ติกกะ คือ หมวด ๓
(๒๕) รตนะ ๓
๑. พระพุทธ
๒. พระธรรม
๓. พระสงฆ์
๑) ท่านผู้สอนให้ประชุมชนประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจตามพระธรรมวินัย ที่ท่านเรียกว่าพระพุทธศาสนา ชื่อพระพุทธเจ้า.
๒) พระธรรมวินัยที่เป็นคำสั่งสอนของท่าน ชื่อพระธรรม.
๓) หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อพระสงฆ์.
--------------------------------------
(๒๖) คุณของรตนะ ๓
๑. พระพุทธเจ้ารู้ดีรูชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย.
๒. พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว.
๓. พระสงฆ์ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้กระทำตามด้วย.
--------------------------------------
(๒๗) อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ๓
๑. ทรงสั่งสอน เพื่อจะให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น.
๒. ทรงสั่งสอนมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้.
๓. ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ คือผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์โดยสมควรแก่ความปฏิบัติ.
--------------------------------------
(๒๘) โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓
๑. เว้นจากทุจริต คือประพฤติชั่วด้วย กาย วาจา ใจ.
๒. ประกอบสุจริต คือประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ.
๓. ทำใจของตนให้หมดจด (คือหมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธหลง เป็นต้น)
--------------------------------------
(๒๙) ทุจริต ๓
๑. กายทุจริต (ประพฤติชั่วด้วยกาย)
๒. วจีทุจริต (ประพฤติชั่วด้วยวาจา)
๓. มโนทุจริต (ประพฤติชั่วด้วยใจ)
--------------------------------------
(๓๐) กายทุจริต ๓
๑. ฆ่าสัตว์
๒. ลักฉ้อ
๓.ประพฤติผิดในกาม
--------------------------------------
(๓๑) วจีทุจริต ๔
๑. พูดเท็จ
๒. พูดส่อเสียด
๓. พูดคำหยาบ
๔. พูดเพ้อเจ้อ
--------------------------------------
(๓๒) มโนทุจริต ๓
๑. โลภอยากได้ของเขา
๒. พยาบาทปองร้ายเขา
๓. เห็นผิดจากคลองธรรม
ทุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจไม่ควรทำ ควรจะละเสีย.
--------------------------------------
(๓๓) สุจริต ๓
๑. กายสุจริต (ประพฤติชอบด้วยกาย)
๒. วจีสุจริต (ประพฤติชอบด้วยวาจา)
๓. มโนสุจริต (ประพฤติชอบด้วยใจ)
--------------------------------------
(๓๔) กายสุจริต ๓
๑. เว้นจากฆ่าสัตว์
๒. เว้นจากลักทรัพย์
๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม
--------------------------------------
(๓๕) วจีสุจริต ๔
๑. เว้นจากพูดเท็จ
๒. เว้นจากพูดส่อเสียด
๓. เว้นจากพูดคำหยาบ
๔. เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
--------------------------------------
(๓๖) มโนสุจริต ๓
๑. ไม่โลภอยากได้ของเขา
๒. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
๓. เห็นชอบตามคลองธรรม
สุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจควรทำ ควรประพฤติ.
--------------------------------------
(๓๗) อกุศลมูล ๓
รากเง่าของอกุศล เรียกอกุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
๑. โลภะ อยากได้
๒. โทสะ คิดประทุษร้ายเขา
๓. โมหะ หลงไม่รู้จริง
เมื่ออกุศลมูลเหล่านี้ ๑ ก็ดี ๒ก็ดี ๓ ก็ดี มีอยู่แล้ว อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้น ควรละเสีย.
--------------------------------------
(๓๘) กุศลมูล ๓
รากเง่าของกุศล เรียกกุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
๑. อโลภะ ไม่อยากได้
๒. อโทสะ ไม่คิดประทุษร้ายเขา
๓. อโมหะ ไม่หลง
ถ้ากุศลมูลเหล่านี้ ๑ ก็ดี ๒ก็ดี ๓ ก็ดี มีอยู่แล้ว กุศลอื่นที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรให้เกิดมีในสันดาน.
--------------------------------------
(๓๙) สัปปุริสบัญญัติ ๓
คือข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้ ๓ อย่าง
๑. ทาน สละสิ่งของของตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น.
๒. ปัพพัชชา คือบวช เป็นอุบายเว้นจากเบียดเบียนกันและกัน.
๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข.
--------------------------------------
(๔๐)อปัณณกปฏิปทา ๓
คือปฏิบัติไม่ผิด ๓ อย่าง
๑. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ หา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป
ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ.
๒. โภชเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการกินอาหารแต่พอ สมควร ไม่มากไม่น้อย.
๓. ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรเพื่อจะชำระใจให้หมดจดไม่เห็นแก่นอนมากนัก.
--------------------------------------
(๔๑) บุญกิริยาวัตถุ ๓
สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ เรียกบุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ อย่าง
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน.
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล.
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา.
--------------------------------------
(๔๒) สามัญญลักษณะ ๓
ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง เรียกสามัญญลักษณะไตรลักษณะก็เรียก แจกเป็น ๓ อย่าง
๑. อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง.
๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์.
๓. อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตน.
--------------------------------------
(๔๓) อกุศลวิตก ๓
ิ๑. กามวิตก ความตริในทางกาม
๒. พยาบาทวิตก ความตริในทางพยาบาท
๓. วิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียน.
องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๔๙๖.
อธิบาย: ความตริประกอบด้วยอธรรมราคะ เช่นคิดแส่ไปในการทำกาเมสุมิจฉาจาร และทำทุราจารผิดประเพณี และปรกอบด้วยอภิชฌา เช่นคิดแส่ไปในทางหาลาภอันไม่ชอบธรรม จัดเป็นกามวิตก. ความตริประกอบด้วยพยาบาท มีโทสะเป็นมูล คือคิดทำลายหรือตัดรอนผู้อื่น จัดเป็นพยาบาทวิตก. ความตริประกอบด้วยเจตนาเป็นเหตุทำความลำบากให้แก่ผู้อื่น มีโมหะเป็นมูล เช่นให้คนหรือสัตว์พาหนะเกินพอดี ไม่ปรานีไม่คิดถึงความลำบากของเขาของมัน หรือแสวงหาความสุกเพื่อตนเองในทางลำบากของผู้อื่น จัดเป็นวิหิงสาวิตก.
