หมวดปกิณณกะ
(๑๙๙) ปัจจยาการ ๑๑ (หรือปฏิจจสมุปบาท)
๑. เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย มีสังขาร
๒. เพราะสังขาร " มีวิญญาณ
๓. เพราะวิญญาณ " มีนามรูป
๔. เพราะนามรูป " มีสฬายตนะ
๕. เพราะสฬายตนะ " มีผัสสะ
๖. เพราะผัสสะ " มีเวทนา
๗. เพราะเวทนา " มีตัณหา
๘. เพราะตัณหา " มีอุปาทาน
๙. เพราะอุปาทาน " มีภพ
๑๐. เพราะภพ " มีชาติ
๑๑. เพราะชาติ " มีชรามรณโสกปริเทวทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลเกิดขึ้นด้วยประการอย่างนี้.
สํ. นิ. ๑๖/๑.
อธิบาย: อวิชชา ท่านแก้ว่า ได้แก่อวิชชา ๘. โดยนัยนี้เป็นอันยอมรับเงื่อนต้นของอวิชชาไม่ปรากฏ. ถ้าแปลอวิชชาเป็นกรรมสาธนะว่า ธรรมชาติที่ยังไม่รู้ได้ จักได้ความชัดออกไป. สังขารท่านแก้ว่า ได้แก่อภิสังขาร ๓ เป็นอันอนุวัตน์ตามเค้านั้น. ถ้าไม่ยันตรงลงไป หมายความกว้าง ๆ ว่า สภาพผู้แต่งผู้ปรุงขึ้น จักเข้าใจง่ายขึ้น. วิญญาณท่านแก้พร่าไปถึงวิญญาณ ๖ ถ้าจำกัดลงเพียงปฏิสนธิวิญญาณ ความจักแจ่ม. นามรูป เข้าใจแยกตามแจกไว้ ชักให้ฉงน เข้าใจ รวมกัน อุปาทินนกสังขาร หรือโดยสมมติว่า อัตภาพได้ความกระจ่าง,สฬายตนะ ได้แก่อายตนะภายใน ๖. ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทานแก้ไว้ในหนหลังแล้ว. ภพ ท่านแก้เป็น ๒ อย่าง ภพได้แก่กรรม ๑ภพได้แก่อุปบัติคือเกิด ๑ แต่อย่างหลังซ้ำกับชาติ นำความเข้าใจว่าปฏิสนธิ. ตั้งแต่ชาติไป ความชัดแล้ว. สาวออกไปหาผลข้างหน้าอย่างนี้ เรียกอนุโลม. อาการคือองค์ อันเป็นปัจจัยกล่าวไว้เพียง๑๑ ท่านนับทั้งชรามรณะ อันเป็นผลขาดตอนเข้าด้วย จึงกล่าวว่าปัจจยาการ ๑๒.
(๑๒๐) ปัจจยาการ ๑๑ (๒)
๑. ชรามรณะเป็นต้นมีเพราะชาติ.
๒. ชาติมีเพราะภพ.
๓. ภพมีเพราะอุปาทาน.
๔. อุปทานมีเพราะตัณหา.
๕. ตัณหามีเพราะเวทนา.
๖. เวทนามีเพราะผัสสะ.
๗. ผัสสะมีเพราะสฬายตนะ.
๘. สฬายตนะมีเพราะนามรูป.
๙. นามรูปมีเพราะวิญญาณ.
๑๐. วิญญาณมีเพราะสังขาร.
๑๑. สังขารมีเพราะอวิชชา.
สาวทวนเข้าไปหาเหตุข้างหลังอย่างนี้ เรียกปฏิโลม. อาการอันเป็นผลก็ได้ ๑๑ เหมือนกัน นับอวิชชาอันเป็นมูลเหตุเข้าด้วย จึงเป็น ๑๒.อวิชชาเทียบกันได้กับตัณหาและอุปาทาน โดยฐานเป็นปัจจัยแห่งกรรมด้วยกัน. สังขารเทียบกันได้กับกรรมภพ โดยฐานเป็นหรรมด้วยกัน. วิญญาณเทียบกันได้กับอุปปัตติภพ โดยฐานเป็นปฏิสนธิด้วยกัน. แต่ถ้าภพหมายเอาอุปปัตติภพอย่างเดียว จักไม่ต้องแยกเทียบอย่างนี้ สังขารเป็นอันเข้ากับหมวดอวิชชา. นามรูป สฬายตนะผัสสะ เวทนา เทียบกันได้กับชาติ โดยฐานเป็นชาติด้วยกัน. จึงได้อดีตเหตุ หมวด ๑ ปัจจุบันผล หมวด ๑ ปัจจุบันเหตุ หมวด ๑ อนาคตผล หมวด ๑, อวิชชาและสังขารเป็นอดีตเหตุ วิญญาณนามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นปัจจุบันผล, ตัณหาและอุปาทานเป็นปัจจุบันเหตุ, ชาติและชรามรณะกับปกิรณกทุกข์อื่น อันเนื่องด้วยชาติเป็นอนาคตผล. ๔ หมวดนี้จัดเป็นสังเขป หรือสังคหะละอย่าง ๆ.ย่นเข้าโดยกาลเป็น ๓ อดีตอัทธา กาลหนหลัง ๑ ปัจจุปปันนอัทธากาลยังเป็นอยู่ ๑ อนาคตอัทธา กาลข้างหน้า ๑. มีเงื่อนเรียกว่าสนธิ ๓. เงื่อนในระหว่างอดีตเหตุ และปัจจุบันผลเป็นสนธิ ๑ เรียกเหตุผลสนธิ ต่อเหตุเข้ากับผล. เงื่อนในระหว่างปัจจุบันผล และปัจจุบันเหตุเป็นสนธิ ๑ เรียกผลเหตสนธิ ต่อผลเข้ากับเหตุ. เงื่อนในระหว่างปัจจุบันเหตุกับอนาคตผล จัดเป็นสนธิ ๑ เรียกเหตุผลสนธิ ต่อเหตุเข้ากับผล. และเหตุแยกประเภทออกไปเป็น ๒, ส่วนกิเลส ๑ส่วนกรรม ๑, อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นส่วนกิเลส สังขารและกรรมภพ เป็นส่วนกรรม. จึงย่นเข้าอีกนัยหนึ่ง เป็นไตรวัฏฏ์ คือวน ๓ กิเลสวัฏฏ์ ๑ กัมมวัฏฏ์ ๑ วิปากวัฏฏ์ คือส่วนที่เป็นผล ๑. เหตุไฉน ท่านจึงเรียงหมวดเหตุและหมวดผลใน ๓ กาล หรือในสังเขป ๔ ต่างชื่อกันไป เช่นเรียงอดีตเหตุ เป็นอวิชชาและสังขารเรียงปัจจุบันเหตุ เป็นตัณหาอุปาทานและกรรมภพ เรียงปัจจุบันผลเป็นวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เรียงอนาคตผลเป็นชาติและชรามรณะกับปกิรณกทุกข์ เป็นข้ออันจะพึงสันนิษฐานไม่เข้าใจอธิบายของท่าน ย่อมฉงนและเข้าใจยาก. ในเบื้องต้น ถ้าเทียบกับเข้าดังกล่าวแล้ว ทำความเข้าใจเป็นอันเดียวกันเสีย โดยฐานเป็นเหตุเป็นผลเหมือนกัน จักได้ความกระจ่างออก. วิบากในอนาคตจักมี ก็เพราะกิเลสและกรรมในปัจจุบันเป็นเหตุ กิเลสและกรรมในปัจจุบันมีอยู่ก็เพราะวิบากในปัจจุบัน กล่าวคือต้องอิงอุปาทินนกสังขาร วิบากในปัจจุบันมีขึ้น ก็เพราะกิเลสและกรรมในอดีตเป็นเหตุสาวทวนเข้าไปก็วนอยู่อย่างนี้ เป็นแต่ท่านยอมรับว่าสาวทวนเข้าไปไม่ถึงเงื่อนต้น มีคำบาลีรับสมว่า อวิชฺชาย ภิกฺขเว ปุทฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ จึงกล่าวตั้งต้นแต่อวิชชา ดังจะแสดงว่า วิบากคือชาติต้นนั้นมีขึ้น เพราะปัจจัยอะไรที่ยังไม่รู้. แต่มีสังขารอยู่ในลำดับแห่งอวิชชาน่าจะเข้าใจว่าสังขารนั้น หมายเอาสภาพอันแต่งวิบากคือชาติต้นนั้นที่ลักทธิถือว่ามีผู้สร้าง อ้างว่าพระเจ้า เขาจัดเอาเป็นต้น ไม่สาวเข้าไป อีก ฝ่ายพุทธศาสนาสาวเข้าไปอีกต่อหนึ่งถึงอวิชชา คือปัจจัยอะไรที่ยังไม่รู้ หากจะสาวทวนเข้าไปอีก อวิชชามาจากไหน ก็ต้องตอบว่า มาจากอวิชชาในลำดับเข้าไป สาวทวนเข้าไปเท่าไรก็ลงอวิชชานั้นเอง จึงตั้งอวิชชาเป็นต้น. ในหมวดปัจจุบันเหตุ จักกล่าวถึงอวิชชาและสังขารมิได้ ท่านจึงเรียงตัณหา อุปาทาน และกรรมภพเข้าไว้แทน เพื่อแสดงเหตุในระหว่าง ๆ. ท่านแสดงปัจจุบันผล คือวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เพื่อให้รู้จักความโยงกันแห่งสภาวธรรม อันเป็นลักษณะแห่งปฏิจจสมุปบาท ส่วนในหมวดอนาคตผล ท่านยังแสดงอุปปัตติภพและชาติไว้แทนนั้น เพราะจะตัดตอนลง จึงกล่าวถึงชรามรณะเป็นเงื่อนปลาย คู่กับอวิชชาเป็นเงื่อนต้น เป็นทางจะชวนให้ปรารภเป็นอารมณ์สาวทวนเข้าไปหาเหตุ จำเป็นอยู่เองที่ต้องกล่าวโดยสมมติไปตามกัน จึงได้เรียงอุปปัตติภพและชาติไว้แทน.แต่เมื่อทำยอมลงไปแล้วว่าสาวทวนเข้าไปไม่ถึงเงื่อนต้น จึงนำความเข้าใจอวิชชาเพียงชั้นโมหะ เข้าในสังขารเพียงชั้นกรรม เพราะอย่างนี้ ท่านจึงแนะให้เข้าใจว่า เมื่อกล่าวถืออดีตเหตุ คืออวิชชากับตัณหา พึงเข้าใจตลอดถึงตัณหาอุปาทานและกรรมภพด้วย เพราะสัตว์อันอวิชชาครอบงำ จำต้องมีตัณหาและอุปาทาน ทำอะไรเป็นกรรม เมื่อกล่าวถึงปัจจุบันเหตุ คือตัณหา อุปาทาน กรรมภพ พึงเข้าใจตลอดถึงอวิชชาและสังขารด้วย เพราะสัตว์ยังมีตัณหาอุปาทานทำกรรม ก็เพราะอวิชชาครอบงำและสังขารแต่ง เมื่อกล่าวถึงวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ พึงเข้าใจย่นถือเอาโดยสมมติว่าอุปปัตติภพชาติและชรามรณะ เพราะเกิดแล้วดับไป เมื่อกล่าวถึงอุปปัตติภพชาติและชรามรณะ พึงเข้าใจขยายออกเป็นสภาวธรรมโดยปรมัตถ์เพราะเกิดตายเป็นอาการเดียวกับเกิดดับ เช่นนี้จึงได้อาการครบ ๕ ทุกหมวด เป็นอาการ ๒๐ ถ้วน. นี้เป็นภาคอันหนึ่ง เรียกสมุทยวาร. อีกภาคหนึ่งแสดงความดับแห่งผล เพราะดับแห่งเหตุ เรียกนิโรธวาร แสดงพอเป็นนิทัสสนะดังนี้ :-เพราะอวิชชาดับ สังขารดับ ฯลฯ เพราะชาติดับ ชรา มรณะโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ดับ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลดับ ด้วยประการอย่างนี้ นี้เป็นอนุโลม. ชรา มรณะฯลฯ ดับ เพราะชาติดับ ฯลฯ สังขารดับ เพราะอวิชชาดับ นี้เป็นปฏิโลมรวม ๒ ภาคนี้เป็นปฏิจจสมุปบาท แปลว่า สภาพอันอาศัยกันเกิดขึ้น.ชื่อนี้ดูเหมือนเพ่งเพียงอุทยวารเท่านั้น เมื่อใช้เรียกครอบมาถึงนิโรธวารด้วย จัดว่าเป็นชื่อเรียกโดยเอกเสสนัย. ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นความรู้อย่างลึก และให้รู้จักกำหนดสภาพ อันเป็นทั้งผลทั้งเหตุเนื่องเป็นสายกันไปวนกันไป เหมือนลูกโซ่อันเกี่ยวคล้องกันเป็นสายผูกวงเครื่องจักรฉะนั้น.
