สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า

การทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า

ทีมงานวัดป่ามะไฟได้อ่านข้อความนี้จาก http://twitter.com/dungtrin ของคุณ ดังตฤณและเห็นถึงประโยชน์อย่างสูงต่อทุกๆท่านที่ได้แวะเข้ามาอ่านและนำไปฝึกปฎิบัติกันต่อไป ข้อเขียนนี้ได้อธิบาย คลายสงสัย ชี้แนะแนวทางการทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า ให้เข้าใจง่ายๆอย่างไร เชิญติดตามได้เลยครับ ขอร่วมอนุโมทนาสาธุกับผู้เขียนและทุกๆท่านที่ได้แวะอ่านและนำไปลองฝึกปฏิบัติ

------------------------------------ 

การทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า 

การทำสมาธิของคนส่วนใหญ่ประสบกับความล้มเหลวหรือก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นลบกับการทำสมาธิเพราะขาดแนวทางที่ถูกต้องหรือมองแนวทางที่ถูกต้องแบบผิดๆซึ่งก็หมายความว่ายิ่งทำสมาธิเท่าไรใจก็ยิ่งแกว่ง หรือห่างไกลจากสมาธิที่ถูกที่ชอบมากขึ้นเท่านั้นความเข้าใจขั้นพื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดถ้าขาดความเข้าใจแล้วกระโดดไปพยายามทำสมาธิเลยเกือบร้อยทั้งร้อยจะพยายามเพ่งจับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแน่นเกินไปหรือไม่ก็จ้องบังคับความคิดของตัวเองให้ดับไปดื้อๆการทำสมาธินั้น ทุกคนหวังจะได้ผลเป็นความสุขสงบพูดง่ายๆ สมาธิคือการเปลี่ยนอึดอัดเป็นสบายแต่หลายคนทำสมาธิแล้วเปลี่ยนสบายเป็นอึดอัดแล้วจะไปชอบใจหรือเห็นค่าของสมาธิได้อย่างไรกัน?

เพื่อจะมองเห็นทั้งเป้าหมายของสมาธิแบบที่พระพุทธเจ้าสอนตลอดจนทราบขั้นตอนของความสำเร็จอย่างชัดเจนก็ขอให้ทำความเข้าใจผ่านข้อสงสัยในหมู่นักเจริญสติที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และก่อให้เกิดความละล้าละลังที่สุด ดังต่อไปนี้

 ๑) การทำสมาธิ กับ การเจริญสติต่างกันอย่างไร?

 สมาธิคือภาวะของจิตที่ "ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว"คือนิ่งอยู่กับตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งสิ่งอื่นหรือเมื่อมีสิ่งอื่นมารบกวนก็ไม่แกว่งไกวตามง่ายๆสติคือภาวะของจิตที่ "รู้เรื่องรู้ราว"คือไม่ใช่เอากันแค่นิ่งอยู่ในฝักแต่ตัดเชือกกันว่าเอาตัวรอดได้หรือเปล่าด้วยเปรียบเทียบได้กับคนที่เผชิญกับอุบัติเหตุกะทันหันต้องนิ่งด้วย แล้วก็มีความเฉียบคมฉับไวด้วยจึงจะหลีกหลบสิ่งที่พุ่งเข้ามาหาอย่างรวดเร็วด้วยความเป็นอัตโนมัติทันเวลาทางพุทธเปรียบสิ่งกระทบหูตาและกายใจทั้งหลายว่าเหมือนเป็นภัยหรือยาพิษเมื่อไม่รู้ว่าเป็นภัยหรือยาพิษเราก็ไม่หลีกหลบผลลัพธ์คือจิตเกิดความเสียหายอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืนสัมมาสติคือฝึกรู้ในสิ่งที่ควรรู้ไม่ว่าจะนับจากก้าวแรกที่เห็นลมหายใจไปจนถึงก้าวสุดท้ายที่เห็นธรรมทั้งปวงล้วนแต่ควรรู้ว่าเหล่านั้นไม่เที่ยงบังคับให้เป็นอย่างใจไม่ได้ไม่อาจคงรูปให้เป็นตัวเป็นตนอย่างใดอย่างหนึ่งถาวรเมื่อรู้ความจริงก็จะได้ไม่มีอาการยึดเช่น เมื่อรู้แล้วว่าจิตไม่เที่ยง บังคับจิตให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้เราก็จะได้ไม่คาดหวัง ยึดมั่นสำคัญผิดว่าจะให้มันทรงนิ่งอยู่ตลอดหรือเมื่อรู้แล้วว่ากายไม่เที่ยงเหนี่ยวรั้งให้กายคงอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่งไม่ได้เราก็จะหมดความทุรนทุรายเมื่อมันเหี่ยวย่นลงหรือแม้กระทั่งร่างของบุคคลอันเป็นที่รักแตกดับเราก็จะไม่ร่ำร้องคร่ำครวญให้ร่างนั้นกลับฟื้นคืนชีพการเจริญสติมุ่งหมายเอาการฝึกรู้กายใจตามจริงผลลัพธ์สุดท้ายคือสมาธิที่เรียกว่า "อริยสมาธิ" 