--------------------------------------
(๔๔) กุศลวิตก ๓
๑. เนกขัมมวิตก ความตริในทางพรากจากกาม
๒. อพยาบาทวิตก ความตริในทางไม่พยาบาท
๓. อวิหิงสาวิตก ความตริในทางไม่เบียดเบียน.
อธิบาย: ความตริเป็นไปเพื่อทำใจไม่ให้ลุอำนาจแก่กิเลสกาม และไม่ติดอยู่ในวัตถุกาม จัดเป็นเนกขัมมวิตก แต่เนกขัมมศัพท์นี้ท่านหมายเอาออกบวช เพราะความมุ่งหมายของผู้บวช ย่อมเป็นไปในทางนั้น. ความตริเป็นด้วยอำนาจเมตตาในผู้อื่น ปรารถนาความดีความงามเพื่อเขา จัดเป็นอพยาบาทวิตก. ความตริเป็นไปด้วยอำนาจกรุณาในผู้อื่น จะทำอะไร ๆ เนื่องด้วยผู้อื่น เป็นต้นว่า จะใช้คนหรือสัตว์ มีปรานีคิดถึงความลำบากของเขาของมัน ไม่ใช้ตรากตรำไม่ทำความลำบากให้แก่เขาแก่มันโดยไม่จำเป็น จัดเป็นอวิหิงสาวิตก.
--------------------------------------
(๔๕) อัคคิ [ไฟ ] ๓
๑. ราคัคคิ ไฟคือราคะ
๒. โทสัคคิ ไฟคือโทสะ
๓. โมหัคคิ ไฟคือโมหะ.
ขุ. อุ. ๒๕/๓๐๑.
อธิบาย: กิเลส ๓ ประเภทนี้ จัดเป็นอัคคิ เพราะเป็นสภาพเผาลนสันดานให้ร้อน.
--------------------------------------
(๔๖) อัตถะ หรือ ประโยชน์ ๓
๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในภพนี้
๒. สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ในภพเจ้า
๓. ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยอด (คือพระนิพพาน).
--------------------------------------
(๔๗) อธิปเตยยะ ๓
๑. อัตตาธิปเตยยะ ความมีตนเป็นใหญ่
๒. โลกาธิปเตยยะ ความมีโลกเป็นใหญ่
๓. ธัมมาธิปเตยยะ ความมีธรรมเป็นใหญ่.
องฺ. ติก. ๒๐/๑๘๖.
อธิบาย: อัตตาธิปเตยยะนั้น พึงเห็นเช่นคนจะทำบุญ ปรารภภาวะของตนผู้เป็นอิสระ ทำด้วยมุ่งให้สมภาวะของตน ผู้ทำมุ่งผลอันจะได้แก่ตน หรือมุ่งความสะดวกแห่งตนก็เช่นนั้น. โลกาธิปเตยยะนั้น พึงเห็นเช่นผู้นั้นทำบุญ ด้วยมุ่งจะให้ผู้อื่นสรรเสริญ หรือไม่ทำเกรงเขาจะนินทา หรือทำตามความนิยมของเขาทั้งหลาย. ธัมมาธิปเตยยะนั้น พึงเห็นเช่นผู้ทำไม่มุ่งอย่างอื่น เป็นแต่เห็นสมควรเห็นว่าถูกก็ทำ หรือทำด้วยอำนาจเมตตากรุณาเป็นอาทิ.
--------------------------------------
(๔๘) อนุตตริยะ ๓
๑. ทัสสนานุตตริยะ ความเห็นอันเยี่ยม
๒. ปฏิปทานุตตริยะ ความปฏิบัติอันเยี่ยม
๓. วิมุตตานุตตริยะ ความพ้นอันเยี่ยม.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๓๑.
อธิบาย: ความเห็นธรรมด้วยญาณ ได้ในพุทธภาษิตว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา" ดังนี้ จัดเป็นทัสสนานุตตริยะ. ความปฏิบัติธรรมที่ได้เห็นแล้วนั้น ทั้งในส่วนปหานะ ทั้งในส่วนภาวนาจัดเป็นปฏิปทานุตตริยะ. ความพ้นจากกิเลสาสวะเป็นอกุปปธรรม เพราะปฏิปทานั้น จัดเป็นวิมุตตานุตตริยะ.
--------------------------------------
(๔๙) อภิสังขาร ๓
๑. ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารคือบุญ
๒. อปุญญาภิสังขาร อภิสังขารคือบาป
๓. อเนญชาภิสังขาร อภิสังขารคืออเนญชา.
ขุ. ปฏ. ๓๑/๑๘๑.
อธิบาย: สภาพผู้ตกแต่ง ได้ชื่อว่าอภิสังขาร. บุญก็ดี บาปก็ดีเป็นผู้แต่งสัตว์ให้ดีบ้างเลวบ้างต่าง ๆ กัน จึงได้ชื่อว่าอภิสังขารละอย่าง ๆ. อเนญชา แปลว่าความไม่หวั่นไหว ได้แก่ความมั่นหรือธรรมชาติหาความหวั่นไหวมิได้ ได้แก่มั่น แสดงภูมิธรรมเพียงชั้นสมาบัติก็มี ถึงโลกุดรก็ดี ในที่นี้ท่านแก้ว่าได้แก่อรูปสมาบัติ ๔ และสงเคราะห์รูปสมาบัติเข้าในปุญญาภิสังขาร เหมือนบุญอันเป็นกามาพจร. อเนญชาภิสังขาร ความยังไม่ชัด ข้าพเจ้าขอฝากนักธรรมไว้พิจารณาด้วย*. อภิสังขารนี้ มาในนิทเทสแห่งสังขารศัพท์ในอุทเทสแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยนัยนี้ เป็นอันว่า ท่านหมายความเป็นอันเดียวกัน.
--------------------------------------
(๕๐) อาสวะ ๓
๑. กามาสวะ อาสวะเป็นเหตุอยากได้
๒. ภวาสวะ อาสวะเป็นเหตุอยากเป็น
๓. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชาความเขลา.
ที. มหา. ๑๐/๙๖.
