นวกะ คือ หมวด ๙
(๑๗๕) มละ ๙ (คือ มลทิน ๙ อย่าง)
๑. โกรธ
๒. ลบหลู่บุญคุณท่าน
๓. ริษยา
๔. ตระหนี่
๕. มายา
๖. มักอวด
๗. พูดปด
๘. มีความปรารถนาลามก
๙. เห็นผิด
อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๕๒๖.
(๑๗๖) อนุบุพพวิหาร ๙
ธรรมเป็นเครื่องอยู่โดยลำดับกัน เรียกอนุบุพพวิหาร มีประการ ๙ คือ
๑. รูปฌาน ๔
๒. อรูปฌาน ๔
๓. สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑ คือสมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา เป็นธรรมละเอียดกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะขึ้นไปอีก
ชั้นหนึ่ง ท่านผู้เข้าไม่มีสัญญาและเวทนาเลย.
อย่างหลังนี้ นิโรธสมาบัติก็เรียก.
องฺ. นวก. ๒๓/๔๒๔.
------------------------------------------
(๑๗๗) พุทธคุณ ๙
อิติปิ โส ภควา แม้เพราะอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
๑. อรหํ เป็นพระอรหันต์
๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง
๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ
๔. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว
๕. โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก
๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีแห่งบุรุษพึงฝึกได้ ไม่มีบุรุษอื่นยิ่งไปกว่า
๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๘. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นแล้วเป็นผู้เบิกบานแล้ว
๙. ภควา เป็นผู้มีโชค.
องฺ. ติก. ๒๐/๒๖๕.
อธิบาย: พระคุณ ๙ บทนี้ ดูเหมือนท่านเลือกตั้งไว้ เพื่อตริตรองหาความเข้าใจเอาเอง เป็นพุทธานุสสติ จักแสดงพอเป็นตัวอย่าง.
บทว่า อรหํ ท่านพิจารณาพยัญชนะแก้ไว้ต่าง ๆ อย่างหนึ่งว่าออกจากศัพท์ อารา-ห แปลว่าเป็นผู้เว้นไกล เป็นผู้หักกำจักร อีกอย่างหนึ่งว่าออกจากธาตุ อรฺห แปลว่าเป็นผู้ควร อีกอย่างหนึ่งว่า อ-รห แปลว่าเป็นผู้ไม่มีข้อลับ. ข้อว่าเป็นผู้เว้นไกลนั้น อธิบายว่า เป็นผู้เว้นไกลจากกิเลสและบาปธรรม กล่าวคือเป็นผู้บริสุทธ์ ข้อว่า เป็นผู้หักกำจักรนั้น อธิบายว่า เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม. ข้อว่า เป็นผู้ควรนั้น อธิบายว่าเป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนเขา เป็นผู้ควรรับความเคารพนับถือของเขาเป็นอาทิ. ข้อว่า เป็นผู้ไม่มีข้อลับนั้น อธิบายว่า ไม่ได้ทำความเสียหายอันจะพึงซ่อนเพื่อมิให้คนอื่นรู้. เทียบกับภาษาสํกฤตเข้าแล้วจับหลักได้ว่าออกจากธาตุ อรฺห ที่แปลว่า ควร. โดยอรรถหมายความว่าเป็นผู้บริสุทธ์ บทนี้ใช้เป็นคุณของพระสาวกด้วย แต่มีบทอื่นเข้าประกอบหมายความต่าง สำหรับพระศาสดาใช้ว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบเอง สำหรับพระสาวกใช้ว่า อรหํ ขีณาสโว พระอรหันต์อาสวะสิ้นแล้ว. บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ หมายความว่า เป็นต้นเดิมแห่งพระพุทธศาสนา อันเป็นสวากขาตธรรม. บทว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน หมายความว่า เป็นผู้ได้บรรลุวิชชาด้วย เป็นผู้แรกรู้จักทางเครื่องบรรลุวิชชานั้นด้วย โดยใจความก็เหมือนบทว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ. ฝ่ายพระสาวก เป็นแต่ผู้ได้บรรลุวิชชาแต่มิใช่ผู้แรกรู้จักทางเครื่องบรรลุวิชชานั้น เป็นแต่ได้รู้จักจากพระศาสดาอีกต่อหนึ่ง จึงมีบทเรียกต่างว่า เตวิชฺโช ผู้มีวิชชา ๓ วิชชากล่าวไว้ในติกะก็มี ในอัฏฐกะก็มี. จรณะจักกล่าวในอติเรกทสกะ ผู้ปรารถนาจงดูในหมวดที่ระบุไว้นั้น.บทว่า สุคโต ความกระจ่างแล้วไม่ต้องพิจารณาศัพท์ มีอธิบายว่า ประพฤติพระองค์รอดไปได้ไม่ต้องถอยหลัง เสด็จไปในที่ใด ยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่มหาชนในที่นั้น เสด็จมายังโลกนี้ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน จึงเข้าปรินิพพาน. บทว่า โลกวิทู พรรณนาให้เข้ากับโลก ๓ ว่า ทรงรู้จักถิ่นฐานบ้านเมืองต่าง ๆ ปรุงโปร่ง ทรงรู้จักอัธยาศัยของคนต่างถิ่นต่างชั้นทรงรู้จักหยั่งเห็นเหตุอันปรุงแต่งคนเหล่านั้น พร้อมทั้งถิ่นฐานให้ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร. อธิบายอีกอย่างหนึ่งว่า ทรงหยั่งรู้ความเป็นไปของคนทุกชั้นว่าเป็นอย่างไร เนื่องด้วยสุขทุกข์ก็ดี เนื่องด้วยความเจริญความเสื่อมก็ดี ตกอยู่ในคติแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จนหายตื่นหายหลงหายอยากในอิฏฐารมณ์ หายตกใจกลัวต่ออนิฏฐารมณ์ เป็นทางนำพระองค์ให้เสด็จไปดี. บทว่า ปุริสทมฺมสารถิ นั้น มีอธิบายว่า ครั้งโบราณ พวกกษัตริย์ชอบเล่นม้า เพราะม้าเป็นพาหนะที่ใช้ในสงครามถึง ๒ หมวดแห่งกองทัพ ใช้ให้ทหารขี่ จัดเป็นอัสสานิก [หมวดม้า] ใช้เทียมรถ จัดเป็นรถานิก [หมวดรถ] ความเป็นสารถีฝึกม้าขับรถ ย่อมนิยมกันว่าดี ในการขึ้นรถรบกัน การชนะหรือแพ้ นอกจากตัวผู้รบเนื่องด้วยสารถี ต้องใช้คนสำคัญทีเดียว ดังจะเห็นได้ในเรื่องนั้น ๆเช่นพระมาตลีเป็นสารถีของพระอินทร์ ทีฑาวุกุมารตัวโปรดเป็นสารถีของพระเจ้าพรหมทัตต์ ด้วยเหตุนี้แล จึงใช้ศัพท์ว่าสารถีในบทนี้เพื่อแสดงความเป็นผู้ฝึกคน เป็นคู่กับผู้ฝึกม้าขับรถ. ศัพท์ว่า ปริสทมฺโม บุรุษพึงฝึกได้นั้น หมายเอาคนมีนิสัยที่อาจฝึกให้ดีได้ และตั้งใจจะเข้าใจพระธรรมเทศนา แม้ฟังด้วยตั้งใจจะจับข้อบกพร่องขึ้นยกโทษเช่นเดียวถีย์ก็ตามที. ฝ่ายคนผู้โง่ทึบเทียบด้วยคนป่าคนดอยไม่สามารถจะฝึกได้ และคนผู้ไม่ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา เพื่อหาความเข้าใจ ชื่อว่า ปุริสาทมฺโม บุรุษผู้ฝึกไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่อาจทรงฝึก. บทว่า อนุตฺตโร แปลตัดความว่าเป็นเยี่ยม หมายความว่าทรงฝึกดีกว่าสารถีฝึกม้า ด้วยไม่ได้ใช้อาชญาหักหาญ และรู้จักใช้อุบายให้เหมาะแก่บุคคล และคนผู้ที่ทรงฝึกแล้ว ย่อมดียิ่งกว่าม้าที่ฝึกดีแล้ว.