คือจิตตั้งมั่นรู้อยู่เองเป็นอัตโนมัติว่ากายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราจริงๆดังนั้น ถ้าจะกล่าวโดยภาพรวมก็ต้องบอกว่าการทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้าคือ "การเจริญสติ" แบบที่เราได้ยินกันมากขึ้นในยุคนี้นั่นเองเมื่อทำสมาธิจนเป็นอริยสมาธิเต็มขั้นก็คือการเกิดปรากฏการณ์ล้างผลาญกิเลสเป็นขั้นๆเรียกว่ามรรคผลขั้นโสดา สกทาคา อนาคา และอรหัตต์ตามลำดับ 

๒) สมถะกับวิปัสสนาต่างกันอย่างไร? 

สมถะหมายถึงการอาศัยวิธีอันเป็นธรรมใดๆทำให้ใจสงบจากกิเลส เพื่อให้พร้อมรู้เป็นวิปัสสนาพูดสั้นๆคือ "ทำจิตให้สงบลงพร้อมตื่นรู้ตามจริง"ปัจจุบันคนมักพูดถึงการทำสมถะว่าคือการนั่งสมาธิและเดินจงกรมหรือหนักกว่านั้นคือสมถะเป็นเครื่องถ่วงไม่ให้สนใจวิปัสสนาติดสมถะแล้วคือได้ไปเป็นพรหมหมดสิทธิ์เข้าถึงมรรคผลนิพพานสมถะเลยถูกมองเป็นผู้ร้ายและเห็นวิปัสสนาเป็นพระเอกข้อเท็จจริงก็คือไม่มีใครเป็นผู้ร้ายไม่มีใครเป็นพระเอกมีแต่ขาสองข้างที่พาเราเดินไปถึงฝั่งขาดข้างใดข้างหนึ่งก็เรียกว่าขาเป๋เดินลำบาก ไปถึงปลายทางได้ยากหรือยิ่งถ้าขาข้างที่เหลือป้อแป้ปวกเปียกก็อาจออกจากจุดเริ่มต้นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ 

