มิลินทปัญหา
(๑) อารัมภบท
(๒) อดีตชาติ
(๓) กำเหนิดพระยามิลินท์
(๔) สนทนาธรรม
(๕) ปูรณกัสสปะแก้ปัญหา
(๖) มักขลิโคสาลแก้ปัญหา
(๗) ทรงปริวิตก
(๘) สมณพราหมณ์หนี
(๙) อัญเชิญพระมหาเสนเทวบุตร
(๑๐) พรหมทัณฑ์
(๑๑) จุติจากเทวโลก
(๑๒) จบคัมภีร์ไตรเภท
(๑๓) รู้วาระจิต
(๑๔) โทษของการครองเรือน
(๑๕) นาคเสนออกบวช
(๑๖) บรรพชา
(๑๗) จบพระอภิธรรม
(๑๘) อุปสมบท
(๑๙) รับคำพระอุปัชฌาย์
(๒๐) โปรดอุบาสิกา
(๒๑) สู่กรุงปาตลีบุตร
(๒๒) บรรลุพระอรหัตต์
(๒๓) รับเถรบัญชา
(๒๔) พระอายุบาล
(๒๕) ได้ข่าวพระนาคเสน
(๒๖) นิมนต์พระนาคเสน
(๒๗) รับคำนิมนต์
(๑) อารัมภบท.
ยังมีวงศวเรศกษัตริย์ทรงพระนามบัญญัติชื่อว่ากรุงมิลินท์ เป็นปิ่นมนุษย์ในสาคลราชธานีนคร
พระองค์เสด็จเข้าไปใกล้แล้วไต่ถาม ซึ่งปัญหาแก่พระนาคเสนนั้น มีอุปมาดุจกระแสน้ำในคงคาทั้ง
๕ ห้วง อันไหลล่วงเข้าสู่สมุทรสาครอันใหญ่ จะได้ไหลละหลั่งถั่งเทไปอื่นหามิได้ ถึงจะไหลมาอีก
สักเท่าไร จะได้ล้นไปหามิได้ น้ำในคงคาเปรียบเหมือนพระบวรปรีชาของพระเจ้ามิลินท์ และพระ
มหาสมุทรนั้นเปรียบดังพระบวรปรีชาปัญญาของพระบวรเสนนี้
คัมภีรภาพลึกซึ้งไม่รู้สิ้นสุด เหมือนพระมหาสมุทรอันลึกและกว้างใหญ่ ถึงพระเจ้ามิลินท์จะถาม
ปัญหาไปสักเท่าไรก็ไม่รู้จนไม่รู้สิ้นปัญญาถึงปัญหาจะคัมภีรภาพจะลึกซึ้งประการใด พระนาค
เสนก็แก้ได้วิจิตรแจ้งไปด้วยอุปมาอุปไมยให้รุ่งเรืองสว่างสติปัญญา มีอุปมาดุจหนึ่งว่าอุกกาธาร
ใต้และเทียนและคบเพลิงอันส่องแสงในที่มืดให้สว่างกระจ่างแจ้งไปในเพลาราตรีเมื่อแรมโรย
รัศมีมีพระจันทร์ ข้อปุจฉาและวิสัชนากันแห่งท่านทั้งสอง ก็ต้องนัยและอรรถะ
อันมีในพระปริยัติไตรปิฎก ยกเอามาเป็นข้อ ๆ ถามแก้ซึ่งกันและกัน ฟังแล้วเป็นอัศจรรย์ไพเราะ
แก่โสต เป็นที่จะให้เกิดปราโมทย์ปรีดา โลมชาติชูชันบังเกิดขนพองสยองเกสาแห่งบุคคลอันมา
ได้ฟังในกาลครั้งนั้น เป็นคำระบือลือชาแห่งคนทั้งหลายโดยปริยายได้ฟังเล่ากันมาว่า เมืองสา
คลนครราชธานีที่พระเจ้ามิลินท์เป็นปิ่นเฉลิมนั้นมีแม่น้ำและภูเขาล้อมรอบประกอบด้วยสวนอุ
ทายและที่สนามน้ำและที่โบกขรณีสระศรีสาโรช อุโฆษกึกก้องด้วยเสียงนกร่ำร้องเที่ยวท่องโผผิน
บินไปมาในวนารามคือสวนต้นไม้
อนึ่ง กรุงสาคลราชธานีนั้น หาภัยปัจจามิตรทีจะคิดทรยศประทุษร้ายรบราฆ่าฟันกันมิได้มี
เหตุประกอบไปด้วยเขื่อนประตูคูค่าย หอรบเชิงเทินทั้งหลาย ล้อมรอบด้วยกำแพง มีกลอนทวาร
มั่นคง คนเฝ้าเล่าก็แน่นหนาหากรักษาเป็นอันดี อนึ่ง ในราชธานีประกอบด้วยวิถีถนนคนเดินเวียน
แวะไปโดยรีและสกัดมิได้ขัดขวาง ถนนหนทรงราบรื่น แต่พื้นก่อด้วยหินศิลาแลงเป็นหนทางใหญ่
ไปสี่แพร่ง สองข้างนั้นประกอบด้วยตลอดตั้งร้านรายเรียงไป ดูนี้สนุกนักหนา อนึ่งก็มั่งคั่งด้วยช้าง
ม้ารี้พลเกลื่อนกล่นไปด้วยนรชาติหนุ่มและสาวหญิงชายดาษไปด้วยตระกูลทั้งหลายอเนกนานา คือ
ตระกูลกษัตริย์สุริยวงศา พ่อค้าชาวนาพราหมณ์คหบดีเศรษฐีเสวกามาตย์ ข้าราชาการ บ้านเรือน
รั้วเวียงเคียงกันเป็นแถว ๆ ดูแล้วก็เห็นงาม ตั้งตึก รามเรียงกันไปเป็นชั้นเป็นขนัด และรั้ววัง
ของกรุงกษัตริย์ก็แสนสำราญ ในพระราชฐานก็โอภาสไปด้วยพระมหาปราสาทราชนิเวศ รายเรียง
กันสุดที่จะพรรณนา มีทั้งคลังผ้าคลังเงินคลังทองของต่าง ๆ รอบราย ภายนอก มีฉางข้าวฉาง
ปลาฉางถั่วงาสารพัดถ้วนถี่ อนึ่งสาคลราชธานีสารพัดที่จะมีคือผ้ากาสิกพัสตร์อุทุมพาพัสตร์ผ้า
โกไสยพัสตร์เงินทองแก้วแหวนอย่างดีเป็นที่ไปมาแห่งพาณิชทั้งหลายค้าขายอยู่อัตรา
และข้างนอกทุ่งนาก็บริบูรณ์ด้วยพืชข้าวกล้าปักหว่านไว้ดูสนุกนี่กระไร ดุจอุดรกุรุทวีปก็เหมือนกัน
ถ้ามิฉะนั้นก็สนุกดุจอาลกมณฑาอุทยาน อันสถิตในสถานเทวโลก ก็มีในกาลครั้งนั้น
(๒) อดีตชาติ.
ครั้งนั้นยังมีพระภิกษุองค์หนึ่งทรงศีลสังวร เวลารุ่งเช้าจับสัมมัชชนีคันยาวได้ก็คมนาการไปสู่
สถานลานพระเจดีย์ ทำอัญชลีกรนมัสการแล้ว ก็ระลึกถึงพระพุทธคุณพลางกวาดลานพระเจดีย์
พลาง ด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใส จึงกวาดหยากเยื่อนั้นมามั่วสุมไว้เป็นกอง ๆ แล้วก็ร้องเรียก
สามเณรน้อยศิษย์ใช้สอยของอาตมา ให้ขนเอาหยากเยื่อไปทิ้งเสียจากกลายพระเจดีย์นอกบริเวณ
ส่วนว่าสามเณรนั้นพานจะอยู่ข้างเกียจคร้าน พระอาจารย์เรียกถึง ๓ ครั้งก็นิ่งเฉยอยู่ ทำไม่ได้ยิน
พระภิกษุชีต้นจึงตีด้วยคันกราดแล้วด่าว่า ดูกรสามเณรใจกระด้างว่ายากสอนยาก ส่วนว่าสามเณร
นั้นก็ร้องไห้วิ่งไปด้วยเร็วพลัน
ขนเอาหยากเยื่อนั้นไปเทเสียด้วยกลัวอาจารย์ แล้วก็ตั้งปณิธานความปรารถนาว่าข้าพเจ้าได้ขน
หยากเยื่อมาให้พ้นลานพระเจดีย์ ขอผลบุญนี้แม้นข้าพเจ้าจะไปเกิดในภพใด ๆ ก็ดี ขอให้
ข้าพเจ้านี้มีมเหศักดาเดช อันแกล้วกล้ามีครุวนาดุจแสงพระสุริโยทัยเมื่อเพลาตะวันเที่ยง ทุก ๆ
ชาติไปกว่าจะสำเร็จแก่พระนิพพาน ตั้งปณิธานความปรารถนาฉะนี้แล้วก็ลงไปสรงน้ำชำระกาย
ดำผุดดำว่ายค่อยสบายใจ แลเห็นลูกระลอกในท้องชลาลัยนี้มากมายนักหนา ก็ยินดีปรีดาจะใคร่มี
ปัญญาเฉลียวฉลาดไม่รู้สุดรู้สิ้น ดุจชลาสินธุ
ธาราระลอกนั้น สามเณรก็อภิวันท์ขึ้นเหนือเกศ ตั้งปณิธานปรารถนาอีกว่า เดชะที่ข้าพเจ้ากระทำ
ตามคำพระชีต้น ท่านจะสงเคราะห์อาตมาให้ได้กองกุศลจึงบังคับอาตมา เดชะผลานิสงส์นี้
ข้าพเจ้ายังไม่ได้พระนิพพานตราบข้าพเจ้าจะเกิดไปในชาติใด ๆ ขอให้ข้าพเจ้านี้มีปัญญาดุจหนึ่ง
ว่ากระแสดลูกคลื่นลูกระลอกในกระแสชลาโลก ขออย่าให้ปัญญารู้สิ้นรู้สุดเลย ตราบเท่าข้าพเจ้า
ได้สำเร็จแก่พระนิพพานเถิด
ฝ่ายว่าพระภิกษุที่เป็นอาจารย์เอากราดมาพาดไว้ยังที่ แล้วก็คมนาการไปสู่ตีนท่าเพื่อจะสรงซึ่ง
อุทกัง ได้ฟังสามเณรตั้งปณิธานความปรารถนาดังนั้น จึงมาดำริว่าความปรารถนาของสามเณรนี้
จะสำเร็จดังใจคิด เหตุอาศัยอานุภาพพระพุทธคุณควรที่อาตมาจะปรารถนาบ้าง ดำริแล้วก็ยิ้ม
แย้มด้วยวิตกว่าสามเณรนี้ได้ปรารถนา ทั้งนี้ก็อาศัยแก่อาตมาใช้ พระภิกษุนั้นจึงยอกรนมัสการ
ไหว้พระพุทะคุณแล้ว จึงตั้งปณิธานความปรารถนาว่าข้าพเจ้ายังมิได้สำเร็จแก่พระนิพพานตราบใด
จะไปเกิดในภพอันใด ๆ ก็ดี สามเณรนี้ขอให้มีปัญญาเหมือนอุทกธาราระลอก
ในท้องนที ข้าพเจ้านี้จะขอให้มีปัญญาหาที่สุดมิได้ แม้สามเณรนี้ไปปะกนข้าพเจ้าในภพใด ๆ จะ
ไต่ถามซึ่งอรรถปัญหา ถึงว่าจะมีอรรถอันลึกซึ้งคัมภีรภาพยากที่จะแก้ไขประการใดก็ดี ขอให้
ข้าพเจ้าแก้ซึ่งปัญหาของสามเณรนี้ให้จงได้ มีครุวนาฉันใด ประดุจบุรุษอันมีปัญญาอันเจริญสาง
ด้วยด้ายอันยุ่งให้รู้ว่าข้างปลายสางด้ายยุ่งออกได้ อย่าให้รู้จนในทางที่จะแก้ปัญหานี้เป็นอันขาด
ด้วยอานิสงส์ที่ข้าพเจ้ากวาดและใช้สามเณรนี้ ให้เอาหยากเยื่อมาทิ้งเทเสียให้พ้นลานพระเจดีย์
ในกาลครั้งนี้
(๓) กำเหนิดพระยามิลินท์
แม้นอันว่าพระภิกษุกับสามเณรทั้งสองนั้น ท่องเที่ยวตายเกิดอยู่ในมนุษย์และสวรรค์ประมาณ
สิ้นพุทธันดรหนึ่ง ล่วงมาก็พอถึงพระพุทธุบาทศาสนาสมเด็จพระบรมนายกโลกนาถเจ้าของเรา
เมื่อจะเข้าสู่พระนิพพานล่วงลับไป จึงตรัสพยากรณ์นิเทศทำนายไว้ว่า เมื่อศาสนาตถาคตล่วงไปได้
๕๐ ปี จะมีพระภิกษุองค์หนึ่งมีนามชื่อว่าพระนาคเสนจะมาแก้ปัญหาของพระยามิลินท์ จะแก้ไข
ซึ่งธรรมวินัยพระไตรปิฎกที่ตถาคตตรัสเทศนาไว้ โดยสุขุมคัมภีรภาพลึกล้ำฟั่นเฝืออยู่นั้น ให้
กระจ่างแจ้งแจ่มใจรุ่งเรืองตั้งมั่นไปให้ถ้วน ๕ , ๐๐๐ พระวรรษาและเนื้อความนี้ก็วิสัชนามา
แล้ว
ครั้นศาสนาสมเด็จพระบรมครูเจ้าล่วงมาตามพุทธทำนาย ฝ่ายเจ้าสามเณรนั้นก็ได้มาเป็นบรม
กษัตริย์ทรงพระนามบัญญัติ ชื่อว่า สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชาชาวสาคลราชธานีมีปัญญา
เฉลียดฉลาด เป็นนักปราชญ์ องอาจที่จะพิจารณาเหตุการณ์ อันเป็นอดีตอนาคตปัจจุบัน รู้สารพัด
ในพิธีที่จะประกอบการทั้งปวงและรู้ซึ่งศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ และรู้ทั้งพระพุทธวจนะด้วยเป็น
๑๙ ประการ แลศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการนั้น คือสิ่งไรบ้าง อ้อ ศิลปศาสตร์ที่เป็นของสำหรับโลก ๑๘
ประการนั้น คือรู้จักภาษาเสียงสัตว์มีนกร้องเป็นต้นว่าร้ายดี ประการ ๑ รู้จักกำเนิดเขาและไม้เป็น
ต้นว่าชื่อนั้น ๆ ประการ ๑ รู้คัมภีร์เลขประการ ๑ รู้การที่จะเป็นช่างประการ ๑ รู้ที่จะเป็นครูสั่ง
สอนท้าวพระยาทั้งปวงประการ ๑ รู้คัมภีร์จะเลี้ยงฝูงชนให้เป็นสิริมงคลประการ ๑ รู้นับนักขัตกฤษ์
รู้ตำราดาวประการ ๑ รู้เพลงขับประการ ๑ รู้คัมภรีแพทย์ประการ ๑ รู้ศิลปศาสตร์ยิงธนูประการ ๑
รู้จักว่าที่นี้เป็นที่บ้านเก่าเมืองเก่าประการ ๑ รู้จักว่าทิศนั้นกินข้าวเป็นมงคลประการ ๑ รู้จักคัมภีร์
พยากรณ์ รู้ทายว่าคนปีเดือนวันคืนอย่างนั้นจะดีแล้วร้ายประาร ๑ รู้ว่าเป็นแก้วนี่มิใช่แก้วประการ ๑
เหตุ คือรู้จักเหตุรู้จักผลจะบังเกิดประการ ๑ รู้จักที่จะเลี้ยงโคกระบือ รู้การที่จะหว่านพืชลงในนา
ไร่ให้เกิดผลประการ ๑ รู้คัมภีร์พิชัยสงครามประการ ๑ รู้คัมภีร์โลกโวหารประการ ๑รู้จักคัมภีร์
ผูกบทกลอนพกาพย์โคลงประการ ๑ สิริเป็นศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการดังนี้
อนึ่งเล่าสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีถ้อยคำสนทนาไพเราะดีนักหนาลือชาปรากฏไป
ในชนบทประเทศทุกถิ่นฐาน หาผู้จะต้านทานมิได้ ปรากฏว่าเป็นใหญ่กว่า เดียรถีย์นิครนถ์ชนทั้ง
ปวงบรรดาอยู่ในชมพูทวีป หาผู้จะเสมอในทางที่จะแก้จะถามปัญหามิได้มี
อนึ่ง พระองค์ประกอบไปด้วยองค์ ๓ ประการ คือ ประกอบไปด้วยปรีชาญาณประการ ๑ประกอบ
ด้วยกำลังรี้พลพหลโยธานั้นประการ ๑ ประกอบด้วยโภไคศวริยสมบัติเป็นอันมากที่จะคณนานับมิ
ได้ประการ ๑
(๔) สนทนาธรรม.
