัจกรคนใหม่ด้วย
วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล
โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไปที่ดินของวัด มี ๓ ประเภท คือ
๑. ที่วัด คือ ที่ตั้งวัดตลอดเขตของวัด ๒. ที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด ๓. ที่กัลปนา คือ ที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดการดูแลจัดการศาสนสมบัติของวัดเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาส ซึ่งต้องจัดให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความใน พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
สรุป
๑. ที่ตั้งวัด ถ้ามีการกันเขตเพื่อจัดประโยชน์ ทำได้หลังจากได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม ๒. การให้เช่าที่ดิน อาคาร ต้องทำทะเบียนไว้ให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน ๓. การให้เช่าที่ตั้งวัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ ที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา มีกำหนดเกิน ๓ ปีจะทำได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติคำชี้แจงเพิ่มเติมและรายละเอียดอื่น ๆ
๑.ให้เช่าปีต่อปี หรือไม่เกิน ๓ ปี วัดทำสัญญาเช่าได้ โดยให้ไวยาวัจกรที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในสัญญา ๒.ให้เช่าเกิน ๓ ปี รายงานขอความเห็นชอบจาก สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงทำสัญญาเช่าได้ ๓.ให้เช่าเพื่อการพาณิชย์ ไม่ว่ากี่ปี ต้องรายงานของความเห็นชอบก่อน ๔.ให้เช่าที่ตั้งวัด ต้องขออนุมัติมหาเถรสมาคมก่อน โดยส่งแผนผังบริเวณที่จะขอกันไว้ขัดประโยชน์ไปอนุมัติ ๕. สัญญาเช่าให้ทำตามแบบที่ สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด ๖.ราคาค่าเช่า ให้คิดตามราคาที่ สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ กำหนดไว้เป็นอย่างต่ำหากตกลงราคาไว้สูงกว่าที่กำหนด ให้ถือเอาราคาที่ได้ตกลงกันไว้เช่าอยู่อาศัย
สัญญารายปี ในเขตเทศบาล ไม่ต่ำกว่าตารางวาละ ๑ บาทต่อเดือน นอกเขตเทศบาล ไม่ต่ำกว่าตารางวาละ ๕๐ สตางค์ต่อเดือน ในการทำสัญญาครั้งต่อไป หากเช่าเกิน ๑๐๐ ตารางวา ให้เพิ่มอีก ๕๐% ของค่าเช่า๑๐๐ตารางวาแรก ค่าบำรุง ค่าเช่าตารางวาละ ๕๐ สตางค์ คิดตารางวาละ ๓๐ บาท ค่าเช่าตารางวาละ ๑ บาท คิดตารางวาละ ๔๐ บาท สัญญานานปี คิดจากราคาจากทำเลที่ตั้งและราคาประเมิน ส่วนค่าบำรุงคิด ๑๐%ของราคาประเมิน เช่าปลูกอาคารพาณิชย์แสวงหาประโยชน์ คิดราคาจากทำเลที่ตั้งและราคาประเมิน /ค่าบำรุง คิด ๒๐%ของราคาประเมิน / ปรับราคาทุก ๕ ปี เช่าทำสวน ไร่ละไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ บาท ปลูกพืชที่เก็บเกี่ยวผลได้ภายใน ๑๒ เดือน คิดไร่ละ ๑๕๐ บาท เช่าทำนา ให้เก็บค่าเช่า ตามที่คณะกรรมการค่าเช่าทำนาตำบล กำหนด
ส่วนราชการเช่าตั้งที่ทำการ
๑) คิด ๐.๒๐% ของราคาประเมินที่ดินต่อปี หรือ ๒) ๔ ไร่แรก ตารางวาละ ๑๐ สตางค์ต่อเดือน เกิน ๔ ไร่ ตารางวาละ ๒๕ สตางค์ต่อเดือนแบบไหนสูงกว่าให้ถือเอาราคานั้นรัฐวิสาหกิจ / สหกรณ์ / หน่วยราชการเช่าหรือจัดหาประโยชน์คิดค่าเช่าเหมือนเอกชน
เอกสารเกี่ยวข้อง :
พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไข ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๑๑) มติมหาเถรสมาคมให้กันเขตจัดประโยชน์ มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ ครั้งที่ ๑๔/๒๕๒๑ มติกรร พศป. ครั้งที่ ๖/๒๕๓๙ พรบ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๒๔
การจัดการศาสนสมบัติของวัด
กฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑)ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญติคณะสงฆ์พ.ศ.๒๕๐๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การได้ทรัพย์สินมาเป็นศาสนสมบัติของวัด ให้ลงทะเบียนทรัพย์สินของวัดไว้เป็นหลักฐานและเมื่อต้องจำหน่ายทรัพย์สิน นั้นไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้จำหน่ายออกจากทะเบียนนั้น โดยระบุเหตุแห่งการจำหน่ายไว้ด้วยการได้มาซึ่งที่ดินหรือสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน เมื่อได้จดทะเบียนการได้มาตามกฎหมายแล้วสำหรับวัดในเขตจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี ให้ส่งหลักฐานการได้ไปเก็บรักษาไว้ที่กรมการศาสนา สำหรับวัดในเขตจังหวัดอื่น ให้ส่งไปเก็บรักษาไว้ ณ ที่ทำการศึกษาธิการจังหวัดนั้น
ข้อ ๒ การกันที่ดินซึ่งเป็นที่วัดให้เป็นที่จัดประโยชน์ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อกรมการศาสนาเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม
ข้อ ๓ การให้เช่าที่ดินหรืออาคาร ให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้ง ทำทะเบียนทรัพย์สินที่จัดประโยชน์ ทะเบียนผู้เช่าหรือผู้อาศัยไว้ให้ถูกต้องและให้เก็บรักษาทะเบียนและหนังสือ สัญญาเช่าไว้เป็นหลักฐานที่วัดหรือจะฝากกรมการศาสนาให้เก็บรักษาไว้ก็ได้
ข้อ ๔ การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนาหรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ ที่มีกำหนดระยะเวลากาเช่าเกินสามปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา
ข้อ ๕ การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกินสามพันบาทขึ้นไปให้เก็บรักษาโดยฝากการการศาสนา จังหวัด อำเภอ หรือธนาคาร หรือนิติบุคคลที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบทั้งนี้ให้ฝากในนามของวัดการดูแล รักษาและจัดการเงินการกุศลที่มีผู้บริจาค ให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริจาค
ข้อ ๖ ให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้ง ทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทินให้ทำบัญชีเงินรับจ่ายและคงเหลือทั้งนี้ให้เจ้าอาวาสตรวจตราดูแลให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและถูกต้อง
ข้อ ๗ ในกรณีที่วัด เจ้าอาวาส ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัดถูกฟ้องหรือถูกหมายเรียกเข้าเป็นโจทย์ร่วมหรือ จำเลยร่วมในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลรักษา และจัดการศาสนสมบัติ ของวัด ให้เจ้าอาวาสแจ้งต่อกรมการศาสนาหรือศึกษาธิการจังหวัด ที่วัดตั้งอยู่ทราบไม่ช้ากว่าห้าวันนับแต่วันรับหมาย
ข้อ ๘ ให้กรมการศาสนากำหนดแบบทะเบียน บัญชี แบบสัญญา และแบบพิมพ์อื่น ๆและให้คำแนะนำการปฏิบัติแก่วัดเกี่ยวกับ การดูแลรักษา และจัดการศาสนสมบัติของวัด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
(ขอขอบคุณที่มาจาก www.watyaichaimongkol.net)
|