บทว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ตามพยัญชนะ ดังจะเชิดชูว่าเป็นครูของบุคคลทั้งชั้นสูงทั้งชั้นต่ำ, ตามอรรถ น่าจะพรรณนาถึงพระ คุณสมบัติที่สมควรเป็นครู แลได้ทรงทำกรณียะของครู จึงได้ผล เป็นอย่างนั้น. บทว่า พุทฺโธ ที่ว่าเป็นผู้ตื่น มีอธิบายว่า เป็นผู้ไม่หลงงมงายที่เปรียบด้วยนอนหลับ เป็นกาลัญญู รู้จักกาลสมัย รู้จักฐานะและอฐานะ, ที่ว่าเป็นผู้เบิกบานแล้ว มีอธิบายว่า เป็นผู้ทรงพระคุณเต็มที่ และได้ทรงทำพุทธกิจสำเร็จแล้ว.บทว่า ภควา ดูเหมือนพระคัมถรจนาจารย์ไม่แน่ใจว่าออกจากศัพท์อะไร หรือธาตุอะไร ท่านพิจารณาแก้ไว้ต่าง ๆ อย่างหนึ่งว่าออก จาก ภชฺ ธาตุ ที่แปลว่าแจกว่าแบ่ง อธิบายว่า แจกพระธรรมรตนะ สำเร็จรูปเป็น ภาค หรือ ภค แปลว่าส่วน ว่าสมบัติ อธิบายว่า มีส่วนแห่งธรรม มีคุณสมบัติ. อีกอย่างหนึ่งว่าออกจาก ภชฺ ธาตุที่แปลว่าคบ เสพ อธิบายว่า เสพเสนาสนะสงัด หรือจะอธิบายว่าเสพสันติวิหารธรรมก็เข้ารูป สำเร็จรูปเป็น ภค แปลว่ามีอาการน่าคบอธิบายว่า ทรงนำผู้เข้าไปคบให้ได้ประโยชน์ตามสมควร. อีกอย่างหนึ่งว่าออกจาก ภญฺช แปลว่าหัก อธิบายว่า หักคือกำจัดกิเลสและบาปธรรมทั้งปวง. ข้าพเจ้าหาความเข้าใจบทนี้มานามแล้ว ได้พบในพราหมณสมัย เป็นคำที่เรียกฤษีทั่วไปก็ได้ เรียกเทวดาบ้างก็ได้.ที่ใช้เรียกฤษีหลงเหลืออยู่ในปกรณ์ของเราก็มี แห่งหนึ่งพวกภัททวัคคิยกุมาร ๓๐ คน เที่ยวตามหาหญิงคนหนึ่งผู้ลักของหนีไป พบพระศาสดาเสด็จประทับอยู่ใต้ร่มไม้ตำบลไร่ฝ้าย ไม่รู้จักพระองค์ถามว่า อปิ ภความ อิตฺถึ ปสฺเสยฺย แปลว่า ภควา เห็นหญิงบ้าง หรือ ? อีกอย่างหนึ่ง ในชาดก ราชอำมาตย์ถามเกสีดาบสผู้อันพรเจ้าพาราณสีทรงบำรุงอยู่ในพระนคร แต่ทูลลาไปอยู่กับกัปปดาบสผู้ศิษย์ได้ฉันแต่ของป่าอันจืดหารสเค็มมิได้ ไม่เหมือนอยู่ในพระนครที่ได้ฉันของอร่อยต่าง ๆ ว่า กถนฺนุ ภควา เกสี กปฺปสฺส รมสิ อสฺสเมแปลว่า ภควา เกสี ยินดีอยู่ได้ในอาศรมแห่งกัปปดาบสด้วยอย่าง ไร ? และได้รับตอบว่า ความคุ้นเคยนั่นและเป็นรสอันเยี่ยม. ส่วนในพระพุทธศาสนาใช้เป็นบทเรียกพระศาสดา และพระพุทธเจ้าทั้งหลายอื่นเท่านั้น ไม่ใช้เรียกพระสาวก. ข้าพเจ้าลงมติว่า ออกจาก ภค ศัพท์ อันสำเร็จมาแต่ ภชฺ ธาตุ ที่แปลว่าแจกว่าแบ่ง มีคู่เทียบว่า โสภคฺยํ โทภคฺยํ ใช้ตามลำพับศัพท์เป็นข้างดี แปลว่า โชคดี มีคำดีคำร้ายประกอบ เป็นแต่คำกลาง ๆ แปลว่า เคราะห์ เช่นเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย. โดยนัยนี้ แปลว่า ผู้มีโชค ว่าผู้มีเคราะห์ดี อธิบายว่า ครั้งยังไม่ได้ออกทรงผนวช ก็ได้รับทำนุบำรุงเป็นอย่างดีตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนทรงพระเจริญออกทรงผนวชแล้วทรงแสวงหาทางตรัสรู้อยู่ถึง ๖ ปี น่ากลัวไม่สำเร็จ มาสำเร็จเข้าได้ แต่นั้นทรงประกาศพระศาสนา สามารถยังผู้อื่นให้บรรลุธรรมพิเศษเป็นพระสงฆ์ขึ้นได้และอาจยังเวไนยนอกจากนั้นให้ได้ศรัทธาเลื่อมใสยอมนับถือประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นไว้ จัดว่าเป็นผู้มีโชคดี มีเคราะห์ดีทุกคราวมา ในเวลาสอนพระศาสนา ปรากฏว่าพวกเดียรถีย์คิดร้าย แต่ก็ไม่อาจทำ สอนโจรและยักษ์ผู้ร้ายกาจ ก็ไม่ถูกทำร้าย และไม่ถูกผู้ครองนครที่เสด็จไปสอนพระศาสนาระแวงว่าเป็นผีบุญ และกำจัดเสีย จัดว่าเป็นผู้มีโชคมีเคราะห์ดีเหมือนกัน. ควรจะเรียกว่าพระผู้มีพระภัตแต่เรียกว่าพระผู้มีพระภาค ชะรอยจะเห็นใกล้ต่อเสียงว่าพระพักตร์ซึ่งแปลว่าหน้า เกรงจะนำความเข้าใจแฉไปกระมัง จึงเรียกตามที่ท่านสันนิษฐานไว้โดยประการหนึ่ง. พุทธคุณ ๙ นี้ เรียกนวหรคุณก็มี โดยที่แท้ควรจะเรียกนวหคุณ หรือนวารหคุณ จึงจะแปลว่าคุณของพระอรหันต์ ๙.