อยู่มาในกาลวันหนึ่ง พระองค์มีจตุรงคเสนาพยุหะแวดล้อมแห่ห้อมซ้ายขวา เสด็จพระราชลีลา
ออกภายนอกพระนคร เพื่อจะประพาสภายนอกราชธานีให้เป็นที่สบายพระราชหฤทัย จึงให้หยุด
พลนิกรจตุรงคเสนาลงไว้เสด็จประทับอยู่ในที่แห่งหนึ่งอันเป็นที่สบายทอดพระเนตรดูท้องฟ้าเวหา
ฤกษ์บนเห็นพระสุริยนผ่องแผ้วเป็นฤกษ์ดีอยู่แล้ว จึงมีพระราชโองการตรัสประภาษ เรียกมหา
อำมาตย์เข้ามาที่หน้าฉาน มีพระราชโองการตรัสว่า ดูรานะอำมาตย์ เราจะด่วนยาตราเข้าไปใน
ราชธานีทำไมเล่า เราจะสำราญเล่นให้เย็นสบาย ท่านทั้งหลายจงพินิจพิศดู ใครจะหยั่งรู้เห็นบ้างว่า
สมณพราหมณาจารย์ พระอรหันตาขีณาสพผู้ใดที่จะรู้ธรรมปรีชาญาณ อันสามารถอาจจะตัดเสีย
ซึ่งข้อกังขาของเราได้ในกาลบัดนี้เมื่อมีพระโองการถามดังนี้ ข้าราชการชาวโยนกทั้งห้าร้อยจึง
ทูลว่า ข้าแด่พระองค์ผู้ประเสริฐ มีอยู่แต่ครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสปคน ๑ มักขลิโคสาลคน ๑ นิคัณ
ฐนาฏบุตรคน ๑ สัญชัยเวลัฏฐบุตรคน ๑ อชิตเกสกัมพลคน ๑ ปกุทธกัจจายนคน ๑ เป็น ๖ คน
ด้วยกัน ครูทั้ง ๖ นั้นไม่ชั่ว ล้วนแต่ตัวดีนักหนา เป็นครูบาอาจารย์ ประกอบด้วยปรีชาญาณ พร้อม
ด้วยบริวารยศปรากฏเป็นที่สักการบูชาแห่งมหาชน คนทั้งหลายย่อมนับถือระบือลือชา ข้าพระ
พุทธเจ้า
ทั้งปวงเห็นว่าจะแก้ไขข้อกังขาของพระองค์ได้ขอเชิญเสด็จไปยังสำนักครูโน้นเถิด
(๕) ปูรณกัสสปะแก้ปัญหา.
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงฟังข้าราชการกราบทูลดังนั้นก็ทรงราชรถมีข้าราชการห้าร้อยและ
รี้พลแวดล้อมเสด็จมายังสำนักครูปูรณกัสสป ปรารภที่จะถามปัญหา ถ้อยทีถ้อยสนทนาเป็นสุนทร
กถา ควรที่จะชื่นชมโสมนัสแล้ว พระเจ้ามิลินท์จึงถามซึ่งปัญหาว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้ากัสสป สิ่ง
ไรที่เลี้ยงไว้ซึ่งสัตว์โลก ปูรณกัสสปจึงแก้ว่า ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร พระองค์ผู้
ประเสริฐ แผ่นปถพีนี้แหละเลี้ยงไว้ซึ่งสัตว์โลก พระเจ้ามิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสซักว่า ข้า
แต่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าสิว่ามหาปถพีเลี้ยงสัตว์โลก ทรงไว้รับไว้ซึ่งสัตว์โลก แล้วก็เหตุ
ไฉนจึงให้สัตว์โลกไปตกนรกอเวจีมหาปถพีจึงไม่รับไว้ไม่ทรงไว้ นี้เป็นเหตุไฉน. ส่วนว่าท่าน
ครูปูรณกัสสปก็จนใจไม่รู้ที่จะแก้ไข ก็นั่งนิ่งอยู่ในสถานที่นั้น
(๖) มักขลิโคสาลแก้ปัญหา.
ส่วนสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ก็เสด็จไปยังสำนักมักขลิโคสาล จึงมีพระราชโองการถามว่าข้าแต่
พระผู้เป็นเจ้า มนุษย์บุรุษสตรีหญิงชาวโลกนี้ จะกระทำกุศลและอกุศล จะมีผลจะมีประโยชน์หรือ
หามิได้
ครูมักขลิโคสาลถวายพระพรว่า ข้าแต่บพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ผลบุญผลกรรมไม่มี ท่าน
ที่เป็นกษัตริย์ขัตติยมหาศาลทั้งปวง ครั้นถึงแก่ทิวงคตล่วงไปแล้ว จะเกิดมาในโลกเล่าเคยเป็น
กษัตริย์ก็ได้เป็นกษัตริย์อยู่อย่างนั้น ที่เป็นพราหมณ์ก็ดี เป็นเศรษฐีคหบดี พ่อค้าชาวนาพ่อครัว คน
อนาถา คนจัณฑาลก็ดี ตายจากโลกนี้จะเกิดมาอีกเล่า เคยเป็นอย่างไรก็เกิดเป็นอย่างนั้นเหตุฉะนี้
จึงว่าผลบุญผลกรรมที่กระทำชั่ว กระทำดีนั้น ไม่มีสิ้นทั้งนั้น ขอถวายพระพร สมเด็จพระเจ้ามิ
ลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสโต้ว่าพระผู้เป็นเจ้าสิว่าผลกรรมไม่มีใครเคยเป็นเศรษฐีคหบดีและ
เพศต่าง ๆนั้น ครั้นตายไปเกิดมาใหม่เล่า ผู้นั้นก็เป็นตามเพศเก่าของตน ถ้ากระนั้นก็คนโทษที่
ต้องตัดตีนสินมือนั้น ไปชาติหน้าก็จะเกิดเป็นคนโทษต้องตัด ตีนสินมืออีกหรือ ครูมักขลิโคสาลก็
ถวายพระพรว่า กระนั้นแหละซิพระราชสมภาร คนโทษที่ตัดตีนสินมือนี้ไปชาติหน้าก็เกิดสำหรับที่
เขาจะฆ่าตี ต้องตัดตีนสินมือไปทุกชาติ ๆ จะได้รู้สิ้นหามิได้พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์จึงมีพระราช
โองการตรัสว่า โยมจะได้เชื่อหามิได้ ครูมักขลิโคสาลก็จนใจไม่รู้ที่จะอุปมาอุปไมยให้เห็นได้ด้วย
ปัญญาเป็นมิจฉาทิฐิลัทธิ
(๗) ทรงปริวิตก.
ความวิตกที่จะถามปัญหานั้นก็บังเกิดในพระราชสันดาน พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมิบาลเมื่อถาม
มักขลิโคสาลแล้ว เสด็จกลับไปสู่พระราชวัง วันหนึ่งนั้นท้าวเธอวิตกไปในพระราชสันดานว่า ดัง
เรามาวิตกแท้จริง ด้วยเพลาราตรีวันนี้ห่อนจะมีมลทิน ดวงศศิธรส่องท้องฟ้าไม่มีราคี อาตมามานี้
ควรที่จะเที่ยวไปถามซึ่งอรรถปัญหา ครูบาอาจารย์ท่านเจ้าคณะและหมู่สงฆ์สมณะผู้ใด อันรู้ธรรม
วินัย ได้เล่าเรียนธรรมวินัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสัมมาสัมพุทธบพิตรเจ้าประทานไว้
ใครหนออาจจะต้านต่อพูดจาปรากศรัยกับด้วยอาตมา ใครผู้ใดหนอจะตัดเสียซึ่งข้อกังขา อันมีใน
สันดานของอาตมาได้ อาตมาก็จะเข้าไปใกล้ไต่ถามซึ่งอรรถปัญหาแก่บุคคลผู้นั้น ครั้นทรงพระ
วิตกดำริฉะนี้แล้ว จึงมีพระราชโองการตรัสแก่หมู่เสวกามาตย์โยนกข้าหลวง อันหมอบเฝ้า
เดียรดาษอยู่เบื้องซ้ายเบื้องขวาเหมือนดังทรงพระดำริฉะนี้
ส่วนว่าเสวกามาตย์ราชโยนกทั้งปวง จึงกราบทูลสนองพระราชโองการว่า ข้าแต่สมเด็จพระ
บรมบพิตรผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐจะได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อมหามิได้กราบทูลแล้วก็พา
กันก็นิ่งอยู่ จะได้มีผู้ใดทูลอีกหามิได้
(๘) สมณพราหมณ์หนี.
จำเดิมแต่สมัยนั้นมา กรุงสาคลนครไม่มีสมณพราหมณาจารย์ ว่างเปล่ามาถึง ๑๒ ปี ด้วยเหตุ
ว่าพระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตราธิบดี รู้ว่าสมณพราหมณาจารย์ผู้ใดมีปัญญาก็ไปสู่มาหาถามอรรถ
ปัญหาสมณพราหมณ์ สมพราหมณ์ที่มีปัญญาน้อยมิอาจจะแก้ได้ ก็แตกกันไปจากสาคลนคร สา
คลนครไม่มีสมณะ ว่างเปล่าทีเดียวที่ไปสู่บ้านอื่นเมืองอื่นก็ดี ที่ไปสู่ป่าหิมพานต์นั้นก็มี โดยมาก
ครามครัน ดังจะรู้มาว่าครั้งนั้นพระอรหันต์ที่อยู่ในป่าหิมพานต์นั้นอาศัยอยู่ที่ภูเขา ณ ถ้ำรักขิตเล
ณะนั้นโสด ประมาณถึง ๑๐๐ โกฏิโดยคณนา
(๙) อัญเชิญพระมหาเสนเทวบุตร.
ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่งชื่อว่าพระอัสสคุตเป็นอรหันต์ผู้เฒ่า พระผู้เป็นเจ้ารู้เหตุที่พระเจ้ามิ
ลินท์กระทำนี้ด้วยทิพโสตทรงทราบสิ้นสุด เห็นว่าพระศาสนาจะเสื่อมทรุดเศร้าหมอง พระอัสสคุต
เถระพระผู้เป็นเจ้า จึงอปโลกน์บอกกล่าวชาวพระอรหันต์ ให้ประชุมพร้อมกันที่เขารักขิตเลณะ
พระอัสสคุตเถระจึงมีวาจาประกาศพระอรหันต์ทั้ง ๑๐๐ โกฏิ ว่าพระอรหันต์ผู้ใดโสดอาจสามารถ
จะแก้ปัญหาของพระยามิลินท์ได้ และจะให้พระยามิลินท์เลื่อมใสด้วยสติปัญญา กู้พระศาสนาขึ้นไว้
จะมีพระอรหันต์องค์ใดรับอาสาได้บ้าง พระอัสสคุตว่าถึงสองสามครั้ง ดังนั้นพระอรหันต์ทั้งหลายก็
นิ่งไป ไม่มีพระอรหันต์ผู้ใดที่จะรับวาจา พระอัสสคุตจึงว่า อย่ากระนั้นเลย ท่านทั้งปวงเอ่ย ยังมี
เทวบุตรผู้หนึ่งเสวยซึ่งทิพยสมบัติอยู่ในเกตุมดีพิมาน ด้านข้างปัจฉิมทิศตะวันตกตรงกันกับ
เวชยันต์วิมานเมืองดาวดึงสา และชื่อของเทวบุตรนั้นชื่อว่ามหาเสนเทวบุตร และมหาเสน
เทพบุตรองค์นี้มีสติปัญญาอาจสามารถที่จะแก้ปัญหาของพระยามิลินท์ได้ ท่านทั้งปวงอย่าอยู่ช้า
เราจงชวนกันขึ้นไปอาราธนามหาเสนเทวบุตร ให้จุติลงมาเกิดในมนุษย์โลกนี้เถิด พระอัสสคุต
เถระผู้ประเสริฐก็พาพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิออกจากยอดสิงขรยุคันธรบรรพต ปรากฏใน
พิภพแห่งสมเด็จอมรินทราธิราช อันเป็นใหญ่ในดาวดึงส์สวรรค์นั้น
(๑๐) พรหมทัณฑ์.
ฝ่ายพระอรหันต์ทั้งหลายรู้ว่ามหาเสนเทวบุตรรับปฏิญาณแล้ว ก็อันตรธานจากทิพยสถานวิมาน
ฟ้า ลงมาปรากฏในหิมวันตบรรพตสถิตถ้ำรักขิตเลณะ พระอัสสคุตสังเถระผู้เฒ่าจึงถามสงฆ์ทั้ง
ปวงว่า เมื่อเราให้ประชุมสงฆ์นั้น พระภิกษุรูปใดไม่มาบ้างหรือว่ามาสิ้นด้วยกัน ยังมีพระภิกษุรูป
หนึ่งมีนามมิได้ปรากฏในวาระพระบาลี จึงเผดียงบอกแก่พระอัสสคุตว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มีอยู่
องค์หนึ่งคือพระโรหณะผู้มีอายุไปเข้าปฐมฌาน อยู่หิมวันตบรรพต กำหนดได้ ๗ วันแล้ว จำเราจะ
ใช้ทูตให้ไปนิมนต์มาเถิด ส่วนว่าพระโรหณเถระผู้ประเสริฐ รู้น้ำใจพระอรหันต์ว่าสงฆ์ให้หาด้วย
ทิพโสต ออกจากนิโรธสมาบัติมินานก็อันตรธานหายจากหิมวันตบรรพต มาปรากฏขึ้นในรักขิต
เลณะ นั่งอยู่ตรงหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิจึงตั้งกระทู้ซักพระโรหณะว่า
ดูกรพระโรหณะ พระศาสนาของสมเด็จพระทศพลเจ้าโทรมทรุดร้าวฉานไป ทำไมท่านจึงไม่
เอาใจใส่ตามกิจสงฆ์ พระโรหณะก็สารภาพว่าข้าพเจ้าหาได้เอาใจใส่ไม่ พระอรหันต์ทั้งหลายได้
ฟังพระโรหณะสารภาพดังนั้นจึงมีวาจาว่า เราจะลงพรหมทัณฑ์ให้ท่านกระทำทัณฑกรรมเสียด้วย
โทษท่านผิดหาได้มากระทำสังฆกรรมไม่ ไม่เอาหูนาตาใส่พระศาสนา พระโรหณะจึงมีวาจาว่า
ท่านทั้งปวงจะลงพรหมทัณฑ์แก่ข้าพเจ้าเป็นประการใดข้าพเจ้าก็จะกระทำมิได้ขัดพระอรหันต์
ทั้งหลายจึงแจ้งความว่า ดูกรพระโรหณะยังมีบ้านพราหมณ์ชื่อว่าชังคลคามสถิตแทบใกล้ข้างเขา
หิมพานต์ พราหมณ์ผู้นั้นเป็นนายบ้านชื่อโสณุตรพราหมณ์ โสณุตรพราหมณ์นั้นจะมีบุตรคนหนึ่ง
ชื่อนาคเสนกุมาร เราจะลงพรหมทัณฑ์แก่ท่าน ท่านจงไปบิณฑบาตที่บ้านเรือนพราหมณ์ทุก ๆ
วันโดยนิยมดังนี้ กว่าจะได้ ๗ ปี กับ ๑๐ เดือน คิดอ่านเอาเจ้านายนาคเสนกุมารมาจาก
เรือนพราหมณ์ พามาบวชเสียได้แล้วกาลใด ท่านก็ผ่องแผ้วพ้นจากอาชญาโทษพรหมทัณฑ์ใน
กาลเมื่อนั้น พระโรหณะก็รับคำพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิในกาลนั้น
(๑๑) จุติจากเทวโลก.
เมื่อมหาเสนเทวบุตรจุติจากสวรรค์มาบังเกิดในครรภ์ภรรยาพราหมณ์ ฝ่ายภรรยาพราหมณ์
นั้นก็เป็นนางพราหมณี เผ่าพันธุ์พราหมณ์ด้วยกัน ส่วนนางพราหมณีนั้นทรงครรภ์ถ้วน ๑๐ เดือน
แล้วก็คลอดบุตรงามบริสุทธิ์โสภา บิดามารดาจึงให้ชื่อว่านาคเสนกุมาร ครั้นเจ้านาคเสนกุมาร
ค่อยวัฒนาการจำเริญวัยได้ ๗ ปี บิดามารดาจึงว่ากับนาคเสนกุมารบุตรของอาตมา ให้ร่ำเรียน
ศิลปศาสตร์นั้นมีกี่ประการ บิดามารดาจึงว่า ดูรานะกุมาร ไตรเพทนั้นมี ๓ ประการ และวิชาที่
อาจารย์บอกนอกคัมภีร์ไตรเพทนั้นเรียกว่าศิลปศาสตร์ นี่แหละมีสำหรับสกุลพราหมณ์ร่ำเรียนสืบ ๆ
กันมา นาคเสนกุมารให้ปฏิญาณว่าจะเรียนเอาให้ได้ ส่วนว่าโสณุตรพราหมณ์ผู้เป็นบิดา จึงให้เชื้อ
เชิญพราหมณ์อันเป็นอาจารย์มาที่เรือนแล้ว ก็ให้ทรัพย์ประมาณพันกหาปณะเป็นค่าจ้างบอกวิชา
ของอาจารย์ หวังจะให้บอกซึ่งไตรเพทวิชารการแก่เจ้านาคเสนกุมาร จึงแต่งที่ไว้ในเรือน ตั้งซึ่ง
เตียงและตั่งลาดปูไปด้วยบรรจถรณ์เครื่องลาดอันดีในที่ริมฝาเรือน จึงมีวาจาว่ากับเข้านาคเสน
กุมารว่าให้เชื้อเชิญพราหมณาจารย์ขึ้นสังวังธยายไตรเพทให้เจ้านาคเสนนั่งฟังพราหมณ์
สังวัธยายมนต์ดลคาถาไปตามภาษาข้างไสย ส่วนเจ้านาคเสนฟังครั้งเดียวก็จำได้จบครบทุก
ประการ ด้วยไวปัญญาสอดปัญญาจักขุเห็นประจักษ์แจ้งไปในไตรเพท ๓ มิได้ว่างเว้นหลงใหล
และไตรเพทนั้นเป็นลักขณะต่างกัน ฟั่นเฝือโดยวิเศษมีประเภทต่างกันด้วยอักขรอักษรอันเป็น
แก่นสาร สำหรับสกุลพราหมณ์นับถือมา
(๑๒) จบคัมภีร์ไตรเภท.
อนึ่งเจ้านาคเสนกุมารมีปัญญาสอดส่องไปในคัมภีร์ปทกะ ๑ คัมภีร์พยากรณ์ ๑ คัมภีร์โลกายตะ
๑ คัมภีร์มหาสุบินลักขณะ๑ ปัญญาจักขุเห็นปรุโปร่งตลอดไปไม่เสื่อมทรุด เห็นไปในศิลปศาสตร์
ทั้งสิ้น และคัมภีร์ทั้ง ๔ ที่ว่ามานี้ มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นคัมภีร์คำรบ ๕ คัมภีร์ปทกะนั้นเป็นบทที่จะ
สวดพิธีเป็นต้น ชื่อว่าปทกะ และ คัมภีร์ไวยากรณ์คือคัมภีร์พยากรณ์ ดูฤกษ์และทำนายฤกษ์ปี
เดือนวันคืน คัมภีร์โลกายตะนั้นว่าด้วยโลกพระอิศวรท้างมหาพรหมท่านสาปไว้ให้เป็นภูเขาและ
ต้นไม้ และน้ำในทะเลให้เค็ม ด้วยเหตุเดิมอย่างนั้น ๆ จึงได้สาปไว้ให้ชื่อว่าโลกายตะ และคัมภีร์
มหาสุบินลักขณะว่าด้วยทำนายฝัน และคัมภีร์อิติหาสปัญจมะนั้น ว่าด้วยจะล้างหน้าและจะอาบน้ำ
และบริโภคอาหารและจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะนั้นก็ดี โดยสังขารเป็นอาทิฉะนี้ คือให้นั่งทิศนั้น ๆ ดี
เรียกว่า อิติหาสะ ตกว่าไตรเพทก็ดี ศิลปศาสตร์ก็ดี ที่พราหมณาจารย์อ่านสังวัธยายให้ฟังนั้น เจ้า
นาคเสนกุมารฟังครั้งเดียวจำได้เห็นตลอดไปด้วยปัญญาจักขุปรุโปร่งเป็นอันดี ราวกะว่าเล่าท่อง
ไว้ได้ ๑๐๐ ที ๑,๐๐๐ ที จำได้สิ้นครบจบเจน เจ้านาคเสนกุมารจึงมีวาจาถามว่า ข้าแต่บิดา
สิกขาสำหรับสกุลพราหมณ์สิ้นสุดเท่านี้หรือ หรือว่ายังมีอื่นอีกประการใดเล่า พราหมณ์ผู้เป็นบิดา
จึงว่า ดูกรเจ้าสิกขา สำหรับพราหมณ์มาแต่ก่อนเก่านั้นก็จบเท่านี้ อันดับนั้นนาคเสนทารกร่ำเรียน
ศึกษาแต่สำนักพราหมณาจารย์ แล้วก็ให้ทรัพย์ค่าจ้างบอกวิชาแล้ว ก็รับเอาซึ่งกำใบลานอาจารย์
ให้เป็นกำใบลานหนังสือพราหมณ์ สำหรับที่จะได้ดูและอ่านการไตรเพทและศิลปศาสตร์ทุกสิ่งอัน
เจ้านาคเสนได้กำใบลานหนังสือพราหมณ์นั้นแล้วก็ลีลาศลงจากปราสาทแล้วก็เดินมานั่งอยู่ที่
ประตูศาลาคือประตูโรงที่ในรั้วบ้านของอาตมา ปุพพวาสนาหนหลังมาตักเตือนน้ำใจให้ร้อนรน
รำพึงอยู่ที่ประตูศาลาอันเป็นที่รโหฐานที่สงัดไม่อื้ออึง เวียนไปนั่งรำพึงอยู่ที่นั่นถึง ๗ วัน เฝ้าพินิจ
พิจารณาดูไตรเพทศิลปศาสตร์นั้นแต่ต้นจนปลาย ก็เบื่อหน่ายไม่เห็นที่จะเป็นแก่นสาร ก็วิปปฏิสารี
เดือดร้อนรำคาญใจมิได้เห็นเป็นผลเป็นประโยชน์ จึงว่ากับปากของตนเองว่า ดูกรชาวเรา
ศิลปศาสตร์ไตรเพทที่เราร่ำเรียนมาเหมือนลอมฟาง เห็นเปล่าไม่เป็นแก่นเป็นสาร เมื่อเจ้านาค
เสนกุมารรำพึงอยู่ในที่รโหฐานดังนี้
(๑๓) รู้วาระจิต.