(๑๒๑) กรรม ๑๒
หมวดที่ ๑
ให้ผลตามคราว
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพนี้.
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลต่อเมื่อเกิดแล้วในภพหน้า.
๓. อปราปเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพสืบ ๆ.
๔. อโหสิกรรม กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว.
หมวดที่ ๒
ให้ผลตามกิจ
๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด.
๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน.
๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น.
๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน.
หมวดที่ ๓
ให้ผลตามลำดับ
๙. ครุกรรม กรรมหนัก.
๑๐. พหุลกรรม กรรมชิน.
๑๑. อาสันนกรรม กรรมเมื่อจวนเจียน.
๑๒. กตัตตากรรม กรรมสักว่าทำ.
วิ. กงฺขา. ตติย. ๒๒๓.
อธิบาย: กรรมเหล่านี้ ได้ทั้งในฝ่ายกุศล ทั้งในฝ่ายอกุศล. กรรมที่ ๑ ท่านว่าเป็นกรรมแรง จึงให้ผลทันตาเห็น ผู้ทำได้เสวยผลในอัตภาพนั่นเอง แต่เมื่อผู้ทำถึงมรณะไปเสียก่อนถึงคราวให้ผล ย่อมเป็นอโหสิกรรม.กรรมที่ ๒ เพลาลงมกว่ากรรมที่ ๑ จักให้ผลได้ต่อเมื่อผู้ทำเกิดแล้วในภพเป็นลำดับ พ้นจากนั้นแล้ว เป็นอโหสิกรรม.กรรมที่ ๓ เพลาที่สุด จักอาจให้ผลต่อเมื่อพ้นภพหน้าแล้ว ได้ช่องเมื่อใด ย่อมให้ผลเมื่อนั้น กว่าจะเป็นอโหสิกรรม ท่านเปรียบไว้เหมือนสุนัขไล่เนื้อ ไส่ตามเนื้อทันเข้าในที่ใด ย่อมเข้ากัดในที่นั้น.กรรมที่ ๔ เป็นกรรมล่วงคราวแล้วเลิกให้ผล เปรียบเหมือนพืชสิ้นยางแล้ว เพราะไม่ขึ้น. นี้จัดตามคราวที่ให้ผล.กรรมที่ ๕ สามารถยังผู้ทำผู้เคลื่อนจากภพหนึ่ง แล้วให้ถือปฏิสนธิในภพอื่น ท่านจึงเรียกว่าชนกกรรม เปรียบด้วยบิดาผู้ยังบุตรให้เกิด ได้แก่ "กมฺมโยนิ" กรรมเป็นกำเนิด ในที่อื่น ต่อนั้นไปสิ้นหน้าที่.กรรมที่ ๖ ไม่อาจแต่งปฏิสนธิเอง ต่อเมื่อชนกกรรมแต่งปฏิสนธิแล้วจึงเข้าสนับสนุนส่งเสริม เปรียบเหมือนแม่นมผู้เลี้ยงทารกอันคนอื่นให้เกิดแล้ว ท่านจึงเรียกว่าอุปัตถัมภกกรรม ได้แก่ "กมฺมพนฺธุ" กรรมเป็นพวกพ้อง ในที่อื่น. กรรมนี้เป็นสภากับชนกกรรม ถ้าชนกกรรมเป็นกุศลแต่งปฏิสนธิข้างดี อุปัตถัมภกกรรมย่อมเข้าสนับสนุนทารกผู้เกิดแล้ว ให้ได้สุขได้ความเจริญรุ่งเรืองจนอวสาน ได้ในลักษณะว่า"โชติ โชติปรายโน" รุ่งเรืองมาแล้วมีรุ่งเรืองไปภายหน้า ถ้าชนกกรรมเป็นอกุศลแต่งปฏิสนธิข้างเลว อุปัตถัมภกกรรมย่อมซ้ำเติมเมื่อเกิด แล้วให้หายนะหนักลง เข้าในลักษณะว่า "ตโม ตมปรายโน" มืดมาแล้ว มีมือไปภายหน้า. จะเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า ชนกกรรมได้แก่กรรมที่เป็นเดิม อุปัตถัมภพกรรม ได้แก่กรรมทำเพิ่มพูนหรือซ้ำเติม ก็ไม่ผิด.กรรมที่ ๗ เป็นวิสภาคแห่งชนกกรรม เมื่อชนกกรรมแต่งปฏิสนธิแล้ว เข้าบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมไม่ให้เผล็ดเต็มที่ ถ้าชนกกรรมเป็นกุศลแต่งปฏิสนธิข้างดี กรรมนี้ก็เข้าบีบคั้นให้ทุรพลลง เข้าในลักษณะว่า "โชติ ตมปรายโน" รุ่งเรือมาแล้ว มีมืดไปภายหน้า ถ้าชนกกรรมเป็นอกุศลแต่งปฏิสนธิข้างเลว กรรมนี้เข้าเกียดกันให้ทุเลาขึ้นเข้าในลักษณะว่า "ตโม โชติปรายโน" มืดมาแล้ว มีรุ่งเรืองไปภายหน้า ท่านจึงเรียกว่า อุปปีฬกกรรม กรรมนี้บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมฉันใด พึงเห็นว่าบีบคั้นผลแห่งอุปัตถัมภกกรรมฉันนั้น.