------------------------------------------
(๑๗๘) มานะ ๙
๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา.
๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา.
๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา.
๔. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา.
๕. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา.
๖. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา.
๗. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา.
๘. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา.
๙. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา.
อธิบาย: ความเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เสมอ เป็นผู้เลวกว่าเขานั้นกำหนดโดยชาติ โคตร สกุล รูปสมบัติ ทรัพย์ ศิลปะ วิทยา การงานความฉลาดเฉลียว และอื่น ๆ อันเทียบด้วยของคนอื่นโดยมากด้วยกัน. มานะ ข้อ ๑ ข้อ ๔ และข้อ ๗ เข้าลักษณะทะนง, ข้อ ๒ ข้อ ๕และข้อ ๘ เข้าลักษณะตีเสมอ, ข้อ ๓ ข้อ ๖ และข้อ ๙ เข้าลักษณะถ่อมตัว. มานะลักษณะที่ ๑ ที่ ๒ ตรงต่อจองหองและถือตัวโดย ลำดับกัน จัดเป็นมานะชอบอยู่ มานะลักษณะที่ ๓ ไม่น่าจัดเป็นมานะบางทีท่านจะหมายคนหมิ่นตนอย่างนั้นแล้ว อิสสาและคิดแข่งขันคนอื่นกระมัง หรือเพียงสักว่ายังสำคัญตนอยู่ด้วยประการไร ก็จัดว่าเป็นมานะ ได้ เช่นมานะมาในอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ขอนับธรรมพิจารณาดูเถิด.
------------------------------------------
(๑๗๙) โลกุตตรธรรม ๙
๑. มรรค ๔
๒. ผล ๔
๓. นิพพาน ๑.
ขุ. ปฏิ. ๓๑/๓๖๒.
อธิบาย: นิพพานในที่นี้ หมายอนุปาทิเสสนิพพาน. ผู้ปรารถนาจงดูตามหมวดนั้นๆ.
------------------------------------------
(๑๘๐) วิปัสสนาญาณ ๙
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ.
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ.
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏ เป็นของน่ากลัว.
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษ.
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงถึงความเบื่อหน่าย.
๖. มุญจิตุกามยตาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย.
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยพิจารณาหาทาง.
๘. สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยความวางเฉยเสีย.
๙. สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาเป็นไปโดยสมควรแก่กำหนดรู้อริยสัจ.
ขุ. ปฏิ. ๓๑/๑.
อธิบาย: ญาณที่ ๑ คำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับแห่งสังขาร. ญาณที่ ๒ ปล่อยความเกิดเสีย คำนึงเอาเป็นอารมณ์เฉพาะความดับแห่งสังขารนั้น. ญาณที่ ๓ คำนึงเห็นสังขารนั้นอันปรากฏด้วยอำนาจความดับ โดยอาการเป็นของน่ากลัว ดุจสัตว์ร้ายมีสีหะเป็นต้น. ญาณที่ ๔ คำนึงเห็นโทษแห่งสังขารนั้น อันปรากฏด้วยประการนั้นว่าเป็นดุจเรือนอันไฟไหม้แล้ว. ญาณที่ ๕ คำนึงถึงสังขารนั้นอันมีโทษได้เห็นแล้วด้วยความเป็นหน่าย. ญาณที่ ๖ คำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสียจากสังขารนั้นที่เบื่อหน่ายแล้ว ดุจสัตว์อันติดข่ายใคร่จะหลุดไปจากข่าย. ญาณที่ ๗ คำนึงด้วยพิจารณาเฟ้นสังขารนั้นเพื่อหาทางเป็นเครื่องพ้นไปเสีย ดุจนางนกที่เรียกว่าสมุทรสกุณีอันลงเล่นในทะเล. ญาณที่ ๘ คำนึงด้วยความวางเฉยในสังขารนั้นดุจบุรุษผู้วางเฉยในภรรยาอันหย่ากันแล้ว. ญาณที่ ๙ เป็นไปขณะแห่งจิต อันได้ชื่อว่าอนุโลมเกิดขึ้นในลำดับแห่งมโนทวาราวัชชนะอันตัดภวังค์เกิดขึ้นในขณะอริยมรรคจักเกิด ในที่สุดแห่งสังขารุเปกขาญาณ.
------------------------------------------
(๑๘๑) สังฆคุณ ๙
ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค.
๑. สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว.
๒. อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว.
๓. ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม.
๔. สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร.
ยาทิทํ นี้คือใคร
จตฺตาริ ปุริสยุคานิ คู่แห่งบุรุษ ๔
อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา บุรุษบุคคล ๘
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค.
๕. อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของคำนับ.
๖. ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ.
๗. ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรของทำบุญ.
๘. อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรทำอัญชลี [ประณมมือไหว้].
๙. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.
อง. ติก. ๒๐/๒๖๗.
อธิบาย: พระสงฆ์นี้ หมายเอาจำพวกพระสาวกผู้ได้บรรลุธรรมวิเศษ. บทว่า สุปฏิปนฺโน หมายความกว้าง นอกจากที่ระบุไว้ใน ๓ บทเป็นลำดับไป เช่นปฏิบัติไปตามมัชฌิมาปฏิปทา ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงเครียดนัก ปฏิบัติไม่ถอยหลัง ปฏิบัติกลมเกลียวกับพระศาสดาไม่ปฏิบัติเป็นปฏิปักข์กัน. บทว่า อุชุปฏิปนฺโน หมายว่าไม่ปฏิบัติลวงโลก ไม่มีมายาสาไถย ประพฤติตรง ๆ ต่อพระศาสดาและเพื่อสาวกด้วยกัน ไม่อำพรางความในใจ ไม่มีแง่มีงอน. บทว่า ญายปฏิปนฺโน ท่านสันนิษฐานว่า อย่างหนึ่งออกจาก ญา ธาตุ ที่แปลว่า รู้ จึงอธิบายว่า เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาเป็นเครื่องรู้ คือปฏิบัติในทางอันจะให้เกิดความรู้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อธรรมที่ควรรู้ คือปฏิบัติเพื่อได้ความรู้ธรรม อีกอย่างหนึ่งท่านแปลว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อออกไป ที่อธิบายว่า เพื่ออกไปจากทุกข์ เพื่อออกไปจากภพ แต่สันนิษฐานว่าออกจากธาตุอะไรหาทราบไม่. ศัพท์ว่า ญาย นี้ เทียบกันได้กับศัพท์สํสกฤตว่า นฺยาย ที่ว่าออกจาก อ ธาตุ มี นิ อุปสัคนำ แปลว่า เข้าไป เข้าถึง ข้างภาษามคธ แปลง นฺย เป็น ญ โดยวิธีสนธิ จึงเป็น ญาย. ศัพท์นี้ข้างสํสกฤตแปลไว้หลายนัย อย่างหนึ่งแปลว่า ธรรม สมด้วยบทบาลีว่า