พระโรหณเถระผู้มีอายุนั่งอยู่ ณ วัตตนิยเสนาสนะ รู้วาระน้ำจิตของเจ้านาคเสนกุมารจะยินดีมา
ในพระบวรพุทธศาสนา พระผู้เป็นเจ้าลุกจากอาสนะมุ่งสบงทรงจีวรกรจับบาตร ก็อันตรธรหายจาก
วัตตนิยเสนาสนะด้วยกำลังฌานเสด็จมาปรากฏที่ชังคลคามอันเป็นบ้านของพราหมณ์นั้น ฝ่ายเจ้า
นาคเสนกุมารสถิตอยู่ที่ประตูศาลา ได้ทัศนาการเห็นพระโรหณเถรเจ้าก็มีจิตหรรษา จะใคร่
ถามหาธรรมที่เป็นแก่นสาร จึงคมนาการมาสู่สำนักมีวาจาถามว่า ข้าแต่ท่านผู้มีศีรษะโล้น
ปราศจากทุกข์ภัย เป็นไฉนท่านจึงนุ่งผ้ากาสาวะอันย้อมด้วยน้ำฝาด พระโรหณะจึงบอกว่า อาตมา
กระทำฉะนี้เรียกว่าเป็นบรรพชิต เจ้านาคเสนจึงถามว่า บรรพชิต ๆนี้แปลว่าอย่างไร พระโรหณะ
จึงแก้ไขว่า เรียกว่าบรรพชิตนี้โสดเหตุปราศจากบาป เจ้านาคเสนกุมารจึงถามพระโรหณะว่าท่าน
รู้ศิลปศาสตร์อยู่หรือ พระโรหณะจึงบอกว่าอาตมารู้อยู่ ศิลปศาสตร์ของเรานี้อุดมล้ำเลิศกว่า
ศิลปศาสตร์อื่น ๆ อันมีในโลก เจ้าจะเรียนหรือ เจ้านาคเสนจึงว่าข้าพเจ้าจะเรียนแล แต่ทว่า จะ
ถามปัญหาท่านก่อน ท่านจะแก้ได้หรือ พระโรหณะจึงมีวาจาว่าท่านจะถามปัญหาก็ถามเถิด
อาตมาอาจจะแก้ไม่เป็นเหมือนคนทั้งหลาย ท่านได้อุบายเห็นว่าคุณและโทษประการใด จึงโกน
เกศาและหนวดเสีย
(๑๔) โทษของการครองเรือน.
พระโรหณะจึงวิสัชนาแก้ไขว่า ดูกรทารก อาตมาละเสียซึ่งปลิโพธกังวล ๑๖ประการคือปลิโพธ
กังวลด้วยอาภรณ์ผ้านุ่งห่มประการ ๑ ปลิโพธกังวลด้วยเครื่องประดับประการ ๑ ปลิโพธกังวลด้วย
ไปสู่มาหาช่างทองทำของแต่งตัวประการ ๑ ปลิโพธกังวลด้วยขัดสีประการ ๑ ปลิโพธกังวลด้วย
ต้องเก็บสิ่งของทั้งปวงไว้ประการ ๑ กังวลด้วยล้างซักประการ ๑ กังวลด้วยจะหาดอกไม้มาแซม
เกศาและประดับต่าง ๆ ประการ ๑ กังวลด้วยหาของหอมประการ ๑ กังวลด้วยหาของอบรมนั้น
ประการ ๑กังวลด้วยสมองประการ ๑ ปลิโพธกังวลด้วยมะขามป้อมประการ ๑ กังวลอยู่ด้วยดิน
ประการ ๑สมอมะขามป้อมและดิน ๓ ประการนี้เป็นยาประสระผม ปลิโพธกังวลด้วยไม้กลัดผม
ประการ ๑ กังวลด้วยมุ่นผมเกล้าผมประการ ๑ กังวลด้วยหวีผมประการ ๑ กังวลด้วยหาช่าง
กัลบกทำผมประการ ๑กังวลด้วยอาบน้ำดำลงไปเหม็นสาบผมประการ ๑ ผสมเป็นกังวล ๑๖
ประการดังนี้ ประการหนึ่งเล่ากิมิชาติหมู่หนอนทั้งหลายมากมายกินอยู่ทุก ๆ รากเกศากินไปจน
หงอกเสียสีคนทั้งหลายเห็นผมของตัวไม่ดีก็เกิดเศร้าโศกสองค่อนทรวงเข้าเฝ้าแต่ว่าเสียใจก็
ร้องไห้ร่ำไรรักผมของอาตมา นี่แหละดูกรกุมาร เมื่อผู้ใด
ประกอบอยู่ในปลิโพธ ๑๖ประการนี้ มิอาจที่จะเรียนวิชาการศิลปศาสตร์อย่างดีได้ เจ้านาคเสนกุ
มารได้ฟงัพระโรหณะแก้ไขก็อัศจรรย์ใจ จึงถามพระโรหณะว่า พระผู้เป็นเจ้านุ่งห่มแปลกเขาเป็น
เหตุไฉน พระโรหณะถึงว่า ดูกรกุมาร ฟ้านุ่งผ้าห่มของชาวบ้านบริโภคกามคุณ ผ้านุ่งผ่าห่มนั้นก็
เป็นนิมิตของฆราสวาส ยังภัยอันตรายต่าง ๆ ให้บังเกิด เพราะเหตุผ้านุ่งห่มนั้นไม่ประเสริฐเลย
ดูกรนาคเสนกุมาร เหตุดังนี้ผ้านุ่งผ้าของอาตมา จึงไม่เหมือนคนทั้งหลาย ภัยอันตรายจึงมิได้
แผ้วพาน นาคเสนกุมารก็ชื่นบานหรรษาถามพระโรหณะว่า ข้าแต่ท่านผู้เนียรทุกข์ สำราญซึ่งสุข
นิราศภัย ท่านอาจสามารถที่จะบอกศิลปศาสตร์ให้แก่ข้าพเจ้าได้หรือ พระโรหณะก็รับคำเจ้านาค
เสนว่า อาตมาจะบอกให้เจ้านาคเสนเป็นทารกยังไม่มีอัชฌาสัยจึงว่า ถ้ากระนั้นจงบอกให้
ข้าพเจ้าบัดเดี๋ยวนี้เถิด พระโรหณะจึงว่า ดูรานะกุมาร ที่ท่านจะให้อาตมาบอกบัดเดี๋ยวนี้ยังไม่ได้
อาตมาจะไปบิณฑบาตในละแวกบ้าน ฝ่ายเจ้านาคเสนกุมาร ก็รับเอาบาตรคมนาการลีลาศไป
เรือนบิดามารดาที่พระโรหณะเคยมานั่งฉันอยู่ทุกวัน จึงอังคาสด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีต
บรรจง กระทำด้วยมือของอาตมาแล้วก็อาราธนานิมนต์พระโรหณะมาฉัน ส่วนพระโรณะนั้น
ครั้นกระทำภัตกิจฉันจังหันเสด็จแล้วมีพระกรกุมบาตรอยู่ เจ้านาคเสนทารกรับว่าจะเรียนความรู้
พระโรหณะผู้เป็นเจ้าจึงกล่าววาจาว่า ดูกรทารก รูปจะบอกให้แล แต่ทว่าต่อเมื่อไรท่านสละเสีย
ซึ่งปลิโพธกังวล ๑๖ประการอำลาบิดามารดาบิดามารดาให้อนุญาตแล้วก็ไปอยู่กับอาตมา กระทำ
เพศให้เป็นบรรพชิตเหมือนอาตมา อาตมาก็จะบอกความรู้วิชาให้แก่เจ้าในกาลนั้น
(๑๕) นาคเสนออกบวช.
อันดับนั้น นาคเสนทารกได้สวนาการฟัง วจนํ ซึ่งถ้อยคำพระโรหณเถระผู้มีอายุ จึงกระทำเป็น
ไม่กินข้างปลาหน้าตาโศกเศร้า เฝ้าวิงวอนจะให้บิดามารดาอนุญาตให้บรรพชา ฝ่ายว่าบิดา
มารดาก็มาคิดว่า กุมารลูกของเรานี้จะไปเรียนความรู้วิชาเรียนได้แล้วก็จะกลับมา ไม่ควรที่จะ
ห้ามไว้ จึงให้อนุญาตว่าอย่าทุกข์อย่าโศกไปเลย จงกินข้าวปลาอาหาร จะไปเรียนความรู้วิชาการ
ก็ตามใจ ส่วนนาคเสนกุมารได้ฟังดังนั้นก็ชื่นชมอภิรมย์หรรษาบริโภคโภชนาหารแล้วก็ลาบิดามา
ราดไปด้วยพระโรหณะ พระโรหณะก็พานาคเสนกุมารไปสู่วัตตนิยเสนาสนะ แล้วก็ไปสู่วิชัมพุวัตถุ
เสนาสนะจะแก้ไขด้วยเสนาสนะที่อยู่อันชื่อว่าวัตตนิยะและวิชัมพุวัตถุให้แจ้งชัดวัตตนิยะนั้นแปล
ว่าประเทศควรแก่จะอยู่กระทำปรนนิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน วิชัมพุวัตถุ
เสนาสนะนั้น แปลว่าเสนาสนะที่อยู่อันปราศจากลามกมลทินสะอาดผ่องแผ้วนี้แลพระโรหณะยับยั้ง
อยู่ที่นั้นคืนหนึ่งแล้ว ก็พาเจ้าาคเสนกุมารอันครธานหาไปปรากฏที่ถ้ำรักขิตเลณะ ตรงหน้าพระ
อรหันต์ ๑๐๐ โกฏิอันลงโทษพรหมทัณฑ์แก่อาตมา
(๑๖) บรรพชา
ในกาลปางนั้น พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย มากมายกำหนดได้ ๑๐๐ โกฏิ ก็ยังเจ้านาคเสนกุมาร
นั้นให้บวชเป็นสามเณรที่ถ้ำคูหาอันชื่อรักขิตเลณะ เมื่อเจ้านาคเสนบวชเป็นสามเณรแล้ว จึงมี
วาจาว่ากับพระโรหณะว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้ากระทำเพศให้เหมือนพระผู้เป็นเจ้า
พระผู้เป็นเจ้าจงบอกศิลปศาสตร์ให้ข้าพเจ้า ส่วนว่าพระโรหณะจึงจินตนาคำนึงรำพึงว่า เจ้า
สามเณรนาคเสนมีปัญญาฉลาด อาตมาจะบอกให้เรียนพระสูตรพระวินัย พระสูตรพระวินัยตื้นไม่
ลึกล้ำเหมือนพระปรมัตถธรรมจำอาตมาจะบอกพระอภิธรรมให้เถิด ดำริแล้วก็บอกพระอภิธัมมัต
ถะอันประเสริฐให้ทั้ง ๗ พระคัมภีร์ คือ พระสังคณี ๑ พระวิภังค์ ๑ พระธาตุกถา ๑ พระปุคคล
บัญญัติ ๑ พระกถาวัตถุ ๑ พระยมก ๑ พระสมันตมหาปัฏฐาน ๑ ประสมเป็น ๗ ประคัมภีร์ด้วยกัน
นาคเสนาสามเณรนั้นมีปัญญาจักษุเห็นปรุโปร่งไม่กังขา แต่บอกให้วาระเดียว ในพระสัตตัปปก
รณาภิธรรมทั้ง ๗คัมภีร์ว่า สมเด็จพระชินสีห์เจ้าตรัสเทศนาอาศัยแก่ ๓ บท แตกออกไปเป็นสัต
ตัปปกรณาภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ ประการหนึ่งพระอภิธัมมสังคณีตั้งเป็นต้น ประดับประดาไป
ด้วยทุกมาติกาและติกมาติกาเท่านี้แล ในคัมภีร์พระวิภังค์นั้นประดับด้วยอัฏฐารสวิภังค์มีขัน
ธวิภังค์เป็นต้นเป็นประธานมา ในคัมภีร์พระธาตุกถานั้น มีวิภัติแจกจำแนกไปได้ ๑๔ บทเป็นต้นว่า
นี้ และในคัมภีร์พระปุคคลบัญญัติ มีวิภัติจำแนกเป็นฉัพพิธบท ๖ บทมีขันธบัญญัติและอายตน
บัญญัติเป็นประธานมา และในคัมภีร์พระกถาวัตถุนั้น ประชุมสูตรไว้พันหนึ่งมิได้น้อย เป็นสักวาที
ห้าร้อย เป็นปรวาทีห้าร้อย จึงสิริเป็นพันหนึ่งด้วยกันในคัมภีร์พระยมกนั้นวิภัชนากรจำแนกแจก
เป็นทศพิธบทได้ ๑๐ บท มีมูลยมกและขันธยมกเป็นประธานมา ในคัมภีร์พระสมันตมหาปัฏฐาน
นั้น วิภัชนาการจำแนกแจกไปเป็นจตุวีสติปัจจัยได้ ๒๔ มี เป็นประธานดังนี้ สิริเป็นพระสัตติปปก
รณาภิธรรมทั้ง ๗พระคัมภีร์ด้วยกัน นาคเสนสามเณรนั้นเล่าหนเดียวก็จำได้ขึ้นใจ จึงมีวาจาห้าม
พระโรหณะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ไว้ว่า ได้โปรดงดข้าพเจ้า บอกแต่เท่านี้ก่อนเถิด เมื่อข้าพเจ้าท่อง
ได้สังวัธยายได้ถนัดจริงแล้ว จงบอกให้มากยิ่งขึ้นไป จะขอรออยู่ปรนนิบัติสอดส่องให้ชัดเจน ว่า
แล้วนาคเสนาสามเณรก็ลาพระอาจารย์ปวิสนาการเข้ามณฑลมาลกะแปลว่าศาลาสนามธรรม จึง
จำเริญมนสิการในใจว่า ดังอาตมารำพึงไปแล้วจริง จะได้อรรถแปลว่ากระไร ในบทว่า กุสลา ธมฺมา
อกุสลา ธมฺมา และ อพฺายากตา ธมฺมา นาคเสนสามเณรจำเริญมนสิการพิจารณาหนเดียวก็คิด
เห็นเป็นอรรถกรรมฐานว่า บท กุสลา ธมฺมา จะมีอรรถกถาอย่างนี้ ด้วยปัญญาบารมีกระทำไว้แต่
ชาติโพ้น
(๑๗) จบพระอภิธรรม.
พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิสถิต ณ ด้าวแดนใด นาคเสนสามเณรก็เข้าไปในสถานที่นั้นครั้นถึงจึง
อภิวันท์ไหว้ ดูนี่งามผ่องใสไปทั่วอินทรีย์ อายุพอได้ ๗ ปีเป็นเณรน้อยกระจ้อยร่อยรูปงามประ
ฌมกรประณามนบนอบเหนือศิโรตม์ จึงบอกพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิว่า ข้าพเจ้าจะสำแดงพระสัต
ตัปปกรณาภิธรรมที่พระอุปัชฌาย์บอกนี้ให้มีอรรถวิตถารออกไป พระอรหันต์ทั้งหลายก็ดีใจ จึง
นิมนต์ให้สามเณรนาคเสนสำแดงโดยวิตถาร สามเณร นาคเสนก็วิสัชนาอยู่ประมาณ ๗ เดือนจึงจบ
ขณะนั้นเกิดอัศจรรย์ทั่วพิภพ อินทร์พรหมบรมเทวราช ก็หวาดไหวไปทั่วปถพี ที่ก้องบันลือลั่น
ฝ่ายฝูงอมรคณานิกรสุรางค์ นางเทพอัปสรสาวสวรรค์ในชั้นฉกามาวจร ก็ร้องซ้องสาธุการยินดี
ด้วยปัญญาบารมีสามเณร ใช่แต่เท่านั้น ท่านท้าวมหาพรหมเป็นบรมจอมพิภพก็ตบพระหัตถ์ตรัส
สรรเสริญศีลปัญญาคุณ อันว่าห่าฝนปุบผามณฑาทิพยจันทน์จุณสารภียี่สุ่นพิกุลโยทะกามหาหงส์
ทรงกลิ่นอันหอมนั้น บ้างก็เลื่อนลอยบ้างก็ปรอย ๆ เป็นฝอยฝนตกลงมาเหมือน หนึ่งจะมีวิญญาณ
ลงมาสาธุการ บ้างบานบ้างตูมหุ้มห่มเกสร หอมฟุ้งขจรขจายในที่พระนาคเสนสามเณรสังวัธยาย
พระสัตตัปปกรณาภิธรรม ๗ คัมภีร์จบโดยวิตถารพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ท่านก็ซ้องสาธุการชื่น
บานหรรษาโสมนัสยินดี ว่าแต่นี้แลศาสนาของสมเด็จพระโลกนายกเจ้า จะรุ่งโรจน์โชตนาการไป
ในกาลนี้
(๑๘) อุปสมบท.
ลำดับนั้นครั้นเจ้านาคเสนสามเณรอยู่มามีพระวรรษายี่สิบถ้วยกำหนด พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ก็
ให้อุปสมบทเป็นภิกษุภาวะในพระศาสนา ครั้นนาคเสนาสามเณรเป็นภิกษุภาวะแล้ว นิมิตรุ่ง
รางสว่างแผ้วอรุณขึ้นมา พระผู้เป็นเจ้านุ่งสบงทรงจีวร พระกรจับบาตรลีลาศตามพระอุปัชฌาย์
เข้าไปสู่บ้านเพื่อจะเที่ยวภิกขาจารโคจรบิณฑบาต พระนาคเสนจึงปริวิตกว่า พระอุปัชฌาย์ของ
อาตมานี้ เปล่าเขลานักหนา รู้แต่พระสัตตัปปรณาภิธรรมเท่านี้ จะได้รู้พระคาถาบาลีพระพุทธ
วจนะอื่น ๆ หามิได้ ส่วนพระโรหณะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ก็รู้วาระน้ำในจึงมีเถรวาจา ว่าดูกรอาวุโส
ท่านวิตกดังนี้มิควรแก่ตัวท่าน มิควรแก่ตัวเรา
ฝ่ายพระนาคเสนได้ฟังดังนั้น ก็ดำริว่า โอหนอ ควรจะเป็นอัศจรรย์ เมื่ออาตมาคิดในใจไฉน
เล่าพระอุปัชฌาย์เจ้าจึงรู้จิตของอาตมา พระอุปัชฌาย์ของอาตมามีปัญญาแท้จริง ก็ควรที่จะให้
พระอุปัชฌาย์งดโทษ คิดแล้วจึงน้อมศิโรตม์ลงอภิวันท์ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าได้โปรดจงงดโทษ
แก่ข้าพเจ้า แต่นี้ไปเบื้องหน้าข้าพเจ้ามิได้วิตกต่อไป พระโรหณะจึงว่าเรายังงดโทษให้ไม่ได้ก่อน
ยังมีกษัตริย์เจ้าเมืองสาคลนครทรงพระนามกรชื่อว่ามิลินทบรมราช ถ้าท่านยังพระยามิลินท์นั้นให้
เธอทรงพระประสาทเลื่อมใสด้วยท่านได้เมื่อใด อาตมาก็จะงดโทษให้ท่านในกาลเมื่อนั้นพระนาค
เสนจึงว่า ข้าแต่พระอุปัชฌาย์ อย่าว่าแต่พระเจ้ามิลินท์เลย ถึงว่าพระยาทั้งหลายอันเสวยสมบัติอยู่
ในสกลชมพูทวีป ให้รีบกันซ้อนศีรษะซ้อนตัวกันมาถามปัญหาเถิดข้าพเจ้าก็อาจสามารถที่จะให้
ยินดีได้ พระผู้เป็นเจ้าจงงดโทษแก่ข้าพเจ้าเถิด พระโรหณะจึงว่า ท่านอย่าว่าอย่างนี้ เราจะว่ากับ
ท่านอีกทีเป็นคำรบสองครั้ง ถ้าท่านยังกรุงมิลินทราธิบดีให้เลื่อมใสได้แล้วเมื่อใด อาตมาก็จะงด
โทษให้เมื่อนั้น
(๑๙) รับคำพระอุปัชฌาย์.
ส่วนพระนาคเสนครั้นพระอุปัชฌาย์ว่ากระนั้น ก็รับคำพระอุปัชฌาย์แล้วจึงถามว่า ในไตรมาสนี้
พระอุปัชฌาย์จะให้ข้าพเจ้าอยู่ที่สำนักพระอุปัชฌาย์นี้หรือ หรือว่าจะให้ข้าพเจ้าไปอยู่ในสำนักผู้ใด
เล่า ส่วนพระโรหณะผู้เป็นเจ้าจึงว่า ดูกรอาวุโส ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่ง มีนามกรชื่อ อัสสคุต
ท่านอยู่ที่วัตตนิยะเสนาสนะ อาวุโสจงไปไหว้นบเคารพท่านแล้ว บอกว่าอาตมานี้เป็นอุปัชฌายา
จารย์ จงบอกกันท่านว่าอาตมาให้ถามท่านว่ายังค่อยสำราญเป็นสุขหาทุกข์มิได้หรือประการใด
อาวุโสถามไถ่แล้วจงขอจำวรรษาอยู่ด้วยท่าน พระนาคเสนภิกษุได้ฟังอาจารย์ก็ชื่นบานหรรษา
กระทำประทักษิณพระอุปัชฌาย์แล้วมายังสำนักพระมหาเถระอัสสคุตเคารพนบนอบหมอบกราบ
เล่าบอกแก่ท่านทุกสิ่งทุกประการเหมือนคำพระอุปัชฌาย์สั่งไป แล้วก็ของอาศัยจำวรรษาอยู่ พระ
อัสสคุตไม่รู้จักชื่อ จึงถามว่า ดูกรอาวุโสท่านชื่อไรเล่า พระนาคเสนจึงบอกว่าข้าพเจ้าชื่อนาคเสน
พระอัสสคุตจะลองปัญญาจึงถามว่าชื่อของอาตมานี้ชื่อไร พระนาคเสนจึงว่า ชื่อของพระผู้เป็นเจ้านี้
พระอุปัชฌาย์ข้าพเจ้ารูปจักอยู่พระอัสสคุตจึงถามว่า อุปัชฌาย์ของท่านชื่อไร พระนาคเสนจึง
บอกว่าชื่อพระอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าพระผู้เป็นเจ้าก็รู้จักอยู่ พระอัสสคุตจึงรู้ว่าพระภิกษุองค์นี้มี
ปัญญา จึงดำริว่า ภิกษุองค์นี้ปรารภนาจะเรียนพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนี้อาตมาหารู้สันทัดแท้ไม่
ได้สำเร็จมรรคผลก็จริงแล แต่ทว่าฝ่ายพระไตรปิฎกรู้เป็นกลาง ๆ จะบอกเจ้ากูไม่ตลอด ก็อย่าง
เลยอาตมาจะกระทำกิริยาไม่เจรจาด้วยภิกษุรูปนี้ ทำเป็นทีเหมือนจะลงพรหมทัณฑ์เถิด พระอัส
สคุตดำริแล้ว ก็กระทำพรหมทัณฑ์คือนิ่งไปไม่พูดกับพระนาคเสนตลอดปวารณาพระวรรษา ฝ่าย
พระนาคเสนก็ปรนนิบัติพระอัสสคุตเถระ กวาดบริเวณที่อยู่ทั้งหลาย เอาน้ำบ้วนปากกับไม้สีฟันมา
ตั้งวางถวายไว้ ฝ่ายพระอัสสคุตก็มิได้เอาอุทกังและไม่สีฟันนั้นมาชำระกิจ บริเวณที่พระนาค
เสนกวาดนั้นก็กลับกวาดใหม่ แต่อย่างนี้ตลอดไตรมาสปวารณาพระวรรษา
(๒๐) โปรดอุบาสิกา.
ในกาลครั้งนั้น ยังมีอุบาสิกาผู้หนึ่งเป็นผู้ม่าย ปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้ามาประมาณ ๓๐ พระวรรษา
จึงไปสู่อาวาสอาราธนาพระอัสสคุตแล้ว จึงถามว่า พระวรรษานี้มีพระภิกษุมาอยู่ด้วยพระผู้เป็นเจ้า
เท่าไร พระอัสสคุตจึงบอกว่า ดูกรอุบาสิกา เจ้ากูมาอาศัยอยู่รูปหนึ่ง อุบาสิกจึงว่า ถ้ากระนั้นนิมนต์
พระผู้เป็นเจ้าไปฉัน นิมนต์พาพระภิกษุรูปนั้นไปด้วย ส่วนอุบาสิกากลับมา นิมิตสิ้นราตรีนั้น
นครั้นอรุณรุ่งราวสว่างฟ้า พระอัสสคุตมหาเถรเจ้าแต่นิ่งมามิได้สนทนากับด้วยพระนาคเสนนั้น
กำหนดถึงปวารณาออกพระวรรษา ตกว่าพระอัสสคุตต้องเจรจากับพระนาคเสนวันนั้น บอกว่า
อุบาสิกาเขามานิมนต์ข้าให้พาเธอเข้าไปฉัน ว่าเท่านั้นก็นุ่งสบงทรงจีวรคลุมบาตรแล้วก็พานาค
เสนออกจากอาวาสลีลาศมาสู่เคหสถานของอุบาสิกา แล้วก็นิสัชนาการนั่งเหนือที่อาสนะลาดปูไว้
ส่วนอุบาสิกาก็มีศรัทธาเลื่อมใสใจผ่องแผ้ว จัดแจงขาทนียะโภชนียะแล้วก็ถวายให้ฉัน ส่วนพระ
อัสสคุตนั้นกระทำภัตกิจแล้ว มีกรจับบาตรไว้ จึงให้อุบาสิกาตามประทีปที่บูชา แล้วสั่งให้พระนาค
เสนภิกษุอยู่สำแดงคาถาอนุโมทนา ส่วนพระอัสสคุตก็อุฏฐาการจากอาสน์ ไปสู่อาวาสของอาตมา
ในกาลนั้น ลำดับนั้น อุบาสิกจึงว่ากับพระนาคเสนว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าโยมนี้เป็นคนเฒ่าชรา จะ
ใคร่ฟังซึ่งคาถาอันคัมภีรภาพ จะได้จำเริญสติปัญญา นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอนุโมทนาด้วยคาถาอัน
คัมภีรภาพนั้น ส่วนว่าพระนาคเสนก็กระทำอนุโมทนา ด้วยคัมภีรคาถาให้สมควรกับสติปัญญาของ
อุบาสิกา ฝ่ายว่าอุบาสิกาได้ฟังพระคาถานั้น ก็ได้ธรรมจักขุปราศจากธุลีกล่าวคือราคะดำฤษณา
มามลทินมิได้ คือเห็นไปในกระแสธรรมที่พระผู้เป็นเจ้ากระทำอนุโมทนานั้นว่า ปัญญาเห็นว่า
กองแห่งสมุทยธรรม มีอวิชชาปัจจยาเป็นต้นนี้ มีในสันดานสัตว์ผู้ใดแล้ว จะบังปัญญาไว้มิให้เห็น
เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วมีแต่ว่าจะเวียนตายเวียนเกิดอยู่ไม่รู้แล้วเหลือที่จะพรรณา อันว่าสมุ
ทยธรรมนั้น มีสภาวะเป็นนิโรธรรมดับสูญสิ้นแล้วจะปราศจากมลทินสิ้นราคาทิกิเลส เข้าสู่พระ
นิเวศสถานนิพพานเมืองแก้วอันแผ้วจากทุกข์เกษมสุขหาสิ่งจะปานปูนเปรียบเทียบมิได้ เมื่อมหา
อุบาสิกาได้ธรรมจักขุพิจารณาเห็นไปดังวิสัชนามาฟังพระนาคเสนกระทำอนุโมทนาคาถาต่อไป
ครั้นจบลงแห่งคาถาอนุโมทนา มหาอุบาสิกาก็สำเร็จพระโสดาปัตติผล ส่วนพระอัสสคุตเถรเจ้า
เข้าไปสู่โรงมณฑลธรรม รำพึงไปก็เห็นด้วยจักษุเป็นทิพย์ ก็สาธุการพระนาคเสนว่า สาธุ ๆ พระ
นาคเสนนี้มีสติปัญญา ประชุมชนทั้งสองคือมนุษย์และเทวดา ท่านจะมาทำลายให้คลายจากความ
สงสัย ด้วยยิงไปซึ่งลูกธนูกล่าวคือสำแดงธรรมให้ฟังครั้งหนึ่ง เหมือนอุบาสิกากระนั้น ได้ฟังธรรม
ของท่านครั้งเดียว ก็ทำลายเสียซึ่งสักกายทิฏฐิวิจิกิจฉาสีลัพพตปรามาสได้มรรคได้ผล สาธุดังเรา
ชมสติปัญญาท่านนี้ประเสริฐนักหนา พระอัสสคุตก็สรรเสริฐเยินยอไปมา เทวดามากกว่าแสนก็
ตบมือชื่นชมอภิรมย์สาธุการว่า ท่านทั้งปวงเอ๋ย อัศจรรย์นักหนา ด้วยพระนาคเสนเจ้าอนุโมทนา
ด้วยคาถาคัมภีรภาพควรจะอนุโมทนา ว่าแล้วก็ยิ่งยินดีปรีดา ทิพฺพจุณฺณานิ ก็ โปรยลงมาซึ่งจุณสุ
คนธาทิพย์สักการบูชา ขณะเมื่อจบลงแห่งพระสัทธรรมเทศนา ก็มีในกาลนั้น
(๒๑) สู่กรุงปาตลีบุตร.
