สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทสกะ คือ หมวด ๑๐

ทสกะ คือ หมวด ๑๐



ทสกะ คือ หมวด ๑๐

๑๘๓) อกุศลกรรมบถ ๑๐

(จัดเป็นกายกรรม คือทำด้วยกาย ๓ อย่าง)
๑. ปาณาติบาต ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง คือฆ่าสัตว์.
๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย.
๓. กาเมสุ มิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม.
(จัดเป็นวจีกรรม คือทำด้วยวาจา ๔ อย่าง)
๔. มุสาวาท พูดเท็จ.
๕. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด.
๖. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ.
๗. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ.
(จัดเป็นมโนกรรม คือทำด้วยใจ ๓ อย่าง)
๘. อภิชฌา โลภอยากได้ของเขา.
๙. พยาบาท ปองร้ายเขา.
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม.
กรรม ๑๐ อย่างนี้ เป็นทางบาป ไม่ควรดำเนิน.
ที.มหา. ๑๐/๓๕๖. ที.ปาฏิ. ๑๑/๒๘๔. ม.มู. ๑๒/๕๒๑.


----------------------------------------------------------


(๑๘๔) กุศลกรรมบท ๑๐
(จัดเป็นกายกรรม ๓ อย่าง)
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง.
๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย.
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม.
(จัดเป็นวจีกรรม ๔ อย่าง)
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ.
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด.
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ.
๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ.
(จัดเป็นมโนกรรม ๓ อย่าง)
๘. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา.
๙. อพยาบาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา.
๑๐. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม.
กรรม ๑๐ อย่างนี้เป็นทางบุญ ควรดำเนิน.
ที. มหา. ๑๐/๓๕๙. ที ปาฏิ. ๑๑/๒๘๔. ม. มู. ๑๒/๕๒๓.


----------------------------------------------------------


(๑๘๕) บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน.
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล.
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา.
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนแก่ผู้ใหญ่.
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ.
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ.
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ.
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม.
๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม.
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง.
สุ.วิ. ๓/๒๕๖. อภิธมฺมตฺถสงฺคหปาลิ. ๒๙. ตฏฺฏีกา. ๑๗๑.


----------------------------------------------------------


(๑๘๖) ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณา ๑๐
๑. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า บัดนี้เรามีเพสต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาหารกิริยาใด ๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ.
๒. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย.
๓. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้.
๔. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ตัวของเราเองติเตียนตัว เราเองโดยศีลได้หรือไม่.
๕. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่.
๖. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น.
๗. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัวเราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว.
๘. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่.
๙. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรายินดีในที่สงัดหรือไม่.
๑๐.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขินในเวลาเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง.
องฺ. ทสก. ๒๔/๙๑.


----------------------------------------------------------


(๑๘๗) นาถกรณธรรม ๑๐ (คือ ธรรมทำที่พึ่ง ๑๐ อย่าง)
๑. ศีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย.
๒. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้สดับรับฟังมาก.
๓. กัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีเพื่อนดีงาม.
๔. โสวจัสสตา ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย.
๕. กิงกรณีเยสุ ทักขตา ความขยันช่วยเอาใจใส่ในกิจธุระของ
๖. ธัมมกามตา ความใคร่ในธรรมที่ชอบ.
๗. วิริยะ เพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี.
๘. สันโดษ ยินดีด้วยผ้านุ่ง ผ้าห่ม อาหาร ที่นอน ที่นั่งและยา ตามมีตามได้.
๙. สติ จำการที่ได้ทำและคำที่พูดแล้วแม้นานได้.
๑๐. ปัญญา รอบรู้ในกองสังขารตามเป็นจริงอย่างไร.
องฺ. ทสก. ๒๔/ ๒๗.


----------------------------------------------------------


(๑๘๘) กถาวัตถุ ๑๐ (คือ ถ้อยคำที่ควรพูด ๑๐ อย่าง)
๑. อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย.
๒. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้.
๓. ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สงัดกายสงัดใจ.
๔. อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำไม่ให้ระคนด้วยหมู่.
๕. วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร.
๖. สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล.
๗. สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้สงบ.
๘. ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา.
๙. วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลส.
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็น ในความที่ใจพ้นจากกิเลส.
องฺ. ทสก. ๒๔/๑๓๘.