อธิบาย: ศัพท์ว่า อาสวะนั้น อย่างหนึ่งใช้เรียกเมรัย เช่น"ปุปฺผาสโว" น้ำดองดอกไม้ "ผลาสโว" น้ำดองผลไม้. อีกอย่างหนึ่ง ใช้เรียกเจตสิกอันเศร้าหมอง เช่นอาสวะ ๓ นี้. อาสวะกับกิเลสต่างกันหรือเป็นแววจนะของกันและกัน ควรได้รับความพิจารณา. เพ่งพยัญชนะแห่งศัพท์ น่าจะเห็นว่า กิเลสที่แปลว่าสภาพที่เศร้าหมองหรือเครื่องเศร้าหมอง ใช้เรียกเจตสิกประเภทนั้นทั่วไปอาสวะที่แปลว่า สภาพดองหรือหมักหมม ใช้เรียกเจตสิกประเภทนั้นเฉพาะที่แก่กล้านับว่าเป็นเจ้าเรือน อุทาหรณ์คนสามัญยังมีอยากได้ยังมีโกรธ แต่เขาไม่เรียกว่าเป็นคนมักได้ เป็นคนมักโกรธ ทุกคนไปเขาเรียกเฉพาะบางคน เช่นนี้ เขาหมายเอาความอยากได้บ้าง ความโกรธบ้าง อันเป็นไปกล้า หรืออันเป็นอาจิณในสันดานของบุคคลนั้น.แต่อันที่แท้ดูเหมือนเป็นแววจนะของกันและกันเรียกในต่างคราว. ในบางคราวแบ่งเรียกบางอย่างว่าอาสวะ บางอย่างว่าอนุสัย บางอย่างว่าสังโยชน์ บางอย่างว่าคันถะ บางอย่างว่าอกุศลจิตตุปบาท และอื่น ๆ อีกในบางคราวรวมเรียกว่ากิเลส. คนอยากได้เพราะอาสวะประเภทใดเป็นเหตุ อาสวะนั้น จัดเป็นกามาสวะ. คนอย่างเป็นอยู่ อยากเกิดเพราะอาสวะประเภทใดเป็นเหตุ อาสวะนั้น จัดเป็นภวาสวะ. คนเขลา ไม่แจ้งการณ์อันควรจะรู้ได้ อย่างเรียกว่า เส้นผมบังภูเขา เพราะอาสวะใดเป็นเหตุ อาสวะนั้นจัดเป็นอวิชชาสวะ.
--------------------------------------
(๕๑) กรรม ๓
๑. กายกรรม กรรมทำด้วยกาย
๒. วจีกรรม กรรมทำด้วยวาจา
๓. มโนกรรม กรรมทำด้วยใจ.
ม. ม. ๑๓/๕๖.
--------------------------------------
(๕๒) ทวาร ๓
๑. กายทวาร ทวารคือกาย
๒. วจีทวาร ทวารคือวาจา
๓. มโนทวาร ทวารคือใจ.
มงฺ. ที. วินัย. ๑/๒๓๗.
อธิบาย: ปาณาติบาตก็ดี อทินนาทานก็ดี จัดเป็นกายกรรมทำเอง จัดเป็นทางกายทวาร ใช้ให้เขาทำ จัดเป็นทางวจีทวาร.มุสาวาท จัดเป็นวจีกรรม พูดทางปาก จัดเป็นทางวจีทวาร. ทำกายวิการ เช่นจะรับพยักหน้า จะปฏิเสธ สั่นศีรษะ จัดเป็นทางกายทวาร. อภิชฌา เป็นมโนกรรม จับลูบคลำพัสดุที่อยากได้ แต่ไม่ได้มีไถยจิต จัดเป็นทางกายทวาร บ่นว่า ทำอย่างไรดีหนอ จักได้พัสดุนั้น จัดเป็นทางวจีทวาร เป็นแต่รำพึงในใจ จัดเป็นทางมโนทวารในฝ่ายกุศลพึงรู้โดยนัยนี้.
--------------------------------------
(๕๓) ญาณ ๓
๑. อตีตังสญาณ ญาณในส่วนอดีต
๒. อนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต
๓. ปัจจุปปันนังสญาณ ญาณในปัจจุบัน.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๙๒.
อธิบาย: ปัญญาอันรู้จักสาวหาเหตุการณ์ในหนหลังอันบันดาลให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน จัดเป็นอตีตังสญาณ. ปัญญาอันรู้จักคาดเห็นผลในอนาคตอันจักบันดาลเกิด เพราะเหตุการณ์ในปัจจุบันหรือในอนาคตด้วยกัน จัดเป็นอนาคตังสญาณ. ปัญญาอันรู้จักว่าควรทำอย่างไรในเมื่อเหตุหรือผลเกิดในทันใด จัดเป็นปัจจุปปันนังสญาณ.
--------------------------------------
(๕๔) ญาณ ๓ (๒)
๑. สัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ
๒. กิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ
๓. กตญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว.
สํ. มหา. ๑๙/๕๓๐.
อธิบาย: ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธนี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา จัดเป็นสัจจญาณ. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกข์เป็นธรรมชาติที่ควรกำหนดรู้ ทุกขสมุทัย เป็นสภาพที่ควรละเสียทุกขนิโรธ เป็นสภาพที่ควรทำให้แจ้ง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นธรรมชาติที่ควรทำให้เกิด จัดเป็นกิจจญาณ. ปรีชาหยั่งรู้กิจ ๔ อย่างนั้นว่าทำสำเร็จแล้ว จัดเป็นกตญาณ. ญาณ ๓ นี้ เป็นไปในสัจจะ ละ ๓ ๆ ๔ สัจจะ จึงเป็น ๑๒ เรียกว่ามีวนรอบ ๓ ใน ๔ อริยสัจ มีอาการ ๑๒.
--------------------------------------
(๕๕) ตัณหา ๓
๑. กามตัณหา ตัณหาในกาม
๒. ภวตัณหา ตัณหาในภพ
๓. วิภวตัณหา ตัณหาในปราศจากภพ.
องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๔๙๔.
อธิบาย: ความอยากได้อยากพ้นอย่างแรง ที่เรียกว่าทะยานว่าดิ้นรน จัดว่าเป็นตัณหา. ความอยากได้วัตถุกามอันยังไม่ได้ และความหมกมุ่นอยู่ในวัตถุกามอันได้แล้ว จัดเป็นกามตัณหา. ความอยากเป็นอยู่ในภพที่เกิดด้วยอำนาจความอาลัย และความอยากเกิดในภพที่ปรารถนาต่อไป จัดเป็นภวตัณหา. ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่สงเคราะห์เข้าในประเภทนี้ด้วย. ความอยากไม่เป็นอยู่ในภพที่เกิด คือความอยากตามเสีย ด้วยอำนาจความเบื่อหน่ายและความอยากดับศูนย์ไม่เกิดในภพนั้น ๆ อีก จัดเป็นวิภวตัณหา. ความไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ สงเคราะห์เข้าในประเภทนี้ด้วย.