ญายสฺส อธิคมาย ที่แปลว่าเพื่อบรรลุญาย อันได้แก่อธิคมสัทธรรม. ธรรมได้ชื่อว่า นฺยาย หรือ ญาย เพราะเป็นคุณอันจะพึงเข้าถึง คือบรรลุ. ท่านแปลศัพท์ว่า ออกอุปสัคตัวนั้นในสํสกฤตเป็น นิสฺ เข้ากับสระ สฺ ต้องแปลงเป็น รฺ เช่น นิรุปทฺทโว นิราสงฺโก ในที่นี้เข้ากับ อิ ธาตุ จะต้องเป็น นิริ หรือ นิรย, สำเร็จรูปเป็น นฺยาม ไม่ได้. นิ แปลว่าเข้า เช่น นิคจฺฉติ แปลว่าเข้าถึง นิวีสติ แปลว่าเข้าตั้ง. โดยนัยนี้ บทว่า ญายปฏิปนฺโนแปลว่า เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม ที่อธิบายว่า ปฏิบัติมุ่งธรรมเป็นใหญ่ถือความถูกเป็นประมาณ. บทว่า สามีจิปฏิปนฺโน หมายว่าปฏิบัติน่านับถือ สมควรได้รับสามีจิกรรม. คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ จงดูอริยบุคคล ๘ ในอัฏฐกะ.ของคำนับ ที่เรียกว่าอาหุนะนั้น ได้แก่เครื่องสักการะอันจะพึงนำมาให้ถึงสำนัก เช่นเครื่องสักการะถวายอุปัชฌายะอาจารย์ในคราวเข้าพรรษา และผ้ารดน้ำให้ท่านผู้สูงอายุในคราวสงกรานต์เป็นตัวอย่าง. ของต้อนรับที่เรียกว่า ปาหุนะ นั้น ได้แก่ของที่สำหรับรับแขกอันจะพึงให้ต่อเมื่อมาถึงถิ่น เช่นน้ำชา หรือแม้อาหารด้วย เป็นตัวอย่างของทำบุญที่เรียกว่า ทักขิณา นั้น ได้แก่ไทยธรรมวัตถุมีอาหารและผ้าเป็นต้น อันจะพึงบริจาคในพระศาสนาโดยฐานเป็นการบุญ. พระสงฆ์เป็นผู้ควรของทั้ง ๓ อย่าง และอัญชลีกรรมนั้น อธิบายว่า ผู้ใดผู้หนึ่ง จะนำเครื่องสักการะไปถวายท่านถึงสำนักของท่าน ท่านย่อมอาจยังความเลื่อมใสให้เกิด ไม่ต้องเสียใจเมื่อภายหลังว่า ไม่พอที่จะไปคำนับผู้ไม่สมควร ท่านมาถึงถิ่นย่อมเป็นแขกที่น่าต้อนรับด้วยความยินดี เพราะเป็นผู้มาดี ไม่ใช่มาร้าย. และเป็นผู้บริจาคทักขิณาเป็นการบุญ จะถวายแก่ท่าน ๆ ก็เป็นปฏิคาหกที่สมควร ผู้ใดผู้หนึ่งจะยกมือไหว้ท่าน ท่านก็มีความดีพอจะไหว้ได้ ผู้ไหว้ไม่ต้องกระดาก. บทว่า อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส มีอธิบายว่า พระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธ์ ทักขิณาที่บริจาคแก่ท่านย่อมมีผลานิสงส์ ดุจนามีดินดีและไถแล้ว พืชที่หว่านที่ปลูกลงไป ย่อมเผล็ดผลไพบูล จึงเป็นที่บำเพ็ญบุญเป็นอย่างดี. บทแสดงสังฆคุณนี้ เรียงแปลกอยู่ ข้างต้นตอนหนึ่ง ๔ บทสรรเสริญความปฏิบัติตน มีประเภทพระสงฆ์คั่นในระหว่าง ข้างท้ายอีกตอนหนึ่ง ๕ บท แสดงผลแห่งความปฏิบัติอันจะพึงได้รับแต่คนอื่นไม่เหมือนบทแสดงพุทธคุณและแสดงธรรมคุณ ที่เรียงรวดเดียวจบขอนับธรรมพิจารณาดูเถิด.
------------------------------------------
(๑๘๒) สัตตาวาส ๙
ภพเป็นที่อยู่แห่งสัตว์ เรียกสัตตาวาส แจกเป็น ๙
๑. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่นพวกมนุษย์ พวกเทวดาบางหมู่ พวกวินิปาติกะ เปรต บางหมู่.
๒. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพผู้อยู่ในจำพวกพรหม ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน .
๓. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่นพวกเทพอาภัสสระ.
๔. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพสุภกิณหะ.
๕. สัตว์เหล่าหนึ่ง ไม่มีสัญญา ไม่เสวยเวทนา เช่นพวกเทพ ผู้เป็นอสัญญีสัตว์.
๖. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ.
๗. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาญัญจายตนะ.
๘. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ.
๙. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ.
องฺ. นวก. ๒๓/๔๑๓.