ฝ่ายว่าพระนาคเสนผู้มีอายุกระทำภัตตานุโมทนาด้วยคัมภีร์คาถาจบแล้ว ก็อุฏฐาการลุกจาก
อาสน์มาสู่อาวาสที่สำนักพระอัสสคุต แล้วก็เคารพนอบนบนมัสการพระอัสสคุตจึงว่ากับพระนาค
เสนว่า ตัวท่านมาอยู่นี้ก็นานช้า นี่แน่ะข้าจะบอกให้รู้ก่อน ยังมีเมืองหนึ่งชื่อปาตลีบุตรนคร มีอโส
การามข้างทิศอุดร มีท่านผู้ทรงศีลสังวรมีนามกรชื่อธรรมรักขิตสถิตอยู่ที่อโสการามวิหาร อาวุโส
จงไปสู่สำนักท่านเล่าเรียนพระไตรปิฎกตามอัชฌาสัยพระนาคเสนจึงถามว่าใกล้หรือไกลสักเท่าไร
เล่าพระเจ้าขา พระอัสสคุตจึงบอกว่ามรรคาไกลได้ร้อยโยชน์ พระนาคเสนจึงว่าได้โปรดเถิด
ข้าพเจ้านี้เห็นว่าจะประดักประเดิดทางลำบากบ้างที่จะบิณฑบาตจะมีหรือประการใด พระอัสสคุต
จึงว่าไปเถิด จะได้ประดักประเดิดหามิได้ เออท่านไปในระหว่างมรคาที่ลีลาศจะได้บิณฑบาตทั้ง
จะได้จังหันสาลีอันประกอบด้วยกัปปีย์ต้มแกงทุกประการ จะได้กันดารหามิได้ พระนาคเสนได้ฟัง
ก็ดีใจว่าทีนี้จะได้ไปเล่าเรียน ดำริแล้วก็กระทำประทักษิณสิ้นตติยวารเวียนเป็นสามรอบ นอบนบ
อำลามาไปตามมรรคาประเทศทางไกลขณะนั้น ยังมีเศรษฐีอยู่ในเมืองปาตลีบุตรนคร สัญจรไป
ค้าขายในชนบททั้งหลาย ครั้นขายของแล้วก็บรรจุสินค้าใหญ่น้อยบรรทุกเกวียน ๕๐๐ แล้วเข็น
ขับกลับมา ได้ทัศนาการเห็นพระนาคเสนแต่ไหล จึงให้หยุดเวียนไว้แล้วจึงถวายอภิวันท์ไหว้ไต่
ถามว่า พระผู้เป็นเจ้าจักไปสู่ประเทศอารามไหน พระนาคเสนก็บอกว่าอาตมานี้จะไปสู่ปาตลีบุตร
นคร เศรษฐีได้ฟังก็ชื่นชมอภิรมย์สโมสรจึงมีสุนทรวาจาว่า ถ้ากระนั้นนิมนต์ไปด้วยกัน ส่วนพระ
นาคเสนจึงว่า คำอันท่านว่านี้เป็นกุศลอันดี ส่วนเศรษฐีดูอิริยาบถของพระผู้เป็นเจ้านี้เล่า ก็ละม่อม
ละไมมีน้ำใจศรัทธา จึงตกแต่งขาทนียะโภชนียะกับด้วยมือของตน นิมนต์ให้ฉันแล้วปวารณาไว้ว่า
พระผู้เป็นเจ้าต้องประสงค์สิ่งไร ก็บอกเล่าแก่ข้าพเจ้าเถิด เมื่อพระนาคเสนกระทำภัตกิจแล้ว
เศรษฐีนั่งอยู่ที่อาสนะอันต่ำมีน้ำจิตจะใคร่รู้นาม จึงไต่ถามนามพระนาคเสน พระนาคเสนบอก
นามชื่อนี้ ชื่อนี้เศรษฐีจึงถามว่าพระผู้เป็นเจ้ารู้พระพุทธวจนะอยู่หรือ พระนาคเสนก็บอกว่า
อาตมานี้รู้แต่พระอภิธรรมเศรษฐีกล่าวถ้อยคำว่าข้าพเจ้าก็รู้พระอภิธรรม เราทั้งสองจะได้ท่อง
ทานสังวัธยายด้วยกันถ้ากระนั้นขออาราธนาเทศนาให้ข้าพเจ้าฟังสักหน่อย ครั้งนั้นพระนาคเสนก็
สำแดงพระธรรมเทศนาเศรษฐีได้ฟังก็ชื่นบานหรรษาได้ธรรมจักขุ คือ ปัญญาจักขุอันหามลทินธุลี
ราคีมิได้ ก็บังเกิดเห็นแจ้งประจักษ์ในสมุทยธรรมและนิโรธรรมเหมือนอุบาสิกาที่วิสัชนามาแต่หลัง
ครั้นจบพระสัทธรรมเทศนา เศรษฐีก็ให้ทาสกรรมกรของอาตมาเทียมเกวียน ๕๐๐ เข้าแล้ว ก็ขับ
ไปตามมรรคาพาพระนาคเสนไป ครั้นจะใกล้ถึงปาตลีบุตรนครเข้า เศรษฐีจึงว่า ข้าแต่พระผู้เป็น
เจ้า ทางนั้นแน่เป็นทางไปสู่อโสการาม พระผู้เป็นเจ้าจงไปตามทางนี้แลแต่ทว่า อย่าเพ่อไปก่อน
นิมนต์ให้พรแก่ข้าพเจ้า พระนาคเสนจึงตอบเล่าว่า อาตมาเป็นภิกษุจะให้พรสิ่งไรเศรษฐีจึงว่าพร
อันใดที่ควรแก่พระผู้เป็นเจ้าจะให้ได้ ข้าพเจ้าจะรับประทานไว้ พระนาคเสนจึงว่ากระนั้นท่านจง
รับเอาพรคือการกุศล อย่าประมาทลืมตนในการกุศล พรอันนี้มีผลโดยสุจริตรูปประสิทธิ์ให้แก่
อุบาสก ขณะนั้นเศรษฐีจึงถวายผ้ากัมพลแดงผืนหนึ่งยาว ๑๖ ศอก กว้าง๘ ศอกแก่พระนาคเสน
พระนาคเสนก็รับเอาผ้า ส่วนว่าเศรษฐีมีกรประณมเหนือศิโรตม์โสมนัสสาปราโมทย์ แล้วก็ถวาย
ปฏิญาณ แล้วก็ถวายนมัสกากระทำประทักษิณแล้วลามาสู่ปาตลีบุตรนคร ส่วนพระนาคเสนก็
สัญจรมาสู่อโสการาม อันเป็นที่อยู่แห่งพระธรรมรักขิตนั้น ครั้นถึงจึงก้มเกล้านมัสการพระมหา
เถระว่า ขอพระคุณเจ้าจงกรุณาบอกพระพุทธวจนะให้แก่ข้าพเจ้าในกาลบัดนี้
(๒๒) บรรลุพระอรหัตต์.
ในกาลนั้นยังมีพระติสสทัตตภิกขุรูปหนึ่งไปเรียนพระพุทธวจนะเป็นสิงหลภาษาในเมืองลังกา
จบแล้ว ปรารถนาจะเรียนพระพุทธวจนะอันเป็นมคธภาษา จึงโดยสารสำเภามาสู่ชมพูทวีปนี้ จึง
ไปสู่สำนักพระธรรมรักขิต นมัสการแล้วก็ประดิษฐานอยู่ที่นั้น ได้ยินคำพระนาคเสนว่าจะขอเรียน
พระพุทธวจนะดังนั้น จึงว่าขึ้นบ้างว่า ข้าพเจ้าอุตส่าห์มาแต่ลังกาก็ปรารถนาว่าจะเรียนพระพุทธ
วจนะ ขอพระคุณเจ้าจงบอกพระพุทธวจนะให้แก่ข้าพเจ้าเถิด ฝ่ายว่าพระธรรมรักขิตนั้นจึงว่ากับ
พระนาคเสนว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ท่านจงเรียนพระพุทธวจนะให้พร้อมกันด้วยเจ้ากูติสสทัตตะ จง
สังวัธยายให้พร้อมกันทีเดียวอย่าร้อนรนเลย เราจะบอกให้แก่ท่านพร้อมกันทีเดียวในกาลบัดนี้
พระนาคเสนจึงว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ามิอาจที่จะเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกันด้วยคำ
สิงหลภาษาได้ ด้วยพระติสสทัตตะนี้เจรจาเป็นสิงหลภาษาด้วยประการดังนี้เป็นคำปุจฉาว่า เหตุ
ไฉนเมื่อพระอาจารย์ว่า จะให้พระติสสทัตกับพระนาคเสนเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน พระนาค
เสนนั้นว่าไม่เรียนพร้อมกัน ด้วยพระติสสทัตกล่าวคำสิงหลภาษาวิสัชนาว่า พระนาคเสนสำคัญว่า
อาจารย์จะบอกพระพุทธพจน์เป็นคำสิงหลภาษาสิงหลภาษานี้เป็นคำวิเศษ คนชาวประเทศสา
คลราชธานีจะได้เข้าใจหามิได้ พระนาคเสนนั้นตั้งใจ จะเรียนพระพุทธวจนะที่จะให้เข้าใจชาวสา
คลนคร มีกรุงมิลินท์นรินทรเป็นประธาน เหตุฉะนี้จึงขัดอาจารย์ อาจารย์ว่าให้เรียนด้วยกันถ้วนถึง
๓ ครั้ง พระนาคเสนถอยหลังคิดไว้ว่าอาจารย์ไม่บอกโดยสิงหลภาษาดอก จะบอกเป็นมคธภาษา
แล้วพระนาคเสนมาดำริว่า อาตมา กล่าวถ้อยคำว่าไม่เรียนด้วยชีต้น สิงหลภาษานี้เป็นคำไม่ดี ดู
หยาบช้าเป็นภาริยกรรมเกินนักหนา พระนาคเสนคิดแล้วจึงขอขมาพระติสสทัต พระติสสทัตก็รับ
ขมาว่าสาธุ แต่นั้นมา พระนาคเสนก็เรียนพระพุทธวจนะในสำนักพระธรรมรักขิตพร้อมด้วยพระติ
สสทัตตเถระ ท่องสังวัธยายทีฆนิกายด้วยนิเทศสำแดงเหมือนกันอันเดียวกัน ก็เรียนพระพุทธ
วจนะเป็นพยัญชนะนั้น ๓ เดือนเรียนพระพุทธวจนะเป็นอรรถกถา ๓ เดือน สิริเป็น ๖ เดือนด้วย
กันจงจบพระไตรปิฎกทั้งตัวและอรรถกถา พระธรรมรักขิตเห็นพระนาคเสนเป็นปุถุชนอยู่ จึงมีเถร
วาจาเป็นทางจะให้รู้โดยคำอุปมาว่า ดูกรนาคเสนภิกษุ ธรรมดาว่านายโคบาลเลี้ยงโคไม่รู้จักรส
นมโค ผู้อื่นได้ซึ่งน้ำนมโคกินรู้จักรสน้ำนมโคว่ามันหวาน แม้เปรียบปานฉันใด บุคคลที่เป็นปุถุชน
หนาไปด้วยราคาทิกิเลส จะทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกอันวิเศษนี้ มิได้รู้รสแห่งสามัญภาคี คือมรรคผล
อันเป็นส่วนควรแก่สมณะ เปรียบปานเหมือนยายโคบาลรับจ้างท่านเลี้ยงโค และรีดนมโคขายมิ
ได้ซิมลิ้มเลียรสนมโคฉันใด ท่านจงรู้ด้วยประการดังนี้ พระนาคเสนได้ฟังคาถาอุปมา จึงมีวาจาว่า
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ได้โปรดงดพระพุทธวจนะก่อน ที่พระผู้เป็นเจ้าสั่งสอนกำหนดเท่านั้น
ข้าพเจ้าจะผ่อนผันพิจารณาดูให้รู้รสสามัญภาคี พระนาคเสนว่าเท่านี้แล้วก็ลามาสู่อาวาส ปัญญา
ฉลาดปลงลงในวิปัสสนากรรมฐาน ส่องปัญญาญาณไป ก็ได้สำเร็จในพระจตุราริยสัจ ก็ได้พระอร
หัตตปฏิสัมภิทา โดยภาคราตรีวันพระธรรมรักขิตเถระให้นัยนั้นแท้จริง ขณะนั้นเกิดอัศจจรย์ แผ่น
ดินบันลือลั่นหวั่นไหวไปมาเหตุฉะนี้ พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวพระคาถาว่าอันว่าหีบอันบีบน้ำอ้อย
เสียงสนั่นฉันใด แผ่นดินก็กึกก้องร้องหวั่นไหวไปมีอุปไมยเหมือนดังนั้น อันว่าหีบบีบน้ำมัน ทุบตี
น้ำมันด้วยกงจักรหันผัดผันไป มีครุวนาฉันใด เมทนีไหวหวั่นเวียนไปก็ปานกัน สาครก็สนั่นเป็นระ
ลอกชลาสินธุ์ อันว่าพระยาเขาเมรุมาศ โอนมิ ก็โน้นยอดเอนเอียง อันว่าสัททะสำเนียง
เสียงกระหึ่มหึ่งหึ่ง ก็ระดมดังอึงไปเกลื่อนกลุ้ม ในสิเนรุราชสิขรเขาหลวงหลักโลกเลิศกว่าเขาทั้ง
ปวง ปางนั้นชั้นฉกามาพจรหมู่อมรสุรางคนิกรก็สโมสรสาธุการเชยชม พรหมเจ้าฟ้าในมหาโสฬส
เสียงตบพระหัตถ์ตรัสสรรเสริญซึ่งศีลคุณห่าฝนทิพยจันทน์จุณมณฑาทิพบุปผา ในช่อชั้นฟ้าทุก
เภทพรรณ ยิ่งตกลงมาประหนึ่งว่าจะมีวิญญาณบูชาขณะเมื่อพระผู้เป็นเจ้าได้บรรลุพระอรหัตตา
ภิเษกเป็นอริยเอกอรหันต์ในกาลนั้น
(๒๓) รับเถรบัญชา.