--------------------------------------
(๕๖) ทิฏฐิ ๓
๑. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ
๒. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าหาเหตุมิได้
๓. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี.
ม. ม. ๑๓/๑๑๑.
อธิบาย: ความเห็นของบางคนว่า ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจัดว่าเป็นชั่ว ไม่มีคนรู้ ไม่มีคนจับได้ ไม่มีคนลงโทษ ก็เปล่าทั้งนั้น ต่อมีคนรู้จับได้และลงโทษต่างหาก จึงให้โทษ ส่วนซึ่งจัดว่า เป็นดีไม่มีคนรู้ ไม่มีคนชม ไม่มีคนให้บำเหน็จบำนาญ ก็เปล่าทั้งนั้นเหมือนกัน ต่อมีคนรู้แล้วชมและให้บำเหน็จบำนาญต่างหากจึงให้คุณ นี้จัดเป็นอกิริยทิฏฐิ. ความเห็นของบางคนว่า อันคนเราได้ดีหรือได้ร้ายตามคราวที่เคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้าย ถึงคราวเคราะห์ดีก็ได้ดีเอง ทำอะไรมีคนชม ช่วยสนับสนุนชุบเลี้ยง ลาภยศเกิดขึ้นตามกัน ถึงคราวเคราะห์ร้ายสิ ทำอะไรมีคนติ เข้าขัดขวางตัดรอนขาดลาภยศลงตามกัน นี้จัดเป็นอเหตุกทิฏฐิ. ความเห็นของบางคนว่า สัตว์บุคคลไม่มี ต่างเป็นแต่ธาตุประชุมกัน เกื้อกูลกันหรือทำร้ายกัน ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป ธาตุอย่างหนึ่งถึงกันเข้ากับธาตุอีกอย่างหนึ่งต่างหาก เช่นฝนตกเชยต้นไม้ให้ตาย จัดว่าไฟได้บาปหรือ นี้จัดเป็นนัตถิกทิฏฐิ. อกิริยทิฏฐิ ปฏิเสธลำพังการทำถือปัจจัยภายนอกคือบุคคลเป็นผู้อำนวย ผิดคติแห่งพระพุทธศาสนาที่ถือว่าการทำนั้นเองเป็นเหตุ เช่นคนปล้นเอาทรัพย์ของเขา แม้เขายังจับไม่ได้ ก็ได้ความร้อนใจและเที่ยวหนีซุกซ่อน คนบริจาคทรัพย์ของตนช่วยเกื้อกูลคนอื่น แม้ไม่ได้ผลภายนอก ก็ยังได้ความเบิกบานใจตนเอง และการทำนั้นย่อมให้ผลในคราวต่างกัน ด้วย อำนาจแห่งประโยคสมบัติ. อเหตุกทิฏฐิ ปฏิเสธเหตุอันไม่ปรากฏถือปัจจัยภายนอกคือคราวเป็นผู้อำนวย ผิดคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือว่าสังเขตธรรมทั้งปวงเกิดแต่เหตุ แม้ไม่ปรากฏว่าอะไรเป็นเหตุแห่งธรรมชื่อนั้น แม้อย่างนั้น ธรรมชื่อนั้นก็คงเกิดแต่เหตุอยู่นั่นเองเป็นแต่เหตุนั้นยังไม่ปรากฏ ที่ท่านจับต้นเค้า เรียกว่าอวิชชา. นัตถิกทิฏฐิ ปฏิเสธด้วยประการทั้งปวง ซึ่งสมมติสัจจะและคติแห่งธรรมดาอันเนื่องด้วยเหตุและผล ย่นเรียกว่ากัมมัสสกตา ผิดคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่รับสมมติสัจจะและคติแห่งธรรมดา คือกัมมัสสกตาแม้รับอยู่สัตว์บุคคลโดยสมมตินั้นเป็นแต่ธาตุประชุมกันก็จริง แต่ตกอยู่ในคติแห่งธรรมดาคือ กัมมัสสกตา ทิฏฐิ ๓ นี้ จัดเป็น มิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด จัดเป็นนิยตทิฏฐิ ความเห็นอันดิ่งลง ยากที่จะถอนออกรวมเรียกว่า นิยตมิจฉาทิฏฐิ.
--------------------------------------
(๕๗) เทพ ๓
๑. สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ
๒. อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด
๓. วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์.
ขุ. จูฬ. ๓๐/๑๑๒.
อธิบาย: พระราชา พระเทวี แลพระราชกุมาร จัดเป็นสมมติเทพ. ภุมมเทวดาสิงอยู่ ณ ภพนี้ ที่ต้นไม้บ้าง และที่วัตถุอื่น ๆ บ้าง ซึ่งเรียกว่าพระภูมิบ้าง วัตถุเทวดาบ้าง และอากาสัฏฐกเทวดาสิงอยู่ในอากาศ ต่างโดยเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง จัดเป็น อุปปัตติเทพ. พระอรหันต์ จัดเป็นวิสุทธิเทพ.
--------------------------------------
(๕๘) ธรรมนิยาม ๓
๑. สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง
๒. สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์
๓. ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา.
องฺ. ติก. ๒๐/๓๖๘.
อธิบาย: สภาพอันได้ชื่อว่าสังขารใน ๒ บทข้างต้นนั้น เพราะประกอบด้วยสังขตลักษณะตกอยู่ในคติแห่งธรรมดา คือต้องแปรผัน ที่เป็นอุปาทินนกะต้องเสวยทุกข์. สภาพอันได้ชื่อว่าธรรมในบทหลังนั้น หมายเอาสภาพทั้งเป็นสังขาร ทั้งเป็นวิสังขาร เพราะพระนิพพานก็จัดว่าเป็นอนัตตา แต่จัดว่าเป็นธรรมไม่แปรผัน และไม่ประกอบด้วยทุกข์ ไม่ได้ใน ๒ บทข้างต้น จึงใช้ศัพท์ธรรมในบทหลัง. โดยนัยนี้ สังขารอันไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ ต้องเป็นอนัตตาด้วย. ๓ บทนี้ ธรรมฐิติ ก็เรียก.
