สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ท่านพุทธทาส

ท่านพุทธทาส





นี่ ขอฝากไว้อย่างนี้แหละว่า จงแก้ปัญหาทั้งหมดทั้งสิ้นด้วยความเป็นไท ให้ถูกต้อง
และให้เต็มให้สมบูรณ์ อย่าเป็นไทกันแต่ปาก ปากเป็นไทแต่ใจเป็นทาส
เป็นทาสของกิเลส บูชาความเห็นแก่ตัว บูชากิเลสนี้ไม่ใช่ไท


คำว่า ขัดแย้ง ถ้าเป็นภาษาบาลี คือคำว่า อุปัทวะ
ภาษาไทยก็คือ อุบาทว์ มีการขัดแย้งที่ไหน มีอุบาทว์ที่นั่น
ฉะนั้น ต้องไม่มีการขัดแย้ง ต้องมีการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ต้องบรรเทาความเห็นแก่ตัว จึงจะทำความเข้าใจแก่กันและกันได้


ท่านทั้งหลายทุกคนทำหน้าที่ทุกอย่าง ตามหน้าที่ของตนๆ กันอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย
แต่ไม่เคยสำนึกเลยว่า หน้าที่นั่นแหละคือธรรมะ มันก็เลยไม่บูชาหน้าที่ ไม่ชื่นใจในการ
ทำหน้าที่ มันก็กลายเป็นทนทำหน้าที่ มันก็ตกนรกทุกอิริยาบถ


สมมติว่านะ ประชาชนทุกคนในประเทศเรานั้นเห็นแก่ตัว หรือประเทศไหนก็ได้อย่าออกชื่อ
เลย ประชาชนราษฎรทุกคนเห็นแก่ตัว เลือกผู้แทนมา ก็ได้ผู้แทนเห็นแก่ตัว ไปตั้งรัฐบาล
มันก็เป็นรัฐบาลที่เห็นแก่ตัว ไปทำตุลาการ ก็เป็นตุลาการที่เห็นแก่ตัว ไม่ยกเว้นสักคนหนึ่ง
ล้วนแต่เห็นแก่ตัวแล้วบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร คุณไปคิดดู.


ถ้าเอาธรรมะออกไปแล้ว มนุษย์จะเลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ไม่มีธรรมะแล้ว
อันธพาลเต็มบ้านเต็มเมือง ไม่มีความผาสุกเลย ในโลกสัตว์เดรัจฉานไม่มีอันธพาลอย่างนี้
ไม่มีอันธพาลขนาดที่ว่า เอาก้อนหินมาดักรถยนต์ให้สะดุดแล้วล้มคว่ำ
แล้วก็มาปล้นเอาของในรถยนต์ ถอดเอาเสื้อผ้าของคนในรถเหลือแต่กางเกงในนั้น
สัตว์เดรัจฉานทำไม่ได้


สันติภาพมันมีอยู่เองโดยธรรมชาติ มนุษย์มันสร้างวิกฤตการณ์ขึ้นกลบสันติภาพ
สันติภาพเลยหายไปหมด มนุษย์หยุดสร้างวิกฤตการณ์ด้วยความเห็นแก่ตัวเถอะ
หยุดเท่านั้นแหละ สันติภาพมีมาเองโดยไม่ต้องสร้าง เพราะมันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ



คำว่า บุญ นั้น ใจความสำคัญมันอยู่ที่ว่า เป็นเครื่องชำระชะล้างบาป
การทำบุญหวังให้สวย ให้รวย ให้ได้วิมาน ให้ได้สวรรค์ เต็มไปด้วยกามารมณ์ เหล่านี้
มันเป็นการชำระชะล้างบาปหรือเปล่า


ธรรมะนั่นแหละ เป็นคู่ชีวิต ผัวก็มีธรรมะเป็นคู่ชีวิต
เมียก็มีธรรมะเป็นคู่ชีวิต แล้วมันก็จะอยู่ด้วยกันอย่างเป็นคู่ชีวิต
ถ้าไม่มีธรรมะผิดจากนี้แล้วมันก็จะเป็นคู่ที่กัดกัน คือ ฮื่อๆ แฮ่ๆ
กันอยู่แทบจะทุกวัน มันจะเป็นเสียอย่างนั้น


รักษาศีลแบบงมงายบางคนก็รักษาศีลแบบค้ากำไรเกินควร
มารักษาศีลอุโบสถสักวันหนึ่ง ก็หวังที่ว่าจะได้วิมานกันไม่รู้กี่หลังต่อกี่หลัง
รักษาศีลอย่างนี้ก็เป็นไสยศาสตร์ไปหมดแหละ
ผู้ใหญ่บอกว่ารักษาศีลอย่างนี้ ๆ แล้วได้ไปสวรรค์
มันก็เชื่อมันก็ทำไปอย่างที่ไม่มีเหตุผล มันก็งมงาย