แท้จริงสมัยปางนั้นโสด พระอรหันต์เจ้า๑๐๐ โกฏิอันสถิต ณ ถ้ำรักขิตเลณะทราบว่าพระนาค
เสนสำเร็จอภินิหาร ก็ใช้พระขีณาสวทูตนำข่าวสารบัญชาการให้หาพระนาคเสน พระนาคเสนก็
เข้าฌานบัดเดี๋ยวก็อันตรธานหายมาปรากฏขึ้นที่บรรพคูหาหิมพานต์ แล้วนมัสการถามว่า ข้าแต่
พระสงฆ์เถระ ท่านทั้งปวงให้หาข้าพเจ้ามาด้วยกิจเป็นประการใด ฝ่ายว่าพระสงฆ์เถรเจ้าทั้งปวง
นั้นจึงมีเถรวาจาบอกว่า ดูกรอาวุโส บัดนี้สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลนครนั้นเบียดเบียนพระ
อรหันต์และพระภิกษุทั้งหลายนัก ตั้งแต่จะเที่ยวซักถามปริศนา และหาบุคคลผู้ใดจะพยากรณ์
กล่าวแก้ไม่ได้ ก็อาวุโสจงไปแก้ไขปริศนา ทรมานพระยามิลินท์ให้เสียพยศอันร้าย พระนาคเสน
จึงว่า อย่าว่าแต่พระยามิลินท์เลย บรรดาพระยาอยู่ในชมพูทวีปที่มีปัญหาเหมือนพระยามิลินท์ ถึง
จะซ้อนตัวต่อศีรษะกันเข้ามาซักถามปัญหาตื้นลึกประการใด ข้าพเจ้าจะแก้ให้สิ้นสงสัยให้มี
พระทัยยินดี นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงนี้อย่าช้า จงไปสู่สำนักพระเจ้ามิลินท์ ณ เมืองสาคลนคร
อย่างได้ปรารมภ์สะดุ้งหวั่นไหวจงมาไปกับข้าพเจ้าในกาลบัดนี้ ฝ่ายว่าพระมหาเถรเจ้าทั้งหลายก็
กระทำกาสาวปโชติ ครั้นย้อมตากลำดับพับจีบแล้วก็จับบาตรบริขารที่จะคมนาการมากับพระนาคเสน
(๒๔) พระอายุบาล.
แม้ในสมัยปางนั้น ยังมีพระมหาเถระผู้หนึ่งมีนามกรชื่อว่าพระอายุบาล ชำนาญในนิกาย ๕
พระผู้เป็นเจ้าอาศัยอยู่ในอสงไขยบริเวณ ในกาลนั้น สมเด็จพระเจ้ามิลินท์นรินทร์บรมกษัตริย์
ทรงพระดำริในพระทัยว่า แท้จริงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายนั้นพระอรหันต์ก็ดี แต่บรรดาที่เป็น
เจ้าคณะเจ้าหมู่ ใครผู้ใดหนอที่จะรู้พระพุทธวจนะ แก้ไขวิมติสงสัยของอาตมา อาตมาจะเข้าไปสู่
หาผู้นั้น ราตรีวันนี้งามด้วยรัศมีพระจันทร์แจ้งกระจ่างปราศมลทินโทษ ทรงพระดำริแล้วก็โปรดมี
พระราชโองการตรัสถามราชเสวกโยนก ๕๐๐ เหมือนทรงพระราชดำรินี้ ข้าราชการก็ทูลว่ายังมี
พระโองการประภาษให้อำมาตย์คนหนึ่ง ออกไปบอกพระอายุบาลว่า พระโองการประภาษจะออก
มาหาสนทนากัน ส่วนพระอายุบาลนั้นก็ว่าจะเสด็จมาก็เสด็จเถิด อำมาตย์จึงเอาถ้อยคำพระอายุ
บาลนี้ไปกราบทูล สมเด็จพระเจ้าธรณีบดินทร์มิลินท์บรมกษัตริย์ได้ทรงฟังก็หรรษา มีหมู่โยนก
เสนา ๕๐๐ แวดล้อมแห่ห้อมเป็นยศบริวาร ส่วนสมเด็จพระภูมิบาลเสด็จด้วยรถทรงเทียมด้วย
สินธพงามบรรจง พร้อมด้วยจตุรงคนิกรโยธีเสนีเสนามิข้าก็ถึงบริเวณจังหวัด สมเด็จพระเจ้ามิลิ
นทร์ปิ่นกษัตริย์มีพระราชโองการตรัสให้หยุดพิชัยราชรถทรงไว้ เสด็จไปด้วยบวรเบื้องบาทเปล่า
เข้าสู่สำนักพระอายุบาล นมัสการแล้วกระทำปฏิสันถารโอภาษปราศรัยกันไปมาจึงมีพระราช
โองการตรัสถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อันว่าบรรพชาของพระผู้เป็นเจ้านี้ เป็นอรรถอันอุดมอย่าง
ไร พระอายุบาลแก้ไขวิสัชนาว่า ดูรานะบพิตร อันว่าบรรพชานี้ จัดว่าเป็นธรรมจริยาและสมจริยา
ประพฤติจะให้เป็นประโยชน์เป็นผลแก่ฝูงเทวดาและมหาชน ฉะนี้เหมือนขอถวายพระพร สมเด็จ
พระเจ้ามิลินท์นริทรจอมกษัตริย์คัดข้อซักถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าถ้าว่าเป็นฆราวาสเล่าเป็นธร
รรมจารี ประพฤติในธรรมเสมอในธรรมเป็นอันดีจะมีวิเศษข้างหรือหามิได้ พระอายุบาลแก้ไขว่า
ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ฆราวาสที่ประกอบการเป็นธรรมจารีสมจารี ยินดีเลื่อมใสเชื่อพระ
รัตนตรัย สมาทานถือไว้มั่นคงทรงศีล ๕ ประการ ๘ ประการ ให้ทานภาวนาอุตส่าห์ฟังธรรม ชื่อว่า
เป็นธรรมจารีสมาจารี ก็จัดว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์เป็นผลแก่อมรคณานิกรมหาชน ครั้งเมื่อ
สมเด็จพระทศพลยังมีพระชนมายุอยู่นั้นโสดเสด็จยังพาราณสีนครโปรดประทานธรรมเทศนาพระ
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกขุในป่าอิสิปตนมิคทายวัน ครั้นจบลงแล้ว พรหมทั้งหลาย
๑๘ โกฏิได้ฟังก็สำเร็จประโยชน์ได้มรรคผลเป็นอริยบุคคลอันอุดม พรหมทั้งหลายย่อมเป็น
คฤหัสถ์อยู่หมด จะได้อุปสมบทบรรพชาหามิได้ ครั้งสมเด็จพระบรมโลกนาถโปรดประทานพระ
สัทธรรมเทศนามหาเวสสันตรปริยาย และขทิรังคารปริยาย ราหุโลวาทปริยายแทบประตูเมืองสังกัส
ฝูงบริษัท ๒๐ โกฏิสำเร็จประโยชน์ได้มรรคผล คนทั้งหลายนั้นกับทั้งเทพดาทุกชั้นฉกามาพจร
พรหมคณาในห้องโสฬส เป็นคฤหัสถ์หมด จะได้อุปสมบทบรรพชาหามิได้เมื่อพระอายุบาลแก้ไข
ดังนี้ กรุงมิลินทราธิบดีมีพระโองการตรัสว่า ข้าแต่พระอายุบาลผู้เป็นเจ้า คฤหัสถ์เหล่านั้นกับ
บรรพชาของพระผู้เป็นเจ้านี้ก็เสมอกัน สุดแท้แต่ว่าใครปรนนิบัติดีแล้วก็ได้มรรคผลเสมอกัน ที่
ถือบรรพชาดุจสมณะทั้งหลายอันเป็นสากยบุตรพุทธชิโนรสของสมเด็จพระทศพลเจ้าอันทรง
ธุดงค์ต่าง ๆ นั้น ชะรอยว่ากรรมได้สร้างแต่ปางหลังถือเอกาฉันจังหันหนเดียว แต่ชาติก่อนเป็น
โจรเที่ยวปล้นชาวบ้านไปตีชิงอาหารเขา ครั้นชาตินี้เล่าผลกรรมนั้นดลจิตให้ฉันหนเดียวดู
บรรพชานี้ไม่มีผล ถึงจะรักษาศีลสังวรวินัยก็ไม่มีผลและที่ว่าจะรักษาตบะฌานก็ไม่มีผล จะรักษา
ซึ่งพรหมจรรย์ก็ฃไม่มีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ประการหนึ่งเล่า ที่ท่านถือธุดงค์อัพโภกาสมิได้อยู่ใน
เสนาสนะ แต่ปุพพชาติก่อนนั้นเป็นโจรเที่ยวปล้นกระทำอกุศลทุจริตร้ายทำลายบ้านเรือนท่าน ให้
เจ้าของต้องทรมานกินกลางดอนนอนอนาถาหาอาสนะมิได้ ผลอกุศลก็ดลใจ ให้ถืออัพโภกาสหา
อาสนะนั่งนอนมิได้ ธุดงคคุณที่รักษาไว้จะได้ชื่อว่าศีลก็หามิได้ จะเป็นตบะหามิได้ จะเป็น
พรหมจรรย์ก็หามิได้สูญเปล่า ประการหนึ่งเล่าที่ท่านถือธุดงค์อันชื่อว่าเนสัชชิกนั่งลืมจักษุอยู่ไม่
จำวัดนั้น ชะรอยชาติก่อนจะเป็นโจรหยาบช้า เป็นโจรใจร้ายมาคอยปล้นที่หนทางตีต่างตีเกวียน
เบียนบุกบั่นเข้าตีรัน ครั้นจับเข้าของได้ก็ผูกมัดรัดมือไว้เก็บเอาข้าวของโคกระบือไป ได้กระทำ
ไว้แต่ชาติหลังนั้น จึงเผอิญให้สำคัญผูกพันเอาเนสัชชิกธุดงค์ จะนอนลงมิได้นั่งลำบากตากตาอยู่
โยมคิดดูซึ่งธุดงค์นี้ไม่มีผลจะเป็นศีลก็หามิได้ จะเป็นตบะก็หามิได้ จะเป็นพรหมจรรย์ก็หามิได้ ก็
จะบรรพชารักษาธุดงค์ไปต้องการอะไรปรนนิบัติในคฤหัสถ์ก็ได้มรรคผลเหมือนกันแล้วนี้ เป็น
คฤหัสถ์อยู่มิดีกว่าหรือนะ พระผู้เป็นเจ้าเมื่อบรมปิ่นกษัตริย์ตรัสเท่านี้ พระอายุบาลขี้คร้านที่จะ
ตอบกระแสพระโองการก็ดุษณีภาพนิ่งไปมิได้ถวายพระพรโต้ตอบต่อข้าปัญหา โยนกข้าหลวงทั้ง
ปวง ๕๐๐ นั้นก็อภิวันท์ทูลว่า ข้าแต่บพิตรผู้สถิดในสังคหวัตถุการ พระอายุบาลนี้ท่านชำนาญนิกาย
๕ ไม่แกล้วกล้าที่จะวิสัชนา จึงมิได้โต้ตอบพจนารถพระราชปุจฉา ในกาลบัดนี้
(๒๕) ได้ข่าวพระนาคเสน.