--------------------------------------
(๕๙) นิมิตต์ ๓
๑. ปริกัมมนิมิตต์ นิมิตในบริกรรม
๒. อุคคหนิมิตต์ นิมิตติดตา
๓. ปฏิภาคนิมิตต์ นิมิตเทียบเคียง.
อภิ. สงฺ. ๕๑.
อธิบาย: ภิกษุผู้เจริญกัมมัฏฐาน เพ่งดูวัตถุอย่างในอย่างหนึ่ง เป็นอารมณ์ คือกสิณ ๑๐ หรืออสุภ ๑๐ วัตถุนั้นที่ภิกษุเพ่งดูและนึกเป็นอารมณ์ ซึ่งเรียกว่าบริกรรม จัดเป็นปริกัมมนิมิตต์. ภิกษุเพ่งดูวัตถุนั้นจนติดตา หลับตาเห็น จัดเป็นอุคคหนิมิตต์. ในลำดับ นั้น ภิกษุอาจนึกขยายส่วน หรือย่นส่วนแห่งอุคคหนิมิตต์นั้นได้สมรูปสมสัณฐาน จัดเป็นปฏิภาคนิมิตต์.
--------------------------------------
(๖๐) ภาวนา ๓
๑. ปริกัมมภาวนา ภาวนาในบริกรรม
๒. อุปจารภาวนา ภาวนาเป็นอุปจาร
๓. อัปปนาภาวนา ภาวนาเป็นอัปปนา.
อภิ. สงฺ ๕๑.
อธิบาย: กิริยาที่ทำบริกรรมในขณะเจริญกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เพ่งดูวัตถุดังกล่าวแล้วในนิมิตต์ ๓ ก็ดี ทั้งเป็นแต่ลำพังนึก เช่นเจริญอนุสสติก็ดี จัดว่าปริกัมมภาวนา ภาวนาในขณะอุคคหนิมิตต์ปรากฏ ในการเจริญกัมมัฏฐานเพ่งดูวัตถุ หรือในขณะนิวรณ์สงบ ในการเจริญกัมมัฏฐานเป็นแต่ลำพังนึก จัดว่าอุปจารแปลว่าภาวนาเฉียด หรือภาวนาใกล้เข้าไป. ภาวนาในขณะปฏิภาคนิมิตต์ปรากฏ ในการเจริญกัมมัฏฐานเพ่งดูวัตถุ จัดเป็นอัปปนาภาวนา แปลว่าภาวนาแน่แน่ว ในการเจริญกัมมัฏฐานเป็นแต่ลำพังนึก ท่านว่าไม่ถึงอัปปนา.
--------------------------------------
(๖๑) ปริญญา ๓
๑. ญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยการรู้
๒. ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา
๓. ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละเสีย.
ขุ. มหา. ๒๙/๖๐.
อธิบาย: ญาตปริญญา กำหนดรู้ปัญจขันธ์เป็นต้นโดยวิภาคได้แก่รู้จักแยกออกจากสังขาร คือสิ่งที่คุมกันอยู่. ตีรณปริญญากำหนดพิจารณาเห็นโดยไตรลักษณ์. ปหานปริญญา กำหนดละฉันทราคะในปัญจขันธ์เป็นต้นนั้นเสีย.
--------------------------------------
(๖๒) ปหาน ๓
๑. ตทังคปหาน การละชั่วคราว
๒. วิกขันภนปหาน การละด้วยการสะกดไว้
๓. สมุจเฉทปหาน การละด้วยตัดขาด.
วิ. ญาณทสฺสน. ตติย. ๓๔๙.
อธิบาย: ตทังคปหาน ได้แก่การละกิเลส และบาปธรรมของสามัญชน. วิกขัมภนปหาน ได้แก่การละของชนผู้ได้ฌาน.สมุจเฉทปหาน ได้แก่การละด้วยอริยมรรคของพระอริยบุคคล.
--------------------------------------
(๖๓) ปาฏิหาริยะ ๓
๑. อิทธิปาฏิหาริยะ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์
๒. อาเทสนาปาฏิหาริยะ ดักใจเป็นอัศจรรย์
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริยะ คำสอนเป็นอัศจรรย์.
ที. สี. ๙/๒๗๓. องฺ. ติก. ๒๐/๒๑๗.
อธิบาย: การแสดงฤทธิ์ได้พ้นของสามัญมนุษย์ เช่นนิรมิตตัว ได้ต่าง ๆ ล่องหนได้ ดำดินได้ เดินน้ำได้ เหาะได้ ท่านจัดเป็นปาฏิหาริยะอย่างหนึ่ง แต่หมายอาการแสดงฤทธิ์โต้ง ๆ อย่างนี้ หรือหมายเอาการแสดงฤทธิ์เป็นธรรมาธิษฐาน เปรียบด้วยบุคคลาธิษฐานขอฝากปราชญ์ไว้เพื่อสันนิษฐาน. การดักใจทายใจคนได้ ท่านจัดเป็น ปาฏิหาริยะอย่างหนึ่ง. คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมไปตาม ท่านจัดเป็นปาฏิหาริยะอย่างหนึ่ง. ปาฏิหาริยะ ๓ นี้ ท่านว่ามีในสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า. และยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริยะว่า เป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่า ๒ อย่างข้างต้น.
--------------------------------------
(๖๔) ปิฎก ๓
๑. พระวินัยปิฎก หมวดพระวินัย
๒. พระสุตตันตปิฎก หมวดพระสุตตันตะ [หรือพระสูตร]
๓. พระอภิธรรมปิฎก หมวดพระอภิธรรม.
วิ. ปริวาร. ๘/๑๒๔.