----------------------------------------------------------


(๑๘๙) อนุสสติ ๑๐ (คือ อารมณ์ควรระลึก ๑๐ ประการ)
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า.
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม.
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์.
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน.
๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว.
๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา.
๗. มรณัสสติ ระลึกถึงความตายที่จะมาถึงตน.
๘. กายคตาสติ ระลึกทั่วไปในกาย ให้เห็นว่า ไม่งาม น่าเกลียดโสโครก.
๙. อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก.
๑๐. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับกิเลสและกองทุกข์.
วิ. ฉอนุสฺสติ. ปฐม. ๒๕๐.


----------------------------------------------------------


(๑๙๐) อันตคาหิกทิฏฐิ ๑๐
ความเห็นอันถือเอาที่สุด คือเล่นเข้าไปถึงที่สุด ในอย่างหนึ่ง ๆเรียกอันตคาหิกทิฏฐิ แจกออกไปเป็น ๑๐ คือ
๑. โลกเที่ยง.
๒. โลกไม่เที่ยง.
๓. โลกมีที่สุด.
๔. โลกไม่มีที่สุด.
๕. ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น.
๖. ชีพเป็นอัน สรีระก็เป็นอื่น.
๗. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีก เกิดอีก.
๘. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เป็นอีก.
๙. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี.
๑๐. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกหามิได้ ย่อมไม่เป็นอีก ก็หามิได้.
ม. ม. ๑๓/๑๔๓.
อธิบาย: ทิฏฐินอกพระพุทธศาสนา พรคันถรจนาจารย์ ไม่พอใจอธิบาย ในเมื่อจำจะพูดถึง ก็พูดอย่างห้วน ยากที่จะเข้าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ ยากที่จะลงความเห็นว่า พระพุทธศาสนามุ่งหมายอย่างไร ทิฏฐินี้ท่านก็มิได้พรรณนาไว้ชัดเจน แต่กล่าวว่า เป็นข้อที่ พระศาสดาไม่ทรงพยากรณ์ คือ ไม่ตรัสถึง ดังมีเรื่องเล่าว่า พระ มาลุงกยะทูลถามถึงทิฏฐิ ๑๐ นี้ และทูลพ้อว่า ถ้าไม่ทรงพยากรณ์จักไม่อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป พระองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่ได้ทรงสัญญาไว้ เมื่อพระมาลุงกยะจะมาประพฤติพรหมจรรย์ว่า จักทรงแก้ทิฏฐิ ๑๐ ข้อนี้ พระมาลุงกยะปรารถนาจะไปก็จงไป จึงเป็นดุจกรุยอันผู้สอดส่องธรรมในพระพุทธศาสนา พึงหลีกห่าง ดุจกรุยบอกน้ำตื้นอันเรือไม่พึงแวะเข้าไป เป็นข้อที่น่ารู้อยู่. ในที่นี้ จักอธิบายตามมติของข้าพเจ้า. โลกในที่นี้ น่าจะได้แก่หมู่สัตว์. ข้อว่า โลกเที่ยงนั้น น่าจะหมายความดังกล่าวแล้ว ในสัสสตทิฏฐิ ในทุกกะ. ข้อว่า โลกไม่เที่ยงนั้น น่าจะหมายความดังกล่าวแล้ว ในอุจเฉททิฏฐิในทุก. ข้อว่า โลกมีที่สุด น่าจะหมายความว่า คนทำดี ในที่สุดย่อมไปเกิดในทิพยกายที่ยั่งยืน ไม่แปรผัน ดุจความเข้าใจของคนถือลัทธิต่างบางพวก หรือด้วยมรณะแล้ว ขาดศูนย์กัน. ข้อว่า โลกไม่มีที่สุดนั้น น่าจะหมายความว่า เวียนเกิดเวียนตายไปอย่างนี้ ไม่มีขาดลง. ข้อว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น กับข้อว่า ชีพเป็นอื่นสรีระก็เป็นอื่น ชีพนั้นได้แก่ ชีโว ได้กล่าวแล้ว ในสัสสตทิฏฐิ ในทุกะ เป็นแต่ในที่นี้ใช้นปุงสกลิงค์เป็น ชีวํ. ในพระพรหมสมัยบัญญัติว่า เวลามรณะ ชีพนี้ออกจากสรีระไปถือปฏิสนธิใหม่ ส่วนสรีระย่อมสลายไป. ทิฏฐิเนื่องด้วยชีพนี้ ข้างหนึ่งเข้าใจว่า ชีพกับสรีระเป็นอันเดียวกัน เกิดดับพร้อมกัน อีกข้างหนึ่งเข้าในว่า ชีพกับสรีระต่างกัน เช่นบัญญัติไว้ในพราหมณสมัย. พระพุทธศาสนากล่าวอนัตตา ไม่ใช่อัตตาไม่ใช่ตนนั้น แสดงนามธรรมคือจิตเจตสิกว่า เกิดขึ้นเพราะอายตนะภายใน และอายตนะภายนอกสบกันเข้าเป็นต้นไป เพื่อคัดค้านชีพดังที่เขาเข้าใจกันนั้น. ในข้อปรารภความเกิดอีกเป็นต้น ของสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว บทบาลีใช้แปลกอยู่ ใช้บทว่า ตถาคโตที่แก้ในอรรถกถาว่า สตฺโต คือสัตว์. ตถาคตศัพท์นั้น นอกจากในที่นี้ พบแต่ที่ใช้เรียกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มักเรียกเป็นพหูพจน์ด้วยโดยอธิบายว่า ผู้มาเหมือนอย่างนั้น คือได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจถูกต้องตามธรรมเนียมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก่อน ๆ เช่นเดียวกับพระราชาผู้เป็นแทนสืบกันมา. สอบกับภาษาสํสกฤตได้ความออกไปอีกหน่อยว่า นอกจากใช้เรียกพระพุทธเจ้า ใช้เรียกชินะ ที่ออกชื่อในปกรณ์ข้างพระพุทธศาสนาว่า นิครนถ์นาฏบุตรบ้าง ใช้เรียกเจ้าบ้าง ไม่ได้กล่าวว่าใช้เรียกสามัญสัตว์. ถ้าไม่ใช่ศัพท์ใช้เรียกสามัญสัตว์ ความเข้าในก็จะพึงมีอีกทางหนึ่งว่า ท่านผู้ที่มหาชนนับถือเป็นศาสดา และเป็นเอกอุในลักทธิของตน เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว เกิดอีกหรือไม่ หรือที่เกิดอีกก็มีที่ไม่เกิดอีกก็มี หรือปฏิเสธทั้งนั้น สมด้วยปัญหาปรารภเจ้าลัทธิเห็นปานนี้อันพระสุภัททะครั้งยังเป็นปริพาชกยกขึ้นทูลถามพระศาสดาเมื่อใกล้จะปรินิพพาน แต่ทูลถามในทางตรัสรู้ของเขา. เช่นนี้ไม่แย้งต่อการรับรองว่า สัตว์ผู้ยังมีกิเลสานุสัย ตายแล้วต้องเกิดอีก. ข้าพเจ้าได้ความเข้าใจไม่พอเพื่ออนุโมทนาหรือค้านคำแก้ในอรรถกถาทั้ง ๒ อย่างจึงแปลว่าสัตว์ไว้ที่ตามอรรถกถา แม้เป็นศัพท์เรียกสามัญสัตว์ ก็ อาจอธิบายให้เข้ารูปได้ว่า เป็นผู้มาเหมือนอย่างนั้น คือเกิดขึ้นแล้วเป็นอยู่โดยธรรมดาแห่งสัตว์ และจักเป็นผู้ไป คือตายเหมือนสัตว์ในกาลก่อน. ทิฏฐิ ๑๐ อย่างนี้ ไม่จัดเป็นชั่วร้ายนัก ไม่ถึงห้ามสวรรค์เป็นแต่ห้ามอริยมรรค อธิบายว่า คนมีทิฏฐิเหล่านี้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงไม่ได้ทำบาปทุจริตเพราะทิฏฐินี้ เบื้องหน้าแต่ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ก็ได้ แต่ยังละเสียไม่ได้เพียงใด ยังเป็นผู้อาภัพ ไม่อาจบรรลุอริยมรรคอยู่เพียงนั้น.