อันดับนั้น สมเด็จพระเจ้ามิลินท์นริทรราชเรืองเดช จะได้ทรงสังเกตนับถือถ้อยคำข้าราชการทูล
เฉลยนั้นหามิได้ เห็นพระอายุบาลนิ่งไปก็ตบพระหัตถ์ตรัสเย้ยว่า ดูกรโยนกทั้งปวงเอ๋ย อาตมาคิด
ดูทวีปชมพูนี้สิ้นสุด โอ้มาสูญแล้วแท้จริงจากบุคคลที่มีปัญญายอดยิ่งปรีชาชาญหรือว่าสมณพร
หมณาจารย์ผู้ใดที่ปรีชาเชี่ยวชาญเป็นอาจารย์เจ้าหมู่เจ้าคณะ และหมู่สงฆ์อันได้เรียนรู้ธรรมะ
ของสมเด็จพระพุทธองค์ อาจจะแก้วิมติสงสัยของอาตมานี้ได้ เห็นทีจะสิ้นสุดเสียครั้งนี้แล้วหนอ
ฝ่ายโยนกได้ฟังก็มิได้ตอบต่อสนองทูลฉลองพระโองการ ส่วนพระอายุบาลเห็นอาการดังนั้นจึงดำริ
ว่า แท้จริงเราเป็นสมณะไม่ควรที่จะทุ่มเถียงไปมา ที่จริงปัญหานี้จะวิสัชนาให้ฟังอีกก็มิได้ตอบต่อ
สนองทูลจะทะเลาะวิวาท ข้อซึ่งอาตมาไม่แก้ปัญหา จะพาพระพุทธศาสนาให้เสื่อมเศร้าไปเป็นว่า
หามิได้ ดำริในใจฉะนี้แล้วพลางทางอุฏฐาการไปจากสถานที่นั้น ส่วนสมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์
ปิ่นทวีปชมพูก็เข้าสู่พระนคร ตั้งแต่จะทรงพระอนุสรณ์รำพึงที่จะถามปัญหาจึงตรัสถามโยนกข้า
หลวงทั้งปวงว่า ยังจะมีพระภิกษุรูปใดที่ปรีชาฉลาด อาจจะแก้ปัญหาพาให้เราสิ้นสงสัยมีที่ไหนบ้าง
โยนกข้าหลวงทั้งปวงได้ฟังก็ถวายบังคมและก้มหน้านิ่งไป จึงมีพระโองการถามไถ่เนมิตติย
อำมาตย์ผู้ฉลาดอีกเล่า วันนั้นพอเนมิตติยอำมาตย์ได้ฟังเขาเล่าลือมาว่า พระนาคเสนเจ้า
พระองค์หนึ่งผู้มีอายุมิ่งมงกุฎวิสุทธิสงฆ์องค์เอกอเสกขบุคคล รู้มนตราไตรเพทวิเศษในไสย
ศาสตร์รู้พุทธโอวาทเจนจัด พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ปริยัติไตรเพทสุตตันตะไตรเพท รู้
ปฏิเวธธรรมาคมอุดมกว่าธีราธีรชาติ มีราคาทิกิเลสขาดสูญแล้วจากสันดานควรแก่เครื่องสักการ
อันมนุษย์อินทร์พรหมยักษ์หมู่นาคหากจะบูชา มีปัญญาดุจหนึ่งมหาสมุทรสาครอันขจร ด้วย
ระลอกชลธี อาจจะกำจัดเสียซึ่งคำเดียรถีย์อันกล่าวติเตียนเป็นเสี้ยนหนามความมิดี เมื่อจะแปล
บาลีก็รุ่งโรจน์ไพเราะแก่โสตประสาท เมื่อจะประกาศซึ่งคำสั่งสอน ๙ ประการแห่งสมเด็จพระชินวร
ก็มีพระกรกุมแก้วกล่าวแล้วคือพระศาสนา ยกขึ้นเชิดชูแก่หมู่ประชาให้เห็นแสง เมื่อจัดแจงยก
ขึ้นซึ่งเครื่องบูชาสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ เมื่อจะตั้งซึ่งเสาเตว็ดปักซึ่งธรรมให้รอบโลกเลิศล้ำ
ไตรภพพื้นธรณี เมื่อจะประโคมธรรมดนตรีตีสังขเภรี ดีดกระจับปี่ และสีซอโทนรำมะนา ดนตรี
อันนับได้ ๔ กล่าวคือปรีชาจะชี้แจงให้เห็นในพระจตุราริยสังธรรมทั้ง ๔ ตามพุทโธวาทเมื่อจะ
เปล่งออกซึ่งธรรมคเวนทรอุสุเภนทรนาทสิงหประกาศอันไพเราะโสตประสาทเมื่อจะยังอากาศให้
พิลึกกึกก้องเรืองรองด้วยสายฟ้า คือปรีชาคะนองและเสียงเมฆสนั่นก้องโกลาหล ยังห่าฝนให้ตก
พรมพรำลงมาเย็นเกศาสกลโลกธาตุทวีปชมพู ประกอบด้วยหมู่สงฆ์ล้อมซ้ายขวา ก็อัญชลีลาพระ
ขีณาสพ ๑๐๐ โกฏิ น้อมศิโรตม์นบนอบประทักษิณ สิ้นตติยวารเวียนสามรอบ แล้วลีลาจากคูหา
ห้องหิมพานต์ เที่ยวสำราญจาริกมาตามคามชนบทนิคมปัจจันตราชธานี บันลือซึ่งธรรมเภรี
เสียงกลองกล่าวคือธรรมอันวิเศษ เทศนาโปรดฝูงประชาชนในตำบล บ้านน้อย เมืองใหญ่กรุง
กษัตริย์สามนต์มา โดยลำดับดังนี้ ก็ถึงกรุงสาคลราชธานี อันเป็นที่อยู่แห่งกรุงมิลินท์ปิ่นทวีปเวียง
ชัย พระผู้เป็นเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในอสงไขยบริเวณ อันเป็นที่อยู่แห่งพระอายุบาลก็มีในกาลนั้น
(๒๖) นิมนต์พระนาคเสน.
นี่แหละเนมิตติยอำมาตย์ เมื่อสมเด็จพระเจ้ามิลินท์นรินทรราช ประภาษถามทราบความฉะนี้
จึงกราบทูล ข้าแต่สมเด็จบรมบพิตรผู้ท่านพิภพเวียงชัย อย่าได้ทรงพระดำริเร่าร้อนพระทัยเลย
บัดนี้ยังมีพระภิกษุองค์หนึ่งยิ่งยอดปรีชาโฉมงามมีนามชื่อว่านาคเสนแสนฉลาดชาติพหุสูต ทรง
สุตตันตะไตรปิฎก เป็นสงฆปริณายกอันวิเศษสำเร็จปฏิเวธธรรมมรรคผล เป็นอัครบุคคลเลิศล้ำ
ได้ปฏิสัมภิทาธรรม ชำนาญฌานวสีบารมีธรรมถ้วนกำหนดเป็นอัครชิโนรสเรืองชำนาญปรีชา ทุก
เทพชั้นฉ้อกามาองค์อมรินทร์ดาวดึงสา สุยามยมวรุณกุเวรเสสวัณธตรฐ หมดทั้งท้าวมหาพรหม
เป็นบรมบิดามหาแห่งโลกเลิศประเสริฐกว่าสรวงสวรรค์ย่อมมาถามซึ่งปัญหา น้อมเกศาเศียร
ระเนนแทบเบื้องบาทพระนาคเสนสิ้น ประสาอะไรกับมนุษย์เดินดินจะอวดดี ตั้งแต่นี้อย่าได้ทรง
พระดำริวิตกวิจารณ์ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมจงทราบในพระบวรปรีชาญาณด้วยประการดังนี้ ลำดับ
กาลปางนั้นแท้จริง สมเด็จบรมมิ่งมงกุฎกษัตริย์ขัตติยภูมินทร์มิลินทราช ทรงฟังเนมิตติย
อำมาตย์ออกนามว่าพระนาคเสน ขณะนั้นพระทัยเธอไหวหวั่นพระโลมาพองสยองพระเกศ กลัว
เดชพระนาคเสนผู้วิเศษนี้ครัน ๆ มีราชโองการสั่งเทวมันติย อำมาตย์เร็วพลันว่า ดูกรเทวมันติ
ยอำมาตย์เอ๋ย อย่าอยู่ช้าเลย สูชาวเจ้าจงออกไปยังอสงไขยบริเวณ นิมนต์พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า
เข้ามายังราชฐานในกาลบัดนี้ ส่วนเทวมันติยอำมาตย์รับพระราชโองการแล้ว ถอยหลังคลานออก
มาจากราชฐาน ขมีขมันให้ทันพระราชหฤทัยจึงใช้มหาดเล็กลูกเวรเป็นทูตไปนิมนต์พระนาคเสน
ว่า พระโองการให้อาราธนาเข้ามาสู่พระราชฐาน
(๒๗) รับคำนิมนต์.
ส่วนพระนาคเสนได้ฟังอาการจึงมีเถรวาจาว่า ดูกรทูต ท่านจงกลับไปทูลเถิดว่า อาตมาให้เชิญ
บรมกษัตริย์ผู้ประเสริฐเสด็จมายังสำนักแห่งอาตมา ส่วนทูตฟังเถรวาจารก็นมัสการลามาขมีขมัน
เรียนแก่เทวมันติยอำมาตย์ เทวมันติยอำมาตย์ก็เข้าสู่ราชฐานกราบทูลอาการว่า บัดนี้พระนาค
เสนจะเข้ามาสู่ราชฐานหามิได้ สั่งให้เชิญเสด็จออกไปที่อสงไขยบริเวณ พระนาคสนถวายพระพร
เข้ามาอย่างนี้ ส่วนสมเด็จพระเจ้ามิลินท์นรินทราธิบดี ได้สวนาการทรงฟังก็เสด็จยังพระบวร
สุวรรณวิชัยบุษบก พระที่นั่งรถยานอันเทียมด้วยสินธพอาชาชาญ ดูเห็นงามอร่ามเรือง ประเทือง
ด้วยธงปักงอนรถงามระหง ในธงระบุระบัดพระพายพัดต้องแสงทอง แสงแก้วเรืองรองแวววาว
เสนาธนูน้าวเกาทัณฑ์ พลขันธ์แห่หน้าพร้อมด้วยโยธาจตุรงค์ องค์เสนีมี่ก้อง โห่ร้องแห่แหนพล
เสนีนับแสนแห่ห้อมล้อมมามีอานุภาพนี้นักหนา ดุจพระสุริยาเยื้องรถบทจรเร่งรีบส่องทวีปเมื่อ
เวลามัชฌันติกสมัย มิทันใดก็ถึงประตูอสงไขยบริเวณพลัน
จึงสั่งให้ประทับที่นั้น จึงส่งพระขรรค์ให้มหาดเล็กเสด็จลงจากรถยานุมาศ ก็เสด็จดำเนินด้วยพระ
บาทเปล่า เข้าสู่พระทวารประตูอสงไขยบริเวณ ขณะนั้นพระนาคเสนวิสุทธิสงฆ์องค์
เอกอเสกขบุคคลเสด็จอยู่ในมณฑลมาลกะอันงามพรรณราย อธิบายว่าโรงธรรมการบุเรียนใหญ่
มีในกลาอสงไขยบริเวณนั้นมีพระภิกษุแปดสิบพันแวดล้อมหน้าหลัง ดูนี้งามดังท้าวธตรฐมหาหงส์
อันลงจับอยู่ที่กลางสระศรีสาโรธ ปราโมทย์ด้วยสกุณหงส์แปดสิบพันเป็นบริวาร ดูนี้งามปานกัน
ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ขัตติยะเรืองเดช ทอดพระเนตรเห็นแต่บริษัทสงฆ์ มิได้
รู้จักองค์พระนาคเสนแต่ไกล มีพระโองการไถ่ถามเทวมันติยอำมาตย์ว่า พระนาคเสนผู้ฉลาดองค์
ใดนั่งอยู่ที่ไหน เทวมันติยอำมาจย์ผู้ไวปัญญาจึงกราบทูลว่า ขอรับพระราชทาน พระนาคเสนนิสัช
นาการนั่งอยู่กลางสงฆ์คือองค์นั้น ครั้นท้าวเธอได้ทัสนาการเห็นพระนาคเสนก็ตกพระทัยบังเกิด
พระโลมาพองสยดสยองพระเศียร พระทัยนี้เปลี่ยน ๆ ปิ่มประหนึ่งจะทะลึ่ง ประลาตหนีไป จะมี
ครุวนาฉันใด อุปไมยเหมือนมนุษย์อันเห็นยักขินีผีเสื้อ เหมือนกวางเห็นเสือเหมือนมฤคีหมู่เนื้อ
อันเห็ฯสีหราชชาติไกรสร เหมือนพระจันทร์ล้อมด้วยดาวดารากรเยื้องรถพิมานจรจะพบอสุริน
ทราชราหู เหมือนวิฬาร์กับหนูเหมือนทีฆชาตินาคงูแลเห็นครุฑสุดที่จะกลัวตัวสั่นฉันใด พระเจ้า
กรุงมิลินท์ปิ่นพิภพเวียงชัย ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนแต่ไกลวันนั้นก็กลัวปานกัน น้ำพระทัย
นี้ครั่น ๆ พระทัยนี้ไหวหวั่นตั้งมั่นลงมิได้น้ำพระทัยดำริว่า โอ้อาตมานี้แต่อวดดีมานี้ก็นาน หาผู้จะ
ต่อต้านมิได้ อาตมานี้จะถึงปราชัยหักลงไปวันนี้เป็นมั่นคง