สิ่งที่เรียกว่า อำนาจ น่ะลองใช้ผิด ๆ มันก็ฆ่าผู้ใช้อำนาจนั้นเอง
ใช้ให้มันถูกต้อง มันก็มีประโยชน์นั้นตามเรื่องของมัน
คนที่มีอำนาจต้องระวังที่จะใช้อำนาจ



ใครเป็นคนฉลาดก็จะต้องระลึกนึกไว้ดี ๆ
อย่าพูดว่าความฉลาด ฉลาด แล้วมันก็จะดีเสมอไป
คนฉลาดมันก็ทำบาปหรือทำชั่วได้ลึกซึ้งกว่าคนโง่นะ ดูกันในข้อนี้บ้าง

ปัญหาทั้งหมดมันมาจากความเห็นแก่ตัว การศึกษาก็จัดอย่างที่ว่าเพิ่มความเห็นแก่ตัว
ให้เด็กๆ มันฉลาดๆ ๆ แล้วยิ่งเห็นแก่ตัว ๆ ศาสนาไม่มาควบคุมการศึกษา การศึกษาก็เลย
ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ยิ่งเห็นแก่ตัวเท่าไร ก็ยิ่งทำลายโลกเท่านั้น


นี่ คนมันไม่รู้เรื่องนี้ มันอดทนทำงาน เหมือนกับตกนรกตลอดเวลาที่ทำงาน มันตกนรก
ตลอดเวลานะ เมื่อทำการงานอยู่มันก็ตกนรกด้วยการจำใจทำ เมื่อทำแล้วมันก็เอาเงินไป
ซื้อหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ให้การเงินมันมีปัญหาหนักเข้าไปอีก มันก็ตกนรกชั้นลึกลงไปอีก


ท่านพุทธทาส เรื่อง บ้านเมือง


ธรรมบรรยาย การจัดการที่เหตุของสิ่งที่มีเหตุ
บรรยายธรรมประจำวันเสาร์ ภาควิสาขบูชา
7 พค. 31 โดยพุทธทาสภิกขุ ตอน 9

ธรรมบรรยาย การจัดการที่เหตุของสิ่งที่มีเหตุ
บรรยายธรรมประจำวันเสาร์ ภาควิสาขบูชา
7 พค. 31 โดยพุทธทาสภิกขุ ตอน 4


ธรรมบรรยาย การจัดการที่เหตุของสิ่งที่มีเหตุ
บรรยายธรรมประจำวันเสาร์ ภาควิสาขบูชา
7 พค. 31 โดยพุทธทาสภิกขุ ตอน3

ชีวิตและผลงาน พุทธทาส ภิกขุ ธรรมะคือหน้าที่





หลักกาลามสูตร
คำสอนของผู้รู้แท้จริง แม้เป็นเวลา ๒-๓ พันปีมาแล้ว
แต่ก็ยังใช้ได้อยู่เหมือนคำพูดใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ นั้นคือ
คำสอนของพระพุทธองค์แก่ชาวกาลาม
ที่เรียกว่า กาลามสูตร (ดังต่อไปนี้)

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ฟังตามๆ กันมา";
เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้นก็ได้,
เพราะเปลี่ยนไปตลอดเวลาที่ฟังตามๆ กันมา ก็ได้

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ทำตามสืบๆ กันมา";
เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น
หรือ เปลี่ยนไปๆ ตลอดเวลาที่ทำตามๆ กันมา ก็ได้

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"กำลังเล่าลืออยู่อย่างกระฉ่อน";
เพราะการเล่าลือเป็นการกระทำของ
พวกที่ไม่มีสติปัญญา, มีแต่โมหะ ก็ได้

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"มีที่อ้างอิงในปิฎก(ตำรา)";
เพราะปิฎกหรือตำราทั้งหลายเกิดขึ้นและเปลี่ยนไป
ตามปัจจัยที่แวดล้อมหรือตามกฏอิทัปปัจจยตา ก็ยังได้

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ถูกต้องตามหลักทางตรรกะ";
เพราะตรรกะเป็นเพียงความคิดชั้นผิวเปลือก,
ใช้เหตุผลและเดินตามเหตุผลชั้นผิวเปลือก

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ถูกต้องตามหลักทางนยายะ";
เพราะนยายะ เป็นการคาดคะเน
ที่เดินไปตามเหตุผลเฉพาะหน้าในการคาดคะเน นั่นเอง

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ถูกต้องตามสามัญสำนึก";
เพราะสามัญสำนึกเดินตามความเคยชินของความรู้สึกชั้นผิวเปลือก

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิของตน";
เพราะทิฏฐิของเขาผิดได้ โดยเขาไม่รู้สึกตัว

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ผู้พูดอยู่ในฐานะควรเชื่อ";
เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเอง ในการพิจารณา

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"สมณะผู้พูดเป็นครูของเรา";
เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเองในการศึกษา


ขอขอบคุณที่มาจาก :
หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ




view