อธิบาย: ศัพท์ว่าปิฎก เป็นชื่อแห่งกระจาดหรือตระกร้า เอามาใช้ในที่นี้ ด้วยหมายเอาความว่าเป็นหมวดที่รวบรวม ดุจกระจาดเป็นที่รวมสิ่งของต่าง ๆ มีผักต่าง ๆ ที่ซื้อมาจากตลาดเป็นต้น. ปาพจน์ในที่นี้ท่านแบ่งเป็น ๓ พระวินัยคงที่ พระธรรมแบ่งออกเป็น ๒ หมวดที่แสดงโดยบุคคลาธิษฐาน หรือเจือด้วยบุคคลาธิษฐาน จัดเป็นพระสุตตันตะ ๑. หมวดที่แสดงโดยธรรมาธิษฐานล้วน จัดเป็นพระอภิธรรม ๑.ทั้ง ๓ นี้ เป็นหมวดหนึ่ง ๆ ที่รวบรวมปกรณ์มีประเภทเดียวกัน จึงจัดเป็นปิฎกหนึ่ง ๆ.
--------------------------------------
(๖๕) พุทธจริยา ๓
๑. โลกัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก
๒. ญาตัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่พระญาติหรือโดยฐานเป็นพระญาติ
๓. พุทธัตถจริยา ทรงประพฤติประโยชน์ โดยฐานเป็น
พระพุทธเจ้า.
มโน. ปู. ปฐม. ๑๐๔.
อธิบาย: โลกัตถจริยานั้น ได้แก่ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่มหาชนที่นับว่าสัตวโลกทั่วไป เช่นทรงแผ่พระญาณเล็งดูสัตวโลกทุกเช้าค่ำ ผู้ใดปรากฏในข่ายพระญาณ เสด็จไปโปรดผู้นั้น กล่าวสั้นทรงสงเคราะห์คนทั้งหลายโดยฐานเป็นเพื่อมนุษย์ด้วยกัน นับเข้าในข้อนี้. ญาตัตถจริยา ได้แก่ทรงสงเคราะห์พระญาติโดยฐานเป็นพระญาติ เช่นทรงพระอนุญาตให้พวกศากยะผู้เป็นพระญาติและเป็นเดียรถีย์ จะเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนก่อน เหมือนพวกเดียรถีย์อื่น นี้เป็นญาตัตถจริยาโดยเฉพาะ. เมื่อเพ่งถึงพระพุทธจริยาอันเป็นไปเพื่อสงเคราะห์พระญาติการเสด็จไปเทศนาโปรดพระญาติ ณ นครกบิลพัสดุ์ก็ดี การเสด็จไปห้ามพระญาติฝ่ายศากยะและโกลิยะผู้วิวาทกันด้วยแย่งน้ำเข้านาก็ดี จัดเข้าในข้อนี้ก็ได้. พุทธัตถจริยานั้น ได้แก่พระพุทธกิจที่ทรงบำเพ็ญให้เป็นประโยชน์แก่มหาชนโดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า เช่นทรงบัญญัติสิกขาบทอัน เป็นอาทิพรหมจรรย์บ้าง อันเป็นอภิสมาจารบ้าง เพื่อนิคคหะ พวกภิกษุหน้าด้านไม่ละอาย ซึ่งเรียกว่าทุมมังกุผู้เก้อยาก คือผู้ไม่ค่อยรู้จักอายบ้าง เรียกว่าอลัชชี ผู้ไม่มียางอายบ้าง และเพื่อวางระเบียบนำความประพฤติแห่งพวกภิกษุผู้รักดีรักงาม ซึ่งเรียกว่าเปสละบ้างผู้มีอายเรียกว่าลัชชีบ้าง และทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนา ให้ บริษัททั้งคฤหัสถ์บรรพชิตรู้ทั่วถึงธรรม ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบมา. กล่าวสั้น ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า นับเข้าในข้อนี้.
--------------------------------------
(๖๖) ภพ ๓
๑. กามภพ ได้แก่ภพเป็นกามาวจร
๒. รูปภพ ได้แก่ภพเป็นรูปาวจร
๓. อรูปภพ ได้แก่ภพเป็นอรูปาวจร.
ม. ม. ๑๒ ๕๓๙.
อธิบาย: ภพเป็นภามาวจรนั้น หมายเอาโลกเป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ผู้เสพกาม คือ นรก มนุษยโลก สวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นจาตุมมหาราชถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตตี. ภพเป็นรูปาวจรนั้น หมายเอาชั้นพรหมมีรูป ๑๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นพรหมปาริสัชชะ ถึงชั้นเอกนิฏฐะ. ภพเป็นอรูปาวจรนั้น หมายเอาชั้นพรหมไม่มีรูป ๔ ชั้น ตั้งแต่ชั้นอากาสานัญจายตนะ ถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ.
--------------------------------------
(๖๗) โลก ๓
๑. สังขารโลก โลกคือสังขาร
๒. สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์
๓. โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน.
วิ. ฉอนุสฺสติ. ป€ม. ๒๖๒.
อธิบาย: สังขารโลก ท่านหมายเอาสภาวธรรมอันเป็นไปตามคติแห่งธรรมดา มีเบญจขันธ์เป็นตัวอย่าง. สัตวโลก ได้แก่สังขารมีวิญญาณ สงเคราะห์ทั้งมนุษย์ทั้งดิรัจฉาน. โอกาสโลก ได้แก่แผ่นดินอันเป็นที่อาศัยแห่งหมู่สัตว์. ข้าพเจ้ายังไม่ปลงใจในสังขารโลก. ศัพท์ว่าสังขารในที่อื่น หมายเอาทั้งสัตว์ทั้งพัสดุอื่น ไม่ได้หมายเอาสภาวธรรมที่แยกกระจายออกแล้ว เมื่อแยกสัตว์ออกเป็นโลกชนิดหนึ่งแล้ว สังขารโลก น่าจะได้แก่พวกกระบิลไม้ที่เรียกในภาษามคธว่าภูตคาม อันเป็นอนุปาทินนกสังขาร แปลกจากสัตว์โดยอาการไม่มีใจครอง แปลกจากโอกาสโลกโดยอาการรู้จักเป็นรู้จักตาย. เมื่อถือเอาความอย่างนี้ โอกาสโลกก็เป็นที่อาศัยของสังขารคือพวกกระบิลไม้นั้นด้วย. อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่าสังขาร หมายเอาสภาพผู้ปรุงแต่งกล่าวคือกรรมก็มี ได้ในคำว่า สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ วิญญาณ ย่อมมีเพราะสังขารเป็นปัจจัย โดยนัยนี้ สังขารโลก ก็น่าจะได้แก่ กรรมอันปรุงแต่งสัตวโลกกับโอกาสโลก อันเป็นที่อาศัยให้เจริญหรือทราม. ขอนักธรรมพิจารณาดูเถิด.