กรรมที่ ๘ เป็นวิสภาคแห่งชนกกรรมและอุปถัมภกกรรมเหมือนกัน เป็นสภาคแห่งอุปปีฬกกรรม แต่รุนแรงกว่า ย่อมตัดรอนผลแห่งชนกกรรม และอุปัตถัมภกกรรมให้ขาดเสียทีเดียว เข้าให้ผลแทนที่ ท่านจึงเรียกว่า อุปฆาตกกรรม. นี้จัดตามกิจที่เป็นหนักงาน. กรรมที่ ๙ เป็นหนักที่สุดกว่ากรรมอย่างอื่น จึงเรียกว่าครุกรรมในฝ่ายอกุศล ท่านจัดเอาอนันตริยกรรมเป็นครุกรรม ในฝ่ายกุศลท่านจัดเอาสมาบัติ ๘. กรรมนี้มีอยู่ย่อมให้ช่องให้ผลก่อน เปรียบเหมือนคนอยู่บนที่สูง เอาชิ้นต่าง ๆ เหล็กบ้าง ศิลาบ้าง กระเบื้องบ้าง ไม้บ้างกระดาษบ้าง ขนนกบ้าง สิ่งอื่นบ้าง ทิ้งลงมา สิ่งไหนหนักที่สุดสิ่งนั้นย่อมตกถึงพื้นก่อน สิ่งอื่น ๆ ย่อมตกถึงพื้นตามลำดับน้ำหนัก ของมัน.กรรมที่ ๑๐ ได้แก่กรรมอันเคยทำมามากทำมาจนชิน ท่านเรียกว่าพหุลกรรม. อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าอาจิณณกรรม ด้วยอรรถว่าเคยประพฤติมา. กรรมนี่แลเป็นอาเสวนปัจจัย คือการส้องเสพเป็นเหตุได้อย่างหนึ่ง เมื่อครุกรรมไม่มี ย่อมให้ผลก่อนกรรมอย่างอื่น ท่านเปรียบไว้เหมือนคนมวยปล้ำกัน คนใดมีแรงกว่าว่องไวกว่าคนนั้นย่อมชนะ. กล่าวเพื่อเข้าใจง่าย เมื่อกรรมอันผาดโผนไม่มีผู้ทำย่อมปรากฏด้วยกรรมอันตนทำมามาก เช่นผู้ร้ายปล้นทำมาตุฆาตหรือปิตุฆาต ย่อมต้องโทษเพราะกรรมอย่างหลังอันรุนแรงก่อน ต่อไม่ได้ทำกรรมอย่างหลังนั้น จึงต้องโทษเพราะทำกรรมอย่างก่อน.กรรมที่ ๑๑ ได้แก่กรรมอันทำเมื่อจวนตาย ท่านเรียกว่าอาสันนกรรม. เมื่อพหุลกรรมไม่มี คือผู้ทำไม่ได้ทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไว้จนชิน จนถึงออกชื่อเลื่องลือว่ามักเป็นอย่างนั้น ๆ กรรมนี้แม้ทุรพลอย่างไรก็ตามย่อมให้ผล ท่านเปรียบไว้เหมือนโคอันแออัดอยู่ในคอก พอนายโคบาลเปิดประตูคอก โคใดอยู่ริมประตูคอก แม้เป็นโคแก่ทุรพล ย่อมออกได้ก่อนโคอยู่ในเข้าไปแม้แข็งแรงกว่า, เปรียบให้เข้าใจง่าย อีกอย่างหนึ่ง จรรยาของผู้ตายจากไปก่อน ย่อมจับใจของผู้อยู่ข้างหลังมากกว่าจรรยาในคราวก่อน ๆ ที่ไม่ผาดโผน ที่ไม่ชินในเวลานี้ ทำดี ก็ไว้อาลัยมาก ทำเสีย ก็ทำวิปฏิสารมาก.กรรมที่ ๑๒ ได้แก่กรรมอันทำด้วยไม่จงใจ ท่านเรียกกตัตตากรรมบ้าง เรียกกตัตตาวาปนกรรมบ้าง ตามบาลีว่า กตตฺตา วา ปน ฯ เป ฯ ที่ปรารภกล่าวอีกประการหนึ่ง, ต่อกรรมอื่นไม่มี จึงถึงวาระแห่งกรรมนี้จะให้ผล. และผลแห่งกรรมนี้ให้ เป็นแต่พอดีพอร้าย ท่านเปรียบไว้เหมือนลูกศรอันคนบ้ายิง. ตัวอย่าง โทษอันมีแก่คนผู้ทำเขาตายด้วยเลินเล่อ. กรรมนี้ผิดหลักบาลีพระสูตร* ว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ซึ่งแปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม แต่ผลย่อมอาจมีได้จริงตามนี้ ในพระอภิธรรมท่านจึงบัญญัติขึ้นไว้. ในทางพระวินัยภิกษุไม่จงใจ แต่ทำฝืนสิกขาบทถูกปรับอาบัติก็มี. อาบัติประเภทนี้ เรียกอจิตตกะ. ถ้าถือตามหลักบาลีพระสูตรนั้น ความเข้าใจจะพึงมีว่า กรรมนี้ได้แก่กรรมอันผู้ทำมีเจตนาไม่ถึงนั้น แต่ทำเกินเจตนาไป ตัวอย่างเช่น มีเจตนาเพียงจะเฆี่ยนเขา แต่เขถูกเฆี่ยนแล้วตาย ในกฎหมายจัดเป็นฆ่าคนตายโดยไม่มีเจตนา วางโทษเบากว่าฆ่าโดยจงใจ แต่ในพระวินัยไม่ปรับเป็นมนุสสวิคคหะ ปรับเพียงให้ประหารเท่านั้น.การบัญญัติกรรมนั้น เนื่องมาจากถือว่า ผลย่อมเผล็ดจากเหตุและในพระสูตร เพ่งเฉพาะเหตุภายใน วางบาลีไว้เป็นหลักอย่างนั้นเข้าใจว่าเพื่อจะจำกัดลงให้พอวิสัยที่จะระวังได้ เพราะผลอันจะพึงเผล็ดจากเหตุภายนอก เป็นอันพ้นวิสัยที่จะพึงป้องกันด้วยประการทั้งปวง.และการจำแนกกรรมออกไปเป็นต่างอย่างนั้นเล่า เข้าใจว่าเพื่อจะห้ามความเห็นสับปลับแห่งกรรม เป็นอันสนับสนุนมตินั้น เป็นฐานะอยู่
องฺ. จตุกฺก. ๒๒/๔๖๔.
ที่คนผู้หนึ่งทำกรรมไว้ทั้งเป็นบุญ ทั้งที่เป็นบาป กรรมต่างอย่างต่าง ให้ผลตามคราวที่ได้ช่อง หรือหลายคนทำกรรมอย่างเดียวกัน ได้ผลยิ่งหย่อนกว่ากัน หรือบางคนทำกรรมอย่างหนึ่งไว้แล้ว ยังไม่ปรากฏว่าได้เสวยผลแห่งกรรมนั้นจะตายไปแล้ว หรือบางคนได้เสวยผลที่ไม่ปรากฏว่าเพราะได้ทำกรรมอะไรไว้ ไม่คำนึงให้รอบคอบด้วยสติ อาจเห็นเป็นสับปลับ ไม่ได้จริง แล่นไปสู่อกิริยทิฏฐิก็ได้ เมื่อเข้าใจกรรมวิภาคอย่างนี้แล้ว จะได้มั่นอยู่ในกัมมัสสกตาสัทธา ประพฤติอยู่ในคลองธรรมที่ชอบ.
