สัตตกะ คือ หมวด ๗
(๑๕๘) อปริหานิยธรรม ๗
ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียวมี ๗ อย่าง คือ
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์.
๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุม ก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันช่วยทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ.
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว สาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้.
๔. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน.
๕. ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น.
๖. ยินดีในเสนาสนะปา.
๗. ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อนภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่เป็นสุข.
ธรรม ๗ อย่างนี้ ตั้งอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว.
องฺ. สตฺตก. ๒๓/๒๑.
(๑๕๙) อริยทรัพย์ ๗
ทรัพย์ คือ คุณความดีที่มีในสันดานอย่างประเสริฐ เรียกอริยทรัพย์ มี ๗ อย่าง คือ :-
๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ.
๒. สีล รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย.
๓. หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต.
๔. โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาป.
๕. พาหุสัจจะ ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังมามาก คือจำทรงธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก.
๖. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปั่น.
๗. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์.
อริยทรัพย์ ๗ ประการนี้ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก มีเงินทองเป็นต้นควรแสวงหาไว้มีในสันดาน.
องฺ. สตฺตก. ๒๓/๕.
(๑๖๐) สัปปุริสธรรม ๗
ธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม มี ๗ อย่าง คือ :-
๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่นรู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์.
๒. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่นรู้จักว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้.
๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เราว่าโดยชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ และคุณธรรมเพียงเท่านี้ ๆ แล้วประพฤติ ตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร.
๔. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงหาเครื่อง เลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอควร.
๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกอบกิจนั้น ๆ.
๖. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน และกิริยาที่จะต้องประพฤติต่อประชุมชนนั้น ๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น.
๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น.
องฺ. สตฺตก. ๒๓/๑๑๓.
(๑๖๑) สัปปุริสธรรมอีก ๗
๑. สัตบุรุษประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ คือ มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวต่อบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก เป็นคนมีความเพียร เป็นคนมีสติมั่นคง เป็นคนมีปัญญา.
๒. จะปรึกษาสิ่งใดกับใคร ๆ ก็ไม่ปรึกษาเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
๓. จะคิดสิ่งใดก็ไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
๔. จะพูดสิ่งใดก็ไม่พูดเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
๕. จะทำสิ่งใดก็ไม่ทำเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
๖. มีความเห็นชอบ มีเห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น.
๗. ให้ทานโดยเคารพ คือเอื้อเฟื้อแก่ของที่ตัวให้ และผู้รับทานนั้น ไม่ทำอาการดุจทิ้งเสีย.
นัย. ม. อุป. ๑๔/๑๑๒.
(๑๖๒) โพชฌงค์ ๗
๑. สติ ความระลึกได้.
๒. ธัมมวิจยะ ความสอดส่องธรรม.
๓. วิริยะ ความเพียร.
๔. ปีติ ความอิ่มใจ.
๕. ปัสสัทธิ ความสงบใจและอารมณ์.
๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น.
๗. อุเปกขา ความวางเฉย.
เรียกตามประเภทว่า สติสัมโพชฌงค์ไปโดยลำดับจนถึงอุเปกขาสัมโพชฌงค์.
สํ . มหา . ๑๙ / ๙๓ .
(๑๖๓) อนุสัย ๗
๑. กามราคะ
๒. ปฏิฆะ
๓. ทิฏฐิ
๔. วิจิกิจฉา
๕. มานะ
๖. ภวราคะ
๗. อวิชชา.
องฺ. สตฺตก. ๒๓/๘.
อธิบาย: กิเลสอย่างละเอียด นอนอยู่ในสันดาน บางทีไม่ปรากฏ แต่เมื่อมีอารมณ์มายั่ว ย่อมเกิดขึ้นในทันใด เรียกว่าอนุสัยกามราคะ ได้แก่ความกำหนัดในกาม. ปฏิฆะ ได้แก่ความหงุดหงิดกล่าวโดยความได้แก่โทสะ. ทิฏฐิ ได้แก่ความเห็นผิด. วิจิกิจฉา ได้แก่ความลังเล. มานะ ได้แก่ความถือตัว. ภวราคะ ได้แก่ความกำหนัดในภพหรือความอยากเป็น. อวิชชา ได้แก่ความเขลาไม่รู้จริง กล่าวโดยความ ได้แก่โมหะ. กิเลส ๗ นี้ บางอย่างเป็นอนุสัยของบางคนสังโยชน์ ๗ ก็เรียก. .
(๑๖๔) เมถุนสังโยค ๗
สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี บางคนปฏิญญาตนว่า เป็นพรหมจารีจริง ๆ หาได้เสพเมถุนกับด้วยมาตุคามไม่เลย
แต่ยังยินดี ปลื้มใจชื่นใจด้วยเมถุนสังโยค คืออาการแห่งเมถุน ๗ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
๑. ยินดีการลูบไล้ การประคบ การให้อาบน้ำ การนวดแห่งมาตุคาม ปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น.
๒. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ซิกซี้เล่นหัวสัพยอกกับมาตุคาม ปลื้มใจด้วยการเสสรวลนั้น.
๓. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่เพ่งดูจ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน ปลื้มใจด้วยการเล็งแลนั้น.
