ศาสนพิธี ความหมายของศาสนพิธี
ศาสนพิธี มาจากคำว่า “ศาสน” หรือ “ศาสนา” คือ คำสอน กับคำว่า “พิธี” คือ แบบอย่าง หรือแบบแผนต่าง ๆ รวมเป็นคำว่า ศาสนพิธี หมายถึง แบบอย่าง หรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทางพระศาสนา
ศาสนพิธีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทีหลังศาสนา หมายความว่า มีศาสนาเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงมีพิธีกรรมต่าง ๆ เกิดตามมาภายหลัง
เหตุเกิดศาสนพิธี เนื่องจากหลักการของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อันเรียกว่า “โอวาทปาฏิโมกข์” ในโอวาทปาฏิโมกข์นั้น มีหลักการสำคัญที่ทรงวางไว้เป็นหลักทั่วๆ ไป ๓ ประการ คือ ๑. สอนไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวง ๒. สอนให้อบรมกุศลให้ถึงพร้อม ๓. สอนให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องใส
การพยายามทำตามคำสอนในหลักการนี้เป็นการพยายามทำความดีที่เรียกว่า ทำบุญ และการทำบุญนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงวัตถุคือที่ตั้งแห่งการทำบุญไว้โดยย่อ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ มี ๓ ประการ คือ ๑. ทาน การบริจาคสิ่งของของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ๒. ศีล การรักษากายวาจาให้สงบเรียบร้อย ไม่ล่วงบัญญัติที่ทรงห้าม ๓. ภาวนา การอบรมจิตใจให้ผ่องใสในการกุศล
บุญกิริยาวัตถุนี้ เป็นแนวทางให้พุทธบริษัทประพฤติตามหลักการที่กล่าวข้างต้นและเป็นเหตุให้เกิดศาสนพิธีต่างๆ ขึ้นโดยนิยม
ประโยชน์ของศาสนพิธี
๑. เป็นวิธีการดึงคนเข้าสู่หลักธรรมทางพระศาสนา ๒. เป็นรูปแบบวิธีการที่มีแบบแผน งดงาม สอดคล้องกับ วัฒนธรรมไทย ๓. เป็นกระบวนการที่ทำให้คนในสังคมมีความรักสามัคคี ปรารถนาดีต่อกัน ๔. ผู้ที่ศึกษาศาสนพิธีดีแล้ว ย่อมเป็นผู้ฉลาดในพิธีกรรมที่ต้องปฏิบัติในการบำเพ็ญบุญกุศล ๕. สามารถจรรโลงให้พระพุทธศาสนามีความเจริญยั่งยืนสืบไป
ศาสนพิธีแบ่งออกเป็น ๔ หมวด
เมื่อพิธีกรรมใดเป็นที่นิยมและรับรองปฏิบัติสืบ ๆ มาจนเป็นประเพณี พิธีกรรมนั้นก็กลายเป็นศาสนพิธีขึ้น ฉะนั้น ศาสนพิธีจึงมีมากมาย แต่เมื่อแยกเป็นหมวดแล้ว มี ๔ หมวด คือ ๑. หมวดกุศลพิธี ว่าด้วยพิธีบำเพ็ญกุศล ๒. หมวดบุญพิธี ว่าด้วยพิธีทำบุญ ๓. หมวดทานพิธี ว่าด้วยพิธีถวายทาน ๔. หมวดปกิณณกะ ว่าด้วยพิธีเบ็ดเตล็ด
|