(๑๒๒) ธุดงค์ ๑๓
๑. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร.
๒. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร.
๓. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร.
๔. สปทานจาริกกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร.
๕. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร.
๖. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร.
๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตอันนำมาถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร.
๘. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร.
๙. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร.
๑๐. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ในที่แจ้ง ๆ เป็นวัตร.
๑๑. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร.
๑๒. ยถาสันถติกังคะ ถือการอยู่ในเสนาสนะอันท่านจัดให้อย่างไร.
๑๓. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร.
ขุ. มหา. ๒๙/๕๘๔. วิ. ธุตงฺค. ปฐม. ๗๔
อธิบาย:ธุดงค์นี้ เป็นวัตตจริยาพิเศษอย่างหนึ่ง ตามแต่ใครจะสมัครถือ ไม่ใช่กินจำเป็น บัญญัติขึ้นด้วยหมายจะให้เป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ แจกเป็น ๑๓ ประเภท และจัดเป็น ๔ หมวด ดุจเรียงไว้ข้างต้น.ภิกษุผู้ถือปังสุกูลิกังคะ ย่อมไม่รับคหปติจีวร เที่ยวแสวงหาเฉพาะผ้าบังสุกุล เอามาทำจีวรใช้. ภิกษุผู้ถือเตจีวริกังคะ ย่อมไม่ใช้จีวรผืนที่ ๔ นุ่งห่มเฉพาะไตรจีวรอันเป็นผ้าอธิษฐาน. ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกังคะ ย่อมไม่รับอติเรกลาภ ฉันเฉพาะอาหารอันเที่ยวบิณฑบาตได้มา. ภิกษุผู้ถือสปทานจาริกังคะ ประพฤติวัตรเหมือนภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกังคะ แต่อุกฤษฏ์กว่า รับตามแถวอันเดียว เช่นข้างขวามือหรือข้างซ้ายมือ ไม่รับข้ามแถว หรือในแถวเดียว ไม่รับข้ามราย ฝ่ายภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกังคะ ย่อมรับข้ามแถว. ภิกษุผู้ถือเอกาสนิกังคะ ย่อมถือนั่งฉัน ณ ที่แห่งเดียวลุกจากที่แล้ว ไม่ฉันอาหารอีกในวันนั้น โดยความก็คือถือฉันอาหารเพียงวันละหน. ภิกษุผู้ถือปัตตปิณฑิตกังคะ ไม่ใช้ภาชนะรองของฉันตั้งแต่ ๒ ใบขึ้นไป ย่อมฉันเฉพาะของในบาตรเท่านั้น. ภิกษุผู้ถือขลุปัจฉาภัตติกังคะ เมื่อลงมือฉันแล้ว มีผู้นำอาหารมาถวายไม่รับ ถูกเข้าเช่นนั้น ชื่อว่าห้ามอาหารแล้ว เป็นอันฉันได้แต่ มื้อเดียว. ภิกษุผู้ถืออารัญญิกังคะ ย่อมไม่อยู่แรมคืนในบ้าน ย่อมอยู่แรมคืนในป่า ที่ห่างจากบ้านคน โดยกำหนดที่สุด ๕๐๐ ชั่วธนูคือ ๒๕ เส้นตามทางเดินโดยปกติ. ภิกษุผู้ถือรุกขมูลิกังคะ เป็นประเภทของภิกษุผู้ถืออารัญญิกังคะนั้นเอง ไม่ทำกุฏิอยู่ ย่อมอยู่ตามโคนไม้. ภิกษุผู้ถืออัพโภกาสิกังคะ ก็เป็นประเภทของภิกษุผู้ถืออารัญญิกังคะเหมือนกัน แม้ตามโคนไม้ก็ไม่อยู่ ย่อมอยู่ในที่แจ้ง ๆ ที่เข้าใจว่าเที่ยวหลบแดดอยู่ตามเงาแห่งภูเขาและชายไม้เป็นต้น.๒ องค์นี้คงถือได้เฉพาะกาล เพราะในพรรษาจำจะต้องถือเสนาสนะตามวินัยนิยม. ภิกษุผู้ถือโสสานิกังคะ ย่อมอยู่แรมคืนในป่าช้า.ภิกษุผู้ถือยถาสันถติกังคะ ย่อมไม่ทำความอาลัยในเสนาสนะที่อยู่อันเป็นที่สบายถูกใจ ได้เสนาสนะไม่เป็นที่สบายไม่ถูกใจ ไม่แส่หาเสนาสนะอื่น ภิกษุผู้เป็นเสนาสนคาหาปกะ จัดให้อยู่ ณ เสนาสนะใด ย่อมอยู่ ณ เสนาสนะนั้น แม้ถูกย้ายเสนาสนะในอุตุกาลย่อมไม่ขัดขืน. ภิกษุผู้ถือเนสัชชิกังคะ ย่อมไม่เอนหลังลงนอนสำเร็จอิริยาบถเพียง ๓ นั่งกับยืนและเดินเท่านั้น. องค์นี้เป็นอาการฝืนธรรมดา สำเร็จความสันนิษฐานว่า ถือได้ชั่วเวลาเท่านั้น,มีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า พระจักขุบาลถือตลอดพรรษาถึงเสียจักษุ.การถือธุดงค์นี้ สำเร็จด้วยการสมาทาน คือ ด้วยอธิษฐานใจหรือแม้ด้วยเปล่งวาจา. คำสมาทานนั้นดังนี้ :-