----------------------------------------------------------


(๑๙๑) ทสพลญาณ ๑๐
พระญาณเป็นพระกำลังของพระตถาคตเจ้า ๑๐ เรียกทสพลญาณมีวิภาคดังนี้ :-
๑. ฐานาฐานญาณ ปรีชากำหนดรู้ฐานะ คือเหตุที่ควรเป็นได้ และอฐานะ คือมีใช่เหตุที่ควรเป็นได้.
๒. วิปากญาณ ปรีชากำหนดรู้ผลแห่งกรรม.
๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชากำหนดรู้ทางไปสู่ภูมิทั้งปวง.
๔. นานาธาตุญาณ ปรีชากำหนดรู้ธาตุต่าง ๆ.
๕. นานาธิมุตตกญาณ ปรีชากำหนดรู้อธิมุตติคืออัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นต่าง ๆ กัน.
๖. อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชากำหนดรู้ความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย.
๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชากำหนดรู้อาการมีความเศร้า หมองเป็นต้นแห่งธรรมมีฌานเป็นต้น.
๘. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปรีชากำหนดระลึกชาติหนหลังได้.
๙. จุตูปปาตญาณ ปรีชากำหนดรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นต่าง ๆ กันโดยกรรม.
๑๐. อาสวักขยญาณ ปรีชารู้จักทำอาสวะให้สิ้น.
ม. มู. ๑๒/๑๔๑.
อธิบาย: ฐานะนั้น คือสิ่งที่มีได้เป็นได้โดยธรรมดา อฐานะคือสิ่งที่มีไม่ได้เป็นไม่ได้โดยธรรมดา อุทาหรณ์ สิ่งใดมีความเกิดขึ้นสิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา เป็นฐานะอย่างหนึ่ง สิ่งใดมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นจักไม่ดับเลย เป็นอฐานะอย่างหนึ่ง กุศลกรรม ให้ผลดีอกุศลกรรม ให้ผลชั่ว เป็นฐานะอีกอย่างหนึ่ง กุศลกรรม ให้ผลชั่วอกุศลกรรม ให้ผลดี เป็นอฐานะอีกอย่างหนึ่ง กุศลกรรม ให้ผลชั่วกำหนดฐานะและอฐานะ โดยนัยนี้. พระญาณที่ ๒ กำหนดรู้ผลแห่งกรรมของสัตว์ทั้งหลายผู้ทำกรรม ทั้งที่เป็นบุญ ทั้งที่เป็นบาป ต่างให้ผลสับสนกัน ไม่หลงสันนิษฐานไปในอฐานะ. พระญาณที่ ๓ กำหนดรู้กรรมอันจะนำไปสู่สุคติทุกคติ และปฏิบัติอันจะนำให้บรรลุพระนิพพาน. พระญาณที่ ๔ รู้จักแยกสมมติออกเป็นขันธ์อายตนะและธาตุต่าง ๆ. พระญาณที่ ๕ และที่ ๖ มีกิจละม้ายกัน แสดงตามนิทเทส การกำหนดรู้อัธยาศัยดีเลว เป็นกิจแห่งพระญาณที่ ๕ การกำหนดรู้อัธยาศัยอย่างนั้นด้วย การกำหนดรู้อินทรีย์ ๕ มีศรัทธา เป็นต้น กับทั้งคุณและโทษอย่างอื่นว่าเป็นอย่างไรด้วย เป็นกิจแห่งพระญาณที่ ๖. พระญาณที่ ๗ กำหนดรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว ความออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ว่า จักมีเพราะอย่างไร. กิจแห่งพระญาณอีก ๓ ต่อไปอีก กล่าวไว้แล้วในวิชชา ๓ ในติกะ.