คำว่า "วิปัสสนา" นั้นรากของนิยามมาจากที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสในวิธีเจริญสติใจความคือให้"ดูกายใจนี้ตามจริงเท่าที่ปรากฏอยู่เป็นปกติ"และที่เป็นปกติเลยก็คือทั่วทั้งกายใจนี้กำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่ลมหายใจเข้าออกไปจนกระทั่งความรู้สึกนึกคิดใครจะทำหรือไม่ทำวิปัสสนากายใจก็แสดงความจริงอยู่อย่างนั้นผู้ทำวิปัสสนาเพียงแต่เข้าไปดู เข้าไปรู้อย่างยอมรับเท่านั้นเองฟังดูเหมือนง่ายแต่ลงมือทำจริงจะยากนั่นก็เพราะจิตกระเพื่อมด้วยพลังกระตุ้นของกิเลสอยู่เรื่อยๆ เช่น แค่ไม่อยากยอมรับว่าเราเป็นฝ่ายผิดจิตจะบิดเบี้ยว กิเลสจะกระตุ้นให้หาเหตุผลสารพัดมาพูดให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกคนเราสั่งสมนิสัยเช่นนี้กันโดยมาก คนส่วนใหญ่จึงมีจิตที่ยอมรับตามจริงได้ยาก หรืออย่างตอนฟุ้งซ่านหาทางแก้ตัวอยู่ตอนฟุ้งซ่านหาทางมีความสัมพันธ์ทางเพศ ตอนฟุ้งซ่านหาทางแก้เผ็ดคนที่ทำให้เราเจ็บใจ จะไม่มีสิทธิ์เห็นความฟุ้งซ่านและความฟุ้งซ่านย่อมบดบังทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นโลกภายนอกที่ปรากฏตรงหน้า หรือจะเป็นโลกภายในทางกายทางใจใดๆ การทำสมถะจึงมีบทบาทสำคัญ ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ยังกระเพื่อมไหวอยู่มาก หากอาศัยสมถะมาช่วย ก็จะเห็นอะไรชัดกระจ่างแตกต่างไป 

สรุปว่าสมถะคือการลดระดับความกระเพื่อมไหวหรือสมถะคือการรักษาจิตไว้ไม่ให้กระเพื่อมไหวก็ได้ประเด็นคือเมื่อจิตลดความกระเพื่อมไหวแล้วจึงค่อยมีความสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาชัดๆ ไม่ใช่เห็นแบบโคลงเคลง ไม่ใช่เห็นแบบโยกไปไหวมา


๓) จะต้องเริ่มด้วยสมถะหรือวิปัสสนาก่อน? 

มักมีการอ้างถึงพระอานนท์ ที่ท่านใจกว้าง เปิดรับทั้งลูกศิษย์ที่ชอบทำสมถะก่อนวิปัสสนาหรือแบบที่อยากทำวิปัสสนาก่อนสมถะ ตลอดจนแบบที่อยากทำทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป ความจริงก็คือถ้าเราดูที่ตัวเองอย่างเข้าใจว่าเหมาะกับอะไร

ไม่ถือเอาตายตัวเป็นสากลว่าเริ่มอันไหนก่อนถึงจะดีกว่าปัญหาก็จะหมดไป และไม่ต้องกังขาอยู่เนืองๆ ยกตัวอย่างถ้าเป็นคนกลัดกลุ้มรุ่มร้อนในราคะ โทสะ โมหะอยู่เรื่อยๆ ก็อย่าเพิ่งฝืนทำวิปัสสนาให้ยาก ต้องหาทางลดความรุ่มร้อนลงเสียบ้าง เช่น ลดเหตุแห่งความตรึกนึกถึงเรื่องกามและเรื่องโกรธ หันมาแผ่เมตตาหรือปลงสังเวชในความเน่าเปื่อยแห่งกายเสียบ้าง  พอร้อนเปลี่ยนเป็นเย็น พอทะยานอยากเปลี่ยนเป็นสงบระงับ จิตถึงค่อยพร้อมจะเห็นตามจริงแบบวิปัสสนาได้ แต่หากเป็นคนยอมรับตามจริงได้ง่ายมาแต่ไหนแต่ไร เคยมีนิสัยเห็นประโยชน์ตามที่มันเป็นประโยชน์ เห็นโทษตามที่มันเป็นโทษ สำนักผิดตามที่ทำผิด กับทั้งรักษาวาจาสัตย์ พูดคำไหนคำนั้นไม่กลับกลอก ไม่พูดเอาดีเข้าตัว ไม่โยนชั่วให้คนอื่น เช่นนี้ไม่ต้องพยายามทำสมถะมากก็ยกขึ้นวิปัสสนาได้เลย ทำวิปัสสนาไป เดี๋ยวจิตคลายความยินดีในกิเลสทั้งหลาย กลายเป็นสมถะไปในตัวได้เอง

 ๔) อานาปานสติ คืออะไร?

