สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศีล 5 จริยธรรมพื้นฐานสำหรับการเป็นมนุษย์

ศีล 5 จริยธรรมพื้นฐานสำหรับการเป็นมนุษย์

ศีล 5 จริยธรรมพื้นฐานสำหรับการเป็นมนุษย์

ศีล 5 ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เบญจศีล นั้น ชาวพุทธเราเอาแต่ท่อง ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว หาผู้ปฏิบัติได้ครบทุกข้อค่อนข้างยาก นั่นอาจเป็นเพราะว่าเรามีทัศนคติในเชิงลบต่อศีล 5 ว่าเป็นข้อห้าม หรือเป็นกฏทางจริยธรรมที่พระมอบให้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับชีวิตของตนโดยตรง จึงไม่อยากนำมาปฏิบัติ แต่แท้ที่จริงนั้น ศีล 5 ไม่ใช่ข้อห้าม หากแต่เป็น "ข้อฝึกปฏิบัติ" (สิกขาบท) ที่เราทุกคนโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นชาวพุทธ ขอเพียงแค่เป็นมนุษย์เท่านั้น ก็ควรจะรับมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อฝึกหัดพัฒนาชีวิตให้ดีงามล้ำเลิศในทุก ๆ ด้าน

ศีล 5 นี้ ในภาษาบาลีเดิมเรียกว่า "มนุษยธรรม" (ธรรมที่ทำให้คนให้เป็นมนุษย์) เพราะผู้ปฏิบัติตามศีล 5 ได้ ย่อมเป็นคนคุณภาพที่สามารถยกชีวิตให้พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่งจากปุถุชนทั่วไป ที่ยังคงใช้ชีวิตโดยการชักจูงของสัญชาตญาณเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้ปฏิบัติตามศีล 5 แล้วนั้น จะก้าวเข้าสู่การเป็นมนุษย์ผู้พร้อมที่จะร่วมเป็นหุ้นส่วนแห่งสังคมอารยะ ที่สามารถจะนำพาทั้งชีวิตของตน ของคนอื่น และของสังคมโดยรวม ไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขอย่างเกื้อกูลกันในวงกว้างทั่วทั้งโลก

คำอธิบายหรือคำสมาทานศีล 5 ดังต่อไปนี้ จัดปรับตามแนวทางแห่งคำอธิบายที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น สมันตปาสาทิกา วิสุทธิมรรค มังคลัตถทีปนี พุทธธรรม และพระไตรปิฎก เป็นต้น โดยพยายามจัดปรับถ้อยคำให้ร่วมสมัย เพื่อสามารถสื่อสารกันได้กับคนรุ่นใหม่ผู้ยังไม่คุ้นกับวัฒนธรรมทางศาสนาเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรย้ำในที่นี้ว่า แม้คำอธิบายชุดนี้ก็ไม่ได้มีไว้สำหรับท่องเหมือนศีล 5 แบบเดิม หากแต่มุ่งหมายให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันจริง ๆ เป็นสำคัญ ด้วยเหตุนั้นหากอยากให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ศึกษาก็ควรทำความเข้าใจแต่ละข้ออย่างลึกซึ้ง แล้วจะพบว่าไม่มีสิกขาทบข้อไหนเลยที่ควรปฏิเสธ ตรงกันข้าม สิกขาบททุกข้อล้วนมีความจำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีงามล้ำเลิศทั้งสิ้น ผู้ใดปรารถนาที่จะวางราฐานแห่งชีวิตของตนไว้บนวิถีทางแห่งความสุข ความเจริญ ก็ควรปฏิบัติตนตามแนวทางแห่งสิกขาทบทั้ง 5 ประการนี้ให้ครบถ้วนด้วยสมัครใจ

สิกขาบท 5 มีสาระสำคัญอันควรศึกษาปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. หลักประกันความมั่นคงของชีวิต >> ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่ละเมิด จะไม่คุกคามต่อชีวิตของผู้อื่น สัตว์อื่น ด้วยตัวเอง และไม่ใช้ให้ใครละเมิด ทั้งนี้ด้วยความตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่า ทั้งตัวเราเองและผู้อื่น สัตว์อื่น ต่างก็รักตัวกลัวตาย รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน เรารักตัวเองฉันใด คนอื่น สัตว์อื่น ก็รักตัวเองฉันนั้นเหมือนกัน เพื่อให้ชีวิตของข้าพเจ้าเป็นชีวิตที่ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ข้าพเจ้าขอสมาทานปฏิบัติตามแนวทางแห่งพระพุทธองค์ที่ว่า "เมื่อเธอทอดตามองไปยังจาตุรทิศแล้ว ย่อมไม่พบใครที่จะเป็นที่รักยิ่งไปกว่าตนเองฉันใด ตนของผู้อื่นก็ย่อมเป็นที่รักของเขาฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรเบียดเบียนตนและไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น หรือไม่คารฆ่าใคร และไม่ควรใช้ใครให้ไปฆ่า"