--------------------------------------
(๖๘) โลก ๓ (๒)
๑. มนุษยโลก ได้แก่โลกที่เราอาศัยอยู่นี้
๒. เทวโลก ได้แก่สวรรค์กามาพจร ๖ ชั้น
๓. พรหมโลก ได้แก่สวรรค์ชั้นรูปพรหม ๑๖ ชั้น.
ป. สู. ทุติย. ๒๖๙.
--------------------------------------
(๖๙) วัฏฏะ [วน] ๓
๑. กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส
๒. กัมมวัฏฏะ วนคือกรรม
๓. วิปากวัฏฏะ วนคือวิบาก.
อภิ. สงฺ. ๔๖.
อธิบาย: สภาพ ๓ นี้ ได้ชื่อว่า วน เพราะหมุนเวียนกันไป คือกิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสเกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ กว่าพระอรหัตตมรรคจะตัดให้ขาดลง เรียกบวกประเภทว่า ไตรวัฏฏะ.
--------------------------------------
(๗๐) วิชชา ๓
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ รู้จักระลึกชาติได้
๒. จุตูปปาตญาณ รู้จักกำหนดจุติและเกิด
๓. อาสวักขยญาณ รู้จัดทำอาสวะให้สิ้น.
องฺ. ทสก. ๒๔/๒๒๖.
อธิบาย: นิทเทสแห่งปุพเพนิวาสานุสสติญาณว่า ระลึกชาติ ถอยหลังเข้าไปได้ตั้งแต่ชาติหนึ่งสองชาติจนตั้งหลาย ๆ กัลป์ ว่าในชาติที่เท่านั้นได้มีชื่อ มีโคตร มีผิวพรรณ มีอาหารอย่างนั้น ๆ ได้เสวยสุข ได้สวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีอายุเท่านั้น จุติจากนั้นแล้ว ได้เกิดในชาติที่เท่าโน้น ได้เป็นอย่างนั้น ๆ แล้วมาเกิดในชาตินี้.
นิทเทสแห่งจุตูปปาตญาณว่า มีจักษุทิพย์บริสุทธิ์ล่วงจักษุสามัญมนุษย์ เห็นเหล่าสัตว์ที่กำลังจุติก็มี กำลังเกิดก็มี เลวก็มี ดีก็มี มีผิวพรรณงามก็มี มีผิวพรรณไม่งามก็มี ได้ดีก็มี ตกยากก็มี รู้ชัดว่าเหล่าสัตว์เป็นตามกรรม. วิชชาที่ ๒ นี้เรียกว่า ทิพพจักขุญาณก็มี.
นิทเทสแห่งอาสวักขยญาณว่า รู้ชัดตามจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะนี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางไปถึงความดับอาสวะ เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จิตพ้นแล้วจากกามาสวะ ภาวสวะ อวิชชาสวะรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กรณียะทำเสร็จแล้วกิจอื่นอันจะต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก.วิชชา ๓ นี้ ญาณ ๓ ก็เรียก. วิชชา ๓ นี้ ท่านกล่าวว่าเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธญาณ อันสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบรรลุมาโดยลำดับในยามสามแห่งราตรี. ความระลึกชาติได้ดังแสดงไว้ในนิทเทส เป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณได้อย่างไรน่าพิจารณาดู หรือว่าระลึกชาติได้เช่นนั้นแล้ว หายตื่นหายหวาดในความเวียนเกิดเวียนตาย เห็นเป็นคติแห่งธรรมดา เกิดอนัตตานุปัสสนาขึ้นเอง เช่นนี้ชอบกลอยู่. ญาณนี้ท่านกล่าวว่ากำจัดโมหะกำบังขันธสันดาน ส่อว่าเป็นอนัตตานุปัสสนา สมเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ. จุตูปปาตญาณ ปรารภเหล่าสัตว์อื่นผู้เวียนเกิดเวียนตาย ดุจเดียวกับบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปรารภตนตามนิทเทส เติมปรารภคติแห่งสัตว์นั้นด้วย ดูเหมือนแสดงว่าไม่ใช่แต่เวียนเกิดเวียนตายเท่านั้นเป็นคติแห่งธรรมดา ความเป็นไปตามอำนาจกรรม ก็เป็นคติแห่งธรรมดาอีกเหมือนกัน. ญาณนี้ ท่านกล่าวว่ากำจัดโมหะกำบังกัมมัสสกตา จะกล่าวว่ากำจัดโมหะเป็นเหตุชื่อถือไร้เหตุเช่นสีลัพพตปรามาสและมิจฉาทิฏฐิก็ได้ จัดเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณชอบอยู่. อาสวักขยญาณไม่ทำกิจเพียงรู้เท่านั้น รู้จักน้อมความรู้นั้นมาเป็นอุปการะทำอาสวะให้สิ้นได้ด้วย จัดเป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณชอบแท้. ในความแห่งวิชชา ๓ นี้มีอยู่เพียงไร ขอนักธรรมจงสอดส่องถือเอาเอง.
--------------------------------------
(๗๑) วิโมกข์ ๓
๑. สุญญตวิโมกข์
๒. อนิมิตตวิโมกข์
๓. อัปปณิหิตวิโมกข์.
ขุ. ปฏฺ. ๓๑/๒๙๘.
--------------------------------------
(๗๒) สมาธิ ๓
๑. สุญญตสมาธิ
๒. อนิมิตตสมาธิ
๓. อัปปณิหิตสมาธิ.
องฺ. ติก. ๒๐/๓๘๕.
อธิบาย: ศัพท์ว่า วิโมกข์ นั้นแปลว่า พ้น หมายความว่าพ้นจากกิเลส ได้แก่พระอรหัต. พระอรรถกถาจารย์แก้ว่า ชนิดที่ได้ชื่อว่า สุญญตวิโมกข์นั้น เพราะว่างจากราคะ โทสะ โมหะ. ชนิดที่ได้ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข์นั้น เพราะหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นนิมิต คือเครื่องหมาย มิได้. ชนิดที่ได้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข์นั้นเพราะหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นปณิธิ คือที่ตั้ง มิได้. แก้อย่างนี้ความยังไม่ต่างจากกันออกไป โดยความ ทั้ง ๓ ชนิดนั้นไม่สัมปยุตด้วยราคะ โทสะ โมหะ จัดว่าเป็นประเภทเดียวกัน. ข้าพเจ้าเข้าในว่าทั้ง ๓ ชนิดนั้น คงมีลักษณะหรืออารมณ์ต่างกัน ไม่เช่นนั้นแยกประเภทไว้ทำอะไร เรียกว่าวิโมกข์เท่านั้นก็พอ. ความเห็นย่อของข้าพเจ้าว่า ได้แก่โลกุตตรธรรมสัมปยุตด้วยสมาบัติ มีอารมณ์ชนิดนั้น ส่วนสมาธินั้น ได้แก่ตัวสมาบัติชนิดนั้น. จักออกมติมากไปก็จักเป็นคาดคะเน ขอยุกติไว้เพียงเท่านี้.