๔.ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องให้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี ปลื้มใจด้วยเสียงนั้น.
๕.ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ตามนึกถึงการเก่าที่ได้เคยหัวเราะพูดเล่นกับมาตุคาม แล้วปลื้มใจ.
๖.ไม่ถึงอย่างนั้น แต่เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี ผู้อิ่มเอิบพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ แล้วปลื้มใจ.
๗.ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งปรารถนาเพื่อจะได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง แล้วปลื้มใจ.
องฺ. สตฺตก. ๒๓/๕๖
พรหมจรรย์ของผู้นั้น ชื่อว่าขาด ชื่อว่าทะลุ ชื่อว่าด่าง ชื่อว่าพร้อย. ผู้นั้นประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้.
(๑๖๕) วิญญาณฐิติ ๗
ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ เรียกว่าวิญญาณฐิติ แจกเป็น ๗ ดังนี้:
๑. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่นพวกมนุษย์ พวกเทพบางหมู่ พวกวินิปาติกะ [เปรต] บางหมู่.
๒. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพผู้อยู่ในจำพวกพรหม ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน.
๓. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสระ.
๔. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกันเช่นพวกเทพสุภกิณหะ.
๕. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ.
๖. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ.
๗. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญาญตนะ.
องฺ. สตฺตก. ๒๓/๔๑.
(๑๖๖) วิสุทธิ ๗
๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล.
๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต.
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ.
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย.
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง.
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ.
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ.
ม. ม. ๑๒/๒๙๐
อธิบาย: การรักษาศีลตามภูมิของตนให้บริสุทธ์ จัดเป็น สีลวิสุทธิ. สมาธิ ทั้งที่เป็นอุปจาร ทั้งที่เป็นอัปปนา โดยที่สุดขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะพอเป็นบทฐานแห่งวิปัสสนา จัดเป็น จิตตวิสุทธิ. การพิจารณาเห็นนามรูปโดยสภาวะอย่างไร รู้จักแยกออกเป็นส่วน ๆ โดยปัจจัตตลักษณะ และยกขึ้นสู่ไตรลักษณะคือ อนิจจตาทุกขตา อนัตตตา โดยสามัญญลักษณะ จัดเป็นทิฏฐิวิสุทธิ. การกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูปนั้นว่า เพราะอะไรเกิดขึ้น นามรูปจึงเกิดขึ้น เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ จนเป็นเหตุสิ้นสงสัยในนามรูปทั้งที่เป็นมาแล้วในอดีต ทั้งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจักเป็นในอนาคต จัดเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ. ท่านกล่าวว่า อวิชชา ตัณหาอุปาทาน กรรม เป็นสามัญญปัจจัยแห่งนามรูป อาหารเป็นวิสามัญญปัจจัยแห่งรูป อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ เป็นวิสามัญญปัจจัยแห่งวิญญาณอันเป็นส่วนจิต ผัสสะอันเกิดเพราะวิญญาณ เป็นวิสามัญญปัจจัยโดยตรงและโดยอ้อมแห่งเวทนา สัญญา สังขาร อันเป็นส่วนเจตสิกที่รวมกันเข้าเป็นนาม. ญาณอันรู้จักหยั่งลงว่า นี้ทางนี้มิใช่ทาง แห่งธรรมพิเศษ จัดเป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ.พรรณนาตามมติของพระคันถรจนาจารย์ว่า พระโยคาวจรเจริญวิปัสสนามาถึงชั้นกังขาวิตรณวิสุทธิแล้ว อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา ๑๐อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ไม่หลงไปว่าได้บรรลุมรรคผล หยั่งรู้ว่านั่นเป็นอุปกิเลสแห่งวิปัสสนา คือมัวพะวงอยู่ วิปัสสนาจักไม่เจริญขึ้นไปอีก ประคองวิปัสสนาจิตไว้ในวิถี จัดเป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ. อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา ๑๐ นั้น คือ โอภาส แสงสว่าง ๑ ญาณ ๑ ปีติ ความอิ่มใจ ๑ ปัสสัทธิ ความสงบ ๑ สุข ๑ อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ๑ ปัคคาหะ ความเพียร ๑ อุปัฏฐาน คือ สติ ๑ อุเบกขา ความวางจิตเป็นกลาง ๑ นิกันติ ความพอใจ ๑ อันเป็น ธรรมประณีตกว่าในเวลาปกติ. วิปัสสนาญาณ ๙ คือ อุทยัพยานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ ๑ ภังคานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ ๑ ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ๑ อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษ ๑ นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงถึงด้วยความเบื่อหน่าย ๑ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย ๑ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณปรีชาคำนึงด้วยพิจารณาหาทาง ๑ สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยวางเฉยเสีย ๑ สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาเป็นไปโดยสมควรแก่กำหนดรู้อริยสัจ ๑ จัดเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ [จงดูอธิบายในนวกะ].ญาณในอริยมรรค ๔ จัดเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ. วิสุทธิ ๗ นี้ เป็นปัจจัยส่งต่อกันขึ้นไปเพื่อบรรลุพระนิพพาน เหมือนรถ ๗ ผลัดต่างส่งต่อซึ่งคนผู้ไปให้ถึงสถานที่ปรารถนา.