----------------------------------------------------------


(๑๙๒) บารมี ๑๐
๑. ทาน
๒. ศีล
๓. เนกขัมมะ
๔. ปัญญา
๕. วิริยะ
๖. ขันติ
๗. สัจจะ
๘. อธิฏฐาน
๙. เมตตา
๑๐. อุเบกขา.
ขุ. จริยา. ๓๓/๕๙๖.
อธิบาย: ศัพท์ว่า บารมี สันนิษฐานว่าออกจากศัพท์ ปรม แปลว่า คุณสมบัติหรือปฏิปทาอันยวดยิ่ง ท่านพรรณนาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้ทรงบำเพ็ญมาแต่ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ เมื่อบารมีเหล่านี้เต็มแล้วจึงจะได้ตรัสรู้ บารมีเหล่านี้กระจ่างแล้วโดยมาก จักแก้เฉพาะบางประการ. เนกขัมมะ ได้แก่การออกบวชโดยอธิบายว่าออกจากกาม. สัจจะ น่าจะได้แก่การซื่อตรง หรือการตั้งใจทำจริง หรือการมุ่งแสวงหาความจริง. แต่ในชาดกปกรณ์จัดเอาการยกเอาความเป็นจริงอยู่อย่างไร ขึ้นตั้งอธิษฐานเพื่อสำเร็จผลที่มุ่งหมายเป็นสัจจบารมี. อธิฏฐาน ได้แก่การตั้งใจมั่น. อุเบกขาได้แก่ความไม่ยินดียินร้าย. บารมีเหล่านี้ ท่านแจกออกเป็น ๓ หมวดคือ บารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี สิริเป็นบารมี ๓๐ ทัศ บารมี ๓ หมวดนี้ต่างกันอย่างไร สันนิษฐานยาก ความเข้าใจของพระคันถรจนาจารย์ ก็ไม่แน่ลงเหมือนกัน. ท่านแก้ทานอย่างหนึ่งว่า การให้ไม่ได้ระบุพัสดุ จัดเป็นทานบารมี. การให้พัสดุภายนอก จัดเป็นทานอุปบารมี. การให้อวัยวะและชีวิต จัดเป็นทานปรมัตถบารมี. อีกอย่างหนึ่งว่า การสละพัสดุภายนอก จัดเป็นทานบารมี. การสละอวัยวะ จัดเป็นทานอุปบามี, การสละชีวิต จัดเป็นทานปรมัตถบารมีอุปบารมี เป็นศัพท์ที่น่าสันนิษฐานก่อน. ตามพยัญชนะแปลว่า บารมีใกล้หรือบารมีรอง เรียงไว้ในระหว่างกลาง ลงสันนิษฐานว่า ปรมัตถบารมีเป็นยอด รองลงมาอุปบารมี โดยนัยนี้ได้ความว่า เป็นบารมีที่รองปรมัตถบารมีลงมา พิเศษกว่าบารมีเฉย ๆ. แบ่งบารมีอย่างหนึ่งออกเป็น ๓ จำอาศัยเกณฑ์ ตามเกณฑ์ที่ท่านตั้งมาแล้ว ชีวิต ร่างกายและทรัพย์ภายนอก ส่วนทานแบ่งง่าย สละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่คนมาก หรือเพื่อเปลื้องทุกข์คนอื่น จัดเป็นทานปรมัตถบารมี สละอวัยวะแห่งร่างกาย เช่นพยายามเพื่อจะทำประโยชน์หรือเปลื้องทุกข์เขา แต่ต้องเสียอวัยวะของตนในการทำอย่างนั้น จัดเป็นทานอุปบารมี สละทรัพย์เพื่อเกื้อกูลหรือเพื่อเปลื้องทุกข์เขา จัดเป็นทานบารมี. ศีลที่รักษาเพราะต้องพร่าชีวิตร่างกายและโภคทรัพย์อาจแบ่งเป็น ๓ ได้เหมือนกัน.