๑. สำหรับปังสุกูลิกังคะว่า "คหาปติจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ." แปลว่า "เราดคฤหบดีจีวรเสีย สมาทานองค์ของ ผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร."
๒. สำหรับเตจีวริกังคะว่า "จตุตฺถจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ." แปลว่า "เรางดจีวรผืนที่ ๔ เสีย สมาทานองค์ของผู้ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร."
๓. สำหรับปิณฑปาติกังคะว่า "อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ, ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ. " แปลว่า "เรางดอติเรกลาภเสียสมาทานองค์ของผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร."
๔. สำหรับสปทานจาริกังคะว่า "โลลุปฺปจารํ ปฏิกฺขิปามิ, สปทานจาริกงฺคํ สมาทิยามิ." แปลว่า "เรางดการเที่ยวโลเลเสียสมาทานองค์ของผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร."
๕. สำหรับเอกาสนิกังคะว่า "นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ,เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ." แปลว่า "เรางดการฉัน ณ ต่างอาสนะเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร."
๖. สำหรับปัตตปิณฑิกังคะว่า "ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ สมาทิยามิ." แปลว่า "เรางดภาชนะที่ ๒ เสียสมาทานองค์ของผู้ถือการฉันเฉพาะในบาตเป็นวัตร."
๗. สำหรับขลุปัจฉาภัตติกังคะว่า "อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ,ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ." แปลว่า "เรางดโภชนะอันเหลือเพื่อเสีย สมาทานองค์แห่งผู้ห้ามภัตอันนำมาถวายเมื่อภายหลังเป็น วัตร."
๘. สำหรับอารัญญิกังคะว่า "คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ,อารญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ." แปลว่า "เรางดเสนาสนะชายบ้านเสียสมาทานองค์แห่งผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร."
๙. สำหรับรุกขมูลิกังคะว่า "ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ, รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ." แปลว่า "เรางดที่มุงที่บังเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร."
๑๐. สำหรับอัพโภกาสิกังคะว่า "ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ, อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ." แปลว่า "เรางดที่มุงที่บังและโคนไม้เสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่ในที่แจ้ง ๆ เป็นวัตร."
๑๑. สำหรับโสสานิกังคะว่า "อสุสานํ ปฏิกฺขิปามิ, โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ." แปลว่า "เรางดที่ไม่ใช่ป่าข้าเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร."
๑๒. สำหรับยถาสันถติกังคะว่า "เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ, ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ." แปลว่า "เรางดความโลเลในเสนาสนะเสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ในเสนาสนะอันท่านจัดให้อย่างไร."
๑๓. สำหรับเนสัชชิกังคะว่า "เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ, เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "เรางดการนอนเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการนั่งเป็นวัตร."