2. หลักประกันความมั่นคงของทรัพย์สิน >> ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่ละเมิดต่อทรัพย์สิน และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น ด้วยตัวเอง และไม่ใช้ให้ใครละเมิด ทั้งนี้ด้วยความตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่า ทรัพย์สินของใครใครก็รัก ของของใครใครก็หวง เรารักและหวงแหนในทรัพย์สินของเราฉันใด คนอื่น สัตว์อื่น ก็รักและหวงแหนในทรัพย์สินของเขาฉันนั้น เมื่อทรัพย์สินของเราถูกขโมยหรือพลัดพรากจากเราไป เราย่อมทุกข์ฉันใด คนอื่น สัตว์อื่นก็ย่อมทุกข์ฉันนั้นเหมือนกัน

3. หลักประกันความมั่นคงของสถาบันครอบครัว >> ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่ละเมิดต่อจริยธรรมทางเพศของคู่ควง คู่รัก คู่ครอง และของเพศตรงข้าม ทั้งนี้ด้วยความตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่า การละเมิดต่อจริยธรรมทางเพศของคู่ควง คู่รัก คู่ครองโดยปราศจากสติและความรับผิดชอบ นำมาซึ่งความทุกข์อย่างใหญ่หลวงทั้งต่อตัวผู้ถูกละเมิด และต่อครอบครัวของเขาหรือของเธอ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงตั้งใจว่า หากข้าพเจ้าไม่พร้อมจะรับผิดชอบชีวิตของผู้ใดแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับคนคนนั้นเป็นอันขาด เพราะความสัมพันธ์ที่ปราศจากความรัก ปราศจากสติ และปราศจากความรับผิดชอบนั้น คือ ต้นธารแห่งปัญหาชีวิตที่หนักหนาสาหัสอันไม่รู้จบสิ้น

4. หลักประกันความมั่นคงของสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร >> ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่กล่าววาจาที่ปราศจากสติอันเป็นเหตุให้เกิดความเดือนร้อนแก่ผู้อื่น แก่สังคม แก่ประเทศ และแก่มวลมนุษยชาติ และทุกครั้งที่พูด ข้าพเจ้าจะพยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวคำพูดที่เป็นคำโกหก คำหยาบคาย คำเพ้อเจ้อ คำส่อเสียด คำยุให้แตกความสามัคคี แต่จะพยายามพูดถ้อยคำที่เป็นความจริง เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่มีหลักฐาน เป็นถ้อยคำประสานสามัคคี และเป็นถ้อยคำที่สอดคล้องกับกาลเทศะ ประการสำคัญที่สุด ทุกถ้อยคำที่เปล่งออกมาจากการเจริญสติอย่างดีที่สุด โดยเลือกพูดแต่ถ้อยคำที่เป็นความจริง เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่มีหลักฐาน เป็นถ้อยคำประสานสามัคคี และเป็นถ้อยคำที่สอดคล้องกับกาลเทศะ ประการสำคัญที่สุด ทุกถ้อยคำที่เปล่งออกมาจะต้องประกอบด้วยจิตเปี่ยมเตตาเสมอ ทั้งนี้เพราะตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่า การเปล่งวาจาที่ปราศจากสติ และขาดความรับผิดชอบนั้น เป็นสาเหตุแห่งความเข้าใจผิด เป็นต้นทางของความหม่นหมองครองทุกข์สำหรับผู้ถูกพาดพิง เป็นที่มาของการทำลายเพื่อนมนุษย์ให้แตกความสามัคคี ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ปลูกฝังทัศนคติในแง่ลบ และอาจลุกลามเป็นสงครามระหว่างมนุษยชาติได้ทุกเมื่อ

5. หลักประกันความมั่นคงของสุขภาพ >> ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่ดื่มสุรา และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และ/หรือสิ่งเสพติดทุกชนิด ที่เมื่อดื่มแล้วจะทำให้ประมาทขาดสติ อันเป็นการสูญเสียปกติภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้เพราะตระหนักเป็นอย่างดีว่า การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่ประทุษร้ายต่อสติสัมปชัญญะใด ๆ และการเสพสิ่งเสพติดทุกชนิดนั้น เป็นประตูแห่งความเสื่อมสุขภาพ เสื่อมสติสัมปชัญญะ เสื่อมทรัพย์ เสื่อมเกียรติภูมิชื่อเสียง เสี่ยงต่อการทะเลาะวิวาทวุ่นวายอันเป็นอันตรายทั้งต่อชีวิตและต่อครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่ง หรือในบางกรณี อาจเป็นอันตรายลุกลามกว้างไกลต่อความสุขและสวัสดิภาพของสังคมโดยรวมอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย

บทความของ ท่าน ว. วชิรเมธี


http://61.19.252.241/sooktaejing/index.php?option=com_content&view=article&id=161:dhamma-5-rules&catid=46:dhamma-shower&Itemid=67

view