พิธีทำสังฆอุโบสถ สังฆอุโบสถ เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุตามพุทธบัญญัติ พระภิกษุทุกรูปต้องทำอุโบสถกรรมทุกกึ่งเดือน ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นที่มีพุทธานุญาตไว้ จะเว้นหรือขาดการกระทำเสียมิได้ อุโบสถกรรมนี้ ต้องทำในสีมาชนิดใดชนิดหนึ่งตามพระวินัย วัดส่วนมากมีพัทธสีมาประจำวัด พระภิกษุทั้งวัดต่างร่วมกันทำภายในเขตพัทธสีมา คือโรงอุโบสถทุกวันอุโบสถ ถ้าวัดไหนยังไม่มีพัทธสีมา และจะกำหนดสีมาชนิดอื่นตามพระวินัย ใช้เป็นเขตสังฆกรรมไม่เหมาะ ก็ให้ไปรวมทำกับสงฆ์วัดใกล้ที่สุด อุโบสถกรรมที่พระภิกษุร่วมกันทำตั้งแต่สี่รูปขึ้นไปเรียกว่า สังฆอุโบสถ ทำเป็นการสงฆ์ ต้องสวดพระปาฏิโมกข์ ในท่ามกลางสงฆ์เป็นหลักของการกระทำ ถ้าพระภิกษุต่ำกว่าสี่รูป ร่วมกันทำเรียกว่า ปาริสุทธิอุโบสถ ทำเป็นการคณะ ห้ามสวดพระปาติโมกข์ ให้พระภิกษุแต่ละรูปบอกความบริสุทธิ์ของตน ๆ เป็นการปฏิญาณตนต่อกันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากอาบัติโทษ เป็นหลักของการทำ ถ้ามีรูปเดียวเท่านั้นเรียกว่า อธิษฐานอุโบสถ ทำเป็นการบุคคล ทำด้วยอธิษฐานใจตนเอง เป็นหลักของการทำ สำหรับอุโบสถกรรมทั้งสามอย่างดังกล่าว สังฆอุโบสถเป็นสำคัญยิ่ง และทำกันเป็นหลักสืบต่อกันมา มีระเบียบแบบแผนที่ถือปฏิบัติเป็นหลัก หลักการทำสังฆอุโบสถ มีอยู่เจ็ดประกอบด้วยกัน ดังนี้ ๑) สังฆอุโบสถต้องทำภายในสีมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ถูกต้องตามพระวินัย ๒) วันที่ทำนั้นเป็นวันดิถีที่ ๑๔ หรือ ๑๕ ทางจันทรคติ หรือเป็นวันสามัคคีตามพระวินัยกำหนด คือต้องเป็นวันกึ่งเดือน วันสิ้นเดือน หรือวันที่สงฆ์ตกลงปรองดองกันวันใดวันหนึ่งจึงทำได้ ๓) ในการทำนั้นมีภิกษุประชุมร่วมกันเป็นสงฆ์ตั้งแต่สี่รูปขึ้นไป ๔) ภิกษุที่ประชุมทำร่วมกันนั้นไม่เป็นผู้ต้องสภาคาบัติ หรือเป็นผู้ต้องสภาคาบัติ แต่ได้สวดประกาศก่อนทำแล้วโดยชอบด้วยพระวินัย ๕) ในที่ประชุมสงฆ์นั้นไม่มีบุคคลที่ว่างเว้นอยู่ภายในหัตถบาส ๖) พระสงฆ์ทั้งนั้นได้ทำบุพกรณ์ และบุพกิจของอุโบสถกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ๗) มีการสวดพระปาฏิโมกข์ให้ได้ฟังทั่วกันในท่ามกลางสงฆ์เป็นกรณียะสุดท้าย ระเบียบพิธี เพราะหลักการทำอุโบสถตามพระวินัยมีดังกล่าว การทำสังฆอุโบสถจึงเกิดมีระเบียบพิธีนิยมกันเป็นหลักทั่ว ๆ ไป ดังนี้ ๑) กำหนดเวลาทำแล้วแต่วันนั้น ๆ จะกำหนดให้ตายตัว ตามความเหมาะสมแก่ท้องถิ่นว่าจะทำในเวลาใด เมื่อกำหนดเวลาทำอุโบสถกรรมในวันอุโบสถไว้ตายตัวแล้ว พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปจะได้มาประชุมทำอุโบสถกรรมร่วมกันได้ตามเวลา ๒) ในวันอุโบสถก่อนถึงเวลากำหนดทำอุโบสถกรรม เจ้าอาวาสจะต้องจัดการให้ปัดกวาดโรงอุโบสถให้สะอาดเรียบร้อย ตั้งหรือปูลาดอาสนะหรือตั้งเตียงสวดพระปาฏิโมกข์ไว้กลางให้พร้อม ตั้งน้ำใช้เช่นน้ำล้างเท้าไว้ในที่ที่ควร และจัดตั้งน้ำฉันไว้ภายในอาสนะสงฆ์ตามสมควรด้วย ถ้าเวลาทำอุโบสถกรรมเป็นเวลาค่ำ ต้องเตรียมประทีปสำหรับตามในโรงอุโบสถไว้ให้พร้อม เมื่อถึงกำหนดเวลาก็ให้ตีระฆังสัญญาณให้พระสงฆ์ทั้งวัดทราบ ๓) ก่อนถึงเวลาทำอุโบสถกรรมเล็กน้อย เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปในวัด ถ้ารูปใดรู้ว่าตนเองมีอาบัติโทษประเภทเทศนาคามินีอยู่ ก็แสดงแก่เพื่อนสหธรรมิกรูปใดรูปหนึ่งเสียให้เรียบร้อย เมื่อได้ยินสัญญาณให้ลงทำอุโบสถกรรมแล้วให้รีบลงไปพร้อมกันในโรงอุโบสถ นั่งภายในอาสนะสงฆ์ตามลำดับอาวุโส หันหน้าไปทางพระพุทธรูปประธานก่อน ๔) เมื่อพร้อมแล้วผู้เป็นประธานสงฆ์ให้พระภิกษุเจ้าหน้าที่จัดการนับจำนวนพระสงฆ์ที่ประชุมในวันนั้น สมัยก่อนนับด้วยติ้ว คือมีราวร้อยไม้ติ้ว ซึ่งทำด้วยซี่ไม้ไผ่จำนวนมากกว่าสงฆ์ที่ประจำในวัดนั้น โดยปกติรูดติ้วไปรวมไว้ซีกของราว ตั้งราวติ้วไว้ท้ายอาสนะสงฆ์ เมื่อพระภิกษุลงมาประชุม ก่อนเข้านั่งยังอาสนะต้องรูดติ้วอันหนึ่งไปทางราวติ้วอีกซีกหนึ่ง การนับจำนวนสงฆ์ที่เข้าประชุมก็จะนับจากไม้ติ้วนี้ แต่ในปัจจุบันใช้บัญชีเรียกชื่อ ซึ่งสะดวกและแน่นอนกว่า ๕) เริ่มทำวัตรเย็นจบแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นล้อมวงนั่งพับเพียบหันหน้าเข้าหาเตียงปาติโมกข์ ซึ่งตั้งอยู่กลางชุมนุม นั่งให้เข่าชิดเข่าของรูปอื่นไปเป็นลำดับ และได้หัตถบาสตั้งแต่เตียงปาติโมกข์ออกไปจนสุดแนวสงฆ์ ควรปิดประตูทางเข้าโรงอุโบสถด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่สังฆกรรมในขณะทำอุโบสถ ๖) เมื่อพร้อมดังนี้แล้ว ก็เริ่มดำเนินการสวดพระปาติโมกข์ตามแบบของวัดนั้น ๆ ไปจนจบ ให้ชอบด้วยพระวินัยทุกประการ ๗) จบพระปาติโมกข์แล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นกระจายออกนั่งเป็นแถว หันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปประธาน พระเถระนำสวดมนต์ต่อท้ายพระปาติโมกข์พอสมควร สวดสีลุทฺเท เป็นหลัก นอกนั้นสุดแต่จะเลือกสวด จบลงด้วยบทกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศล หรือ อิมินา ปญฺญกมฺเมน...เป็นอันเสร็จพิธี ระเบียบทำปาริสุทธิอุโบสถ ท่านห้ามสวดพระปาติโมกข์ ให้บอกความบริสุทธิ์แก่กัน แทนการสวดพระปาติโมกข์ ดังนี้ เมื่อถึงวันอุโบสถ ให้ภิกษุที่มีอยู่สามรูป ประชุมกันในโรงอุโบสถ ช่วยกันทำบุพกรณ์แห่งอุโบสถกรรม และกิจที่สมควรแก่คณะพึงทำให้เสร็จก่อน ให้รูปหนึ่งตั้งญัติประกาศทำปาริสุทธิอุโบสถ เป็นการคณะ แล้วภิกษุเถระพึงคุกเข่าประนมมือ บอกความบริสุทธิ์ของตนตามแบบสามหน ภิกษุนอกนี้พึงทำอย่างเดียวกัน เรียงตัวตามลำดับพรรษา เป็นอันเสร็จ ระเบียบทำอธิษฐานอุโบสถ ให้ทำกิจที่ควรทำในการทำอุโบสถกรรมนั้นก่อน แล้วรอภิกษุจากที่อื่นจะมีมาร่วมด้วยบ้างจนหมดเวลา เห็นว่าไม่มีใครมาแล้ว ให้อธิษฐานใจของตนเองว่า อชฺช เม อุโปสโถ แปลว่า วันนี้อุโบสถของเรา เพียงเท่านี้เป็นอันเสร็จพิธี ภิกษุจะเลือกทำอุโบสถกรรมที่ง่ายกว่าที่ยากไม่ควร มีห้ามไว้ว่า อย่าได้ปลีกตัวไปไหน แม้ในอาวาสที่ไม่มีภิกษุพอสวดพระปาติโมกข์ได้ ก็ให้พระเถระจัดส่งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไปเรียนมาจากสำนักอื่น ถ้าจัดการไม่สำเร็จตามนี้ ท่านห้ามไม่ให้จำพรรษาอยู่ในที่นั้น แต่ข้อนี้ถ้าอาจจะไปรวมทำสังฆอุโบสถในอาวาสอื่นได้ ตามกำหนดก็ไม่ห้ามเด็ดขาด จะจำพรรษาอยู่ในอาวาสนั้นก็ควร http://www.buddhadham.com/index.php?mo=3&art=243528 http://www.jariyatam.com/th/buddhist-ceremony/merit-ceremony/86-2009-06-24-14-16-04 |
พิธีทำสังฆอุโบสถ