ส่วนบารมีอันเหลือยังจะต้องหาเกณฑ์แบ่งอีก ไม่ใช่ทำง่าย. แม้ทำได้แล้วยังไม่พ้นฟั่นเฝือ. ข้าพเจ้าสันนิษฐานเห็นเกณฑ์แบ่งอีกทางหนึ่งบารมีที่พรโพธิสัตว์บำเพ็ญในชาติห่างไกล ตามที่กล่าวว่า ครั้งเสวยพระชาติเป็นมนุษย์ก็มี เป็นดิรัจฉานก็มี สับสนกัน จัดเป็นเพียงบารมีที่บำเพ็ญในชาติใกล้เข้ามา ก่อนหน้าปัจฉิมชาติเพียง ๑๐ ชาติ ตาม ที่กล่าวว่าครั้งเสวยพระชาติเป็นมนุษย์เป็นพื้น และเป็นมนุษย์วิสามัญมีลักลั่นอยู่ชาติเดียวที่ว่า เป็นพระยานาค จัดเป็นอุปบารมี ที่พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญในปัจฉิมชาติ ก่อนหน้าตรัสรู้พระโพธิญาณ จัดเป็นปรมัตถบารมี. จักพรรณนาเฉพาะปัจฉินชาติ. พระองค์น้อมพระชนม์เพื่อประโยชน์แก่คนมาก ด้วยพระเมตตา จัดเป็นพระทานบารมีและพระเมตตาบารมี เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จัดเป็นพระเนกขัมมบารมี ทรงสำรวมในศีล สมควรแก่เป็นบรรพชิตจัดเป็นพระศีลบารมีทรงบำเพ็ญเพียรและทรงอดทนต่อความลำบากอยากเข็ญ จัดเป็นพระวิริยบารมีและพระขันติบารมี ทรงตั้งพระหฤทัยมั่นในปฏิปทา ตั้งพระหฤทัยทำจริง ๆ เพื่อแสวงหาความจริง จัดเป็นพระอธิษฐานบารมีและพระสัจจบารมี ทรงรักษาพระหฤทัยคงที่ ไม่ให้วิการเพราะยินดียินร้ายจัดเป็นพระอุเบกขาบารมี พระปรีชาทำพระองค์ให้เป็นผู้ตื่น รู้เท่าถึงการณ์และอาจเล็งเห็นก้าวหน้าไม่งมงาย นำพระองค์ให้หลีกจากกิริยาอันมิใช่ทาง ดำเนินในปฏิปทาอันเป็นทาง ตลอดถึงได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จัดเป็นพระปัญญาบารมี. จัดตามเกณฑ์นี้ สมด้วยเค้าเรื่องที่ท่านจัดไว้เป็น ๓ กาล คือทูเรนิทาน เรื่องห่างไกล ๑ อวิทูเรนิทาน เรื่องไม่ไกลนัก ๑ สันติเกนิทาน เรื่องใกล้ชิด ๑ แต่แบ่งระยะกาลคลาดกันไป. ทูเรนิทาน ท่านจัดจำเดิมแต่ตั้งปรารถนาเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ณ สำนักพระพุทธทีปังกร จนถึงจุติจากชาติเป็นพระเวสสันดร อุบัติขึ้นในดุสิตเทวโลก อวิทูเรนิทาน ตั้งแต่จุติจากดุสิตพิภพ จนถึงตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ณ ควรไม้พระมหาโพธิ สันติเกนิทาน ตั้งแต่ตรัสรู้แล้วจนปรินิพพาน. ส่วนชาดก จัดเรื่องต่าง ๆ เป็นอันมาก ที่กล่าวความเสวยพระชาติสับสนกัน เป็นสามัยนิบาต อันได้แก่ทูเรนิทาน จัด ๑๐ เรื่องที่กล่าวความเสวยพระชาติไม่สับสน เว้นเรื่องหนึ่ง เป็นมหานิบาต อันได้แก่อวิทูเรนิทานโดยนัยนี้ เรื่องในปัจฉิมชาติได้แก่สันติเกนิทาน. ข้าพเจ้าเกณฑ์ตามนัยจัดเรื่องชาดก. บารมี ท่านกล่าวว่า พระปัจเจกพุทธะและพระอริสาวกได้บำเพ็ญมาเหมือนกัน
อย่างเดียวกันกับของพระพุทธเจ้าหรือต่างกัน ไม่ได้กล่าวไว้ชัด น่าจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ระยะกาลสั้นกว่า.


----------------------------------------------------------


(๑๙๓) มิจฉัตตะ ความเห็นผิด ๑๐
๑. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด.
๒. มิจฉาสังกัปปะ ดำริผิด.
๓. มิจฉาวาจา วาจาผิด.
๔. มิจฉากัมมันตะ การงานผิด.
๕. มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตผิด.
๖. มิจฉาวายามะ พยายามผิด.
๗. มิจฉาสติ ระลึกผิด.
๘. มิจฉาสมาธิ ตั้งจิตผิด.
๙. มิจฉาญาณะ รู้ผิด.
๑๐. มิจฉาวิมุตติ พ้นผิด.
ยกข้างปลาย ๒ ออกเสีย เป็นมิจฉัตตะ ๘.
องฺ. ทสก. ๒๔/๒๒๖.
อธิบาย: มิจฉาทิฏฐิ โดยพยัญชนะ น่าจะได้แก่เห็นผิดจากคลองธรรมทุกประการ โดยอรรถ น่าจะได้แก่เห็นผิดที่เป็นอย่างเลว เช่น อกิริยทิฏฐิ อเหตุกทิฏฐิ และนัตถิกทิฏฐิ. มิจฉาสังกัปปะ ได้แก่ ดำริแส่หากามในทางผิด ดำริเนื่องด้วยผูกพยาบาท และดำริในทางทำผู้อื่นให้ลำบาก. มิจฉาวาจา ได้แก่วจีทุจริต ๔. มิจฉากัมมันตะได้แก่กายทุจริต ๓. มิจฉาอาชีวะ ได้แก่เลี้ยงชีวิตในทางทุจริตและในทางผิดธรรมเนียม. มิจฉาวายามะ ได้แก่พยายามในทางยังบาปธรรมให้เกิดขึ้นและให้เจริญและในทางยังกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้นและให้เสื่อมสิ้น. มิจฉาสติ ได้แก่ระลึกถึงการอันจะยั่วให้เกิดราคะ โทสะโมหะ. มิจฉาสมาธิ ได้แก่ภาวนาสะกดใจในทางหาลาภ ในทางให้ร้ายผู้อื่น และในทางนำให้หลง. มิจฉาญาณะ อยู่ข้างมัว น่าจะได้แก่ความรอบรู้เกิดขึ้นในจิตของผู้ถือลัทธิต่าง และประกอบภาวนาตามลัทธินั้น.
ในข้างพระพุทธศาสนา เทียบด้วยวิปัสสนาญาณ อันตกไปในฝ่ายวิปัสสนูปกิเลสเสีย ไม่ขึ้นถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ แต่จะจัดเป็นมิจฉาญาณะ อยู่ข้างแรงเกินไป. มิจฉาวิมุตติ เข้าใจยากอยู่เพราะวิมุตติในที่อื่นเป็นดีทั้งนั้นน่าจะได้แก่วิมุตติที่นิยมในลัทธิอื่นหรือที่ระงับกิเลสบาปธรรมได้ชั่วคราว เรียกว่าตทังควิมุตติ ด้วยอำนาจกลัวพระเจ้าผู้สร้าง การระงับกิเลสบาปธรรมนั้นดีอยู่ แต่การเชื่อว่ามีพระเจ้าผู้สร้างนอกจากธรรมดาแต่งนั้นผิด.