--------------------------------------
(๗๓) วิเวก ๓
๑. กายวิเวก สงัดกาย
๒. จิตตวิเวก สงัดจิต
๓. อุปธิวิเวก สงัดกิเลส.
ขุ. มหา. ๒๙/๒๙. ๑๗๐.
อธิบาย: อยู่ในที่สงัด จัดเป็นกายวิเวก. ทำจิตให้สงบด้วยสมถภาวนา จัดเป็นจิตตวิเวก. ทำใจให้บริสุทธ์จากกิเลสด้วยวิปัสสนาภาวนา จัดเป็นอุปธิวิเวก.
--------------------------------------
(๗๔) สังขตลักษณะ ๓
๑. ความเกิดขึ้น ปรากฏ
๒. ความดับ ปรากฏ
๓. เมื่อยังตั้งอยู่ ความแปร ปรากฏ.
องฺ. ติก. ๒๐/๑๙๒.
อธิบาย: สองบทข้างต้นชัดแล้ว. อุทาหรณ์บทหลัง คนเป็นเด็กแล้วแปรเป็นหนุ่ม แล้วแปรเป็นแก่.
--------------------------------------
(๗๕) สังขาร ๓
๑. กายสังขาร สภาพอันแต่งกาย
๒. วจีสังขาร สภาพอันแต่งวาจา
๓. จิตตสังขาร สภาพอันแต่งจิต.
ม. มู. ๑๒/๙๙.
อธิบาย: ลมอัสสาสะปัสสาสะ ได้ชื่อว่ากายสังขาร เพราะ ปรนปรือกายให้เป็นอยู่ วิตก กับ วิจาร ได้ชื่อว่าวจีสังขาร เพราะตริแล้วตรองแล้วจึงพูด ไม่เช่นนั้นวาจานั้นจักไม่เป็นภาษา เช่นคำ ของคนละเมอหรือของคนเพ้อ. สัญญากับเวทนา ได้ชื่อว่าจิตตสังขารเพราะย้อมจิตให้มีประการต่าง ๆ ดุจน้ำย้อมอันจับผ้า.
--------------------------------------
(๗๖) สัทธรรม ๓
๑. ปริยัตติสัทธรรม ได้แก่คำสั่งสอน
๒. ปฏิปัตติสัทธรรม ได้แก่ความปฏิบัติ
๓. ปฏิเวธสัทธรรม ได้แก่มรรค ผล นิพพาน.
ป. สู. ตติย. ๕๒๓.
--------------------------------------
(๗๗) สมบัติ ๓
๑. มนุษยสมบัติ สมบัติในมนุษย์
๒. สวรรคสมบัติ สมบัติในสวรรค์
๓. นิพพานสมบัติ สมบัติคือพระนิพพาน.
ขุ. อุ. ๒๕/๑๒.
--------------------------------------
(๗๘) สิกขา ๓
๑. อธิสีลสิกขา สิกขาคือศีลยิ่ง
๒. อธิจิตตสิกขา สิกขาคือจิตยิ่ง
๓. อธิปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญายิ่ง
องฺ. ติก. ๒๐/๒๙๔.
อธิบาย: ปฏิปทาที่ตั้งไว้เพื่อศึกษา คือฝึกหัดไตรทวารไปตาม ชื่อว่าสิกขา. ในเบื้องต้น ควรหัดปฏิบัติรักษามารยาทกายวาจาให้เรียบร้อยปราศจากโทษสมควรแก่หมู่ก่อน นี้จัดเป็นสีลสิกขา. ในลำดับนั้น ควรหัตรักษาจิตให้อยู่ในอำนาจ อาจทำให้แน่แน่วควรแก่การงานในคราวต้องการ นี้จัดเป็นจิตตสิกขา. ในที่สุด ควรหัดใช้ปัญญา ให้รอบรู้สภาวธรรมอันเป็นไปด้วยความเป็นเหตุและผลแห่งกันและกัน จัดเป็นปัญญาสิกขา. เพ่งธรรมอันอุกฤษฏ์ เรียกว่าอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา.
--------------------------------------
(๗๙) โสดาบัน ๓
๑. เอกพีชี
๒. โกลังโกละ
๓. สัตตักขัตตุปรมะ.
องฺ. ทสก. ๒๔/๑๒๙.
อธิบาย: พระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุอริยผลทีแรก เรียกว่า พระโสดาบัน แปลว่า ผู้แรกถึงกระแสพระนิพพาน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่ว่าจะได้ตรัสรู้ในข้างหน้า มีประเภทเป็น ๓ ท่านผู้เยี่ยมในชั้นนี้ มีคติในมนุษยโลก หรือในเทวโลกอีกเพียงคราวเดียวจักบรรลุพระอรหัตตผลในภพที่เกิดนั้น เรียกว่าเอกพีชี แปลว่า มีพืชคือภพอันเดียว. พระโสดาบันเอกพีชีนี้ ออกจะดีกว่าพระสกทาคามีผู้จะต้องไปเกิดในเทวโลกหนหนึ่งก่อน จุติจากนั้นแล้ว จึงจักมายังมนุษยโลกนี้ และได้บรรลุพระอรหัต. ท่านผู้ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภพ ๒-๓ ภพแล้ว จึงได้บรรลุพระอรหัต เรียกว่าโกลังโกละ แปลว่าไปสู่กุละจากกุละ. กุละนี้หมายเอาภพ. ท่านผู้ท่องเที่ยวเกิดอยู่ช้า กว่านี้ แต่อย่างนานเพียง ๗ ชาติ และได้บรรลุพระอรหัตเรียกว่าสัตตักขัตตุปรมะ แปลว่า มี ๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง