สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)


๒๒ ก.ย.๒๕๕๙
๗ ยุทธวิธี ในการเดินทางหาธรรม
๑. สะสาง
๒. สงบ
๓. สังเกต
๔. สว่าง
๕. สละ
๖. สะอาด
๗. สบาย

๑. สะสาง : เริ่มต้นจากการมองให้เห็นคุณและประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม จากนั้นให้น้อมจิตถึงพระรัตนตรัย เมื่อจะเข้าสู่การปฏิบัติธรรม พึงวางภาระการงานลงชั่วคราว ตัดความกังวลออก ตั้งกายให้เหมะสม ยกใจให้พอดี (ศรัทธา)

๒. สงบ : เมื่อสะสางกายใจถึงพร้อมด้วยศรัทธาแล้ว เริ่มภาวนาให้จิตเกิดความตั้งมั่น เลือกสรรอุบายที่ตนถนัด ปฏิบัติให้ได้ในทุกอริยาบท มีความรู้ตัวอยู่เสมอ ให้เกิดความเข้าใจว่าในการภาวนานั้นมีสิ่ง ๒ สิ่งที่สัมพันธ์กัน คือ จิตผู้รู้ กับสิ่งที่มีให้รู้ เบื้องต้นกำหนดในสิ่งที่มีให้รู้เพียงอย่างเดียว ให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งนั้น เช่น เลือกลมหายใจเป็นสิ่งที่มีให้รู้ จิตผู้รู้ก็กำหนดรู้ลมหายใจเพียงอย่างเดียวจนจิตมั่นคง (สมถะ)

๓. สังเกตุ : เมื่อจิตมั่นคงแล้ว สภาพจิตจะมีความสงบ จงอาศัยความสงบพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้น จะรู้ว่าสิ่งทั้งหลายนั้น คือรูปและนาม รู้ในอายตนะภายในและภายนอก รู้ธรรมชาติแห่งความเป็นธาตุ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเมื่อสัมผัสแล้วจะรวมลงที่ใจ รู้เวทนาที่เกิดขึ้น รู้ว่าความเพลินไป(นันทิ) ในเวทนาย่อมเกิดตัณหา รู้ว่ารูปนามเป็นเพียงเครื่องอาศัย (พิจารณา)

๔. สว่าง : เมื่อสังเกตุจนรู้ชัดในกองสังขาร ย่อมเห็นธรรมชาติในสังขารและธรรมทั้งหลายว่า มีความเกิดขึ้นและดับไป ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หาใช่สิ่งที่เราจะยึดถือได้ เห็นทุกข์ทั้งหลายเกิดจากความยึดถือ เมื่อเลิกยึดก็หมดทุกข์ (ปัญญา)

๕. สละ : เมื่อสว่างแล้ว คือเกิดปัญญาเห็นธรรมชาติตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ รู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้ความวนเวียนในภพชาติ ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งหลาย จิตจะสละความยึดถือในกองสังขารทั้งปวง (นิพพิทา)

๖. สะอาด: เมื่อสละจากความติด ละซึ่งสังโยชน์จิตย่อมผ่องใสไม่เจือด้วยความเศร้าหมอง มลทินทั้งหลายย่อมหมดไป เป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ (วิมุติ)

๗. สบาย : เมื่อสะอาดปราศจากเครื่องเศร้าหมอง วางของหนักลงแล้ว ภพชาติสิ้นแล้ว ย่อมสบายด้วยสิ้นภาระ ไม่มาไม่ไป (นิพพาน)

view