----------------------------------------------------------


(๑๙๔) สัมมัตตะ ความเป็นถูก ๑๐.
พึงรู้โดยปฏิปักขนัยต่อมิจฉัตตะ มิจฉา เปลี่ยนเป็น สัมมาดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ.
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ.
๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ.
๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ.
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ.
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ.
๗.สัมมาสติ ระลึกชอบ.
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตชอบ.
๙. สัมมาญาณะ รู้ชอบ.
๑๐. สัมมาวิมุตติ พ้นชอบ.
ยกข้างปลาย ๒ ออกเสีย เป็นสัมมัตตะ ๘. อเสขธรรม ๑๐ ก็เรียก.
องฺ. ทสก. ๒๔/๒๒๖.
อธิบาย: องค์ ๘ ข้างต้น มีอธิบายแจ้งในมรรคมีองค์ ๘ ในธรรมวิภาคปริเฉทที่ ๑ ในนวโกวาท. สัมมาญาณะ น่าจะได้แก่ มรรคญาณ จะได้เนื่องกับสัมมาวิมุตติ แต่มรรคญาณแก้ไว้ในบทสัมมาทิฏฐิแล้ว ในที่นี้ จึงได้แก่ผลญาณ และญาณอย่างอื่นอันไม่เนื่องด้วยมรรคญาณ เช่นปฏิสัมภิทาญาณ. สัมมาวิมุตตินั้น ได้แก่สมุจเฉทวิมุตติ และปัสสัทธิวิมุตติ.


----------------------------------------------------------


(๑๙๕) สังโยชน์ ๑๐ (๑)
กิเลสอันผูกใจสัตว์อยู่ เรียกว่าสังโยชน์ จำแนกออกเป็น ๑๐ คือ
๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน.
๒. วิจิกิจฉา ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจ ในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน.
๓. สีลัพพตปรามาส ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเข้าใจว่ามีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้.
๔. กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม เรียกแต่เพียงราคะก็มี.
๕.ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ได้แก่ความหงุดหงิดด้วยอำนาจโทสะ เรียกโทสะตรงทีเดียวก็มี. ๕ นี้ เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ คืออย่างหยาบ เรียกโอรัมภาคิยะ.
๖. รูปราคะ ความติดใจอยู่ในรูปธรรม เช่นชอบใจในบุคคลบางคน หรือในพัสดุบางสิ่งหรือแม้ในวัตถุอันเป็นอารมณ์แห่งรูปฌาน.
๗. อรูปราคะ ความติดใจอยู่ในอรูปธรรม เช่นพอใจ ในสุขเทวนา.
๘. มานะ ความสำคัญตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่.
๙. อุทธัจจะ ความคิดพล่าน เช่นนึกอะไรก็เพลินเกิน ไปกว่าเหตุ.
๑๐. อวิชชา ความเขลาอันเป็นเหตุไม่รู้จริง.
อีก ๕ นี้ เป็นสังโยชน์เบื้องสูง คืออย่างละเอียด เรียกอุทธัมภาคิยะ.
อง. ทสก. ๒๔/๑๘.
อธิบาย: กามราคะและปฏิฆะ ในบาลีเรียกว่ากามฉันทะและพยาบาทดุจในนิวรณ์. กามฉันทะเป็นสังโยชน์อย่างอ่อน อันอนาคามิมรรคพึงตัดก็พอสม ส่วนพยาบาท เป็นสังโยชน์แรงกล้า เป็นอปายคามี หากว่าอันอนาคามิมรรค จะพึงตัดขาดแล้วไซร้ แปลว่า พระโสดาบัน ยังมีพยาบาท เช่นนี้ พระโสดาบันยังจักไปสู่อบายดูอย่างไรอยู่ ไม่อย่างนั้น ศัพท์ว่าพยาบาท หมายเอาตั้งแต่พยาบาทแท้จริง ตลอดลงมาถึงโทสะและโกรธ เรียกอย่างนั้น จะนำความเข้าใจเขวไป พระอาจารย์ในชั้นหลัง ชะรอยจะเห็นอย่างนี้เหมือนกันจึงยักเรียกเสียว่า กามราคะและปฏิฆะ ตามสังโยชน์อีกบรรยายหนึ่งต่อนี้ไปข้าพเจ้าเรียกตามท่าน.