ท่านผู้ถือธุดงค์เหล่านี้ ย่อมประพฤติยิ่งหย่อนกว่ากันก็มี จึงจัดประเภทได้เป็น ๓ อย่างเคร่ง อย่างกลาง อย่างเพลา. เรียก อีกโวหารหนึ่ง อย่างอุกฤษฏ์ อย่างมัธยม อย่างทราม. ภิกษุผู้ถือปังสุกูลิกังคะอย่างเคร่ง เที่ยวเลือกเก็บผ้าบังสุกุลแท้ ๆ คือผ้าอันเขาทิ้งเสียจริง ๆ สงเคราะห์เข้าในพวกหยากเยื่อมาทำจีวรใช้.ผู้ถืออย่างกลาง ย่อมเก็บแก้ซึ่งผ้าอันคนปรารถนาบุญทอดไว้เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุผู้ถือธุดงค์นี้ แต่มิได้นิยมเฉพาะรูป เช่นผ้าป่าและผ้าทอดไว้ที่ศพ. ผู้ถืออย่าเพลา ย่อมถือเอาผ้าเช่นนั้น แม้อันเขานิยมเฉพาะตน แต่มิได้ถวายด้วยกายและมิได้รับด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่นผ้าป่าและผ้าบังสุกุลอันเขานำมาทอดไว้เฉพาะหน้า. มีปุจฉาสอดเข้ามาว่า ภิกษุอุปสมบท สมาทานปังสุกูลิกธุดงค์ในบัดนั้น หรือจะต้องรออยู่จนหาผ้าบังสุกุลมาทำไตรจีวรครบแล้ว. พระมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ว่า ไตรจีวรของภิกษุอุปสมบทนั้น ไม่จัดว่าเป็นคหบดีจีวร เป็นของอันพระอุปัชฌายะมอบให้ จัดเป็นสมณจีวร ตั้งแต่เธอผู้อุปสมบทแล้ว ไม่รับคหบดีจีวร สมาทานปังสุกูลิกธุดงค์ได้ ต่อไปจะเปลี่ยนไตรจีวร ต้องแสวงหาผ้าบังสุกุลมาทำ พระมติของท่านได้รับความรับความรับรองของพระเถระฝ่ายธรรมยุตติกนิกายทั่วไป และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุปสมบท และมีกำหนดทรงอุปสมบทเพียง ๑๕ วัน ได้ทรงสมาทานปังสุกูลิกังคะกับเตจีวริกังคะตามพระมตินี้ด้วย ภิกษุผู้ถือเตจีวริกังคะอย่าเคร่ง ใช้เฉพาะไตรจีวรของตนเท่านั้น โดยที่ สุดจะซักหรือจะย้อมอันตรวาสก ย่อมใช้อุตตราสงค์นุ่งและใช้สังฆาฏิห่ม, ผู้ถืออย่างกลาง ย่อมใช้แม้ซึ่งผ้าของสาธารณเช่นนี้ไว้ใน โรงย้อมสำหรับภิกษุผลัดย้อมผ้า, ผู้ถืออย่างเพลา ย่อมยืมของภิกษุอื่นมาใช้บ้าง ท่านกล่าวความถือยิ่งหรือหย่อนซึ่งธุดงค์นี้ในเวลาย้อมผ้า ข้าพเจ้าเห็นว่า ภิกษุผู้ถืออย่างกลางและอย่างเพลาน่าจะใช้ผ้าเช่นนี้ในเวลาอื่นด้วย เป็นแต่ไม่ใช่ผ้าผืนที่ ๔ ในสิทธิของตนเท่านั้น. มีปุจฉาสอดเข้ามาว่า เมื่อไตรจีวรนั้นเก่าควรเปลี่ยนใหม่ ภิกษุนี้จะพึงปฏิบัติอย่างไร. พระคันถรจนาจารย์อธิบายไว้ว่า ผ้าที่ยังมิได้ทำให้สำเร็จเป็นจีวรจนถึงย้อมแล้ว ยังไม่นับเป็นจีวรที่ ๔ ในธุดงค์นี้. โดยนัยนี้ เธออาจทำจีวรได้โดยสะดวกใจครั้งย้อมแล้วอย่าเพิกใช้ อย่าเก็บไว้ให้ล่วงวัน พึงปัจจุทธรณ์ผ้าเดิมและสละเสียก่อน จึงอธิษฐานใหม่ พึงค่อยทำค่อยผลัดคราวละผืน. ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกังคะอย่างเคร่ง นั่งลงแล้ว คือปลงใจเลิกบิณฑบาตแล้ว มีผู้มาใส่อีก ย่อมไม่รับ, ผู้ถืออย่างกลาง นั่งแล้วยังรับอีก, ผู้ถืออย่างเพลา ย่อมรับนิมนต์คือนัดเพื่อรับบิณฑบาตแม้ในวันพรุ่ง, อย่างเคร่ง กำหนดด้วยไม่รับในเวลากลับ, อย่างกลาง ในเวลากลับ ยังรับ, อย่างเพลา รับนัด แต่ไม่รับนิมนต์เพื่อฉัน อย่างนี้ความจักแจ่ม.
(๑๒๓) จรณะ ๑๕
๑. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล.
๒. อินทริยสังวร สำรวมอินทรีย์.
๓. โภชนมัตตัญญุตา รู้ความพอดีในการกินอาหาร.
๔. ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่.
๕. สัทธา ความเชื่อ.
๖. หิริ ความละอายแก่ใจ.
๗. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผิด.
๘. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ฟังมาก. คือได้รับศึกษา
๙. วิริยะ ความเพียร.
๑๐. สติ ความระลึกได้.
๑๑. ปัญญา ความรอบรู้.
๑๒. ปฐมฌาน ฌานที่หนึ่ง.
๑๓. ทุติยฌาน ฌานที่สอง.
๑๔. ตติยฌาน ฌานที่สาม.