 อานาปานสติเป็นทั้งการทำสมาธิและการเจริญสติเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาในคราวเดียวกันแต่อย่างที่กล่าวแล้วว่าต้องมี "ความเข้าใจ" เป็นทุนก้อนแรกไว้ก่อน หากปราศจากความเข้าใจแล้ว อานาปานสติอาจเป็นสมาธิเก๊ๆ เป็นการเจริญสติเทียมๆ หรืออาจเป็นสมถะถ่วงความเจริญ หรืออาจเป็นวิปัสสนายาพิษ แทนที่จะเห็นอะไรตามจริง กลับเห็นแต่อะไรที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าข้างตัวเอง พอกพูนมานะอัตตาให้ยิ่งๆขึ้นไปได้ทุกวัน  ขอให้ทำความเข้าใจอย่างถูกต้องหากกล่าวว่าอานาปานสติเป็นสมาธิ ก็หมายความว่าเป็นสมาธิ ที่อาศัยลมหายใจเป็นหลักตรึงจิตให้ตั้งมั่น หากกล่าวว่าอานาปานสติเป็นการเจริญสติก็ต้องหมายความว่าเป็นการเจริญสติที่อาศัยการยอมรับตามจริงว่าลมหายใจไม่เที่ยง ยอมรับตามจริงว่าเมื่อใดถึงเวลาเข้า เมื่อใดถึงเวลาออก เมื่อถึงเวลาควรหยุด กระทั่งเห็นชัดขึ้นมาเองว่าลมหายใจนั้น เข้าแล้วต้องออก ออกแล้วต้องหยุด หยุดแล้วก็ต้องเข้าใหม่ เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น หาความเที่ยงไม่ได้ มีแต่ภาวะพัดไหวของธาตุลม ไม่ได้ต่างจากสายลมที่พัดกิ่งไม้ใบหญ้าแม้แต่นิดเดียว เห็นจนพอ ในที่สุดจิตก็ยอมรับตามจริงว่าลมไม่เที่ยง ไม่มีลมไหนเลยในชีวิตที่เป็นตัวเรา ไม่มีลมไหนเลยที่เป็นบุคคล ตัวตน เราเขาแม้สุขที่เกิดจากอานาปานสติ ตั้งอยู่ได้นานแค่ไหนก็ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา ไม่ต่างจากลมหายใจแต่อย่างใดเลย เมื่อเข้าใจอยู่ด้วยมุมมองข้างต้น คำว่าสมถะและวิปัสสนาก็กลายเป็นเครื่องเสริมกัน ไม่ใช่ศัตรูที่ต้องมาตีกันในอานาปานสติ  ลมหายใจและความสุขสดชื่นจะเป็นเครื่องล่อใหม่ ให้จิตของเราผละออกมาจากเหยื่อล่อแบบโลกๆ นั่นถือเป็นสมถะ ยกจิตให้พร้อมรู้ และความไม่เที่ยงของลมหายใจที่ปรากฏให้รู้ก็จะก่อให้เกิดปัญญาเห็นตามจริง กระทั่ง "ทิ้ง" อุปาทาน เกิดปรากฏการณ์มรรคผลขึ้นในที่สุด 

๕) ทำอานาปานสติควรลืมตาหรือหลับตา? 

คำตอบคือขึ้นอยู่กับว่าเรามีเวลาเท่าไร ทำที่ไหนมีเวลามากสักชั่วโมงหลับตาก็ดีจะได้ไม่วอกแวกมีเวลาน้อยตอนคอยใครจะลืมตาก็ดีจะได้ไม่หลงเพลิน ในอานาปานสติสูตร พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเจาะจงให้ลืมตาหรือหลับตา แต่ขอให้พิจารณาตามจุดยืนจริงๆของแต่ละคน แต่ละขณะ ถ้าลืมตาจะวอกแวกตามเหยื่อล่อสายตาไหม?ถ้าหลับตาจะเคร่งเครียดเห็นนิมิตล่อใจวุ่นวายไหม? ถ้ากำลังลืมตาหรือหลับตาแล้วเกิดข้อเสียใดๆ ก็สลับกันเสีย เพื่อขับไล่ข้อเสียนั้นๆไป เท่านี้ก็จบ  หากลืมตาแล้วรู้ลมหายใจได้ต่อเนื่อง ก็ควรลืมตาให้มากหากหลับตาถึงจะรู้ลมหายใจได้นานๆ ก็ควรหลับตาให้ต่อเนื่อง อย่าไปกลัว หรือไปยึดรูปแบบว่าจะเอาอย่างไหนถึงจะถูก เพราะมันถูกตรงจิต ตรงสติ ตรงความสามารถรู้ความไม่เที่ยงไม่ใช่ถูกตรงหลับตาหรือลืมตา  สำหรับคนส่วนใหญ่จะพบว่าการหลับตา คือการปิดกั้นเครื่องรบกวนสายตา อันนี้ก็ถูก แต่สำหรับคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ถูกรบกวนด้วยเครื่องล่อตาง่ายๆ  และสมัครใจลืมตาทำอานาปานสติ อันนี้ก็อย่าว่ากัน 

๖) ทำอานาปานสติควรนั่งขัดสมาธิหรือนั่งเก้าอี้?

ถ้านั่งขัดแข้งขัดขานานๆ กล้ามเนื้อจะหดเกร็งและยิ่งถ้าได้ความพยายามเพ่งลมหายใจมาเสริมสักพักเดียวก็อาจพบว่าเหน็บกินเหมือนร่ำๆจะพิการได้แรกเริ่มจึงควรนั่งเก้าอี้ก่อน อย่าไปติดยึดว่านั่งขัดสมาธิได้ถึงจะเก่งหรือถึงจะถูก เมื่อนั่งเก้าอี้เจริญอานาปานสติจนบังเกิดความชุ่มชื่นแล้ว คุณจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อผ่อนคลายสบายมาก เพราะร่างกายหลั่งสารดีๆออกมา และจิตก็ไม่ก่ออาการบีบคั้นร่างกายดังเคย ถึงตรงนั้นถ้าเลื่อนขั้นมานั่งขัดสมาธิ ก็จะได้ความสมดุลครบวงจร ตามที่พระพุทธเจ้าแนะว่าอานาปานสติที่สมบูรณ์ 

๗) เสียงช่วยกำกับการฝึกอานาปานสติมีประโยชน์อย่างไร?

ปกตินักทำสมาธิหรือนักเจริญอานาปานสติมือใหม่จะจับทิศจับทางไม่ถูก ได้หน้าลืมหลัง ไม่รู้จะเริ่มหนึ่ง สอง สามอย่างไร ถ้ามีเสียงบอกคอยช่วย ก็จะมีประโยชน์ตรงที่ไม่ต้องหลงทางเหมือนคนเพิ่งฟื้นจากสลบกลางหมอกจัด ถ้ามีใครมาจูงมือและคอยบอกว่าต้องก้าวขึ้นบันไดอย่างไรเตือนให้ช้าหรือเร่งให้เร็วตามความเหมาะสมที่จังหวะไหนโอกาสจะเข้าเขตปลอดโปร่ง ไม่ต้องหลงวกวนค่อยสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อจับหลักได้ถูกต้องแม่นยำแล้ว ควรอาศัยเสียงเป็นเครื่องช่วยกำกับเพราะเสียงเป็นปฏิปักษ์กับสมาธิมาคอยพะวงฟังเสียงหรือแปลความหมายของเสียงอยู่จิตก็จะไม่วิเวกเต็มรอบ เข้าถึงฌานได้ยากไฟล์เสียงช่วยกำกับการฝึกอานาปานสติจากดังตฤณแบ่งออกเป็นหลายช่วง จุดประสงค์เป็นไปเพื่อให้ฟังแล้วเข้าใจตลอดสาย  ว่าจะดำเนินจิตแบบนับหนึ่ง สอง สาม กันท่าไหน ขณะหนึ่งๆอยู่ตรงขั้นใดของอานาปานสติ และกระทั่งจะนำไปเทียบเคียงกับโพชฌงค์ได้อย่างไร 

__________________________________

Tags : การทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า

view