----------------------------------------------------------


(๑๙๖) สังโยชน์ ๑๐ (๒)
๑. กามราคะ
๒. ปฏิฆะ
๓. มานะ
๔. ทิฏฐิ
๕. วิจิกิจฉา
๖. สีลัพพตปรามาส
๗. ภวราคะ
๘. อิสสา
๙. มัจฉริยะ
๑๐. อวิชชา.
วิภงฺค. ทสก. ๓๕/๕๒๘.
โดยเค้าเงื่อน สังโยชน์ ๗ กับเติมเข้าอีก ๓ คือสีลัพพปรามาส อิสสา มัจฉริยะ แต่เรียกลำดับใหม่. สังโยชน์ ๑๐ อย่างแรกเรียงลำดับตามอริยมรรคอันจะตัด ส่วนอย่างนี้ เอาอะไรเป็นเกณฑ์จัดลำดับ ยังสันนิษฐานไม่ออก.


----------------------------------------------------------


(๑๙๗) สัญญา ๑๐
๑. อนิจจสัญญา กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร.
๒. อนัตตสัญญา กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรม.
๓. อสุภสัญญา กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย.
๔. อาทีนวสัญญา กำหนดหมายโทษแห่งกาย คือมีอาพาธต่าง ๆ.
๕. ปหานสัญญา กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรม.
๖. วิราคสัญญา กำหนดหมายวิราคะคืออริยมรรค ว่าเป็นธรรมอันละเอียด.
๗. นิโรธสัญญา กำหนดหมายนิโรธความดับตัณหา คืออริยผล ว่าเป็นธรรมอันละเอียด.
๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง.
๙. สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง.
๑๐. อานาปานัสสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก.
องฺ. ทสก. ๒๔/๑๑๒.
อธิบาย: อย่างนี้มาในคิริมานันทสูตร มีเรื่องเล่าว่า พระคิริ-มานนท์อาพาธ พระศาสดาทรงแสดงสัญญา ๑๐ นี้แก่พระอานนท์และตรัสสั่งให้ท่านไปแสดงแก่พระคิริมานนท์ ๆ ได้ฟังแล้ว หายจากอาพาธ, อนิฏฐสัญญาในบาลีเป็นอนิจจสัญญา ส่วนในนิเทสว่าเบื่อหน่ายระอาและเกลียดชังในสังขาร. สัญญา ๑๐ ในทสูตตรสูตร และในสูตรอื่นอีก เพี้ยนไปจากนี้ก็มี. มรณสัญญา กำหนดหมายมรณะ. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร, อนิจเจ ทุกขสัญญา กำหนดหมายทุกข์ในสิ่งไม่เที่ยง มาในสูตรนั้น แทน อาทีนวสัญญา สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา อานาปานัสสติ ในที่นี้ทั้งเรียงลำดับสับสนกันด้วย.


----------------------------------------------------------


(๑๙๘) สัทธรรม ๑๐
๑. โลกุตตรธรรม ๙ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑)
๒. ปริยัติธรรม ๑.
อภิ. วิ. ๖๕.

 

 

Tags : ทสกะ คือ หมวด ๑๐

view