๑๕. จตุตถฌาน ฌานที่สี่.
ม. ม. ๑๓/๒๖.
อธิบาย: สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายไว้ในธรรมภาษิตว่า จรณะนั้น ได้แก่ปฏิปทาคือทางเป็น เครื่องบรรลุวิชชา เป็นศัพท์แปลก เทียบด้วยศัพท์จรณะที่แปลว่าอวัยวะเป็นเครื่องเดิน ได้แก่เท้า ไม่ใช่เรียกปฏิปทาทั่วไป. มรรคมีองค์ ๘ เป็นจรณะแห่งความรู้อริยสัจ ๔ ฌาน ๔ เป็นจรณะโดยลำดับแห่งวิชชา ๓ วิชชาเบื้องต้น เป็นจรณะแห่งวิชชาเบื้องปลายในเสขปฏิปทาสูตรแสดงจรณะเป็นสาธารณะ โดยชื่อว่าเสขปฏิปทาคือทางดำเนินแห่งพระเสขะ. ในเสขปฏิปทาสูตร แสดงไว้โดยบุคคลาธิษฐาน ถือเอาความในนิทเทสแห่งสูตร โดยธรรมาธิษฐาน ดังนี้ :-
๑. สีลสัมปทา ได้แก่การสำรวมในปาฏิโมกข์ ประกอบด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในความผิดแม้น้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย.
๒. อินทริยสังวร ได้แก่การสำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา, หู,จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ไม่ให้ความยินดียินร้ายครอบงำ ในเมื่อตาเห็นรูปเป็นต้น.
๓. โภชนมัตตัญญุตา ได้แก่ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการกินอาหารแต่พอสมควร ไม่มากไม่น้อย พิจารณาแล้วจึงกินอาหารและเพ่งประโยชน์อันจักเกิดแต่อาหารนั้น ไม่บริโภคโดยสะเพร่าและโดยอำนาจความมักกินเป็นต้น.
๔. ชาคริยานุโรค ได้แก่การประกอบความเพียร ไม่เห็นแก่ หลับนอนเกินไป หรือไม่ยอมให้ความง่วงเหงาซบเซาเข้าครอบงำท่านแสดงไว้ว่า กลางวันชำระจิตจากนีวรณ์ด้วยเดินบ้าง นั่งบ้างตลอดวัน. กลางคืน แบ่งเป็น ๓ ยาม ยามต้น ชำระจิตอย่างนั้น,ยามกลาง พักผ่อน นอนตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะมนสิกาสัญญาว่าจะลุกขึ้น, ยามที่สุด ลุกขึ้นทำความเพียรอย่างยามต้น.ในบาลีไม่ได้กำหนดไว้ว่า ยามละกี่โมง แต่ในอรรถกถามโนรถปูรณีแสดงว่า คืนและวัน แบ่งเป็น ๖ ส่วน. ตื่นทำความเพียร ๕ ส่วน นอนหลับ ๑ ส่วน คือตื่น ๒๐ ชั่วโมง หลับ ๔ ชั่วโมง.พิจารณาดูว่า เวลาที่หลับน้อยนัก ไม่น่าจะพอ แต่ท่านผู้ทำความสงบเช่นนั้น ไม่ได้ทำกิจการหยาบ หลับเท่านั้นจะพอกระมัง ?ขอนักปฏิบัติธรรมจงพิจารณาดูเถิด.
๕. สัทธา ได้แก่ความเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคต ตามนัยแห่งบทพุทธคุณ น่าจะหมายความว่าเชื่อเหตุผล ส่วนในอรรถกถาแจกสัทธาเป็น ๒ คือ กัมมสัทธา เชื่อกรรม ๑ วิปากสัทธา เชื่อผลแห่งกรรม ๑ ยังไม่พบว่า แบ่งสัทธาเป็น ๓ หรือ ๔ ไว้ในคัมภีร์ไหนน่าจะเก็บรวบรวมขึ้นโดยนัยบาลีและอรรถกถานั้น ๆ.
๖. หิริ ได้แก่ความละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต.ในอรรถกถาเปรียบด้วยหญิงสาวผู้มีสกุลไม่อาจแตะต้องของโสโครก น่า จะถือเอาความว่า สยะแสยงต่อเหตุ คือบาปทุจริต.
๗. โอตตัปปะ ได้แก่ความเหรงกลัวความผิดและความชั่วโดยนัยแห่งหิริ. ในอรรถกถาเปรียบด้วยคนขลาด ไม่กล้าเข้าใกล้อสรพิษ น่าจะถือเอาความว่า กลัวผลแห่งบาปทุจริต.
๘. พาหุสัจจะ ได้แก่ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก คือได้ฟังธรรมซึ่งไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง.
พหุสุตมีองค์ ๕ คือ :-
[๑] พหุสฺสุตา ได้ยินได้ฟังมาก.
[๒] ธตา ทรงจำได้.
[๓] วจสา ปริจิตา ท่องไว้ด้วยวาจา.
[๔] มนสานุเปกฺขิตา เอาใจจดจ่อ.
[๕] ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา ขบด้วยทิฏฐิ.
๙. วิริยะ ได้แก่เพียรละอกุศลธรรมและยังกุศลธรรมให้เกิดใช้กำลังบากบั่น ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม.
๑๐. สติ ได้แก่สติรักษาตัว และระลึกถึงกิจที่ทำและคำพูดแล้วแม้นานได้.
๑๑. ปัญญา ได้แก่อริยปัญญาที่รู้ความเกิดความดับแห่งสังขารสามารถชำแรกกิเลสทำให้สิ้นทุกข์ได้.
๑๒. ฌาน ๔ นี้ มีอธิบายแล้วในหมวด ๔ ผู้ปรารถนาพึงดูในหมวดนั้น.